วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

แพะรับบาป

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภมตกภัต ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า…
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในเมืองพาราณสี สมัยพระเจ้าพรหมทัต มีพราหมณ์ทิศาปาโมกข์ผู้หนึ่ง คิดจะทำมตกภัต (อุทิศคนตาย) จึงให้ลูกศิษย์จับแพะตัวหนึ่งไปอาบน้ำและประดับดอกไม้ แพะพอถูกลูกศิษย์จูงไปที่ท่าน้ำ ก็ทราบถึงวาระสุดท้ายชีวิตของตนมาถึงแล้วอันเนื่องจากกรรมเก่า จึงเกิดความโสมนัส ได้หัวเราะออกมาเสียงดัง และคิดเวทนาสงสารพราหมณ์ที่จะได้รับความทุกข์โศก จึงร้องไห้ออกมา แพะแสดงอาการเดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้ออกมา ทำให้พวกลูกศิษย์แปลกใจ เมื่อนำแพะกลับมาถึงสำนักแล้ว จึงบอกเรื่องนี้แก่พราหมณ์ พราหมณ์จึงถามแพะถึงอาการนั้น
     แพะจึงบอกพราหมณ์ว่า ” อดีตชาติเคยเป็นพราหมณ์เหมือนกัน เพราะได้ฆ่าแพะตัวหนึ่งทำมตกภัต จึงเป็นเหตุให้ถูกฆ่าตัดศีรษะถึง ๔๙๙ ชาติ นี่เป็นชาติที่ ๕๐๐ พอดี จึงหัวเราะดีใจที่จะสิ้นกรรมในวันนี้ และร้องไห้ เพราะสงสารท่านที่จะเป็นเช่นกับเรา ”
     พราหมณ์ ได้ฟังแล้วเกิดความสลดใจ จึงยกเลิกไม่ฆ่าแพะ และสั่งให้ลูกศิษย์ทำการอารักขาแพะเป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้แพะเกิดอันตราย แพะจึงบอกพราหมณ์ว่า ” การอารักขาของท่านมีประมาณน้อย ส่วนบาปกรรมของเรามีกำลังมาก อะไรก็ห้ามไม่ได้ ”
      แพะพอเขาปล่อย ก็ชะเง้อคอจะกินใบไม้ใกล้แผ่นหินแห่งหนึ่ง ทันใดนั้นเอง ฟ้าได้ผ่าลงที่แผ่นหิน สะเก็ดหินชิ้นหนึ่งได้ปลิวไปตัดคอแพะที่กำลังชะเง้อคออยู่พอดี แพะล้มลงสิ้นใจตายทันที
รุกขเทวดาที่อยู่ในที่นั้น ได้กล่าวสอนว่า ” มนุษย์ผู้กลัวตกนรก พึงพากันงดจากปาณาติบาต ตั้งอยู่ในเบญจศีลเถิด ” และกล่าวเป็นคาถาว่า
     ” ถ้าสัตว์ทั้งหลาย พึงรู้อย่างนี้ว่า ชาติภพนี้เป็นทุกข์
       สัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์ เพราะว่าผู้ฆ่าสัตว์ ย่อมเศร้าโศก ”

  นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
  เกิดเป็นคนไม่พึงทำกรรมชั่วด้วยการฆ่าสัตว์ด้วยกัน มิเช่นนั้นจะได้รับความทุกข์เช่นแพะรับบาปนี้

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved. _/|\_

    ตอบลบ