วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2564

ปราสาทขอบแบบละโว้

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ปราสาทขอมแบบละโว้” ปรางค์ไทยยุคแรกที่วัดนครโกษา 
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 เมืองละโว้ (ลวปุระ- ละโวทยปุระ-ลพบุรี) เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาลูกผสม นิกาย “อริยารหันตปักขะภิกขุสงฆ์” (Ariyā rahantapakkha bhikkhu sangha) หรือ “กัมโพชสงฆ์ปักขะ” (Kambojsanghapakkha) (ชื่อนาม “กัมโพช” เป็นชื่อเมืองละโว้ในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์)  ซึ่งเป็นพุทธศาสนานิกายเถรวาท (Theravāda – Theravādin) ฝ่ายรามัญนิกาย ที่ได้รับเอาคติความเชื่อพิธีกรรมและการปฏิบัติธรรมจากนิกายมหายาน จากอิทธิพลของฝ่ายปาละ-เสนะและจีนผ่านรมาทางหริภุญชัย ผสมผสานงานศิลปะวัชรยานแบบจักรวรรดิบายน (ที่เคยมีอำนาจทางการเมืองในละโว้ระยะหนึ่ง) และเถรวาทมหาวิหารเดิมในยุคทวารวดี โดยผู้ปกครองเมืองละโว้ ได้สร้างพระปรางค์ใหญ่วัดมหาธาตุลพบุรีขึ้นใหม่ เพื่อเป็นประธานของเมืองตามคตินิกายกัมโพชสงฆ์ปักขะ
.
แต่มาถึงในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 กระแสความนิยมในคตินิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์  “สีหลภิกขุ” หรือ “นิกายกัลยาณีสีมา” จากเมืองพัน (เมาะตะมะ - Martaban) และลังกาทางตะวันตก ได้เข้ามามีอิทธิพลเหนือคณะกัมโพชสงฆ์ปักขะเดิมที่กำลังหมดความนิยมไปจากราชสำนักละโว้ครับ   
.
ถึงแม้ว่าราชสำนักในเมืองละโว้ จะเปลี่ยนความนิยมในคติความเชื่อมาเป็นแบบเถรวาทลังกาวงศ์ แต่ก็ยังคงนิยมสร้างงานสถาปัตยกรรมของพระเจดีย์ ตามขนบแบบแผนปราสาทเขมร ที่ยังคงรูปทรงวิมานจำลอง  (Vimana) ซ้อนลดหลั่นขึ้นไป 5 ชั้น จบที่บัวกลุ่มยอดปราสาท (หรือจอมโมฬี ตามชื่อเรียกแบบปรางค์) เรือนแต่ละชั้นยกเก็จประธานเป็นซุ้มบัญชร ประดับเครื่องบนเป็นบันแถลงและเครื่องประดับมุม (เครื่องปัก)  ตามรูปแบบงานประดับปราสาทแบบเขมรอยู่
.
---------------------------
*** วัดนครโกษา ตั้งอยู่ทางเหนือของสถานีรถไฟลพบุรีใกล้กับศาลพระกาฬ ภายในเมืองโบราณละโว้ ปรากฏพระเจดีย์ทรงปราสาท (พระปรางค์) เหลืออยู่องค์หนึ่งทางตะวันตก (ด้านหลังสุดของวัดติดกับทางรถไฟ) สร้างขึ้นในช่วงประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 19  ผสมสานศิลปะและคติความเชื่อแบบเถรวาทและกัมโพชสงฆ์ปักขะกับงานศิลปะแบบเขมรละโว้เดิม ยังคงรักษาขนบแบบแผนของลวดลายประดับทั้งส่วนบัวเชิง กรุยเชิง เฟื่องอุบะบัวชั้นรัดเกล้าและบัวชั้นเชิงบาตร (รัดประคด) ที่มีจุดเด่นของชั้น “หงส์เหิน” ในตำแหน่งลวดบัวหงายรองรับหน้ากระดานลายดอกไม้ต่อเนื่อง (ประจำยาม) ของชั้นบัวรัดเกล้า ตามแบบงานประดับขององค์ปรางค์ประธานวัดมหาธาตุลพบุรีครับ
.
หน้าบันแถลง แผ่นแบนยอดสอบแหลมคล้ายหน้ากระจังตั้ง ที่ปักวางอยู่ตรงกลางหน้าซุ้มบัญชรในแต่ละชั้นวิมานตามแบบปราสาทเขมร ได้ถูกปรับเปลี่ยนรูปศิลปะจากที่นิยมทำเป็นรูปเทพเจ้าประจำทิศ (ทิศปาลกะ  (Dikpālas -Dikpālakas) ได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นรูป “พระพุทธเจ้า (สมณโคตม)” ปางมารวิชัยบนฐานที่มีรูปยักษ์แคระแบกและรูปพระอัครสาวกแสดงการวันทาสาธุการขนาบอยู่ด้านข้างแทน ในขณะที่รูปศิลปะของเครื่องปักประดับบนมุมของเรือนแต่ละชั้น ได้ถูกปรับเปลี่ยนรูปศิลปะของมุมหลักชั้นรัดเกล้าจากรูปนาค 5 เศียรแบบเขมรมาเป็นรูปครุฑยุดนาค ชั้นบนทำเป็นรูปพระพุทธเจ้าปางลีลา ส่วนกลีบขนุนของมุมย่อยยังคงปั้นปูนประดับตามแบบปราสาทเขมรเดิม ทำเป็นรูปทวารบาล (Dvarapala) ยืนถือกระบอง-พระขรรค์ในซุ้มเรือนแก้วที่ชั้นรัดเกล้า รูปพระพุทธรูปปางประทานอภัย (?) และเทพพนมผุดจากดอกไม้ในซุ้มเรือนแก้วบนเรือนชั้นถัดขึ้นไป (อาจปั้นขึ้นใหม่ในสมัยพระนารายณ์)
.
มุมเรือนธาตุหลักมีขนาดใหญ่ ผนังยกเก็จด้านละ 1 ชั้น ซ้อนด้วยเก็จของซุ้มประตู-หน้าบันชั้นซ้อนหน้าเก็จประธานของตัวเรือนธาตุ  ทำประตูกว้าง เหนือขึ้นไปยังคงวางโครงกรอบรวยนาคของหน้าบันเป็นแบบหยัก 5 ขยัก พวยระกาและมกรคายนาคปลายหน้าบัน 5 เศียรสวมเทริดมงกุฎ ตามรูปแบบปรางค์เขมรละโว้ แต่มีการยกชุดฐานสูงต่อเนื่องขึ้นไป 3 ชั้น แตกต่างไปจากปรางค์ละโว้แบบกัมโพชเดิมที่เป็นฐานไล่ระดับแบบพีรามิดครับ 
.
ซุ้มประตูด้านหน้าทางตะวันออก เป็นมุขยื่นออกมาเล็กน้อยแต่พังทลายลงมาทั้งหมด ด้านที่เหลือเป็นประตูหลอก ทำเป็นจระนำซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัยที่มีพุทธศิลป์บอบบาง มีพระกรและประภารัศมีประดับเป็นซุ้มเรือนแก้ว ที่พัฒนาจากแบบเขมรมาเป็นแบบละโว้-อยุธยา (อาจได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ในช่วงสมเด็จพระนารายณ์)
.
ปรางค์วัดนครโกษา เป็นตัวอย่างอันดีของปรางค์ไทยยุคเริ่มแรก ที่พัฒนารูปแบบมาจากรูปวิมานปราสาทที่มีการประดับเครื่องบนตามแบบแผนของปราสาทเขมรในช่วงยุคสุดท้าย มาใช้เป็นเจดีย์ทรงปราสาทตามคติเถรวาทในยุคแรกตามรูปแบบปราสาทเขมร  แต่ยังไม่ได้คลี่คลายปรับเปลี่ยนมาเป็นเครื่องบนแบบกลีบขนุนและวิมานรูปทรงงาเนียมแบบปรางค์ไทย-อยุธยาในทันที ลายปูนปั้นยังพัฒนามาจากการประดับในยุคปรางค์ประธานวัดมหาธาตุลพบุรีในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 19 ที่รับอิทธิพลมาจากงานปูนปั้นประดับ ปราสาท-ปรางค์สามยอดในยุคศิลปะบายนแบบละโว้ ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 โดยตรง และได้ส่งต่องานประดับมายังปรางค์ไทยยุคแรกในอยุทธยาครับ 

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.

.
*** สถาปัตยกรรมของปรางค์วัดนครโกษา หากมีสภาพสมบูรณ์ จะมีลักษณะแบบเดียวกันกับปราสาทหลังเล็ก ทางทิศใต้ของปรางค์ประธานวัดมหาธาตุลพบุรี ที่สร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน 
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น