วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

พระสทาศิวะ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
ประติมากรรม “พระสทาศิวะ” คติฮินดูในอยุธยา 
“พระสทาศิวะ” (Sadāshiva –Sadāśiva) หรือ “สทาศิวะมูรติ” (Sadāśivamūrti)  คือ “องค์ปรเมศวร (Paraméshvara) - เทพผู้เป็นปฐมนิจนิรันดร์” ทรงเป็น “วิทยาเทศะ” (Vidyādeha) ผู้บริสุทธิ์ปราศจากมลทิน 
คติพระสทาศิวะในอินเดียโบราณ จะหมายถึงพลังทั้ง 3 อันประกอบ “ผู้สร้าง ผู้พิทักษ์และผู้ทำลาย”  ปรากฏรูปลักษณ์ทางศิลปะครั้งแรกเป็นรูปพระสทาศิวะ 3 พระพักตร์ ถือตรีศูล บนภาพวาดบนแผ่นดินเผา (Panel fragment) ในงานศิลปะแบบคันธาระ ยุคราชวงศ์กุษาณะ ในพุทธศตวรรษที่ 7 - 8  ซึ่งในเวลานั้น พระศิวะยังคงมีพระนามว่าเทพ Oesho 
ต่อมาเมื่อเกิดคณะอิศวร (Ishvara - Īśvara) ที่พัฒนาเป็น “ไศวะนิกาย” (Shaivism) ในช่วงต้นราชวงศ์คุปตะในอินเดียเหนือ คติความนิยมและรูปลักษณ์ทางศิลปะของพระสทาศิวะ (พระผู้เป็นปฐมปรมาตมันอันเป็นนิจนิรันดร์ – พระศิวะผู้เป็นใหญ่) ได้แตกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือแบบ 3 พระพักตร์ตามแบบเดิมและแบบ 5 พระพักตร์ ที่พัฒนารายละเอียดในคติพระสทาศิวะมากขึ้นกว่าเดิม  โดยพระพักตร์ทั้ง 5 “ปัญจมุข” (Panchavaktra – Pancha mukha) หมายถึง “ เทพทั้ง 5 - ปัญจพราหมณ์ทั้ง 5 (Panchabrahmas) -ธาตุทั้ง 5-พลังทั้ง 5 (ปัญจกฤตยะ  – Panchakritya) -ทิศทั้ง 5 และปรัชญาทั้ง 5”  
1 พระพักตร์บนยอดเศียรคือพระพักตร์แห่ง “พระสทาศิวะ” (วรรณะสีคริสตัลใส)- พราหมณ์ อิศานมูรธะ (Īśānamūrdha) - อากาศธาตุ- พระภาคแห่งผู้ประทานพรศักดิ์สิทธิ์–ผู้ประทับอยู่เหนือสุด (ทิศบน) 
2. “พระมเหนทร-มหาเทพ” (Mahādeva- วรรณะขาวอมเหลือง) พราหมณ์ตัตปรุษศวัคตรา (Tatpuruṣavaktra) - ลม (วายุ –Vāyu)  พระภาคแห่งผู้ปกปักษ์รักษา- มองไปทางทิศตะวันออก
3. “พระไภรวะ” (Bhairava- วรรณะฟ้า) -พรามหณ์อโฆระหารัทยะ (Aghorahṛdaya) – ไฟ – พระภาคแห่งผู้ทำลาย-มองไปทางทิศใต้
4. “พระศักติ” (śakti – วรรณะม่วงหญ้าฝรั่น) พราหมณ์วามเทพคุหยะ (Vāmadevaguhya) – น้ำ – พระผู้สร้าง (ครรภะ) – มองไปทางทิศเหนือ
5.  “พระนนทิ” (Nandi – วรรณะแสงแห่งจันทรา) - พราหมณ์สัทโยชาตะมูรติบาท  (Sadyojātamurti (Pāda)-ดิน-พระผู้เป็นมายา-มองไปทางทิศตะวันตก
---------------------------------------------
*** ในอินเดียโบราณ กลับปรากฏความนิยมในรูปลักษณ์ทางศิลปะของพระสทาศิวะ-พระปฐมปรเมศวร ในรูปแบบ 3 พระพักตร์ แทบทั้งหมด อย่างรูปสลักประธานขนาดใหญ่ใน “ถ้ำเอเลเฟนต้า” (Elephanta Cave 1) บนเกาะช้าง ใกล้เมืองมุมไบ รัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) ในยุคพระเจ้าภูตราราชา (Buddharāja) ราชวงศ์ฮินดูกาลาจูลี ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 12 สลักผนังถ้ำเฉพาะส่วนพระเศียร 3 พระพักตร์ ลงมาแค่พระอุระ พระพักตร์กลางคือพระภาคของพระศิวะ ในความหมายแห่งผู้สร้าง ถือ “ผลมาตุฤงคะ” (Matulunga - มะนาวควาย ส้มมะงั่ว) ด้านขวาเป็นพระภาคของพระศักติ ผู้ดูแลรักษา ถือ “ดอกบัว” (Padma) และทางซ้ายเป็นพระภาคพระรุทระ ผู้ทำลาย ถือ “งูใหญ่ ” (Bhujanga)  อีกทั้งยังมีรูปประติมากรรมพระสทาศิวะ 3 พระพักตร์ 4 กร ปรากฏไปทั่วอินเดีย ทั้งรูปศิลปะหลังคุปตะจากปากีสถาน ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 13 รูปศิลปะจากยุคการาโคตา , (Karakota) แคชเมียร์ พุทธศตวรรษที่ 14  รูปศิลปะจากยุคราชวงศ์ปาฏิหาริย์ (Partihara Dynasty) ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15  จนถึงยุคราชวงศ์โจฬะ (Chola Dynasty) ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 16 และยังปรากฏประติมากรรมพระสทาศิวะแบบ 3 พระพักตร์ ในศิลปะแบบชวา ยุคราชวงศ์สัญชัย (Sanjaya Dynasty) ต้นพุทธศตวรรษที่ 15 
งานศิลปะแบบ 5 พระพักตร์ ดูเหมือนจะเริ่มปรากฏความนิยมในช่วงราชวงศ์ปาละ – เสนะ ในเขตอินเดียตะวันออก ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมา โดยทำเป็นรูป 5 พระพักตร์ 10 พระกร มีพระรุทรเนตรกลางพระนลาฏ ถือสิ่งมงคลแตกต่างกันไป ตามความนิยมในแต่ละท้องถิ่น-ศิลปะ ทั้งตรีศูล (Trishula -Triśūl)  วัชระ (Vajra) ผลมาตุฤงคะ (Matulunga - มะนาวควาย ส้มมะงั่ว) ขวานคทา-ขัฏวางคะ (Khatavanga) ลูกประคำ-อักษมาลา (Akshamala) ประคำเมล็ดรุทรักษะ (Rudraksha rosary)  กลองบัณเฑาะห์ - ฑมรุ" (Damaru)  ดอกบัวนิโลทบล (Nilotpala) งูใหญ่ - ภุชังคะ (Bhujanga)  บ่วงบาศ-ปาศะ (Pasha) ขวาน-ปรศุ (Parasu) ขัฑคะ (Khadga)  ขอสับช้าง – อังกุศะ  (Ankusha)  กระดิ่ง-ฆัณฏะ (Ghanta) ไฟ-อัคนี (Agni)  การแสดงท่าอภัยมุทรา (Abhaya) และ วรทมุทรา-ประทานพร (Vāraḍa-Varadam)  
อิทธิพลงานศิลปะพระสทาศิวะ 5 พระพักตร์ จากอินเดียตะวันตก ในความหมายแห่งพระศิวะผู้สูงสุด (องค์ปฐม) ได้รับความนิยมในงานศิลปะเขมรโบราณตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา ดังปรากฏรูปพระศิวะ 5 พระพักตร์ในรูปลักษณ์ต่าง ๆ ทั้งแบบเดี่ยวใน “ศิวนาฏราช” (Shiva Natarāja) หรือ “นฤตตมูรติ – นาฏะ มูรติ” (Nṛtyamūrti)  “สัณธยา ตาณฑวะมูรติ-ร่ายรำอย่างงดงาม” (Sandhya Tāṇḍavamūrti) ที่เคยอยู่ภายในคูหาซุ้มประตูปราสาทกรอฮอม (Prasat Krahom) ศิลปะแบบเกาะแกร์ ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15  และรูปลักษณ์ของผู้เป็นพระปฐม (ให้กำเนิดพระพรหมและพระวิษณุ) หรือผู้เป็นใหญ่สูงสุดในอำนาจทั้งสาม ตามคติ “ตรีมูรติ” (Trinity -Trimūrti) อย่างรูปประติมากรรม ที่พบจากเมืองเกาะแกร์ (ลึงคปุระ – โฉกครรกยาร์) จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงพนมเปญ และ รูปสลักพระสทาศิวะ ผู้เป็นใหญ่เหนือพระตรีมูรติ ที่ผนังโขดหิน ประธานของอาคารเครื่องไม้ข้างมหาตีรถะแห่งปราสาทวัดพู ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 
รูปพระสทาศิวะ 5 พระเศียร 10 พระกร ประธาน (ผู้เป็นใหญ่)แห่งพระตรีมูรติในงานศิลปะเขมรยังคงความนิยมมาอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 ในยุคการฟื้นฟูลัทธิฮินดู ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 และคงได้ลดความนิยมจากราชสำนักลงไป ด้วยเพราะอิทธิพลของพุทธศาสนาแบบเถรวาท จนในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 เมื่อเสียเมืองพระนครให้แก่อาณาจักรอยุทธยา ได้มีการกวาดต้อนผู้คนในเมืองพระนครชยศรี (นครธม) กลับไปเป็นจำนวนมาก 
งานศิลปะเขมรเมืองพระนครยุคหลังบายน (พระปิถุ) ได้มาปรากฏความนิยมในอยุทธยาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ด้วยเพราะเชลยที่เป็นนักบวชพราหมณ์และช่างฝีมือในชุมชมเขมรที่ยังคงศรัทธาในลัทธิฮินดู คงได้มีการสร้างรูปประติมากรรมพระสทาศิวะขึ้น โดยสลักหินทรายเป็นรูปนูนสูง มีแผ่นหลังยอดซุ้มโค้งคลื่นแบบเมฆ เพื่อวางประดิษฐานกับกำแพง เป็นรูป 10 กร 5 พระเศียร 3 พระเนตร คล้องสายยัชโญปวีต นุ่งผ้าชักชายผ้าปลายแหลมทิ้งเป็นทบด้านหน้าตามแบบศิลปะพระปิถุ แต่วางลวดลายประกอบเป็นงานศิลปะแบบอยุธยา สอดรับกับรูปประติมากรรมพระสทาศิวะสำริด 8 กร ขนาดเล็ก จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาอตพระนคร ที่มีศิลปะการนุ่งภูษาสมพตขาสั้น ทิ้งชายผ้าเป็นชั้นทบปลายแหลมแบบเดียวกัน 
ต่อมา คติ “พระศิวะ – สทาศิวะ” จากฝ่ายเขมรคงได้หมดความนิยมลงในอยุธยา  ปรากฏพระนาม “พระอิศวร” ของฝ่ายพราหมณ์จากเมืองศรีธรรมราชเข้ามามีบทบาทแทนที่พระนาม “อิศวร – ปรเมศวร” ในช่วงก่อนหน้า  มีการสร้างรูปพระอิศวรสำริดที่มีเพียงพระพักตร์-เศียรเดียวมาโดยตลอด ไม่มีการสร้างรูปพระสทาอิศวร ส่วนในวรรณกรรมก็เริ่มปรากฏพระนามพระอิศวรที่ฐานรูปสำริดพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 21 และปรากฏพระนามในวรรณกรรมของอยุธยาอย่างชัดเจนในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 22 
เครดิต;
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ