วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2564

พระศิวะนาฏราช

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.

ชาวอินเดีย ถือว่า พระอิศวร เป็นเทพเจ้า ที่มีผู้เคารพนับถือมาก ยุคนี้ พระอิศวร ทรงเป็นนาฎราช (ราชาแห่งการร่ายรำ) มีประวัติทั้งในเมืองสวรรค์ และ เมืองมนุษย์ โดยมีเรื่องเล่าขานไว้ว่า ฤาษีพวกหนึ่ง ประพฤติอนาจาร ฝ่าฝืนเทวบัญชา พระอิศวร ทรงขัดเคือง จึงทรงชวนพระนารายณ์ เสด็จมายังโลกมนุษย์ เพื่อทรมานฤาษี พวกนั้น เมื่อพระองค์ ทรงเห็นพระฤาษี สิ้นฤทธิ์ จึงทรงฟ้อนรำ ทำปาฏิหาริย์ขึ้น

ขณะนั้น มียักษ์ค่อม ตนหนึ่ง ชื่อ "มุยะกะละ (บางตำรา เรียกว่า มุยะละคะ หรือ อสูรมูลาคนี) มาช่วยพวกฤาษี พระอิศวร จึงทรงเอาพระบาท เหยียบยักษ์ค่อมนั้นไว้ แล้วทรงฟ้อนรำต่อไป จนหมดกระบวนท่า ซึ่งร่ายรำในครั้งนี้ ทำให้เกิดเทวรูป ที่เรียกว่า "ปางนาฏราช" หรือ "ศิวะนาฏราช (Cosmic Dance)" บางทีก็เรียกว่า "ปางปราบอสูรมูลาคนี" เมื่อพระอิศวร ทรงทรมานพวกฤาษี จนสิ้นทิฐิ ยอมขอขมา ต่อพระเป็นเจ้าทั้ง ๒ แล้ว พระองค์ ก็เสด็จกลับเขาไกรลาศ ส่วนพระนารายณ์ ก็เสด็จกลับยังเกษียรสมุทร ซึ่งครั้งนี้ ถือเป็นการร่ายรำ ครั้งที่ ๑ ของพระอิศวร

ต่อมา พระยาอนันตนาคราช ซึ่งได้ติดตามพระเป็นเจ้าทั้ง ๒ เมื่อครั้งไปปราบพวกฤาษี ได้เห็นพระอิศวร ฟ้อนรำ เป็นที่งดงาม จึงใคร่อยากชมพระอิศวร ฟ้อนรำอีก พระนารายณ์ จึงแนะนำให้ไปบำเพ็ญตบะ บูชาพระอิศวร ที่เชิงเขาไกรลาศ เพื่อให้พระอิศวร ทรงเมตตา ประทานพร จึงทูลขอพรให้ได้ดูพระอิศวร ทรงฟ้อนรำ ตามประสงค์

ครั้นเมื่อ พระยาอนันตนาคราช บำเพ็ญตบะ จนพระอิศวร เสด็จมาประทานพร ที่จะฟ้อนรำให้ดู โดยตรัสว่า จะเสด็จไปฟ้อนรำให้ดู ในมนุษย์โลก ณ ตำบลจิดรัมบรัม หรือ จิทัมพรัม ซึ่งอยูทางตอนใต้ ของอินเดีย เพราะเห็นว่า เมืองนี้ เป็นศูนย์กลาง ของมนุษยโลก พระอิศวร แสดงการฟ้อนรำ ให้ประชาชนชมถึง ๑๐๘ ท่าด้วยกัน ประชาชน จึงสร้างเทวาลัยขึ้น ที่เมืองนี้ เพื่อเป็นที่เคารพบูชา แทนองค์พระอิศวร ภายในเทวาลัยนี้ แบ่งออกเป็น ๑๐๘ ช่อง เพื่อแกะสลักท่าร่ายรำ ของพระอิศวรไว้ จนครบ ๑๐๘ ท่า การร่ายรำครั้งนี้ ถือเป็นการร่ายรำ ครั้งที่ ๒ ของพระอิศวร

ในสมัยต่อมา พระอิศวร จะทรงแสดงฟ้อนรำ ให้เป็นแบบฉบับ จึงเชิญพระอุมา ให้ประทับเป็นประธาน เหนือสุวรรณบังลังก์ ให้พระสรัสวดี...ดีดพิณ ให้พระอินทร์...เป่าขลุ่ย ให้พระพรหม...ตีฉิ่ง ให้พระลักษมี...ขับร้อง และ ให้พระนารายณ์...ตีโทน แล้วพระอิศวร ก็ทรงฟ้อนรำ ให้เทพยดา ฤาษี คนธรรพ์ ยักษ์ และ นาค ทั้งหลาย ที่ขึ้นไปเฝ้า ได้ชมอีกครั้งหนึ่ง นับเป็นการร่ายรำ ครั้งที่ ๓ ของพระอิศวร โดยในครั้งนี้ พระองค์ ทรงให้พระนารทฤาษี เป็นผู้บันทึกท่ารำ แล้วนำมาสั่งสอน แก่เหล่ามนุษย์

#ตำรารำของไทย
ตำรานาฏยศาสตร์ ที่พวกพราหมณ์ นำเข้ามาสอน ในประเทศไทยนั้น ไม่มีต้นฉบับเหลืออยู่ให้รู้ได้ เข้าใจว่า คงจะได้แปลเป็นภาษาไทยไว้ อาจจะทั้งหมด หรือ เพียงบางส่วน แล้วบอกเล่าสั่งสอนกันต่อๆ มา เท่าที่รู้ได้ เพราะมีท่ารำ ของไทย ที่ลักษณะ และ ชื่อท่ารำ คล้ายคลึงกับในตำรานาฏยศาสตร์ ที่แปลงชื่อเป็นภาษาไทย ก็มีแต่ต้นฉบับ ก็่สูญหายไป เมื่อครั้ง เสียกรุงศรีอยุธยา เป็นส่วนมาก ที่คงเหลืออยู่ จนถึงปัจจุบันนี้ มีตำราท่ารำต่างๆ เขียนรูประบายสี ปิดทอง ๑ เล่ม เหลืออยู่เฉพาะตอนต้น เป็นฝีมือช่าง สมัยรัชกาลที่ ๑ ตำราท่ารำ เหมือนกับเล่มแรก แต่เขียนฝุ่น เป็นลายเส้น ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๒ หรือ รัชกาลที่ ๓ มีภาพรำบริบูรณ์ ถึง ๖๖ ท่า ได้มาจากพระราชวังบวร ท่ารำ และ การเรียงลำดับ ท่าเหมือนเล่มแรก เข้าใจว่า จะเป็นสำเนา คัดจากเล่ม สมัยรัชกาลที่ ๑ นั่นเอง

เข้าใจว่า ตำราเช่นนี้ มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระวิทยประจง (จ่าง โชติจิตร) ช่างในกรมศิลปากร กับ ขุนประสิทธิจิตรกรรม (อยู่ ทรงพันธ์) ช่างเขียนในหอพระสมุดฯ ช่วยกันเขียนภาพใหม่ ตามแบบท่ารำ ในตำราเดิม นำมาพิมพ์ไว้ใน "ตำราฟ้อนรำ" เก็บไว้ในหอสมุดแห่งชาติ ชื่อท่ารำต่างๆ ในตำราของไทยเรานั้น ปะปนกันอยู่ดังนี้
๑. ชื่อท่ารำ ที่แปลจากตำราอินเดียโดยตรง
๒. ชื่อท่ารำ ที่คลาดเคลื่อนจากตำราเดิม เพราะบอกเล่าสืบต่อกันมาหลายต่อ
๓. ชื่อท่ารำ ที่คิดประดิษฐ์ขึ้นในภายหลัง
เครดิต
http://www.thaidances.com/data/1.asp
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น