วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2564

พระศาสดาวัดบวรนิเวศ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

พระศาสดา
วัดบวรนิเวศ​วิหาร
พระศาสดามี​ 3​ องค์ คือ
1.พระศาสดา
   พระประธาน​พระวิหาร
   วัดบวรนิเวศ​วิหาร
2.พระศาสดา
   พระประธาน​พระอุโบสถ
   วัดสุวรรณ​า​ราม​ 
3.​พระพุทธ​ศาสดา
   พระประธาน​ศาลา​การเปรียญ
   วัดพระเชตุพน​วิมลมังคลาราม
พระศาสดาวัดบวรนิเวศ​ เป็นพระศาสดาที่คนรู้จักมากที่สุด​ เพราะเป็นพระพุทธ​รูป​ในชุด​ พระพุทธ​ชินราช​ พระพุทธ​ชิน​สีห์​ และพระศาสดา พระศาสดาจึงมีประวัติ​การสร้างเช่นเดียวกับพระพุทธ​รูป​สำคัญทั้ง​สอง
สำหรับนามพระศาสดาวัดบวรนิเวศนี้​ ตามหนังสือ"ตำนาน​พระพุทธ​ชินราช​ พระพุทธ​ชิน​ศรี​ พระศรี​ศาสดา" พระราชนิ​พนธ์พระบาทสมเด็จพระ​จอมเกล้า​เจ้า​อยู่​หัวทรงเรียกพระศรีศาสดา​ ซ้ำในที่บางแห่งทรงเรียก​ พระพุทธ​ศรีศาสดา​ ก็มี​ แต่"ตำนานวัดบวรนิเวศ​วิหาร" พระนิพนธ์​สมเด็จ​พระ​มหา​สมณเจ้า​ กรมพระยาวชิรญานวโรรส​ ทรงเรียก​ พระศาสดา​ และวัดบวรนิเวศก็ใช้นามพระศาสดาอยู่ในปัจจุ​บัน
พระศาสดา​สถิตในพระวิหารทิศใต้​ วัดพระศรี​รัตน​มหาธาตุ​ เมืองพิษณุโลก​ จนถึงรัชกาลที่​ 3​ เจ้าอธิการวัดบางอ้อยช้าง​ นนทบุรี​ ได้ขึ้นไปพิษณุโลก​ อัญเชิญ​พระศาสดาลงมา​ จะมาไว้ที่วัดบางอ้อยช้าง
ครั้นเมื่ออัญเชิญ​ลงมา​ สมเด็จเจ้าพระยา​บรมมหาพิชัยญาติ​ ครั้งยังเป็นเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์​ (ซึ่งใหญ่กว่าเจ้าอธิการวัดบางอ้อยช้าง)​ ทราบข่าว​ ก็จะเชิญพระศาสดาไปเป็นพระประธานวัดประดู่​ฉิมพลี​ ที่สร้างใหม่ในคลองบางหลวง
ครั้นพระบาท​สมเด็จ​พระ​นั่ง​เกล้า​เจ้า​อยู่​หัว​ (ใหญ่กว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯ)​ ทรงทราบก็โปรดให้เชิญพระศาสดาจะไปไว้วัดสระเกศ​ เพื่อประดิษฐาน​ในมุข​หลังพระวิหารพระอัฏฐ​า​รส​ที่ทรงอัญเชิญ​ลงมาจากเมืองพิษณุโลก​เช่นกัน​ แต่เมื่อสร้างพระวิหารพระอัฏฐ​า​รส​แล้ว​ ที่มุขหลังแคบมากไม่เหมาะที่จะตั้งพระศาสดา​ จึงเชิญพระศาสดา​ไปอยู่วัด​สุทัศน​เทพ​วรา​ราม​ที่ทรงสร้าง​ โดยประดิษฐาน​เบื้องหน้าพระประธานในพระอุโบสถ​ซึ่งมีขนาดใหญ่​โตที่สุดในกรุง​รัตน​โ​กสินทร์
ครั้นถึงรัชกาลที่​ 4​ พระบาท​สมเด็จ​พระ​จอมเกล้า​เจ้า​อยู่​หัว​ทรง​พระราช​ดำริว่า​ พระศาสดาเคยอยู่ด้วยกันกับพระพุทธ​ชิน​สีห์​ บัดนี้พระพุทธ​ชิน​สีห์​มาอยู่วัดบวรนิเวศ​ พระศาสดาจึงควรมาอยู่วัดบวรนิเวศ​ด้วยกัน​ จึงโปรดให้สร้างพระวิหารพระศาสดา​ หลังพระเจดีย์ใหญ่ แล้วอัญเชิญพระศาสดา​มาประดิษฐาน​ในวัดบวรนิเวศ​วิหาร​ ตั้งแต่​ พ.ศ.​ 2406 ในรัชกาลที่​ 4​ จนถึงปัจจุบัน
พระศาสดาถึงจะมีชื่อเสียงรู้จักกันดี​ แต่เมื่อก่อนน้อยคนที่จะเคยเห็น​ เพราะพระวิหารพระศาสดาแทบจะปิดตาย​ เปิดเพียงปีละไม่กี่ครั้ง แต่ปัจจุบัน​พระวิหารพระศาสดาเปิดทุกวันแล้ว
หมายเหตุ​ : วัดบางอ้อยช้าง​ เป็นวัดราษฎร์​อยู่ในคลองอ้อมนนท์​ นนทบุรี​ อ้อยช้างเป็นอ้อยที่ช้่างชอบกิน​ เคยสงสัยมานานว่า​ เจ้าอธิการวัดบางอ้อยช้างซึ่งเป็นวัดราษฎร์​เล็กๆ​ ไม่มีสมณศักดิ์อะไรเลย​ จึงมีบารมีสามารถไปอัญเชิญ​พระศาสดาซึ่งเป็นพระพุทธรูป​สำคัญ​ ออกมาจากวัดพระศรีรัตน​มหาธาตุ​ พิษณุโลก​ได้​ จนมาพบคำตอบในสาส์นสมเด็จ
สมเด็จ​กรมพระยา​ด​ำ​ร​ง​ราชานุภาพ​ทรงอธิบายว่า​ ในเวลานั้น​ (เมื่อต้นกรุง​รัตน​โกสินทร์)​ พระวิหารที่ประดิษฐาน​พระศ​าสดาปรักหักพังไม่มีหลังคา​ พระศาสดาต้องตากแดดกรำฝนอยู่ในซากวิหารร้าง​ เจ้าอธิการ​วัดบางอ้อยช้างจึงไปอัญเชิญ​ลงมาได้​ โดยไม่มีผู้ใดห้ามปราม

.....................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
.....................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love.
.....................................................


1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love.

    ตอบลบ