วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

พระประโทนเจดีย์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
วัดพระประโทณเจดีย์วรวิหาร
วัดพระประโทณเจดีย์วรวิหาร ตำบลพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ที่ตั้งของพระสถูปใหญ่ในคติ “มหาธาตุกลางนคร” อิทธิพลจากพุทธศาสนานิกายสถวีรวาท -หินยาน (Sthāvirīya - Hīnayāna) ที่นิยมในแคว้นอานธระ–อมราวดี ที่มีความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยนกันกับคณะมหาวิหาร–เถรวาท (Maha-vihāra - Theravāda) ในศิลปะแบบอนุราธปุระ (Anuradhapura)  จากลังกา ที่สร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 13 
-----------------------------------
*** ที่ด้านหน้าเขตสังฆาวาส มีเจดีย์ขนาดเล็กองค์หนึ่ง ที่สร้างขึ้นโดยพระครูสมถกิตติคุณ (ชุ่ม) เจ้าอาวาสวัดพระประโทณเจดีย์ ในช่วงปี พ.ศ. 2474 โดยได้มีการนำโบราณวัตถุที่พบโดยรอบวัดพระประโทณเจดีย์ และในเมืองนครปฐมมาฝังผนังปูนซีเมนต์และวางไว้ ทั้ง โกลนพระพุทธรุปหินปูนเทา ใบเสมาหินทรายแดงศิลปะอยุธยา ศิวลึงค์แบบเขมร เศียรพระพุทธรูปดินเผา เศียรพระพุทธรูปปูนปั้น เศียรพระพุทธรูปหินทราย ศีรษะปูนปั้นบุคคล เศียรปูนปั้นพระพุทธรูป และลวดลายปูนปั้นประดับสถูป อีกทั้งยังมีถ้วยชามสังคโลก เครื่องลายครามติดผนังเจดีย์ไว้ด้านในซุ้มครับ
ที่ผนังกำแพงเจดีย์เล็ก ยังมีเครื่องใช้ที่ทำจากหิน ทั้งแม่พิมพ์เครื่องประดับ หินพิมพ์แผ่นดุนทองรูปบัว 8 กลีบ
หินบดผงมงคลรูปสี่เหลี่ยมและชิ้นส่วนของแผ่นหินมงคลใส่ “ผงจุณเจิม” เพื่อใช้ในพิธีกรรม
ผงจุณเจิม แปลว่า “ผงที่มีขนาดเล็ก” เป็นผงที่เกิดขึ้นจากการบดเครื่องบูชา ที่ผ่านการจุดไฟ (ภัสมะ- ขี้เถ้า) ในพิธียัชญะ ผงจากการบดดินขาว (โคปีจันทน์) มูลวัว (โคมัย) ไม้จันทน์หอม กระแจะจันทน์  ต้นตุลสี (กระเพรา) ใบมะตูม เครื่องหอม ขมิ้นผง (หริทฺรา) สนิมแดง (สินฺทูร) กุงกุมหรือโรลี ที่ทำจากพืชและแร่ (สีแดง – เลือด) แร่ไมก้า (อภรัก) ข้าวสาร (อกฺษตฺ) และอัษฏคัณธะ (ผงหอม 8 กลิ่น 8 สี) คล้ายคลึงกับ “ผงวิภูติ” (Vibhūti) ของฝ่ายฮินดู ที่จะใช้นิ้วกดผงวิภูติผสมน้ำศักดิ์สิทธิ์ (น้ำอบหอม) ให้ติดที่ปลายนิ้ว แล้วกดลง (เจิม) บนกลางหน้าผาก ที่เชื่อว่าเป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณของมนุษย์ ในงานพิธีกรรมอันถือเป็นมงคลต่าง ๆ ทั้งในการอภิเษก การบูชาเทพเจ้า-การบูชาพระแม่เทวี งานมงคลสมรส ฯ 
----------------------------------
*** ชิ้นส่วนแตกหักของแผ่นหินที่ติดมุมตะวันออกเฉียงใต้ของเจดีย์เล็ก ได้แสดงให้เห็นหลุมใส่ผงจุณเจิม-วิภูติที่มุม มีรูปหัวช้างและธงไชย (หางปลา ?) เช่นเดียวกับ ภาพสลักบนแผ่นหินปูนที่พบจากพระปฐมเจดีย์ มีอายุตามคติประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 – 12 ที่ยังคงมีความสมบูรณ์เพียงชิ้นหนึ่งในประเทศไทย
แผ่นหินนี้สลักภาพสัญลักษณ์ตามคติฮินดูและพุทธที่พบในอินเดียโบราณ รูปประธานตรงกลางเป็นสัญลักษณ์”คชลักษมี” (Gajalakshmi)  หรือ “อภิเษกพระศรี” ในความหมายของการอภิเษกด้วยน้ำบริสุทธิ์ เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นผู้บริสุทธิ์อย่างแท้จริง (ผู้อยู่เหนือปัทมะ) เป็นรูปพระเทวีลักษมี ประทับนั่งบนดอกบัว ถือก้านดอกบัวตูมทั้งสองพระหัตถ์ ขนาบข้างด้วยพญาช้าง 2 ช้าง สวมเครื่องคชาธารชูงวงถือหม้อน้ำปากพวยสูง เทน้ำลงมาเป็นรูปดอกบัวตูม 4 ก้าน
ขนาบข้างรูปคชลักษมีด้วย “สัญลักษณ์มงคล” (Sacred Symbols) จัดวางเป็นคู่แบบสมมาตร (Symmetry) ทั้งสองด้านตามรูปศิลปะ โดยมีสัญลักษณ์เครื่องสูงแห่งกษัตริย์ ประกอบด้วยแส้จามรคู่ (แส้ขนจามรี) ฉัตรคู่ พัดวาลวิชณี-บังสูรย์ สัญลักษณ์มงคลแห่งอำนาจ อันได้แก่รูปอังกุศคู่ (ขอสับช้าง) วิชราวุธ ปาศะ (บ่วงบาศ) สัญลักษณ์มงคลศักดิ์สิทธิ์ รูปมัตสยยุคมะ (ปลาคู่) ในความหมายของชายหญิง - ความอุดมสมบูรณ์ และหอยสังข์คู่ ในความหมายแห่งความศักดิ์สิทธิ์แห่งพระเวท 
มุมทั้งสี่ด้านมีช่องหลุมโค้งรับกับมุมฉาก ล้อมรอบด้วยกลีบบัวรวน (ฟันยักษ์) ตรงกลางแผ่นเป็นรูปบัวบาน โดยตรงกลางขูดเนื้อลงไปเป็นช่องหลุมกลม ล้อมรอบด้วยกลีบบัวรวน 2 ชั้น รองรับด้วยรูป “หม้อปูรณฆฏะ” (Pūrṇa-ghạta) ในความหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ที่พร้อมสรรพ (Perfects) 
รูปสัญลักษณ์และหลุมทั้ง 5 ที่ปรากฏบนแผ่นหินนี้ อาจเป็นคติที่ได้ได้แสดงความสำคัญของตัวงานศิลปะว่า เป็นแผ่นหินเพื่อใช้ในการ “เจิม” โดยใช้ผงจุณเจิม-วิภูติ เกี่ยวเนื่องกับอำนาจและความเป็นใหญ่ที่จะต้องเป็นพิธีกรรมที่มีความสูงส่งในระดับกษัตริย์-จักรพรรดิราช ที่ประกอบด้วยความอุดมสมบูรณ์ ความพรั่งพร้อม ความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นมงคลในเวลาเดียว ซึ่งหากมีการใช้ผงจุณเจิม – วิภูติในหลุมทั้งสี่ของแผ่นหิน ก็อาจหมายถึง ผงศักดิ์สิทธิ์ – มงคลที่ได้มาจากแผ่นดินทั้ง 4 ทิศ โดยหลุมตรงกลางเป็นหลุมใส่น้ำเครื่องหอมศักดิ์สิทธิ์เพื่อใช้ในการผสมผงจุณเจิมจากหลุมทั้ง 4 มุม เจิมที่พระนลาฏของบุคคลสำคัญที่กำลังผ่านพิธีกรรมเพื่อ “การอภิเษก-บรมราชาภิเษก” (Abhiṣeka) หรือพิธีราชสูรยะตามขนบแบบแผนในอินเดีย เป็นกษัตริย์ของรัฐอินเดียโพ้นทะเลในลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน
----------------------------
เครดิต;
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ