วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ปราสาทบายน

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

“มนุษย์เงือก” เคยมีอยู่จริง ? ที่ปราสาทบายน
ภาพสลักกลุ่มหนึ่งบนผนังระเบียงคดชั้นสอง ทางทิศตะวันออกปีกทิศเหนือของปราสาทบายน (ติดกับซุ้มประตูขึ้นสู่ชั้น 3) ที่ยังไม่มีการตีความ-มโนกันได้อย่างสมเหตุสมผลว่า เป็นเรื่องอะไรกันแน่ (ฟะ) ด้วยเป็นภาพเรือสองลำที่มีผู้คนกำลังแห่พระพุทธรูนั่งมีรัศมีประภามณฑล (ถูกสกัดทำลาย) ตรงกลางคานหาม มีคนถือไม้ยาวที่อาจเป็นหอกหรืออาวุธ และคนลงไปที่หน้าเรือ กำลังจับบางสิ่งที่อยู่ในน้ำบริเวณตรงกลางของกลุ่มภาพ
เมื่อพิจารณาอย่างละเอียด ก็จะเห็นว่าเป็นรูปปลาที่มีหัวเป็นมนุษย์เพศชาย (มีเครา เกล้าผมแบบนักบวช) และเพศหญิง (ผมสั้น ใส่ตุ้มหูใหญ่) ยกแขนกำลังแสดงท่าทางให้ความเคารพ (สาธุการ ?) ในท่ามกลางสัตว์มากมาย
ดูยังไง ๆ ก็คงเป็น “มนุษย์เงือก” (Mermaids) ได้อย่างเดียวเท่านั้น คงไม่ใช่การลงไปช่วยคนที่กำลังถูกปลากลืนกินอย่างแน่นอน
ภาพสลักนี้ แม้แต่ ศ.ยอร์ช เซเดส์ (George Coedès) ผู้เชี่ยวชาญแห่งสำนักฝรั่งเศสปลายบุรพทิศ ยังบ่นอุทานเบา ๆ ออกมาว่า “เป็นการยากมากที่จะอธิบาย (ว่ามันเป็นเรื่องอะไรกันแน่ นะจ๊ะ)” (Absolutely inexplicable) แต่คุณไทสัน โรเบิร์ต (Tyson R. Robert) แห่งสถาบันสมิธโซเยี่ยน ได้อธิบายภาพนี้ ในปี พ.ศ. 2545 ว่า อาจเกี่ยวพันกับภาพสลักที่มีคนงานและช้างกำลังปลดปล่อยเทพธิดาออกจากภูเขาบนผนังที่อยู่ติดกัน โดยอ้างถึงตำนานโบราณที่เล่าเรื่องราวของเจ้าชายไปได้ยินเสียงร้องเพลงจากจากเจ้าหญิงนาคีที่ถูกกักขังในภูเขา จึงให้ผู้คนปลดปล่อยเธอออกมา ทั้งสองเกิดความรักต่อกัน แต่การปลดปล่อยก็ทำให้ทั้งสองต้องคำสาป ถ้าจะแต่งงานกันทั้งสองจนต้องกลายเป็นตัวเงือก
แต่นักวิชาการฝรั่งเศสบางท่านก็มโน-สันนิษฐานว่า นี่คือภาพการแต่งงานระหว่าง “พราหมณ์เกาฑิณยะ” (Brahmin Kauṇḍinya) กับ “เจ้าหญิงนาคโสมะ” (Soma Nagi Princess) ในตำนานการกำเนิดกัมพูชาอันเก่าแก่... ก็ว่ากันไป
------------------------------
*** สำหรับผม บอกตรง ๆ ก็ไม่รู้จะไปเทียบเอาปุราณะ-ปกรณัม-วรรณกรรม-คติความเชื่อ-นิทานพื้นบ้าน ฯลฯ จากตรงไหนในเขมรและประเทศเพื่อนบ้านแสนดีมาอธิบายภาพนี้ เอาแค่ที่เห็นจากภาพสลักก็มโนว่าคงไม่ใช่การแต่งงานกันหรอกครับ คงไม่มีใครไปจับเงือกมาคลุมถุงชนหรือบังคับให้แต่งงานกันด้วยอาวุธครบมือกันขนาดนี้
ในภาพคงเป็นการเล่าเรื่อง “การจับมนุษย์เงือกทั้งชายและหญิง” (มีอยู่จริงหรือ ?) ทั้งสองคงเป็นราชาและราชินีของเหล่าสัตว์น้ำ โดยมิได้ตั้งใจสังหารให้ตายพราะถ้าสังหารคงตายไปแล้ว นำขึ้นมาให้สัตย์สาบานแสดงความเคารพพระพุทธเจ้า (เทพเจ้าองค์ใหม่) แห่งอาณาจักร อาจเพราะเหล่าเงือกผู้เป็นใหญ่แห่งทะเลสาบ (โตนเลสาบ) เป็นพวกนอกรีต ไม่เคารพพระพุทธศาสนา (วัชรยาน) เลยต้องกำราบ ควบคุมตัวขึ้นมาจากน้ำ ให้มายอมรับพระศาสนา ผ่านรูปดอกบัวและกอบัวเหนือรูปมนุษย์เงือก ที่เป็นบุคลาธิษฐานในการยอมรับด้วยความยินดี-บริสุทธิ์ครับ
มนุษย์เงือกในภาพสลัก ยังอาจหมายถึง “อำนาจเหนือธรรมชาติ” (Animism) ในทะเลสาบเขมร ปรากฏการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้คนทั้งในการประมงและการเดินทาง ช่างโบราณจึงได้จิตนาการรูปเงือกชายหญิง (ถูกคุมตัว) มาบูชาพระพุทธเจ้า แสดงพลังอำนาจใหม่ที่เหนือกว่า เพื่อการควบคุมอำนาจเหนือธรรมชาติ (ในความเชื่อ) ของอาณาจักร
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy
.....................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
.....................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love.
.....................................................


1 ความคิดเห็น:

  1. ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
    My blogs link 👆
    https://sites.google.com/site/dhammatharn/
    http://abhinop.blogspot.com
    http://abhinop.bloggang.com
    ..........................................................
    ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved.

    ตอบลบ