วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2564

นารายณ์บรรทมสินธุ์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.

“นารายณ์บรรทมสินธุ์” ชิ้นงามที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ปราสาทเขาพนมรุ้ง
“นารายณ์บรรทมสินธุ์” หรือ “วิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ  (Vishnu ananta shayana padmanabha - พระนารายณ์ประทับอยู่บนขนดพญาอนันตนาคราช - Vishnu reclining on the serpent Shesha (Ananta Shesha) in Cosmic Ocean) ที่คนไทยรู้จักกันดี คงเป็นภาพสลักบนทับหลังอันโด่งดังของ "ปราสาทเขาพนมรุ้ง" ที่ตั้งอยู่บนปากปล่องภูเขาไฟ ในอำเภอเฉลิมพระเกียรติของเมืองแป๊ะ -บุรีรัมย์
“เทพปกรณัม” (Mythology) จากคติความเชื่อฮินดู ได้เล่าถึงเรื่องราวของ “วิษณุอนันตศายิน” (อำนาจที่ไม่มีที่สิ้นสุดแห่งพระวิษณุ) 2 แบบ
1.โดยแบบแรก เป็นเรื่องราว“การบรรทมในระหว่างกัลป์ การบรรทมหลับแบบธรรมดาในระหว่างที่สามโลกกำลังดำเนินไปตามกาลเวลา” รูปงานศิลปะในคตินี้ไม่ปรากฏความนิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
2.และแบบที่สอง เป็นปกรณัมที่ได้รับความนิยมนำมาสร้างงานศิลปะเป็นเรื่องราวตอน “พระวิษณุผู้ให้กำเนิดโลกใหม่ ผ่านพระพรหมที่เกิดจากอำนาจของพระองค์” ซึ่งถูกกล่าวถึงในมหากาพย์ มหาภารตะ (The Epic Mahābhārata) ว่า “....เมื่อโลกถึงคราวสิ้นกัลป์ (หนึ่งกัลป์เท่ากับหนึ่งวันของพระพรหม) ทุกสรรพสิ่งถูกทำลายล้าง พื้นดินจมลงสู่ใต้มหาสมุทรพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงพระนามว่าพระวิษณุ ผู้มีพันพระเนตรและพันพระบาท บรรทมอยู่ที่ท่ามกลางมหาเกษียรสมุทร (Kshirasagara)  มีพญานาคผู้มีพันเศียรรองรับองค์พระผู้เป็นเจ้า...
.
...เมื่อพระองค์ตื่นบรรทม และมองเห็นโลกที่ว่างเปล่า พระองค์ได้ตั้งสมาธิเพื่อการสร้างสรรค์สรรพสัตว์ขึ้นใหม่ ในขณะนั้น ได้เกิดดอกบัว (หมายถึงความบริสุทธิ์) ดอกหนึ่ง ผุดขึ้นจากพระนาภี (สะดือ) จากผลของสมาธินั้น แล้วพระพรหมผู้มีสี่พักตร์ก็ได้ปรากฏขึ้นบนดอกบัวนั้น.....”
.
“....ภาพพระนารายณ์ในยามหลับใหลเหนือพญาอนันตนาคราช สื่อความหมายถึงจุดจบของทุกสรรพสิ่งที่เงียบสงัดและสิ้นสูญไปแล้ว ภาพพระพรหมบนดอกบัวที่ผุดออกมาจากสะดือแห่งพระวิษณุ หมายความถึงการเริ่มต้นใหม่อันบริสุทธิ์ของโลก คือการอวยพรให้มนุษย์ผู้ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าบนสรวงสวรรค์ได้ตระหนักว่า ความเลวร้ายของชีวิตมันได้ผ่านไปแล้ว จงเริ่มต้นใหม่อย่างมีมงคลและสติเถิด....”
.
ภาพวิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ จึงเป็นภาพสัญลักษณ์มงคล ที่มีความหมายถึงการกำเนิดใหม่ของโลกและชีวิต ทั้งยังเป็นการอวยพรให้สาธุชน ได้เห็นถึงวัฏจักรของจักรวาลที่มีการสูญสลายและเกิดขึ้นใหม่มาโดยตลอด
----------------------------------------
*** หลังปลายพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ในคติฮินดู/งานศิลปะเขมรโบราณ เริ่มปรากฏอิทธิพลของศิลปะจีนที่ผ่านมาจากศิลปะจามเป็นครั้งแรก มีการเปลี่ยนแปลงแท่นบรรทมเป็นรูปคล้าย “มังกร” (Dragon) มีเขา เข้ามารองรับด้านล่างสุดของพญาอนันตนาคราช (Ananta Shesha) แต่ช่างโบราณก็ยังคงสอดแทรกรูปพญานาคเล็ก ๆ ประกอบไว้อยู่เสมอ
ซึ่งมังกรในศิลปะจีน ก็คือเทวสัตว์ผู้เป็นเจ้าแห่งน้ำและมหาสมุทร สอดรับลงตัวกับความหมายของพญาอนันตนาคราชและเกษียรสมุทรแบบดั้งเดิมของคติอินเดียและเขมรอย่างพอดิบพอดี
ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 17 (1601-1700) เป็นต้นมา รูปแบบศิลปะในการแกะสลักภาพของของพญาอนันตนาคราชเริ่มหายไปเกือบทั้งหมด คงเหลือเป็นรูปของพระวิษณุบรรทมอยู่เหนือรูปของมังกรทั้งตัว บางทีก็มีรูปพญานาคเล็ก ๆ ประกอบอยู่บริเวณหัวมังกรเพื่อยังคงรักษาความหมายเดิมตามคัมภีร์ปุราณะโบราณ แต่บางรูปสลักก็ทำเป็นรูปสัตว์ผสม ระหว่างมังกรกับสัตว์คล้ายราชสีห์ทั้งตัว หลุดออกจากคติดั้งเดิมไปเลยทีเดียว
--------------------------------
*** ภาพสลักวิษณุอนันตศายินปัทมนาภา-นารายณ์บรรทมสินธุ์ บนทับหลังทิศตะวันออก ซุ้มประตูด้านหน้าของมุขอรรธมณฑปปราสาทประธาน ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง จัดเป็นงานฝีมือที่มีความความละเอียดลออในการแกะสลัก ตามขนบแบบแผนช่างหลวงเมืองพระนคร ช่วงศิลปะแบบปราสาทนครวัด ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 17
พระวิษณุ 4 พระกร บรรทมตะแคงขวาบนแท่นบรรทมที่มีการนำรูปมังกรจากอิทธิพลชองศิลปะจีน มาผสมเข้ากับรูปสิงห์กลายเป็นแท่น “สีหมังกร” เข้ามารองรับแทน แต่วางรูปพญาอนันตนาคราชที่มีขนาดเล็กใกล้กับหัวของเทวสัตว์ไว้เป็นเชิงสัญลักษณ์ มีพระนางลักษมีนั่งปรนนิบัติอยู่ที่พระเพลา ยกพระเพลาหนึ่งของพระวิษณุมาไว้บนพระเพลาของพระนาง
ด้านบนเป็นภาพของพระพรหม 4 พระกรประทับบนบัวคว่ำบัวหงายที่ผุดขึ้นจากพระนาภี มีภาพ “นกหัสดีลิงค์คาบช้าง” (นกยักษ์ในป่าหิมพานต์ชอบล่าช้างเป็นอาหาร) หันหน้าออกด้านข้าง ช้างทั้งสองฝั่งสลับหัวขึ้นและลง  ในท่ามกลาง “ดอกบัวปัทมะอันบริสุทธิ์” ที่ผุดขึ้นในมหาเกษียรสมุทรแวดล้อมอยู่โดยรอบ
ทั้งสองฝั่งของทับหลัง คั่นด้วยเส้นแบ่งสมมุติที่มีลายหน้ากาลคายพวงอุบะ เหนือหน้ากาลมีรูปครุฑยุดนาค ที่พวงอุบะมีนกแก้วคู่รักเกาะอยู่ (หมายถึงความรักของเทพเจ้าที่มอบให้แก่มนุษย์) ในท่ามกลางของลวดลายใบไม้ม้วนหรือก้านขด 4 วงอันสุดวิจิตร มุมด้านบนของทับหลังเป็นภาพของลิงแม่ลูกที่ด้านขวา ส่วนทับหลังฝั่งด้านซ้ายหายไป ซึ่งตามภาพเก่า รูปมุมบนด้านซ้ายจึงทำเป็นภาพของลิงแม่ลูกเช่นกัน
และเมื่อสร้างภาพอนิเมชั่น (Animations) ขึ้นใหม่ จากลวดลายเทียบเคียงและเส้นโครงร่างรอยแตกกะเทาะของหินสลักจนสมบูรณ์ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ประธานแห่งปราสาทพนมรุ้งนี้ จึงเป็นงานศิลปะในปกรณัมแห่งการสร้างชีวิตใหม่ ที่นับว่างดงามที่สุดในบรรดางานศิลปะที่แสดงปกรณัมเรื่องเดียวกันของศิลปะฮินดู ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น