วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

วัดธรรมศาลานครปฐม

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
“สืบจากซาก” รูปแบบเจดีย์ทวารวดี ที่วัดธรรมศาลา นครปฐม 
ภายใน "วัดธรรมศาลา" ที่ตั้งอยู่ใกล้กับถนนเพชรเกษม ก่อนถึงสะพานข้ามคลองพระยากง ที่จะแยกเข้าสู่ตัวเมืองนครปฐมประมาณ 3 กิโลเมตร มีพระวิหารจัตุรมุขยอดแหลมสูงใหญ่เป็นจุดสังเกตสำคัญทางซ้ายมือ มีสถูปเจติยะในยุควัฒนธรรมทวารวดีอยู่ภายในวัดองค์หนึ่ง   
การขุดเปิดหน้าดินที่เนินดินสถูปในช่วงปลายปี พ.ศ.2555 ได้แสดงให้เห็นร่องรอยหลักฐานสำคัญของโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม การสร้างซ้อนทับอย่างน้อยอีก 2 ยุคสมัย ปูนปั้นประดับและงานเขียนสีโบราณ ที่ยังคงเหลือติดอยู่กับผนังก่ออิฐ รูปแบบสถาปัตยกรรมการยกเก็จของชั้นฐาน ลำดับชั้นที่ซับซ้อนของการจัดวางชุดฐาน “เวทีพันธะ – อธิษฺฐานะ” (Vedībandha - Adhiṣṭhaāna)  ซึ่งก็ไม่ค่อยจะได้พบแบบชัด ๆ อย่างนี้มากนักในเขตภาคกลาง ที่เชื่อกันว่าเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมลูกผสมอินเดีย/ทวารวดี ด้วยเพราะส่วนมากจะหลุดร่อน กระจัดกระจายแตกป่นเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยไปตามสภาพอากาศร้อนชื้น แถมยังถูกขโมยเซาะไปขายหรือถูกแกะออกจากตัวอาคารภายหลังจากการบูรณะในแต่ละยุคสมัย
----------------------------------------------
*** เมื่อ “สืบจากซาก” ด้วยวิธีการมานุษย-มโนวิทยาแบบนอกกรอบ จากซากที่หลงเหลืออยู่ของสถูปธรรมศาลา พอมโนได้ว่า เจดีย์ทวารวดีองค์นี้มีผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ส่วนฐานล่างมีขนาดประมาณ 20 * 20 เมตร ( ฐานพระประโทณเจดีย์ ที่เป็นมหาธาตุเมืองนครปฐมโบราณ มีขนาดประมาณ 40 * 40 เมตร) ฐานชั้นซ้อนส่วนบนประมาณ 10 * 10 เมตร และอาจมีเส้นผ่าศูนย์กลางองค์ระฆังประมาณ 6-7เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงขึ้นไปทางเหนือเล็ก แบบเดียวกับจุลประโทนเจดีย์  มีอายุการก่อสร้างประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 13 ในช่วงเดียวกับพระประโทณเจดีย์ 
ปูนปั้นที่ยังคงฉาบติดอยู่กับผนังและที่แตกหักร่วงหล่นได้แสดงให้เห็นว่า พระเจดีย์ในยุคทวารวดีมีการก่ออิฐ และขูด-ถากผนังอิฐให้เป็นรูปทรงตามที่ต้องการ ฉาบปูนบนพื้นผิวอิฐ ปั้นลายประดับและมีการลงสีเป็นลวดลายทับบนปูนปั้นด้วยรงค์สีแดง-น้ำตาล ดำ-เทา เหลือง-ส้ม 
เมื่อนำร่องรอยหลักฐานที่เหลืออยู่มาประกอบกัน มโนขึ้นเป็นสถาปัตยกรรม จะเห็นว่าส่วนฐานและฐานชั้นซ้อนนั้นมีแผนผังรูปสี่เหลี่ยม ยกเก็จเป็นกระเปาะออกมาตรงกลาง (เก็จประธาน) และตรงมุมรวมเป็น 8 กระเปาะ ผนังของฐานยกสูง ชจัดวางเป็นชั้นแตกต่างกัน รวมเรียกว่า “เวทีพันธะ – อธิษฺฐานะ” โดยเริ่มจากชั้นล่างที่เป็นฐานเรียบหรือฐานเขียงเป็นผนังสูง เรียกว่า ฐาน “ชคตี” (Jagatī)  รองรับฐานเส้นลวดเหลี่ยม “อุปานะ” (Upāna) 2 ชั้น หน้าชั้นบนประดับลาย“ดอกสี่กลีบในกรอบสี่เหลี่ยม” หรือ “ลายประจำยามดอกจันทน์” ต่อเนื่องโดยรอบฐาน ถัดขึ้นไปเป็นฐานโค้งใหญ่ เรียกว่า “กุมุท” (Kumuda) หรือ “บัววลัย” (Bua Valai) ซึ่งเป็นเส้นลวดขนาดใหญ่จากอิทธิพลของสถาปัตยกรรมในอินเดียใต้ (ในอินเดียเหนือเรียก “กลศ” (kalasa) แต่จะเป็นทรงหม้อน้ำคอดที่ส่วนล่าง) มีการปั้นปูนปะดับเป็นลวดลายอันวิจิตร “คาดรัด” ในแนวตั้ง เป็นลายดอกไม้สี่กลีบภายในกรอบสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด (มีลายลูกปัดกลมและลายผักกูดหรือใบไม้ม้วนล้อมรอบ) สลับกับลายดอกไม้กลม ขนาบข้างด้วยลายลูกปัดกลมมีเส้นลวดคาดแบ่ง ลายนอกสุดทำเป็นกระหนกใบไม้ขนาดใหญ่  ลายคาดบนบัววลัยนี้ จัดวางตกแต่งไว้เป็นระยะที่เท่ากัน 3 ลายต่อ 1 ช่วง ทั้งช่วงที่เป็นฐานปกติและช่วงที่ยกเก็จเป็นกระเปาะออกมา
ลวดลายดอกไม้ต่อเนื่องแบบสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดสลับดอกไม้กลม ปรากฏคติความนิยมในงานศิลปะนิยมในยุคคุปตะ – วากาฏกะ ในอินเดียตะวันตก และงานศิลปะแคว้นอานธระในอินเดียใต้ ตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 – 12 
ถัดขึ้นไปเป็นลวดเหลี่ยมเรียบล่างเรียกว่า “กัมภะ” (Kampa) ยุบผนังเข้าไปเป็นท้องไม้แคบ ๆ ที่เรียกว่า  “กัณฑะ” (Kaṇṭha)  ที่เจาะเป็นช่องสลับลึกเข้าไปแบบขื่อปลอม ตกแต่งปูนปั้นเป็นรูปดอกไม้จันทน์ในกรอบสี่เหลี่ยม คาดด้านข้างด้วยลายเม็ดลูกปัด สลับช่องว่างกับลายเสากลมที่มีลักษณะคล้ายหม้อ  “กลศกฤต” (Kalasakriti) สัญลักษณ์มงคล หมายถึงความเจริญงอกงามและอุดมสมบูรณ์ เหนือขึ้นมาเป็นลวดเหลี่ยมเรียบบน ปั้นปูนประดับเป็นลายสังวาลอัญมณีสี่เหลี่ยมต่อเนื่อง
เหนือขึ้นไปเป็นฐานอุปานะรองรับผนังเรือนขนาดใหญ่ เรียกว่า “กาชา” (Gaḷa) หรือ “ปาฏะพันธะ” (Pādabandha) คั่นด้วยเสาอิงกว้างสลับช่องว่าง ภายในช่องอาจเคยมีการปั้นปูนประดับหรืออาจมีการลงสีภาพเรื่องราวทางพุทธศาสนา
ด้านบนสุดเป็นชุดหลังคาของฐานล่าง ประกอบด้วยลวดกัมภะเหลี่ยมล่าง ท้องไม้กัณฑะที่มีขื่อปลอมสี่เหลี่ยมสลับกับช่องยุบสี่เหลี่ยม ลวดเหลี่ยมปิดด้านบนสุดที่เรียกว่า “เวทิกา” (Vedikā)  หรือ “ปฺรติ” (Parti)
------------------------------------
*** ถัดขึ้นมา ปรากฏฐานบัววลัยแคบ ๆ ระหว่างฐานล่างและฐานซ้อน บริเวณมุมทิศใต้เฉียงตะวันตก เป็นฐานยกเก็จล้อตามแบบฐานล่าง เหลือร่องรอยปูนปั้นประดับที่ฐานอุปานะ ฐานล่างเป็นลายดอกไม้สี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดสลับลายดอกไม้สี่กลีบรูปสี่เหลี่ยม ฐานเป็นลายดอกไม้มีกลีบรูปกลมสลับดอกไม้ในกรอบสี่เหลี่ยม เหนือขึ้นไปเป็นบัววลัย ที่มีเส้นคาดตั้ง เป็นลายสังวาลกลมสลับเหลี่ยมขนาบด้วยลูกปัดกลมและลายใบไม้ แตกต่างจากลายคาดบัววลัยของฐานล่าง
--------------------------------------
*** ฐานชั้นซ้อน คงเหลือผนังให้เห็นทางตะวันออกและบางส่วนทางทิศใต้ มีการจัดวางชั้นลวดบัวและงานปูนปั้นลงสีประดับแบบเดียวกันกับฐานล่างแต่มีขนาดเล็กกว่า ส่วนผนังเรือน “กาชา-ปาฏะ” เว้นช่องด้วยเสาอิง มีการประดับรูปของยักษ์แบกอยู่โดยรอบ
งานปูนปั้นประดับเจดีย์ทวารวดีที่วัดธรรมศาลา เป็นงานศิลปะที่สะท้อนความเชื่อความศรัทธา ความตั้งใจในเชิงช่างเพื่อการบูชาพระสถูป ด้วยการปั้นรูปพวงมาลัย ดอกไม้มงคล (ในความหมายของกลิ่นหอม) ร้อย/คาด/รัดเข้าประดับไว้ที่ชั้นบัววลัย/บัวกุมุท แทนความหมายของความเจริญรุ่งเรืองและอุดมสมบูรณ์
-------------------------------------------
*** ฐานเหนือชั้นซ้อน เป็นฐานแคบ ๆ คงเหลือให้เห็นเป็นแนวเล็ก ๆ ทางทิศตะวันออกและทิศใต้ ชั้นล่างทำเป็นฐานเขียงสี่เหลี่ยมไม่ยกเก็จ ต่อด้วยฐานอุปานะ (เขียง) เรียบยกเก็จรองรับลวดบัววลัย ชุดลวดกัมภะยุบเป็นท้องไม้ ทำเป็นช่องสลับซี่ฟันเฟืองแบบขื่อปลอม ด้านบนเป็นหน้ากระดานเวทิกา-ปฺรติ หรือหลังคาปลอมตามแบบชุดฐานล่าง
-------------------------------------------
*** ชั้นบนสุดถูกรื้อดัดแปลงให้กลายเป็นฐานของปรางค์ในสมัยอยุธยาช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 แต่เดิมนั้น คงเป็นเนินโดมรูปโอคว่ำ หรือแบบหม้อน้ำคอดที่ส่วนฐาน (ปากระฆัง) ตามรูปแบบเจดีย์ที่พบในอินเดีย ด้านบนเนินคงมีฐานบัลลังก์ที่เรียกว่า “หรรมิกา” (Harmikā)  ขนาดใหญ่ รองรับก้าน “ฉัตรวลี” (Chatravali- Chhatri-Chattra Spire) มีฐานเป็นบัวกลุ่มรองรับหน้ากระดานลายใบม้วนใหญ่สลับช่องว่าง หม้อน้ำเชิงลายกลีบบัว ก้านฉัตรด้านบนเป็นแท่งวงแหวนต่อระยะห่างกันลดหลั่นขึ้นไปจนถึงยอดลูกแก้ว  
ด้วยเพราะมีการขุดพบส่วนประกอบของยอดฉัตรวลีที่มีส่วนของหม้อเชิงฐานและชิ้นส่วนประกอบจำนวน 5 ชุด เป็นหลักฐานแสดงว่า เจดีย์ทวารวดีที่วัดธรรมศาลาเป็นเจดีย์แบบ 5 ยอด ตามคติ ไตรภูมิ - โลกสัณฐาน (Tribhumi - lokasaṇṭhāna) ของฝ่ายคณะมหาวิหารจากลังกา  ฐานซ้อน 3 ระดับ จึงอาจมีความหมายถึงระดับภพภูมิทั้ง 3 
เครดิต;FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ