วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2564

พระมหาวิษณุ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

“พระมหาวิษณุ-วิศวรูป” สภาวะสูงสุดแห่งองค์พระวิษณุ
“พระมหาวิษณุ” (Mahāvishnu) ในรูปกายแห่ง “วิศวรูป” (Viśvarūpa) หรือ “วิษณุมูรติ” (Vishvamurti) คือ สภาวะสูงสุดที่ยิ่งใหญ่แห่งองค์พระวิษณุ เป็นรูปกายแห่งมหาจักรวาลทั้งมวล อันไม่มีจุดเริ่มต้นหรือจุดจบ มีพระมหาวิษณุที่ปรากฏในทุกอณูภาค ทุกขุมขน ทุกมิติแห่งจักรวาล มีร่างเป็นเหล่าเทพเจ้ามหาฤๅษีทั้งมวลรวมกัน ทุกสรรพชีวิตและทุกอารมณ์ในจักรวาลเป็นส่วนหนึ่งของพระองค์ มีรูปกายที่ใหญ่โตเกินจะจินตนาการ  มีพระเศียรและพระกรมากมายนับไม่ถ้วน
“พระมหาวิษณุ-วิศวรูป-วิษณุมูรติ” ปรากฏเป็นชื่อนามครั้งแรกในคัมภีร์ (มหา) ปุราณะ (Purāṇa)  ที่มีอายุเริ่มแรกประมาณพุทธศตวรรษที่ 8 – 9 และใน “ภควัทคีตา-ภควัทคีโตปนิษัท” (Bhagavad gītā) ที่อายุการรจนาครั้งแรกประมาณ 2,200 ปี เป็นการนำคำสอนในคัมภีร์อุปนิษัท (Upaniṣads-การปฏิบัติธรรม) คำสอนของนิกาย “ปาญจราตระ” (Pāñcarātras)  และ “ภาควัตปุราณะ” (Bhāgavata Purāṇa) ของนิกายภาควัต (Bhāgavata) ที่มีพระวาสุเทพ (Vasudeva)  และพระกฤษณะ (Kṛṣṇa) เป็นเทพเจ้าสูงสุด และมารจนาเป็นวรรณกรรม การสนทนาการักษาธรรมระหว่าง “พระอรชุน” (Arjuna) กับ “พระกฤษณะ” ก่อนเริ่มต้นมหาสงครามแห่ง “ทุ่งกุรุเกษตร” (Kurukshetra) ระหว่างภารดา“เการพ” (kauravas) และภารดา “ปาณฑพ” (Pandavas) ในวรรณกรรมมหาภารตะ (Mahābhārata Sanskrit epic) ผ่านการเรียบเรียงถ้อยคำโดยสัญชัย (Sanjaya) ผู้เป็นสารถี ทูลถวายแก่ “ท้าวธฤตราษฎร์” (Dhritarashtra) ที่ตาบอดครับ 
การปรากฏร่างแห่งจักรวาลอันไม่มีที่สิ้นสุดของพระมหาวิษณุ หรือวิศวรูป-วิษณุมูรติ เกิดขึ้นในช่วงที่มหากองทัพแห่งแดนภารตะ ทั้งฝ่ายภารดาเการพและภารดาปาณฑพ 18 อักเษาหิณี ต่างได้มาประจันหน้ากันเหนือทุ่งกุรุเกษตร เมื่อพระอรชุนที่ได้พระกฤษณะมาเป็นสารถี เห็นผู้คนทั้งฝ่ายตอนเองและฝ่ายเการพ ที่ล้วนแต่จะเป็นญาติพี่น้องที่เคยมีความผูกพัน จึงเกิดเป็นความสังเวชใจที่จะต้องเห็นเหล่าพี่น้อง ญาติวงศ์และไพร่พลที่ต้องเข่นฆ่ากันเพื่ออำนาจ  ทุกฝ่ายคงจะต้องล้มตายมากมาย จึงตัดสินใจจะแล่นรถศึกออกจากสนามรบ โดยจะยอมแพ้ต่อฝ่ายเการพ เพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือดครั้งใหญ่
แต่พระกฤษณะ พระอวตารแห่งองค์พระวิษณุผู้เป็นสารถี ก็ได้กล่าวคำสั่งสอน เพื่อเป็นอนุสสติยั้งเตือนความสับสนในจิตใจของพระอรชุนไว้
"...รบเถิดอรชุน ในฐานะนักรบผู้ทรงธรรม การเข้ารบของเจ้านั้นคือหน้าที่เพื่อการรักษาธรรม ให้อยู่คู่โลกไปตลอดกาลนาน...โดยมินิ่งดูดาย....
“...รบเถิดอรชุน หากการรบมิประสบผลจนเจ้าจะต้องตายลงในสนามรบเพื่อรักษาธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ สรวงสวรรค์จะเปิดประตูรอรับเจ้า ผู้ปราชัยที่ทรงเกียรติ์ไปสถิตอยู่ร่วม...
“.... รบเถิดอรชุน หากเจ้าได้รับชัยชนะเหนือศัตรูผู้เป็นอธรรม โลกจะได้บังเกิดยินดี เพราะมีมหาราชาทรงปรีชาธรรมขึ้นมาปกครอง....
แต่กระนั้น อนุสสติแห่งพระกฤษณะ ก็ยังมิอาจเปลี่ยนแปลงใจในเบื้องลึกของพระอรชุนได้ พระองค์จึงได้นิรมิตกายกลับไปเป็นพระวิษณุ 4 กร ขยายขึ้นเป็น “กฤษณะ-วิศวรูป” รูปจักรวาลอันยิ่งใหญ่เกินคณานับ จนพระอรชุนเกิดความหวั่นไหวในมหาอำนาจ จนได้ฉุกคิดในคำสอนแทนความสับสน พระองค์จึงลดกายมาเป็นพระมหาวิษณุ 4 กร  
“...อรชุน เรานั้นจะปรากฏตัวทุกครั้งเมื่อความชอบธรรมเสื่อมถอยไป เพราะความไม่ชอบธรรมมีเพิ่มมากขึ้น...”
“อรชุน เราจะปรากฏตัวในทุกยุคทุกสมัย เพื่อปกป้องคุ้มครองคนดี ทำลายคนทำความชั่ว เพื่อธำรงไว้ซึ่งความชอบธรรมแห่งโลก....”
“...อรชุน เจ้ามองเรา...ผู้เป็นวิษณุ ให้เป็นแบบอย่าง เพื่อการรักษาธรรมะให้อยู่คู่โลกเถิด”
เสียงเป่าสังข์เป็นพระเวท เพื่อเริ่มต้นการรบอันศักดิ์สิทธิ์  จึงได้เกิดขึ้นในมหาสงครามแห่งทุ่งกุรุเกษตร
------------------------------------------
*** ภาพงานศิลปะ ที่สะท้อนคติ “พระมหาวิษณุ-วิษณุมูรติ-วิศวรูป” จากภควัทคีตาและคัมภีร์ภาควัตที่เก่าแก่ ดูเหมือนจะไม่ได้รับนิยมมากนักในงานศิลปะฮินดูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็ยังพบภาพสลักนูนต่ำ บนผนังอิฐด้านในของคูหาปราสาทประธานของ “ปราสาทกระวาน” (Kravan) ปราสาทก่ออิฐ 5 หลัง สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าหรรษวรมันที่ 1 โดย “มหิธรวรมัน” (Mahidharavarman) ขุนนางเก่าแก่จากยุคพระเจ้ายโสธรวรมัน ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 15 และภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง บนผนังห้องคูหาประธาน “ปราสาทเนียงเขมา”  (Neang Khmao) อำเภอสำโรง จังหวัดตาแก้ว ปราสาทก่ออิฐ 3 หลัง สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 (จารึกกรอบประตู K .765) ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 แต่ก็ได้หลุดลอกออกไปเกือบทั้งหมดแล้ว
ภาพสลักบนผนังปราสาทประธาน-ปราสาทกระวาน ได้แสดงภาพพระมหาวิษณุ-วิศวรูป 8 กร ล้อมรอบด้วยเหล่าเทพเจ้าและเทวี แสดงอัญชลีมุทรา (Añjali mudrā) จำนวนมาก โดยด้านบนสุดเป็นรูปของจระเข้ที่อาจมาจากเรื่อง “คเชนทราโมกษณะ” (Gajendramokṣaṇa) ในภาควัตปุราณะ ที่จระเข้ร้าย (Grāha) กัดขาช้างคเชนทรา (อดีตชาติคือพระเจ้าอินทรายุมมา Indradyumna กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่จากมหาภารตะ) เอาไว้ 1,000 ปี ช้างได้ถวายการบูชาจนพระวิษณุได้ทรงครุฑลงมากำราบ ส่วนภาพจิตกรรมที่ปราสาทประธาน-ปราสาทเนียงเขมาก็มีภาพของพระมหาวิษณุ-วิศวรูป 8 กร และองค์ประกอบเช่นเดียวกัน
*** รูปจระเข้ในภาพศิลปะ จึงอาจหมายถึงบาป กิเลสตัณหาและความชั่วร้าย ที่มนุษย์ทุกคนต้องประสบเจอในสังสารวัฏ ไม่สามารถหลีกหนีพ้น อาจเป็นรูปเพื่อการเตือนใจ ให้ผู้คนได้บูชาพระวิษณุ ที่ทรงเป็นผู้นำพามนุษย์ให้หลุดพ้นจากบาปเคราะห์และความชั่วร้ายบรรลุ โมกษะ-ปรมาตมัน
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy
.....................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
.....................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love.
.....................................................


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น