วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2564

สุกรเปรต

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

สุกรเปรต (ผลกรรมจากการใส่ร้าย)
"พระพุทธศาสนา" มีคำสอนที่กล่าวถึง วิบากกรรมของคนที่ชอบพูดยุยงให้คนอื่นแตกแยก ไว้อย่างน่าสนใจ ตายแล้วต้องทุกข์ทรมาน ต้องเกิดเป็น "เปรต" ซึ่งมีปรากฏใน "คัมภีร์เปตวัตถุ" ดังนี้
วันหนึ่ง... ขณะเดินลงจากเขาคิชฌกูฏ "พระโมคคัลลานะ" แสดงอาการแย้มให้ปรากฏ (ยิ้มน้อยๆให้พอรู้ว่ามีเหตุพิเศษ) "พระลักขณะ" จึงถามว่า "ท่านแสดงอาการแย้มนั้นเพราะเหตุใด?"
"พระโมคคัลลานะ" ตอบว่า "ขณะนี้ไม่ใช่เวลาที่จะถามปัญหานี้ ขอให้ท่านถามในสำนักพระพุทธเจ้า เมื่อกลับจากบิณฑบาตและฉันอาหารเช้าแล้ว"
ตอนสายวันนั้น... ขณะกำลังเข้าเฝ้า "พระพุทธเจ้า" บนเขาคิชฌกูฏ "พระลักขณะ" ได้ถามถึงอาการแย้มนั้นอีกครั้ง "พระโมคคัลลานะ" จึงตอบว่า...
"...เราได้เห็นเปรตตนหนึ่ง มีอัตภาพใหญ่ยาวมาก ร่างกายของมันคล้ายมนุษย์ แต่ศีรษะของมันคล้ายศีรษะสุกร หางมันเกิดที่ปาก มีหมู่หนอนไหลชอนไชออกจากปากมากมาย เราไม่เคยเห็นสัตว์ผู้มีรูปอย่างนี้เลย จึงยิ้ม..."
"พระพุทธเจ้า" ทรงสดับดังนั้นแล้วตรัสว่า...
"...เราเองก็เคยเห็นสัตว์ลักษณะปานนี้ที่โพธิมณฑลเช่นกัน แต่เราไม่พูดด้วย หวังจะอนุเคราะห์คนทั้งหลาย เพราะหากเราพูดไปแล้ว คนพวกใดไม่เชื่อ ความไม่เชื่อนั้นก็จะเป็นโทษแก่เขาเอง บัดนี้เราได้โมคคัลลานะเป็นพวกแล้ว โมคคัลลานะพูดจริง เราก็เป็นพยานของโมคคัลลานะได้..."

ภิกษุทั้งหลายต่างทูลถามถึง บุพกรรมของสุกรเปรตตนนั้น "พระพุทธเจ้า" จึงทรงแสดงถึงอดีตกรรมของสุกรเปรตให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า...
"...ในสมัยแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้านามว่า "กัสสปะ" มีพระเถระ 2 รูป จำวัดอยู่ในอาวาสแห่งหนึ่ง ทั้ง 2 รักใคร่กันมาก นับถือกันเสมือนพี่ - น้องคลานตามกันมา "พระมหาเถระ" ผู้อาวุโสกว่ามีพรรษา 60 ปี ส่วน "พระอนุเถระ" มีพรรษา 59 ปี
"พระอนุเถระ" ปฏิบัติตนประหนึ่งเป็นสามเณรของ "พระมหาเถระ" คอยถือบาตรและจีวรให้ โดยปรนนิบัติต่อ "พระมหาเถระ" อย่างดีเสมอมา
วันหนึ่ง "พระธรรมกถึก" (ผู้ชำนาญในการแสดงธรรม) ได้เดินทางมายังอาวาสนั้น และขออาศัยอยู่ด้วย พระเถระทั้ง 2 ให้การต้อนรับด้วยความยินดี ทั้งยังเชื้อเชิญให้ "พระธรรมกถึก" แสดงธรรมแก่พุทธบริษัท
จากนั้น... จึงพา "พระธรรมกถึก" ไปบิณฑบาตในหมู่บ้านใกล้เคียง เมื่อฉันอาหารเสร็จแล้วก็ให้ "พระธรรมกถึก" แสดงธรรม เมื่อชาวบ้านได้ฟังธรรมก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงนิมนต์ "พระธรรมกถึก" มาฉันอาหารอีกในวันรุ่งขึ้น
ตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกัน "พระมหาเถระ" และ "พระอนุเถระ" ได้ให้การรับรอง "พระธรรมกถึก" ด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่ "พระธรรมกถึก" นั้นใจบาป.. คิดชั่ว.. หมายจะครองอาวาสแห่งนั้น
จึงวางอุบายให้พระเถระทั้ง 2 แตกคอกัน จะได้ออกจากอาวาสนี้ไป แต่เนื่องจาก "พระธรรมกถึก" รู้ดีว่าพระเถระทั้ง 2 มีอุปนิสัยอ่อนโยน การจะยุแยงให้ผิดใจกันอย่างบุ่มบ่ามย่อมไม่ได้ผล จึงค่อยๆใช้กลอุบาย สร้างความระคายใจให้พระเถระทั้ง 2 อย่างแยบยล
เย็นวันหนึ่ง "พระธรรมกถึก" จึงเข้าไปหา "พระมหาเถระ" แล้วกล่าวว่า...
พระธรรมกถึก : ท่าน ข้าพเจ้ามีเรื่องจะพูดกับท่าน
พระมหาเถระ : มีอะไรก็พูดมาเถิด ผู้มีอายุ
พระธรรมกถึก : (ทำทีลังเลอยู่ครู่หนึ่ง) ท่านผู้เจริญ การพูดมีโทษมาก ข้าพเจ้าไม่พูดละ
จากนั้น "พระธรรมกถึก" ก็เข้าไปยังสำนักของ "พระอนุเถระ" ผู้อ่อนอาวุโส และกล่าวเป็นนัยให้ "พระอนุเถระ" ฟังเช่นเดียวกัน
"พระธรรมกถึก" ทำทีมีลับลมคมนัยเช่นนี้อยู่ 2 - 3 วัน กระทั่งเห็นว่าพระเถระทั้ง 2 กระวนกระวายใจเต็มที่แล้ว จึงกล่าวว่า "ข้าพเจ้าสงสัยว่าทำไมท่านกับพระอนุเถระจึงไม่ถูกกัน"
"ท่านสัตบุรุษ ท่านเอาอะไรมาพูด? เราทั้ง 2 รักใคร่กัน เมื่อตัวเราได้สิ่งใด พระอนุเถระก็ได้สิ่งนั้น พระอนุเถระได้สิ่งใด เราก็ได้สิ่งนั้น โทษใดๆของพระอนุเถระนั้น เราไม่เคยเห็นเลย ตลอดกาลอันยาวนานที่อยู่ร่วมกันมา"
"อย่างนั้นหรือท่าน ถ้าอย่างนั้นทำไมพระอนุเถระจึงพูดกับข้าพเจ้าว่าให้พิจารณาให้ดีเสียก่อนที่จะคบหากับพระมหาเถระ"
"พระมหาเถระ" ได้ฟังดังนั้นก็มีใจโกรธแค้น.. ความรักใคร่เอ็นดูที่มีต่อ "พระอนุเถระ" แตกสลายลง.. ดุจภาชนะดินที่ถูกตีด้วยไม้!!
ส่วน "พระธรรมกถึก" ก็ได้เข้าไปกล่าวเช่นนี้กับ "พระอนุเถระ" เช่นกัน.. ทำให้ "พระอนุเถระ" หมดความนับถือในตัว "พระมหาเถระ"
วันรุ่งขึ้น... ขณะที่ "พระอนุเถระ" ยืนอยู่ที่ศาลาอันเป็นที่บำรุง "พระมหาเถระ" ก็ไปถึง "พระอนุเถระ" เกิดความลังเลว่า "เราควรจะรับบาตรและจีวรของพระเถระดีหรือไม่หนอ???"
ด้วยความที่เคยปรนนิบัติ "พระมหาเถระ" มาโดยตลอด "พระอนุเถระ" จึงคิดว่าไม่ควรเสียวัตรปฏิบัติอันดีที่เคยทำมา ท่านจึงเข้าไปหา "พระมหาเถระ" แล้วกล่าวว่า "ขอท่านจงให้บาตรและจีวรของท่านแก่ข้าพเจ้าเถิด"
แต่ "พระมหาเถระ" กลับชี้นิ้วและตวาดเอาว่า "จงไป จงไปคนหัวดื้อ เจ้าไม่ควรรับบาตรและจีวรของเรา"
"พระอนุเถระ" จึงตอบโต้ไปว่า "ความจริงข้าพเจ้าก็คิดอยู่เหมือนกันว่าจะไม่รับบาตรและจีวรของท่าน"
ผลที่สุด... พระเถระทั้ง 2 ก็แตกคอกัน รูปหนึ่งเดินจากไปทางทิศตะวันออก - ส่วนอีกรูปหนึ่งเดินจากไปทางทิศตะวันตก
"พระธรรมกถึก" เห็นดังนั้นก็รู้สึกสมใจ แต่แสร้งกล่าวว่า "อย่าทำอย่างนี้เลยท่าน อย่าทำอย่างนี้เลย" แต่พระเถระทั้ง 2 ก็ไม่ฟัง
วันรุ่งขึ้น "พระธรรมกถึก" เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านอย่างเคย เมื่อชาวบ้านถามถึงพระเถระทั้ง 2 "พระธรรมกถึก" จึงชี้แจงว่า "เมื่อวานนี้ท่านทั้ง 2 ทะเลาะกัน แตกแยกกันไปแล้ว อาตมาพยายามห้ามเท่าไรก็ไม่ฟัง"
เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวบ้านเสียใจมาก บางคนที่มีไหวพริบถึงกับตั้งข้อสังเกตว่า "ความพลั้งพลาดใดๆของท่านผู้เจริญทั้ง 2 พวกเราไม่เคยเห็นมาก่อน ภัยที่เกิดแก่พระเถระทั้ง 2 คงเนื่องมาจากพระธรรมกถึกนี่เอง"
ส่วนพระเถระทั้ง 2 เมื่อบาดหมางกันไปก็มิได้มีความสบายใจเลย หนำซ้ำยังไม่ได้ปฏิบัติภาวนาธรรม เพราะต่างก็กังวลใจกับความแตกแยกที่เกิดขึ้น
.กระทั่งกาลล่วงไป 100 ปี
พระเถระทั้ง 2 บังเอิญไปพบกันในวิหารแห่งหนึ่ง เมื่อ "พระมหาเถระ" เห็น "พระอนุเถระ" ก็ไม่อาจกลั้นน้ำตาไว้ได้ "พระอนุเถระ" เองก็มอง "พระมหาเถระ" ผู้อาวุโสด้วยนัยน์ตาเอ่อล้นด้วยน้ำตา ท่านก้มกราบ "พระมหาเถระ"
พระอนุเถระ : ข้าพเจ้าถือบาตรและจีวรของท่านอยู่เป็นเวลานาน ท่านได้เห็นมารยาทอันใดของข้าพเจ้าที่ไม่สมควรอยู่บ้างหรือ?
พระมหาเถระ : ไม่เคยเห็นเลย ผู้มีอายุ
พระอนุเถระ : ถ้าอย่างนั้น.. เหตุใดท่านจึงพูดกับพระธรรมกถึกว่าอย่าคบหาสมาคมกับข้าพเจ้า?
พระมหาเถระ : ผู้มีอายุ เราไม่เคยพูดเลย แล้วท่านเล่า เห็นความประพฤติอันไม่สมควรใดๆของเราหรือ?
พระอนุเถระ : ไม่เคยเลย
พระมหาเถระ : ถ้าอย่างนั้น.. ทำไมท่านจึงพูดกับพระธรรมกถึกว่าอย่าคบหาสมาคมกับเรา?
พระอนุเถระ : ข้าพเจ้าไม่เคยพูดเลย เป็นความจริง ข้าพเจ้าไม่เคยพูดเลย
เมื่อได้ทราบความจริงดังนี้... ความบาดหมางที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลาถึง 100 ปีก็ระงับลง พระเถระทั้ง 2 ล่วงรู้ถึงเจตนาร้ายของ "พระธรรมกถึก" จึงกล่าวกันว่า "เราไปไล่พระธรรมกถึกออกจากอาวาสกันเถิด"
ผลจากการยุยงให้คนที่เคยดีต่อกันต้องผิดใจกัน
ทำให้ "พระธรรมกถึก" ต้องทุกข์ทรมานใน "อเวจีมหานรก" เกิดเป็น "สุกรเปรต" คือ ร่างกายคล้ายมนุษย์ แต่ศีรษะคล้ายศีรษะสุกร หางเกิดที่ปาก มีหมู่หนอนไหลชอนไชออกจากปาก แม้แต่สมณธรรมที่ได้บำเพ็ญเพียรมา 20,000 ปีก็ไม่อาจช่วยให้พ้นจากนรกได้..."
ที่มา : คัมภีร์เปตวัตถุ
เครดิต ; FB แก้วเสียงธรรม
.....................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
.....................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love.
.....................................................


1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ