วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

เจดีย์ศรีธาตุวัดเตาเหล็กพนมสารคาม

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
พุทธศิลป์ลาวแบบ “พระธาตุหลวงเวียงจันทน์” ที่วัดเตาเหล็ก พนมสารคาม 
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้เคยกล่าวไว้ในบทความเรื่อง “ลาวเมืองไทย” ว่า “...การเข้ามาในดินแดนไทยของคนลาวนั้น อาจจะกล่าวได้ว่าเข้ามาในลักษณะสองอย่างด้วยกัน คืออย่างแรกเป็นการอพยพเข้ามาลี้ภัยตั้งเป็นบ้านเป็นเมือง ส่วนใหญ่จะกระจายอยู่ตามท้องถิ่นต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนอย่างที่สองคือถูกกวาดต้อนเข้ามา ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะถูกนำมาอยู่ในเขตจังหวัดภาคกลาง บรรดาคนลาวที่เข้ามาสองลักษณะนี้ หากทำการศึกษาให้ละเอียดแล้วก็จะพบว่าเป็นกลุ่มคนที่มีเผ่าพันธุ์และถิ่นฐานต่าง ๆ กัน หาได้เป็นพวกเดียวทั้งหมดไม่..."
ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 23  ณาจักรล้านช้าง หรือ “กรุงศรีสัตนาคนหุต” แยกออกเป็น 3 อาณาจักรคืออาณาจักรหลวงพระบาง อาณาจักรเวียงจันทน์และอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์  จนถึงสมัยของเจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์ ในปี พ.ศ. 2369 และปี พ.ศ. 2371 จึงได้เกิดสงครามครั้งใหญ่กับอาณาจักรสยาม ฝ่ายลาวพ่ายแพ้ หลังจากสงครามยุติลง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระดำริให้ทำลายนครเวียงจันทน์ทิ้งเสีย เพื่อมิให้รวบรวมผู้คนได้อีก ดังพระราชดำรัสของสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวความว่า
 "... เมืองเวียงจันทน์นี้เป็นกบฏมาสองครั้งแล้ว ไม่ควรจะเอาไว้เป็นบ้านเป็นเมืองให้อยู่สืบไป ให้กลับไปทำลายล้างเสียให้สิ้น...” 
สงครามระหว่างราชอาณาจักรสยามและลาวในครั้งนั้นใหญ่หลวงมาก ตัวเมืองเวียงจันทน์ได้ถูกทำลายจนกลายเป็นเมืองร้าง ยกเว้นแต่วัดวาอารามบางแห่ง ผู้คนพลเมืองก็ถูกไล่กวาดเข้าต้อนเข้ามาอยู่ในประเทศสยาม    แยกกระจัดกระจายไปตามหัวเมืองต่าง ๆ  เช่น สระบุรี ลพบุรี พนัสนิคม ปราจีนบุรี นครชัยศรี ชัยนาท อุทัยธานี สุพรรณบุรี เพชรบุรี สุโขทัย ฯลฯ เพื่อลดอำนาจทางการทหารและการเมืองของล้านช้าง ทั้งยังเสริมกำลังแรงงานไพร่ให้กับทางกรุงเทพ ฯ อีกด้วย
พวกลาวจากเมืองเวียงจันทน์และเมืองพวนถูกกวาดต้อนครัวเรือนลงมาหลังสงครามเจ้าอนุวงศ์  ถูกนำไปไว้ทางตะวันออกของพระนคร โดยเฉพาะบริเวณเมืองนครนายก เมืองประจิมทบุรี (ปราจีนบุรี) เมืองฉะเชิงเทรา เมืองพนมสารคามและเมืองพนัสนิคม เพื่อใช้เป็นไพร่พลหากเกิดสงครามกับฝ่ายเขมรและญวน ซึ่งเชลยชาวลาวทุกคนจะถูกสักเลกข้อมือเพื่อสังกัดมูลนายในระบบไพร่ ตามแบบชาวสยาม โดยมีปลัดเมือง จางวางลาว นายกองลาวและปลัดกองลาวเป็นมูลนาย แต่ก็อยู่ใต้การปกครองของเสนาบดีเจ้าสังกัด เจ้าเมือง และกรมการเมืองที่เป็นชาวสยาม  เลก (ไพร่) ลาวเวียง- ลาวพวน ในเขตพนมสารคาม ได้รับหน้าที่เป็นแรงงานไพร่สม (ทำงานหลวง) เข้าเดือน ส่วยเร่ว (กระวาน - หมากแหน่ง) ส่วยทองคำ ส่วยช้าง โคกระบือ ส่วยผลผลิตจากไร่นา เป็นกองด่านรักษาเขตแดน เป็นแรงงานในการซ่อมแซมวัดและวัง
------------------------------------------------
*** กลุ่มชาวลาวที่เคยอาศัยอยู่ในเขตเมืองจันทบุรี – เวียงจันทน์ ศูนย์กลางของราชสำนักลาว ถูกเรียกว่า “ลาวเวียง” นิยมตั้งถิ่นฐานบนที่ราบลุ่มติดกับลำน้ำใหญ่เพื่อการเพาะปลูกข้าว เช่นเดียวกับการตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำโขง  ชาวลาวเวียงมีความเชื่อความศรัทธาในพระพุทธศาสนา  นิยมใช้ตัวไทยน้อย (ลาว) อักษรธรรม อักษรขอม ในภาษาบาลี ในการจดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ในหนังสือผูกใบลานและสมุดไทยที่ทำมาจากกระดาษสา  ทั้งเรื่องราวเกี่ยวข้องกับพระธรรมทางพุทธศาสนา ตำนาน คาถา ยันต์ ตำรายา วิธีการรักษาโรค การดูฤกษ์ยาม โชคชะตา ชาดกและนิทานพื้นบ้าน อย่างเรื่องจำปาสี่ต้น การะเกด นางแตงอ่อน ไก่แก้วและเซียงเมี่ยง (ศรีธนญชัย)  เล่านิทานเป็นมุขปาฐะอย่างเรื่องพระรถ – เมรี ท้าวอู่ทอง - อู่ไท มีประเพณีสำคัญในอำนาจเหนือธรรมชาติและพุทธศาสนาตามคติ “ฮีต 12 คอง 14” ทั้งบุญข้าวเม่า สู่ขวัญข้าว บุญข้าวหลาม-ข้าวเกรียบ บุญบั้งไฟ บุญกลางบ้าน-เลี้ยงผีศาลปู่ตา บุญเข้าพรรษา-สู่ขวัญพระ บุญห่อข้าวประดับดิน บุญข้าวสาก บุญพระเวส บุญกฐิน บุญเข้ากำ บุญคูนลาน บุญข้าวจี่  บุญสรงน้ำ บุญซำฮะ บุญกระยาสารท (สารทลาว) บุญไต้หางประทีป (ออกพรรษา) 
ในช่วงต้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พ.ศ. 2403 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เกลี้ยกล่อมชาวลาวเวียงจากถิ่นอื่น ๆ ให้ย้ายมารวมกันที่เมืองพนมสารคามเป็นกลุ่มใหญ่ เป็นการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของชาวลาวเวียงเป็นครั้งสุดท้ายในหลักฐานบันทึกทางประวัติศาสตร์
------------------------------------
*** วัดเตาเหล็ก ตั้งอยู่ที่ริมคลองท่าลาด ตำบลพนมสารคาม อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นวัดที่สร้างขึ้นโดยชาวลาวเวียง ช่วงหลังปี พ.ศ. 2371  เป็นชุมชนที่ยังคงใช้ชื่อนาม “บ้านเตาเหล็ก” ตามชื่อบ้านเดิม ที่เคยเป็นชุมชนถลุงเหล็ก เมื่อครั้งยังอาศัยอยู่ในเวียงจันทน์
จุดเด่นของความเป็นลาวเวียง ที่คงเหลืออยู่ในปัจจุบันของวัดเตาเหล็กก็คือ “สิม” หรืออุโบสถแบบลาว ตั้งติดกับริมคลองท่าลาด ที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก ปรากฏร่องรอยภาพเขียนสีบนผนังด้านนอกจากยุคเริ่มแรก เป็นเรื่องราวพระเวสสันดรชาดก ต่อมาก็มีการกลบสีและวาดรูปขึ้นใหม่ ส่วนด้านในมีร่องรอยของภาพการตั้งถิ่นฐานและขบวนภาพการขี่สัตว์นานาชนิด ที่เล่าว่าเป็นขบวนเดินทางอพยพของชาวลาวเวียง รวมทั้งภาพการต่อสู้ระหว่างควายแดงและควายดำควาย (ทรพีและทรพา) อีกทั้งยังมีพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย “หลวงพ่อสัมฤทธิ์” ยอดพระเกตุมาลาแตกปลีแทรกหน่อเป็นพุ่มขนาดใหญ่เหนือพระเมาลี (หม่อมกะโหลก) พระดัชนีเรียวยาว ประดิษฐานบนฐานไม้สูงคอดเอวแบบขันหมากลาวที่สลักลายผ้าทิพย์สามเหลี่ยมล้อมรอบด้วยลายบัวรวน และพระยืนปางเปิดโลกสลักไม้ (หลวงพ่อหลวง) พุทธศิลป์นิยมแบบลาวพื้นเมืองหลงเหลืออยู่ 
เจดีย์ “ศรีธาตุ” ของวัดเตาเหล็ก เป็นพระเจดีย์ที่แสดงความเป็นลาวเวียงจันทน์ได้อย่างชัดเจนที่สุดของชุมชนลาวเวียงในเขตเมืองพนมสารคาม ด้วยเพราะยังคงรักษาสถาปัตยกรรมระดับช่างหลวง ตามแบบพระธาตุหลวงเวียงจันทน์ หรือ “พระเจดีย์โลกะจุฬามณี” ไว้อย่างชัดเจน
ภาพเก่าสุดของพระธาตุหลวงหลวงวียงจันทน์ เป็นภาพวาดของลายเส้นโดย “หลุยส์ เดอลาพอร์ต” (Louis Delaporte) นักสำรวจและจิตรกรชาวฝรั่งเศส ในคณะนักสำรวจแม่น้ำโขงของฝรั่งเศสในช่วงปี พ.ศ. 2409- 2411  ที่บันทึกว่า “... เวียงจันทน์ขณะนี้มีสภาพเป็นป่ารกทึบ เต็มไปด้วยต้นไม้ขึ้นปกคลุม ปราศจากผู้คนอยู่อาศัย...”  ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2417 กองทัพจีนฮ่อจากทางเหนือได้ยกพวกเข้ามายึดเวียงจันทน์และข้ามแม่น้ำโขงมาตีเมืองหนองคาย เมืองเวียงจันทน์ได้ถูกกองทัพจีนเผาทำลายครั้งใหญ่ มีการปล้นสะดม ขุดเจดีย์เพื่อค้นหาของมีค่า ขุดจนพระธาตุหลวงเวียงจันทน์พังทลายลงมา แต่ในภายหลังจึงได้มีการสร้างขึ้นใหม่ตามรูปแบบเดิม    
พระธาตุหลวงเวียงจันทน์ เป็นงานสถาปัตยกรรมแบบลาว (ช่าง) หลวง มีฐานใหญ่เป็นอาคารผังสี่เหลี่ยม ขนาด 68 * 69 เมตร ลักษณะคล้ายอาคารอูบมุง ยกระเบียงขึ้นสูงโดยรอบ 2 ชั้น ประดิษฐานเจดีย์บริวารจำนวน 30 องค์  ทำให้เห็นแต่ส่วนหลังคาลาดโค้ง (หลังเต่า) มีสันสี่ด้าน เหนือหลังคาเป็นฐานบัวกลุ่ม ทำเป็นกลีบตั้งแบบกลีบบัวหงายซ้อน เหนือขึ้นไปเป็น ชุดฐาน “เอวขัน” (พาน-ขันหมากแบบลาว) คอดเอว (เอวขอดขันปากพาน) ปากพานผาย (เหวอ) ออกเป็นฐานรองรับจอมธาตุ ที่เป็นองค์ระฆังทรงโกศตั้ง – บัวเหลี่ยมหรือดวงปลี ยอดบนเป็นฝาโกศทรงโค้งหลังเต่า จบด้วยปราสาทซ้อนชั้นยอดแหลม
----------------------------------------------
*** เจดีย์ศรีธาตุที่วัดเตาเหล็ก ส่วนฐานทำเป็นพานขันหมากคอดเอว (ส่วนตีนลาดของขันหมากไม้ จะใหญ่กว่าส่วนปากพานที่ผาย-เหวอออก) เรียงซ้อนพานลดหลั่นขึ้นไป 3 ชุด รองรับฐานและองค์ระฆังทรงโกศลาว – ดวงปลี – บัวเหลี่ยม ยอดเป็นฝาสี่เหลี่ยมจบด้วยบัวกกลุ่มรองรับปลียอดแหลม
การใช้ “พาน-ขันหมากไม้แบบคอดเอว – เอวชัน (ขันธ์)”  มาประกอบในงานสถาปัตยกรรมเพื่อรองรับสิ่งของสำคัญบนยอดสุดของพาน เป็นเอกลักษณ์ของงานสถาปัตยกรรมแบบลาว (หลวง) เวียงจันทน์อย่างแท้จริง  
เจดีย์ศรีธาตุ วัดเตาเหล็ก เมืองพนมสารคาม  เป็นสถาปัตยกรรมของชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองเวียงจันทน์ ที่พวกเขาได้สร้างพระธาตุล้อ (เลียนแบบ)  “พระธาตุหลวงเวียงจันทน์” ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจในความเชื่อทางพุทธศาสนา ตามกำลังของกลุ่มชนลาวเวียงที่มีอยู่ริมลำน้ำท่าลาด ไว้ในยามคิดถึงบ้านที่ต้องพลัดพรากจากมาแสนไกล ไม่อาจจะหวนคืนกลับไป ...ได้อีกตลอดกาล
เครดิต;
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า  

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ