วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

หลวงพ่อเพชร พิจิตร

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา


จังหวัดพิจิตร
หลวงพ่อเพชร
เนื้อเรื่อง
.................. ตามตำนานมีว่า แม่ทัพจากกรุงศรีอยุธยา ยกกองทัพไปทำศึกกับเมืองเชียงใหม่ได้มาหยุดพักพลแรมคืน ที่เมืองพิจิตรเก่า ซึ่งแม่ทัพกับเจ้าเมืองเป็นมิตรกันมานานปี เจ้าเมืองพิจิตรขอให้แม่ทัพช่วยหาพระเมือง เหนืองาม ๆ มาฝาก ๑ องค์ เมื่อเสร็จศึกแล้ว ขากลับแม่ทัพก็ได้นำพระพุทธรูปลักษณะงามปางมารวิชัยสมัย
เชียงแสนรุ่นแรก มาฝากพระพิจิตร ๑ องค์ ได้นามว่า หลวงพ่อเพชรมีเหตุผลยืนยันได้ว่า แม่ทัพของกรุงศรีอยุธยานี้คือขุนแผน
................... บางตำนานกล่าวว่า ขุนแผนกับจหมื่นไวยวรนาถ ได้อาสาสมเด็จพระพันวษาปราบกบฏจอมทองที่เชียงใหม่แล้ว ได้เลือกพระพุทธรูปลักษณะงามจากวัดหนึ่ง ให้ทหารคุมล่องแพมาตามลำน้ำปิงและฝากแพ จอดไว้ที่กำแพงเพชร แล้วขุนแผนก็ยกกองทัพกลับจากเชียงใหม่มาทางเก่า แจ้งให้เจ้าเมืองพิจิตรทราบ เจ้า
เมืองให้อัญเชิญแห่แหนมาประดิษฐานไว้ ณ วัดนครชุม เมืองพิจิตรเก่า จัดให้มีการสมโภช ๓ วัน ๓ คืนการย้ายหลวงพ่อเพชร มาอยู่ที่เมืองพิจิตรใหม่ นี้พระเดชพระคุณพระธรรมทัสสีมุวงศ์ (ไป๋ นาควิจิตร) อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าหลวง ได้เขียนเล่าไว้ว่า เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๔๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระพุทธเจ้าหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้สร้างวัดเบญจมบพิตร และมีพระราชประสงค์จะอัญเชิญพระพุทธชินราชจากเมืองพิษณุโลก ไปประดิษฐานเป็นพระประธาน ในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้สืบหาพระพุทธรูปที่ มีพุทธลักษณะงดงาม ประกอบด้วยกฤดาภินิหารไปแทนพระพุทธชินราชที่เมืองพิษณุโลก
เจ้าพระยาศรีสุรียศักดิ์ ซึ่งเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก ทราบว่าหลวงพ่อเพชรที่เมืองพิจิตรมีพุทธลักษณะดังกล่าวข้างต้น ตรงตามพระราชประสงค์ และมีชาวเมืองพิษณุโลกมาสักการบูชาเป็นประจำ จึงควรแก่การอัญเชิญไปประดิษฐานแทน จึงแจ้งให้พระยาเทพาธิบดี (อิ่ม) เจ้าเมืองพิจิตรได้ทราบ และให้จัด
การอัญเชิญหลวงพ่อเพชรขึ้นไปพิษณุโลก เมื่อชาวพิจิตรรู้ข่าวก็เสียใจ เกิดความเสียดายในสิ่งที่ตนเคยเคารพบูชา จึงช่วยกันนำเอาหลวงพ่อเพชร
พาหนีไปซ่อนตามป่า เคลื่อนย้ายที่เรื่อย ๆ ไป แต่ในที่สุดคณะกรรมการเมืองก็ติดตามจนพบ จึงได้อัญเชิญหลวงพ่อเพชรขึ้นเกวียนจากเมืองพิจิตรเก่า มาลงเรือชะล่ามีประรำที่แม่น้ำน่าน เมืองพิจิตรใหม่ แล้วลากจูง ด้วยเรือพาย (เรือยาว) ขึ้นไปถึงเมืองพิษณุโลก จอดเทียบท่าอยู่หน้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
เหตุการณ์ครั้งนั้น กล่าวกันว่า ได้ยังความเศร้าโศกเสียใจให้กับชาวเมืองพิจิตรเป็นอย่างยิ่ง ในระยะเวลาเดียวกันนั้นเอง ท่านเจ้าคุณสมุหเทศาภิบาล ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล ต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า การที่อัญเชิญพระพุทธชินราชจากเมืองพิษณุโลกมากรุงเทพฯ นั้น ชาวเมือง
พิษณุโลกมีความหวงแหนพระพุทธชินราช และชาวเมืองพิจิตรก็มีความหวงแหนหลวงพ่อเพชรเช่นกัน พากันโศกเศร้าไปทั่วทั้งเมือง พระองค์ทรงเห็นใจชาวเมืองพิษณุโลกและชาวเมืองพิจิตร จึงโปรดเกล้าให้หล่อ พระพุทธชินราชจำลองขึ้นประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรแทน จึงสั่งให้อัญเชิญ หลวงพ่อเพชรกลับเมืองพิจิตร แต่หลวงพ่อเพชรมิได้กลับถึงเมืองพิจิตรเก่าคือ พักอยู่เมืองพิจิตร (ใหม่) ปัจจุบันนี้เท่านั้น
เมื่อชาวเมืองพิจิตรทราบ ต่างก็ดีใจ พากันมานมัสการสักการบูชา และมีมหรสพสมโภชกันเป็นการใหญ่ เมื่อเสร็จการสมโภชแล้ว ชาวเมืองพิจิตรเก่าก็เตรียมมารับหลวงพ่อเพชรกลับคืนไปวัดนครชุมตามเดิม ตอนนี้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น คือ ชาวเมืองพิจิตรใหม่ก็จะเอาหลวงพ่อเพชรไว้ที่วัดท่าหลวง เพราะเห็นว่า เมืองพิจิตรได้ย้ายมาอยู่ที่แห่งใหม่นี้แล้ว จึงไม่ยอมให้ชาวเมืองพิจิตรเก่านำหลวงพ่อเพชรกลับไป จึงเกิดเรื่องราวใหญ่โต ถึงขั้นเตรียมอาวุธจะเข้าประหัดประหารกัน แต่เคราะห์ดี ที่พระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระธรรมทัสสีมุนีวงศ์ (เอี่ยม) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าหลวง และเจ้าคณะจังหวัดพิจิตรอยู่ในขณะนั้น ได้เข้าทำการห้ามปรามระงับเหตุร้ายนั้นลงได้ โดยได้จัดการหล่อหลวงพ่อเพชรจำลอง ไปประดิษฐานที่วัดนครชุม เมืองพิจิตรเก่าแทน เหตุการณ์ก็กลับคืนสู่ความสงบเป็นปกติสุขสืบมา และนับตั้งแต่นั้นมา หลวงพ่อเพชรก็สถิตย์ประดิษฐานอยู่ ณ วัดท่าหลวง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร จนถึงปัจจุบันนี้ เดิมทีเดียว หลวงพ่อเพชรได้ประดิษฐานอยู่ที่สร้างขึ้นชั่วคราวเป็นเรือนมีพื้นอยู่บนดิน ที่วัดท่าหลวง หลังจากไม่ต้องไปประดิษฐานเป็นพระประธานที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัด
พิษณุโลกแล้ว ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๕๒ พระยาพิชัยณรงค์สงคราม (ดิษ) ข้าหลวงประจำจังหวัดพิจิตร จึงได้อัญเชิญเข้ามาประดิษฐาน เป็นพระประธานในพระอุโบสถที่สร้างขึ้นให้เหมาะสมและเป็นศรีสง่าแก่หลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปสำคัญของเมืองพิจิตร โดยประทับฐานชุกชีที่ก่อเป็นขั้นขนาดใหญ่ พอที่พุทธศาสนิกชนจะผลัด เปลี่ยนกันขึ้นไปปิดทององค์พระตามความเชื่อและศรัทธาได้สะดวก ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๒ พระเดชพระคุณพระธรรมทัสสีมุนีวงศ์ (ไป๋ นาควิจิตร) เจ้าอาวาสวัดท่าหลวงในขณะนั้น ได้เป็นประธานริเริ่มก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ที่วิจิตรงดงามแบบสถาปัตยกรรมไทย แล้วได้อัญเชิญหลวงพ่อเพชร เข้ามาประดิษฐานเป็นพระประธานของวัดท่าหลวงในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ มาตราบเท่าทุกวันนี้

2 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ
  2. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved. _/|\_

    ตอบลบ