วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2564

นารายณ์บรรทมสินธุ์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

“นารายณ์บรรทมสินธุ์-วิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ” กลางสายน้ำธรรมชาติ ใหญ่ที่สุดในโลก
รูปศิลปะ “นารายณ์บรรทมสินธุ์” (Reclining Vishnu) หรือ “วิษณุอนัตศายินปัทมนาภะ” (Vishnu ananta shayana padmanabha) พระวิษณุประทับนอนอยู่บนพญาอนันตนาคราชเหนือเกษียรสมุทร (Vishnu reclining on the serpent Shesha (Ananta) on Cosmic Ocean - Kṣīrasāgara) ริมฝั่งแม่น้ำพราหมณี (Brahmani River) ทางฝั่งตะวันออก ใกล้กับหมู่บ้านศารังกา (Saranga) รัฐโอริสสา (Orissa) ทางตะวันออกของคาบสุทรเดกข่าน-อินเดีย ถือเป็นรูปประติมากรรมสลักจากโขดหินธรรมชาติบนสายน้ำตามธรรมชาติที่มีความยาวมากที่สุดในอินเดีย (และในโลก) สร้างขึ้นในช่วง "ราชวงศ์เภามะกาลา" (Bhauma-Kara Dynasty) ต้นพุทธศตวรรษที่ 15 ในยุคสมัยที่คติความเชื่อแบบไวษณพนิกาย (Vaishnavism) กำลังกลับมารุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งในอินเดีย
รูปพระวิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ 4 กร สลักบนโขดหินทรายที่เป็นลาดผาชั้นน้ำตกเตี้ย ๆ ใกล้กับริมชายฝั่งมีขนาดความยาว  15.4 เมตร กว้างประมาณ 7 เมตร สวมกีรีฏมุกุฏ  (Kirīṭamukuṭa) คลุมพระเศียรด้วยนาคโค้งคล้ายฮูด (Hood) คลุมพระเศียร สลักรูปจักร สังข์ คทาและดอกบัว ในแต่ละพระหัตถ์ พระเพลาล่างไขว้ทับ ลาดหินด้านบนปรากฏรูปพรหม 4 กร บนดอกบัวที่มีสายบัวเชื่อมต่อลงไปยังรูปพระวิษณุ ที่แสดงว่ารูปบรรทมสินธุ์นี้ เป็นภาพมงคลที่หมายถึงตอนกำเนิดโลกใหม่ ปรากฏใน “มหาภารตะ” (Mahābhārata Sanskrit epic) ที่มีอายุการรจนาเริ่มแรกที่ประมาณ 2,500 ปี ว่า
“.....โลกเมื่อถึงคราวสิ้นกัลป์ (หนึ่งกัลป์เท่ากับหนึ่งวันของพระพรหม) ทุกสรรพสิ่งถูกทำลายล้าง พื้นดินจมลงสู่ใต้มหาสมุทรพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงพระนามว่า “พระวิษณุ” ผู้มีพันพระเนตรและพันพระบาท บรรทมอยู่ที่ท่ามกลางมหา “เกษียรสมุทร” มีพญานาคผู้มีพันเศียรรองรับองค์พระผู้เป็นเจ้า...
“...เมื่อพระองค์ตื่นบรรทม และมองเห็นโลกที่ว่างเปล่า พระองค์ได้ตั้งสมาธิเพื่อการสร้างสรรค์สรรพสัตว์ขึ้นใหม่ ในขณะนั้น ได้เกิดดอกบัว (หมายถึงความบริสุทธิ์) ดอกหนึ่ง ผุดขึ้นจากพระนาภี (สะดือ) จากผลของสมาธินั้น แล้วพระพรหมผู้มีสี่พักตร์ก็ได้ปรากฏขึ้นบนดอกบัวนั้น.....”
เรื่องราวการกำเนิดโลกใหม่จากพระนาภี ยังปรากฏในคัมภีร์ปุราณะตามคติความเชื่อของฮินดูหลากนิกาย ในแต่ละยุคสมัย โดยเฉพาะของฝ่ายไวษณพนิกาย อย่าง คัมภีร์ หริวงศ์ (Harivaṃśa) ภาควัตปุราณะ (Bhāgavata Purāṇa) มัสยาปุราณะ (Matsya Purāṇa) และวิษณุปุราณะ (Viṣṇu Purāṇa) วราหะปุราณะ(Varāha Purāṇa) ปัทมปุราณะ (Padma Purāṇa) มารกัณเฑยะปุราณะ (Mārkaṇḍeya Purāṇa)  พราหมณะปุราณะ (Brahmāṇḍa Purāṇa)  ซึ่งต่างล้วนได้เล่าเรื่องราวของการบรรทมสินธุ์ของพระวิษณุ และการกำเนิดขึ้นของพระพรหมในดอกบัวที่ผุดขึ้นจากพระนาภีเพื่อการสร้างโลกใหม่
----------------------------------------
*** อิทธิพลของคติความเชื่อและแนวคิดการรังสรรค์งานศิลปะโดยอาศัยโขดหินธรรมชาติจากวัฒนธรรมฮินดูจากอินเดียตะวันออกนี้ ส่งอิทธิพลโดยตรงต่อศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายแห่ง อย่างรูปสลัก วิษณุอนันตศายิน บนโขดหินในแม่น้ำเสียมเรียบ ที่กบาลสเปียน บนเขาพนมกุเลนและสวายเลอ อีกทั้งยังพบรูปสลักบนโขดหินริมฝั่งแม่น้ำโดมใหญ่ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม เทือกเขาพนมดองเร็ก จังหวัดอุบลราชธานี ที่มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ใกล้เคียงกัน
---------------------------
*** ความหมายที่สำคัญในการสลักรูปพระวิษณุ (ผู้กำลัง) อนันตศายิน มีปัทมะ ผุดออกมากพระนาภี (สะดือ) หรือ นารายณ์บรรทมสินธุ์  เพราะต้องการ “สมมุติ - อุปมา” หรือ “การอภิเษก” (Abhiṣeka) เปลี่ยนให้สายน้ำตามธรรมชาติ มีความ “ศักดิ์สิทธิ์” เป็นดั่ง “เกษียรสมุทร” บนสรวงสวรรค์ไวกูณฐ์แห่งพระวิษณุ ที่อยู่บนพื้นโลกนั่นเองครับ
เครดิต : FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
.....................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
.....................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love.
.....................................................


1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love.

    ตอบลบ