วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พระแก้วดอนเต้า ลำปาง

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา


จังหวัดลำปาง
ตำนานพระแก้วดอนเต้า
เนื้อเรื่อง
......................ตำนานพระแก้วดอนเต้านับเป็นตำนานที่ชาวเหนือนิยมเทศน์และสร้าง (จารลงใบลาน) ถวายวัด ซึ่งมีใจความโดยสรุปดังนี้
ในครั้งที่พระพุทธเจ้าสถิตอยู่ในป่าเชตวันพร้อมด้วยพระภิกษุ ๕๐๐ รูป ทรงตรัสเทศนาถึงครั้งที่ทรงเกิด เป็นนกแขกเต้าอยู่ในป่าหิมพานต์ ว่าดังนั้นก็ทรงนำภิกษุ ๕๐๐ รูป ไปยังเมืองยักษ์แล้วทรงบันดาลให้เกิด ความมืดมัวมีฝนตกลงมา เหล่ายักษ์ทั้งหลายก็รู้สึกหนาว จึงยกมือไหว้ว่าคงเป็นผู้มีบุญแล้วอารธนาให้
ประทับนั่งอยู่ม่อนดอนเต้า พระพุทธเจ้าจึงเนรมิตให้ที่นั้นงดงามดุจป่าเชตวันและเทศนาธัมมจักกัปปวัตนสูตร แก่หมู่ยักษ์ ยามนั้น ท้าวจตุโลกบาล พญาอินทราและเทวดาทั้งหลายก็มาชุมนุมกันฟังธรรมจนบรรลุธรรมใน ระดับต่าง ๆ หมู่ยักษ์ก็ไม่ เบียดเบียนทำลายกัน พระพุทธเจ้าจึงสั่งเหล่าเทพว่าที่นี้เป็นที่อันประเสริฐให้ชื่อว่า ม่อนดอนเต้า เป็นที่บรรจุ พระเกศธาตุ พระอินทร์ได้เนรมิตให้เกิดหลุมลึก ๑๐๐ วา แล้วเอาไหแก้ว ๗ ประการ
จากเมืองอุตตรกรุทวีป พระพรหมนำทองคำจากอมรโคยาน ๘ แสนคำ ท้าวทั้ง ๔ ไปเอาเงินจากเขาไกรลาศ มาบรรจุพร้อมกันกับ พระเกศธาตุ
พระพุทธเจ้าจึงตรัสทำนายว่า ในภายหน้าที่นั้นจะเป็นบ้านเมืองมีพระญาชื่อท้าวอโศกธรรมิกราช มหาอานันทะจะนำพระธาตุไตและหัวใจมาบรรจุไว้ที่นี่ ท้าวอโศกธรรมิกราชจะก่อเจดีย์ให้เมืองกุกกุฎนคร (ลำปาง) บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรือง หลังจากนั้นอีก ๕๐๐ ปี ผู้คนจะละทิ้งวัตรปฏิบัติ เจ้าเมืองไม่บูชา
บำรุงรักษามหาเจดีย์ธาตุ บ้านเมืองจะแร้นแค้น เมื่อผ่านไป ๘๐๐ ปี จะมีศิษย์แห่งตถาคตชื่อชมพูจิตตะมา เป็นเจ้าเมือง จะบำรุงสร้างมหาธาตุให้ใหญ่โต สร้างมหาวิหารทางตะวันออก สร้างพระพุทธรูปนอนมีหลังคา มุงทางตะวันตก บ้านเมืองจะรุ่งเรืองมาก ต่อมาอีก ๑,๐๐๐ ปี ผู้คนจะละทิ้งซึ่งวัตรปฏิบัติอีก ศิษย์แห่ง
พระตถาคตจะมาเกิดอีก ได้บวชเป็นภิกษุและมีเทวดาองค์หนึ่ง ลงมาเกิดเป็นอุปัฏฐากชื่อสุชาดา นางประสงค์จะสร้างพระพุทธรูปเจ้า แต่หาคนสลักพระพุทธรูปไม้จันทน์แดง ไม่ได้
............................. ยังมีพญานาคตนหนึ่งได้นำ แก้วมรกตจากเมืองนาคใส่ไว้ในลูกแตงโม เมื่อนางสุชาดาลงไปในสวนเห็นว่างดงามดี จึงเด็ดไปถวาย
พระมหาเถร เมื่อผ่าดูก็พบแก้วมรกตลูกนั้น จึงจะนำมาสลักเป็นพระพุทธรูป แต่สลักเท่าไหร่ก็ไม่ได้ พระอินทร์จึงแปลงเป็นชายแก่เข้ามาถาม ขณะพระมหาเถรลุกไปหามีดพร้ามาใช้ชายแก่นั้น พระอินทร์ก็เนรมิตแก้วมรกตนั้น กลายเป็นพระพุทธรูปแล้วหายไป ข่าวนี้ได้เลื่องลือไปทั่ว คนก็หลั่งไหลมาบูชาพระพุทธรูปที่นั่น จึงได้ชื่อว่า วัดพระแก้ว ถึงกระนั้นก็มีเสียงเล่าลือว่านางสุชาดากับมหาเถรทำมิจฉาจารกัน ข่าวนี้ถึงหูเจ้าเมืองผู้ใจ
บาป จึงสั่งให้นำนางสุชาดาไปฆ่าเสีย นางจึงอธิษฐานว่าหากได้กระทำผิดจริงก็ขอให้เลือดตกลงบนพื้นดิน แต่หากไม่ได้กระทำผิดขอให้เลือดพุ่งสู่อากาศ พระอินทร์ก็นำถาดทองมารองรับเลือดของนางแล้วนำไปไว้ที่ พระเกศแก้วจุฬามณี ผู้คนทั้งหลายเห็นนิมิตนี้ก็นำไปบอกกล่าวแก่เจ้าเมือง เจ้าเมืองรู้สึกสังเวชใจ จึงอกแตก
ตายแล้วไปรับกรรมในนรก นางสุชาดาก็ไปเกิดในสวรรค์ ยามนั้นเมืองกุกกุฏนครจะแร้นแค้น ผู้คนจะอพยพออกไปเนื่องจากเจ้าเมืองและคนทั้งหลายไม่ได้บำรุง
พระธาตุ เมื่อผ่านไปได้ ๑,๒๒๐ ปี ลูกศิษย์แห่งตถาคตจะมาเกิด ผู้หนึ่งจะเป็นเจ้าเมือง ผู้หนึ่งเป็นเสนาอำมาตย์ เศรษฐี คหบดีต่าง ๆ เขาทั้งหลายจะมาสร้างพระมหาธาตุ ก่อกำแพง สร้างศาลาบาตร บันไดนาค อาราม และพระพุทธรูปนอนใหม่ เมื่อศาสนาผ่านไปได้ ๑,๒๘๐ ปี วัดพระแก้วเวียงดินจะเจริญรุ่งเรืองกว่า
เดิม คนทั้งหลายจะหลั่งไหลกันมาร่วมสร้างพระมหาธาตุ มีการสมโภชในวันเพ็ญเดือน ๘ ทุกปี บ้านเมือง เจริญรุ่งเรือง ผู้ใดอยากเห็นพระศรีอาริยเมตไตรยเจ้า ก็ให้พากันสร้างมหาธาตุจำศีลภาวนาในวัดพระแก้ว ดอนเต้านี้ ท่านจงจำคำเทศนาแล้วเทศนาสืบต่อกันไป ผู้ใดสร้างธรรมตำนานดอนเต้า และเขียนด้วยมือตนภายหน้าจะถึงอรหันต์ ปรารถนาสิ่งใดก็จะได้ดังใจ หากบุคคลใดเขียนตำนานเป็นทาน แล้วนิมนต์พระสงฆ์มาเทศนามีเครื่องบูชา แล้วหยาดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ ผู้ตาย ผู้นั้นก็จะได้ไปเกิดในสวรรค์ และสามารถช่วยผู้ตายที่ตกนรกให้พ้นบาปได้ ที่นั้นเป็นที่อันประเสริฐให้
ท่าน ทั้งหลายช่วยกันบำรุงรักษามหาชินธาตุเจ้าตราบเท่า ๕,๐๐๐ ปี ว่าแล้วพระพุทธเจ้าก็พาอรหันต์ทั้ง ๕๐๐ องค์กลับสู่ป่าเชตวัน
คติ/แนวคิด
...................การสืบทอดพระพุทธศาสนาให้มั่นคงยั่งยืนจะต้องอาศัยพระสงฆ์สาวกช่วยสั่งสอนธรรมะขององค์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพุทธศาสนานิกชนจะต้องช่วยอุปถัมภ์และปฏิบัติตามคำสอน ตำนานนี้มีคติสอนใจให้บุคคลทำใจให้บริสุทธิ์จะชนะมาร ถึงเมื่อตายไปแล้วต้องมีคนสรรเสริญ และ
บุคคลผู้ทำบาปย่อมได้รับผลกรรม จากการกระทำนั้น เช่น เจ้าเมืองใจบาป เป็นต้น

2 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ
  2. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved. _/|\_

    ตอบลบ