วันพุธที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2564

ท้าวเวสสุวรรณ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

เมื่อท้าวกุเวร (ฮินดู) กลายเป็น ท้าวเวสสุวรรณ (พุทธ) ครั้งแรกในประเทศไทย
ชื่อนามของ “ท้าวกุเวร - พระกุเวร (Kubera) เทพเจ้าแห่งความมั่งคั่งและราชาแห่งเหล่าอมนุษย์ (Half-Man)  ทั้ง “ยักษา- ยักษิณี” (Yakshas – Yakshinis) “คนแคระ – คุหยกะ” (Guhyaka - Dwarf) กินระ – กิณรี (Kinnara – Kinnari) และ “คนธรรพ์” (Gandharva) ปรากฏขึ้นครั้งแรกในคัมภีร์ “อาถรรพเวท” (Atharvaveda) และ “ศัทธปถะพราหมณ์” ( Śatapathabrāhmaṇa) ที่มีอายุวรรณกรรมประมาณ 2,800 ปี ในฐานะบุตรแห่งพระเวสสุวรรณ (Vaiśravaṇa)  ผู้ปกครองภูตผี วิญญาณชั่วร้าย โจรและอาชญากร
ในเวลาต่อมา  ท้าวกุเวรผู้ปกครองนคร "อลกา" (Alaka) บนเขาหิมาลัย ถูกลำดับให้เป็นหนึ่งในกลุ่มพระโลกบาล (Lokapāla) ผู้ปกป้องทิศทั้ง 8 แห่งจักรวาล ที่เรียกว่า “อัษฏทิศปาลกะ-ทิศปาล” (Aṣṭadikpālaka -Dikpālas -Dikpālakas) จากวรรณกรรมรามายณะ  (Rāmāyaṇa Sanskrit epic) ที่มีอายุตั้งแต่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ 2 – 5  และในคัมภีร์ “อัคนีปุราณะ” (Agni Purāṇa) มีอายุของการประพันธ์อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่  12 เป็นคัมภีร์ของฝ่ายฮินดูที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในอินเดียเหนือ มาเป็นเทพเจ้าผู้รักษาทิศเหนือ ร่วมกับ “พระอินทร์” (Indrā) ผู้รักษาทิศตะวันออก พระวรุณ (Varuṇa) ผู้รักษาทิศตะวันตก “พระยม” (Yama) ผู้รักษาทิศใต้ “พระอีศาน” (Īśāna) ผู้รักษาตะวันออกเฉียงเหนือ “พระวายุ” (Vāyu) ผู้รักษาทิศตะวันตกเฉียงเหนือ “พระอัคนี” (Agni) ผู้รักษาทิศตะวันออกเฉียงใต้ “พระนิรฤติ” (Nairrita-Nirṛti) ผู้รักษาทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยมีพระพรหม – (Brahmā) เป็นผู้รักษาทิศเบื้องบน และ เศษะนาค-อนันตะนาคราช (Ananta-Shesha) รักษาทิศเบื้องล่าง
----------------------------
*** คติท้าวกุเวรผู้รักษาทิศเหนือของฝ่ายฮินดู ปรากฏครั้งแรก ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 16 ( พ.ศ. 1505) ปรากฏชื่อนามเทพทิศปาลกะทั้ง 8 ในจารึกปราสาทแปรรูป (K. 806) ที่กล่าวถึงการสถาปนารูปพระศิวลึงค์ “ราชเชนทรภัทเรศวร” (Rājendrabhadreśvara) ปรากฏเป็นรูปงานศิลปะครั้งแรก ๆ ในท่านั่งในท่านั่ง “มหาราชาลีลาสนะ” (Mahārājalīlāsana – ชันเข่าขึ้นด้านหนึ่ง อีกข้างหนึ่งงอพับ) บนบัลลังก์ปัทม์ ถือดอกบัว ดังที่พบหน้าบันทิศเหนือของปราสาทประธานหลังกลาง ปราสาทบันเตียเสรย (บันทายศรี-อิศวรปุระ) ที่สร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 16
แต่การกำหนด “วาหนะ-พาหนะ” (Vāhana-Vehicle-Mount) ด้วยสัตว์ประเภทต่าง ๆ ให้กับเหล่าเทพเจ้าทิศปาลกะนั้น แต่ละคัมภีร์ปุราณะในอินเดียก็ดูจะแตกต่างกันไป และยังมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมไปตามยุคสมัย   โดยให้พระอินทร์ผู้รักษาทิศตะวันออกทรงช้างเอราวัณ  พระอีศานทรงโค พระวรุณทรงหงส์ (แต่ก็มีบางปุราณะระบุให้ไปทรงมกร หรือนาค)  พระยมทรงกระบือ-ควาย  พระอัคนีทรงระมาด-แรด  (แต่ก็มีบางปุราณะระบุให้ไปทรงแกะ) และพระนิรฤติทรงรากษส-อมนุษย์-อสูร  พระวายุทรงละมั่ง (แต่ก็มีบางปุราณะระบุให้ไปทรงแพะ ไปเหมือนกับพระอังคารในกลุ่มเทพนพเคราะห์ (Navagrahas – Nine Planets)) ส่วนท้าวกุเวรนั้น ในปุราณะหลายเล่มระบุต่างกันว่า มีทั้ง หมูป่า พังพอน (เอาชนะนาค-งู) นร (Nara-วิญญาณมนุษย์เพศชาย) ช้างสวรรค์ “สำรฺวเภำม – สำรวโภม” (sārvabhauma) และม้า (ไปเหมือนกับพระศุกร์ในกลุ่มเทพนพเคราะห์) เป็นสัตว์วาหนะ
ในงานศิลปะเขมรโบราณ ศิลปะของสัตว์วาหนะตามคติเรื่องอัษฏทิศปาลกะที่รับมาจากอินเดีย ได้จัดให้ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พระวรุณทรงหงส์-นาค พระยมทรงกระบือ พระอีศานทรงโค พระอัคนีทรงแรด-ระมาด พระนิรฤติทรงรากษส โดยได้เปลี่ยนแปลงให้พระวายุไปทรงม้าแทนละมั่ง (อาจด้วยเหตุเพราะจะได้ไม่สับสนกับพระพฤหัสทรงกวางในกลุ่มเทพนพเคราะห์) 
*** ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 รูปท้าวกุเวรในงานศิลปะเขมร ยังคงประทับบนบัลลังก์ ไม่นิยมวางเหนือรูปสัตว์วาหนะใด ๆ
ต่อมา เพื่อป้องกันความสับสน ช่างเขมรโบราณจึงได้จัดให้“คชสีห์-คชสิงห์” (Gajasimha) มาเป็นสัตว์วาหนะประจำท้าวกุเวร  อาจเพราะเพื่อป้องกันความสับสนกับพระนิรฤติ ในกลุ่มทิศปาลกะด้วยกัน ที่มีรากษส (อมนุษย์) เป็นวาหนะแบบเดียวกับท้าวกุเวรในบางปุราณะ และ "พระเกตุ-อสุรา " (Kethu Asura) ในกลุ่มเทพนพเคราะห์ ที่มีวาหนะในงานศิลปะเป็นรูปสิงห์
รูปท้าวกุเวรผู้รักษาทิศเหนือประทับบนคชสีห์ เป็นงานศิลปะที่นิยมในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 18  อย่างที่พบจากปราสาทนครวัด ปราสาทบันทายสำเหร่-บันเตียซอมเรย (Banteay Samre)  “ปราสาทเบงมาเลีย” (Beng Mealea Pr.)  “ปราสาทธมมานนท์” (Thommanon Pr.) “ปราสาทเจ้าสายเทวดา” (Chay say Tevoda Pr.) ปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทพิมายและปราสาทศีขรภูมิ
ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ภาพสลักนูนต่ำผนังฝั่งทิศเหนือ ด้านปีกตะวันตกของปราสาทนครวัด ได้แสดงภาพของท้าวกุเวรมีสัตว์วาหนะเป็นรูปสิงห์  ประกอบอยู่ในเรื่องราว “ศึกเทพเจ้ากับอสูร” (Battle of Devas and Asuras)
----------------------------
*** เมื่อพุทธศาสนามหายาน – วัชรยาน ได้รับความนิยมในราชสำนักยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 คติเรื่อง “ท้าวเวสสุวรรณ –เวสวัณ” (Vessavana-Vaiśravaṇa) จึงได้เข้ามาแทนที่ท้าวกุเวร ถึงการก่อสร้างปราสาทในยุคนี้ ยังคงรักษาสถาปัตยกรรมแบบฮินดูเดิม รวมทั้งการประดับรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พระยมทรงกระบือ และพระวรุณทรงหงส์ เป็นเครื่องปัก “บันแถลง” (Small Gable –Antefixes on Roof Stage -Vimāna) ตามแบบอย่างการประดับหน้า “ซุ้มบัญชร” (Palse Window) เดิมในแต่ชั้นวิมานที่เรียงซ้อนขึ้นไปแบบศิขระวิมาน (Śikhara)  แต่รูปของท้าวกุเวรเดิม อาจได้ถูกอิทธิพลจากวรรณกรรมของฝ่ายพุทธศาสนา เปลี่ยนแปลงให้เป็น “ท้าวเวสสุวรรณ” หรือ “ท้าวไพศรพณ์” โดยได้มีการเปลี่ยนรูปของสัตว์วาหนะในงานศิลปะ จากเดิมที่เคยเป็นคชสิงห์หรือสิงห์ในยุคนครวัด กลายมาเป็นรูปของบุคคล ที่เป็นได้ทั้งอมนุษย์ – นร (วิญญาณมนุษย์ชาย) หรือรากษส บนบันแถลงประดับปราสาทในช่วงยุคศิลปะบายน อย่างที่พบจากปราสาทปรางค์สามยอด หรือปราสาทโต๊ปตะวันตก
-----------------------------
*** การเปลี่ยนแปลงรูปสัตว์วาหนะของท้าวกุเวรในยุคบายนนี้ อาจเป็นการปรากฏตัวครั้งแรกของท้าวเวสสุวรรณ (ท้าวกุเวร) ทรงรากษส ในคติและงานศิลปะเขมรโบราณ ซึ่งต่อมาก็ได้รับความนิยมในอาณาจักรกรุงศรีอยุธยามาจนถึงในปัจจุบันครับ    
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy
.....................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
.....................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love.
.....................................................


1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ