วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ภาพ:พระยาตากสิน2.gif

 พระราชประวัติ

        สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ พระเจ้ากรุงธนบุรี มีพระนามเดิมว่า สิน ( ชื่อจีนเรียกว่า เซิ้นเซิ้นซิน ) เป็นบุตรของขุนพัฒน์ ( นายหยง หรือ ไหฮอง แซ่อ๋อง บางตำราก็ว่า แซ่แต้ ) และ นางนกเอี้ยง ( กรมพระเทพามาตย์ ) เกิดเมื่อวันอาทิตย์ มีนาคม พ.ศ. 2277 ในแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา ต่อมา เจ้าพระยาจักรีผู้มีตำแหน่งสมุหนายกเห็นบุคลิกลักษณะ จึงขอไปเลี้ยงไว้เหมือนบุตรบุญธรรม ตั้งแต่ครั้งยังเยาว์วัยได้รับการศึกษาขั้นต้นจากสำนักวัดโกษาวาส (วัดคลัง ) และ บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ 13 ขวบ ที่วัดสามพิหาร หลังจากสึกออกมาแล้ว ได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็ก และ อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุครบ 21 ปีตามขนบประเพณี ของไทยบวชอยู่ 3 พรรษา หลังจากสึกออกมาได้เข้ารับราชการ ต่อ ณ. กรมมหาดไทยที่ศาลหลวงในกรมวัง ต่อมาในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์) จึงได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตากจนได้เป็นพระยาตาก ในเวลาต่อมา หลังจากนั้นได้ถูกเรียกตัวเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา เพื่อแต่งตั้งไปเป็น พระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชรแทนเจ้าเมืองคนเก่าที่ถึงแก่อนิจกรรมลงใน พ.ศ. 2310 ครั้นเจริญวัยวัฒนา ก็ได้ไปถวายตัวทำราชการกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีความดีความชอบจนได้รับเลื่อนหน้าที่ราชการไปเป็นผู้ปกครองหัวหน้าฝ่ายเหนือคือ เมืองตาก และเรียกติดปากมาว่า พระยาตากสิน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชครองราชย์สมบัติกรุงธนบุรีได้ 15 ปีเศษ ก็สิ้นพระชนม์มีชนมายุ 48 พรรษา กรุงธนบุรีมีกำหนดอายุกาลได้ 15 ปี

ผลงานอันสร้างชื่อของพระเจ้าตากสิน

        สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์มีความสำคัญที่ชาวไทยไม่สามารถจะลืมในพระคุณงามความดีที่ทรงกอบกู้เอกราชเริ่มแต่ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2309 ซึ่งตรงกับวันเสาร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือนยี่ จุลศักราช 1128 ปีจอ อัฐศก พระยาวชิรปราการ (ยศในขณะนั้น) เห็นว่ากรุงศรีอยุธยาคงต้องเสียทีแก่พม่า จึงตัดสินใจรวบรวมทหารกล้าราว 500 คน ตีฝ่าวงล้อมทหารพม่า โดยตั้งใจว่าจะกลับมากู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนให้ได้โดยเร็ว ทรงเข้ายึดเมืองจันทบุรี เริ่มสะสมเสบียงอาหาร อาวุธ กำลังทหาร เพื่อเข้าทำการกอบกู้กรุงศรีอยุธยา         กรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อวันอังคาร ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 8 ปีกุน นพศก จุลศักราช 1129 ตรงกับ พ.ศ.2310 และสมเด็จพระเจ้าตากสิน สามารถกู้กลับคืนมาได้ เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก ซึ่งตรงกับวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2310 รวมใช้เวลารวบรวมผู้คนจนเป็นทัพใหญ่กลับมากู้ชาติด้วยระยะเวลาเพียง 7 เดือนเท่านั้น         เมื่อทรงจัดการบ้านเมืองเรียบร้อยพอสมควร บรรดาแม่ทัพ นายกอง ขุนนาง ข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ตลอดทั้งสมณะพราหมณาจารย์และอาณาประชาราษฎร์ทั้งหลาย จึงพร้อมกันกราบบังคมทูลอัญเชิญขึ้นทรงปราบดาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ ณ วันพุธ เดือนอ้าย แรก 4 ค่ำ จุลศักราช 1130 ปีชวด สัมฤทธิศก ตรงกับวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2310 ทรงพระนามว่า พระศรีสรรเพชญ์ หรือสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 แต่เรียกขานพระนามของพระองค์ติดปากว่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

พระราชกรณียกิจที่สำคัญ ๆ

        นอกจากพระราชกรณียกิจในด้านกู้ชาติแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสิน ยังได้ปราบอริราชศัตรูที่มักจะล่วงล้ำเขนแดนเข้ามาซ้ำเติมไทยยามศึกสงครามอยู่เสมอ จนในสมัยของพระองค์ได้ขยายอาณาเขตออกไปอย่างไพศาล กล่าวคือ
ทิศเหนือ ได้ดินแดนหลวงพระบาง และเวียงจันทน์
ทิศใต้ ได้ดินแดนกะลันตัน ตรังกานู และไทรบุรี
ทิศตะวันออก ได้ดินแดนลาว เขมร ทางฝั่งแม่น้ำโขงจดอาณาเขตญวน
ทิศตะวันตก จรดดินแดนเมาะตะมะ ได้ดินแดน เมืองทวาย มะริด ตะนาวศรี
        พระองค์ยังโปรดเกล้าฯ ให้มีการฟื้นฟูและสร้างวรรณกรรม นาฏศิลป์ และการละครขึ้นใหม่ แม้ว่าจะมีศึกสงครามตลอดรัชกาล กระนั้นก็ยังทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ถึง 4 เล่ม สมุดไทย ในปี พ.ศ.2312 นับว่าทรงมีอัจฉริยภาพสูงส่งเป็นอย่างมาก และในรัชสมัยของพระองค์มีกวีที่สมควรได้รับการยกย่อง 2 ท่าน คือ
  1. นายสวน มหาดเล็ก ซึ่งแต่งโคลงสี่สุภาพ แต่งขึ้นเพื่อยกพระเกียรติและสรรเสริญ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี 85 บท เป็นสำนวนที่เรียบง่าย แต่ทรงคุณค่าด้วยเป็นหลักฐานที่คนรุ่นต่อมาได้ทราบถึงสภาพบ้านเมืองและความเป็นไปในยุคนั้น
  2. หลวงสรวิชติ (หน) ซึ่งต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาพระคลัง (หน) งานประพันธ์ของท่านเป็นที่รู้จักและแพร่หลาย จนถึงปัจจุบัน เช่น สามก๊ก เป็นต้น
        พระเจ้าตากสิน ยังโปรดให้มีการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา การติดต่อการค้ากับต่างประเทศ ในด้านการปกครอง หลังจากสถาปนาเมืองธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว ทรงจัดวางตำแหน่งหน้าที่ข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ทรงสอดส่องทุกข์สุขของราษฎร และหลังจากกอบกู้แผ่นดินได้แล้ว พระองค์ได้ทรงอัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าเอกทัศมาจัดถวายพระเพลิงอย่างสมพระเกียรติและยังทรงรับอุปการะบรรดา เจ้าฟ้า พระองค์ฟ้า พระราชโอรส ตลอดทั้งพระเจ้าหลานเธอของพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาทุกพระองค์ ด้วยความกตัญญูกตเวที

ถวายพระนามมหาราช และการสร้างพระราชอนุสาวรีย์

ภาพ:พระยาตากสิน3.gif
        ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ตามที่กล่าวมาแล้ว ประชาชนทุกหมู่เหล่าจึงพร้อมใจกันถวายพระนาม “มหาราช” แด่ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” และรัฐบาลอันมี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งเหล่าพสกนิกรชาวไทย ได้พร้อมใจกันสร้างพระราชอนุสาวรีย์ประดิษฐาน ณ วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี ซึ่งศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี คณบดีประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรขณะนั้น เป็นผู้ออกแบบ         ทางราชการได้ประกอบพระราชพิธีเปิดและถวายบังคมพระบรมราชอนุสาวรีย์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2497 และในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2497 จึงมีรัฐพิธีเปิดเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินทรงวางพวงมาลา ถวายราชสักการะ ต่อมาทางราชการจึงกำหนดให้วันที่ 28 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเสวยราชย์ปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ไทย เป็นวันถวายบังคมพระบรมราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

พระราชปณิธาน พระเจ้าตากสินมหาราช

อันตัวพ่อ ชื่อว่า พระยาตาก
ทนทุกข์ยาก กู้ชาติ พระศาสนา
ถวาย แผ่นดิน ให้เป็น พุทธบูชา
แด่พระศาสนา สมณะ พระพุทธโคดม

ให้ยืนยง คงถ้วน ห้าพันปี
สมณะพราหมณ์ชี ปฏิบัติ ให้พอสม
เจริญ สมถะ วิปัสสนา พ่อชื่นชม
ถวายบังคม รอยบาท พระศาสดา

คิดถึงพ่อ พ่ออยู่ คู่กับเจ้า
ชาติของเรา คงอยู่ คู่พระศาสนา
พุทธ ศาสนา อยู่ยง คู่องค์กษัตรา
พระศาสดา ฝากไว้ ให้คู่กัน ฯ

กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันถวายบังคมพระบรมราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

  1. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน สถานที่ราชการ
  2. จัดนิทรรศการเผยแพร่พระราชประวัติและพระเกียรติคุณของพระเจ้าตากสินมหาราช อันมีต่อปวงชนชาวไทย
  3. ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การนำพวงมาลาไปถวายบังคมพระบรมราชานุสรณ์ การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่อสังคม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล

ขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ