วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

พระพุทธบาทสลักไม้

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

“พระพุทธบาทสลักไม้” ที่งดงามและเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย วัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรี
“รอยพระพุทธบาทจำลอง” ตามคติความเชื่อฝ่ายพุทธศาสนาในช่วงต้นพุทธกาลก่อนการเกิดรูปลักษณ์ของพระพุทธรูป  เป็นบริโภคเจดีย์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนความหมายของ “การประสูติ” ทั้งยังเป็นเจติยสถานหรือปูชนียวัตถุเพื่อการระลึกถึงพระพุทธองค์ เพื่อการแสดงความเคารพบูชามาเป็นเวลายาวนาน
พระพุทธบาท (จำลอง) ในพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุด ก็คือพระพุทธบาทคู่ที่สลักอยู่บนเสาลูกกรงรั้วเวทิกา เสาและคานประตูโตรณะของ“มหาสถูปสาญจี” (Sanchi Great Stupa)  ตั้งอยู่บนยอดเขาวิทิศคีรี  ห่างจากเมืองเวทิศา (Vidisha) ศิลปะในช่วงราชวงศ์ศุงคะ (Shunga Dynasty) ปลายพุทธศตวรรษที่ 4
การสร้างรอยพระพุทธบาท (จำลอง) ในยุคเริ่มแรก  มีข้อกำหนดในคติความเชื่อให้มีความแตกต่างไปจากรอยเท้ามนุษย์ธรรมดาโดยทั่วไป อย่างเช่นใน “ลักขณสูตร” ในพระสุตตันตปิฎกของทีฆนิกาย ที่กำหนดขึ้นตามคติ “มหาปุริสลักษณะ (มหาบุรุษ) 32 ประการ”  คือกำหนดให้พระพุทธบาทจำลองจะต้องมีพื้นฝ่าพระบาทเรียบเสมอกัน ใต้ฝ่าพระบาททั้งสองมีธรรมจักรที่มีซี่กำหนึ่งพัน มีกง มีดุม พร้อมสมบูรณ์ ส้นพระบาทยาว นิ้วพระบาทยาวอ่อน หลังพระบาทมีมังสะอูม ฝ่าพระบาทอ่อนนุ่มและมีลายเส้นตาข่าย 
ราวพุทธศตวรรษที่  6-7  ได้มีการพัฒนางานพุทธศิลป์ในรอยพุทธบาทเพิ่มมากขึ้น โดยเริ่มมีการใส่รูปสัญลักษณ์มงคลตามคตินิยมในหลายยุคสมัยอย่างรูป ธรรมจักร ตรีรัตนะ ดอกบัว สวัสดิกะและภัทรบิฐ ร่วมเข้าไปไว้ในฝ่าพระบาทด้วยเป็นครั้งแรก
ในช่วงยุคปลายยุคคันธาระและยุคคุปตะ งานพุทธศิลป์ในพระพุทธบาท ได้มีการใส่รูปสัญลักษณ์มงคลประกอบเข้าไปในฝ่าพระบาทมากขึ้น ตามคติเรื่องมงคล 8 ประการ แทนด้วยสัญลักษณ์ ตรีรัตนะ ศรีวัตสะ สวัสดิกะ คันฉ่อง อังกุศ ปลาคู่ หม้ อกลศ และวัทธมาน รวมทั้งการใส่รูปของตรีศูล และการเพิ่มฐานรองพระพุทธบาทเป็นรูปกลีบบัว ฐานปัทม์ (บัวคว่ำบัวหงาย)
แต่ด้วยเพราะพุทธศาสนาในอินเดียเหนือนั้นได้ถูกทำลายจนสิ้นสุดลง ในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 10 – 11 งานพุทธศิลป์ของพระพุทธบาทจึงได้ย้ายมามีพัฒนาการต่อในเกาะลังกา จนถึงในราวพุทธศตวรรษที่ 14 – 15 จึงเกิดการสร้างรูปสัญลักษณ์มงคล 108 ประการบนฝ่าพระบาทขึ้นเป็นครั้งแรก ด้วยอิทธิพลของฝ่ายอภียคีรีวิหาร ที่ต้องการสร้างเรื่องราวให้พระพุทธเจ้านั้นมีความเป็นอภินิหารและอยู่เหนือความเป็นมนุษย์/เหนือโลกตามแบบมหายานมากขึ้น (เหยียบอยู่อยู่เหนือโลกุตรทั้งปวงในอดีต) ดังปรากฏภาพสัญลักษณ์ 108 มงคล (อัฏฐุตรสตมงคล) ในคัมภีร์ชินลังการฎีกา ที่ประกอบด้วย หอก, แว่นส่องหน้า, ที่อยู่ของพระศรี, ดอกพุด, สวัสติกะ, พวงมาลัย, ภาชนะราชูปโภค, แท่นที่ประทับ,ขอสับช้าง, ปราสาท, ซุ้มประตู, เศวตรฉัตร,พระขรรค์, พัดใบตาล, กำหางนกยูง, แส้หางจามร, มงกุฎประดับเศียร, แก้วมณี, บาตร, พวงมาลัย, มาลัยมะลิ, ดอกบัวสี น้ำเงิน, ดอกบัวสีแดง, ดอกบัวหลวงสีแดง, ดอกบัวหลวงสีชมพู, ดอกบัวหลวงสีขาว,หม้ อที่มีน้ำเต็ม, ถ้วย, ภาชนะที่มีของบรรจุเต็ม, มหาสมุทรทั้ง 4,จักรวาล, ป่าหิมพานต์, เขาพระสุเมรุ, ดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์, กลุ่มดาวนักษัตร 27 ดวง, ทวีปใหญ่ทั้ง 4  พระเจ้าจักรพรรดิและข้าราชบริพาร 7 ประการ, สังข์ทักษิณาวัต, ปลาทองคู่, จักรคู่, แม่น้ำสำคัญ 7 สาย, ภูเขาสำคัญ 7 ลูก, สระใหญ่ทั้ง 7 ในป่าหิมพานต์, พระยาครุฑทอง, จระเข้  ,รูปธง, เสลี่ยงทอง, พัดโบกทอง (จามร), เขาไกรลาส, พระยาราชสีห์, พระยาเสือโคร่ง, พระยาม้าวลาหก ,พระยาช้างอุโบสถ, พระยาช้างฉัททันต์, พระยานาควาสุกี, พระยาหงส์, พระยาโคอุสุภราช, พระยาช้างเอราวัณ, มังกรทอง, เรือใหญ่, แม่โคและลูก, กินนร, กินนร , นกดุเหว่า, นกการวิก, พระยานกยูง, พระยานกกระเรียน, พระยานกจากพราก, พระยานกไก่ฟ้า, เทวโลกกามาพจร 6 ชั้น และ รูปพรหมโลก 16 ชั้น เข้ามาจัดวางอยู่ภายในฝ่าพระพุทธบาทเป็นครั้งแรก
อิทธิพลงานพุทธศิลป์รูปพระพุทธบาทที่มีสัญลักษณ์มงคล 108 ประการจากลังกา คงได้แพร่หลายเข้าสู่ พุกาม มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 17 ดังที่พบจากเจดีย์โลกนันทและเจดีย์ชเวสิกอน ที่สร้างในสมัยของพระเจ้าอโนรธา  และคงได้ส่งต่ออิทธิพลในคติแบบพุกามที่มีคติแตกต่างไปจากลังกา เข้ามาสู่สุโขทัย อยุธยา และสุพรรณภูมิในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา
รอยพระพุทธบาทในพุทธศิลป์สุโขทัยล้านนาและเขมร ยังคงนิยมจัดวางรูปศิลปะของรูปสัญลักษณ์มงคลเป็นแบบตาราง ทั้งแบบมีเส้นลวดและไม่มีเส้นลวดแบ่งตามแบบคตินิยมแบบในลังกา ตรงกลางของรอยพระพุทธบาทเป็นรูปธรรมจักรหรือดอกบัว จัดวางสุคติภูมิแห่งจักรวาลในมิติด้านตั้ง (ถือนิ้วพระบาทเป็นด้านบน) มีโสฬสพรหมโลกอยู่ในระดับสูงที่สุด ไล่ลงมาเป็นเทวโลก เขาพระสุเมรุ ทวีป จักรวาลและมหาสมุทร โลกมนุษย์ ไล่ระดับลดหลั่นลงมา ซึ่งการจัดวางรูปมงคลแบบนี้เป็นคติที่ยังคงความนิยมต่อเนื่องมาจนถึงในปัจจุบัน
แต่ก็ยังมีการจัดวางรูปสัญลักษณ์มงคลอีกแบบหนึ่ง จากรอยพระพุทธบาทสำริดวัดเสด็จ จังหวัดกำแพงเพชรคือจัดวางลายมงคลเป็นแนวล้อมรอบกลุ่มบัวตรงกลางในมิติราบ ในคติแผนผังของจักรวาทิน โดยมีเขาพระสุเมรุเป็นรูปวงกลมหรือบัวบานอยู่กลางฝ่าพระบาท ล้อมรอบด้วยเทือกเขาและมหาสมุทร 7 ชั้น ต่อด้วยแนวโคจรของพระอาทิตย์ พระจันทร์ สัตว์หิมพานต์ พืชพรรณ ทวีป มนุษย์ เครื่องสูงสุดและสมบัติของพระมหาจักรพรรดิ โดยมีเทวโลกและพรหมโลกอยู่รอบนอกสุด ซึ่งเป็นลักษณะแบบเดียวกับพระพุทธบาทสลักหินทรายที่พบจากวัดพระราม พระนครศรีอยุธยา แต่มีการจัดวงแตกต่างไปคือ วางรูปพรหมโลกและเทวโลก ไว้ด้านใน ส่วนดวงดาว ทวีป โลก มนุษย์ สัตว์หิมพานต์ แม่น้ำ ภูเขา และดอกไม้เครื่องสูง วางสัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์และลาภยศไว้วงด้านนอกสุด
ลักษณะพระพุทธบาทจากวัดพระรามนี้ มีลักษณะการจัดวางแผนผังรูปสัญลักษณ์มงคล แบบล้อมรอบศูนย์กลางในคติจักรวาล ที่มีเขาพระสุเมรุและเขาสัตตบริภัณฑ์คีรีล้อมรอบ ตามแบบเดียวกับพระพุทธบาทไม้ ที่วัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรีครับ
-------------------------------------------
*** พระพุทธบาทสลักไม้ วัดพระรูป แกะสลักขึ้นจากไม้ประดู่ มีความกว้าง 74 ซม.  ความยาว 215 ซม. หนา 10 ซม. แกะสลักทั้ง 2 ด้าน ด้านหนึ่งทำเป็นพระพุทธบาท มีรูปของเทวดาสวมศิราภรณ์ทรงเทริดนั่งในท่ามหาราชลีลาสนะ (ชันเข่า) ถือพระขรรค์ ข้างฝั่งละ 2 องค์  อีกด้านหนึ่งทำเป็นรูปพุทธประวัติตอนผจญมาร  (Assualt of Mara)
พุทธศิลป์ของพระพุทธบาทเป็นไปตามลักษณะของคตินิยม คือมีนิ้วพระบาทเท่ากัน แต่ละนิ้วแบ่งเป็นสามปล้อง แต่ละปล้องขีดเป็นวงเส้นถี่ ๆ จากเล็กออกมาใหญ่แบบก้นหอย ฝ่าพระบาททําเป็นลายเส้นลวดถี่ ๆ ตื้น ๆ ตามแบบนิ้วพระบาทวนไปจนเต็มพื้นที่ ตรงกลางทำเป็นลายสัญลักษณ์มงคล 108 สิ่งล้อมรอบเขาพระสุเมรุในคติจักรวาล ตามแบบพระพุทธบาทสำริดที่พบจากกำแพงเพชรและพระพุทธบาทสลักหินที่พบจากวัดพระราม โดยจัดวางรูปสัญลักษณ์มงคลทั้ง 108 สิ่ง ออกเป็นสามวง วงนอก 44 รูป วงกลาง 40 รูป ในสุด 24 รูป
แต่การจัดวางรูปองค์ประกอบของรูปสัญลักษณ์มงคลของพระพุทธบาไม้ที่วัดพระรูป ดูแตกต่างไปจากพระพุทธบาททั้งจากวัดเสด็จและที่วัดพระราม คือสลับเอาเทวโลกและรูปพรหม 22 ชั้น ออกมาวางไว้ด้านนอกสุด ผสมกับกับรูปสรรพสัตว์มงคลและรูปสัญลักษณ์มงคล เหมือนไม่ได้ตั้งใจเรียงต่อกันเป็นแบบแผนของการจัดหมวดหมู่ในความหมายเดียวกัน
รูปเทวดาถือพระขรรค์ในท่านั่งของราชาลีลาสนะ มีความหมายแสดงฐานะของเทวดาเหล่านั้นว่าเป็นระดับราชา ที่ควรเป็น พระโลกบาล” (Lokapalas) หรือ “จตุโลกบาล (Cātum-Lokapala) ผู้รักษาคุ้มครองโลกใน 4 ทิศ สถิตอยู่บนสวรรค์ “จาตุมหาราชิกา (Cātummahārājika,)  ซึ่งเป็นชั้นแรกและเป็นชั้นล่างที่สุดในฉกามาพจร ที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาพระสุเมรุโดยตรง
การวางรูปศิลปะอยู่ข้างพระพุทธบาทด้านนอกสุดทั้งสองฝั่งของรูปจตุโลกบาลทั้ง 4 จึงสอดรับเข้ากันกับกับคติเขาพระสุเมรุศูนย์กลางของจักรวาล ซึ่งเป็นคติสำคัญของการจัดวางลำดับรูปสัญลักษณ์มงคลของรอยพระพุทธบาทนี้
จตุโลกบาลทั้ง 4 ถือพระขรรค์ตามแบบคติความเชื่อของพุกาม (ที่รับมาจากลังกาแล้วมาผสมใหม่จนกลมกล่อม) แต่รับอิทธิพลทางศิลปะการนั่งและถือพระขรรค์มาจากฝ่ายเขมร ดังปรากฏรูปท้าวจตุโลกบาลบนใบเสมาจำนวนมากในยุคหลังบายน ช่วงพุทธศตวรรษที่ 19
------------------------------
*** แต่ลวดลายดอกไม้ประดับทั้งหมดของพระพุทธบาทสลักไม้ที่วัดพระรูปนี้ กลับเป็นลายดอกไม้และเครือเถาที่มีความงดงามไปตามอิทธิพลทางศิลปะจีน อย่างลายช่อดอก ลายดอกโบตั๋นแย้ม ลายดอกโบตั๋นบานแบบประยุกต์ ที่มีอายุของพัฒนาการทางศิลปะหรือได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ในสมัยของพระบรมไตรโลกนาถ
ลายดอกโบตั๋นแบบประยุกต์นี้ ยังไปรากฎในงานปูนปั้นประดับปรางค์วัดมหาธาตุ ทั้งที่กรอบเฟื่องอุบะ (รูปสามเหลี่ยมมีกรอบลายหยักโค้ง  ประดับลายช่อดอกบัวหรือดอกโบตั๋นบานเป็นส่วนประธาน) และ ลายดอกโบตั๋นบานในกรอบช่องกระจกหรือลายกรอบคดโค้ง  บนหน้ากระดานของลวดบัวชั้นรัดประคดขององค์ปรางค์ซึ่งจัดเป็นเอกลักษณ์งานปูนปั้นในอิทธิพลของศิลปะจีนแบบสุพรรณภูมิอีกด้วย
*** พระพุทธบาทอันงดงามและเป็นงานพุทธศิลป์สลักไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยจากวัดพระรูปนี้ จึงควรมีอายุการสร้างอยู่ในสมัยของพระบรมไตรโลกนาถ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
.....................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
.....................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love.
.....................................................


2 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ
  2. ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
    My blogs link 👆
    https://sites.google.com/site/dhammatharn/
    http://abhinop.blogspot.com
    http://abhinop.bloggang.com
    ..........................................................
    ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved.

    ตอบลบ