วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

วัดหน้าพระเมรุ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
"พระพุทธนิมิตรวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ”
 เป็นชื่อนามของพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ พระประธานภายในพระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุราชิการามวรวิหาร ที่ตั้งอยู่ทางเหนือนอกเกาะเมืองกรุงศรีอยุธยาใกล้กับคูเมืองแม่น้ำลพบุรี เป็นชื่อที่เพิ่งถูกถวายพระนามขึ้นใหม่โดย “พระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรามหาประเทศราชชาติเสนาบดี” (เผือก)  ผู้รักษา (รั้ง) กรุงเก่า แม่กองในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดหน้าพระเมรุฯ ในปี พ.ศ. 2378 เพื่อเป็นการเฉลิมพระยศพระเกียรติล้นเกล้า ฯ รัชกาลที่ 3 ไปพร้อมกับการใส่ชื่อนาม “วิชิต” ของตน ร่วมในการพระราชกุศลอันมงคลเพื่อเป็นพุทธบูชาประกอบไปพร้อมกันด้วย 
การสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์-จักรพรรดราชที่เก่าแก่ที่สุด ปรากฏหลักฐานจากคติพุทธศาสนาฝ่าย “นิกายสรวาสติวาท” (Sarvāstivāda)  ที่เริ่มปรากฏงานพุทธศิลป์ครั้งแรกในช่วงพุทธศตวรรษที่ 5 - 6 มีความหมายถึง “พระโพธิสัตว์” (Bodhisattva) ทั้ง “เจ้าชายสิทธัตถะ” (Siddhartha) ที่ยังไม่บรรลุโพธิสมภาร และ “พระโพธิสัตว์ไมเตรยะ” (Bodhisattva Maitreya) ปรากฏความในคัมภีร์ “ลลิตวิสตระสูตร” (Lalitavistara Sūtra) ว่า เป็นกษัตริย์อยู่บนสวรรค์ รอการมาประสูติเป็นอนาคตพุทธเจ้า
ในคติมหายาน (Mahāyāna Buddhism) และพุทธตันตระ (Tantric Buddhism - Vajrayana Tantra) พุทธศิลป์ทรงเครื่องจะหมายถึง “พระมหาไวโรจนะ – พระอาทิพุทธ – พระวัชรสัตว์พุทธะ” (Mahāvairocana- Ādi-Vajrasattva Buddha) พระพุทธเจ้าผู้เป็นราชาเหนือเหล่าพระตถาคต – พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าพระองค์แรกที่ให้กำเนิดพระฌานิพุทธเจ้า “ปัญจสุคต” (Paῆca Sugatā) ในพุทธภาวะ “สัมโภคกาย” (Sambhoga-kāya)  ทั้ง 5 พระองค์ ที่เริ่มปรากฏรูปประติมากรรมทางศิลปะในปาละ – พุกาม – กัมพุชเทศะ มาตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 14  
ส่วนคติฝ่าย “สถวีรวาท-วิภาชยวาทิน” (Sthāvirīya -Vibhajjavāda) - หีนยาน (Hīnayāna) หรือเถรวาท (Theravāda)  พระพุทธรุปทรงเครื่องกษัตริย์จะหมายความถึง “พระศรีอาริยเมตไตรย” (Phra Sri Ariya Metteyya) ครั้งที่ยังคงเป็นพระโพธิสัตว์ที่กำลังบำเพ็ญสมาธิประทับอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต เพื่อรอการเสด็จลงมาประสูติเป็นพระอนาคตพุทธเจ้าพระองค์สุดท้ายในภัทรกัปป์ ปรากฏรูปประติมากรรมพระศรีอาริยเมตไตรยทรงเครื่องกษัตริย์ในลังกา รามัญและพุกาม ตั้งแต่ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 อีกทั้งยังหมายถึงคติ “ท้าวชมพูบดี” (Jambupati)  พระสูตรนอกนิบาตที่เล่าถึงเรื่องราวพระพุทธเจ้าสมณโคตม (Samaná Gautama) กำราบพระยาชมพูบดี ที่ถูกแต่งขึ้นในเขตรามัญ-พม่า-ล้านนา ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 – 20 แต่เพิ่งปรากฏรูปประติมากรรมทางศิลปะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 – 22 
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 – 19 ได้เกิดคติ “พุทธราชา” (Buddharāja) ที่ได้รับอิทธิพลจากคติ “จักรวาทิน” (Cakravartin)  ในความหมายที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวาล จากฝ่ายปาละ – พุกาม และลัทธิเทวราชา (Devarāja) จากฝ่ายกัมพุชะเทศะ พัฒนาเป็นคติ “จักรพรรดิราชา” (Chakravartirāja)  จักรพรรดิผู้เป็นใหญ่เหนือเหล่าพระราชา   
ลัทธิเถรวาทในกลุ่มรัฐลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้สร้างคติ “พระจักรพรรดิราช” ที่กษัตริย์สามารถเป็นพระพุทธจักรพรรดิราชผู้ครองชมพูทวีปทั้ง 4 ในกัปป์ที่พระพุทธเจ้าศรีอาริยเมตไตรยยังไม่ได้ลงมาจุติได้ ดังปรากฏในวรรณกรรม "ไตรภูมิพระร่วง" เพียงแต่กษัตริย์ที่ต้องการเป็นพระจักรพรรดินั้นจะต้องครอบครองแก้วจักรพรรดิ 7 ประการ จึงจะเป็นพระจักรพรรดิราชผู้ครอบครองชมพูทวีป ที่ถูกนำมาใช้ใน เป็นข้ออ้างในการพระราชสงครามเพื่อการขยายอาณาจักรทั้งของฝ่ายพุกาม หงสาวดี อังวะ กรุงศรีอยุธยา หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และละแวก มาตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 18-22 
แล้วพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ที่วัดหน้าพระเมรุ ควรมาจากคติอะไร เป็นพระราชนิยมในสมัยไหน ?
----------------------------------
*** พระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ ประธานแห่งวัดหน้าพระเมรุ เป็นพระพุทธปฏิมาประทับขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย ครองจีวรห่มดอง มีชายผ้าสังฆาฏิทิ้งเป็นแถบยาวหน้าพระนาภี ประดับด้วยอุณหิสเทริดทรงมงกุฎยอดชัย (เดินหน) ทัดด้วยครีบข้าง (หูเทริด) ปลายแหลมคั่นหน้าพระกรรณ (หู) ประดับกระจก แบบครอบพระเศียรไม่ใช่แบบผูกด้านหลังอย่างงานศิลปะเขมร สวมกรองศอ สังวาลไขว้ประดับด้วยกระจังและตาบทับทรวง พาหุรัดทองข้อพระกรและข้อพระบาท สวมพระธำมรงค์ทุกนิ้วพระหัตถ์ (อาจหายไปตอนบูรณะใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3) ตามแบบ “ทรงเครื่องใหญ่” ของกษัตริย์หรือพระจักรพรรดิราชา
ส่วนพระพักตร์เป็นรูปกลมไข่ พระขนงโก่งโค้งเป็นสันคมมาบรรจบกันที่ตรงกลางเหนือพระนาสิกทรงชมพู่โด่ง เว้นช่องกลางพระนลาฏไว้เพื่อต่อเป็นสันคมของพระนาสิก พระเนตรเหลือบมองต่ำ (ตานกนอน) ปลายพระเนตรชี้ขึ้นสูง  โปนพระเนตรโค้งใหญ่รับกับพระขนง พระเนตรล่างที่เปิดเหลือบเป็นลอนโค้งปลายแหลม แอ่นโค้งที่ตรงกลางพระกาฬเนตร ริมพระโอษฐ์บาง ปลายแหลมโค้งขึ้นตรงกับพระกาฬเนตรแบบแย้มพระสรวล พระหนุนูนกลมตรงกลางรับกับพระนาสิก พระกรรณกลมซ้อนยอดแหลมบายศรี ติ่งพระกรรณเว้าโค้งออกเจาะเป็นช่องยาวปลายประดับด้วยกุณฑลที่โค้งออกตามติ่งพระกรรณ ตามแบบงานศิลปะช่างหลวงสมัยพระเจ้าปราสาททอง 
เมื่อครั้งแรกสร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 (พระบรมไตรโลกนาถถึงพระรามาธิบดีที่ 2 พิจารณาประกอบกับการปรากฏครีบข้าง (หูเทริด) รูปแบบใบเสมาคู่ในคติสีมันตริกและรูปแบบพระอุโบสถ) เป็นพระหล่อด้วยสำริดขนาดใหญ่ ส่วนพระเพลากว้างประมาณ 4.5 เมตร สูงประมาณ 6 เมตร เล็กกว่าเศียรพระใหญ่สำริดที่พบจากวัดพระศรีสรรเพชญเพียงเล็กน้อย (อัตราส่วนเมื่อเทียบจากส่วนพระเศียร พระเพลากว้า 55 เมตร สูง 7 เมตร) ซึ่งอาหล่อเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่ไม่ทรงเครื่อง หรืออาจเป็นพระทรงเครื่องตามคติพระศรีอาริยเมตไตรย ซึ่งต่อมาในสมัยพระเจ้าปราสาททองได้มีการพอกปูนประดับลวดลายลงรัก ปั้นรักปิดทององค์พระสำริด ปรับเปลี่ยนแก้ไขเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องตามคติที่นิยมในยุคสมัยของพระองค์ มีพุทธศิลป์เดียวกับพระพุทธรูปทรงเครื่องภายในพระเมรุทิศ เมรุรายที่วัดไชยวัฒนารามและพระพุทธรูปทรงเครื่องสำริดขนาดเล็ก มีพุทธศิลป์เดียวกันที่พบเป็นจำนวนมาก
------------------------------------------
*** ในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯ พระเจ้าปราสาททอง ได้กล่าวถึงสาเหตุที่พระองค์จะตั้งพระราชพิธีลบศักราชเมื่อจุลศักราช 1000 ว่าเป็นไปตามพุทธทำนายที่กล่าวว่า “...ในภายภาคหน้า กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา (พระโพธิสัตว์) จักได้ประกอบพระราชพิธีลบศักราช...” ซึ่งพระองค์ก็อ้างพระองค์ว่าเป็นพระโพธิสัตว์  (ผู้มีบุญญาธิการ) พระองค์นั้น ที่ได้จุติลงมาเป็นพระมหากษัตริย์เพื่อการลบศักราช นำมาซึ่งความร่มเย็นเป็นสุขของโลก ทั้งยังระบุว่าพระชาติที่แล้วของพระองค์นั้นเป็นช้างปาลิไลยก์ในครั้งพุทธกาล ที่ได้รับพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าสมณโคตมว่า ช้างปาลิไลยก์นั้นจะได้ตรัสรู้เป็น “อนาคโตทศพุทธ” ที่หมายความถึง “พระสุมังคลพุทธเจ้า” พระอนาคตพุทธเจ้าองค์ที่ 10 ในอนาคต ดังความปรากฏใน “คัมภีร์อนาคตวงศ์” ว่า
“...ในลำดับนั้น อันว่าช้างปาลิไลยหัตถีตัวนั้น ก็เป็นพระโพธิสัตว์ สร้างบารมีมาเป็นอันมาก จักได้ตรัสเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้า ทรงพระนามชื่อว่าพระสุมงคลในอนาคต พระสุมงคลทศพลญาณเจ้านั้น มีพระองค์สูงได้ 60 ศอก พระชนมายุยืนประมาณแสนปี กำหนดไม้กากะทิงเป็นพระศรีมหาโพธิ ประดับด้วยพระพุทธรัศมีรุ่งเรือง...”
พุทธศิลป์พระสุมังคลพุทธเจ้า พระอนาคตพุทธเจ้าองค์ที่ 10 จึงควรจะเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ ตามรูปแบบศิลปะเดียวกับพระศรีอาริยเมตตไตรย ที่ถือว่าเป็นอนาคตพุทธเจ้าพระองค์แรก
คติความเชื่อของพระเจ้าปราสาททอง ทำให้เกิดพระราชนิยมในการสร้างพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์และพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ รวมทั้งพระพุทธรูปทรงเครื่อง “ผสม” ปางป่าเลไลยก์ในองค์เดียวกัน (ที่พบจากวัดสะแก จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมหาวีรวงศ์ นครราชสีมา)    
-----------------------------------------
*** พระพุทธรูปทรงเครื่องประธานวัดหน้าพระเมรุ ฯ จึงเป็นงานพุทธศิลป์ที่สร้างขึ้นตามคติ “พระอนาคตสุมงคลพุทธเจ้า” ทรงเครื่องกษัตริย์ตามแบบพุทธศิลป์พระศรีอาริยเมตไตรย ที่เคยเป็นความนิยมของราชสำนักกรุงศรีอยุธยามาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20 - 21  รับกับความที่ปรากฏในฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯ พระเจ้าปราสาททอง 
เป็นพระพุทธรูปเพื่อการฉลองพระองค์ของพระเจ้าปราสาททอง ที่สะท้อนคติความเชื่อที่ว่า เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต พระองค์จะได้ไปจุติเป็นพระอนาคตสุมงคลพุทธเจ้า (ศรีอาริยเมตไตรยแบบเถรวาท้องถิ่น) มิได้ถูกแปลงขึ้นใหม่ตามคติจักรพรรดิราชา (พระจักรพรรดิเหนือเหล่าราชา) หรือ พุทธศิลป์ทรงเครื่องตามคติท้าวชมพูบดีตามแบบพม่า-ล้านนา แต่อย่างใด
เครดิต ;
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ