วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

เทวาลัย

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

“หลักหินกำหนดเขตแดนพระกัลปนา” ในวัฒนธรรมโบราณ
ในจารึกเขมรโบราณจำนวนมาก กล่าวาถึงหลักหิน  “โคล-หินโคน”(គោល) ที่เป็นแท่งหิน 4 เหลี่ยมขนาดคนโอบ สูงประมาณ 1 - 1.5 เมตร หน้ากว้างประมาณ 60 เมตร ยอดบนแหลม (บางหลักก็ทำเป็นดอกบัวบาน) โค้งมนทรงยอหรือกระโจม บางทีส่วนยอดจะโตกว่าส่วนฐาน มีเส้นลวดเขียนคั่น เป็นหลักหินเพื่อใช้ “การกำหนดเขตแดน”  (Stone Boundary Markers) ที่ดินที่ได้มีการอุทิศถวายแก่ศาสนสถาน (เทวาลัย-ปราสาทหิน) รวมทั้งการถวายผู้คนในเขตที่ดินที่ถวายนั้นให้เข้าไปทำประโยชน์เพื่อการทำนุบำรุงแก่ศาสนสถาน (เทวสถาน-ปราสาท) ที่เรียกว่า การกัลปนา หรือ “พระกัลปนา” (Vraḥ kalpanā )
ผู้คนในที่ดินที่ถูกกำหนดเป็นเขตพระกัลปนา จะถูกถวายไปพร้อมกับที่ดินให้เป็น “ข้าพระกัลปนา”หรือ “ข้าพระ” ผู้ชายหลายคนจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลทำประโยชน์ในที่ซึ่งเป็นศาสนสมบัติของศาสนสถาน มีตำแหน่งว่า “ขํยุ” หรือ “กระโยม” ที่กลายมาเป็นคำว่า “โยม” ในปัจจุบัน ซึ่งผู้ปกครองในดินแดนที่ประกาศเขตแดนนั้นด้วยหลักหินโคนก็จะละเว้นการเก็บส่วยจากข้าพระที่ถือว่าเป็นคนของศาสนสถานไปแล้ว ผลผลิตอันอุดมสมบูรณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากเหล่าข้าพระจะถูกจัดเก็บไปถวายให้แก่เทวรูปและเทวาลัยตามที่พราหมณ์-นักบวชเป็นผู้กำหนดสัดส่วนให้
นอกเหนือจากการกำหนดเขตแดนเพื่อการพระกัลปนาแล้ว หลักหินโคนยังถูกใช้เป็น “เครื่องหมายกำกับ”  ตามแนวถนน-เส้นทาง ที่เชื่อมต่อระหว่างชุมชนใหญ่ ปักเป็นระยะห่าง  โดยไม่เกี่ยวข้องกับการกัลปนาที่ดินแก่ศาสนสถานอีกด้วย
หลักหินโคน (โคล) ยังถูกระบุในจารึกหลายหลักว่า เป็นหลักหินเพื่อการกำหนดเขตแดนที่กษัตริย์ พระญาติผู้เป็นใหญ่ ขุนนางเสนาบดีและข้าราชการระดับต่าง ๆ  ทั้งกมรเตงอัญ กำเสตรงอัญ ทรตาญโขลญ โขลญ ประภูวิษัย วาบ ต่างได้ “อุทิศถวายแก่อาศรม (เทวสถาน-ปราสาทหิน)” อย่างที่ปรากฏความกล่าวไว้อย่างชัดเจนในจารึกจำนวนมาก เช่นจารึกปราสาทหินพนมวัน 2 จารึกปราสาทหินพนมรุ้ง 2 จารึกปราสาทหินพิมาย 3 จารึกวัดสระกำแพงใหญ่ จารึกวัดตาพระยา ฯลฯ
หลักหินโคน ที่ถูกปักเพื่อใช้กำหนดเขตแดนของตัวเทวสถานในคติฮินดูไศวนิกาย ทำหน้าที่แบบเดียวกับหลักหิน “ใบเสมา”  (Sīmā Marker stones) ล้อมรอบพระอุโบสถ (Uposathāgāra) ในการกำหนดเขตแดนปริมณฑลอันบริสุทธิ์ในคติพุทธศาสนาเถรวาท-อีสาน มักมีลวดลายประดับที่หัวเสาด้านใดด้านหนึ่ง นิยมสลักเป็นรูปฤๅษี-นักบวชนั่งในท่าไขว้ข้อเท้าที่เรียกว่า “โยคาสนะ” (Yogāsana) แสดงอัญชลีมุทรา (Añjali mudrā) สวดบริกรรมพระเวทในซุ้มวิมาน (เรือนแก้ว) อีกทั้งยังมีรูปของพระทวารบาลนนทิเกศวร – มหากาลแบบยืนแสดงอัญชลีมุทรา เช่นหลักหินโคล-โคนของปราสาทพนมวัน (อยู่ที่วัดดอนขวาง ตำบลหัวทะเล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา  วัดหนองระเวียง ตำบลหนองระเวียง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา และวัดสารธรรมาราม ตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา) หลักหินที่ซากปราสาทอิฐวัดโพธิ์ย้อย อำเภอประคำ จังหวัดบุรีรัมย์ (จำนวน 6 หลัก)  หลักหินที่วัดสารธรรมาราม บ้านท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา หลักหินที่วัดตาเบา อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ หลักหินโคนที่บ้านพูนสูข วัดพลับพลาและวัดโคกขมิ้น อำเภอพลับพลาชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ฯ
---------------------------
*** การถวายที่ดินและการอุทิศข้าพระกัลปนา จะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยไม่ตายตัว หลักหินโคนจำนวนมากจึงถูกรื้อถอน เคลื่อนย้าย ทุบทำลาย ไปตามอำนาจใหม่ที่เข้ามาแทนที่ อย่างในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 เมื่อความนิยมในราชสำนักเปลี่ยนแปลงมาเป็นพุทธศาสนาวัชรยาน-โลเกศวร รูปแบบศิลปะหลักหินเพื่อกำหนดเขตศาสนสถาน ไปเปลี่ยนมาเป็นรูปของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรแทนที่รูปของฤๅษีของฝ่ายฮินดูในยุคก่อนหน้า ทั้งยังยืมรูปศิลปะของทวารบาลมาใช้ประดับหลักหินโคนบนเส้นทางระหว่างสะพานหินข้ามแม่น้ำใหญ่อีกหลายแห่ง
*** ยิ่งในยุค 100 ปีที่ผ่านมา หลักหินบอกเขตกัลปนาที่ดิน เทวาลัยและบอกเส้นทางจำนวนมากในอดีต ถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างถาวร ส่วนใหญ่จะถูกทุบทำลาย ก็ถูกถอนไปใช้ประโยชน์อื่น และบ้างก็ถูกเคลื่อนย้ายจากจุดเดิมไปไว้ที่อื่น ๆ กลายเป็นสิ่งของศักดิ์สิทธิ์จากอดีตไปครับ
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy
.....................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
.....................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love.
.....................................................


2 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved.

    ตอบลบ
  2. ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
    My blogs link 👆
    https://sites.google.com/site/dhammatharn/
    http://abhinop.blogspot.com
    http://abhinop.bloggang.com
    ..........................................................
    ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved.

    ตอบลบ