วันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

กุศลกรรมบถ ๑๐

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
กุศลกรรมบถ 10
กุศลกรรมบถ หมายถึง ทางแห่งกรรมดี,ทางทำดี, ทางแห่งกรรมที่เป็นกุศล, กรรมดีอันเป็นทางนำไปสู่ความสุขความเจริญหรือสุคติ (wholesome course of action) เป็นธรรมส่วนสุจริต 10 ประการ จึงเรียกชื่อว่า กุศลกรรมบถ 10
คำว่า กรรมบถ (อ่านว่า กำมะบด) แปลว่า ทางแห่งกรรม คือ การกระทำที่เข้าทางเป็นกรรมหรือที่นับว่าเป็นกรรม หมายถึง ทางแห่งกุศลกรรม คือการกระทำที่นับว่าเป็นความดีได้แก่
ที่เป็นกายกรรม มี 3 อย่าง คือ 
1.ไม่ฆ่าสัตว์ 
2.ไม่ลักทรัพย์ 
3.ไม่ประพฤติผิดในกาม
ที่เป็นวจีกรรม มี 4 คือ 
4.ไม่พูดเท็จ 
5.ไม่พูดส่อเสียด 
6.ไม่พูดคำหยาบ 
7.ไม่พูดเพ้อเจ้อ
ที่เป็นมโนกรรม มี 3 คือ 
8.ไม่โลภอยากได้ของเขา 
9.ไม่พยาบาทปองร้าย 
10.เห็นชอบตามคลองธรรม (สัมมาทิฐิ)
ประพฤติดีด้วยกาย 3 ประเภท
ประพฤติดีด้วยกาย นั้นชื่อว่า กายกรรม คือ ทำกิจการงานด้วยกายอย่าให้ทุกข์เกิดขึ้นแก่ผู้อื่น กายกรรมที่ให้เกิดทุกข์แก่ผู้อื่นนั้น มี 3 ประการคือ ;
1. อย่าเบียดเบียนร่างกายของท่าน คือ อย่าฆ่า อย่าฟัน อย่าทุบ อย่าตี ร่างกายของท่านผู้อื่นโดยที่สุด เว้นถึงสัตว์ติรัจฉานได้ยิ่งเป็นการดี ตรงกับภาษาบาลีที่ว่า ปาณาติปาตาเวรมณี ฯ
2. อย่าเบียดเบียนทรัพย์สมบัติข้าวของของท่านผู้อื่น คืออย่าลักขโมย อย่าฉ้อโกง อย่าเบียดบังเอาข้าวของของท่านผู้อื่น ตรงกับภาษาบาลีที่ว่า อทินฺนาทานาเวรมณี ฯ(อะ ทิน นา ทา นา เว ระ มะ นี)
3. อย่าแย่งชิงลักลอบด้วยอำนาจของกายในหญิงที่ท่านหวงห้าม ตรงกับภาษาบาลีที่ว่า กาเมสุมิจฉาจาราเวรมณีฯ
ประพฤติดีด้วยวาจา 4 ประเภท (วจีกรรม 4 ประเภท) นั้นได้แก่
4.ให้กล่าวแต่วาจาถ้อยคำที่สัตย์ที่จริง ให้เว้นจากวาจาที่เท็จไม่จริงเสีย ตรงกับภาษาบาลีที่ว่า มุสาวาทา เวรมณี ฯ
5.ให้กล่าวแต่วาจาถ้อยคำอันสมานประสานสามัคคีให้ท่านดีต่อกัน ให้เว้นวาจาส่อเสียดยุยงเสีย ตรงกับภาษาบาลีที่ว่า ปิสุณายาวาจา เวรมณีฯ
6.ให้กล่าวแต่วาจาถ้อยคำอันอ่อนโยน ให้เกิดความยินดีแก่ผู้ฟัง ให้งดเว้นวาจาที่หยาบคายขึ้นกูขึ้นมึง บริภาษตัดพ้อหยาบคาย ให้ผู้ฟังได้รับความเดือดร้อนต่างๆ เสีย ตรงกับภาษาบาลีที่ว่า ผรุสฺสาย วาจาย เวรมณี ฯ(ผะ รูด สา ยะ วา จา ยะ เว ระ มะ นี)
7.ให้กล่าวแต่วาจาถ้อยคำที่เป็นไปกับด้วยประโยชน์ ให้เว้นวาจาที่เหลวไหล คือพูดเล่นหาประโยชน์มิได้เสีย ตรงกับภาษาบาลีที่ว่า สมฺผปฺปลาปาวาจายเวรมณี ฯ(สำ ผับ ปะ ลา ปา วา จา ยะ เว ระ มะ นี)
ประพฤติดีด้วยใจ 3 ประเภท (มโนกรรม 3 ประเภท) นั้นคือ;
8.ให้ระวังเจตนากรรม ให้สัมประยุตต์ด้วยเมตตาอยู่เสมอ คือ ความดำริของใจ อย่าให้ลุอำนาจแห่งโลภะ คืออย่าเพ่งเอากิเลสกามและวัตถุกามของท่านผู้อื่น ตรงกับภาษาบาลีที่ว่า อนภิชฺฌา โหติฯ(อะ นะ พิด ชา โห ติ)
9.ให้ระวังเจตนากรรมให้สัมประยุตต์ด้วยกรุณาอยู่ทุกเมื่อ อย่าให้โทสะ พยาบาท เข้าครอบงำได้ ตรงกับภาษาบาลีที่ว่า อพฺพยาปาโท โหติฯ(อับ พะ ยา ปา โท โห ติ)
10.ให้ระวังเจตนากรรมให้สัมประยุตต์ด้วย มุทิตา อุเบกขา อยู่ทุกเมื่อ อย่าให้ไหลไปในทางผิด ให้เห็นตรงตามคลองธรรมทั้ง 10 นี้อยู่ทุกเมื่อ ตรงกับภาษาบาลีที่ว่า สมฺมทิฎฺฐิโก โหติฯ(สำ-มะ-ทิด-ถิ-โก-โห-ติ)

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ