วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

พุทธประวัติ๒


ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

โปรดพระนางพิมพาเทวี
              พระเจ้าสุทโธนะกราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระนางพิมพาเทวี เป็นชนปทกัลยาณี มีความจงรักภักดีต่อพระองค์ สุดจะหาสตรีที่ใดเสมอได้ นับแต่พระองค์เสด็จจากพระนครไป สิ่งอันใดที่ก่อให้เกิดราคี เสื่อมศรีเสียเกียรติยศแล้ว พระนางจะห่างไกลไม่กระทำ เฝ้าแต่รำพันถึงคุณสมบัติของพระองค์ แล้วก็โศกเศร้าอาดูร มิได้ใส่ใจถ่อยคำของผู้ใดจะช่วยแนะนำให้บรรเทาความเศร้าโศก ไม่สนใจในการตกแต่งกายทุกอย่าง เลิกเครื่องสำอางค์ทุกชนิด เมื่อได้ทราบว่าพระองค์ทรงผ้ากาสาวพัสตร์ พระนางก็จัดหาผ้ากาสาวพัสตร์มาใช้ตามพระองค์ตลอดจนทุกวันนี้ ได้ทราบข่าวว่าพระองค์อดพระกระยาหาร ทรมานกาย พระนางก็พอใจอดพระกระยาหารตามเสด็จตลอดเวลา จะหาสตรีที่มีความจงรักภักดีเช่นนี้ เห็นสุดหา"
              "อนึ่ง นับแต่พระองค์เสด็จมาสู่พระราชนิเวศน์เข้า ๓ วันนี้ พระนางพิมพาก็มิได้มาเฝ้า เศร้าโศกอยู่แต่ในห้องผทม ตั้งใจอยู่ว่าพระองค์คงจะเสด็จเข้าไปหายังห้องที่เคยเสด็จประทับในกาลก่อน หากพระองค์จะไม่เสด็จไปยังห้องของพระนางแล้ว พระนางคงจะเสียพระทัยถึงแก่วายชีวิตเป็นแน่แท้ หม่อมฉันขออาราธนาพระองค์เสด็จไปโปรดพระนางพิมพาเทวี ขอให้ทรงพระกรุณาประทานชีวิตแก่พระนางผู้มีความจงรักภักดีในครั้งนี้ด้วยเถิด"
              พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า "ดูกรพระราชสมภาร อันพระนางพิมพาเทวีมารดาราหุลกุมาร มีความจงรักภักดีต่อตถาคต สมจริงดังพระองค์รับสั่งทุกประการ และก็สมควรที่ตถาคตจะไปอนุเคราะห์พระนางให้สมมโนรถ เพื่อบรรเทาความเศร้าโศก ให้ได้รับความสดชื่น สุขใจ ในอมตธรรมตามควรแก่วาสนา ด้วยพระนางมีคุณแก่ตถาคตมามากยิ่งนัก ในอดีตกาล ได้ช่วยตถาคตบำเพ็ญมหาทานบารมีมากกว่าแสนชาติ " ครั้นแล้วก็รับสั่งให้ภิกษุสงฆ์ทั้งหลายรออยู่ที่ปราสาทราชนิเวศน์ ให้ตามเสด็จแต่พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ อัครสาวก ๒ องค์ เป็นปัจฉาสมณะ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปยังปราสาทของพระนางพิมพาเทวี พลางมีพระวาจารับสั่งแก่อัครสาวกว่า “ พระมารดาราหุลนี้ มีคุณแก่ตถาคตเป็นอันมาก ผิว่านางจะจับบาทตถาคตลูบคลำสัมผัส และโศกเศร้าอาดูรพิลาปร่ำไห้ ด้วยกำลังเสน่หา ท่านทั้งสองอย่าได้ห้ามปราม ปล่อยตามอัธยาศัย ให้พระนางพิไรรำพันปริเวทนาจนกว่าจะสิ้นโศก ผิว่าไปห้ามเข้า นางก็ยิ่งเพิ่มความเศร้าเสียพระทัยถึงชีวิต ไม่ทันได้สดับพระธรรมเทศนา ตถาคตยังเป็นหนี้พิมพามิได้เปลื้องปลด จะได้แทนทดใช้หนี้แก่พิมพาในกาลบัดนี้” ครั้นตรัสบอกอัครสาวกทั้งสองแล้ว ก็เสด็จพระพุทธลีลาเข้าไปในห้องแห่งประสาท ขึ้นสถิตบนรัตนบัลลังก์อาสน์อันงามวิจิตร
              ฝ่ายนางสนมทั้งหลาย ครั้นได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่บนปราสาท จึงรีบไปทูลความแด่พระนางพิมพาว่า "บัดนี้ พระสิทธัตถะราชสวามีของพระนางเจ้า ได้เสด็จมาประทับยังห้องแห่งปราสาทของพระนางแล้ว"
              เมื่อพระนางพิมพาเทวีทรงสดับ ก็ลุกจากที่ประทับ จูงหัตถ์พระราหุล ราชโอรสกลั้นความกำสรดโศก แล้วก็เสด็จคลานออกจากพระทวารสถานที่สิริไสยาสน์ ตรงเข้ากอดบาทพระบรมศาสดา แล้วซบพระเศียรลงถวายนมัสการ พลางทรงพิลาปกราบทูลสารว่า "โทษกระหม่อมฉันนี้มีมาก เพราะเป็นหญิงกาลกิณี พระองค์จึงเสด็จหนีให้อาดูรด้วยเสน่หา แต่เวลายังดรุณภาพ พระองค์มิได้ตรัสบอกให้ทราบ แสร้งทรงสละข้าพระบาทไว้ไม่มีอาลัย ดุจก้อนเขฬะบนปลายพระชิวหา อันถ่มออกจากพระโอฐมิได้โปรดปราน เสด็จบำราศร้างจากนิวาสน์สถานไปบรรชา ถึงมาตรว่า ข้าพระบาทพิมพานี้มีโทษแล้ว ส่วนลูกแก้วราหุลราชกุมาร เพิ่งประสูติจากพระครรภ์ในวันนั้น ยังมิทันได้รู้ผิดชอบประการใด นั้นมีโทษสิ่งไรด้วยเล่า พระผ่านเกล้าจึงแกล้งทอดทิ้งไว้ให้ร้างพระปิตุรงค์"
              "ประการหนึ่ง ข้าพระบาทของพระองค์นี้ โหราจารย์ญาณเมธีได้ทำนายไว้แต่ยังเยาว์วัยว่า ยโสธราพิมพาราชกุมารี มีบุญญาธิการใหญ่ยิ่ง ควรเป็นมิ่งมเหษีอดุลกษัตริย์จักรพรรดิราช คำทำนายนั้นก็เคลื่อนคลาดเพี้ยนผิด พิมพากลับวิปริตเป็นหญิงหม้ายชายร้างสิ้นราคา" เมื่อพระนางพิมพาเทวีปริเวทนามาฉะนี้ แล้วก็กลิ้งเกลือกพระอุตมางคโมลีเหนือหลังพระบาทพระศาสดา ดูเป็นที่เวทนา
              ส่วนสมเด็จพระพุทธบิดา ก็ได้กราบทูลพรรณนาถึงความดีของพระนางพิมพาเทวีศรีสะไภ้ว่า "จะหาสตรีคนใดเสมอได้ยากยิ่ง มีความจงรักภักดีต่อพระองค์จริงประจักษ์ตา ทราบว่าพระองค์ผทมเหนือพื้นพสุธา พระนางก็ประพฤติตามเสด็จ โดยผทมยังภาคพื้นเมธนีดล ครั้นทราบว่า พระองค์เว้นเครื่องสุคนธ์ลูบไล้ ตลอดดอกไม้บุบผชาติ พระนางก็เว้นขาดจากเครื่องประดับทุกประการ ทั้งเครื่องลูบไล้สุมามาลย์ก็เลิกหมด เฝ้าแต่รันทดถึงพระองค์อยู่ไม่ขาด แม้บรรดาพระประยูรญาติของพระนาง ในเทวหะนคร ส่งข่าวสารมาทูลวอนว่า จะรับกลับไปบำรุงเลี้ยงรักษาปฎิบัติ พระนางก็บอกปัด มิได้เล็งแลดูหมู่กษัตริย์ศากยะวงศ์พระองค์ใด ตั้งพระทัยภักดีมีสัตย์ซื่อเสน่หาเฉพาะพระองค์ดำรงมา ดังพรรณนามาฉะนี้ "
              เมื่อพระชินสีห์ได้ทรงเสวนาการ จึงมีพระพุทธบรรหารดำรัสว่า "ดูกรบรมบพิตร พระนางพิมพาเทวี จะได้มีจิตจงรักภักดี ซื่อสัตย์ต่อสามีแต่ในชาตินี้เท่านั้น ก็หาไม่ พระมารดาราหุลนี้นั้น น้ำใจเป็นหนึ่งแน่ไม่แปรผันในสวามีแม้ในอดีตกาล ครั้งเสวยชาติเป็นเดรัจฉานกินนรี ก็มีจิตจงรักภักดีเลิศคุณดิลก" แล้วพระองค์ก็ทรงแสดงจันทกินนรชาดกโดยพิสดาร บันเทาความโศกเศร้าปริเวทนาการของพระนางพิมพาให้เสื่อมหายคลายกำสรด เสมือนหนึ่งหลั่งน้ำอมตรสลงตรงดวงจิตของพระนาง ซึ่งเร่าร้อนด้วยเพลิงพิษคือกิเลสให้พลันดับ กลับให้ความสดชื่นเกษมสานต์
              ส่วนพระนางพิมพาราชกัญญา ครั้นสร่างโศกสิ้นทุกข์ มีใจผ่องแผ่ว เบิกบานตั้งพระทัยสดับพระธรรมที่พระศาสดาทรงพระกรุณาประทานสืบไป ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วถวายอภิวาทแทบพระยุคลบาทพระศาสดา ด้วยความทราบซึ้งในพระมหากรุณา ที่ทรงอุตสาห์เสด็จมาประทานชีวิตให้สดชื่นรื่นรมย์ ทั้งประทานอมตธรรมให้ชื่นชม สมกับที่พระนางได้จงรักภักดีตั้งแต่ต้นมา แล้วสมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จพระพุทธลีลา พร้อมด้วยพระสงฆ์ ๒ หมื่น เสด็จคืนสู่พระนิโครธมหาวิหาร

 นันทกุมารออกบวช
              วันที่ ๔ พระบรมศาสดาเสด็จไปรับบิณฑบาตในนิเวศน์ของพระนันทราชกุมารผู้เป็นพุทธอนุชา ซึงประสูติแต่พระนางมหาปชาบดี โคตมี ในงานวิวาหมงคลของนันทกุมารเอง ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้ว ก็ประทานบาตรให้นันทกุมารถือไว้ มีพระดำรัสตรัสมงคลคาถาแก่สมาคม เสร็จแล้วก็เสด็จลุกจากอาสน์ ลงจากนิเวศน์ แต่มิได้ทรงรับบาตรจากนันทกุมาร แม้นันทกุมารก็ไม่กล้าทูลเตือนใหทรงรับบาตรคืนไป คงทรงดำเนินตามเสด็จลงมา ด้วยดำริอยู่ว่า เมื่อเสด็จถึงพื้นล่างแล้ว คงทรงรับไป ครั้นพระศาสดาไม่ทรงรับคืนไป ก็ดำริอีกว่า ถึงหน้าพระลานคงจะทรงรับ หรือไม่ก็ถึงพระทวารวัง ก็คงจะทรงรับไป ครั้นสองแห่งไม่ทรงรับ นันทกุมารก็ต้องจำใจถือตามเสด็จต่อไปอีก ไม่อาจทูลเตือนได้ แล้วก็ดำริต่อไปใหม่ตามทางเสด็จว่า เมื่อถึงตรงนั้น ๆ แล้ว คงจะทรงรับบาตรคืนไป
              ฝ่ายนางชนปทกัลยาณี ผู้เป็นเทวีคู่อภิเษก ได้ทราบจากนางสนมว่า พระชินสีห์พานันทกุมารไปเสียแล้ว ก็ตกพระทัย ทรงกรรแสง รีบแล่นตามมาโดยเร็ว แล้วร้องทูลว่า "ข้าแต่นันทะพระลูกเจ้า ขอพระองค์รีบทรงเสด็จกลับมาโดยด่วน" นันทกุมารได้สดับเสียงก็สดุ้งด้วยความอาลัย ใคร่จะกลับ แต่กลับไม่ได้ ด้วยเกรงพระทัยพระบรมศาสดา ต้องฝืนใจอุ้มบาตรตามพระบรมศาสดาไปจนถึงนิโครธมหาวิหาร
              ครั้นพระบรมศาสดาเสด็จถึงพระคันธกุฎีแล้วก็ทรงรับสั่งว่า "นันทกุมาร จงบรรพชาเสียเถิด" นันทกุมารไม่อาจทูลขัดพระพุทธบัญชาได้ ด้วยความเคารพยิ่ง ก็จำใจทูลว่า "จะบวช" แล้วก็ทรงโปรดประทานอุปสมบทให้นันทกุมารในวันนั้น.


ราหุลบรรพชา
              ครั้นวันที่ ๗ พระนางพิมพาเทวีประดับองค์ราหุลกุมารด้วยอาภรณ์อันวิจิตร ให้ราชบุรุษพาเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา เพื่อทูลขอขุมทอง ซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติอันราหุลกุมาร เป็นทายาทควรจะได้รับเป็นสมบัติสืบสันตติวงค์ พระศาสดาก็ทรงพาราหุลกุมารไปพระวิหาร แล้วโปรดให้พระสารีบุตรจัดการบรรพชาราหุลกุมารเป็นสามเณร
              พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบ ก็โทมนัสเสียพระทัย ด้วยเดิมนั้นทรงประสงค์จะให้นันทกุมาร พระโอรสองค์ที่ ๒ สืบราชสมบัติ พระบรมศาสดาก็ทรงพาไปอุปสมบทเสีย ท้าวเธอก็ทรงหวังว่า จะให้ราหุลกุมารซึ่งเป็นทายาท สืบราชสมบัติต่อไป ซึ่งเป็นความหวังครั้งสุดท้าย แต่แล้วพระบรมศาสดาก็ทรงพาราหุลกุมารไปให้บรรพชาเสียอีก จึงรีบเสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ยังพระวิหาร แล้วทูลขอประทานพระพุทธานุญาตว่า
              "แต่นี้ต่อไปเมื่อหน้า กุลบุตรผู้ใดแม้ประสงค์จะบวช หากมารดาบิดาไม่ยอมพร้อมใจอนุญาตให้บวชแล้ว ขอให้ทรงงดไว้ก่อน อย่าเพิ่งให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรผู้นั้น" พระบรมศาสดาก็ทรงประทานแก่พระพุทธบิดา แล้วถวายพระพรอำลา พาพระนันทและลาหุลสามเณร พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์บริษัท เสด็จนิวัตตนาการกลับกรุงราคฤห์มหานคร.


ถวายพระเชตวันวิหาร
              ครั้งนั้น อนาถบิณฑิกะมหาเศรษฐี ผู้อยู่ในเมืองสาวัตถี มาที่พระนครราชคฤห์ด้วยธุระกิจอย่างหนึ่ง พักอยู่ที่นิเวศน์ของท่านราคฤห์เศรษฐี ผู้เป็นน้องชายแห่งภริยาของท่าน ได้ถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน ได้สดับพระธรรมเทศนา บรรลุโสดาปัตติผล แล้วกราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาให้เสด็จ ประกาศพระพุทธศาสนายังนครสาวัตถี พร้อมกับกราบทูลว่า จะจัดสร้างพระวิหารถวายให้เป็นสังฆาราม ครั้นพระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาแล้ว ท่านอนาถบิณฑิกะมหาเศรษฐีก็รีบล่วงหน้าไป บริจาคทรัพย์ซื้อที่ดิน อันเป็นอุทยานของพระราชกุมาร พระนามว่า "เชต" โดยวิธีให้คนขนเอาเงินมาลาดลงให้เต็มบนพื้นที่นั้นตามสัญญา สิ้นเงิน ๒๗ โกฏิ ทั้งพระราชกุมารเจ้าของที่ให้สัญญาขอให้จาลึกพระนามของพระองค์ว่า “ เชตวัน ” ติดไว้ที่ซุ้มประตูพระอาราม ซึ่งเป็นส่วนของพระองค์สร้างอีกด้วย
              ท่านมหาเศรษฐีได้บริจาคทรัพย์สร้างพระคันธกุฎีและเสนาสนะอันควร แก่ สมณะวิสัย พร้อมหมดทุกอย่างด้วยอำนาจเงินอีก ๒๗ โกฎิ เมื่อพระเชตวันวิหารสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ทูลอัญเชิญพระบรมศาสดาเสด็จมาจำพรรษา สมเด็จพระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก เสด็จมาสถิตยังพระมหาวิหารเชตวัน ในความอุปถัมภ์บำรุงของพุทธบริษัท มีท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐี เป็นประมุข พระศาสดาและพระสงฆ์ ได้รับความสุขตามควรแก่วิสัย ทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัททั้งหลายให้เลื่อมใส มั่นอยู่ในคุณพระรัตนตรัยเป็นอันมาก.
              ครั้งนั้น พระนันทะ พุทธอนุชา เกิดความกระสันต์เป็นทุกข์ใจ ด้วยไม่มีความเลื่อมใสในการบรรชา ครั้นพระบรมศาสดาทรงทราบ จึงรับสั่งให้มาเฝ้าแล้วตรัสถาม พระนันทะทูลความว่า ตนมีจิตกำหนัดคำนึงถึงนางชนปทกัลยาณ
              ลำดับนั้น พระชินสีห์จึงทรงจูงกรของพระอนุชา สำแดงอิทธานุภาพ พาพระนันทะขึ้นไปสู่ดาวดึงส์เทวโลก บันดาลให้เห็นแม่วานรตัวหนึ่งในระหว่างทาง แล้วทรงพาขึ้นไปบันดาลให้เห็นนางเทพอัปสรกัญญา ซึ่งมีกายงามวิจิตรเจริญตา กำลังดำเนินขึ้นไปเฝ้าท้าวสหัสสนัยยังเทพวิมาน จึงตรัสถามว่า "นันทะ นางชนปทกัลยาณีที่เธอมีใจรัญจวนถึงนั้น กับนางอัปสรเหล่านี้ นางไหนจะงามกว่ากัน"
              พระนันทะกราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค จะเอานางชนปทกัลยาณี มาเปรียบกับนางฟ้านั้นผิดกันไกล นางชนปทกัลยาณีหากจะเปรียบเทียบก็ได้เท่ากับแม่วานรในระหว่างทางเท่านั้น "
              "นันทะ ผิว่าเธอยินดีรักใคร่นางฟ้าทั้งหลายนี้ ตถาคตรับรองจะช่วยให้ได้นางฟ้าสำเร็จตามความปรารถนาของเธอ"
              "ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระภาคเป็นอันงาม ถ้าพระองค์จะทรงพระกรุณาช่วยให้ข้าพระองค์ได้นางฟ้านี้สมความปรารถนาแล้วไซร้ ข้าพระองค์ยินดีจะอยู่ในเพศพรหมจรรย์ ไม่รัญจวนจิตคิดออกไป"
              พระบรมศาสดาตรัสว่า "นันทะ ตถาคตรับรอง" แล้วก็ทรงพาพระนันทะอันตรธารจากเทวโลก มาปรากฎ ณ พระเชตวัน
              ครั้งนั้น บรรดาภิกษุที่เป็นเพื่อนพระนันทะทราบเหตุ ต่างก็พากันพูดเคาะพระนันทะว่า "ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อนางฟ้า โดยมีพระบรมศาสดาเป็นผู้รับรองจะสงเคราะห์ให ้" พระนันทะคิดละอายใจ จึงหลีกออกไปอยู่ในที่สงัด บำเพ็ญสมณธรรมแต่ผู้เดียว ไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล.

ศากยะราช ๖ พระองค์ออกบวช
              วันหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จจาริกมายังมหาชนบท ประทับอยู่ที่อนุปิยะอัมพวันใกล้บ้านอนุปิยะมลานิคม แขวงเมืองพาราณสี ครั้งนั้น เจ้าศากยะพระนามว่า มหานามะ ผู้เป็นพระโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ ผู้เป็นพระเจ้าอาของพระบรมศาสดา เข้าไปหาพระอนุรุทธะ ผู้เป็นอนุชา ทรงปรารถว่า "ในตระกูลเรา ยังไม่มีใครออกบวชตามเสด็จพระบรมศาสดาเลย ฉะนั้น ในเราสองคน คือ อนุรุทธะกับพี่ จะต้องออกบวชคนหนึ่ง พี่จะให้อนุรุทธะเลือกเอา อนุรุทธะจะบวชหรือจะให้พี่บวช"
              เนื่องจากพระอนุรุทธะ เป็นพระโอรสพระองค์เล็ก ของพระเจ้าอมิโตทนะ พระมารดารักมาก ทั้งเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ มีบุญมาก ได้รับความรักใคร่เมตตาปราณีจากพระญาติทั้งหลายเป็นอันมาก ดังนั้น อนุรุทธะกุมารจึงทูลว่า "หม่อมฉันบวชไม่ได้ดอก ขอให้เจ้าพี่บวชเถอะ"
              พระมหานามะจึงรับสั่งว่า "ถ้าอนุรุทธจะอยู่ ก็ต้องศึกษาเรื่องการครองเรือน เรื่องบำรุงวงศ์ตระกูลให้จงดี" และพระมหานามะ ก็ถวายคำแนะนำการครองชีพด้วยกสิกรรม ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ อนุรุทธะกุมารก็ฟังแล้วทรงระอาในการงานไม่รู้จักจบ ต้องทำติดต่อกันไปไม่รู้สิ้น จึงรับสั่งว่า "ถ้าเช่นนั้น ให้เจ้าพี่อยู่เถอะ หม่อมฉันจะบวชเอง รำคาญที่จะต้องไปวุ่นอยู่กับงานไม่รู้จักจบ ต้องทำติดต่อไม่รู้สิ้น" รับสั่งแล้วก็ลาพระมารดาขออนุญาตบรรพชาตามพระบรมศาสดา พระมารดาตรัสห้ามถึง ๓ ครั้ง ภายหลังทรงอนุญาตเป็นนัยว่า "ถ้าพระภัททิยะราชกุมาร ผู้เป็นโอรสของพระนางกาฬีโคธาศากยะวงศ์ ผู้เป็นเพื่อนเล่นที่สนิทสนมของพ่อจะออกบรรพชา พ่อจะบรรพชาด้วยก็ตามเถิด" พระอนุรุทธะก็ไปชวนพระภัททิยะ ให้ออกบวชด้วยกัน แต่วิงวอนชวนอยู่ถึง ๗ วัน พระภัททิยะจึงยินยอมปฎิญญาว่าจะบวชด้วย
              ในกาลนั้น กษัตริย์ทั้ง ๖ องค์ คือ พระภัททิยะ ๑ พระอนุรุทธะ ๑ พระอานนท์ ๑ พระภัคคุ ๑ พระกิมพิละ ๑ พระเทวทัต ๑ ได้พร้อมใจกันจะออกบรรพชา ชวน อุบาลี อำมาตย์ ช่างกัลบก(๑) เป็น ๗ ด้วยกัน เดินทางไปสู่มลรัฐชนบทเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาที่อนุปิยะอัมพวัน ถวายอภิวาทแล้ว ขอประทานบรรพชาอุปสมบท
              อนึ่ง ก่อนแต่พระบรมศาสดาจะทรงประทานบรรพชา พระอนุรุทธะได้กราบทูลว่า "ข้าแต่ผู้มีพระภาค ข้าพระองค์เป็นกษัตริย์ สูงด้วยขัตติยะมานะอันกล้า ขอให้พระองค์ประทานบรรพชาแก่อุบาลี อำมาตย์ ผู้รับใช้สอยติดตาม ของมวลข้าพระองค์ก่อน ให้ข้าพระองค์ทั้งหลายได้บรรพชาต่อภายหลัง จะได้คารวะ ไหว้นบ เคารพนับถืออุบาลี ผู้บวชแล้วก่อน บรรเทาขัตติยะมานะให้บางเบาจากสันดาน"
              พระบรมศาสดาจึงได้ประทานอุปสมบทแก่อุบาลี กัลบกก่อน แล้วจึงประทานอุปสมบทแก่ ๖ กษัตริย์ในภายหลัง พระภัททิยะ นั้น ได้สำเร็จไตรวิชา พระอรหัตตผลในพรรษานั้น พระอนุรุทธะ ได้บรรลุทิพจักษุญาณก่อน ภายหลังได้ฟังพระธรรมเทศนา มหาปุริสวิตักสูตร จึงสำเร็จพระอรหัตตผล พระอานนท์ นั้น ได้บรรลุอริยะผลเพียงพระโสดาบัน พระภัคคุ และ พระกิมพิละ เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้บรรลุพระอรหัตตผล ส่วนพระเทวทัตนั้น ได้บรรลุปุถุชนฤทธิ์ อันเป็นของโลกิยะบุคคล
              สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จจาริกไปประทับ ณ เมืองโกสัมพี ครั้งนั้น ลาภสักการะบังเกิดแก่พระองค์กับทั้งภิกษุสงฆ์สาวกเป็นอันมาก คนทั้งหลายถือสักการะ มีจีวร บิณฑบาต เภสัช อัฎฐบาน เป็นต้น เข้ามาสู่วิหาร ถวายแก่พระสงฆ์สาวกเป็นเนืองนิตย์ ส่วนมากทุก ๆ คนที่มา ย่อมถามถึงแต่พระอัครสาวกทั้งสอง และพระสาวกองค์อื่น ๆ ว่า ท่านอยู่ ณ ที่ใด แล้วพากันไปเคารพนบไหว้สักการะบูชา ไม่มีใครถามถึงพระเทวทัตแม้แต่ผู้เดียว
              พระเทวทัตเกิดความโทมนัสน้อยใจ ตามวิสัยของปุถุชนจำพวกที่มากด้วยความอิจฉา ฤษยา คิดว่า เราเป็นกษัตริย์ศากยะราชสกุลเหมือนกัน ออกบรรพชากับด้วยกษัตริย์ขัตติวงศ์นั้น ๆ แต่ไม่มีใครนับถือ ถามหา น่าน้อยใจ เมื่อคิดดังนี้แล้ว ก็เกิดตัณหาในลาภสักการะ เข้าครอบงำจิต คิดใคร่จะได้ลาภสักการะ สัมมานะ เคารพนับถือ แล้วก็คิดต่อไปว่า เราจะทำบุคคลผู้ใดให้เลื่อมใส กราบไหว้บูชาดีหนอ จึงจะบังเกิดลาภสักการะ ครั้นคิดต่อไปก็มองเห็นอุบายทันทีว่า พระอชาตศัตรูราชกุมาร พระโอรสของพระเจ้าพิมพิสารนั้น ยังทรงพระเยาว์ ยังไม่รอบรู้คุณและโทษแห่งบุคคลใด ๆ ควรจะไปคบหาด้วยพระราชกุมารนั้นเถิด ลาภสักการะก็จะพลันบังเกิดเป็นอันมาก
              ครั้นดำริดังนั้นแล้ว ก็หลีกจากเมืองโกสัมพีไปสู่เมืองราชคฤห์ แล้วนิรมิตกายเป็นกุมารน้อย เอาอสรพิษ ๔ ตัว ทำเป็นอาภรณ์ประดับมือและเท้า ขดทำเป็นเทริดบนศรีรษะ ๑ ตัว ทำเป็นสังวาลย์พันกาย ๑ ตัว สำแดงปาฎิหาริย์ปุถุชนฤทธิ์ของตนเหาะไปยังพระราชนิเวศน์ ลอยลงจากอากาศ ปรากฎกายอยู่เฉพาะหน้าพระอชาตศัตรูราชกุมาร
              ครั้นพระราชกุมารตกพระทัยกลัว ก็ทูลว่า "อาตมา คือพระเทวทัต" แล้วเจรจาเล้าโลมให้พระราชกุมารหายกลัว สำแดงกายเป็นพระทรงไตรจีวรและบาตร ยืนอยู่ตรงพระพักตร์พระราชกุมาร เมื่อพระราชกุมารเห็นปาฎิหาริย์เช่นนั้น ก็ทรงเลื่อมใส เคารพนับถือ ถวายลาภสักการะบูชาเป็นอันมาก
              ภายหลัง พระเทวทัตเกิดบาปจิตคิดใฝ่สูงด้วยอำนาจตัณหา มานะครอบงำจิตคิดผิดไปว่า เราสมควรจะเป็นผู้ครองพระภิกษุสงฆ์ทั้งปวง พอดำริดังนั้น ปุถุชนฤทธิ์ของตนก็เสื่อมสูญพร้อมกับจิตตุบาท ครั้นคิดดังนั้นแล้ว ก็เดินทางมาเฝ้าพระพระบรมศาสดาซึ่งประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร ณ เมืองราชคฤห์ ในเวลาที่พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมแก่มวลพุทธบริษัท ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารมหาราชประทับเป็นประธานอยู่ เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว พระเทวทัตได้กราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บัดนี้พระองค์ทรงชราภาพแล้ว จงเสวยทิฎฐธรรมสุขวิหารสำราญพระกมล มีความขวนขวายน้อยเถิด ข้าพระองค์จะรับภาระธุระช่วยว่ากล่าวครอบครองภิกษุสงฆ์ทั้งปวง ขอพระองค์จงมอบเวรพระภิกษุสงฆ์สาวกทั้งสิ้นให้แก่ข้าพระองค์เถิด ข้าพระองค์จะได้ว่ากล่าวสั่งสอนแทนพระองค์สืบไป"
              ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสดับ จึงตรัสห้ามว่า "ไม่ควร" ไม่ทรงอนุญาตให้เป็นไปตามความปรารถนาของพระเทวทัต ๆ ก็โทมนัส ผูกอาฆาตในพระบรมศาสดา จำเดิมแต่นั้นมา พระบรมศาสดาได้ทรงประกาศความประพฤติอันไม่ดีอันไม่งามของพระเทวทัต ซึ่งเกิดขึ้นด้วยจิตลามกให้พระสงฆ์ทั้งหลายทราบ เพื่อให้ภิกษุที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ จะได้สังวรระวังจิตมิให้วิปริตไปตาม
              ต่อมาพระเทวทัตคิดการใหญ่ ปรารถนาจะทำอันตรายแก่พระผู้มีพระภาค จึงเข้าไปเฝ้าพระอชาตศัตรูราชกุมาร แล้วด้วยอุบายทูลว่า แต่ก่อนมนุษย์ทั้งหลายมีอายุยืน บัดนี้อายุของมนุษย์น้อยถอยลง หากพระองค์สิ้นพระชนม์เสียก่อนพระราชบิดา แต่เวลายังหนุ่มอยู่แล้ว ไฉนพระองค์จะได้รับราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เสวยพระราชสมบัติสมดังพระทัยที่ปรารถนาไว้เล่า ฉะนั้น พระองค์จงปลงพระชนม์ชีพพระราชบิดา จัดการสถาปนาพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ เสวยราชสมบัติเสียตั้งแต่บัดนี้เถิด แม้อาตมาก็จะฆ่าพระสมณะโคดมเสีย จะได้เป็นพระบรมศาสดา ปกครองพระสงฆ์ทั้งปวงเช่นเดียวกัน.

 พระเทวทัตปล่อยช้างนาฬาคีรี
              ครั้งที่สอง พระเทวทัตให้ปล่อยช้างนาฬาคีรี ช้างพระที่นั่งกำลังซับมันดุร้าย เพื่อให้ทำอันตรายพระชนม์ชีพพระบรมศาสดา ในเวลาเสด็จออกบิณฑบาต แต่ช้างนาฬาคีรีก็ไม่ทำร้ายพระองค์
              ครั้งนั้น พระอานนท์เถระเจ้า มากด้วยความกตัญญู สละชีวิตถวายเป็นพุทธบูชา โดยกลัวว่าช้างนาฬาคีรีจะทำร้ายพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้ออกไปยืนกั้นหน้าช้างนาฬาคีรีไว้ เพื่อให้ช้างทำลายชีวิตท่าน ปรารถนาจะป้องกันพระบรมศาสดา ในทันใดนั้น พระบรมศาสดาได้ทรงช้างนาฬาคีรีให้หมดพยศอันร้ายกาจ หมอบยอบกายเข้าไปถวายบังคมพระบรมศาสดา ฟังพระบรมศาสดาตรัสสอนแล้วเดินกลับเข้าสู่โรงช้าง ด้วยอาการอันสงบ ปรากฎแก่มหาชนที่ประชุมกันดูอยู่เป็นอันมาก เป็นมหัศจรรย์ ครั้นพระผู้มีพระภาค พาพระสงฆ์เสด็จกลับยังพระเวฬุวันวิหาร มหาชนก็พากันแซ่ซ้องร้องสาธุการ ติดตามไปยังพระเวฬุวันวิหาร จัดมหาทานถวายครั้นเสร็จภัตตกิจแล้วพระบรมศาสดาได้ตรัสอนุปุพพิกกถาอนุโมทนา เมื่อได้ทรงสดับคำพรรณนาถึงคุณของพระอานนท์เถระเจ้าที่ได้สละชีวิตออกไปยืนกั้นช้างนาฬาคีรี สมเด็จพระชินสีห์ จึงประทานพระธรรมเทศนามหังสชาดก และจุลลหังสชาดก ยกคุณของพระอานนท์เถระเจ้าที่ได้สละชีวิตถวายพระองค์แม้ในอดีตชาติ
              แท้จริง การที่พระเทวทัตเกิดมีจิตบาปหยาบช้าลามก ทำร้ายพระบรมศาสดามาก่อนนั้นก็ดี แนะนำให้พระเจ้าอชาตศัตรู ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารก็ดี มิสู้จะปรากฎแพร่หลายนัก ต่อเมื่อปล่อยช้างนาฬาคีรี ให้ประทุษร้ายพระบรมศาสดาครั้งนั้นแล้ว ความชั่วร้ายแต่หนหลังของพระเทวทัตก็ปรากฎทั่วไป ชาวพระนครราชคฤห์พากันโพนทนากันโกลาหลว่า พระเทวทัตคบคิดด้วยพระเจ้าอชาติศัตรูปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสาร ทำร้ายพระสัมมาพุทธเจ้า ทำกรรมชั่วช้าลามกสิ้นดี
              ครั้นพระเจ้าอชาติศัตรูได้ทรงสดับข่าวติฉินร้ายแรงเช่นนั้น ก็ละอายพระทัย จึงเลิกโรงทานที่จัดอาหารบำรุงพระเทวทัตและศิษย์เสียสิ้น ทั้งไม่เสด็จไปหาพระเทวทัตเหมือนแต่ก่อน แม้ชาวเมืองทั้งหลายก็ไม่ศรัทธาเลื่อมใส ไม่พอใจให้การบำรุง แม้พระเทวทัตไปสู่บ้านเรือนใด ๆ ก็ไม่มีใครต้อนรับ เพียงแต่อาหารทัพพีหนึ่งก็ไม่ได้ พระเทวทัตได้เสื่อมเสียจากลาภสักการะทั้งปวง

 พระเทวทัตทำสังฆเภท
              ภายหลัง พระเทวทัตปรารถนาจะเลี้ยงชีพด้วยโกหัญญกรรม การหลอกลวงสืบไป เพื่อจะเเสดงว่าตนเป็นผู้เคร่งครัด ได้เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ทูลขอวัตถุ ๕ ประการ เพื่อให้พระบรมศาสดาบัญญัติให้ภิกษุทั้งหลายปฎิบัติโดยเคร่งครัด คือ...
              ๑. ให้อยู่ในเสนาสนะป่า เป็นวัตร
              ๒. ให้ถือบิณฑบาต เป็นวัตร
              ๓. ให้ทรงผ้าบังสุกุล เป็นวัตร
              ๔. ให้อยู่โคนไม้ เป็นวัตร
              ๕. ให้งดฉันมังสาหาร เป็นวัตร
              ในวัตถุทั้ง ๕ ภิกษุรูปใด จะปฎิบัติข้อใด ให้ถือข้อนั้นโดยเคร่งครัด คือให้สมาทานเป็นวัตร ปฎิบัติโดยส่วนเดียว
              พระบรมศาสดาไม่ทรงอนุญาต ตรัสว่า "ไม่ควร ควรให้ปฎิบัติได้ตามศรัทธา" ด้วยทรงเห็นว่า ยากแก่การปฎิบัติ เป็นการเกินพอดีไม่เป็นทางสายกลางสำหรับบุคคลทั่วไป พระเทวทัตโกรธแค้น ไม่สมประสงค์ กล่าวยกโทษพระบรมศาสดา ประกาศว่า คำสอนของตนประเสริฐกว่า ทำให้ภิกษุที่บวชใหม่ มีปัญญาน้อยหลงเชื่อ ยอมทำตนเข้าเป็นสาวก ครั้นพระเทวทัตได้ภิกษุยอมเข้าเป็นบริษัทของตนแล้ว ก็พยายามทำสังฆเภท แยกจากพระบรมศาสดา
              เมื่อพระบรมศาสดาทรงทราบ ก็โปรดให้หาพระเทวทัตมาเฝ้า รับสั่งถาม พระเทวทัตก็ทูลตามความสัตย์ จึงทรงตรัสพระพุทธโอวาทห้ามปรามว่า "ดูก่อนเทวทัต ท่านอย่าพึงทำเช่นนั้น อันสังฆเภทนี้เป็นครุกรรมใหญ่หลางนัก" พระเทวทัตมิได้เอื้อเฟื้อในพระโอวาท ไปจากที่นั้น พบพระอานนท์ ในพระนครราชคฤห์ ได้บอกความประสงค์ของตนว่า "ท่านอานนท์ จะเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าเลิกจากพระบรมศาสดา ข้าพเจ้าเลิกจากหมู่สงฆ์ทั้งปวง ข้าพเจ้าจะทำอุโบสถสังฆกรรมเป็นการภายในแต่พวกของเราเท่านั้น" พระอานนท์ได้นำความนั้นมากราบทูลพระบรมศาสดา เมื่อทรงทราบแล้วก็บังเกิดธรรมสังเวช ทรงพระดำริว่า "พระเทวทัตจะกระทำอนันตริยกรรม อันจะนำตัวให้ไปทนทุกข์อยู่ในอเวจีมหานรก" แล้วทรงอุทานว่า "กรรมใดไม่ดีด้วย ไม่เป็นประโยชน์ด้วย กรรมนั้นทำได้ง่าย ส่วนกรรมใดดีด้วย มีประโยชน์ด้วย กรรมนั้นทำได้ยากยิ่งนัก"
              ในที่สุด พระเทวทัตก็ประชุมภิกษุ ส่วนมากเป็นชาววัชชี บวชใหม่ ในโรงอุโบสถ ประกาศทำสังฆเภท จักระเภท แยกออกจากหมู่สงฆ์ทั้งปวง แล้วพาภิกษุเหล่านั้นไปยังตำบลคยาสีสะประเทศ
              ครั้นพระบรมศาสดาได้ทรงทราบเหตุนั้นแล้ว ทรงดำรัสให้พระสารีบุตรเถระและพระโมคคัลลานะเถระ ไปนำภิกษุพวกนั้นกลับ อัครสาวกทั้งสองรับพระบัญชาแล้วไปที่คยาสีสะประเทศนั้น แนะนำพร่ำสอนภิกษุเหล่านั้น ให้กลับใจ ด้วยอำนาจเทศนาปาฎิหาริย์และอิทธิปาฎิหาริย์ต่างๆ ให้ภิกษุเหล่านั้นได้บรรลุอมตธรรม แล้วพาภิกษุเหล่านั้นกลับมาเฝ้าพระบรมศาสดา
              พระโกกาลิกะ ซึ่งเป็นศิษย์ผู้ใหญ่ของพระเทวทัต มีความโกรธ กล่าวโทษแก่พระเทวทัต ที่ไปคบค้าด้วยพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ ให้พระอัครสาวกทั้งสองพาภิกษุทั้งหลายกลับไปหมดสิ้น แล้วประหารพระเทวทัตที่ทรงอก ด้วยเท้าอย่างแรงด้วยกำลังโทสะ เป็นเหตุให้พระเทวทัตเจ็บปวดอย่างสาหัส ถึงอาเจียนเป็นโลหิต ได้รับทุกข์เวทนากล้า
              เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จจากพระนครราชคฤห์ ไปประทับยังพระเชตวันวิหารพระนครสาวัตถีแล้ว ต่อมาพระเทวทัตก็อาพาธหนักลง ไม่ทุเลาถึง ๙ เดือน กลับหวลคิดถึงพระบรมศาสดา ใคร่จะเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยแน่ใจในชีวิตสังขารของตนคงจะดับสูญในกาลไม่นานนั้นเป็นแน่แท้ จึงได้ขอร้องให้ภิกษุที่เป็นสาวกของตนให้ช่วยพาไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุพวกนั้นกล่าวว่า "ท่านอาจารย์เป็นเวรอยู่กับพระบรมศาสดาหนักนัก ข้าพเจ้าทั้งหลาย หาอาจพาไปเฝ้าได้ไม่" พระเทวทัตจึงกล่าวว่า "ท่านทั้งปวงอย่าให้เราพินาศฉิบหายเสียเลย แม้เราจะได้ทำเวรอาฆาตในพระผู้มีพระภาค แต่พระผู้มีพระภาคจะได้อาฆาตตอบเราแม้แต่น้อยหนึ่งก็มิได้มี เราจะไปขมาโทษ ขอให้พระองค์อดโทษให้สิ้นโทษ ด้วยน้ำพระทัยพระผู้มีพระภาคเปี่ยมด้วยพระกรุณา ทรงพระการุญในพระเทวทัตก็ดี ในองคุลีมาลโจรก็ดี ในช้างนาฬาคีรีก็ดี ในพระราหุลผู้เป็นพระโอรสก็ดี เสมอกัน" เหตุนั้น พระเทวัตจึงขอร้อง วิงวอนแล้ว ๆ เล่า ๆ ให้ภิกษุผู้เป็นศิษย์ ช่วยนำตัวไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า บรรดาภิกษุผู้เป็นศิษย์มีความสงสาร จึงพร้อมกันยกพระเทวทัตขึ้นนอนบนเตียงแล้วช่วยกันหามมา ตั้งแต่เมืองราชคฤห์ จนถึงเมืองสาวัตถี
              ครั้นพระสงฆ์ทั้งหลายรู้ข่าว จึงเข้าไปกราบทูลพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พระเทวทัตได้ทำกรรมหนัก ไม่อาจเห็นตถาคตในอัตตภาพนี้ได้เลย" แม้ภิกษุทั้งหลายจะได้เข้ากราบทูลให้ทรงทราบเป็นระยะ ๆ หลายหน ถึงครั้งสุดท้าย พระเทวทัตได้ถูกหามมาใกล้พระเชตวันวิหารแล้ว พระผู้มีพระภาค ก็ยังทรงรับสั่งเช่นเดิมอยู่อย่างนั้นอีกว่า "ภิกษุทั้งหลาย แม้พระเทวทัต จะเข้ามาในพระเชตวัน พระเทวทัตก็จะไม่ได้เห็นตถาคตเป็นแน่แท้"
              เมื่ออันเตวสิกทั้งหลาย หามพระเทวทัตมาถึงสระโบกขรณี ซึ่งอยู่นอกพระเชตวันวิหาร จึงวางเตียงลงในที่ใกล้สระ แล้วก็ชวนลงอาบน้ำในสระนั้น ส่วนพระเทวทัตก็ลุกขึ้นนั่งอยู่บนเตียง ห้อยเท้าทั้งสองถึงพื้นดิน ประสงค์จะเหยียบยันกายขึ้นบนพื้นปฐพี ในขณะนั้น พื้นปฐพีก็แยกออกเป็นช่อง สูบเอาเท้าทั้งสองของพระเทวทัตลงไปในแผ่นดินโดยลำดับ พระเทวทัตได้จมหายไปในภาคพื้น ตราบเท่าถึงคอ และกระดูกคาง วางอยู่บนพื้นปฐพี
              ในเวลานั้น พระเทวทัตได้กล่าวคาถาสรรเสริญบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "พระผู้มีพระภาค เป็นอัครบุรุษ ยอดแห่งมนุษย์และเทพดาทั้งหลาย พระองค์เป็นสารถีฝึกบุรุษอันประเสริฐ พระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยบุญญลักษณ์ถึงร้อย และบริบูรณ์ด้วยสมันตจักษุญาณ หาที่เปรียบมิได้ ข้าพระองค์ ขณะนี้ มีเพียงกระดูกคางและศรีษะ กับลมหายใจเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ขอถึงพระพุทธเจ้า เป็นสรณะ"









พระเทวทัตถูกแผ่นดินสูบ
              พอสิ้นเสียงแห่งคำนี้เท่านั้น ร่างพระเทวทัตก็จมหายลงไปในแผ่นพื้นปฐพีไปบังเกิด ในอเวจีมหานรก ด้วยบาปไม่เคารพในพระรัตนตรัย ประทุษร้ายในพระบรมศาสดา ทำสังฆเภทอันเป็นอนันตริยกรรม ข่าวพระเทวทัตถูกแผ่นดินสูบ เป็นข่าวใหญ่เกรียวกราว ได้แพร่สะพัดไปในชาวนครสาวัตถี ไม่นานก็รู้กันทั่วกรุง โจษจันกันไปทั่วชุมนุมชน ด้วยเพิ่งจะรู้จะได้ยิน เพิ่งจะปรากฎ ผู้หนักในธรรมก็สังเวชสลดใจ คนใจบุญก็สดุ้งต่อปาบ เห็นบาปเป็นภัยใหญ่หลวง คนที่เกลียดชังพระเทวทัต ก็พากันดีใจ โลดเต้นสาปแช่ง สมน้ำหน้าพระเทวทัตหนักขึ้น
              ภิกษุทั้งหลายทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "บัดนี้ พระเทวทัตไปบังเกิดในที่ไหน?" พระบรมศาสดาตรัสว่า ไปบังเกิดในอเวจีมหานรก ภิกษุทั้งหลาย คนทำบาป ย่อมเดือดร้อนในโลกนี้ เมื่อละจากโลกนี้ไป ก็ย่อมทวีความเดือดร้อนยิ่งขึ้น

 พระพุทธบิดาเสด็จพระนิพพาน
              ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ กุฎาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้พระนครไพศาลี ทรงทราบว่า พระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา ซึ่งประทับอยู่กบิลพัสดุ์นคร ทรงประชวรหนัก อาศัยที่ทรงสมบูรณ์ด้วยพระกตัญญูกตเวทีตาธรรม จึงเสด็จไปเยี่ยมพระพุทธบิดา พร้อมด้วยพระสาวกเป็นอันมาก ทรงบำเพ็ญปิตุปัฏฐานธรรมถวายการพยาบาลตามพุทธวิสัย
              ขณะนั้น พระเจ้าสุทโธทนะ ได้รับการบีบคั้นจากอาพาธกล้า เกิดทุกขเวทนายิ่งนัก มีพระอาการทุรนทุรายหมดสติ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกพระหัตถ์ ตั้งพระทัยอธิษฐานพระจิตบำบัดโรคาพาธ แล้วทรงลูบลงที่พระเศียรพระเจ้าสุทโธทนะ ขณะนั้นอาพาธกล้าก็ทุเลาลงด้วยพระบารมี พระอานนท์เถระเจ้า ยกพระหัตถ์ลูบที่พระหัตถ์เบื้องขวา อาพาธข้างขวาก็ทุเลาลง พระอานนท์เถระเจ้า ยกพระหัตถ์ลูบที่เบื้องซ้าย อาพาธกล้าด้านซ้ายก็เพลาลง พระราหุลเถระเจ้า ยกพระหัตถ์ลูบที่พระปฤษฎางค์ อาพาธกล้าที่พระกายก็ทุเลาลง พระเจ้าสุทโธทนะทรงพระสำราญพระกายคลายความทุกข์เวทนาอันสาหัส ทรงลุกขึ้นประทับนั่งถวายบังคมพระบรมศาสดา ด้วยความรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ที่เสด็จมาทรงอนุเคราะห์
              พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนา โปรดให้พระพุทธบิดาบรรลุพระอรหัตตผล แต่ด้วยพระเจ้าสุทโธทนะทรงพิจารณาเห็นชนมายุของพระองค์ถึงอวสานสุดสิ้นเพียงนั้นแล้ว ก็ทูลลาพระบรมศาสดาเสด็จนิพพาน และลาพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งสิ้นด้วยกัน แล้วพระองค์ก็เสด็จนิพพานด้วยอุปปาทิเสสนิพพาน
              พระบรมศาสดาทรงเคารพในขัตติยประเพณีนิยม ทรงเป็นประธานอำนวยการพระศพในฐานะที่พระองค์เป็นพระโอรส และเป็นพระญาติผู้ใหญ่ จึงโปรดให้พระมหากัสสปเถระเจ้า ให้ไปตรวจดูที่ประดิษฐานจิตรกาธาร เพื่อถวายพระเพลิงพระศพพระพุทธบิดา และโปรดให้พระสารีบุตรเถระเจ้า เป็นภาระจัดถวายน้ำสรงพระศพพระพุทธบิดา ตามขัตติยประเพณี เมื่อเจ้าพนักงานอัญเชิญพระศพไปประดิษฐาน ณ พระจิตรกาธารที่จัดถวายสมพระเกียรติของพระมหากษัตริย์แล้ว บรรดาพระประยูรญาติทั้ง 6 พระนคร คือ เมืองกบิลพัสดุ์ ๑ เมืองเทวหทะ ๑ เมืองโกลิยะ ๑ เมืองสักกะ ๑ เมืองสุปวาสะ ๑ เมืองเวระนคร ๑ ก็ประชุมกันบำเพ็ญกุศลมหายัญญ์ อุทิศถวายด้วยความเคารพ และความอาลัยอย่างยิ่ง
              ครั้นได้เวลา พระบรมศาสดาก็ทรงเป็นประธานจุดเพลิงถวายพระศพพระพุทธบิดา บรรดาพระประยูรญาติทั้งหลายพากันโศกเศร้าพิลาปไห้ ปริเทวนาการ พระบรมศาสดาจาร์ย ก็ทรงตรัสธรรมิกถาเล้าโลม ระงับความเศร้าโศกแห่งมหาชนโดยควรแก่อุปนิสสัย.

 พระนางปชาบดีโคตมีออกบวช
              ส่วนพระนางมหาปชาบดี มีพระทัยน้อมไปในบรรพชา จึงเสด็จไปเฝ้าพระบรมศาสดายังนิโครธาราม ทูลขอบรรพชา พระศาสดาไม่ทรงอนุญาต แม้พระนางเจ้าจะทูลวอนขอถึงสามครั้ง ก็ไม่สมพระประสงค์ ทรงโทมนัส ทรงพระกรรแสง เสด็จกลับพระนิเวศน์
              เมื่อพระบรมศาสดาเด็จกลับไปประทับยังกุฎคารศาลา ป่ามหาวัน ณ พระนครไพศาลีแล้ว พระนางมหาปชาบดีโดตมี พร้อมด้วยนางกษัตริย์ศากยราชวงค์เป็นอันมาก ที่ยินดีในการบรรชา ปลงพระเกศา นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ พากันเสด็จออกจากพระนครกบิลพัสดุ์ ไปเมืองไพศาลีด้วยพระบาท ตั้งพระทัยขอประทานบรรชา ทรงดำเนินไปจนกระถึงกุฎาคารศาลา ประทับยืนกรรแสงอยู่ที่ซุ้มประตูกุฎาคารศาลา ที่พระบรมศาสดาประทับนั้น
              ขณะนั้น พระอานนท์ออกมาพบไต่ถาม ทราบความแล้ว ก็รับเป็นภาระนำความกราบทูลขอประทานอุปสมบท ให้พระนางมหาชาบดี ในครั้งแรก พระบรมศาสดาไม่ทรงอนุญาต ตรัสว่า สตรีไม่ควรอุปสมบท ภายหลังพระอานนท์ทูลถามว่า หากสตรีบวชแล้ว จะสามารถปฎิบัติธรรมได้บรรลุอริยมรรค อริผล โดยควรแก่อุปนิสสัยหรือไม่? เมื่อพระศาสดาตรัสว่า “สามารถ” พระอานน์ก็กราบทูลว่า ถ้าเช่นนั้น ขอได้ทรงพระกรุณาประทานโอกาสให้พระเจ้าน้า ได้ทรงอุปสมบทเถิด
              ทรงรับสั่งว่า "อานน์ ผิวะพระนางมหาปชาบดีโคตมี จะทรงรับปฎิบัติครุธรรม ๘ ได้บริบูรณ์ ตถาคตก็อนุญาตให้ได้" "อานนท์ ครุธรรม ๘ ประการนั้น ดังนี้---
              ๑. ภิกษุณีแม้จะบวชได้ 100 พรรษา ก็พึงให้ทำอัญชลี เคารพนบนอบภิกษุ แม้บวชในวันเดียวนั้น
              ๒. ภิกษุณีอย่าอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ
              ๓. ภิกษุณี จะต้องทำอุโบสถกรรม และรับโอวาท แต่สำนักสงฆ์ทุกกึ่งเดือน
              ๔. ภิกษุณีจำพรรษาแล้ว ให้พึงปวารณาในสำนักอุภโตสงฆ์
              ๕. ภิกษุณี หากต้องอยู่ปริวาสกรรม พึงประพฤติปักขมานัต (คืออยู่มานัตถึงกึ่งเดือน) ในสำนักอุภโตสงฆ์
              ๖. ภิกษุณี อุปสมบทในสำนักอุภโตสงฆ์ พึงสมาทานซึ่งวัตตปฎิบัติในธรรม ๖ ประการ คือ เว้นจากปาณาติบาต ถึงวิกาลโภชนะ เป็นต้น มิให้ล่วง และศึกษาให้รู้วัตตปฎิบัติต่าง ๆ สิ้นกาลถึงพรรษาเต็ม
              ๗. ภิกษุณี อย่าพึงด่าบริภาษภิกษุสงฆ์ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง
              ๘. ภิกษุณี นับแต่วันบรรชาเป็นต้นไป พึงสดับรับโอวาทของภิกษุกล่าวสั่งสอนฝ่ายเดียว ห้ามโอวาทสั่งสอนภิกษุ
              พระอานนท์เถระ เรียนจำครุธรรม ๘ ประการนั้น จากพระบรมศาสดาแล้ว ก็ออกมาแจ้งพระพุทธบัญชานั้นแก่พระนางมหาปชาบดี โคตมี พระนางเจ้าทรงน้อมรับที่จะปฏิบัติด้วยความยินดีทุกประการ พระอานนท์ก็เข้ามากราบทูลพระบรมศาสดาให้ทรงทราบพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงโปรดประทานบรรพชาอุปสมบทแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี กับศากยะขัตติยนารีด้วยกันทั้งสิ้น
              ครั้นออกพระวัสสา ปวารณาแล้ว พระบรมศาสดากับทั้งพระสงฆ์สาวกทั้งหลายก็เสด็จจากเมืองไพศาลี ไปพระนครสาวัตถี ประทับอยู่ที่พระเชตวันวิหาร
              ฝ่ายข้างพระนครกบิลพัสดุ์ เมื่อพระนางเจ้ามหาปชาบดี โคตมี ทรงผนวชแล้วบรรดามหาอำมาต์ยและราชปุโรหิตทั้งหลาย ได้ประชุมพร้อมกันยก "เจ้าศากยะมหานาม" โอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าอมิโตทนะ พระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ เสวยราชสมบัติ สืบราชสันติวงศ์
              ต่อมา พระนางพิมพาเทวี มารดาราหุลกุมาร ก็เข้าเฝ้าพระเจ้ามหานาม ทูลลาออกบรรพชา แล้วทรงพาบรรดาขัตติยนารีทั้งหลาย เดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าที่พระเชตวันวิหาร ทูลขอประทานบรรพชาอุปสมบท สมเด็จพระบรมสุคตก็ทรงประทานบรรพชาอุปสมบทแก่พระนางเจ้า และบรรดาขัตติยนารีทั้งสิ้น ด้วยครุธรรม ๘ ประการนั้น.





ครุธรรม ๘ ประการ
              ครุธรรม ๘ ประการนั้น ดังนี้---
              ๑. ภิกษุณีแม้จะบวชได้ 100 พรรษา ก็พึงให้ทำอัญชลี เคารพนบนอบภิกษุ แม้บวชในวันเดียวนั้น
              ๒. ภิกษุณีอย่าอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ
              ๓. ภิกษุณี จะต้องทำอุโบสถกรรม และรับโอวาท แต่สำนักสงฆ์ทุกกึ่งเดือน
              ๔. ภิกษุณีจำพรรษาแล้ว ให้พึงปวารณาในสำนักอุภโตสงฆ์
              ๕. ภิกษุณี หากต้องอยู่ปริวาสกรรม พึงประพฤติปักขมานัต (คืออยู่มานัตถึงกึ่งเดือน) ในสำนักอุภโตสงฆ์
              ๖. ภิกษุณี อุปสมบทในสำนักอุภโตสงฆ์ พึงสมาทานซึ่งวัตตปฎิบัติในธรรม ๖ ประการ คือ เว้นจากปาณาติบาต ถึงวิกาลโภชนะ เป็นต้น มิให้ล่วง และศึกษาให้รู้วัตตปฎิบัติต่าง ๆ สิ้นกาลถึงพรรษาเต็ม
              ๗. ภิกษุณี อย่าพึงด่าบริภาษภิกษุสงฆ์ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง
              ๘. ภิกษุณี นับแต่วันบรรชาเป็นต้นไป พึงสดับรับโอวาทของภิกษุกล่าวสั่งสอนฝ่ายเดียว ห้ามโอวาทสั่งสอนภิกษุ



ยมกปาฏิหาริย์
              ในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จจากพระนครไพศาลี มาประทับยังพระเวฬุวันวิหาร ณ พระนครราชคฤห์ อีกวาระหนึ่ง
              เศรษฐีผู้หนึ่ง ซึ่งอยู่ในพระนครราชคฤห์ ได้ไม้จันทร์แดงท่อนใหญ่มาท่อนหนึ่งมีค่ามาก ดำริว่า บัดนี้ มีมหาชนโจษจันกันทั่วไปว่า ผู้นั้นเป็นพระอรหันต์ ผู้นี้เป็นพระอรหันต์ แม้สมณะก็มีหลายท่าน ที่ประกาศตนว่าเป็นพระอรหันต์ เราไม่อาจรู้ได้ว่าผู้ใดเป็นพระอรหันต์ ที่เราควรจะเคารพนบไหว้ แล้วยอมตนเป็นสาวก บัดนี้ เห็นควรจะทดลองให้ปรากฎชัดแก่ตาของเราเอง จึงให้ช่างไม้กลึงไม้จันทร์แดงท่อนนั้นเป็นบาตร ให้เอาไม้ไผ่มาปักลงที่หน้าเรือน ต่อไม้ไผ่ ให้สูงถึง ๑๕ วา แล้วให้เอาบารตผูกแขวนไว้บนปลายไม้นั้น ให้ประกาศว่า "ท่านผู้ใดเป็นพระอรหันต์ในโลกนี้ ขอเชิญให้ท่านผู้นั้นจงเหาะมาในอากาศ แล้วถือเอาบาตรไม้จันทร์แดงนี้ตามปรารถนา และข้าพเจ้าพร้อมด้วยบุตรภรรยาจะเคารพนบนอบยอมตนเป็นสาวก นับถือบูชาตลอดชีวิต หากภายใน ๗ วันนี้ ไม่มีผู้ใดที่ทรงคุณ เป็นพระอรหันต์ เหาะมาถือบาตรแล้ว เราจะถือว่า ในโลกนี้ ไม่มีพระอรหันต์ดังที่มหาชนกล่าวขวัญถึงเลย"
              ในเวลานั้น ได้มีบุคคลหลายคนที่แสดงตนว่า เป็นพระอรหันต์ ด้วยอุบายต่างๆ และจะขอรับบาตรไป แต่มิได้เหาะไปถือเอาตามประกาศ ท่านเศรษฐีก็ยืนกรานไม่ยอมให้ทุกราย แม้เวลาจะได้ล่วงเลยไปแล้ว ๖ วัน จนเข้าวันที่ ๗ แล้ว ก็ยังไม่ปรากฎว่า มีผู้ใดได้เหาะมาถือเอาบาตรตามประกาศของท่านราชคฤห์เศรษฐีนั้น
              ประจวบกับในเช้าวันนั้น ท่านมหาโมคคัลลานะเถระ กับพระปีณโฑลภาระทวาชะเถระ ได้ร่วมทางเดินมารับบาตรในพระนครคฤห์ หยุดยืนห่มจีวรอยู่ที่พื้นหินก้อนใหญ่ในภายนอกเมือง พระมหาเถระทั้งสองได้ยินเสียงมหาชนสนทนากันว่า วันนี้เป็นวันที่ ๗ วันสุดท้ายของวันประกาศ ของท่านราชคฤห์เศรษฐีแล้ว ยังไม่ปรากฎว่า มีพระอรหันต์องค์ใด เหาะมาถือบาตรไม้จันทร์แดงไปเลย พระอรหันต์คงจะไม่มีอยู่ในโลกนี้แน่แล้ว วันนี้แหละเราจะได้รู้ทั่วกันว่า ในโลกนี้จะมีพระอรหันต์จริงหรือไม่?

 พระปิณโฑลภาระทวาชะทำปาฏิหาริย์
              พระมหาโมคคัลลานะเถระได้ปราศัยกับพระปีณโฑลภาระทวาชะว่า ได้ยินไหมท่าน ? ผู้คนกำลังกล่าวดูหมิ่นพระศาสนา เป็นการเสื่อมเสียถึงเกียรติพระบรมศาสดา ตลอดถึงพระอรหันต์ทั้งหลายด้วย ฉะนั้น นิมนต์ท่านเหาะไปเอาบาตรไม้จันทร์แดงลูกนั้นเสียเถิด จะได้เปลื้องคำนินทาว่าร้ายนั้นเสีย เมื่อพระปีณโฑลภาระทวาชะได้โอกาสจากพระมหาโมคัลลานะผู้เป็นอัครสาวกเช่นนั้นแล้ว ก็เข้าสู่จตุตถฌาน อันเป็นที่ตั้งแห่งอภิญญา ทำอิทธิปาฎิหาริย์เหาะขึ้นไปในอากาศ กับทั้งแผ่นหินใหญ่ ซึ่งยืนเหยียบอยู่นั้นด้วย เลื่อนลอยไปดุจปุยนุ่นปลิวไปตามสายลม พระเถระเจ้าเหาะเวียนรอบพระนครราชคฤห์ ปรากฎแก่มหาชนทั่วไป ชนทั้งหลายพากันเอิกเกริกร้องชมปาฎิหาริย์เสียงลั่นสนั่นไป
              ครั้นพระมหาเถระเจ้าเหาะเวียนได้ ๗ รอบแล้ว ก็สลัดแผ่นหินที่เหยียบอยู่นั้น ให้ปลิวตกไปยังที่เดิม แล้วเหาะมาลอยอยู่เบื้องบนแห่งเรือนท่านเศรษฐีนั้น
              เมื่อท่านเศรษฐีได้เห็นเช่นนั้น ก็เกิดปีติเลื่อมใสสุดที่จะประมาณ ได้หมอบกราบจนอุระจดถึงพื้น แล้วร้องอาราธนาพระเถระเจ้าให้ลงมาโปรด เมื่อพระปีณโฑลภาระทวาชะลงมานั่งบนอาสนะที่ท่านเศรษฐีได้จัดตกแต่งไว้เป็นอันดีแล้ว ท่านเศรษฐีก็ให้นำบาตรไม้จันทน์แดงนั้นลงมาบรรจุอาหารอันประณีตลงในบารตนั้นจนเต็ม แล้วน้อมถวายพระเถระเจ้าด้วยคารวะอันสูง พระเถระเจ้ารับบาตรแล้ว ก็บ่ายหน้ากลับยังวิหาร
              ฝ่ายชนทั้งหลายที่ไปธุระกิจในที่อื่นเสีย กลับมาไม่ทันได้เห็นปาฎิหาริย์นั้น ก็รีบพากันติดตามพระเถระเจ้าไปเป็นอันมาก ร้องขอให้ท่านเมตตาแสดงปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ให้ชมบ้าง พระเถระเจ้าก็แสดงปาฎิหาริย์ให้ชนทั้งหลายนั้นชมตามปรารถนา แล้วไปสู่วิหาร
              พระบรมศาสดาได้ทรงสดับเสียงมหาชนอื้ออึง ติดตามพระปีณโฑภาระทวาชะมาเช่นนั้น จึงตรัสถามพระอานนท์ว่า “ เสียงอะไร ” พระอานนท์ก็กราบทูลให้ทรงทราบ จึงรับสั่งให้หาพระปีณโฑลภาระทวาชะมาถาม ครั้นทรงทราบความแล้ว ก็ทรงตำหนิว่า เป็นการไม่สมควร แล้วโปรดให้ทำลายบาตรไม้จันทน์แดงนั้น ย่อยให้เป็นจุณ แจกพระสงฆ์ทั้งหลายบดให้เป็นโอสถใส่จักษุ ทั้งทรงบัญญัติห้ามสาวกทำปาฎิหาริย์สืบไป
              ฝ่ายเดียรถีย์ทั้งหลายได้ทราบเหตุนั้นแล้ว ก็พากันดีใจ คิดเห็นไปว่า ตนได้โอกาสจะยกตนแล้ว ก็ให้เที่ยวประกาศว่า "เราจะทำปาฎิหาริย์แข่งฤทธิ์กับพระสมณะโคดม"
              ครั้นพระเจ้าอชาตศัตรูราชทรงสดับข่าวเช่นนั้น ก็เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ากราบทูลถามว่า "ได้ทราบว่า พระองค์ทรงบัญญัติห้ามพระสาวกทำปาฎิหาริย์หรือประการใด ?" เมื่อพระบรมศาสดาทรงรับว่า "เป็นจริงอย่างที่ทรงทราบ" ดูกรมหาบพิตร ก็ทูลต่อไปอีกว่า บัดนี้ พวกเดียรถีย์ กำลังเตรียมการทำปาฏิหาริย์ พระองค์จะทำประการใด? ดูกรมหาบพิตร ทรงรับสั่ง ถ้าเดียรถีย์ทำปาฏิหาริย์ ตถาคตก็จะทำบ้าง ข้าแต่พระสุคต ก็พระองค์ทรงบัญญัติห้ามทำปาฏิหาริย์แล้ว มิใช่หรือ? จริงอย่างมหาบพิตรรับสั่ง แต่ตถาคตห้ามเฉพาะพระสาวกเท่านั้น หาได้ห้ามการทำของตถาคตเองไม่ ข้าแต่พระบรมครู พระองค์ทรงบัญญัติห้ามผู้อื่น แต่พระองค์เว้นไว้เช่นนั้นหรือ? ดูกรมหาบพิตร ผิฉะนั้น ตถาคตจะถามพระองค์บ้าง พระราชอุทยานของมหาบพิตรทั้งหลายนั้น ถ้าคนทั้งหลายมาบริโภคผลไม้ต่าง ๆ มีผลมะม่วง เป็นต้น ในพระราชอุทยานนั้น พระองค์จะทำอันใดแก่ชนทั้งหลายเหล่านั้น ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์ก็จะให้ลงทัณฑ์แก่คนเหล่านั้น ดูกรมหาบพิตร ผิวะพระองค์เสวยผลไม้ ในพระราชอุทยานนั้นเล่า ควรจะได้รับอาชญาหรือไม่ ประการใด? ข้าแต่พระบรมครู ข้าพระองค์เป็นเจ้าของ บริโภคได้ ไม่มีโทษ ดูก่อนมหาบพิตร ตถาคตก็เป็นฉันนั้นเหมือนกัน เหตุนั้น ตถาคตจึงจะทำยมกปาฏิหาริย์ เยี่ยงอย่างพุทธประเพณีสืบมา
              พระเจ้าอชาตศัตรูได้ทูลถามว่า "เมื่อใด พระองค์จะทรงทำปาฎิหาริย์"
              "นับแต่นี้ไปอีก ๔ เดือน ถึงวันเพ็ญอาสาฬหมาส เดือน ๘ ตถาคตจึงจะทำปาฎิหาริย ์"
              "พระองค์จะทรงทำ ณ สถานที่ใด พระเจ้าข้า"
              "ดูกรมหาบพิตร ตถาคตจะทำปาฎิหาริย์ ณ ที่ใกล้พระนครสาวัตถี"
              ครั้นเดียรถีย์ทั้งหลายได้ทราบข่าวนั้น ก็เตรียมพร้อมที่จะติดตามไปทำปาฎิหาริย์ ณ ที่ใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมกับประกาศให้มหาชนทราบด้วยว่า พระสมณะโคดมจะหนีเราไปทำปาฎิหาริย์ ณ เมืองสาวัตถี เราทั้งหลายจะพากันติดตาม ไม่ยอมให้หนีไปให้พ้น
              ส่วนพระบรมศาสดาเสด็จกลับจากบิณฑบาตรในพระนครราชคฤห์แล้ว ก็เสด็จพระพุทธดำเดินไปพระนครสาวัตถี โดยลำดับแห่งมรรคา ด้วยความสบายไม่รีบร้อน ประทับพักแรมตามระยะทาง แม้เหล่าเดียรถีย์ทั้งหลายก็พากันติดตามพระบรมศาสดาจนถึงพระนครสาวัตถี ครั้นถึงพระนครสาวัตถีแล้ว ได้จัดสร้างมณฑป ประกาศแก่ชาวเมืองว่า จะทำปาฎิหาริย์ที่มณฑปนั้น
              ครั้งนั้น พระเจ้าปัสเสนทิโกศล ทรงทราบข่าวว่า พระบรมศาสดา เสด็จมาประทับยังพระเชตวันวิหารแล้ว จึงเสด็จออกมาเฝ้าแล้วกราบทูลว่า "บัดนี้ เหล่าเดียรถีย์จัดทำมณฑป เพื่อแสดงปาฎิหาริย์ หม่อมฉันจะทำมณฑปถวาย เพื่อเป็นที่แสดงปาฎิหาริย์” ครั้นพระบรมศาสดาทรงห้าม ก็ทูลถามว่า "พระองค์จะทรงทำปาฎิหาริย์ ณ สถานที่ใด?" พระบรมศาสดาตรัสว่า "ตถาคตจะทำปาฎิหาริย์ ณ ที่ใกล้ร่มไม้คัณฑามพฤกษ์ (ไม้มะม่วง)"
              เมื่อเดียรถีย์ได้ล่วงรู้ข่าวนั้นแล้ว ก็ให้จัดการทำลายบรรดาต้นมะม่วงในบริเวณนั้นทั้งสิ้น แม้แต่เมล็ดมะม่วงที่เพิ่งงอกขึ้น ก็มิให้มี เพื่อมิให้เป็นโอกาสแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทำปาฎิหาริย์ ดังพระวาจาที่ทรงรับสั่งแก่พระเจ้าปัสเสนทิโกศล
              ครั้นถึงวันเพ็ญเดือน ๘ เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเสด็จเข้าไปบิณฑบาตร ยังมิทันจะถึงพระนคร ขณะนั้น นายอุทยานบาล ชื่อว่า คัณฑะผู้รักษาสวนหลวง ได้เห็นผลมะม่วงผลใหญ่ผลหนึ่ง สุกอยู่บนต้น มีกิ่งใบบังอยู่ มดแดงตอมอยู่โดยรอบ กาก็กำลังจ้องจะเข้าจิกกิน นายคัณฑะดีใจจึงไล่กาให้บินหนีไปแล้ว สอยผลมะม่วงสุกนั้นลงมา มุ่งจะเอาไปถวายพระเจ้าปัสเสนทิโกศล เดินมาในระหว่างทาง ก็ประจวบพบพระผู้มีพระภาคเจ้า มีศรัทธาเลื่อมใส จึงได้น้อมผลมะม่วงสุกผลนั้นเข้าไปถวายพระบรมศาสดา ครั้นพระองค์ทรงรับแล้ว ประสงค์จะประทับนั่งเสวยผลมะม่วง ณ ที่ตรงนั้น พระอานนท์เถระเจ้าก็ปูลาดอาสนะถวาย ตามพระพุทธประสงค์พร้อมกับเอาผลมะม่วงนั้น ทำเป็นอัมพปานะถวายให้ทรงเสวย
              ครั้นพระบรมศาสดาทรงเสวยอัมพปานะแล้ว จึงรับสั่งให้นายอุทยานบาลนั้นเอาเมล็ดมะม่วงนั้นปลูกที่พื้นดิน ณ ที่ตรงนั้น แล้วพระบรมศาสดา ก็ทรงอธิษฐานล้างพระหัตถ์ลดเมล็ดมะม่วงนั้น ซึ่งเพิ่งเพาะในขณะนั้น ด้วยพระพุทธธานุภาพ เมล็ดมะม่วงก็เริ่มงอกในทันใดนั้นเอง แล้วเริ่มเกิดเป็นลำต้น แตกใบ แตกกิ่งก้านสาขาโดยลำดับ จนต้นมะม่วงใหญ่สูงได้ ๑๒ วา ๒ ศอก พร้อมกับตกช่อ ออกดอก ออกผล อ่อน แก่ สุก ถึงงอม หล่นตกลงภาคพื้นออกเกลื่อนกล่น มหาชนเดินผ่านมาก็เก็บบริโภค มีรสหวานสนิท ไม่ช้าข่าวมะม่วงพิเศษ ซึ่งเป็นของอัศจรรย์ก็แพร่ไปทั่วพระนคร ประชาชนก็พากันสัญจรหลั่งไหลมาชมเป็นอันมาก สุดที่จะประมาณ
              ลำดับนั้น พระเจ้าปัสเสนทิโกศล จึงโปรดให้จัดรักษาต้นมะม่วง ตลอดที่ในบริเวณนั้น ป้องกันมิให้ใครเข้ามาทำอันตราย คนทั้งหลายมาชมแล้ว บ้างก็เก็บกินตามประสงค์ แล้วชวนกันด่าแช่งเหล่าเดียรถีย์ว่า เป็นคนชั่วช้า มีเจตนาร้าย จ้างให้คนทำลายต้นมะม่วง แม้แต่เมล็ดงอกก็ไม่ให้เหลือ เพื่อจะมิให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทำปาฎิหาริย์ให้สมจริงดังพระวาจา บัดนี้ คัณฑมพพฤกษ์เกิดขึ้นเป็นลำดับสูงใหญ่ยิ่งกว่าที่เคยเห็นมาแต่กาลก่อนแล้ว พวกเจ้าจะว่าประการใด บางคนที่คนองกาย ก็เอาเมล็ดมะม่วงขว้างเดียรถีย์ เย้ยหยันให้ได้อาย
              ในเวลาเที่ยงวันนั้นเอง ท้าวสักกะอมรินทราธิราชได้บรรดาลให้เกิดพายุใหญ่พัดเป็นธุลีรอบบริเวณนั้น พัดมณฑปของเดียรถีย์ทำลายลงสิ้น ทั้งบรรดาลให้ฝนลูกเห็บใหญ่ตกถูกเดียรถีย์ทั้งหลาย ไม่สามารถจะทนทานอยู่ได้ ต้องพากันหนีไปจากที่นั้นสิ้น ปูรณกัสสปหัวหน้าเดียรถีย์ทั้งหลาย ได้รับความอับอาย น้อยใจเป็นที่สุด ได้ใช้เชือกผูกหม้อข้าวยาคูพันเข้ากับคอของตนแล้วกระโดดลงแม่น้ำ ทำลายชีวิตตนเองเสีย.

 ทรงทำยมกปาฏิหาริย์
              ครั้นเพลาบ่าย ประชาชนทั้งหลายได้มาประชุมกัน ณ บริเวณรอบต้นคัณฑามพพฤกษ์เป็นอันมาก จึงพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากพระคันธกุฎี เพื่อทรงทำยมกปาฎิหาริย์ ประทับยืน ณ ที่หน้าพระวิหาร ขณะนั้น พระสาวกและสาวิกาทั้งหลาย ที่มีฤทธิ์ ต่างก็เข้าเฝ้า ขอประทานโอกาสทำปาฎิหาริย์ถวาย พระบรมศาสดาไม่ทรงประทาน ต่อนั้นพระบรมศาสดาก็ทรงเข้าจตุตถฌาณ อันเป็นที่ตั้งแห่งอภิญญา ทรงทำปาฎิหาริย์เหาะขึ้นไปในอากาศ เสด็จดำเนินไปมา ณ พื้นรัตนจงกรม แล้วทรงนิรมิตรพระพุทธนิรมิตร เหมือนพระองค์ขึ้นองค์หนึ่ง แสดงอิริยาบทให้ปรากฎสลับกับพระองค์ คือพระองค์เสด็จประทับยืน พระพุทธนิรมิตรเสด็จนั่ง พระองค์ประทับนั่ง พระพุทธนิมิตประทับยืน ทุก ๆ อิริยาบทสลับกัน บางทีพระพุทธนิมิตตรัสถาม พระองค์ตรัสตอบ พระองค์ตรัสถามบ้าง พระพุทธนิมิตตอบบ้าง ในที่สุดทรงทำปาฎิหาริย์ให้เกิดท่อน้ำ ท่อไฟ พวยพุ่งออกจากพระกายเป็นคู่ ๆ รอบ ๆ พระกาย เป็นสาย ๆ ไม่ระคนกันสว่างงามจับท้องฟ้านภากาศ เป็นมหาอัศจรรย์ยิ่งนัก
              ครั้งนั้น เทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย ประชุมกันชมพระพุทธปาฎิหาริย์มากมายสุดที่จะคณนา พระบรมศาสดาทรงทำปาฎิหาริย์แล้ว ก็ทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัทที่สันนิบาตประชุมกันอยู่ในที่นั้น ในเวลาจบพระธรรมเทศนา พุทธบริษัททั้งเทพดาและมนุษย์ ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล เป็นอันมาก.


โปรดพระพุทธมารดา
              ในลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงพระดำริว่า "พระพุทธเจ้าแต่ปางก่อนนั้น หลังจากทรงทำยมกปาฎิหาริย์แล้ว เสด็จไปจำพรรษา ณ ที่ใด ?" ครั้นทรงทราบด้วยพระอตีตังสนาญาณว่า "พระพุทธเจ้าทั้งหลาย แต่ปางก่อน ทุก ๆ พระองค์ เมื่อได้ทรงทำยมกปาฎิหาริย์แล้ว ย่อมเสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ ดาวดึงส์สุราลัยเทวโลก แสดงธรรมโปรดพระพุทธมารดา สนองพระคุณด้วยกตัญญูกตเวทิตาธรรม อันบริบูรณ์อยู่ในพระหฤทัย" แล้วทรงดำริสืบไปว่า แม้พระองค์ก็จะทรงปฎิบัติเช่นนั้น ก็แหละครั้นทรงดำริแล้ว ในขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จลุกจากรัตนบัลลังก์อันตั้งอยู่เหนือยอดคัณฑามพพฤกษ เสด็จขึ้นไปประทับนั่งบนปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ภายใต้ร่มไม้ปาริชาติ ณ ดาวดึงส์สวรรค์เทวโลก
              ในลำดับนั้น ท้าวสหัสสนัยน์เทวราช ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จขึ้นมาประทับยังเทวโลกสถาน ก็ทรงเกษมสานต์โสมนัส ประณมหัตถ์ถวายอภิวาท แล้วก็ขอประทานโอกาสออกไปประกาศให้เทพดาทั้งหลายทุกชั้นฟ้า มาสันนิบาตประชุมกันเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า รอบพระแท่นปัณฑุกัมพลพุทธอาศน์ เพื่อสดับรับพระธรรมเทศนา
              ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระประสงค์จะให้พระพุทธมารดาเสด็จมาสู่ที่ประชุมเทพดานั้น ครั้นมิได้ทอดพระเนตรเห็น จึงตรัสถามท้าวโกสีย์ว่า พระพุทธมารดาของตถาคตอยู่ ณ ที่ใด ? เมื่อท้าวสักกะทราบถึงพระพุทธอัธยาศัยเช่นนั้น จึงได้ทูลลาขึ้นไปดุสิตเทวภพ เข้าเฝ้าพระมหามายาเทพเจ้า ทูลอัญเชิญให้เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ตามพุทธประสงค์
              ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทอดพระเนตรเห็นพระพุทธมารดา เสด็จมาประทับในเทวสมาคมเช่นนั้นแล้ว ก็ทรงโสมนัส ตรัสอัญเชิญให้เสด็จมาในที่ใกล้ แล้วทรงประกาศซึ่งพระคุณของพระมารดา อันยิ่งใหญ่ไพศาลสุดจะคณนา ให้ปรากฎในเทวสมาคม ในลำดับนั้น ก็ทรงแสดงอภิธรรม ๗ พระคัมภีร์ โปรดพระพุทธมารดาตลอดไตรมาส ให้เทพดาในโลกธาตุที่ประชุมฟังธรรมอยู่ในที่นั้น ได้บรรลุมรรคผลสุดที่จะประมาณ ในอวสานกาลเป็นที่จบคัมภีร์มหาปัฎฐาน ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ ๗ พระมหามายาเทวี พระพุทธมารดา ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล สมพระประสงค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ได้ทรงตั้งพระทัยเสด็จขึ้นมาสนองคุณพระพุทธมารดา.



เสด็จลงจากดาวดึงส์
              กาลเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำยมกปาฎิหาริย์แล้ว เสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ เทวโลกดาวดึงส์สถานโดยฉับพลัน ครั้งนั้น มหาชนที่มาประชุมกันชมปาฎิหาริย์กำลังมีความเบิกบานเลื่อมใส ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จไปโดยฉับพลันเช่นนั้น ย่อมเป็นเหมือนดังดวงพระอาทิตย์หรือดวงจันทร์หลบหายเข้าไปในผืนแผ่นเมฆอันหนาแน่น มัวมืดลงในทันทีทันใดนั้น ชนทั้งหลายก็เศร้าโศกปริเทวนาการ พากันเข้าไปถาม พระมหาโมคคัลลานะเถระว่า “ พระผู้มีพระภาคเสด็จไปอยู่ที่ใด ”
              พระมหาโมคคัลลานะเถระ แม้จะรู้ดีอยู่แล้ว แต่เพื่อประกาศเกียรติคุณของพระอนุรุทธเถระ จึงกล่าวว่า "ขอท่านทั้งหลายไปถามพระอนุรุทธเถระดูเถิด" คนทั้งหลายเหล่านั้นจึงพากันไปหาพระอนุรุทธเถระ แล้วเรียนถามท่าน พระเถระเจ้าจึงบอกว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ในดาวดึงส์เทวโลก เพื่อตรัสพระธรรมเทศนา อภิธรรม ๗ คัมภีร์ โปรดพระพุทธมารดา" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ก็เมื่อใดเล่า พระองค์จึงเสด็จลงมา ? ดูก่อนท่านทั้งปวง พระผู้มีพระภาคเจ้า จะต้องแสดงธรรมแก่ทวยเทพดา ในดาวดึงส์เทวโลก ถึง ๓ เดือน ต่อเมื่อถึงวันมหาปวารณาจึงเสด็จลงมาสู่มนุษย์โลก ชนทั้งหลายจึงกล่าวแก่พระมหาโมคคัลลานะเถระว่า "ถ้าพวกข้าพเจ้ามิได้เห็นองค์พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จะไม่ไปจากที่นี่" แล้วก็ชวนกันตั้งทับและโชมโรมที่อาศัยตามอัธยาศัยของตน ๆ ตั้งจิตอธิษฐานปาฎิหาริย์อุโบสถ ตลอดไตรมาสเสมอกัน แม้จริง ก่อนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จขึ้นไปเทวโลก ก็ทรงทราบถึงเหตุการณ์นี้ดีแล้ว ฉะนั้น จึงได้ตรัสสั่งให้พระมหาโมคคัลลานะเถระ เอาเป็นธุระแสดงธรรม และให้จุลอนาถบิณฑิกะเอาธุระสงเคราะห์ด้วยโภชนาหารแก่มหาชน อันประชุมอยู่ ณ ที่นั้นตลอดเวลา
              ครั้นกาลใกล้จะถึงวันปวารณายังอีก ๗ วัน ชนเหล่านั้นจึงพากันไปหาพระมหาโมคคัลลานะเถระ เรียนถามอีกว่า "พระผู้เป็นเจ้าควรจะกรุณาให้พวกข้าพเจ้าได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคจะเสด็จลง ณ ที่ไหน เมื่อใดแน่ ? หากข้าพเจ้าทั้งหลายมิได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จะไม่ไปจากที่นี่
              พระมหาโมคคัลลานะเถระกล่าวว่า "เรื่องนี้จะต้องทูลถามพระบรมศาสดาก่อนจึงจะทราบได้" แล้วพระมหาโมคคัลลานะเถระจึงสำแดงปาฎิหาริย์ขึ้นบนเทวโลก เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ทูลถามว่า "บัดนี้ บริษัททั้งหลายใคร่จะเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า หากไม่ได้เห็นแล้ว ก็จะไม่ไปจากที่นั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในกาลใดพระเจ้าข้า พระองค์จะเสด็จลงสู่มนุษย์โลก และจะเสด็จลงที่สถานที่ใด ?"
              พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า "โมคคัลลานะ เวลานี้พระสารีบุตรพี่ชายของท่านอยู่ ณ ที่ใดเล่า ?"
              "ท่านจำพรรษาอยู่ที่เมืองสังกัสสะนคร พระเจ้าข้า"
              "โมคคัลละนะ ถ้าเช่นนั้น ตถาคตจะลง ณ ที่ใกล้ประตูเมืองสังกัสสะนคร ในวันมหาปวารณา นับแต่นี้ไปอีก ๗ วัน โมคคัลลานะ ถ้าชนทั้งหลายใคร่จะเห็นตถาคต ก็จงไปสู่ที่นั้นในเวลานั้นเถิด"
              พระมหาโมคคัลลานะเถระรับพระพุทธบัญชาแล้ว ก็ลงมาแจ้งข้อความนั้นแก่ชนทั้งหลาย ผู้ต้องการทราบเรื่องนี้อยู่
              ครั้นถึงวันปุรณมี แห่งอัสสยุชมาส เพ็ญเดือน ๑๑ พระบรมศาสดาทรงปวารณาพระวัสสาแล้ว จึงตรัสบอกแก่ท้าวสักกะเทวราชว่า ตถาคตจะลงไปสู่มนุษย์โลกในวันนี้ ท้าวโกสีย์จึงนิรมิตรบันไดทิพย์ ๓ บันได ลงจากเทวโลก คือบันไดทองอยู่เบื้องขวา บันไดเงินอยู่เบื้องซ้าย บันใดแก้วอยู่ท่ามกลาง เชิงบันไดทั้ง ๓ นั้น ประดิษฐานอยู่ภาคพื้นปฐพีที่ใกล้ประตูเมืองสังกัสสะนคร ศรีษะบันไดเบื้องบนจดยอดภูเขาสิเนรุราช บันไดแก้วนั้นเป็นที่พระผู้มีพระภาคเสด็จลง บันไดทองเป็นที่เทวดาทั้งหลายตามลงมาส่งเสด็จ บันไดเงินเป็นที่พรหมทั้งหลายตามลงมาส่งเสด็จ ขณะนั้นเทพดาและพรหมทั้งหลาย ได้มาประชุมพร้อมกันบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าเต็มทั่วจักวาฬ.





 ทรงเปิดโลก
              พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับยืนที่ฐานศีรษะบันได ในท่ามกลางเทพพรหมบริษัทซึ่งแวดล้อมเป็นบริวาร จึงได้ทรงทำ "โลกวิวรณะปาฎิหาริย ์" เปิดโลกโดยอาการทอดพระเนตรไปทิศต่าง ๆ รวมทั้งเบื้องบนและเบื้องล่างเป็น ๑๐ ทิศด้วยกัน และในทันใดนั้น ทุกทิศทุกทางจะแลโล่งตลอดหมด ไม่มีอันใดกีดบังเทวดาในสวรรค์จะมองเห็นมนุษย์ และเห็นถึงยมโลก เห็นนรก และมนุษย์ก็จะเห็นเทวดาในสวรรค์ เห็นสัตว์นรก แม้สัตว์นรกก็เห็นมนุษย์ตลอดเทวดาบนสวรรค์ ไม่มีสิ่งใดปิดบัง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำปาฎิหาริย์เปิดโลก พร้อมกับเปล่งฉัพพัณณรังษีรัศมี ๖ ประการ เป็นมหาอัศจรรย์
              เทพดาในหมื่นจักวาฬได้มาประชุมกันในจักวาฬนี้ เพื่อชมพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำปาฎิหาริย์ พร้อมกับสักการะบูชา สมโภชพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยทิพพบุบผามาลัย เป็นอเนกประการ
              พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลงมาจากเทวโลก โดยบันไดแก้วมณีมัยในท่ามกลางเทพดาในหมื่นจักวาฬ มีท้าวสักกะ เป็นต้น ลงโดยบันไดทอง สุวรรณมัย ในเบื้องขวา ท้าวสหัมบดีกับหมู่พรหมเป็นอันมาก ลงโดยบันไดเงิน หิรัญญมัย ในเบื้องซ้ายปัญจสิขรคนธรรพเทพบุตร ทรงพิณมีสีดังผลมะตูมสุก ดีดขับร้องด้วยมธุรศัพท์อันไพรเราะ มาเบื้องหน้าพระบรมศาสดา ท้าวสันตุสิตเทวราช กับท้าวสุยามเทวราช ทรงทิพจามรถวายพระบรมศาดาทั้ง ๒ ข้าง ท้าวมหาพรหมปชาบดีทรงทิพย์เสวตรฉัตรกั้นถวายพระบรมศาสดา ท้าวโกสีย์อมรินทราธิราชประคองบาตรเสลมัยของพระบรมศาสดา เสด็จเป็นมัคคุเทศก์นำพระบรมศาสดาลงมา ในท่ามกลางของทวยเทพดาและพรหมทั้งหลายแวดล้อมเป็นบริวาร
              ฝ่ายมหาชนทั้งหลาย ที่ตั้งใจคอยเฝ้าพระบรมศาดาเสด็จลงจากดาวดึงส์ ในบริเวณสถาน ที่ร่มไม้คัณฑามพพฤกษ์ทั้งหมด เมื่อได้ทราบข่าวจากกพระมหาโมคคัลลานะเถระก็พากันดีใจ พร้อมกันออกเดินทางมาจนถึงเมืองสังกัสสะนคร ไปประชุมกันอยู่ในที่ใกล้ประตูเมือง แม้บรรดาชาวเมืองสังกัสสะนครก็พากันประชุมกันอยู่อย่างคับคั่ง ตลอดพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย อันมีพระสารีบุตรเถระเป็นประธาน ก็สันนิบาตประชุมกันต้อนรับพระบรมศาสดาอยู่ ณ ที่นั้นอย่างพร้อมเพรียง
              เมื่อพระบรมศาสดาทรงเสด็จถึงเชิงบันได มหาชนทั้งหลายได้พากันแซ่ซ้องสาธุการเสียงสนั่นหวั่นไหว ด้วยความงามจับอกจับใจอย่างที่ไม่เคยคิดเห็นมาแต่ก่อน แม้แต่พระสารีบุตรพุทธสาวก ก็ยังได้กล่าวคาถาสรรเสริญด้วยความยินดียิ่งว่า "น เม ทิฏฺโฐ อิโต ปุพฺเพ" เป็นอาทิ ความว่า ข้าพระองค์ไม่เคยได้เห็น ไม่เคยได้ยินมาแต่ก่อนเลย พระบรมศาสดาซึ่งงดงามด้วยสิริโสภาค ยิ่งกว่าเทพเจ้าทั้งมวล มีพระสุรเสียงอันไพเราะอย่างนี้ เสด็จลงมาจากสวรรค์
              พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัท ผู้กำลังมีโสมนัสพึงตาพึงใจ พระรูปพระโฉมอยู่ในท่ามกลางเทพดาและพรหมเป็นอันมาก ในเวลาจบพระธรรมเทศนาพุทธบริษัทได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ตั้งแต่เบื้องบนจนเบื้องปลาย คือพระอรหัตผลเป็นอันมาก.


ทรงเปิดโลกลำดับพรรษายุกาล
              จำเดิมแต่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้อนุตรภิเศกสัมโพธิญาณ คำนวณพระชนมพรรษาได้ ๓๕ พระวัสสาแล้ว ก็เริ่มบำเพ็ญปรหิตประโยชน์ โปรดเวนัยสัตว์ แต่ปฐมโพธิสัม ในพรรษาแรก เสด็จจำพรรษา ณ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พรรษาหนึ่ง
              ในพรรษาที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ เสด็จจำพรรษาที่พระเวฬุวันวิหาร ณ พระนคราชคฤห์ รวม ๓ พรรษา
              ในพรรษาที่ ๕ เสด็จจำพรรษาที่กุฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้พระนครไพศาลี
              ในพรรษาที่ ๖ เสด็จจำพรรษาบนมกุฏบรรพต
              ในพรรษาที่ ๗ เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่บนปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ภายใต้ร่มไม่ปาริชาติในดาวดึงส์เทวโลก แสดงอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา
              ในพรรษาที่ ๘ เสด็จจำพรรษาที่เภสกลาวัน ป่าไม้สีเสียด ใกล้กรุงสุงสุมารคีรี ในภัคคราฐ
              ในพรรษาที่ ๙ เสด็จจำพรรษาที่ปาลิไลยวันสถาน อาศัยกุญชรชาติ ชื่อว่า ปาลิไลยหัตถี ทำวัตรปฏิบัติ
              ในพรรษาที่ ๑๐ เสด็จจำพรรษาที่บ้านนาลายพราหมณ์
              ในพรรษาที่ ๑๑ เสด็จจำพรรษาที่ภายใต้ร่มไม้ปุจิมันทพฤกษ์ ไม้สะเดา อันเป็นรุกขพิมานของนาเฬรุยักษ์ ใกล้พระนครเวรัญชา
              ในพรรษาที่ ๑๒ เสด็จจำพรรษาอยู่ในปาลิยบรรพต
              ในพรรษาที่ ๑๓ เสด็จจำพรรษาที่พระเชตวันวิหาร ณ พระนครไพศาลี
              ในพรรษที่ ๑๔ เสด็จจำพรรษาที่นิโครธาราม มหาวิหาร ใกล้พระนครกบิลพัศดุ์ อนุเคราะห์ระงับการวิวาทระหว่างพระประยูรญาติทั้งหลาย ทั้งสองพระนคร
              ในพรรษาที่ ๑๕ เสด็จจำพรรษาที่อัคคาฬวเจดีย์ ใกล้อาฬวีนคร หลังจากทรงทรมารอาฬวกยักษ์ ให้สิ้นพยศแล้ว
              ในพรรษาที่ ๑๖ ที่ ๑๗ และที่ ๑๘ เสด็จกลับไปจำพรราาที่เวฬุวันวิหาร ณ นครราชคฤห์ อีก รวม ๓ พรรษา
              ในพรรษาที่ ๑๙ ถึงพรรษาที่ ๔๕ รวม ๒๕ พรรษานี้ ทรงจำพรรษาที่พระเชตวันวิหารและบุพพาราม สลับกัน คือประทับที่พระเชตวันวิหาร ของท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐีสร้างถวาย ๑๙ พรรษา ประทับที่บุพพาราม ของท่านมหาอุบาสิกา วิสาขา สร้างถวาย ๖ พรรษา
              ครั้นในพรรษาที่ ๔๕ ซึ่งเป็นพรรษาสุดท้าย พระบรมศาสดา ทรงจำพรราา ณ บ้านเวฬุคาม ใกล้พระนครไพศาลี ภายในพรรษาทรงพระประชวรอาพาธหนักครั้งหนึ่ง ทรงเยียวยาบำบัดพระโรคด้วยโอสถ คือ สมาบัติ ครั้นออกพรรษา ทรงทำปวารณากับด้วยพระสงฆ์สาวกทั้งปวง ได้รับสั่งแก่พระสารีบุตรเถระว่า "ไม่ช้าแล้วตถาคตก็จะปรินิพพาน ดูกรสารีบุตร ตถาคตจะไปพระนครสาวัตถี" พระสารีบุตรเถระรับพระบัญชาออกมารับสั่งพระสาวกให้เตรียมการตามเสด็จ พระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก เสด็จไปประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร

อัครสาวกปรินิพพาน
              ฝ่ายพระสารีบุตรเถระถวายวัตรแก่พระบรมศาสดาแล้ว ถวายบังคมลาไปที่พักในทิวาวิหาร ขึ้นบัลลังก์สมาธิ เข้าสู่วิมุตติผลสมาบัติ ครั้นออกจากสมาบัติแล้ว พิจารณาดูอายุสังขารตน ก็ทราบชัดว่า ยังดำรงชนมายุอยู่ได้อีก ๗ วันเท่านั้น จึงได้ดำริต่อไปว่า อาตมาจะไปปรินิพพานในสถานที่ใด พระราหุลเถระก็ไปปรินิพพานที่ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ในดาวดึงส์เทวโลก พระอัญญาโกญทัญญเถระ ก็ไปปรินิพพานที่ฉัตทันตะสระ ในหิมวันตประเทศ
              ต่อนั้น พระเถระเจ้าปรารภถึงมารดาว่า มารดาของอาตมานี้ ได้เป็นมารดาของพระอรหันต์ถึง ๗ องค์ แม้อย่างนั้นแล้ว มารดาก็ยังไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ก็อุปนิสัยในมรรคผลจะพึงมีแก่มารดาบ้างหรือไม่หนอ ? ครั้นพระเถระเจ้าพิจารณาไป ก็ทราบชัดว่า มารดามีนิสัยแห่งพระโสดาบัน ด้วยธรรมเทศนาของอาตมา มหาชนเป็นอันมาก จะได้พลอยมีส่วนได้มรรคผลด้วย ควรอาตมาจะไปปรินิพพานที่เรือนมารดาเถิด ครั้นดำริแล้ว พระเถระเจ้าจึงเรียกพระจุนทะเถระ ผู้เป็นน้องชายมาสั่งว่า "จุนทะ เรามาไปเยี่ยมมารดากันเถิด ท่านจงออกไปบอกภิกษุบริษัททั้ง ๕๐๐ ว่า พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร มีความประสงค์จะไปบ้านนาลันทคาม" พระจุนทะรับพระบัญชาพระเถระเจ้าแล้ว ออกไปแจ้งแก่พระสงฆ์ทั้งปวง
              ครั้นพระสงฆ์ทั้งหลายมาพร้อมกันแล้ว พระสารีบุตรก็พาพระสงฆ์ทั้งปวง ไปเฝ้าพระบรมศาสดายังพระคันธกุฏี กราบทูลว่า " ข้าแต่พระองค์ ผู้ทรงพระภาคเป็นอันงาม บัดนี้ ชีวิตของข้าพระองค์เหลือ ๗ วันเท่านั้น เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์ขอถวายบังคมลาปรินิพพาน "
              พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า " สารีบุตร เธอจะไปปรินิพพาน ณ ที่ใด "
              "ข้าพระองค์จะไปปรินิพพาน ณ ห้องประสูติ ในเคหะสถานของมารดา พระเจ้าข้า"
              "สารีบุตร เธอจงกำหนดกาลนั้นโดยควรเถิด " แล้วทรงรับสั่งต่อไปอีกว่า "สารีบุตร บรรดาภิกษุทั้งหลายชั้นน้อง ๆ จะเห็นพี่เหมือนอย่างเธอ หาได้ยาก ฉะนั้นเธอจงแสดงธรรมแก่ภิกษุน้อง ๆ ของเธอ เพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกสำหรับครั้งนี้ก่อนเถิด"
              เมื่อพระเถระเจ้าได้รับประทานโอกาสเช่นนั้น จึงสำแดงปาฏิหาริย์ เหาะขึ้นไปในอากาศ สูงประมาณชั่วลำตาล กลับลงมาถวายนมัสการพระบรมศาสดาเสียครั้งหนึ่ง ครั้งที่สองเหาะขึ้นไปสูงได้ ๒ ชั่วลำตาล กลับลงมาถวายนมัสการอีกหนึ่งครั้ง ครั้งที่ ๓ เหาะขึ้นไปถึง ๓ ชั่วลำตาล จนถึงครั้งที่ ๗ เหาะขึ้นไป ๗ ชั่วลำตาล ลอยอยู่บนอากาศ แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายในท่ามกลางอากาศ ขณะนั้น ชาวพระนครสาวัตถีได้มาสโมสรสันนิบาตอยู่เป็นอันมาก แล้วพระเถระเจ้าก็ลงมาจากอากาศ ถวายอภิวาทบังคมลา คลานคล้อยถอยออกมาจากพระคันธกุฏี
              ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระมหากรุณา เสด็จลุกจากพระพุทธอาสน์ ออกมาส่งพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรถึงหน้าพระคันธกุฏี ประทับยืนอยู่ที่พื้นแก้วมณี หน้าพระคันธกุฏีนั้น
              พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ทำประทักษิณพระบรมศาสดา ๓ รอบ แล้วประคองอัญชลีกราบทูลว่า "ในที่สุดอสงไขยแสนกัลป์ล่วงมาแล้วนั้น ข้าพระองค์ได้หมอบลงแทบบาทมูลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอโนมทัสสี ตั้งปณิธานปรารถนาพบพระองค์ และแล้วมโนรถของข้าพระองค์ ก็พลันได้สำเร็จสมประสงค์ ตั้งแต่ได้เห็นพระองค์เป็นปฐมทัศนะ บัดนี้ เป็นปัจฉิมทัศนะแห่งการได้เห็นพระองค์ ผู้เป็นนาถะของข้าพระองค์แล้ว" ทูลเพียงเท่านั้นแล้วก็ประนมหัตถ์ถอยหลังบังคมลาออกไป พอควรแล้ว ก็ถวายนมัสการกราบลาลงที่พื้นพสุธา บ่ายหน้าออกไปจากพระเชตวนาราม
              พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า "ภิกษุทั้งหลาย เธอจะตามไปส่งพี่ใหญ่ของเธอ ก็ตามใจเถิด"
              ภิกษุทั้งหลายได้พากันไปส่งพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเป็นอันมาก ครั้นถึงซุ้มประตูพระเชตวนาราม พระเถระเจ้าจึงกล่าวห้ามว่า "ท่านทั้งหลาย จงหยุดแต่เพียงนี้เถิด " พร้อมกับได้ให้โอวาท ด้วยวาจาที่นิ่มนวล ควรดื่มไว้ในใจ ให้ตั้งมั่นอยู่ในความไม่ประมาทเป็นนิรันดร แล้วพาภิกษุผู้เป็นบริวารพ้นจากเชตวนาราม มุ่งหน้าไปบ้านนาลันทคาม
              ในครั้งนั้น ชนทั้งหลายร้องไห้ รำพัน ด้วยความอาลัยในพระเถระเจ้า ติดตามไปเป็นอันมาก พระเถระเจ้าได้ให้โอวาท ให้เห็นความไม่จีรังของสังขารทั้งหลาย พร้อมกับเตือนใจให้มั่นอยู่ในความไม่ประมาทในอริยธรรมแล้ว ให้ชนเหล่านั้นพากันกลับไปสิ้น
              พระเถระเจ้าเดินทางไป ๗ วัน ก็ถึงบ้านนาลันทคาม แคว้นมคธรัฐ ในเวลาเย็น จึงพาภิกษุทั้งหลายพักอยู่ที่ร่มไทรใหญ่ใกล้ประตูบ้าน บังเอิญอุปเรวัตตมานพ หลานชายของพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร เดินเที่ยวออกมานอกบ้าน เห็นพระเถระเจ้าเข้าก็ดีใจเข้าไปนมัสการ
              พระเถระเจ้าถามว่า "อุปเรวัตต ยายของเธออยู่หรือไปไหน ?"
              "อยู่ที่เรือน เจ้าข้า" อุปเรวัตตเรียนพระเถระเจ้าด้วยเคารพ
              "ถ้าเช่นนั้น เธอจงกลับเข้าไปบอกยาย ขอห้องที่ประสูติให้ลุงพัก กับขอให้จัดที่สำหรับพระสงฆ์ ๕๐๐ ที่มานี้พอได้พักอาศัยในวันนี้ด้วย"
              อุปเรวัตตมานพรีบกลับเข้าบ้าน ตรงเข้าไปหานางสารีพราหมณี ผู้เป็นยายด้วยความดีใจ บอกตามคำที่พระเถระเจ้าสั่งมา
              "เวลานี้ลุงของเจ้าอยู่ที่ไหน ?"
              "อยู่ที่ประตูบ้านจ้า ยาย"
              "เจ้ารู้ไหมว่า ลุงเจ้ามาทำไม ?"
              "ไม่ทราบจ้า"
              นางสารีพราหมณีคิดว่า "อุปดิส ลูกเรา ขอพักที่ห้องประสูติ เธอบวชมานานแล้ว ชะรอยจะเบื่อบวช มาคราวนี้อาจมาสึกก็ได้" คิดแล้วก็ดีใจ สั่งให้คนใช้รีบจัดแจงห้องประสูติแลที่พระสงฆ์ ๕๐๐ พอได้พักอาศัยภายในบ้าน แล้วให้อุปเรวัตตมานพออกไปอาราธนาพระเถระเจ้าให้เข้ามาสู่เรือน
              พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร พาพระสงฆ์ขึ้นเรือนมารดา ให้พระสงฆ์ทั้งหลายพักอาศัยอยู่ยังที่จัดแจงไว้ภายนอก ส่วนพระเถระเจ้าเข้าไปพักยังภายในห้องประสูตของท่าน พอเวลาค่ำ โรคาพาธกล้าได้เกิดแก่พระมหาเถระ ถึงอาเจียนเป็นโลหิต พระภิกษุเข้าถวายปฏิบัติ นำภาชนะอาเจียนและภาชนะอาจมออกมาชำระผลัดเปลี่ยนอยู่เนือง ๆ
              นางสารีพราหมณีเป็นทุกข์ใจในการอาพาธของพระมหาเถระเจ้าเป็นอันมาก นั่งคอยดูอยู่ที่ประตูห้อง
              ในค่ำคืนนั้น เทพดาในเทวโลกได้พากันมาเยี่ยมพระเถระเจ้าเป็นอันมาก เริ่มต้นแต่ ท้าวโลกบาลทั้ง ๔ องค์ ท้าวโกสีย์เทวราช ท้าวสุยามเทวราช และท้าวสันตุสิตเทวราช ตลอดท้าวมหาพรม ต่างเข้ามาขอโอกาสปฏิบัติพยาบาลเช่นเดียวกันโดยลำดับ
              พระเถระเจ้าให้คำตอบแก่เทพดาทั้งหลายว่า "ภิกษุคิลานุปัฏฐาก ผู้ปฏิบัติพยาบาลของอาตมามีแล้ว ขอให้ท่านกลับไปเถิด"
              ฝ่ายนางสารีพราหมณี เห็นเทวดามาไม่ขาดสาย แต่ละองค์ล้วนมีรัศมีโอภาสงามยิ่งนัก เพียบพร้อมด้วยทิพยรัตน์สรรพาภรณ์ล้ำค่าทั้งสิ้น ต่างเข้าไปหาพระเถระเจ้า ด้วยอาการคารวะเป็นอันดี มีความสงสัยเทพดานั้นคือใคร มาธุระอันใดหนอ ? จึงเข้าไปถามอาการไข้กะพระจุนทะเถระ บุตรชายคนน้อยว่า "พ่อจุนทะ อาการไข้ของอุปดิสพี่ชายของพ่อ เป็นอย่างไรบ้าง ?"
              "ยังพอทนได้อยู่ดอก แม่" พระจุนทะตอบ แล้วแจ้งอาการไข้ให้มารดาฟัง "ขณะนี้อาการไข้สงบแล้ว ทั้งว่างคนเยี่ยมด้วย แม่เข้าไปหาสนทนากับพี่ใหญ่เถิด"
              นางพราหมณี ได้โอกาสเข้าไปหาพระเถระเจ้าแล้ว ถามว่า "บุคคลที่เข้ามาหาพ่อนั้น คือผู้ใด"
              "ท้าวจตุโลกบาล จ้ะ แม่"
              นางพราหมณีตลึงในเกรียติอันสูงของลูกชาย พลางปราสัยต่อไปว่า " พ่ออุปดิส พ่อยังเป็นใหญ่กว่าท้าวจตุโลกบาลอีกหรือนี่ ? "
              "ท้าวจตุโลกบาลก็เหมือนคนอุปฐาก บำรุงวัด เท่านั้นแหละ แม่ เมื่อครั้งพระบรมศาสดาของลูกปฏิสนธิในครรภ์ของพระพุทธมารดา ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่พระองค์นี้ ยังลงมาถวายอารักขาเป็นนิตย์"
              "บุคคลที่สองเล่าพ่ออุปดิส คือผู้ใด ?"
              "นั่นท้าวโกสีย์ อมรินทราธิราช จ้า แม่"
              "พ่ออุปดิส ลูกยังสูงกว่า จอมเทพดาชั้นดาวดึงส์สวรรค์อีกหรือ ?"
              "ท้าวโกสีย์ ก็เหมือนกับสามเณรถือบริกขารของพระบรมศาสดาเท่านั้นแหละ แม่ เมื่อครั้งพระบรมศาสดาของลูกเสด็จลงจากเทวโลก ที่ประตูเมืองสังกัสสะนคร ท้าวโกสีย์องค์นี้ ยังถือบาตรนำเสด็จพระบรมครูของลูกเลย แม่"
              "ใครกันเล่า พ่ออุปดิส ที่เข้ามาหาลูก หลังจากท้าวโกสีย์เทวราช และใครต่อใครกลับไปแล้ว ท่านผู้นั้นช่างมีรัศมีรุ่งเรืองยิ่งนัก"
              "นั่นท้าวมหาพรหม จ้า แม่"
              "พ่ออุปดิส ลูกยังเหนือกว่าท้าวมหาพรมอีกหรือลูก ?"
              "ท้าวมหาพรมองค์นี้แหละแม่ ในวันที่พระบรมศาสดาของลูกประสูติ ได้ถือเอาข่ายทองเข้ารองรับพระกุมาร ถวายการบำรุงรักษาพระบรมศาสดาอยู่เนืองนิตย์ แม้ในวันที่พระบรมศาสดาเสด็จลงจากเทวโลก ก็ยังกั้นเศวตรฉัตร์ถวาย ปรากฏแก่เทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย ที่ประชุมอยู่แทบประตูเมืองสังกัสสะนครทั่วทุกคน"
              นางสารีพราหมณี ฟังพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรบรรยายแล้ว เห็นคุณอันมหัศจรรย์ในพระมหาเถระว่า อานุภาพบุตรเรายังปรากฏถึงเพียงนี้ และอานุภาพของพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นครูของบุตรเรา คงจะสูงยิ่งกว่านี้เป็นแน่ เกิดปีติเบิกบานใจ
              ต่อมา พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรก็แสดงธรรมพรรณาพุทธคุณโปรดมารดา ให้นางสารีพราหมณีมารดา ตั้งอยู่ในพระโสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคลในพระศาสนา สมมโนรถที่อุตสาหะมาสนองพระคุณมารดา แล้วพระเถระเจ้าก็เชิญให้มารดาออกไปพักด้วยดึกมากแล้ว ครั้นนางสารีพราหมณีออกไปแล้ว พระเถระเจ้าจึงถามพระจุนทะเถระว่า "เวลาเท่าใดแล้ว" เมื่อได้รับคำตอบว่า "ใกล้รุ่งแล้ว" จึงสั่งให้พระสงฆ์ทั้งหลายมาประชุมพร้อมกัน ให้พระจุนทะเถระพยุงกายท่านนั่งขึ้น แล้วกล่าวแก่ภิกษุทั้งหลายว่า "ตลอดเวลา ๔๔ พรรษา ที่ท่านทั้งหลายติดตามมา หากกรรมอันใดที่มิชอบใจท่านทั้งหลายจะพึงมี ท่านทั้งหลายจงอดโทษแก่ข้าพเจ้าเสียเถิด"
              ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ได้เรียนท่านว่า "ข้าแต่พระเถระเจ้า ตลอดเวลาที่บรรดาข้าพเจ้าติดตามพระเถระเจ้า ไม่มีกรรมอันใดของพระเถระเจ้าเลย ที่มิชอบใจข้าพเจ้าทั้งหลาย หากข้าพเจ้าทั้งหลายพึงมีความประมาทสิ่งใดสิ่งหนึ่งในพระเถระเจ้าแล้ว ขอพระเถระเจ้าได้กรุณาอดโทษแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย"
              พอเวลาอรุณปรากฏ พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ก็ดับขันธปรินิพพาน ในเวลาวารปุรณมี แห่งกัตติกมาส เพ็ญเดือน ๑๒
              ครั้นรุ่งเช้า เทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย ได้มาสโมสรสันนิบาตทำสักการะศพพระมหาเถระในที่ปรินิพพาน ทำที่ประดิษฐานศพประชุมเพลิงงามวิจิตร ทำฌาปนกิจถวายเพลิงสระรีศพของพระมหาเถระตามประเพณีนิยม พระจุนทะเถระได้รวบรมอัฏฐิธาตุ ห่อผ้าขาว แล้วถือเอาบาตรและจีวรของพระมหาเถระ กับพระธาตุมาสู่ประตูพระเชตวันวิหาร ชวนพระอานนท์เถระเจ้า นำเข้าไปทูลถวายพระบรมศาสดา
              พระบรมศาสดาทรงรับเอาพระธาตุแล้ว ตรัสสรรเสริญคุณพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรในท่ามกลางพุทธบริษัทเป็นอันมาก แล้วโปรดให้ก่อพระเจดีย์บรรจุพระธาตุ พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรไว้ในพระเชตวนาราม ครั้นสำเร็จแล้ว เสด็จไปพระนครราชคฤห์ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายเป็นบริวาร ประทับที่เวฬุวนาราม
              ในกาลนั้น พระมหาโมคคัลลานะเถระสถิตอยู่ที่กาฬศิลาประเทศ ในมคธชนบท หมู่เดียรถีย์ทั้งหลายเห็นร่วมกันว่า " พระโมคคัลลานะเถระเจ้า มีอานุภาพมาก สามารถไปสวรรค์ได้ ไปนรกได้ ครั้นไปแล้วก็นำเอาข่าวสารจากเทพดาในสวรรค์ จากสัตว์นรกในแดนพวกนั้น ๆ มาบอกแก่มนุษย์ทั้งหลายผู้เป็นญาติ เป็นมิตรสหายในโลกนี้ มนุษย์ทั้งหลายที่เป็นบิดามารดาของเทพดาและสัตว์นรกนั้น ๆ ก็เลื่อมใส อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา หากพระสมณะโคดมก็ดี พระสงฆ์ทั้งหลายก็ดี เว้นพระโมคคัลลานนะเถระเจ้า ก็จะตั้งอยู่ไม่ได้ คือไม่อาจยึดเหนี่ยวใจชนทั้งหลายได้เลย พวกเราทั้งหลายต้องเสื่อมคลายความนับถือของมหาชน เสื่อมจากลาภผล ก็เพราะพระเถระเจ้าองค์นี้ ดังนั้น ตราบใดที่พระเถระเจ้าองค์นี้ยังมีชีวิตอยู่ ตราบนั้นชื่อเสียงลาภผลของพวกเราจะดีขึ้นไม่ได้เลย ควรหาอุบายจ้างคนฆ่าพำระเถระเจ้าเสียเถิด "
              ครั้นแล้วจึงจัดการเรี่ยไรทรัพย์จากอุปฐากของตน ๆ จ้างโจรทั้งหลายที่โลภในทรัพย์ ให้ไปฆ่าพระเถระเจ้า ซึ่งอยู่ ณ กาฬศิลาประเทศ พวกโจรเหล่านั้นรับเอาทรัพย์ค่าจ้างแล้ว ยกพวกไปล้อมจับพระเถระเจ้ายังที่อยู่ พระมหาโมคคัลลานะเถระเจ้าได้ทำปฏิหาริย์หนีไปได้ทุกครั้ง แต่โจรพวกนั้นก็พยายามล้อมจับอยู่ถึงสองเดือน ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ครั้นถึงเดือนที่สาม พระเถระเจ้าพิจารณาเห็นกรรมของท่าน ที่ทำในชาติก่อนติดตามมา เห็นควรจะรับผลแห่งกรรมที่ตามมาสนองนั้น จึงยอมให้โจรล้อมจับตามประสงค์ ครั้นพวกโจรจับพระเถระเจ้าได้แล้ว จึงได้ทุบตีจนอัฏฐิหัก แตก แหลกไม่มีดี โดยเกรงว่าจะไม่ตาย แล้วจะกลับฟื้นคืนชีพได้ ครั้นแน่ใจว่า พระเถระเจ้าไม่อาจฟื้นคืนชีพได้แล้ว จึงเอาสรีระของท่านไปทิ้งไว้ในที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเห็นว่าพอจะลับตาคนได้ แล้วพากันหนีไปจากที่นั้น
              พระโมคคัลลานะเถระดำริว่า อาตมาควรจะไปทูลพระบรมศาสดาเสียก่อนจึงปรินิพพาน ครั้นดำริแล้วก็เรียงลำดับสรีระกาย ผูกเข้าให้มั่นด้วยกำลังฌาน แล้วเหาะไปโดยอากาศวิถี เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่า " ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอถวายบังคมลาปรินิพพาน "
              มีพระพุทธดำรัสว่า "เธอจะปรินิพพานล่ะหรือ ? โมคคัลานะ"
              "พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ขอถวายบังคมลาปรินิพพานในวันนี้แล้ว"
              "โมคคัลลานะ เธอจะปรินิพพาน ณ ที่ใด ?"
              "ที่กาฬศิลาประเทศ พระเจ้าข้า" พระโมคคัลานะกราบทูล
              "ถ้าเช่นนั้น เธอจงแสดงธรรมแก่ตถาคตก่อน" พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับสั่ง "ด้วยการที่จะเห็นสาวกเหมือนอย่างเธอ จะไม่มีต่อไปแล้ว"
              พระมหาโมคคัลานะเถระ รับพระพุทธบัญชาแล้ว ได้ทำปาฏิหาริย์ เหาะขึ้นไปในอากาศ โดยอาการเช่นเดียวกับพระสารีบุตรเถระ ครั้นแสดงธรรมแล้ว ลงมาจากอากาศถวายอภิวาท ทูลลาพระบรมศาสดาไปยังกาฬศิลาประเทศ ปรินิพพานในที่นั้น ในวันสิ้นเดือน ๑๒ หลังจากพระสารีบุตรเถระปรินิพพาน ๑๕ วัน
              ในกาลนั้น เทพดาและมนุษย์ทั้งหลายได้ไปสโมสรประชุมกันถวายสักการะบูชา สรีระศพพระเถระเจ้าด้วยดอกไม้ ธูป เทียน และไม้หอม อันวิจิตร มีประการต่าง ๆ
              พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยพระสาวกทั้งหลาย ได้เสด็จไปเป็นประธานจุดเพลิง ทำฌาปนกิจสรีระศพพระเถระเจ้า ในท่ามกลางเทพดาและมนุษย์ ซึ่งได้พร้อมเพรียงกันมามากยิ่งนัก ขณะนั้น ฝนดอกไม้ทิพย์ได้ตกลงมาในบริเวณถวายเพลิงพระเถระเจ้า ประมาณโยชน์หนึ่งโดยรอบ มหาชนได้มาประชุมสักการะศพพระเถระเจ้าถึง ๗ วัน
              พระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดให้เก็บอัฏฐิธาตุพระเถระเจ้า มาก่อเจดีย์บรรจุไว้ที่ซุ้มประตูพระเชตวนาราม


ทรงปรารภชราธรรม
              วันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับนั่ง ณ พุทธอาสน์ ซึ่งปูลาด ณ ร่มเงาแห่งพระวิหาร พระอานนท์เถระเจ้าเข้าเฝ้าถวายนมัสการแล้ว กราบทูลว่า "ข้าพระองค์ได้เห็นความผาสุกแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว และความอดกลั้น ทนทานของพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ได้เห็นแล้ว เมื่อได้เห็นพระองค์ทรงพระประชวร ข้าพระองค์รู้สึกว่า กายของข้าพระองค์จะหนัก จะงอมระบมไปด้วย แม้ทิศานุทิศทั้งหลาย ก็ดูมืดมนไป แม้ธรรมทั้งหลายก็ไม่สว่างแก่ดวงจิต เพราะมาวิตกคิดถึงความไข้ที่ทรงพระประชวรนั้น แต่ยังอุ่นใจอยู่หน่อยหนึ่งว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ายังไม่ปรารภพระภิกษุสงฆ์ แล้วตรัสพระพุทธวจนะอันใดอันหนึ่งแล้ว ยังจักไม่ทรงปรินิพพานก่อน ข้าพระองค์มีความดีใจอยู่หน่อยหนึ่ง ฉะนี้"
              "ดูก่อนอานนท์ ภิกษุสงฆ์ยังมาหวังอะไรในตถาคตอีกเล่า ธรรมที่ตถาคตแสดงแล้วทั้งปวง ตถาคตแสดงโดยเปิดเผย ไม่มีภายในภายนอก ไม่มีการปกปิดซ่อนความสำคัญในธรรมใด ๆ เลย"
              "อานนท์ ตถาคตเป็นศาสดาของเทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย โดยจิตบริสุทธิ์ พ้นจากตัณหา มานะ ทิฎฐิ นิสัย ด้วยประการทั้งปวง ข้อซึ่งลี้ลับ จะปกปิดซ่อนบังไว้ โดยแสดงเฉพาะแก่สาวกบางรูปบางเหล่า ไม่ทั่วไปก็ดี หรือจะเก็บไว้แสดงต่ออวสานกาลสุดท้ายก็ดี ข้อนั้นมิได้มีแก่ตถาคตเลย"
              "อานนท์ ผู้ใดยังมีฉันทะ อาลัยอยู่ว่า จะรักษาภิกษุสงฆ์ ผู้นั้นแหละจะพึงปรารภภิกษุสงฆ์ แล้วกล่าวคำอันใดอันหนึ่ง แสดงความห่วงใย อันฉันทะปริวิตกเช่นนั้น ไม่มีแก่ตถาคตเลย"
              "อานนท์ บัดนี้ ตถาคตเจริญวัย อายุตถาคตถึง ๘๐ ปีแล้ว กายของตถาคตปรากฎวิปริต โดยอาการเห็นปานนี้ อินทรีย์ทั้งหลาย มีจักษุเป็นต้น ก็วิกลแปรปรวน ไม่ปกติเหมือนแต่ก่อน ทุกประการเหมือนเกวียนเก่าคร่ำคร่า อาศัยไม้ไผ่ผูกกระหนาบ คาบ ค่ำ อุปถัมภ์บำรุงไว้ ฉันใดกายของตถาคต ก็ฉันนั้น เมื่อล่วงลุถึงชรา อาศัยสมาธิภาวนาอุปถัมภ์บำรุงไว้จึงค่อยพอเป็นไป"
              "อานนท์ เธอจงอาศัยตนของตนเอง เป็นที่พึ่งที่พำนักเถิด สิ่งอื่นซึ่งจักเป็นที่พึ่งที่แน่นอนแก่ตนไม่มี"
              พระผู้มีพระภาคเจ้า แสดงธรรมปรารภความชรา ซึ่งเบียดเบียนกายของพระองค์แก่พระอานนท์เถระเจ้าด้วยประการฉะนี้ เทพดาที่มาสดับพระธรรมเทศนาในที่นั้น ได้บรรลุธรรมาภิสมัยเป็นอันมาก
              ครั้นวันรุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี เมื่อเสด็จกลับมาทำภัตตกิจแล้ว เสด็จไปเมืองไพศาลี พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูปประทับที่กุฎคารศาลา ป่ามหาวัน
              ฝ่ายบรรดากษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลาย ได้สดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาต่างมีความยินดีเลื่อมใส ได้นำสักการะออกไปเฝ้าถวายบังคมพระบรมศาสดา สดับพระธรรมเทศนา แล้วทูลอาราธนาให้เสด็จเข้าไปรับอาหารบิณฑบาต
              ครั้นรุ่งเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก เสด็จเข้าไปในพระราชนิเวศน์ ทรงทำภัตตกิจแล้ว ประทานธรรมนุศาสน์แก่กษัตริย์ลิจฉวีทั้งปวง แล้วเสด็จออกจากพระนคร ทรงประทับยืนอยู่หน้าประตูเมืองไพศาลี เยื้องพระกาย ผันพระพักตร์มาทอดพระเนตรเมืองไพศาลีเป็นครั้งสุดท้าย รับสั่งแก่พระอานนท์เถระว่า "อานนท์ การเห็นเมืองไพศาลีของตถาคตครั้งนี้ เป็นปัจฉิมทัศนะ" แล้วเสด็จไปยังกุฎาคารศาลาสถานที่ประทับยืนนั้น เรียกว่า "นาคาวโลกเจดีย์สถาน"





ทรงทำนิมิตโอภาส
              ครั้นเสด็จถึงกุฏาคารศาลาแล้ว รับสั่งแก่พระอานนท์เถระว่า เธอจงถือเอานิสีทนะสันถัดตามไป ตถาคตจะไปพักที่ทิวาวิหาร ณ ปาวาลเจดีย์ พระอานนท์ก็เอานิสีทนะสันถัดตามพระบรมศาสดาไป ปูลาดถวายยังที่พระประสงค์ ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับนั่งแล้ว ก็ถวายอภิวาทนั่งอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง
              พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงรับสั่งว่า "อานนท์ เมืองไพศาลีนี้ เป็นรมณียสถานทั้งปาวาลเจดีย์และโคตมเจดีย์ เป็นที่รื่นรมย์สำราญทุกตำบล ถ้าบุคคลผู้ใดได้เจริญซึ่งอิทธิบาทธรรม ๔ ประการ และมีกมลสันดานปรารถนาจะให้อายุดำรงคงอยู่ประมาณกัปป์หนึ่ง หรือมากกว่านั้นไป บุคคลนั้นก็สามารถจะมีอายุยืน ต่อไปได้ดังปรารถนา"
              เมื่อพระบรมศาสดาตรัสนิมิตโอภาสดังนี้ พระอานนท์สดับแล้ว ก็มิได้ทราบพระพุทธอัธยาศัย จึงมิได้กราบทูลอาราธนาให้พระบรมศาสดาดำรงพระชนม์อยู่จนสิ้นกัปป์หนึ่ง เพื่อประโยชน์สุขแก่เทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะมารเข้าดลใจพระอานนท์ทำให้รู้ไม่ทัน จึงมิได้ทูลอาราธนา แม้พระบรมศาสดาจะทรงทำโอภาสนิมิตดังนี้ถึง ๓ ครั้ง พระอานนท์ได้ฟังแล้วก็นิ่งอยู่
              ลำดับนั้น พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า "อานนท์ เธอจงไปนั่งยังวิเวกสถาน เจริญสมาบัติโดยควรเถิด" 











2 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ
  2. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved. _/|\_

    ตอบลบ