วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2564

เมืองเชียงแสน

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

“พระเจดีย์วัดป่าสัก” ความงดงามที่เมืองโบราณเชียงแสน 
“คาร์ล บ็อค” (Carl Bock) นักธรรมชาติวิทยาชาวนอร์เวย์ เป็นชาวตะวันตกคนแรกที่ได้เดินทางมาเยือนเมืองเชียงแสน ในเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2424  กล่าวถึงเมืองเกียงแสน (เชียงแสน) ในหนังสือ Temples and Elephants ความตอนหนึ่งว่า “...ภูมิประเทศโดยรอบเมืองเชียงแสนนี้มีความงดงามมากที่สุดนับตั้งแต่ที่ข้าพเจ้าได้เดินทางตระเวนไปทั่วแหลมอินโดจีน เมื่อมองออกไปทางด้านหลังของตัวเมืองจะเห็นเป็นภูเขาซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ต่อกันเป็นทิวยาว ทั้งเทือกเต็มไปด้วยป่าไม้สักและต้นไม้ที่ให้ยางมากมายหลายชนิด...”
“...พลเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวยวนโยนกที่เพิ่งมาอาศัยอยู่ที่เชียงแสนนี้กันมาได้เพียง 3 ปี ภายหลังจากที่พวกเชียงใหม่มายึดเมืองคืนจากพวกเงี้ยว … เมืองนี้ตั้งฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง สูงประมาณ 700 ฟุตจากระดับน้ำทะเล .... คงเคยเป็นเมืองสำคัญมาก่อน ดังที่เห็นมีร่องรอยของซากวัดวาอารามอยู่มากมาย ....ข้าพเจ้าได้ไปดูสถานที่เก่า ๆ ซากปรักหักพังของวัดโบราณยังพอเห็นเค้าของสถาปัตยกรรมที่ดูแปลกตา เป็นงานฝีมือที่มีความประณีตงดงาม คล้ายกับที่เคยพบเห็นทางภาคใต้  พระเจดีย์บางองค์ประดับด้วยปูนปั้นที่ที่มีลวดลายสวยงาม ปั้นประดับกันทั้งภายนอกและภายในอย่างพิถีพิถัน ...แต่ทุกองค์ถูกพวกเชียงใหม่ที่เข้ามาบุกรุกทำลายลักเอาของมีค่าไปจนหมดสิ้น ทำให้เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ไปเสียหมดแล้ว ....ตามพื้นดินยังพบพระพุทธรูปสำริดกองทิ้งอยู่กระจัดกระจาย บางองค์มีขนาดใหญ่โตมาก พวกเงี้ยวที่อยู่อาศัยใกล้เมือง ยังคงเดินทางมาสักการบูชาด้วยดอกข้าวตอก ดอกไม้ และยังคงปิดทององค์พระพุทธรูปที่เหลืออยู่...”
ในตำนานเก่าแก่ทั้ง “สุวรรณโคมคำ สิงหนติกุมารและชินกาลมาลีปกรณ์” ของแคว้นโยนกโบราณ ได้กล่าวถึงต้นกำเนิดของผู้คนและบ้านเมืองในลุ่มน้ำกกและแม่น้ำโขงว่า เริ่มต้นมาจาก “เจ้าสิงหนติราชกุมาร” โอรสของพระเจ้าเทวกาลแห่งนครไทยเทศหรือเมืองราชคฤห์ ในอินเดีย ได้ทำการอพยพผู้คน มายังดินแดนที่เคยเป็นแคว้นสุวรรณโคมคำในอดีต และได้มาพบกับพญาพันธุนาคราช จึงได้ช่วยกันสร้างเมือง “นาคพันธุสิงหนตินคร” หรือ “โยนกนคร” ขึ้นเป็นปฐม
ในกาลต่อมา กษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ได้เปลี่ยนชื่อนาม “นาคพันธุสิงหนตินคร” มาเป็น “โยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น” จากนิมิตอันเป็นมงคล  ซึ่งในยุคของพญาอชุตราช  ได้โปรดให้สร้างพระธาตุดอยตุง พระธาตุดอยกู่แก้ว พระธาตุในถ้ำปุ่ม ถ้ำเปลวปล่องฟ้า จนเมื่อแผ่นดินล่มลงเป็นหนองน้ำใหญ่ด้วยเพราะฤทธาปลาไหลเผือกยักษ์จากแม่น้ำกก ชาวเมืองที่รอดชีวิตจึงได้อพยพมาสร้างเวียงเปิกสา (เวียงปรึกษา) ที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง
ในตำนานเมืองเชียงแสน ฉบับใบลานและประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 61 เล่าว่า  ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้านิพพานไปได้ 1182 ปี เมืองยวนเชียงแสนและเมืองไทยยวนอีกพันเมืองไม่มีเจ้าปกครองเมือง พระเจ้าอนุรุทธเป็นใหญ่กว่าเมืองทั้งหลาย จึงขอให้พระอินทร์ส่งเทวดาลงมาปกครองเมือง พระอินทร์จึงส่ง “ลาวจังกระเทวบุตต์” และเทวดาอีก 1,000 องค์ ลงมาปกครอง ชาวเมืองเวียงเปิกสาจึงได้อัญเชิญมาประทับอยู่ที่เวียงแล้วอภิเษกให้เป็นเจ้าปกครองเมืองไทยยวนทั้งมวล “ปู่ลาวจง ” (ลาวจังกระเทวบุตต์  ลวะจักกะ หรือลาวจังกราช)  ได้สร้าง “เวียงหิรัญนครเงินยางเชียงลาว” (ตีนดอยตุง) ขึ้นเป็นครั้งแรก
เวียงหิรัญนครเงินยางเชียงลาว (ในตำนาน) รุ่งเรืองสืบต่อมาหลายร้อยปี จนถึงช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 พญามังรายปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ ผู้สืบเชื้อสายจากปู่เจ้าลาวจังกราช ได้รวบรวมเมืองต่าง ๆ บริเวณที่ราบลุ่มเชียงแสน-แม่น้ำโขงไว้ในพระราชอำนาจ ทั้งยังทรงเข้ายึดเมืองหริภุญชัยในที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง สร้างเมือง“นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ขึ้นเป็นศูนย์กลางแห่งราชอาณาจักรล้านนา
สิ้นรัชกาลพญามังราย พญาไชยสงครามผู้เป็นพระราชโอรสขึ้นปกครองเมืองเชียงใหม่ แต่พระองค์ประทับอยู่เชียงใหม่เพียง 4 เดือน ก็เสด็จกลับปกครองเมืองเชียงราย โดยมอบเมืองเชียงใหม่ให้พญาแสนภู พระราชโอรสปกครองแทน สิ้นพญาไชยสงคราม พญาแสนภูยกเมืองเชียงใหม่ให้เจ้าคำฟู พระโอรสขึ้นปกครองแทน ส่วนพระองค์เสด็จกลับไปประทับที่เชียงราย
*** ในปี พ.ศ.1871 พระเจ้าแสนภูได้สถาปนาเมืองเชียงแสนขึ้น ซึ่งในพงศาวดารโยนกกล่าวว่า ได้สร้างขึ้นบนเมืองเวียงรอย (ดอย) ในยุคพญามังราย เพื่อใช้เป็นเมืองป้องกันศึกทางเหนือและใช้ควบคุมเมืองในเขตล้านนาตอนบน
เมืองเชียงแสน  เป็นเมืองที่มีกำแพงล้อมรอบ มีประตูเมือง 11 ประตู แต่คงเหลือให้เห็นในปัจจุบันแค่ 6 ประตู ได้แก่ ประตูยางเทิง (ด้านทิศเหนือ) ประตูดินขอ (ด้านทิศใต้) ประตูหนองมูด ประตูป่าสัก ประตูทัพม่าน (ด้านทิศตะวันตก) และป้อมมุมเมืองตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ 2 ป้อม ส่วนประตูรั้วปีก ประตูท่าอ้อย ประตูท่าสุกัม ประตูท่าหลวง ประตูท่าเสาดิน ประตูท่าคาว และป้อมมุมเมืองอีก 2 ป้อมฝั่งด้านตะวันออกติดริมแม่น้ำโขงที่ปรากฏในพงศาวดารนั้น  ได้ถูกแม่น้ำโขงกัดเซาะพังทลายลงไปในแม่น้ำทั้งหมดแล้ว มีวัดทั้งหมด 139 วัด แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ วัดภายในกำแพงเมือง 76 วัด เช่น วัดเจดีย์หลวง วัดผ้าขาวป้าน วัดพระเจ้าล้านทอง วัดอาทิต้นแก้ว วัดมุงเมือง ฯลฯ และวัดนอกกำแพงเมือง จำนวน 63 วัด เช่น วัดป่าสัก พระธาตุจอมกิตติ พระธาตุสองพี่น้อง วัดป่าแดง วัดกู่เต้า ฯลฯ
ใกล้กับเมืองโบราณเชียงแสน ยังมีเมือง “โบราณเชียงแสนน้อย” ตั้งห่างไปทางทิศใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร บริเวณที่ลำนํ้ากกไหลมาบรรจบกับลำนํ้าโขง(สบกก) และยังมีเมืองโบราณเชียงเมี่ยง ตั้งห่างไปทางทิศเหนือของเมืองโบราณเชียงแสนราว 10 กิโลเมตร บริเวณที่ลำนํ้ารวกไหลมาบรรจบกับลำนํ้าโขง (สบรวก) โดยเมืองโบราณทั้ง 3 ตั้งเรียงอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง  และยังมีเมืองโบราณที่ชาวลาวเรียกว่า "สุวรรณโคมคำ" ตั้งอยู่ริมฝั่งตรงกันข้ามกับเมืองโบราณเชียงแสนน้อยในฝั่งประเทศลาวอีกด้วย
เมืองโบราณริมแม่น้ำโขงทั้งสามแห่ง มีศาสนสถานในพุทธศาสนารวมกันกว่า 112 แห่ง กระจายอยู่ทั่วซึ่ง ส่วนใหญ่กว่า 100 แห่ง จะกระจุกตัวอยู่ในบริเวณเมืองโบราณเวียงเชียงแสน
-----------------------------------------
*** ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 กล่าวถึงการสถาปนา “วัดป่าสัก” ไว้ว่า “...เมื่อ พ.ศ. 1838  ยังมีมหาเถรเจ้าองค์หนึ่งเอาพระบรมธาตุกระดูกตาตีนก้ำขวา (เบื้องขวา) แห่งพระพุทธเจ้าใหญ่เท่าเม็ดถั่วกว่าง (ถั่วเขียว) เอามาแต่เขตเมืองปาฏลิบุตรเอามาสู่พระยาราชแสนภู แล้วท่านก็พร้อมกับด้วยมหาเถรเจ้าเอาไปสร้างมหาเจดีย์บรรจุไว้ภายนอกประตูเชียงแสน ด้านเวียงแห่งตนภายตะวันตก สร้างให้เป็นพระอารามกว้าง 50 วา เอาไม้สักมาปลูกแวดล้อมกำแพง 300 ต้น แล้วเรียกว่าอารามป่าสักแต่นั้นมาแล แล้วก็สร้างกุฏิให้เป็นทานแก่มหาเถรเจ้าตนชื่อว่า พุทธโฆษาจารย์นั้น อยู่สถิตที่นั้นก็อภิเษกขึ้นเป็นสังฆราชมหาเถรอยู่ยังอารามป่าสักที่นั้น...”
“พระเจดีย์วัดป่าสัก” ประธานของวัดป่าสัก เป็นเจดีย์ทรงปราสาทแบบพุกามห้ายอดที่มีการประดับลวดลายปูนปั้นทั้งองค์ มีเรือนธาตุแผนผังสี่เหลี่ยมประกอบซุ้มจระนำตรงกลางเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปในแต่ละด้าน ถือเป็นเจดีย์ที่มีความสวยงามที่สุดองค์หนึ่งในศิลปะล้านนา ที่ได้รับอิทธิพลทางศิลปะมาจากพุกาม สุโขทัย(เขมร)และหริภุญชัย(รามัญ) 
ฐานล่างสุดรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสของเจดีย์เป็นช่องขื่อปลอม ถัดขึ้นมาเป็นฐานช่องระเบียงลูกแก้ว ด้านบนทำเป็นซุ้มจระนำด้านละ 7 ซุ้ม ภายในสามซุ้มใหญ่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืนปางเปิดโลกและปางลีลา สลับกับซุ้มประดิษฐานรูปเทพยดา เหนือขึ้นไปเป็นฐานเขียงสอบเข้ารองรับเรือนธาตุด้านบน 3 ชั้น
ส่วนเรือนธาตุ ทำเป็นเรือนซุ้มจระนำเสาตั้งซ้อนกัน 2 ชั้น ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางเปิดโลกทั้งสี่ด้าน ตรงหน้าจั่วเรือนซุ้มเป็นใบเพกากลีบยาวแบบ “ซุ้มเคล็ก” (Clec) ในงานศิลปะพุกาม ปลายกรอบซุ้มทำเป็นรูปมกรคายนาคสามเศียรแบบเขมร ประดับด้วยปูนปั้นลวดลายวิจิตร ทั้งลายกลีบบัวคว่ำบัวหงาย ช่อดอกไม้ในกรอบกระจก ลายกระหนก ลายพรรณพฤกษา ลายเหรียญ ลายดอกโบตั๋น ลายตัวเหงา ลายครุฑ ลายประจำยามขนมเปียกปูน ลายหน้ากาลยอดซุ้ม ลายกาบบน ประจำยามอก ลายกาบล่างหน้ากาล ลายกาบล่างมกรคายสิงห์  ลายกาบล่างมกรคายช้าง และลายเทวดาบนผนังเรือนธาตุ
เหนือซุ้มจระนำขึ้นไป เป็นอาคารชั้นซ้อนที่จัดวางปูนปั้นรูปยักษ์แบกฐาน มีเจดีย์ขนาดเล็กหรือ “สถูปิกะ” ตังอยู่ที่มุมทั้ง 4 ด้าน รวมเป็นเจดีย์ 5 ยอดอันมีความหมายถึงทวีปทั้ง 4 ที่รายล้อมเขาพระสุเมรุ ช่วงบนสุดเป็นยอดองค์ระฆังฐานแปดเหลี่ยมแบบพุกาม-หริภัญไชย ชั้นกลางคั่นด้วยเสาอิงเรียงรายอยู่โดยรอบ มีบัวหงายกลีบซ้อนสับหว่างยอดลายเกสรแผ่ขยายรองรับส่วนองค์ระฆังอีกชั้นหนึ่ง  องค์ระฆังนี้เป็นรูปทรงกลมมีลายปูนปั้นประจำยามรัดอกขั้นกลาง เหนือองค์ระฆังเป็นองค์ระฆังซ้อน หม้อน้ำ บัวกลุ่ม (คุ้ม) บัวกลีบขนุนยาวเป็นเฟื่อง รองรับปล้องไฉน ปลียอด และส่วนยอดสุดที่ควรเม็ดน้ำค้างเป็นที่สุดตามลำดับ
*** เรียบเรียงจาก “เชียงแสน เชียงของ อารยธรรมล้านนาและวิถีชาติพันธุ์ไทลื้อที่ชายขอบโขง”
โดย วรณัย  พงศาชลากร ในอนุสาร อ.ส.ท. มกราคม 2562 
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy
.....................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
.....................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love.
.....................................................


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น