วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การเสี้ยมสอน

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นอำมาตย์ของพระเจ้าพรหมทัต ในเมืองพาราณสี มีช้างมงคลตัวหนึ่งนามว่า มหิลามุข เป็นช้างมีศีล มีอาจาระมารยาทงาม ไม่เบียดเบียนใครๆ ต่อมาในคืนหนึ่ง พวกโจรได้ไปปรึกษาวางแผนการปล้นที่ใกล้โรงช้างนั้น คุยกันว่าจะทำลายอุโมงค์อย่างไร จะลักสิ่งของอย่างไร ฆ่าเจ้าของแล้วจึงลักขโมย โจรต้องเป็นคนกักขฬะ หยาบช้า ป่าเถื่อน เป็นต้น
   พวกโจรได้ปรึกษากันเช่นนี้หลายคืน ช้างได้ฟังทุกคืน เข้าใจว่า ” พวกโจรสอนให้ตนเป็นผู้กักขฬะ หยาบช้า ป่าเถื่อน ” เช้าตรู่วันหนึ่ง จึงเอางวงจับคนเลี้ยงช้างฟาดพื้นดินให้ตายไปหลายคน
    พวกทหารได้กราบทูลเหตุนั้นแด่พระราชา พระองค์ทรงรับสั่งให้อำมาตย์เข้าเฝ้า และให้ไปตรวจดูช้างว่า เป็นเพราะเหตุไร อำมาตย์ไปตรวจดูแล้วพบว่าช้างปกติดี ไม่เป็นโรคอะไร จึงคิดว่าเหตุที่ช้างดุร้าย อาจได้รับฟังคำของใครๆในที่ไม่ไกล จึงถามคนเลี้ยงช้างว่า
     ” พวกท่านพบเห็นอะไรผิดสังเกตหรือไม่ ” พวกคนเลี้ยงช้างแจ้งให้ทราบว่า
     ” เห็นพวกโจรมาปรึกษากันใกล้โรงช้างหลายคืนแล้วละครับท่าน ”
   อำมาตย์จึงไปกราบทูลพระราชาว่า ” ช้างมหิลามุขเป็นปกติดี เหตุที่ช้างดุร้ายเป็นเพราะได้รับฟังคำของพวกโจร พ่ะย่ะค่ะ    ต่อแต่นี้ให้นิมนต์พระผู้มีศีลมากล่าวถึงศีลและอาจาระมารยาทอันงามในที่ใกล้โรงช้างนั้น ช้างก็จะเลิกดุร้าย พะย่ะค่ะ ”
   พระราชารับสั่งให้กระทำเช่นนั้น ผ่านไปสองสามวันเท่านั้น ช้างมหิลามุขก็กลับมาเป็นช้างที่มีศีลธรรมปกติเหมือนเดิม
พระราชาทราบความนี้แล้วจึงตรัสเป็นคาถาว่า
     ” พญาช้างชื่อมหิลามุข ได้เที่ยวทำร้ายคน เพราะได้ฟังคำของพวกโจรมาก่อน
       พญามงคลหัตถี ได้ตั้งอยู่ในคุณธรรมทั้งปวง ก็เพราะได้ฟังคำของนักบวชผู้สำรวมดีแล้ว ”
  นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
  คนจะดีหรือเลวสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญเป็นอย่างมาก

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved. _/|\_

    ตอบลบ