วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2564

นภศูล

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

“นภศูล”ยอดปรางค์ (น้อย) เหนือตรีมุขปรางค์วัดพระราม เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
ยอดโลหะ “นภศูล” (Naba Shula – Sky Spear) ประดับพระปรางค์องค์เล็กสร้างขึ้นเหนือเรือนมณฑป “ตรีมุข” หน้าเรือนธาตุของพระปรางค์ใหญ่วัดพระราม หรือวัดรามาวาส ? บนเกาะเมืองกรุงศรีอยุธยา ที่อาจสร้างขึ้นในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นงานศิลปะประดับยอดปรางค์ที่ยังคงรักษารูปลักษณ์ตามแบบแผนศิลปะอยุธยาตอนต้น ที่ได้รับอิทธิพลมาจากงานประดับปราสาทเขมรโบราณ เป็นนภศูลที่เก่าแก่ที่สุดจากทั้งหมดที่เหลืออยู่ในประเทศไทย จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติวังจันทรเกษม พระนครศรีอยุธยา
นภศูลยอดปรางค์จากวัดพระรามนี้ คงได้หักพังลงมาในช่วงรัชกาลที่ 5 ก่อนหน้าที่ตัวอาคารมณฑปตรีมุขที่มียอดปรางค์นี้อยู่ข้างบนจะพังทลายลงมาทั้งหมด พระยาโบราณราชธานินท์ (พร เตชะคุปต์) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ได้ให้นำมาเก็บรักษาไว้ที่พระราชวังจันทรเกษม (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม) ประมาณทศวรรษที่ 2440 จนถึงในปัจจุบันครับ
นภศูล มาจากคำว่า “นภา” ที่แปลว่าท้องฟ้า และคำว่า “ศูล” (shula -śūl) ที่แปลว่า อาวุธที่แหลมคม เครื่องประดับส่วนยอด เป็นสัญลักษณ์ชี้พุ่งขึ้นไปบนท้องฟ้า แสดงความหมาย “ความเป็นที่สูงสุด” ของยอดปรางค์ ซึ่งก็คือสวรรค์เขาพระสุเมรุนั่นเอง
องค์ประกอบสำคัญของนภศูล ส่วนยอดสุดคือ“ศูล” หรืออาวุธ เรียกว่า “หลาว” ตัวแกนกลาง เรียกว่า “ลำภุขัน” หรือด้ามของอาวุธ มี "กิ่ง" เป็นรูป “ดาบ ฝักเพกา หรือ ลิ้นฟ้า” แยกออกจากตัวแกน ลดหลั่นขึ้นไป 3 ชั้น แต่ละชั้นมีกิ่งแยกออกไป 4 ทิศต่อชั้น
นภศูลของยอดปรางค์อยุธยา มีพัฒนาการมาจากเครื่องประดับเรือนยอดปราสาทหินในงานศิลปะเขมรโบราณ ทั้งที่เรียกว่า ตรีศูล ปัญจศูล และทศศูล ดังตัวอย่างของชิ้นส่วนนภศูลที่พบจากปราสาทกู่โพนระฆัง จังหวัดร้อยเอ็ด อโรคยศาลาในยุคจักรวรรดิบายน (อาจจัดได้ว่าเป็นชิ้นส่วนยอดนภศูลแบบเขมรที่เก่าที่สุด ที่พบเพียงชุดเดียวในประเทศไทย) จะมีกิ่งโค้งหยักเป็นรูป “แง่งขิง” หรือ “สลัดได” 5 ขยัก แตกต่างไปจากปรางค์ไทยในยุคหลัง ที่มีกิ่งเป็นรูปฝักเพกาหรือดาบครับ
นภศูลวัดพระราม มีแกนเป็นเสาโลหะปลายแหลมต่อด้วยแกนกลางเป็นลำยาว ตั้งปักเข้ากับรูเดือยมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15 - 20 เซนติเมตร ยังคงมีรูปของ “กิ่ง” ตามแบบนภศูลปราสาทเขมร คือเป็นโค้งแง่งขิง (มีหนาม) 5 ขยัก แกนลำภุขันเป็นสันคม 4 มุม ต่อกันเป็นปล้องขึ้นไป 3 ชั้น ปลายเป็นรูปหลาว คล้ายพระขรรค์ 4 คม ศูลหรือหลาวของปรางค์ไทย มีลักษณะทรงชะลูดสูงรูปอาวุธ ไม่เป็นกลุ่มบัวยอดแหลมแบบที่พบจากปราสาทเขมร ซึ่งรูปแบบของยอดนภศูลนี้ เป็นลักษณะเด่นของปรางค์ไทยยุคเริ่มแรก ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 - 21 ที่ยังคงแบบแผนนภศูลของปราสาทเขมรเอาไว้ แต่ได้ดัดแปลงให้ชะลูดสูงไปตามรูปทรงงาเนียมและทรงฝักข้าวโพดของเรือนยอดปรางค์ไทย
---------------------------
*** ซึ่งในช่วงเวลาต่อมา นภศูลในงานศิลปะอยุธยาได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปทรงของส่วนแกนลำภุขัน จากสันเหลี่ยมคมแบบพระขรรค์ มาเป็นทรงกลมหรือทรงกระบอก โดยมีการเพิ่มหม้อประดับ “อมลกะ” ตรงบริเวณจุดแตกออกของกิ่งทั้ง 3 ชั้น ต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงงานศิลปะในช่วงยุคต้นรัตนโกสินทร์ ดังตัวอย่างแกนลำภุขันยอดนภศูลจากวัดมหาธาตุเพชรบุรี (ไม่มีกิ่งเหลือ) นภศูลของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุพิษณุโลก วัดมหาธาตุสุพรรณบุรี และอย่างที่ยอดปรางค์วัดอรุณฯ
เครดิต; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
.....................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
.....................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love.
.....................................................


1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ