วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2564

ทับหลัง

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
ลวดลายวิจิตรบนทับหลังกลุ่มปราสาทประธาน “ปราสาทบันทายสรี” ที่หาดูได้ยาก
“ปราสาทบันทายสรี” หรือ “บันเตียเสรย” (Bantãy Srĕi) ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเสียมเรียบไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 25 กิโลเมตร ใกล้กับเขาพนมได ในบริเวณที่ปรากฏนามในจารึกว่า “อิศวรปุระ” (Īśvarapura). สร้างขึ้นครั้งแรกในยุคของ “พระเจ้าราเชนทรวรมัน” (Rajendravarman) ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 โดยพราหมณ์-ราชครู “ยัชญยวราหะ”  (Yajñavarāha) ซี่งในครั้งแรกสร้างนั้น ตัวปราสาทคงเป็นเพียงปราสาทก่ออิฐ 3 หลัง มีโคปุระก่ออิฐและกำแพงอิฐล้อมรอบตามสถาปัตกรรมที่นิยมในยุคศิลปะแบบแปรรูป (Pre Rup) อย่างที่คงหลงเหลือร่องรอยเป็นซากอาคารโคปุระหลังเดิมให้เห็นอยู่ทางด้านตะวันตกของกลุ่มปราสาทประธานชั้นใน
.
ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 16  “พระเจ้าชัยวรมันที่ 5” (Jayavarman V) ผู้ทรงเป็นลูกศิษย์ของพราหมณ์ยัชญยวราหะมาตั้งแต่ยังไม่ได้ครองบัลลังก์ ได้มีการก่อสร้างปราสาทบันทายสรีขึ้นใหม่ทั้งหมด ทับซ้อนปราสาทอิฐหลังเดิม ประดิษฐานพระศิวลึงค์ “ตรีภูวนมเหศวร” (Tribhuvanamaheśvara) เพื่ออุทิศถวายแด่พระราชครูครับ 
.
ปราสาทประธานของปราสาทบันทายสรี เป็นปราสาทแบบ “วิมานเชื่อมเรือนมณฑปด้วยมุขกระสัน” ในยุคเริ่มแรก สร้างด้วยหินทรายเนื้อละเอียดสีออกแดง มีแผนผังปราสาทสามหลังตามคติตรีมูรติ (Trinity -Trimūrti) บนฐานไพทีเดียวกันกับอาคารมณฑปที่เชื่อมต่ออยู่ด้านหน้าของปราสาทประธานหลังกลาง หันหน้าไปทางทิศตะวันออกตามแนวแกนหลักยาว ฉนวนทางเดินก่อเป็นผนังทึบ มีช่องหน้าต่างหลอกประดับด้วยเสาลูกกรง-มะหวด (Balustre) ประดับตกแต่งที่ผนังด้านนอกทั้งสองข้าง    
.
อาคารมณฑป (Maṇḍapa) ของปราสาทปราสาทมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีประตูเข้า 3 ด้าน ด้านหน้าทิศตะวันออกเป็นคูหามุข “อรรธมณฑป” (Ardhamaṇḍapa) และซุ้มประตูด้านหน้า มีความยาวเท่ากับอาคารฉนวน – อันตราละ (Antarāḷa) ด้านหลังมณฑปที่ติดกับตัวปราสาทประธาน ถึงแม้แผนผังตามแกนหลักจะดูว่าอาคารมณฑปนั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่แผนผังภายในอาคารมณฑปกลับเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยให้ฉนวนทางเดินและมุขหน้าล้ำเข้ามาภายในมณฑปครับ
.
กลุ่มปราสาทประธาน 3 หลัง มีขนาดย่อส่วน เล้กกว่าปราสาทหินโดยทั่วไป ปราสาทหลังกลางมีความสูงประมาณ 9.8 เมตร ปราสาทบริวารด้านข้างทั้งสองด้านมีขนาดเล็กกว่า ตัวปราสาทเป็นเรือนธาตุสี่เหลี่ยม ยกเก็จประธานและซุ้มประตูชั้นเดียวในแต่ละด้าน โดยด้านหน้าทำเป็นประตูเข้าออกได้จริง ส่วนที่เหลือเป็นเพียงประตูหลอกประดับผนัง ด้านบนเป็นชั้นวิมาน (เรือนจำลอง) มีซุ้มบัญชรและประตูหลอกที่กลางเก็จประธานทั้ง 4 ด้าน ลดหลั่นขึ้นไปจนถึงส่วนยอดที่ประดับด้วยบัวกลุ่มและหม้ออมลกะ (Amalaka) ซ้อนชั้นด้วยยอดหม้อกลศะ (kalaśa) ประดับบนชั้นเชิงบาตรด้วยปราสาทจำลองที่มุมหลักและบันแถลงสลักรูปเทพเจ้าวางคู่กันที่หน้าซุ้มบัญชรของแต่ละชั้น
.
--------------------------
*** ลวดลายแกะสลักของปราสาทบันทายสรีมีความวิจิตรงดงามจนได้รับการยกย่องว่าเป็น "อัญมณีชิ้นเอกของงานศิลปะเขมรโบราณ” ด้วยเพราะมีการแกะสลักลวดลายประดับแทบทุกส่วนของตัวปราสาทโดยเฉพาะรูปของนางอัปสราและพระทวารบาลประดับผนังเรือนธาตุเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางครับ
.
แต่กลุ่มปราสาทประธานก็ยังมีรูปงานศิลปะที่แกะสลักอย่างวิจิตรบรรจงบน “ทับหลัง” (Litel) ที่บอกเล่าเรื่องราวในคติความเชื่อและวรรณกรรมฮินดูที่เป็นความนิยมในช่วงเวลานั้น ประดับอยู่เหนือประตูเรือนธาตุกลุ่มปราสาทประธานในแต่ละหลัง ที่ในปัจจุบันคงยากที่จะมีโอกาสเข้าไปดูได้อย่างใกล้ชิดได้อย่างสมัยก่อน
.
*** ทับหลังของปราสาทประธานหลังกลาง ซุ้มประตูมุขอรรธมณฑปด้านหน้าสุด ภาพประธานตรงกลางสลักเป็นรูปสิงห์ทะยาน 3 ตัว คายท่อนพวงมาลัยโค้ง โดยด้านบนเป็นหน้าบันที่สลักเป็นรูปพระอินทร์ร่ายรำ ทรงช้างเอราวัณเหนือหน้ากาลในท่ามกลางลายกระหนกใบขดและเทพบริวารโดยรอบ ซึ่งยังคงแสดงอิทธิพลความนิยมจากยุคศิลปะแปรรูปมาอย่างชัดเจนครับ
.
ทับหลังประตูข้างของมณฑปทั้งสองฝั่งของปราสาทประธานหลังกลาง ภาพประธานเป็นหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัยตรงแต่ละข้อแตกเป็นใบขาดขดขนาดใหญ่ทั้งด้านบนและด้านล่างขนานกันไปจนจบ เหมือนกันทั้งสองฝั่ง 
.
ทับหลังด้านหลัง (ทิศตะวันตก) ของเรือนธาตุปราสาทประธานหลังกลาง ภาพประธานตรงกลางสลักเป็นเรื่อง “รากษสวิราธ (Rakshasa Virādha) รากษสเฝ้าสวนชมพู่พวาทองในป่าทัณฑกะ ลักพาตัวนางสีดา” ปรากฏในภาค “อรัณยกัณฑ์” ของมหากาพย์รามายณะ  (Rāmāyaṇa Sanskrit epic) โดยมีภาพขององค์รามอยู่ที่ปลายทับหลังทางด้านขวาและองค์ลักษมัณอยู่ที่ปลายทับหลังด้านซ้ายครับ
.
ทับหลังฝั่งทิศเหนือของเรือนธาตุปราสาทประธานหลังกลาง ภาพประธานตรงกลางสลักเป็นเรื่อง “พาลีรบสุครีพ” ใน “ภาคกีษกินธากัณฑ์”ของมหากาพย์รามายณะ ปรากฏภาพองค์รามในซุ้มเหนือโค้งท่อนมาลัย มีรูปวานรบริวารอยู่ที่ปลายทั้งสองข้าง
.
ทับหลังฝั่งทิศใต้ของเรือนธาตุปราสาทประธานหลังกลาง ภาพประธานตรงกลางสลักเป็นเรื่อง "กีราตะอรชุนียะมูรติ" (Kirātārjunīya Murti) หรือการต่อสู่ระหว่างอรชุนกับองค์พระศิวะ (พรานกีรตะ – กีรตา) (Kirātā) ในวนบรรพ ของมหากาพย์มหาภารตะ (Mahābhārata Sanskrit epic)  มีภาพอสูรหมูป่า “มุกกะ” อยู่ด้านล่าง มีภาพของอรชุนง้างคันศรเล็งมาที่อสูรหมูป่าในซุ้มสามเหลี่ยมเหนือโค้งมาลัยทางซ้าย และ พระศิวะ ในรูปของพรานป่า ง้างคันศรเล็งมาที่อสูรหมูป่าในซุ้มทางด้านขวาครับ
.
*** ทับหลังฝั่งทิศตะวันออกของเรือนธาตุปราสาทบริวารหลังทิศเหนือ ภาพประธานสลักเป็นภาพพระอินทร์ร่ายรำเหนือช้างเอราวัณประกอบรูปครุฑ ซึ่งน่ามาจากเรื่องพญาครุฑต่อสู้กับพระอินทร์เพื่อแย่งชิงน้ำอมฤต ด้านบนเป็นหน้าบัน ภาพประธานแสดงเรื่องราว “นรสิงหาวรตาร” (Narasimha Avatar) พระอวตารแห่งพระวิษณุลงมาเป็นมนุษย์ครึ่งสิงห์ กำลังสังหารหิรัญยกศิปุ
.
ทับหลังฝั่งทิศเหนือของเรือนธาตุปราสาทบริวารหลังทิศเหนือ ภาพประธานเป็นภาพ “ภีมะ” (Bhīma) สังหาร “ท้าวชลาสันธะ” (Jarāsandha) กษัตริย์แห่งแคว้นมคธ ในภาคสภาบรรพ (Sabhā Parva) ของมหาภารตะครับ
.
ทับหลังฝั่งทิศใต้ของเรือนธาตุปราสาทบริวารหลังทิศเหนือ ภาพประธานตรงกลางสลักเป็นภาพภีมะ (ปลอมตัวเป็นพ่อครัวนามว่า “วัลลภ-Vallabh” ) เอาชนะนักมวยปล้ำนามว่า “ชิมูทะ (Jīmūta) ในวรรณกรรมมหาภารตะ
.
ทับหลังฝั่งทิศตะวันตก (ด้านหลัง) ของเรือนธาตุปราสาทบริวารหลังทิศเหนือ ภาพประธานตรงกลางเป็นภาพพระวิษณุทรงครุฑ (Garudarudha-Vishnu) ครับ
.
*** ทับหลังฝั่งทิศตะวันออกของเรือนธาตุปราสาทบริวารหลังทิศใต้ ภาพประธานสลักเป็นภาพพระอินทร์ร่ายรำเหนือช้างเอราวัณสามเศียร ด้านบนเป็นหน้าบัน ภาพประธานแสดงเรื่องราว “อุมามเหศวร” (Umamaheshavara) พระศิวะและพระนางปารวตีประทับอยู่บนโคนนทิ
.
ทับหลังฝั่งทิศใต้ของเรือนธาตุปราสาทบริวารหลังทิศใต้ ภาพประธานตรงกลางเป็นภาพทิศปาลกะประจำทิศใต้ (Dikpālas -Dikpālakas) อันได้แก่ พระยมทรงกระบือ  
.
และทับหลังฝั่งทิศตะวันตก (ด้านหลัง) ของเรือนธาตุปราสาทบริวารหลังทิศใต้ ภาพประธานตรงกลางเป็นภาพทิศปาลกะประจำทิศตะวันตก อันได้แก่ พระวรุณทรงหงส์ครับ
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น