วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

นิทานพื้นบ้าน ตำนานวัดพนัญเชิง พระเจ้าสายน้ำผึ้งและเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

ตำนานวัดพนัญเชิง พระเจ้าสายน้ำผึ้งและเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก


ตำนานวัดพนัญเชิง
ตำนานวัดพนัญเชิง

ตำนานวัดพนัญเชิง พระเจ้าสายน้ำผึ้งและเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก

กาลครั้งหนึ่ง มีกลุ่มเด็กเลี้ยงวัวกลุ่มหนึ่งเล่นกันด้วยความสนุกสนานอยู่กลางทุ่ง โดยมีเด็กชายผู้หนึ่ง ทำตัวเป็นหัวหน้านั่งวางท่าอยู่บนจอมปลวกใหญ่ พวกเขาเล่นกันโดยสมมุติว่าหัวหน้านั้นเป็นกษัตริย์ กำลังออกว่าราชการในท้องพระโรงใหญ่ ส่วนเด็กอื่น ๆ ก็เล่นเป็นเสนา อำมาตย์ และเหล่าทหารหลวง นั่งเรียงรายหมอบกราบอยู่รอบ ๆ
ครั้นเมื่อเด้กชายหัวหน้าสั่งการใด ๆ เด็กคนอื่น ๆ ก็จะปฏิบัติตาม ราวกับว่าเป็นคำสั่งจากกษัตริย์จริง ๆ วันหนึ่งเด็กชายหัวหน้าใหญ่โกรธเพื่อนคนหนึ่งมาก ได้ออกคำสั่งให้ทหารนำตัวไปประหาร ซึ่งทหารปลอมทั้งหลายก็นำเด็กคนนั้นไปประหารจริง ๆ โดยใช้ไม้ไผ่ฟันเข้าที่คอ ปรากฏว่า…..เมื่อฟันแล้ว คอของเด็กคนนั้นขาดจริง ๆ เป็นที่อัศจรรย์ เด็ก ๆ ทุกคนเลยยิ่งเชื่อกันว่าตัวหัวหน้านั้นมีบุญญาธิการและ บารมีจริง ๆ
ขณะนั้น เสนาอำมาตย์จากกรุงศรีอยุธยาได้นำเรือสุพรรณหงส์ซึ่งบรรทุกเครื่องราชกกุธภัณฑ์ผ่านมาที่แม่น้ำใกล้ ๆ บริเวณนั้น ปรากฏว่าเรือสุพรรณหงส์ได้หยุดนิ่ง ไม่ยอมแล่นต่อ ไม่ว่าจะแก้ไขปรการใด ดังนั้นเหล่าเสนาอำมาตย์จึงได้เชิญ โหรหลวงที่เดินทางมาในเรือด้วย ให้ช่วยทำนายเสี่ยงทายดู ว่าเกิดเหตุอันใดขึ้น
นัยว่าในเวลานั้น กรุงศรีอยุธยา ได้ขาดกษัตริย์ปกครอง เรือที่แล่นมานั้นก็ได้อันเชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์เพื่อมาอัญเชิญผู้มีบุญญาธิการขึ้นเป็นกษัตริย์ โหรหลวงจึงได้ให้ทหารออกเดินดูบริเวณริมท่าน้ำโดยรอบเรือสุพรรณหงส์นั้น
ซึ่งก็ปรากฏแต่เหล่าเด็กเลี้ยงวัว ที่มีหัวหน้าแสดงเป็นกษัตริย์อยู่หมู่เดียวเท่านั้น เสนา อำมาตย์ และโหรหลวงจึงได้อัญเชิญ หัวหน้าเด็กเลี้ยงวัวนั้นขึ้นเป็นกษัตริย์ และเหล่าบรรดาเพื่อนที่เล่นเป็นเสนา อำมาตย์นั้น ให้เป็นเสนา อำมาตย์ ตามตำแหน่งที่เล่นทุกคน บริเวณนั้น จึงได้ชื่อว่า “ บ้านเด็กเล่น ” นับแต่นั้นมา
เวลาล่วงมาอีกหลายปี พระเจ้ากรุงจีน มีธิดาซึ่งมีพระศิริโฉมงดงามมากอยู่องค์หนึ่ง ชื่อ พระนางสร้อยดอกหมาก ครั้นล่วงเข้าสู่วัยที่ควรออกเรือน พระเจ้ากรุงจีนจึงให้โหรหลวงมาตรวจสอบดวงชะตาของพระธิดา ได้ความว่า เนื้อคู่ของพระนางนั้น อยู่ทางทิศตะวันตก คือ ทางกรุงศรีอยุธยา พระเจ้ากรุงจีนจึงได้ส่งราชทูตและเครื่องบรรณาการมายังกรุงศรีอยุธยาเพื่อประสานพระราชไมตรี และมีพระราชสาสน์ยกพระธิดา พระนางสร้อยดอกหมาก ให้เป็นพระชายา
ครั้นพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ทรงทราบความก็ทรงดีพระทัย พร้อมกับได้ส่งสาสน์ตอบรับและส่งเครื่องราชบรรณาการตอบแทนเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งกล่าวว่าจะทรงเสด็จไปรับ พระนางสร้อยดอกหมาก ด้วยพระองค์เอง
เมื่อราชทูตจีนกลับไปแล้ว พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ได้ทรงสั่งให้จัดเตรียมขบวนเสด็จพยุหยาตราทางชลมารค แล้วทรงลงเรือพระที่นั่งเสด็จไปรับ พระนางสร้อยดอกหมาก
ครั้นเรือพระที่นั่งแล่นมาถึงแหลมวัดปากคลอง พระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นรังผึ้ง จับอยู่ที่อกไก่หน้าบันพระอุโบสถ พระองค์จึงทรงตั้งจิตอธิฐานต่อพระประธานในอุโบสถว่า ถ้าหากพระองค์มีบุญญาธิการและพระบารมีที่จะทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาชนให้อยู่เย็นเป็นสุ๘ได้ ก็ขอให้น้ำผึ้งนั้นได้ไหลย้อยลงมาสู่เรือพระที่นั่งด้วย ครั้นสิ้นพระสุรเสียงตรัส น้ำผึ้งก็ไหลย้อยลงสู่เรือพระที่นั่งเป็นที่อัศจรรย์แก่เหล่าบรรดาเสนา อำมาตย์ และพระเถราจารย์ทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง จึงพร้อมใจกันสวดพระชัยมงคลคาถา และถวายพระนามว่า ” พระเจ้าสายน้ำผึ้ง
เมื่อพระเจ้าสายน้ำผึ้งทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็ทรงพระดำริว่าจะเสด็จเมืองจีนด้วยเรือพระที่นั่งเพียงลำเดียว และด้วยเดชะพระบารมีของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง พระองค์ก็ทรงเสด็จผ่านทะเลใหญ่ไปจนถึงท่าที่เมืองจีน พวกชาวจีนเห็นเป็นอัศจรรย์จึงรีบนำความไปกราบทูลพระเจ้ากรุงจีน
พระเจ้ากรุงจีนทรงเห็นว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งนั้นช่างมีบุญบารมีมากจริง ๆ จึงทรงจัดขบวนแห่แหน มารับเสด็จ พระเจ้าสายน้ำผึ้ง อย่างยิ่งใหญ่ และทรงจัดงานอภิเษกสมรสให้ พระเจ้าสายน้ำผึ้ง และ พระนางสร้อยดอกหมาก พร้อมทั้งจัดขบวนเรือติดตามและเรือสำเภาใหญ่ บรรทุกเครื่องอุปโภกบริโภคจำนวนมาก เพื่อติดตาม พระเจ้าสายน้ำผึ้ง กลับกรุงศรีอยุธยาด้วย
พระเจ้าสายน้ำผึ้ง นั้นได้เดินทางหลายสิบวันพร้อมด้วย พระนางสร้อยดอกหมาก จนมาถึงกรุงศรีอยุธยา ด้วยพระบารมีจึงทรงเดินทางได้สะดวกเรียบร้อย พระสงฆ์และเหล่าเสนาบดีพร้อมทั้งพสกนิกรต่างพากันยินดี ออกมารับเสด็จจำนาวนมาก ก่อนที่ พระเจ้าสายน้ำผึ้ง จะเสด็จ จากเรือพระที่นั่งเข้าสู่พระราชวังหลวง พระองค์ทรงรับสั่งให้ พระนางสร้อยดอกหมากประทับคอยที่เรือพระที่นั่งกลางน้ำ เพื่อว่าพระองค์จะได้ตกแต่ง จัดเตรียมพระตำหนักให้สวยงามก่อน
เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ตำนานวัดพนัญเชิง
เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ตำนานวัดพนัญเชิง
เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระเจ้าสายน้ำผึ้ง ทรงรับสั่งให้เสนาอำมาตย์ เข้าไปทูลเชิญเสด็จ พระนางสร้อยดอกหมาก เข้าสู่พระราชวัง แต่พระนางสร้อยดอกหมาก นั้นมีความน้อยพระทัย ที่ทรงรอนแรมมาจากเมืองจีนหลายสิบวันด้วยความยากลำบาก และทรงประทับแรม รออยู่ในเรือพระที่นั่งอีกหลายวัน แต่ไฉน พระเจ้าสายน้ำผึ้ง ไม่ทรงเสด็จออกมารับด้วยพระองค์เอง ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ถ้าพระองค์ไม่เสด็จออกมารับ ก็จะไม่ไป
เหล่าเสนา อำมาตย์ที่เข้าไปทูลเชิญ ได้นำความมาทูลต่อ พระเจ้าสายน้ำผึ้ง เมื่อพระเจ้าสายน้ำผึ้ง ทรงทราบดังนั้น ก็ทรงเห็นเป็นขบขัน ทรงตรัสหยอกล้อเล่นว่า  ” มาถึงแล้วไม่ขึ้นมา จะอยู่ที่นั่นก็ตามใจเถิด ”  พระนางสร้ยดอกหมาก ได้ทราบความดังนั้น ก็สำคัญว่าจริง จึงทรงเศร้าโศรกพระทัยมาก  วันต่อมา พระเจ้าสายน้ำผึ้ง ก็เสด็จออกไปรับด้วยพระองค์เอง พระนางก็ตัดพ้อว่า ไม่ไป พระเจ้าสายน้ำผึ้งทรงสัพยอกอีกครั้งว่า ำม่ไปก็อยู่นี่เถิด
ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก
ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก
พอสิ้นพระสุรเสียงของ พระเจ้าสายน้ำผึ้ง พระนางสร้อยดอกหมาก ก็กลั้นใจตาย สิ้นชีพ ต่อหน้าพระองค์ พระเจ้าสายน้ำผึ้งเศร้าโศรกเสียพระทัยมาก แต่สุดที่จะแก้ไขได้ ทั้งชาวจีนและชาวไทยต่างเศร้าโศรกเสียใจ ร้องให้กันเซ็งแซ่ พระเจ้าสายน้ำผึ้ง ได้ทรงพระราชทานเพลิงศพ ให้แก พระานางสร้อยดอกหมาก ที่บริเวณนั้น และทรงสถาปนาพระอาราม ให้นามว่า ” วัดเจ้าพระนางเชิง ” ต่อมาเพี้ยนเป็น ” วัดพนัญเชิง ” และมีศาล ” เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ” ซึ่งเป็นที่เคารพบูชา ของทั้งชาวไทยและชาวจีนจำนวนมากตังอยู่ด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้ วัดพนัญเชิง  เป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
จบ ตำนานวัดพนัญเชิง พระเจ้าสายน้ำผึ้งและเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก
จาก นิทานพื้นบ้าน หมวด นิทานพื้นบ้านภาคกลาง หมวด ตำนานสิ่งศักสิทธิ์
Tags: , ,


เรื่องนางพิกุลทองนี้ เป็นละครนอกหนึ่งใน ๑๔ เรื่อง ที่นิยมนำมาเล่นกันมากเรื่องหนึ่งตั้งแต่ครั้ง สมัยอยุธยาปัจจุบันยังพบว่ามีต้นฉบับหนังสือตัวเขียนที่เหลือรอดจากการถูกพม่าทำลายคราวเสียกรุง เก็บรักษาไว้อยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ เป็นสมุดข่อยสีขาว ตัวหมึกดำ ลายมือกึ่งบรรจงแกมหวัด ตัวอักษรไม่สม่ำเสมอ และมีบันทึกว่า " หมู่ กลอนบทละคร ชื่อ พิกุลทอง เล่ม 1 (สำนวนเก่า) เลขที่ ๒๐ ตู้ที่ ๑๑๔ ชั้น ๒/๑ มัด ๓๙ ประวัติ สมบัติเดิมของหอพระสมุดวชิรญาณ" ซึ่งมีเนื้อความเริ่มตั้งแต่นางพิกุลทองสรงน้ำ จนจบตอนท้ายคือปราบนางยักษ์กาขาว และยังไม่ได้รับตรวจสอบชำระฉบับที่เหลืออื่น ๆ หรือตีพิมพ์จากกรมศิลปากร ส่วนเรื่องนางพิกุลทองต่อจากสำนวนเดิมที่เป็นการผจญภัยยืดยาวถึงรุ่นลูกนั้น มาจากกลอนอ่านสำนวนของนายบุศย์ รจนา จัดพิมพ์โดยโรงพิมพ์วัดเกาะราวปีพ.ศ. ๒๔๓๓ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งนายบุศย์ผู้นี้ได้นำนิทานไทยครั้งกรุงเก่ามาแต่งสำนวนใหม่เป็น "กลอนอ่าน" หรือกลอนสวดอยู่หลายเรื่อง เช่น แก้วหน้าม้า,จันทโครพ,สุวรรณหงส์เป็นต้น
อย่างไรก็ตามเมื่อสังเกตตามเนื้อเรื่อง สำนวนกลอนค่อนข้างจะรวบรัด และไม่สละสลวยเท่าใดนัก เพราะผู้แต่งคงมีจุดประสงค์เพียงไว้สำหรับเล่นละครเท่านั้น แม้การบอกเพลงหน้าพาทย์ก็ไม่ชัดเจนแน่นอน มีตอนที่กล่าวถึงพระสังข์ศิลป์ชัย และนางศรีสุพรรณซึ่งเป็นตัวละครจากบทละครนอกเรื่องสังข์ศิลป์ชัย พร้อมทั้งมีของวิเศษที่เหมือนกันทุกประการ อันได้แก่"สังข์ ศร และพระขรรค์" จึงสัณนิษฐานว่า ผู้แต่งคงมีจุดประสงค์ดำเนินเรื่องให้เป็นภาคต่อจากเรื่องสังข์ศิลป์ชัยเพราะเรื่องสังข์ศิลป์ชัยก็ไม่ได้กล่าวถึงการผจญภัยในรุ่นลูกไว้เลย

[แก้]สาระสำคัญในเรื่อง

ในเรื่องนางพิกุลทอง ได้แสดงให้เห็นเกี่ยวกับประเพณีความเชื่อหลายประการเช่น ที่มาของเรื่องรัก-ยมอันมาจากชื่อของโอรสนางพิกุลทอง ซึ่งในปัจจุบันเราจะรู้จักว่าเป็นเครื่องรางของขลังชนิดหนึ่ง,ที่มาของสุภาษิตคำพังเพย คือกลัวดอกพิกุลจะร่วงจากปาก หมายถึงคนที่ไม่ค่อยพูด หรือใครถามอะไรหรือสนทนาด้วยแล้วไม่อยากจะตอบหรือพุดคุย , เรื่องความเชื่อเกี่ยวกับลูกกรอกและ เหตุที่ชะนีร้องเรียกว่า "ผัว ๆ" ในส่วนอื่นก็สอนให้เห็นผลของการกล่าววาจาที่ไพเราะและความซื่อสัตย์ จะทำให้เป็นที่รักใคร่ของบุคคลทั้งหลาย และนำพาไปสู่ความเจริญ และเรื่องเกี่ยวกับความเชื่ออื่น ๆ เช่นแม่ย่านางเป็นต้น

[แก้]บทละครตอนต้นตามเนื้อความในสมุดไทย

นิทานเรื่องนางพิกุลทอง บทละครนอกที่ปรากฏในสมุดไทยแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นจับเรื่องตั้งแต่นางพิกุลทองสรงน้ำ จนถึงตอนนางพิกุลทองลุยไฟ ส่วนนิทานกลอนของนายบุศย์ โรงพิมพ์วัดเกาะจะแต่งเพิ่มต่อจนจบเรื่อง
นางพิกุลทองเป็นธิดาของท้าวสัณนุราชกับพระมเหสี คือ นางพิกุลจันทราผู้ครองเมืองสรรพบุรี (ในสมุดไทยเขียนว่าเมือง สันทบุรี)เมื่อย่างเข้าวัยรุ่นสาว ความงามของนางเป็นที่เลื่องลือว่ายากจะหาหญิงใดเสมอเหมือนได้ ซึ่งนอกจากเวลาพูดกับใครจะมีดอกพิกุลทองร่วงจากปากแล้วยังมีเส้นผมที่หอมอีกด้วย วันหนึ่งนางพิกุลทองเกิดร้อนรุ่มกลุ้มอุรา จึงได้ลาท้าวสัณนุราชไปเล่นน้ำกับพระพี่เลี้ยงในลำธาร ท้าวสัณนุราชจึงให้วางตาข่ายและทุ่นไว้รอบท่าน้ำ เพราะโหรทำนายว่านางจะต้องพลัดพรากจากเมือง
จะกล่าวถึงพญาแร้งชื่อว่า ท้าวสุบรรณปักษาบินมาเห็นซากสุนัขเน่าจึงโฉบนำกลับไปจิกกินลอยมาใกล้บริเวณที่นางพิกุลทองกับพี่เลี้ยงเล่นน้ำอยู่ นางพิกุลทองได้กลิ่นเหม็นเน่าจึงใช้ให้พี่เลี้ยงไปดูก็พบพญาแร้งกำลังกินซากนั้นอยู่จึงได้พากันด่าว่าแล้วขับไล่ด้วยคำหยาบช้าต่าง ๆ นา ๆ ฝ่ายท้าวปักษาก็โกรธจัดกล่าวว่า สุขัขเน่านี้คืออาหารของตนอยู่แล้ว นางพิกุลทองเป็นลูกเจ้าท้าวพระยาไม่น่ามากล่าวเจรจาด่าว่าขับไล่ตนเช่นนี้ว่าแล้วก็บินหนีไป แต่ท้าวปักษีก็ยังคิดจะแก้แค้นนางพิกุลทองให้ได้จึงออกอุบายแปลงกายเปนหนุ่มรูปงามไปขออาศัยอยู่ที่กระท่อมท้ายสวนขวัญของเมืองสรรพบุรี แล้วคอยเนรมิตทองคำให้ตายายใช้จนร่ำรวย โดยบอกว่าตนไปพบตอนขุดเผือกมัน อยู่มาวันหนึ่งจึงรบเร้าขอให้ตายายเข้าไปสู่ขอนางพิกุลทองมาเป็นภรรยา สองตายายฟังแล้วหัวใจแทบวายกล่าวว่าคิดเกินตัวอย่างนี้จะถูกประหารเจ็ดชั่วโคตร ท้าวปักษาแปลงจึงแสร้งทำเป็นตรอมใจใกล้ตาย สองตายายจึงจำใจเข้าไปทูลสู่ขอนางพิกุลทองจากท้าวสัณนุราช ๆ ได้ทราบความดังกล่าวก็กริ้วจัด กล่าวว่าถ้าคิดว่าหลานชายมีบุญวาสนาจะได้คู่กับนางจริงใกล้สร้างสะพานเงินสะพานทองจากท้ายสวนมาถึงพระราชวังภายใน ๓ วันมิเช่นนั้นจะประหารทั้งโคตร ตายายหลังจากลับมาถึงบ้านแล้วก็นั่งซึม เอาแต่ร้องไห้แล้วต่อว่าท้าวปักษาที่หาเรื่องเดือดร้อนมาให้ตน ครั้นท้าวปักษาได้ทราบเรื่องต้องสร้างสะพานทองแล้วจึงกล่าวปลอบใจว่าถ้าตนทำไม่เสร็จจะยอมตายแทน สองตายายจึงค่อยโล่งใจบ้าง พอตกค่ำท้าวปักษาก็บอกว่าจะขอออกไปทำธุระข้างนอกจากนั้นก็แปลงเป็นพญาแร้งขนาดมหึมาบินกลับไปยังเขานินทะกาลา แล้วเกณฑ์ไพร่พลทั้งหลายให้มาช่วยสร้างสะพานจนแล้วเสร็จ
ครั้นรุ่งเช้า ท้าวสัณนุราชกับพระมเหสีมองออกไปเห็นสะพานเงินสะพานทองเป็นอัศจรรย์ เสร็จตามข้อตกลงดังกล่าวจึงคิดว่ามาณพผู้นี้คงจะมีบุญ แล้วจัดอภิเษกสมรสนางพิกุลทองให้กับท้าวปักษาและนางพิกุลทอง ซึ่งตลอดเวลาเมื่ออยู่ใกล้กันนางพิกุลทองก็ได้ได้กลิ่นสาบแร้งจนเวียนหัวบ่นว่าต่าง ๆ นานา ส่วนท้าวปักษาก็มิอาจจะเข้าใกล้สมัครสังวาสได้เพราะไม่ได้นึกรัก ประกอบกับเทวดาดลใจ คงมีแต่ความแค้นที่นางเคยด่าว่า
ครั้นอยู่มาได้ ๓ วัน ท้าวปักษาจึงออกอุบายว่าจะชวนนางกลับไปกราบบิดามารดาของตน จากนั้นก็พากันลงเรือสำเภา ๕๐๐ ลำล่องไปได้ ๓ เดือน ก็มาถึงหาดแก้วพยัคฆีหน้าเมือง ท้าวปักษาจึงให้นางรออยู่ในเรือเพื่อจะขึ้นไปแจ้งให้บิดามารดาตนทราบก่อน แท้ที่จริงท้าวปักษากลับไปเกณฑ์บริเวณนกแร้งทั้งหลายให้มากินคนบนเรือเสียให้หายแค้น ส่วนนางพิกุลทองนั้นตนจะจัดการกินเองห้ามนกตัวไหนแตะต้องต้องมีโทษถึงตาย ฝูงนกก็ดีใจพากันบินมาจับไพร่พลบนเรือกินเสียหมดทั้ง ๕๐๐ ลำ ส่วนนางพิกุลทองนั้นได้รับความช่วยเหลือจากแม่ย่านางวิญญาณประจำเรือ รู้ว่าพญาแร้งคิดไม่ซื่อ จึงเนรมิตรห้องคูหาแล้วนำนางพิกุลทองไปซ่อนไว้ในปลายเสากระโดงเรือ พญาแร้งโกรธมากด่าว่าลูกน้องไม่เชื่อฟังหาว่ากินไม่ดูตามาตาเรือดันไปกินเอานางพิกุลทองไปด้วยแล้วก็พากันบินกลับไป แต่กระนั้นก็ยังไม่แน่ใจว่านางตายจริง ก็จึงให้บริวารบางส่วนคอยเฝ้าดูเรือไว้
ฝ่ายแม่ย่านางครั้นเห็นพญาแร้งกับบริวารบินกลับไปหมดแล้ว จึงได้พานางพิกุลทองออกมาจากที่ซ่อนเพื่อสรงน้ำ เส้นผมของนางที่ไม่เคยหลุดร่วงเลย ก็ร่วงลงมา นางสงสัยว่าจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้น นางจึงเสี่ยงทายเสยเอาเส้นผม และดอกพิกุลทองใส่ผอบพร้อมจารึกชื่อและเรื่องราวลงไปด้วยเพื่อหาผู้มีบุญมาช่วยเหลือ ผอบทองลอยไปจนถึงเมืองพรหมกุฏปัญจาละซึ่งมีพระสังข์ศิลป์ชัยและนางสุพรรณปกครอง มีโอรสเก่งกล้าองค์หนึ่งชื่อพระพิชัยมงกุฏ(ในฉบับตัวเขียนว่าชื่อ "พระพิไชยวงศ์กุฏ") ขณะนั้นทั้งสามกษัตริย์ได้มาสรงน้ำที่ท่าน้ำนอกเมือง เห็นผอบทองลอยทวนน้ำมา พระพิชัยมงกุฏจึงเสี่ยงพระสังข์วิเศษไปกล่าวว่าถ้ามาดีให้ช้อนขึ้นมา ถ้ามาร้ายให้สังข์วิเศษทำลายเสีย ปรากฏว่าสังข์ก็ไปช้อนผอบขึ้นมา เมื่อเปิดข้อความดูเห็นเส้นผม,ดอกพิกุล และจารึกเรื่องราวก็ถึงกับหลงใหลกินไม่ได้นอนไม่หลับ พระสังข์ศิลป์ชัยได้ทราบอาการก็ตกพระทัย พระพิชัยมงกุฏจึงขอลาไปตามนางพิกุลทอง จึงโปรดให้สังข์ ศร และพระขรรค์วิเศษไปป้องกันตัว และให้จัดแต่งเรือสำเภาพร้อมไพร่พลไปตามประสงค์ กองเรือแล่นมาหลายวันจนกระทั่งถึงเกาะใหญ่กลางทะเลซึ่งเป็นเขตของ นางยักษ์กาขาว ซึ่งลอบเข้ามาในเรือด้วยความสงสัย ครั้นเห็นพระพิชัยมงกุฏรูปร่างสง่างามก็หลงรักจึงแอบอุ้มพาไปขณะหลับ แล้วเนรมิตเมืองขึ้นบนเกาะแล้วแปลงเป็นหญิงสาวอยู่ในเมืองนั้น ครั้นพระพิชัยมงกุฏตื่นมาเห็นบ้านเมืองกับหญิงงามก็เข้าใจว่าเป็นนางพิกุลทอง จึงเกี้ยวนางจนได้เป็นภรรยา แต่ยังสงสัยว่าได้กลิ่นสาบสางยักษ์และนางผมไม่หอม ตกดึกเทพารักษ์จึงได้มาบอกให้รีบหนีไปเพราะนางเป็นยักษ์แปลงมาแล้วบอกทางให้แล่นเรือไปทางตะวันออก ๗ วันก็จะถึงหาดแก้วพยัคฆี
ครั้นพระพิชัยมงกุฏเดินทางมาถึงเห็นกองเรือร้างจอดอยู่จึงให้ไปค้นเรือทุกลำก็พบแต่กระดูก ฝ่ายนางพิกุลทองได้ยินเสียงจึงลาแม่ยานางออกมาจากเสากระโดงเรือและเข้าพบกับพระพิชัยมงกุฏด้วยความยินดี
(โอด) เมื่อนั้นพระไชยวงศ์กุฏเห็นนางเร่งหรรษา
เห็นนางทรงโศกโศกาหอมเส้นเกศาตระลบไป
พิกุลทองตกลงจากโอษฐ์ให้ทรงโปรดพิศวงหลงใหล
ยอกรฟักฟูมเข้าอุ้มไว้ฟังพี่อย่าได้โศกา
พี่ได้ผอบมาติดตามประสบสมดังความปรารถนา
ขอเชิญนงเยาเล่ากิจจาแรกเริ่มเดิมมาประการใด
ขณะนั้นบริวารของพญาแร้งเห็นผู้คนมาเอะอะวุ่นวายจึงรีบบินไปบอกแก่ท้าวปักษา กล่าวว่าชะรอยนางพิกุลทองจะยังไม่ตาย ท้าวปักษาจึงรีบพาบริวารมาทันที ครั้นเห็นนางพิกุลทองหลบอยู่กับพระพิชัยมงกุฏก็เจรจาตอบโต้อยู่พักหนึ่งแล้วทำการรบกัน พระพิชัยมงกุฏจึงแผลงศรวิเศษไปถูกอกท้าวปักษาตายกลางอากาศพร้อมกับบริวารทั้งหลาย ครั้นเสร็จศึกแล้ว จึงพานางพิกุลทองกลับไปยังบ้านเมืองของตนต่อไป ฝ่ายนางยักษิณีกาขาวครั้นตื่นมาไม่เห็นพระพิชัยมงกุฏ จึงคว้ากระบองออกไล่ติดตามไปถึงเมืองพรหมกุฏปัญจา แต่เกรงอำนาจพระเสื้อเมืองจึงเข้าเมืองไม่ได้ ก็ซ่อนตัวอยู่ที่ต้นไทรในสวน
หลังจากพิธีอภิเษกสมรสแล้ว ต่อมานางพิกุลทองก็ประสูติพระโอรส ๒ พระองค์ คนพี่มีนามว่า พระรัก ส่วนโอรสองค์รองนามว่า พระยม อยู่มาวันหนึ่งทั้งสี่กษัตริย์ก็เสด็จประพาสที่บึงบัวเพื่อเก็บบัวมาบูชาพระปฏิมา ฝ่ายนางยักษ์กาขาวครั้นรู้ว่าพระพิชัยมงกุฏได้อภิเษกกับนางพิกุลทองแล้ว ก็ให้เคียดแค้นเป็นยิ่งนักหมายจะทำร้ายนางพิกุลทองเสียให้หายแค้น จึงแปลงร่างเป็นดอกบัวทองอยู่ใต้น้ำ ครั้นเรือผ่านมานางพิกุลทองเห็นเข้าก็ประหลาดใจในความงามจึงเอื้อมมือลงไปเด็ด นางยักษ์ได้ทีจึงฉุดนางลงไปใต้น้ำแล้วสาปให้กลายร่างเป็นนางชะนี จะพ้นสาปได้ก็ต่อเมื่อนำเลือดยักษืมาชโลมตัวส่วนนางยักษ์ก็จดจำและแปลงร่างเป็นนางพิกุลทองแทน ครั้นพระพิชัยมงกุฏช่วยฉุดขึ้นมาครั้งแรกเป็นนางยักษ์แปลงนางยักษ์ก็รีบเป่ามนต์ให้หลงใหล พระรักและพระยมก็ร้องไห้บอกว่าไม่ใช่แม่ของตน แต่เมื่อเห็นนางชะนีผุดขึ้นมาจากน้ำกลับร้องว่าเป็นแม่ และไม่ยอมกลับวัง พระพิชัยมงกุฏจึงกริ้วขับไล่ให้ไปอยู่กับนางชะนีในป่า แล้วพระองค์ก็พานางยักษ์กลับเข้าวัง สองพี่น้องร้องไห้หาแม่จนหิวแต่นางชะนีก็กำลังคลุ้มคลั่งด้วยมนต์ของนางยักษ์คอยแต่จะหนีเข้าป่าท่าเดียว
(เพลง) เมื่อนั้นพระกุมารอุ้มน้องแล้วร้องไห้
ค่อยลอดลัดตัดเดินดำเนินไปถึงที่ต้นไทรพระมารดา
จึงร้องเรียกอยู่แจ้วแจ้วลูกมาถึงแล้วพระแม่ขา
ลงมาส่งนมพระลูกยาน้องข้าอยากนมเป็นเหลือใจ
แม่เจ้าประคุณของลูกเอ๋ยกรรมสิ่งใดเลยมาซัดให้
ทูลหัวนั่งนิ่งบนกิ่งไม้ไขหูเสียใยไม่นำพา
ร้องเรียกมารดาขึ้นไปเล่าแม่เจ้าประคุณลูกมาหา
น้องยมอยากนมพ้นปัญญาส่งนมลูกเถิดราแม่ดวงใจ
พอมีสติขึ้นบ้างก็เล่าเรื่องให้ลูกฟังแล้วให้เก็บดอกพิกุลทองที่หล่นออกมาเอาไปขายเพื่อซื้อข้าวกิน ครั้นนางวิเสทชาววังออกมาเห็นก็พาสองพระโอรสเข้าไปในเมืองแล้วกราบทูลให้พระสังข์ศิลป์ชัยทราบ สองพี่น้องจึงเล่าเหตุการณ์นางยักษ์แปลงให้พระอัยกาฟัง พระสังข์ศิลป์ชัยและพระมเหสีถึงกับกริ้วจัด ตรัสให้เรียกพระพิชัยมงกุฏเข้าเฝ้าแล้วสอบสวนเรื่องนางพิกุลทอง นางยักษ์แปลงก็พูดตลบแตลงวกวนไปมา พระนางสุพรรณจึงกระซิบให้พระพิชัยมงกุฏดูอาการของนางยักษ์ที่ไม่มีแววตา และไม่มีดอกพิกุลทองร่วงจากปาก แล้วออกอุบายให้โอรสบอกกับนางยักษ์แปลงว่าจะออกไปคล้องช้างเผือก ครั้นพระพิชัยมงกุฏ พระลักษณา และพระยมยศเข้าไปทำจั่นจนดักได้ตัวนางชะนีพิกุลทอง เมื่อเห็นพระพิชัยมงกุฏก็ร้องเรียก "ผัว ๆ" จนถามนางชะนีได้ความว่าต้องฆ่านางยักษ์แล้วเอาเลือดมารดก็จะหายเป็นปกติ ฝ่ายนางยักษ์ซึ่งลอบเห็นเหตุการณ์รู้ว่าความแตกจึงกลับคืนร่างเดิมออกอาละวาด แต่ถูกพระพิชัยมงกุฏสังหารนางยักษ์ แล้วรองเอาเลือดมารดนางพิกุลทองจนกลับร่างเป็นมนุษย์ตามเดิม
ต่อมานางพิกุลทองก็จะกลับไปเยี่ยมท้าวสัณนุราชที่เมืองสรรพบุรี จึงล่องเรือสำเภาไปในทะเลได้ ๗ ราตรี นางยักษ์กาสุวรรณ ซึ่งเป็นน้องของนางยักษ์กาขาว ทราบข่าวว่า พี่สาวตนถูกพระพิชัยมงกุฏฆ่าตายก็ให้แค้นใจตามมาอาละวาดจนเรือแตกผู้คนตายหมด จนสี่กษัตริย์พลัดพรากจากกัน โดยที่เทวดาบังตาไว้ไม่ให้นางยักษ์เห็นกษัตริย์ทั้ง ถ องค์นางพิกุลทองถูกน้ำซัดไปอีกทางหนึ่ง พระสมุทรเทวา เกิดความสงสารจึงเนรมิตขอนไม้ใหญ่ให้นางเกาะมาจนกระทั่งชายหาดเมืองเวรุจักร นางจึงถอดแหวนเสี่ยงทายว่าหากโอรสและภัสดาตายแล้วก็ให้แหวนจม ปรากฏว่าแหวนลอยขึ้นนางจึงค่อยโล่งใจขึ้นบ้าง จึงฉีกชายผ้าสไบเขียนบอกเรื่องราวผูกไว้ที่พระไทรแล้วฝากกราบพระไทรให้ช่วยบอกทางหากสามีมาพบ นางพิกุลทองเดินซัดเซพเนจรไปในป่าจนเข้ามาในเขตเมืองเวรุจักร ซึ่งมี พญายักษ์วิรุณจักรปกครองอยู่นางก็หลับอยู่ในศาลาหน้าเมือง ท้าววิรุณจักรมาพบเข้าก็เกี้ยวพาราสี นางพิกุลทองก็ว่าตนมีสามีและลูกแล้ว แต่พญายักษ์กลับไม่ฟังเสียงบังคับนางขึ้นรถพาเข้าไปในวัง ท้าววิรุณจักรก็เพียรพยายามเกี้ยวพาราสีนางพิกุลทอง แต่นางไม่ยอมซ้ำกลับต่อว่าเปรียบเปรยต่าง ๆ นานา ท้าววิรุณจักรโกรธมากจึงใช้พระขรรค์ฟันนาง แต่ด้วยสัจจบารมีที่นางซื่อสัตย์ต่อสามีทำให้พระขรรค์หักเป็นสองเสี่ยง เมื่อท้าววิรุณจักรไม่สามารถทำอันตรายแก่นางได้จึงขับไล่ให้เป็นทาสรับใช้อยู่ในครัว
ฝ่ายสามพ่อลูกครั้นเรือแตกแล้ว พระพิชัยมงกุฏจึงขว้างสังข์วิเศษไปสังหารนางยักษ์กานิลจนสิ้นชีพ แล้วเนรมิตขึ้นขี่สังข์ออกตามหานางพิกุลทอง จนพบชายผ้าสไบที่นางผูกไว้ พระไทรจึงปรากฏกายแล้วชี้ทางให้ไปทางทิศตะวันออก จึงพากันเดินไปตามทางพบอาศรมพระฤๅษี ๆ ก็ตรวจดวงชะตาว่าพระพิชัยมงกุฏนั้นจะได้ชายาอีก ๑ คน ส่วนนางพิกุลทองนั้นพอครบ ๑ เดือนจึงพ้นเคราะห์กรรม แล้วพระดาบสจึงสั่งสอนวิชาเหาะเหินเดินอากาศให้ พร้อมทั้งมอบแหวนเนาวรัตน์กายสิทธิ์ และพระขรรค์แก้ว ให้กับพระพิชัยมงกุฏเพื่อนำไปต่อสู้กับยักษ์ ทั้งสามก็กราบลาพระอาจารย์แล้วเดินทางต่อไปจนถึงเมืองวิรุณจักร จึงพากันแปลงกายเป็นนกขุนทองบินเข้าไปในสวนขวัญเพื่อสืบเรื่องราว
จะกล่าวถึงท้าววิรุณจักรมีธิดาโสภาอันเกิดแต่นางมนุษย์อยู่องค์หนึ่งชื่อว่า นางอรุณวดี อยู่มาคืนหนึ่งกลับฝันเห็นพญานาค ๗ เศียรเลื้อยเวียนรอบปราสาทแล้วเข้ารัดนาง ครั้นตื่นขึ้นจึงปรึกษานางยักษ์พี่เลี้ยง ก็ทำนายว่าสงสัยจะได้คู่ ทำเอานางร้อนรุ่มกล้มอุราจึงพากันไปลงเที่ยวชมสวนพบกับนกสาริกาสามพ่อลูกคุยกันอยู่ จึงใช้ให้พวกยักษ์จับเข้าไปเลี้ยงในวัง ครั้นตกดึก พระพิชัยมงกุฏจึงแปลงกลับเป็นคนดังเดิมแล้วลอบเข้าหานางอรุณวดีจนได้นางเป็นชายา
ความแตกเมื่อนางกำนัลมาพบเข้าในตอนรุ่งเช้า จึงรีบไปทูลบอกแก่ท้าววิรุณจักร ๆ กริ้วโกรธดั่งไฟบรรลัยกัลป์ ตรัสสั่งให้โอรสองค์รองชื่อกุมภัณฑสูร ไปจับแต่ก็ถูกสองกุมารฆ่าตาย ท้าววิรุณจักรก็ยิ่งแค้นว่าต้องมาแพ้เด็กเมื่อวานซืน ครั้นจะสู้เองพระมเหสีก็ห้ามว่าท่าทางศัตรูจะมีฤทธิ์มากควรมีหนังสือไปบอกให้สหายคือ ท้าวกัมพลนาคที่เมืองบาดาล กับท้าวหัศจักรมาช่วยรบดีกว่า ครั้นทั้งสองมาถึง ท้าววิรุณจักรก็ให้แต่งทัพออกสู้รบกับพระพิชัยมงกุฏ แต่ก็ถูกพระขรรค์ฟันเสียเป็นแผลหลายแห่งก็แค้นใจจึงกลับร่างพญานาคเจ็ดเศียรใหญ่พ่นพิษหมายจะให้ตาย พระพิชัยมงกุฏจึงถอดแหวนเนาวรัตน์ที่พระดาบสให้มาขว้างออกไปเป็นพญาครุฑไล่จิกตีท้าวกัมพลนาคจนต้องซมซานหนีลงไปบาดาล ต่อมาท้าวหัสจักรออกรบก็ถูกสองกุมารฆ่าตายด้วยพระขรรค์แก้ว ฝ่ายท้าววิรุณจักรก็ถูกพระพิชัยมงกุฏยิงด้วยศรวิเศษเสียบอกตายกลางสนามรบ พวกยักษ์ที่เหลือก็พากันครั่นคร้ามไม่กล้าต่อกรด้วย แล้วทูลเชิญให้ขึ้นครองเมือง พระพิชัยมงกุฏจึงให้จัดการถวายพระเพลิงท้าววิรุณจักรตามราชประเพณี
ฝ่ายนางพิกุลทองครั้นทราบว่าผู้ปราบท้าววิรุณจักรได้คือสวามีและพระโอรสก็ยินดี ครั้นเวลานำอาหารถวายนางก็รับอาสาเพราะยักษ์ทำอาหารมนุษย์ไม่เป็น แล้วใส่พิกุลทองลงไปในเครื่องเสวยด้วย สามพ่อลูกเห็นดอกพิกุลทองก็จำได้จึงให้ไปเรียกคนครัวขึ้นมา เมื่อพบหน้ากันแล้วทั้งสี่ก็ร้องไห้กันจนสลบ ครั้นฟื้นขึ้นแล้วจึงให้นางพิกุลทองไปทรงเครื่องอย่างนางกษัตริย์ แล้วเรียกนางอรุณวดีมาทำความรู้จัก ฝ่ายนางอรุณวดีนั้นถือตนว่าเป็นลูกเจ้าท้าวกษัตริย์บวกกับความหึงหวงจึงค่อนแคะนางพิกุลทองในทำนองว่า เป็นเมียน้อยบิดาตนมาแล้วกลายเป็นคนครัว คิดจะเป็นนางกษัตริย์เสมอตนมิรู้จักเจียมตัวบ้าง
ฝ่ายนางพิกุลทองครั้นได้ยินดังนี้ก็ให้เจ็บใจ จึงเล่าเรื่องราวให้ฟังแล้วขอพิสูจน์ด้วยการลุยไฟแสดงความบริสุทธิ์ พระอินทร์จึงเอาน้ำอมฤตมาพรมดับไฟ ส่วนนางอรุณวดีลุยไฟแล้วทนร้อนไม่ได้ จึงถูกพระพิชัยมงกุฏลงโทษ และให้ขอโทษนางพิกุลทอง
จบเนื้อเรื่องตามสมุดไทยเพียงเท่านี้

[แก้]อ้างอิง

  • ตรีศิลป์ บุญขจร : กลอนสวดภาคกลาง ๒๕๔๗
  • สมบัติ พลายน้อย : นิทานไทย ๒๕๔๔
  • บทละครนอกที่นิยมเล่นในสมัยกรุงศรีอยุธยา : เสาวลักษณ์ อนันตศาสน์
  • ธวัช ปุณโณทก, ศาสตราจารย์ : วิเคราะห์วรรณกรรมท้องถิ่นเชิงเปรียบเทียบ

ปลาบู่ทอง เป็นนิทานพื้นบ้านของไทย เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กสาวชาวบ้านผู้มีใจเมตตาที่ในตอนท้ายได้แต่งงานกับกษัตริย์

[แก้]เนื้อเรื่อง

เรื่องปลาบู่ทองเริ่มขึ้นโดยเศรษฐีทารก (อ่านว่า ทา-ระ-กะ) ผู้มีอาชีพจับปลามีภรรยา 2 คน คนแรกชื่อขนิษฐา มีลูกสาวชื่อ เอื้อย ส่วนคนที่สองชื่อ ขนิษฐี มีลูกสาวชื่อ อ้าย และ อี่
วันหนึ่งเศรษฐีทารกพาขนิษฐาไปจับปลาในคลอง ไม่ว่าจะเหวี่ยงแหไปกี่ครั้งก็ได้มาเพียงปลาบู่ทองที่ตั้งท้องตัวเดียวเท่านั้น จนกระทั่งพลบค่ำเศรษฐีก็ตัดสินใจที่จะเอาปลาบู่ทองที่จับได้เพียงตัวเดียวกลับบ้าน ทว่าขนิษฐาผู้เป็นภรรยาเกิดความสงสารปลาบู่ ขอให้เศรษฐีปล่อยปลาไป เศรษฐีทารกเกิดบันดาลโทสะจึงฟาดนางขนิษฐาจนตายและทิ้งศพลงคลอง
เมื่อกลับถึงบ้านเอื้อยก็ถามหาแม่ เศรษฐีจึงตอบไปว่าแม่ของเอื้อยได้หนีตามผู้ชายไป และจะไม่กลับมาบ้านอีกแล้ว นับตั้งแต่วันนั้นขนิษฐีผู้เป็นแม่เลี้ยงของเอื้อย และอี่กับอ้ายน้องสาวทั้งสองก็กลั่นแกล้งใช้งานเอื้อยเป็นประจำโดยที่เศรษฐีทารกไม่รับรู้และไม่สนใจ
เอื้อยคิดถึงแม่มากจึงมักไปนั่งร้องไห้อยู่ริมท่าน้ำ และได้พบกับปลาบู่ทองซึ่งเป็นนางขนิษฐากลับชาติมาเกิด เมื่อเอื้อยรู้ว่าปลาบู่ทองเป็นแม่ก็ได้นำข้าวสวยมาโปรยให้ปลาบู่ทองกิน และมาปรับทุกข์ให้ปลาบู่ทองฟังทุกวัน
นางขนิษฐีและลูกสาวเห็นเอื้อยมีความสุขขึ้น เมื่อถูกกลั่นแกล้งก็อดทนไม่ปริปากบ่นจึงสืบจนพบว่านางขนิษฐาได้มาเกิดเป็นปลาบู่ทอง และได้พบกับเอื้อยทุกวัน ดังนั้นเมื่อเอื้อยกำลังทำงานนางขนิษฐีก็จับปลาบู่ทองมาทำอาหารและขอดเกล็ดทิ้งไว้ในครัว
เอื้อยได้พบเกล็ดปลาบู่ทองก็เศร้าใจเป็นอย่างมาก นำเกล็ดไปฝังดินและอธิษฐานขอให้แม่มาเกิดเป็นต้นมะเขือ เอื้อยมารดน้ำให้ต้นมะเขือทุกวันจนงอกงาม เมื่อขนิษฐีทราบเรื่องเข้าก็โค่นต้นมะเขือ และนำลูกมะเขือไปจิ้มน้ำพริกกิน
เอื้อยเก็บเมล็ดมะเขือที่เหลือไปฝังดินและอธิษฐานให้แม่ไปเกิดเป็นต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทองในป่า และไม่ให้ผู้ใดสามารถโค่น ทำลาย หรือเคลื่อนย้ายต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทองได้
วันหนึ่งพระเจ้าพรหมทัตเสด็จประพาสป่าได้พบกับต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทอง โปรดให้นำเข้าไปปลูกในวัง แต่ไม่มีผู้ใดสามารถเคลื่อนย้ายต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทองได้ พระเจ้าพรหมทัตจึงประกาศว่าผู้ใดที่เคลื่อนย้ายต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทองได้จะให้รางวัลอย่างงาม
ขนิษฐีและอ้ายกับอี่เข้าร่วมลองถอนต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทองด้วยแต่ไม่สำเร็จ เอื้อยขอลองบ้างและอธิษฐานจิตบอกแม่ว่าขอย้ายแม่เข้าไปปลูกในวัง เอื้อยจึงถอนต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทองได้สำเร็จ
พระเจ้าพรหมทัตถูกชะตาเอื้อยจึงชวนเข้าไปอยู่ในวังและแต่งตั้งให้เอื้อยเป็นพระมเหสี ฝ่ายขนิษฐีและลูกสาวอิจฉาเอื้อยจึงส่งจดหมายไปบอกเอื้อยว่าเศรษฐีทารกป่วยหนักขอให้เอื้อยกลับมาเยี่ยมที่บ้าน
เมื่อเอื้อยกลับมาบ้าน นางขนิษฐีก็ได้แกล้งนำกระทะน้ำเดือดไปวางไว้ใต้ไม้กระดานเรือน และทำกระดานกลไว้ เมื่อเอื้อยเหยียบกระดานกลก็ตกลงในหม้าน้ำเดือดจนถึงแก่ความตาย ขนิษฐีให้อ้ายปลอมตัวเป็นเอื้อยและเดินทางกลับไปยังวังของพระเจ้าพรหมทัต
เอื้อยได้ไปเกิดใหม่เป็นนกแขกเต้า เมื่อเกิดใหม่แล้วก็บินกลับเข้าไปในพระราชวัง พระเจ้าพรหมทัตเห็นนกแขกเต้าแสนรู้ ไม่รู้ว่าเป็นเอื้อยกลับชาติมาเกิดก็เลี้ยงไว้ใกล้ตัว อ้ายเห็นดังนั้นก็ไม่พอใจ สั่งคนครัวให้นำนกแขกเต้าไปถอนขนและต้มกิน
แม่ครัวถอนขนนกแขกเต้าและวางทิ้งไว้บนโต๊ะ นกแขกเต้าจึงกระเสือกกระสนหลบหนีเข้าไปอยู่ในรูหนู มีหนูช่วยดูและจนขนขึ้นเป็นปกติ แล้วเอื้อยก็บินเข้าป่าไปจนเจอกับพระฤๅษี
พระฤๅษีตรวจดูด้วยญานพบว่านกแขกเต้าคือเอื้อยกลับชาติมาเกิดจึงเสกให้เป็นคนตามเดิม และวาดรูปเด็กเสกให้มีชีวิตเพื่อให้เป็นลูกของเอื้อย เมื่อเด็กนั้นโตขึ้นก็ขอเอื้อยเดินทางไปหาบิดา เอื้อยจึงเล่าเรื่องทั้งหมดให้บุตรชายฟังร้อยพวงมาลัยเพื่อให้บุตรชายนำไปให้พระเจ้าพรหมทัต
เมื่อพระเจ้าพรหมทัตได้พบกับบุตรชายของเอื้อยและพวงมาลัย ก็ขอให้เด็กชายเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟังว่าได้มาลัยมาอย่างไร เด็กชายก็เล่าตามที่เอื้อยเล่าให้ฟัง เมื่อทราบเรื่องทังหมดแล้วพระเจ้าพรหมทัตก็สั่งประหารชีวิตอ้าย อี่ และขนิษฐี และไปรับเอื้อยเพื่อให้กลับมาครองบัลลังก์ร่วมกันอีกครั้ง





นางสิบสอง นางสิบสองเป็นเรื่องราวของหญิงสาวสิบสองคนซึ่งเป็นพี่น้องท้องเดียวกันและต้องเจอกับปัญหามากมาย ได้ถูกนำมาทำเป็นละครพื้นบ้านครั้งแรกทางช่อง 7 เมื่อปี 2531 นำแสดงโดย ศักสิทธิ์ ทวีกุล สินี หงษ์มานพ และนำกลับมาสร้างใหม่อีกครั้ง ทางช่อง 7 ในปี 2543 นำแสดงโดย สพล ชนวีร์ มาติกา อรรถกรศิริโพธิ์ สิริมา อภิรัตนพันธ์ คณธร ฟักทองผล นอกจากนี้ยังมีช่อง 5 อีกด้วย

เนื้อหา

 [ซ่อน]

[แก้]เนื้อเรื่อง

นานมาแล้วมีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อ นนท์ และภรรยาของเขาชื่อ พราหมณี ทั้งสองมีลูกสาวถึง 12 คน ด้วยความที่ลูกเยอะฐานะทางบ้านจึงค่อยๆตกต่ำลงเงินทองที่เก็บๆไว้ก็หายไปหมดเนื่องจากต้องเลี้ยงดูลูกสาวทั้งสิบสองคน อยู่มาวันหนึ่งพ่อของนางสิบสองก็ได้คิดอุบายว่าจะนำลูกๆทั้งสิบสองคนไปปล่อยป่า โดยหลอกลูกของตนว่าตนจะไปเยี่ยมญาติจะพาลูกๆไปด้วย เมื่อมาถึงกลางป่าเขาก็บอกกับลูกว่าจะไปหาผลไม้มาให้กินให้ลูกๆรอก่อน เมื่อได้โอกาสเขาก็หนีไปโดยหวังว่าจะมีคนที่ดีกว่านี้มารับเลี้ยงดู นางสิบสองรอบิดาของตนจนเหนื่อยโชคดีที่นางเภาน้องคนสุดท้องที่มีความฉลาดมากกว่าพวกพี่ๆ ได้นำข้าวตากโรยตามทางที่เดินมาพวกนางทั้งสิบสองจึงกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย เมื่อบิดาและมารดาเห็นลูกของตนกลับมาได้ก็ตกใจมากและได้คิดว่าจะนำลูกของตนไปปล่อยป่าอีกครั้ง และวันนั้นก็มาถึงพ่อของนางสิบสองได้นำลูกของตนไปปล่อยป่าอีกคราวนี้โชคร้ายนางเภาไม่ได้เอาข้าวตากมาทำให้นางทั้งสิบสองติดอยู่ในป่า นางทั้งสิบสองได้อยู่ในป่าจนรุ่งเช้าของอีกวัน นางเภาได้บอกกับพี่ของตนว่าเควรจะหาทางกลับบ้านใหม่ แต่เดินไปเท่าไหร่ก็ไม่ถึงสักที จนในที่สุดก็มาเจอกับนางยักษ์สันตราพอดีนางยักษ์สันตราพอได้เห็นนางทั้งสิบสองก็เกิดความรักและเอ็นดูเนื่องจากตนไม่มีลูกและสามีของตนก็ตายไปแล้ว นางยักษ์จึงนำนางทั้งสิบสองมาเลี้ยงไว้ในวังโดยสั่งให้ทุกคนในเมืองทานตะวันแปลงกายเป็นมนุษย์ให้หมดเนื่องจากกลัวว่านางทั้งสิบสองจะหวาดกลัวและเกลียดตนและตนเองก็ได้เปลี่ยนชื่อจากสันตราเป็นสันธมาลา นางทั้งสิบสองใช้ชีวิตอยู่ในวังอย่างสุขสบายจนกระทั่งโตเป็นสาว นางเภาก็เกิดสงสัยขึ้นมาว่าเมืองนี้เป็นเมืองยักษ์เพราะว่าตนนั้นไม่เคยเห็นสัตว์ตัวไหนในเมืองในเมืองนี้เลยและพี่ของตนก็ได้เจอกับกองกระดูกที่พวกยักษ์กินไว้ทางท้ายวังซึ่งนางสันธมาลาห้ามไม่ให้ไปอีกด้วย นางเภาจึงพาพวกพี่หนีจากเมืองยักษ์จนนางสันตราตามมาแต่มองไม่เห็นนางทั้งสิบสองเพราะเทวดาในป่าคุ้มครองนางสันตราจึงกลับเมืองไปด้วยความอาฆาตแค้น นางทั้งสิบสองดีใจที่หนีจากนางยักษ์มาได้และก็เดินทางไปโดยไร้จุดหมายจนมาถึงเมืองกุตลนครซึ่งมีราชารถสิทธิ์เป็นผู้ปกครองเมือง ท้าวรถสิทธิ์เมื่อได้เห็นนางเภาที่รูปงามและพวกพี่ๆของนางแล้วก็เกิดความรักใคร่ โดยรักนางเภามากที่สุด ท้าวรถสิทธิ์ได้นางทั้งสิบสองเป็นมเหสีแล้วอยู่มาวันหนึ่งนางทั้งสิบสองคนก็ได้ตั้งครรภ์ อีกด้านหนึ่งในขณะเดียวกันนางยักษ์สัตราได้ใช้มนต์วิเศษของตนดูภาพพวกนางทั้งสิบสองผ่านกระจกนางสันตราจึงได้เห็นและรู้ว่านางสิบสองอยู่ที่เมืองกุตลนครและได้เป็นมเหสีของราชารถสิทธิ์ก็ได้ตามไปจนมาถึงเมืองกุตลนครและได้พบกับท้าวรถสิทธิ์นางจึงเป่ามนต์สะกดให้ท้าวรถสิทธิ์รักใคร่และแต่งตั้งให้ตนเป็นพระมเหสีเอกแทนนางทั้งสิบสอง เมื่อนางสิบสองรู้ข่าวว่าพระสวามีตนมีมเหสีใหม่จึงโมโหและอยากรู้ว่าเป็นใครพอดีนางยักษ์สันตราผ่านมาพอดีนางสิบสองจึงได้รู้ว่าเป็นนางยักษ์สันตราก็ตกใจกลัวและร้องขอว่าอย่าทำอะไรตนเลย นางยักษ์สันตราไม่ยอมจึงเป่ามนต์ให้ท้าวรถสิทธิ์เกลียดนางทั้งสิบสองและสั่งนางทั้งสิบสองไปขังไว้ในถ้ำ นางทั้งสิบสองต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในถ้ำขณะที่ท้องของนางก็เริ่มโตขึ้นทุกวัน ฝ่ายนางยักษ์สันตรายังไม่หยุดแค้นนางสิบสองจึงออกอุบายว่าตนป่วยเป็นโรคประหลาดและได้เป่ามนต์ใส่หมอหลวงให้พูดว่าต้องใช้ลูกตานางทั้งสิบสองมาทำยาให้กินจึงจะหาย พระรถสิทธิ์จึงรีบให้จัดการควักลูกตานางสิบสองมาถวายทันทีโดยนางยักษ์ได้สั่งให้วิรุฬและจำบังสมุนเอกของตนรับหน้าที่นี้ เมื่อมาถึงถ้ำทั้งสองได้ควักลูกตานางสิบสองทันทีโดยเรียงจากพี่ไปน้อง ด้านนางค่อมผู้ซื่อสัตย์ต่อนางสิบสองได้อ้อนวอนขอให้พระรถสิทธิ์สั่งไม่ให้ควักลูกตานางสิบสองอยู่พักใหญ่ก็ได้นำราชโองการมาให้วิรุฬและจำบังดูแต่ด้วยตนเองแก่แล้วและหลังก็ค่อมอีกด้วยจึงมาไม่ทันโดยวิรุฬจำบังได้ควักลูกตาไปทั้ง 11 คนแล้วเว้นแต่นางเภาโดนควักไปเพียงข้างเดียวเพราะตนมาทันที่นางเภาพอดีวิรุฬจำบังจึงได้นำลูกตาของนางสิบสองใส่โถไปถวายให้นางสันธมาลา นางค่อมได้โมโหตัวเองที่มาไม่ทัน นี่ก็เป็นเพราะเวรกรรมของนางทั้งสิบสองที่ตอนเด็กได้ควักตาปลาออกมาเล่นแต่นางเภาควักออกมาเพียงข้างเดียวจึงไม่โดนควักลูกตาทั้ง 2 ข้าง นางทั้งสิบสองต้องทุกข์ทรมานเข้าอีกปวดทั้งตาและท้องแก่ที่ใกล้คลอดโดยหากบเขียดแถวนั้นมาย่างกินประทังชีวิตและข้าวที่นางค่อมคอยแอบนำมาถวาย เวลาผ่านไปจนกระทั่งพวกนางคลอดลูกมาแต่ลูกของนางทั้ง 11 คนตายหมด เหลือแต่นางเภาที่ให้กำเนิดพระโอรสและตั้งชื่อว่า "รถเสน" รถเสนเป็นเด็กฉลาดและรูปงามมากและเป็นหัวแก้วหัวแหวนของแม่และป้าทั้ง 11 คน

[แก้]พระรถ-เมรี

รถเสนโตขึ้นแลอยากจะช่วยแม่และป้าของตนหาข้าวมากินจึงได้ไปบ่อนไก่อยู่หลายครั้งและตนนั้นก็มีไก่ที่เทวดาเสกมาและได้นำไปชนไก่และชนะอยู่หลายครั้งจึงได้เงินมาซื้อข้าวให้แม่และป้าของตนกินจนรู้ไปถึงหูของพระรถสิทธิ์ที่ไม่รู้ว่ารถเสนเป็นลูกตน พอดีว่าเมืองกุตลนครมีเมืองอื่นมาท้าพนันตีไก่เอาบ้านเอาเมืองรถเสนได้รับคำเชิญจากพระรถสิทธิ์ให้นำไก่ของตนไปชนเพราะว่าได้ยินชื่อเสียงว่าเก่ง และก็ชนะด้วยทางฝ่ายนั้นก็ได้นำทัพกลับไป รถเสนก็กลายเป็นคนโปรดของพระรถสิทธิ์และนางสันธมาลาจึงได้นำไปเลี้ยงดูจนโตเป็นหนุ่มและได้กลับมาหานางทั้งสิบสอง นางยักษ์สันตราก็ได้รู้ว่ารถเสนเป็นลูกของนางเภา ขณะเดียวกันที่เมืองทานตะวัน "เมรี" ลูกของพญายักษ์และมเหสีเป็นมนุษย์ที่นางสันธมาลาขอมาเลี้ยงไว้ก็ได้โตเป็นสาวแล้ว ฝ่ายนางยักษ์สันตราพอรู้แล้วว่ารถเสนเป็นลูกของนางเภาก็โกรธแค้นจึงได้ออกอุบายว่าตนป่วยอีกครั้งคราวนี้ให้นำมะงั่วหาว มะนาวโห่ที่เมืองทานตะวันมารักษาพร้อมให้รถเสนนำสาส์นที่ตนเขียนว่าเมื่อรถเสนมาถึงเมืองกลางวันก็ให้ฆ่ากลางวันถึงคืนก็ฆ่าคืนให้เมรีด้วยโดยบอกรถเสนว่าห้ามเปิดอ่านเด็ดขาดรถเสนจึงได้ขี่ม้าไปที่เมืองทานตะวันแต่แวะพักที่กระท่อมของฤๅษีฤๅษีได้ขออ่านสาส์นของรถเสนจึงรู้ว่ารถเสนจะต้องตายแน่จึง แปลงสาส์นว่าถึงเมื่อไหร่ก็ให้แต่งงานเมื่อนั้นและได้มอบม้าวิเศษพูดชื่อประกายเพชรได้ให้รถเสนด้วย แล้วรถเสนก็มาถึงเมืองทานตะวันเมื่อเมรีได้อ่านสาส์นก็เกิดความรักจึงได้แต่งงานกันและอยู่ที่เมืองทานตะวันอยู่พักหนึ่ง ฝ่ายแม่ย่าได้ตรวจดวงชะตาของเมรีแล้วพบว่าถ้าเมรียังรักรถเสนอยู่อย่างนั้นเมรีจะต้องตายแม่ย่าจึงคิดออกอุบายให้รถเสนไปจากเมรี ทางรถเสนที่จะนำดวงตาของนางสิบสองที่หห้องสรรพยาที่นางสันธมาลานำมาไว้เอาไปให้แม่และป้าของตน พอแม่ย่ารู้ก็สนับสนุนให้รถเสนไปจากเมรีจึงได้เปิดทางให้โดยสะดวกรถเสนได้นำดวงตาออกมาและขี่ม้าคู่ใจของตนไปเมืองกุตลนคร แต่เมรีไม่ให้ไปจึงวิ่งตามมารถเสนจึงอธิษฐานให้พื้นเป็นทะเลเมรีจึงตามไปไม่ได้เมรีจึงตรอมใจตาย เมื่อรถเสนมาถึงก็ได้นำดวงตามาให้แม่และป้าของตนนางทั้งสิบสองจึงมีดวงตาเหมือนเดิม ทุกคนพอรู้ว่านางสันธมาลาเป็นยักษ์จึงได้เนรเทศออกนอกเมืองพอเรื่องคลี่คลายแล้วรถเสนก็กลับไปเมืองทานตะวันพอมาถึงก็พบว่าเมรีตายแล้ว รถเสนจึงทำศพให้เมรีแล้วบอกว่ารักขอโทษเมรีและจึงกลับไปกุตลนครและครองเมืองแทนท้าวรถสิทธิ์สืบต่อมา

4 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ
  2. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved. _/|\_

    ตอบลบ
  3. มีข้อคิดไหม
    จะได้ไปตอบข้อสอบงับ

    ตอบลบ