วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สลักหินเล่าเรื่องชาดก

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

ภาพสลักหินเล่าเรื่องชาดก ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ที่ “สถูปภารหุต” 
"สถูปภารหุต" (Bharhut Stupa) ตั้งอยู่ในเขตเมืองดิวเวอร์ (Dewar) รัฐมัธยมประเทศ ตอนกลางของอินเดีย เป็นสถูปเจดีย์ทรงโอคว่ำ มีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมในแบบแผนเดียวกับสถูปสาญจี  สภาพของสถูปนั้นโดนขุดรื้อทำลายมาแล้วในอดีต เพราะผู้คนในยุคหลังที่ส่วนมากเป็นชาวฮินดู ได้รื้อเอาอิฐหินออกไปถมทำบ้านเรือนและถนน
จนมาถึงปี พ.ศ. 2418 อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม ได้มาขุดค้นซากสถูปนี้ จึงได้นำชิ้นส่วนประดับพระสถูปที่แกะสลักขึ้นจากหินทรายสีน้ำตาลแดง ทั้งรั้วเวทิกา ซุ้มประตูโตรณะและรูปประติมากรรมที่เหลือรอดอยู่ รื้อเคลื่อนย้ายทั้งหมดออกมาจากซากสถูป มายังเมืองกัลกัตตา (Calcutta) จนในปัจจุบันเหลือเป็นเพียงเนินดินเท่านั้น
---------------------------------
*** สถูปภารหุต ถูกสร้างขึ้นในยุคราชวงศ์ศุงคะ ตามที่ปรากฏชื่อนามของเจ้าชายธนบุตรี (Dhanabhuti) ที่พบพระนามในจารึกจากซากสถูป กำหนดอายุการสร้างในช่วงปลายสุดของพุทธศตวรรษที่ 4 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 5  ซึ่งเชื่อกันว่าสร้างขึ้นภายหลังสถูปสาญจี (Sanchi Stupa) ที่เมืองเวทิศา ไม่นานนัก
รูปสลักบนเสารั้วเวทิกาของสถูปภารหุต ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ห้องสมุดแห่งพุทธประวัติ”  และยังเป็นเสมือน ภาพแสดง “ชาดก” (Jātaka tales)ทางพระพุทธศาสนาในยุคเริ่มแรก ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอีกด้วย
ด้วยเพราะภาพสลักที่สถูปภารหุตนี้ มีเรื่องพุทธประวัติและเรื่องเล่าชาดก รวมทั้งภาพสัญลักษณ์มงคลอย่างครบถ้วน ในขณะที่สถูปสาญจีที่สร้างขึ้นในช่วงใกล้เคียงกัน มีการแกะสลักเรื่องชาดกเพียงไม่กี่เรื่อง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงราชวงศ์สาสตวาหนะ-อานธระ ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 5
รั้วเวทิกาของสถูปภารหุตมีความสูงประมาณ 2.5 เมตร เป็นงานศิลปะเลียนแบบเครื่องไม้ล้อมรั้วคอกสัตว์ในสมัยโบราณ ที่ใช้ท่อนซุงเป็นเสาใหญ่ปักล้อมรอบและสอดคาน 3 ชั้น บนคานรั้วและเสาจะมีภาพสลักเล่าเรื่องราวและลวดลายมงคลประดับอยู่โดยรอบ
-------------------------------
*** ภาพสลักในกรอบรูปวงกลมตรงกลางคานรั้วทั้ง 3 ชั้น จะสลักเป็นภาพสัญลักษณ์มงคล โดยเฉพาะรูปดอกบัว รูปเทพยดาชายหญิง รูปมิถุน (ชายหญิงคู่รัก) ในวงรัศมีดอกบัว รูปตัวมกร รูปหม้อปูรณะฆฎะ  บนเสารั้วมีรูปสลักในกรอบครึ่งวงกลมที่บริเวณโคนเสาและยอดเสา เป็นภาพประกอบ รูปวิถีชีวิต สัตว์อย่างช้าง กวาง วัว  นกยูง ฯลฯ ภาพสลักหลายส่วนแสดงเรื่องราวชาดกจาก “(โบราณ) อรรถกถาชาดก” และ “คาถาชาดก” ที่แต่งขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 3 มี คงเหลืออยู่ทั้งหมด 39 ตอน จาก 38 เรื่อง คือ 1.“อลัมพุสาชาดก” (Alambhusā Jātaka) อิสิสิงคดาบส ถูกนางนางปุราณทุติยิกา ทำลายตบะ 2.“อัณฑภูตชาดก”(Aṇḍabhūta Jātaka)  ปุโรหิต เมียสาวและพระเจ้าพรหมทัต 3.“อารามทูสกชาดก”  (Ārāmadūsaka Jātaka)  ลิงเฝ้าสวน – ฉลาดในสิ่งที่ไปเป็นประโยชน์ 4.“อสทิสชาดก”(Asadisa Jātaka) อสทิสราชกุมาร-พรหมทัตกุมมาร พระเจ้าพรหมทัต  การแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี  5.“ภิสชาดก” (Bhisa Jātaka) การทดสอบฤๅษีทั้ง 6 โดยท้าวสักกะ  6.“จัมมสาฏกชาดก”(Cammasāṭaka Jātaka) ปริพาชกชื่อจัมมสาฏกะกับแพะชนกัน  7.“ฉัททันตชาดก”(Chaddanta Jātaka) พญาช้างฉัททันต์ –เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร   8.“ทัพพปุปผชาดก” (Dabbhapuppha Jātaka) สุนัขจิ้งจอกตัดสินคดี -การทะเลาะวิวาทขาดสามัคคี ทำให้เสียผลประโยชน์  9.“ทุพภิยมักกฏชาดก” (Dūbhiya makkaṭa Jātaka) พราหมณ์ตีลิง-จงอย่าคบคนพาล  10.“โคธชาดก” ? (Godha-jātaka Jātaka) 11.“กักกฏกชาดก” (Kakkaṭa Jātaka) ปูทองกุฬีรรหทะกับโขลงช้าง  12.“กุณฑลิกชาดก” (Kaṇḍari Jātaka)  พญานกดุเหว่า 13.“กโปตกชาดก” (Kapotaka Jātaka) นกพิราบกับกา  14.“กุกกุฏชาดก” (Kukkuṭa Jātaka)พญาไก่ป่าโพธิสัตว์กับแมวเจ้าอุบาย  15.“กุรุงคมิคชาดก”  (Kuruṅgamiga Jātaka) กวางกุรุงคะกับนายพราน  16.“ลุกิกชาดก” (Laṭukika Jātaka) พญาช้างกับนางนกไส้
17.“มโหสถชาดก” (Mahā-ummagga Jātaka) 18.“มหาโพธิชาดก” (Mahābodhi Jātaka)ฤๅษีโพธิสัตว์ตัดสินคดี  19.“มหาชนกชาดก” (Mahājanaka Jātaka)  20."มหากปิชาดก” (Mahākapi Jātaka) คุณธรรมของพญาลิงโพธิสัตว์  21.“มหากปิชาดก” (Mahākapi Jātaka) พญาวานรช่วยเหลือพราหมณ์  22.“มฆเทวชาดก” (Makhādeva Jātaka)พระเจ้ามฆเทวราชออกบวชเพราะผมหงอก 23.“มิคโปตกชาดก” (Migapotaka Jātaka) เทวดากับฤๅษี  24.“เตมิยชาดก- พระเตมีย์ใบ้” (Mūgapakkha Jātaka) 25.“นัจจชาดก” (Nacca Jātaka) พญาหงส์ทองกับนกยูง  26.“นิโครธชาดก” (Nigrodha Jātaka)พญากวางสาขะและพญากวางนิโครธะ  27.“ปัณฑรกชาดก” (Paṇḍara Jātaka)นักบวชชีเปลือย พญาครุฑและพญานาค  28.รุรุมิคชาดก (Ruru Jātaka)พญาเนื้อรุรุ  29.“สมุคคชาดก”(Samugga Jātaka) ยักษ์ทานพ สาวงามและวิทยาธร  30.“สสปัณฑิตชาดก”(Sasa Jātaka) กระต่ายบัณฑิตถวายชีวิตเป็นทาน  31.“สูจิชาดก” (Sūci Jātaka) ช่างเหล็กเจ้าปัญญา  32.“สุชาตาชาดก” (Sujāta Jātaka) พระราชากับนางสุชาดา  33.“สุวรรณกักกฏกชาดก” (Suvaṇṇakakkaṭa Jātaka) ปูทองแทนคุณ  34.“ตักการิยชาดก” (Takkāriya Jātaka) นางกาลีกับลูกชายเศรษฐี  35.“วัณณุปถชาดก” (Vaṇṇupatha Jātaka)ความเพียรของพ่อค้า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” 36-37. พระเวสสันดรชาดก (Vessantara Jātaka) 38. วิธุรชาดก (วิธุรบัณฑิต) (Vidhurapaṇḍita Jātaka) มี 1 รูปตีความไม่ได้
---------------------------------
*** ภายในกรอบวงกลมและเสา ยังสลักเป็นภาพพุทธประวัติ ในพุทธศิลป์ของยุคสมัยที่ยังไม่ปรากฏเป็นรูปพระพุทธรูป ทั้งในตอน พระนางมายาสุบินนิมิต เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ในสัญลักษณ์ของม้ามีฉัตร พระพุทธเจ้าในสัญลักษณ์พระพุทธบาท รูปพระพุทธเจ้าในสัญลักษณ์ศรีมหาโพธิ์ ท่านอนาถบิณฑิกะบริจาคทานสร้างวัดเชตวันวิหาร ภาพมงคลอย่างคชลักษมี กลีบปัทมะ(ตรีรัตนะ) จตุรทิศ ภาพบูชาสถูป บูชาพระธรรมจักร ฯลฯ โดยทุกภาพจะมีคำอธิบายเป็นภาษาปรากฤต อักษรพราหมี สลักไว้ใกล้เคียงอยู่กับภาพ
บนเสายังสลักเรื่องราวกษัตริย์วิทูทภะ ทำลายล้างศากยะวงศ์ เพราะถูกหลอกเอาสาวใช้ปลอมเป็นเจ้าหญิง มาอภิเษกสมรสด้วย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยศุงคะ
ข้างเสาหลัก สลักเป็นรูปประติมากรรมนูนสูงรูปยักษา (ท้าวกุเวร) ยืนบนคนแคระ/มนุษย์ ในความหมายของผู้อำนวยโชคลาภและทรัพย์สิน และจันทรายักษิณียืนเหนือสัตว์ผสมคล้ายอูฐ โหนกิ่งไม้ ในความหมายของผู้อำนวยความอุดมสมบูรณ์ ภาพทวารบาลเป็นรูปกษัตริย์ทรงช้าง กษัตริย์ทรงม้า พัตนมารายักษิณียืนเหนือคนแคระ เทพธิดาจูลโกกายืนเหนือช้าง สุทรรศนายักษิณียืนเหนือมกร และภาพทหารแห่งศุงคะในชุดแบบชาวกรีกโยนก
หน้ากระดานคานบนรั่วเวทิกา สลักเป็นภาพสัญลักษณ์มงคล สัตว์ พืช สิ่งของ สลับกับภาพเรื่องชาดก ในช่องสับหว่างของเส้นโค้งขึ้นลงแบบเส้นคลื่น
-----------------------------
*** ซุ้มประตูโตรณะ เป็นซุ้มประตูตะวันออกที่ยังเหลืออยู่เพียงด้านเดียว เป็นเสาสูงเลียนแบบเสาไม้ซุงขนาดใหญ่รูป 8 เหลี่ยม 4 ต้น มาประกบเข้ากันเพื่อความแข็งแรง ยอดเสาเป็นบัวกลุ่มแบบเปอร์เซียรูปหม้อกลศะ เหนือขึ้นไปเป็นฐานสิงห์หมอบจตุรทิศรองรับเสาสี่เหลี่ยมและคาน 3 ชั้น ปีกนอกของคานแต่ละชั้นทำเป็นรูปมกรหางเป็นวงโค้ง รอยต่อกับเสาทำเป็นรูปสถูปและวิหาร (วัด) ระหว่างคานทำเป็นเสาลูกกรง บางเสามีรูปบุคคล ชายหญิงประดับอยู่
บนหน้ากระดานของคานโตรณะ สลักเป็นภาพสรรพสัตว์ ที่ล้วนกำลังแสดงการอัญชลีบูชาพระพุทธเจ้าในรูปของศรีมหาโพธิ์ ที่อยู่ตรงกลางของภาพ 
---------------------------
*** ด้านบนสุดของซุ้มประตูโตรณะ ยอดเสาและปีกคานเคยมีการประดับด้วยรูปม้าเทินฉัตร ในความหมายของการเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ มีรูปดอกบัวกลีบใบโค้งขึ้น “บัวผุดกลีบปัทมะ” (ตรีรัตนะ – ราศีพฤษภ) บนยอดเสาสองฝั่ง ยอดสุดตรงกลางคานบนเป็นรูปธรรมจักรโดยมีรูปใบขดม้วนผักกูด 8 ใบ ประกอบจากเล็กขึ้นไปหาใหญ่เป็นวงโค้งครึ่งวงกลม ในความหมายของความเจริญงอกงอมแห่งพระธรรมในพระพุทธเจ้า
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy
.....................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
.....................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
.....................................................


2 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโย โหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved. _/|\_

    ตอบลบ
  2. ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
    My blogs link 👆
    https://sites.google.com/site/dhammatharn/
    http://abhinop.blogspot.com
    http://abhinop.bloggang.com
    ..........................................................
    ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved.

    ตอบลบ