วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

พุทธประวัติ๑

ศากยวงศ์

เมื่อนับถอยหลังแต่บัดนี้ไปประมาณ ๓,๐๐๐ ปี ก่อนพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลก หรือก่อนพระพุทธศักราช ๕๐๐ ปีเศษ ในประเทศอินเดีย มีเมือง ๆ หนึ่ง ตั้งอยู่ข้างทิศเหนือ ไม่ปรากฏชื่อ ใกล้แคว้นสักกะชนบท พระเจ้าอุกกากะราชเป็นกษัตริย์ปกครอง พระองค์มีพระโอรสพระธิดา ๙ พระองค์ คือ
              ๑. พระเชฏฐภคินี ไม่ปรากฏพระนาม
              ๒. พระอุกกามุข
              ๓. พระกรกัณฑุ
              ๔. พระหัตถินีก
              ๕. พระสินิปุระ
              ๖-๗-๘-๙ พระกนิฏฐภคินี ไม่ปรากฏพระนาม
              พระโอรสและพระธิดาทั้ง ๙ พระองค์นี้ ประสูติแต่พระมเหสีเก่า ครั้นพระมเหสีเก่าทิวงคตแล้ว พระเจ้าอุกกากะราช ทรงมีพระมเหสีใหม่ ได้พระโอรสซึ่งประสูติแต่พระมเหสีนี้ ๑ พระองค์ มีพระราชประสงค์จะพระราชทานราชสมบัติแก่พระโอรสองค์น้อยนี้ ซึ่งพระมเหสีผู้โปรดปรานทูลขอให้ จึงรับสั่งให้พระโอรสและพระธิดาทั้ง ๙ ซึ่งมีพระอุกกามุขราชกุมารเป็นหัวหน้า ยกจาตุรงคเสนาพร้อมด้วยช่างทุกหมู่ ตลอดกสิกร สัตว์พาหนะและปศุสัตว์ทุกประเภท ยกไปสร้างพระนครใหม่ อยู่ที่ดงไม้สักกะ ใกล้ภูเขาหิมพาน อันเป็นชัยมงคลสถานที่อยู่ของกบิลดาบส
              ครั้นได้สร้างพระนครแล้ว จึงขนานนามพระนครนี้ว่า กบิลพัสดุ์ โดยอาศัยชื่อของกบิลดาบส เจ้าของถิ่นเดิมเป็นนิมิต ภายหลังกษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์นั้น เกรงจะเสื่อมเสียขัตติยวงศ์ หากจะไปอภิเษกสมรสด้วยกษัตริย์อื่น ด้วยพระโอรสที่เกิดมาจะไม่เป็นอุภโตสุชาติ คือ เกิดจากมารดาและบิดาดีไม่พร้อมทั้งสองฝ่าย ดีเฉพาะบิดาฝ่ายเดียว จึงได้อภิเษกสมรสด้วยเจ้าหญิงทั้ง ๔ ผู้เป็นกนิฏฐภคินี ยกขึ้นเป็นอัครมเหสีสืบราชสันตติวงศ์
              ต่อมาพระเจ้าอุกกากะราช ทรงตรัสถามข่าวถึงพระโอรสและพระธิดาด้วยความเป็นห่วง อำมาตย์ได้กราบทูลพฤติการณ์ของพระโอรสทั้งหลายให้ทรงทราบ พระองค์ทรงได้ปราโมทย์ ตรัสสรรเสริญพระโอรสทั้งหลายว่า เป็นผู้สามารถดี ด้วยคำว่า สักกะ แปลว่า อาจ ด้วยพระวาจานี้ได้ถือเป็นมงคลนิมิตของกษัตริย์นครกบิลพัสดุ์ว่า ศากยะ ดังนั้นกษัตริย์วงศ์นี้ จึงมีนามว่า ศากยวงศ์ ดำรงขัตติยสกุลสืบมา
              ฝ่ายพระเชฏฐภคินี เจ้าหญิงผู้พี่นั้น ได้อภิเษกสมสู่ด้วยพระเจ้ากรุงเทวทหะ ตั้งวงศ์กษัตริย์อีกวงศ์หนึ่ง เรียกว่า โกลิยวงศ์ ดำรงขัตติยสกุลสืบมา
              กษัตริย์ศากยสกุลในพระนครกบิลพัสดุ์ สืบเชื้อสายจำเนียรกาลลงมาโดยลำดับ ถึงพระเจ้าชยเสนะ ทรงครองราช พระองค์ทรงมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง พระนามว่า สีหหนุ พระราชบุตรีพระองค์หนึ่ง พระนามว่า ยโสธรา ครั้นพระเจ้าชยเสนะทิวงคตแล้ว สีหหนุกุมารผู้เป็นรัชทายาท ก็ทรงสืบศากยวงศ์ ได้ทรงขอพระนางกาญจนาพระกนิฏฐภคินีของพระเจ้าอัญชนะ กษัตริย์แห่งนครเทวทหะ มาเป็นพระมเหสี มีพระราชบุตรพระราชบุตรี แต่พระนางกาญจนาเทวี ๗ พระองค์ เป็นชาย ๕ พระองค์ คือ สุทโธทนะ ๑ สุกโกทนะ ๑ อมิโตทนะ ๑ โธโตทนะ ๑ ฆมิโตทนะ ๑ เป็นหญิง ๒ พระองค์ คือ ปมิตา ๑ อมิตา ๑
              พระเจ้าอัญชนะกษัตริย์แห่งนครเทวทหะ ก็ได้ทูลขอพระนางยโสธรา พระกนิฏฐภคินี ของพระเจ้าสีหหนุไปเป็นมเหสี มีพระราชบุตรพระราชบุตรี ๔ พระองค์ เป็นชาย ๒ พระองค์ คือ สุปปพุทธะ ๑ ทัณฑปาณิ ๑ เป็นหญิง ๒ พระองค์ คือ มายา ๑ ปชาบดี ๑ พระองค์หลังนี้เรียกว่า โคตมี บ้าง ต่อมาพระเจ้าสีหหนุได้ทูลขอพระนางมายา พระราชธิดาของพระเจ้าอัญชนะ แห่งเทวทหะนคร ให้เป็นพระชายาของพระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบุตรองค์ใหญ่ ทรงประกอบพระราชพิธีมงคลอภิเษกสมรสในงานครั้งนี้เป็นการใหญ่ ณ ปราสาทโกกนุท ที่อโศกอุทยาน พระนครเทวทหะ ครั้นพระเจ้าสีหหนุทิวงคตแล้ว สุทโธทนะราชกุมาร ก็ได้ขึ้นครองราชสมบัติสืบศากยวงศ์ต่อมา

พระบรมโพธิสัตว์ 
 ในกาลนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าบังเกิดเป็นสันตุสิตเทวราช เสวยทิพยสมบัติอยู่ในรัตนวิมานสวรรค์ชั้นดุสิตเทวโลก ครั้งนั้น ท้าวมหาพรหมและเทวราชในสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นฟ้า ชวนกันไปเฝ้ากราบทูลอาราธนาพระบรมโพธิสัตว์เจ้า จุติลงไปบังเกิดเป็นมนุษย์ในมนุษยโลก เพื่อจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูสัมพุทธเจ้า แสดงธรรมสั่งสอนประชากรให้รู้ธรรมและประพฤติธรรม สมดังที่พระองค์ได้บำเพ็ญบารมีตั้งพระทัยไว้แต่แรก
              พระบรมโพธิสัตว์เจ้า ยังมิได้รับอาราธนาของทวยเทพทั้งหลายก่อน ทรงพิจารณาดู ปัญจมหาวิโลกนะ ๕ ประการ คือ ๑. กาล ๒. ประเทศ ๓. ตระกูล ๔. มารดา ๕. อายุ เห็นว่าอยู่ในสถานที่ควรจะเสด็จจุติลงได้ ด้วยจะสำเร็จดังมโนปณิธานที่ทรงตั้งไว้ จึงได้ทรงรับคำทูลเชิญของมวลเทพนิกร
              เมื่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ส่งเทพเจ้าทั้งหลายกลับคืนนิวาสถานของตน ๆ แล้ว เสด็จแวดล้อมไปด้วยเทพบริวาร ไปสู่นันทวันอุทยาน อันมีในดุสิตเทวโลก เสด็จประภาสรื่นรมณ์อยู่ในทิพย์อุทยานนั้น ครั้นได้เวลาอันสมควรก็เสด็จจุติลงมาปฏิสนธิในครรภ์ของพระนางเจ้ามายาราชเทวี อัครมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ ณ พระนครกบิลพัสดุ์ ในวันเพ็ญ เดือน ๘ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี
              ในราตรีกาลวันอาสาฬหปุรณมี เพ็ญเดือน ๘ นั้น พระนางเจ้ามายาราชเทวีทรงอธิฐานสมาทานอุโบสถศีล เสด็จบรรทมบนพระแท่นที่ ในเวลารุ่งสุริยรังษีปัจจุบันสมัย ทรงพระสุบินนิมิตว่า
              "ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ มายกพระองค์ไปพร้อมกับพระแท่นที่ผทม เอาไปวางไว้บนแผ่นมโนศิลา ภายใต้ต้นรังใหญ่ แล้วมีนางเทพธิดามาทูลเชิญให้เสด็จไปสรงน้ำในสระอโนดาษ ชำระล้างมลทินแห่งมนุษย์แล้ว ทรงผลัดด้วยผ้าทิพย์ ลูบไล้ด้วยเครื่องหอมอันเป็นทิพย์ ทั้งประดับด้วยทิพย์บุบผาชาติ ใกล้ภูเขาเงินภูเขาทอง แล้วเชิญเสด็จให้เข้าผทมในวิมานทอง บ่ายพระเศียรไปยังปราจีนทิศ (ตะวันออก) ขณะนั้นมีเศวตกุญชร ช้างเผือกเชือกหนึ่ง ชูงวงจับดอกปุณฑริกปทุมชาติ (บัวขาว) เพิ่งแย้มบาน กลิ่นหอมฟุ้งตระหลบ ลงจากภูเขาทองด้านอุตตรทิศ ร้องก้องโกญจนาทเดินเข้าไปในวิมาน ทำปทักษิณเวียนพระแท่นที่ผทมได้ ๓ รอบ แล้วปรากฏเสมือนเข้าไปสู่พระอุทรทางเบื้องขวาของพระราชเทวี" ก็พอดีพระนางเจ้าเสด็จตื่นบรรทม ขณะนั้นก็พลันบังเกิดกัมปนาทแผ่นดินไหว มีรัศมีสว่างไปทั่วโลกธาตุ เป็นบุพพนิมิตโดยธรรมนิยม ในเวลาพระบรมโพธิสัตว์เจ้าเสด็จลงปฏิสนธิในพระครรภ์พระนางเจ้ามายาราชเทวี
              ครั้นเวลารุ่งเช้า พระนางเจ้ามายาราชเทวี จึงกราบทูลเรื่องพระสุบินนิมิตเมื่อราตรีแก่พระราชสามี พระเจ้าสุทโธทนะมหาราช จึงรับสั่งให้เชิญพราหมณ์ปาโมกข์โหราจารย์เข้ามาเฝ้า แล้วทรงเล่าเรื่องพระสุบินของพระราชเทวีให้ทำนาย พราหมณ์ทั้งหลายก็ทูลพยากรณ์ว่า พระสุบินของพระราชเทวี เป็นมงคลนิมิตปรากฏ พระองค์จะได้พระปิโยรส เป็นอัครบุรุษมนุษย์ชายชาติเชื้ออาชาไนย มีบุญญาธิการยิ่งใหญ่ในโลกสันนิวาส เป็นที่พึ่งของประชาชาติไม่มีผู้ใดเสมอ พระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงสดับก็ทรงโสมนัส โปรดประทานการบริหารพระครรภ์พระราชเทวีเป็นอย่างดี ให้สนมอยู่ประจำที่คอยอภิบาลอยู่ตลอดเวลา
              เมื่อพระนางเจ้ามายาราชเทวีทรงพระครรภ์อยู่ถ้วนทศมาส ๑๐ เดือนบริบูรณ์แล้วมีพระทัยปราถนาจะเสด็จไปเมืองเทวทหะนคร อันเป็นชาติภูมิของพระองค์ จึงกราบทูลลาพระเจ้าสุทโธทนะพระราชสามี ครั้นได้รับพระราชทานอนุมัติแล้ว ก็เสด็จโดยราชยานสีวิกามาศ (วอทอง) แวดล้อมด้วยเสนามาตย์ราชบริพาร ตามเสด็จถวายอารักขาเป็นอย่างดี ในวันวิสาขะปุณณมี เพ็ญเดือน ๖ ออกจากพระนครในเวลาเช้า เสด็จไปตามมรรคาโดยสวัสดี ตราบเท่าบรรลุถึงลุมพินีสถาน อันตั้งอยู่ในระหว่างพระนครทั้งสอง คือ พระนครกบิลพัสดุ์และพระนครเทวทหะ เป็นรมณียสถาน บริบูรณ์ด้วยรุกขบุบผาผลาชาติ กำลังผลิตดอกออกผล หอมฟุ้งขจรจบในบริเวณนั้น พระนางเจ้ามีพระทัยปรารถนาจะเสด็จประพาส จึงอำมาตย์ทั้งหลายก็เชิญเสด็จแวะจากมรรคา เสด็จเข้าสู่ลุมพินีวัน เสด็จลงจากราชยานสีวิกามาศ แวดล้อมด้วยพระพี่เลี้ยงและนารีราชบริวารเป็นอันมาก เสด็จดำเนินไปถึงร่มไม้สาละพฤกษ์ ทรงยกพระหัตถ์เหนี่ยวกิ่งสาละซึ่งอ่อนน้อมค้อมลงมา ขณะนั้นก็ประจวบลมกัมมัชวาตหวั่นไหวประชวรพระครรภ์ ใกล้ประสูติ เจ้าพนักงานทั้งหลายก็รีบจัดสถานที่ผูกม่านแวดวงเข้ากับภายใต้ร่มไม้สาละถวายเท่าที่พอจะทำได้ แล้วก็ชวนกันออกมาภายนอก เทพยดาในหมื่นจักรวาลมาประชุมพร้อมกัน ณ ที่นั้น พระนางเจ้ามายาเทวี ทรงนุ่งโกสัยพัสตร์ขจิตด้วยทอง ทรงห่มทุกุลพัสตร์คลุมพระองค์ลงไปถึงหลังพระบาท ประทับยืนผันพระปฤษฏางค์พิงเข้ากับลำต้นมงคลสาละพฤกษ์ พระหัตถ์ขวาเหนี่ยวกิ่งสาละ ทอดพระเนตรไปยังปราจีนทิศ
              ในกาลนั้น เป็นมหามงคลหุติฤกษ์ พระบรมโพธิสัตว์เจ้าประสูติจากมาตุคัพโภทร ท้าวสุธาวาสมหาพรหมทั้ง ๔ พระองค์ ก็ทรงถือข่ายทองรองรับพระกายไว้ ในที่เฉพาะพระพักตร์พระราชเทวีแล้วกล่าวว่า พระแม่เจ้าจงทรงโสมนัสเถิด พระราชโอรสที่ประสูตินี้ มีมเหศักดาอานุภาพยิ่งนัก ขณะนั้นท่ออุทกธาราทั้งสองก็ไหลหลั่งลงมาจากอากาศ ท่อธารหนึ่งเป็นน้ำร้อน ท่อธารหนึ่งเป็นน้ำเย็น ตกลงมาโสรจสรงพระกายพระกุมารกับพระราชมารดา


พระสิทธัตถะกุมาร
              ลำดับนั้นท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ พระองค์ ก็ทรงรับพระราชกุมารไปจากพระหัตถ์ท้าวมหาพรหม โดยรองรับพระองค์ด้วยอชินจัมมาชาติ อันมีสุขสัมผัส ซึ่งสมมุติว่าเป็นมงคลในโลก ต่อนั้น นางนมทั้งหลายจึงรองรับพระองค์ด้วยผ้าทุกุลพัสตร์จากพระหัตถ์ท้าวจตุโลกบาล และขณะนั้นพระราชกุมาร ก็เสด็จอุฏฐาการลงจากมือนางนมทั้งหลาย เสด็จเหยียบยืนยังพื้นภูมิภาค ด้วยพระบาททั้งสองเสมอเป็นอันดี ท้าวมหาพรหมก็ทรงเปรมปรีย์ ทรงทิพย์เศวตฉัตรกลางกั้น กันละอองมิให้มาถูกต้องพระยุคลบาท ท้าวสยามเทวราช ทรงซึ่งทิพย์วาลวิชนีอันวิจิตร เทพบุตรที่มีมหิทธิฤทธิ์องค์หนึ่ง ถือพระขรรค์อันขจิตด้วยแก้ว ๗ ประการ เทพบุตรองค์หนึ่งยืนประดิษฐานถือฉลองพระบาทชาตรูปมัยทั้งคู่ เทพบุตรองค์หนึ่งยืนเชิดชูทิพยมหามงกุฏ ล้วนเป็นเกียรติแก่พระกุมาร ซึ่งเพียบพร้อมด้วยเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ทั้ง ๕ ปรากฏแก่นัยน์ตาของมวลมนุษย์ แต่เทพยดาทั้งหลายที่ถือนั้นมิได้เห็นปรากฏ









พระกุมารดำรัสอาภิสวาจา-สหชาติที่บังเกิดร่วมกัน
              ครั้นพระกุมารทอดพระเนตรไปยังปราจีนทิศ เห็นเทพยดามนุษย์เป็นอันมาก มาสโมสรสันนิบาตในลานอันเดียวกัน และเทพยดาทั้งปวงนั้นทำสักการะบูชาด้วยบุบผาชาติต่าง ๆ ตั้งไว้บนเศียรเกล้า แล้วกล่าวว่า ข้าแต่พระกุมาร พระองค์เป็นผู้ประเสริฐสุด จะหาบุคคลในโลกนี้เสมอด้วยพระองค์มิได้มี ครั้นแล้วพระกุมารเจ้าก็บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศอุตตรทิศ เสด็จย่างพระบาทไปบนพื้นแผ่นทอง อันท้าวจตุโลกบาลถือรองรับไว้ได้ ๗ ก้าว แล้วทรงหยุดประทับยืนบนทิพยปทุมบุบผาชาติ อันมีกลีบได้ ๑๐๐ กลีบ ทรงเปร่งพระสุรเสียงอันไพเราะดุจเสียงท้าวมหาพรหม ดำรัสอาภิสวาจาด้วยพระคาถาว่า
              อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส               เชฏฺโฐ เสฏฺโฐ หมสฺมิ
              อยนฺติมา เม ชาติ                  นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว ฯ
              ความว่า ในโลกนี้ เราเป็นยอด เป็นผู้เจริญที่สุด เป็นผู้ประเสริฐที่สุด การเกิดของเรานี้เป็นครั้งสุดท้าย ภพใหม่ต่อไปไม่มี
              ขณะนั้น โลกธาตุก็บังเกิดมหัศจรรย์หวั่นไหว รัศมีพระอาทิตย์ก็อ่อนมิได้ร้อนเย็นสบาย มหาเมฆก็ตั้งขึ้นในทิศทั้งหลาย ยังวัสโสทกให้ตกลงในที่นั้น ๆ โดยรอบ ทิศานุทิศทั้งหลายก็โอภาสสว่างยิ่งนัก ทั้งสรรพบุพพนิมิตปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ก็ปรากฏมี ดุจการเมื่อเสด็จลงปฏิสนธิในพระครรภ์นั้น
              และในวันพระกุมารประสูตรนั้น มีมนุษย์และสัตว์ กับสิ่งซึ่งเป็นสหชาติมงคลบังเกิดร่วมกันวันทันสมัยถึง ๗ คือ พระนางพิมพา ๑ พระอานนท์ ผู้เป็นราชโอรสพระเจ้าอมิโตทนะ พระเจ้าอา ๑ กัณฐกอัสวราช ม้าพระที่นั่ง ๑ ไม้มหาโพธิ์ ๑ กับขุมทอง ๔ ขุม คือ ขุมทองสังขนิธี ขุมทองเอลนิธี ขุมทองอุบลนิธี ขุมทองปุณฑริกนิธี
              ครั้นกษัตริย์ศากยราชทั้งสองพระนครทรงทราบข่าวสาร พระกุมารประสูติก็ทรงปีติโสมนัสเป็นที่ยิ่ง จึงเสด็จมาอันเชิญพระราชกุมารพร้อมด้วยพระชนนี แวดล้อมด้วยมหันตราชบริวาร กึกก้องด้วยดุริยะประโคมขาน แห่เสด็จคืนเข้าพระนครกบิลพัสดุ์ พระเจ้าสุทโธทนะรับสั่งให้จัดพี่เลี้ยง นางนม พร้อมด้วยเครื่องสูงแบบกษัตริย์ บำรุงพระราชกุมาร กับจัดแพทย์หลวงถวายการบริหารพระราชเทวี พระราชชนนีของพระกุมารเป็นอย่างดี
อสิตะดาบสเข้าเฝ้าเยี่ยมและถวายพยากรณ์
              ครั้งนั้นมีดาบสองค์หนึ่งมีนามว่า กาฬเทวิล แต่มหาชนเรียกว่า อสิตะ ได้สมาบัติ ๘ มีฤทธิ์มาก เป็นกุลุปกาจารย์ของพระเจ้าสุทโธทนะ ได้ทราบข่าวจากเทพยดาว่า พระเจ้าสุทโธทนะได้พระราชโอรส จึงได้เดินทางเข้าไปยังกบิลพัสดุ์นคร เข้าเฝ้าพระเจ้าสุทโธทนะในพระราชนิเวศน์ ถวายพระพรถามข่าวถึงการประสูติของพระราชโอรส พระเจ้าสุทโธทนะทรงปีติปราโมทย์ รับสั่งให้เชิญพระโอรสมาถวายเพื่อนมัสการท่านอสิตะดาบส แต่พระบาททั้งสองของพระโอรส กลับขึ้นไปปรากฏบนเศียรเกล้าของอสิตะดาบสเป็นอัศจรรย์ พระดาบสเห็นดังนั้น ก็สดุ้งตกใจ ครั้นพิจารณาดูลักษณะของพระกุมาร ก็ทราบชัดด้วยปัญญาญาณ มีน้ำใจเบิกบาน หัวเราะออกมาได้ด้วยความปีติโสมนัส ประนมหัตถ์ถวายอภิวาทแทบพระยุคคลบาทของพระกุมาร และแล้วอสิตะดาบสกลับได้คิด เกิดโทมนัสจิตร้องไห้เสียใจในวาสนาอาภัพของตน
              พระเจ้าสุทโธทนะได้ทอดพระเนตรเห็นอาการของท่านอาจารย์พิกล ก็แปลกพระทัย เดิมก็ทรงปีติเลื่อมใสในการอภิวาทของท่านอสิตะดาบสว่า อภินิหารของพระปิโยรสนั้นยิ่งใหญ่ประดุจท้าวมหาพรหม จึงทำให้ท่านอาจารย์มีจิตนิยมชมชื่นอัญชลี ครั้นเห็นท่านอสิตะดาบสคลายความยินดีโศกาอาดูร ก็ประหลาดพระทัยสงสัย รับสั่งถามถึงเหตุแห่งการร้องไห้ และการหัวเราะ เฉพาะหน้า
              อสิตะดาบสก็ถวายพระพรพรรณนาถึงมูลเหตุ ว่าเพราะอาตมาพิจารณาเห็นเป็นมหัศจรรย์ พระกุมารนี้มีพระลักษณะพระโพธิสัตว์เจ้าบริบรูณ์ จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าโดยแท้ และจะเปิดโลกนี้ให้กระจ่างสว่างไสวด้วยพระกระแสแห่งธรรมเทศนา เป็นคุณที่น่าโสมนัสยิ่งนัก แต่เมื่ออาตมานึกถึงอายุสังขารของอาตมาซึ่งชราเช่นนี้แล้ว คงจะอยู่ไปไม่ทันเวลาของพระกุมารจะได้ตรัสรู้เป็นพระบรมครูสั่งสอน จึงได้วิปฏิสารโศกเศร้า เสียใจที่มีอายุไม่ทันได้สดับรับพระธรรมเทศนา อาตมาจึงได้ร้องไห้
              ครั้นอสิตะดาบทถวายพระพรแล้ว ก็ทูลลากลับไปบ้านน้องสาว นำข่าวอันนี้ไปบอกนาลกะมานพ ผู้หลานชาย และกำชับให้พยายามออกบวชตามพระกุมารในกาลเมื่อหน้าโน้นเถิด

โกณทัญญพราหมณ์ยกนิ้วมือเดียวพยากรณ์-ถวายพระนาม
              ครั้นถึงวันเป็นคำรบ ๕ นับแต่พระกุมารประสูติมา พระเจ้าสุทโธทนะราชจึงโปรดให้ทำพระราชพิธีโสรจสรงองค์พระกุมารในสระโบกขรณี เพื่อถวายพระนามตามขัตติยราชประเพณี โปรดให้ตกแต่งพระราชนิเวศน์ ประพรมด้วยจตุรสุคนธชาติ และได้โปรยปรายซึ่งบุบผาชาติ มีข้าวตอกเป็นคำรพ ๕ ปูลาดอาสนะอันขจิตด้วยเงินทองและแก้ว ตกแต่งข้าวปายาสอันประณีต ให้ประชุมกษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี และเสนามุขอำมาต์ย ทั้งปวงพร้อมกันในพระราชนิเวศน์ รับสั่งให้เชิญพระราชโอรสอันประดับด้วยราชประสาธนาภรณ์อันวิจิตรมาสู่มหามณฑลสันนิบาต แล้วเชิญพราหมณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญในไตรเพท ๑๐๘ คน ให้เลือกสรรเอาพราหมณ์ ๘ คน ผู้ทรงคุณวิทยาประเสริฐกว่าพราหมณ์ทั้งหมดนั้น ให้นั่งเหนืออาสนะอันสูง แล้วให้เชิญพระราชโอรสไปยังที่ประชุมพราหมณ์ ๘ คนนั้น เพื่อพิจารณาพระลักษณะพยากรณ์
              พราหมณ์ ๘ คนนั้น มีนามว่า รามพราหมณ์ ๑ ลักษณะพราหมณ์ ๑ ยัญญพราหมณ์ ๑ ธุชพราหมณ์ ๑ โภชพราหมณ์ ๑ สุทัตตพราหมณ์ ๑ สุยามพราหมณ์ ๑ โกณทัญญพราหมณ์ ๑ ใน ๗ คนข้างต้น เว้นโกณทัญญพราหมณ์เสีย พิจารณาเห็นพระลักษณะพระกุมารบริบูรณ์ จึงยกนิ้วมือขึ้น ๒ นิ้ว ทูลเป็นสัญลักษณ์ทำนายมีคติ ๒ ประการว่า พระราชกุมารนี้ ผิว่าสถิตอยู่ในฆราวาส จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ผิว่าออกบรรพชาจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
              แต่โกณทัญญพราหมณ์ผู้เดียว ผู้มีอายุน้อย หนุ่มกว่าพราหมณ์ทั้ง ๗ คนนั้นได้พิจารณาเห็นแท้แน่แก่ใจว่า พระราชกุมารจะต้องได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแม่นมั่น จึงได้ยกนิ้วมือเดียว เป็นสัญลักษณ์พยากรณ์เป็นคติเดียวว่า พระราชกุมารบริบูรณ์ด้วยพระมหาบุรุษพุทธลักษณ์โดยส่วนเดียว จะอยู่ครองฆราวาสวิสัยมิได้ จะเสด็จออกบรรพชา และตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท
              และได้พร้อมกันถวายพระนามพระกุมาร ตามคุณพิเศษที่ปรากฏ เพราะพระกุมารมีพระรัศมีโอภาสงามแผ่สร้านออกจากพระสรีระกายเป็นปกติ จึงถวายพระนามว่า อังคีรส และเพราะพระกุมารต้องพระประสงค์สิ่งอันใด สิ่งอันนั้นจะต้องพลันได้ดังพระประสงค์ จึงได้ถวายพระนามว่า สิทธัตถะ แต่มหาชนนิยมเรียกตามพระโคตรว่า โคตมะ ( โดยเฉพาะคนไทยเราแต่ก่อนนิยมเรียกว่า สิทธารถ อ่านว่า สิทธาด )
              ในวันนั้น บรรดาขัตติยวงศ์ศากยราชทั้งหมด มีความปีติโสมนัสยิ่งนัก ต่างได้ทูลถวายราชบุตรองค์ละองค์ ๆ สิ้นด้วยกัน เป็นราชบริพารของพระราชกุมาร ฝ่ายพราหมณ์ ๗ คนที่ถวายพยากรณ์พระกุมารว่า มีคติเป็น ๒ นั้น เมื่อกลับไปถึงเคหะสถานแล้ว ต่างเรียกบุตรของตนมาสั่งว่า พระราชโอรสของพระมหากษัตริย์มีบุญญาธิการยิ่งนัก แต่บิดาชราแล้ว จะได้อยู่ทันเห็นพระองค์หรือไม่ก็มิรู้ หากพระกุมารจะเสด็จออกบรรพชาแล้วไซร้ จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นมั่นคง เจ้าทั้งหลายจงออกบวชในพระพุทธศาสนาเถิด


พระนางเจ้ามายาเสด็จทิวงคต-พระกุมารเจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน
              ส่วนพระนางมายาเทวี เมื่อประสูติพระบรมโพธิสัตว์เจ้าล่วงไปได้ ๗ วัน ก็เสด็จทิวงคต ไปบังเกิดเป็นเทพธิดา สถิตในดุสิตเทวโลก ตามประเพณีพระพุทธมารดา พระเจ้าสุทโธทนะจึงได้มอบการบำรุงรักษาพระสิทธัตถะกุมาร ให้เป็นภาระแก่พระนางปชาบดี โคตมี พระเจ้าน้า ซึ่งก็เป็นพระมเหษีของพระองค์ด้วย แม้พระนางปชาบดี โคตมี ก็ทรงมีพระเมตตารักใคร่พระกุมารเป็นที่ยิ่ง เอาพระทัยใส่ทำนุบำรุงพระกุมารเป็นอย่างดี แม้ต่อมาพระนางเจ้าจะทรงมีพระโอรสถึง ๒ พระองค์ คือ นันทกุมาร และรูปนันทากุมารี ก็ทรงมอบภาระให้แก่พี่เลี้ยงนางนมบำรุงรักษา ส่วนพระนางเจ้าทรงเป็นธุระบำรุงพระสิทธัตถะกุมารด้วยพระองค์เอง
              ต่อมาวันหนึ่ง เป็นวันพระราชพิธีวัปปมงคล งานแรกนาขวัญ พระเจ้าสุทโธทนะเสด็จไปทรงแรกนาขวัญ ในงานพระราชพิธีนั้น ก็โปรดเกล้าให้เชิญพระกุมารไปในงานพระราชพิธีนั้นด้วย ครั้นเสด็จถึงภูมิสถานที่แรกนาขวัญ ก็โปรดให้จัดร่มไม้หว้า ซึ่งหนาแน่นด้วยกิ่งใบ อันอยู่ใกล้สถานที่นั้น เป็นที่ประทับของพระกุมาร โดยแวดวงด้วยม่านอันงามวิจิตร ครั้นถึงเวลาพระเจ้าสุทโธทนะ ทรงไถแรกนา บรรดาพระพี่เลี้ยงนางนมที่เฝ้าถวายบำรุงรักษาพระกุมาร พากันหลีกออกมาดูพิธีนั้นเสียหมด คงปล่อยให้พระกุมารประทับ ณ ภายใต้ร่มไม้หว้าพระองค์เดียว
              เมื่อพระกุมารเสด็จอยู่พระองค์เดียว ได้ความสงัดเป็นสุข ก็ทรงนั่งขัดสมาธิเจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน ยังปฐมฌานให้บังเกิด ในเวลานั้นเป็นเวลาบ่าย เงาแห่งต้นไม้ทั้งหลาย ย่อมชายไปตามแสงตะวันทั้งสิ้น แต่เงาไม้หว้านั้นดำรงทรงรูปปรากฏเป็นปริมณฑลตรงอยู่ดุจเวลาตะวันเที่ยง เป็นมหัศจรรย์ เมื่อนางนมพี่เลี้ยงทั้งหลายกลับมา เห็นปาฏิหาริย์ดังนั้นก็พลันพิศวง จึงรีบไปกราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะราช ๆ ได้ทรงสดับก็เสด็จมาโดยเร็ว ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์เป็นมหัศจรรย์เช่นนั้น ก็ยกพระหัตถ์ถวายอภิวันทนาการ ออกพระโอฐดำรัสว่า เมื่อวันเชิญมาให้ถวายนมัสการพระกาฬเทวิลดาบส ก็ทรงทำปาฏิหาริย์ขึ้นไปยืนบนชฏาพระดาบส อาตมะก็ประณตครั้งหนึ่งแล้ว และครั้งนี้อาตมะก็ถวายอัญชลีเป็นวาระที่สอง ตรัสแล้วให้เชิญพระกุมารเสด็จคืนเข้าพระนคร ด้วยความเบิกบานพระทัย
              ครั้นจำเนียรกาลมา พระสิทธัตถกุมารเจริญพระชนมพรรษาได้ ๗ ขวบ พระราชบิดาจึงโปรดให้ขุดสระโบกขรณี ๓ สระ ปลูกปทุมบัวหลวงสระ ๑ ปลูกปุณฑริกบัวขาวสระ ๑ ปลูกอุบลบัวขาบสระ ๑ จัดให้มีเรือพายพร้อมสรรพ เพื่อให้พระกุมารและบริวารน้อย ๆ ทรงเล่นเป็นที่สำราญพระทัย กับทรงจัดเครื่องทรง คือจันทน์สำหรับทา ผ้าโผกพระเศียร ฉลองพระองค์ ผ้าทรงสะพัก พระภูษา ล้วนเป็นของมาแต่แคว้นกาสี ซึ่งนิยมว่าเป็นของประณีต ของดี ในเวลานั้นทั้งสิ้น มีคนคอยกั้นเศวตฉัตร (คือพระกลดขาว ซึ่งนับว่าเป็นของสูง) ทั้งกลางวันกลางคืน เพื่อจะมิให้เย็นร้อนธุลีละออง แดด น้ำค้าง มาถูกต้องพระกายได้
              เมื่อพระสิทธัตถะกุมารมีพระชนม์เจริญ ควรจะศึกษาศิลปวิทยาได้แล้ว พระราชบิดาจึงทรงพาไปมอบไว้ในสำนักครูวิศวามิตร พระกุมารทรงเรียนได้ว่องไว จนสิ้นความรู้ของอาจารย์สิ้นเชิง ต่อมาได้ทรงแสดงศิลปธนู ซึ่งถือว่าเป็นวิชาสำคัญสำหรับกษัตริย์ ในท่ามกลางขัตติยวงศ์ศากยราช และเสนามุขอำมาตย์ แสดงความแกล้วกล้าสามารถเป็นเยี่ยม ไม่มีผู้ใดเทียมถึง ให้ปรากฏเป็นอัศจรรย์
              ครั้นพระกุมารมีพระชันษาได้ ๑๖ ปี ควรมีพระเทวีได้แล้ว พระราชบิดาตรัสสั่งให้สร้างปราสาท ๓ หลัง คือ วัมยปราสาท ๑ สุรัมยปราสาท ๑ สุภปราสาท ๑ เพื่อเป็นที่เสด็จประทับอยู่ของพระราชโอรสใน ๓ ฤดูกาล คือ ฤดูหนาว ฤดูร้อน ฤดูฝน ตกแต่งปราสาท ๓ หลังนั้นงดงามสมพระเกียรติ เป็นที่สบายในฤดูนั้น ๆ แล้วตรัสขอ พระนางยโสธรา แต่นิยมเรียกว่า พระนางพิมพา พระราชบุตรีของพระเจ้าสุปปพุทธะ ในเทวทหนคร อันประสูติแต่พระนางอมิตา พระกนิฏฐภคินีของพระองค์ มาอภิเษกเป็นพระชายา พระสิทธัตถะกุมารเสด็จอยู่บนปราสาททั้ง ๓ หลังนั้น ตามฤดูทั้ง ๓ บำเรอด้วยดนตรีล้วน แต่สตรีประโคมขับ ไม่มีบุรุษเจือปน เสวยสุขสมบัติทั้งกลางวันกลางคืน จนพระชนม์ได้ ๒๙ ปี มีพระโอรสประสูติแต่นางยโสธราพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า ราหุลกุมาร
พระสิทธัตถะกุมารทอดพระเนตรเทวทูต
              พระสิทธัตถะบริบูรณ์ด้วยความสุขตั้งแต่ทรงพระเยาว์ จนทรงพระเจริญวัยเห็นปานนี้ ก็เพราะเป็นพระราชโอรสสุขุมาลชาติ ยิ่งพระราชบิดาและพระญาติวงศ์ ได้ทรงฟังคำทำนายของอสิตดาบส และพราหมณ์ทั้ง ๘ นาย ว่ามีคติเป็นสอง คือจะต้องประสบอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าอยู่ครองสมบัติ จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ถ้าออกบรรพชาจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก ก็จำเป็นอยู่เองที่พระองค์จะปรารถนาให้พระกุมารอยู่ครองสมบัติ มากกว่าที่จะยอมให้ออกบรรพชา จึงต้องคิดอุบายรักษาผูกพันพระกุมารไว้ให้เพลินเพลินในกามสุขอย่างนี้
              วันหนึ่ง พระสิทธัตถะเสด็จประพาสพระราชอุทยาน โดยรถพระที่นั่ง ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ซึ่งเทพยดานิรมิตให้ทอดพระเนตรในระยะทาง ทรงเบื่อหน่ายในกามสุข ตั้งต้นแต่ได้ทรงเห็นคนแก่ เป็นลำดับไป
              ทรงหยั่งเห็นความแก่ ความเจ็บ ความตาย ครอบงำมหาชนอยู่ทุกคน ไม่ล่วงพ้นไปได้ เป็นอย่างนั้น เพราะโทษที่ได้ฟังคำสอนของนักปราชญ์ เห็นผู้อื่นแก่ เจ็บ ตาย ย่อมเบื่อหน่ายเกลียดชัง ไม่คิดถึงตัวว่า จะต้องเป็นเหมือนอย่างนั้นบ้าง เมาอยู่ในวัย ในความไม่มีโรค และในชีวิต เหมือนหนึ่งเป็นคนจะไม่ต้องแก่ เจ็บ ตาย มีแต่ขวนขวายหาของอันมีสภาวะเช่นนั้น ไม่คิดอุบายเครื่องพ้นบ้างเลย ถึงพระองค์ก็มีอย่างนั้นเป็นธรรม แต่จะเกลียดเบื่อหน่ายเหมือนอย่างเขา ไม่สมควรแก่พระองค์เลย
              เมื่อทรงดำริอย่างนี้แล้ว ก็ทรงบันเทาความเมา ๓ ประการ คือ เมาในวัย เมาในความไม่มีโรค และเมาในชีวิต กับทั้งความเพลิดเพลินในกามสมบัติเสียได้ จึงทรงดำริต่อไปว่า ธรรมดาสภาวะทั้งปวง ย่อมมีของที่เป็นข้าศึกแก่กัน เช่นมีร้อน ก็มีเย็นแก้ มีมืด ก็มีสว่างแก้ บางทีจะมีอุบายแก้ทุกข์ ๓ อย่างนั้นได้บ้างกระมัง ก็แต่ว่า การที่จะแสวงหาอุบายแก้ทุกข ์ ๓ อย่างนั้น เป็นการยากอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ยังอยู่ในฆราวาสวิสัย จะแสวงหาไม่ได้ เพราะฆราวาสนี้เป็นที่คับแคบนัก และเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์อันทำใจให้เศร้าหมอง เหตุความรัก ความชัง ความหลง ดุจเป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นช่องว่าง พอเป็นที่แสวงหาอุบายนั้นได้ ทรงดำริอย่างนี้แล้ว ก็มีพระอัธยาศัยน้อมไปในบรรพชา ไม่ยินดีในฆราวาสสมบัติ
              ครั้นทรงแน่พระทัยว่า เป็นอุบายให้แสวงหาธรรมเป็นเครื่องพ้นได้เช่นนั้น ก็ทรงโสมนัส เสด็จกลับพระราชวังในเวลาเย็น ด้วยพระเกียรติยศอันสูง เสด็จขึ้นประทับที่มุขปราสาทชั้นบน

พระสิทธัตถะกุมารทรงสดับคุณบทพระนิพพาน
              ขณะนั้น นากีสาโคตมี ราชกัญญาแห่งศากยราช ได้ทอดพระเนตรเห็นพระสิทธัตถะ ทรงมีพระทัยปฏิพัทธ ได้ตรัสคาถาสรรเสริญพระคุณสมบัติของพระกุมารด้วยสุรเสียงอันไพเราะว่า
              นิพฺพุตา นูน สา มาตา               นิพฺพุโต นูน โส ปิตา
              นิพฺพุตา นูน สา นารี                   ยสฺสายํ อีทิโส ปติ.
              ความว่า หญิงใด เป็นมารดาของพระกุมารนี้ หญิงนั้นดับทุกข์ได้ ชายใดเป็นบิดาของพระกุมารนี้ ชายนั้นดับทุกข์ได้ พระกุมารนี้เป็นสามีของนางใด นางนั้นก็ดับทุกข์ได้
              พระสิทธัตถะทรงสดับคาถานั้น ทรงเลื่อมใส พอพระทัยในคำว่า นิพฺพุตา ความดับทุกข์ ซึ่งมีความหมายไกลออกไปถึงพระนิพพาน ธรรมเครื่องดับทุกข์ทั้งมวล ทรงดำริว่า พระน้องนางผู้นี้ ให้เราได้สดับคุณบทแห่งพระนิพพานครั้งนี้ ชอบยิ่งแล้วจึงทรงถอดสร้อยมุกข์ซึ่งมีค่ายิ่งจากพระศอ พระราชทานรางวัลแก่พระนางกีสาโคตมีด้วยทรงปิติยินดี ผดุงน้ำพระทัยให้พระองค์น้อมไปในการเสด็จออกบรรพชายิ่งขึ้น แต่ตรงข้ามจากความรู้สึกของพระนางกีสาโคตมี ซึ่งมีความรู้สึกในศัพท์ว่า นิพฺพุตา ต่ำ ๆ เพียงดับทุกข์ยาก ไม่ต้องเดือดร้อน สำหรับคนครองเรือน ยิ่งได้รับพระราชทานสร้อยมุกข์ ก็กลับเพิ่มความปฏิพัทธในพระกุมารยิ่งขึ้น คิดว่าพระกุมารคงจักพอพระทัยปฏิพัทธในพระนาง และแล้วก็คิดไกลออกไปตามวิสัยของคนมีความรัก

พระสิทธัตถะกุมารเสด็จหนีออกบรรพชา
              ครั้นพระสิทธัตถะทรงน้อมพระทัยเสด็จออกบรรพชาเช่นนั้น ก็ทรงเห็นมีทางเดียว คือ เสด็จหนีออกจากพระนคร ตัดความอาลัย ความเยื่อใย ในราชสมบัติ พระชายา และพระโอรส กับทั้งพระประยูรญาติ ตลอดราชบริพารทั้งสิ้น ด้วยหากจะทูลพระราชบิดา ก็คงจะถูกทัดทาน ยิ่งมวลพระประยูรญาติทราบเรื่อง ก็จะรุมกันห้ามปราม การเสด็จออกซึ่งหน้า ไม่เป็นผลสำเร็จได้ เมื่อทรงตั้งพระทัยเสด็จหนีเช่นนั้นแล้ว ในเวลาราตรีนั้น เสด็จบรรทมแต่หัวค่ำ ไม่ทรงใยดีในการขับประโคมด้วยดุริยางค์ดนตรีของพวกราชกัญญาทั้งหลาย ที่ประจงจัดถวายบำรุงบำเรอทุกประการ
              เมื่อพระสิทธัตถะทรงตื่นบรรทมในเวลาดึกสงัดแห่งราตรีนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นนางบำเรอฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรีเหล่านั้น นอนหลับอยู่เกลื่อนภายในปราสาท ซึ่งสร้างด้วยแสงประทีป บางนางอ้าปาก กัดฟัน น้ำลายไหล บางนางผ้านุ่งหลุด บางนางกอดพิณ บางนางก่ายเปิงมาง บางนางบ่น ละเมอ นอนกลิ้งกลับไปมา ปรากฏแก่พระสิทธัตถะ ดุจซากศพ อันทิ้งอยู่ในป่าช้าผีดิบ ปราสาทอันงามวิจิตรแต่ไหนแต่ไรมา ได้กลายเป็นป่าช้า ปรากฎแก่พระสิทธัตถะในขณะนั้น เป็นการเพิ่มกำลังความดำริในการออกบรรพชาในเวลาย่ำค่ำเพิ่มขึ้นอีก ทรงเห็นบรรพชาเป็นทางที่ห่างอารมณ์อันล่อให้หลงและมัวเมา เป็นช่องที่จะบำเพ็ญปฏิบัติ เป็นประโยชน์ตนและผู้อื่น ทำชีวิตให้มีผลไม่เป็นหมัน ทรงตกลงพระทัยเช่นนี้ ก็เตรียมแต่งพระองค์ทรงพระขรรค์ รับสั่งเรียกนายฉันนะ อำมาตย์ ให้เตรียมผูกม้ากัณฐกะ เพื่อเสด็จออกในราตรีนั้น
              ครั้นตรัสสั่งแล้วก็เสด็จไปยังปราสาทพระนางพิมพาเทวี เพื่อทอดพระเนตรราหุลกุมาร พระโอรสพระองค์เดียวของพระองค์ เผยพระทวารห้องบรรทมของพระนางพิมพาเทวี เห็นพระนางบรรทมหลับสนิท พระกรกอดโอรสอยู่ ทรงดำริจะอุ้มพระโอรสขึ้นชมเชยเป็นครั้งสุดท้าย ก็เกรงว่าพระนางพิมพาจะทรงตื่นบรรทม เป็นอุปสรรคขัดขวางการเสด็จออกบรรพชา จึงตัดพระทัยระงับความเสน่หาในพระโอรส เสด็จออกจากห้องเสด็จลงจากปราสาท พบนายฉันนะเตรียมม้าพระที่นั่งไว้พร้อมดีแล้ว ก็เสด็จขึ้นประทับม้ากัณฐกะ มีนายฉันนะตามเสด็จหนึ่งคน เสด็จออกจากพระนครในราตรีกาล ซึ่งเทพยดาบรรดาลเปิดทวารพระนครไว้ให้เสด็จโดยสวัสดี
              เมื่อเสด็จข้ามพระนครไปแล้ว ขณะนั้นพญามารวัสวดี ผู้มีจิตบาป เห็นพระสิทธัตถะสละราชสมบัติ เสด็จออกจากพระนคร เพื่อบรรพชา จะล่วงพ้นบ่วงของอาตมาซึ่งดักไว้ จึงรีบเหาะมาประดิษฐานลอยอยู่ในอากาศ ยกพระหัตถ์ขึ้นร้องห้ามว่า ดูกร พระสิทธัตถะ ท่านอย่ารีบร้อนออกบรรพชาเสียก่อนเลย ยังอีก ๗ วันเท่านั้น ทิพยรัตนจักรก็จะปรากฏแก่ท่าน แล้วท่านก็จะได้เป็นองค์บรมจักรพรรดิ์ เสวยสมบัติเป็นอิสราธิบดี มีทวีใหญ่ทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ขอท่านจงนิวัตนาการกลับคืนเข้าพระนครเถิด
              พระสิทธัตถะจึงตรัสว่า ดูกรพญามาร แม้เราก็ทราบแล้วว่า ทิพยรัตนจักรจะเกิดขึ้นแก่เรา แต่เราก็มิได้มีความต้องการด้วยสมบัติบรมจักรพรรดิ์นั้น เพราะแม้สมบัติบรมจักรพรรดิ์นั้น ก็ตกอยู่ในอำนาจไตรลักษณ์ ไม่อาจนำผู้เสวยให้พ้นทุกข์ได้ ท่านจงหลีกไปเถิด เมื่อทรงขับพญามารให้ถอยไปแล้ว ก็ทรงขับม้ากัณฐกะราช ชาติมโนมัยไปจากที่นั้น บ่ายหน้าสู่มรรคา เพื่อข้ามให้พ้นเขตราชเสมาแห่งกบิลพัสดุ์บุรี เหล่าเทพยดาก็ปลาบปลื้มยินดี บูชาด้วยบุบผามาลัยมากกว่ามาก บ้างก็ติดตามห้อมล้อมถวายการรักษาพระมหาบุรุษเจ้าตลอดไป

ทรงตัดพระโมฬีถือเพศบรรชิตที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมานที
              พอจวนเวลาใกล้รุ่งปัจจุสมัย ก็บรรลุถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานที ก็ทรงขับม้ากัณฐกะกระโจนข้ามแม่น้ำไปโดยสวัสดี เมื่อทรงทราบว่าพ้นเขตบุรีกบิลพัสดุ์แล้ว ก็เสด็จลงจากหลังอัสวราช ประทับนั่งเหนือหาดทรายอันขาวสะอาด รับสั่งแก่นายฉันนะว่า เราจักบรรพชาถือเพศเป็นบรรพชิตในที่นี้ ท่านจงเอาเครื่องประดับของอาตมากับม้าสินธพกลับพระนครเถิด ครั้นตรัสแล้วก็ทรงเปลื้องเครื่องประดับสำหรับขัตติยราชทั้งหมดมอบให้แก่นายฉันนะ ตั้งพระทัยปรารถนาจะทรงบรรพชา จึงทรงดำริว่า เกศาของอาตมานี้ ไม่สมควรแก่สมณเพศ จึงทรงจับพระโมลีด้วยพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ ตัดพระโมลีให้ขาดออกเรียบร้อยด้วยพระองค์เอง แล้วทรงจับพระโมลีนั้นขว้างขึ้นไปบนอากาศ ทรงอธิษฐานว่า ถ้าอาตมาจะได้ตรัสรู้สัมโพธิญาณโดยแท้แล้ว ขอจุฬาโมลีนี้ จงตั้งอยู่ในอากาศ อย่าได้ตกลงมา ทว่าจะมิได้บรรลุสิ่งซึ่งต้องประสงค์ ก็จงตกลงมายังพื้นพสุธา ในทันใดนั้น จุฬาโมฬีก็มิได้ตกลงมา คงลอยอยู่ในอากาศ จึงสมเด็จพระอัมรินทราธิราชก็เอาผอบแก้วมารองรับไว้ แล้วนำไปบรรจุยังจุฬามณีเจดีย์สถาน ในเทวโลก
              ขณะนั้น ฆฏิการพรหม ก็น้อมนำไตรจีวรและบาตร มาจากพรหมโลกเข้าไปถวาย พระสิทธัตถะทรงรับผ้าไตรจีวรกาสาวพัสตร์และบาตรแล้ว ก็ทรงนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ ทรงอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต อุดมเพศ แล้วทรงมอบผ้าทรงเมื่อยังเป็นคฤหัสถ์เพศทั้งคู่ ให้แก่ฆฏิการพรหม ๆ ก็น้อมรับผ้าคู่นั้นไปบรรจุไว้ในทุสสเจดีย์ ในพรหมโลกสถาน.

นายฉันนะนำอาภรณ์กลับพระนครกบิลพัสดุ์
              เมื่อพระมหาบุรุษเจ้าทรงบรรพชาแล้ว จึงดำรัสสั่งนายฉันนะ อำมาตย์ว่า ท่านจงเป็นธุระนำอาภรณ์ของอาตมากลับเข้าไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ แจ้งข่าวแก่ขัตติยสกุลทั้งหลายอันยังมิได้รู้เหตุ แล้วกราบทูลพระปิตุเรศ และพระราชมาตุจฉาว่า พระโอรสของพระองค์หาอันตรายโรคาพยาธิสิ่งใดมิได้ บัดนี้บรรพชาแล้ว อย่าให้พระองค์ทรงทุกข์โทมนัสถึงพระราชบุตรเลย จงเสวยภิรมย์ราชสมบัติให้เป็นสุขทุกอิริยาบถเถิด เมื่ออาตมาได้บรรลุพระสัพพัญญุญาณแล้ว จะได้ไปเฝ้าพระราชบิดา พระมารดา กับทั้งพระประยูรญาติขัตติยวงศ์ทั้งมวล ท่านจงกลับไปกราบทูลข่าวสารด้วยประการฉะนี้
              นายฉันนะ อำมาตย์ รับพระราชโองการแล้ว ก็ถวายบังคมลาแทบพระยุคลบาท มิอาจจะกลั้นโศกาอาดูรได้ มิอยากจะจากไปด้วยความเสน่หาอาลัยเป็นที่ยิ่ง รู้สึกว่าเป็นโทษหนักที่ทอดทิ้งให้พระมหาบุรุษเจ้าอยู่แต่พระองค์เดียว แต่ก็ไม่อาจขัดพระกระแสรับสั่งได้ จำต้องจากพระมหาบุรุษเจ้าไปด้วยความสลดใจสุดจะประมาณ นำเครื่องอาภรณ์ของพระมหาบุรุษเจ้าทั้งหมด เดินทางพร้อมกับม้ากัณฐกะสินธวชาติ กลับพระนครกบิลพัสดุ์ พอเดินทางไปได้ชั่วสุดสายตาเท่านั้น ม้ากัณฐกะก็ขาดใจตาย ด้วยความอาลัยในพระมหาบุรุษเจ้าสุดกำลัง
              เมื่อนายฉันนะกลับไปถึงพระนคร ชาวเมืองทั้งปวงก็โจษจันกันอึงมี่ ว่านายฉันนะอำมาตย์กลับแล้ว ต่างก็รีบไปถามข่าว มวลหมู่อำมาตย์ทราบความก็บอกเล่ากันต่อ ๆ ไป ตราบจนนายฉันนะอำมาตย์เข้าเฝ้าพระเจ้าสุทโธทนะราช ถวายเครื่องอาภรณ์ของพระมหาบุรุษเจ้า แล้วกราบทูลความตามที่พระมหาบุรุษเจ้าสั่งมาทุกประการ
              ครั้นพระราชบิดา พระมาตุจฉา พระนางพิมพา ตลอดจนขัตติยราช ได้สดับข่าวก็ค่อยคลายความโศกเศร้า และต่างก็ตั้งหน้าคอยสดับข่าวตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ของพระมหาบุรุษสืบไป ตามคำพยากรณ์ที่อสิตดาบส และพราหมณ์ทั้งหลายทูลถวายไว้แต่ต้นนั้น


โกณทัญญพราหมณ์ชวนเพื่อนออกบวช
              ฝ่ายโกณฑัญญะพราหมณ์ได้ฟังข่าวว่า พระมหาบุรุษเสด็จออกบรรพชาแล้วก็ดีใจ รีบไปหาบุตรของเพื่อนพราหมณ์ทั้ง ๗ คน ที่ร่วมคณะถวายคำทำนายพระลักษณะด้วยกัน กล่าวว่า บัดนี้พระสิทธัตถะกุมารเสด็จออกบรรพชาแล้ว พระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้ ไม่มีข้อที่จะสงสัย ถ้าบิดาของท่านทั้งหลายยังมีชีวิตอยู่ก็จะออกบรรพชาด้วยกันในวันนี้ ผิว่าท่านทั้งหลายปรารถนาจะบวช ก็จงมาบวชตามเสด็จพระมหาบุรุษพร้อมกันเถิด แต่บุตรพราหมณ์ทั้ง ๗ นั้น หาได้พร้อมใจกันทั้งสิ้นไม่ ยินดีรับยอมบวชด้วยเพียง ๔ คน โกณฑัญญะพราหมณ์ก็พาพราหมณ์มานพทั้ง ๔ ออกบรรพชา เป็น ๕ คนด้วยกัน จึงได้นามว่า พระปัญจวัคคีย์ เพราะมีพวก ๕ คน ชวนกันออกสืบเสาะติดตามพระมหาบุรุษเจ้า
              ส่วนพระมหาบุรุษหลังแต่ทรงบรรพชาแล้ว เสวยบรรพชาสุขอยู่ ณ ที่ป่าไม้มะม่วงตำบลหนึ่ง มีนามว่า อนุปิยอัมพวัน เว้นเสวยพระกระยาหารถึง ๗ วัน ครั้นวันที่ ๘ จึงเสด็จดำเนินจากอนุปิยอัมพวันเข้าไปบิณฑบาตรในกรุงราชคฤห์ โดยกิริยาสงบอยู่ในอาการสังวร สมควรแก่ภาวะของสมณะ เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสของทุกคนที่ได้เห็น เมื่อได้บิณฑภัตรพอแก่ยาปนมัตถ์ ก็เสด็จกลับจากพระนคร โดยเสด็จออกจากทางประตูที่แรกเสด็จเข้าไป ตรงไปยังมัณฑวะบรรพต มีหน้าผาเป็นที่ร่มเย็น ควรแก่สมณวิสัย ประทับนั่ง ณ ที่สมควร ทรงปรารภจะเสวยอาหารในบาตร ทอดพระเนตรเห็นบิณฑาหารในบาตร ไม่สะอาด ไม่ประณีต หารสกลิ่นอันควรแก่การเสวยมิได้ เป็นอาหารเลว ที่พระองค์ไม่เคยทรงเสวยมาแต่ก่อน ก็บังเกิดปฏิกูล น่ารังเกียจเป็นที่ยิ่ง
              ลำดับนั้น พระองค์จึงตรัสสอนพระองค์เองว่า "สิทธัตถะ ตัวท่านบังเกิดในขัตติยสุขุมาลชาติ เคยบริโภคแต่อาหารปรุงแต่งด้วยสุคันธชาติโภชนสาลี อันประกอบด้วยสูปพยัญชนะมีรสอันเลิศต่าง ๆ ไฉนท่านจึงไม่รู้สึกตนว่า เป็นบรรพชิตเห็นปานฉะนี้ และเที่ยวบิณฑบาตร อย่างไรจะได้โภชนาหารอันสะอาดประณีตมาแต่ที่ใดเล่า และบัดนี้ ท่านสมควรจะคิดอย่างไรแก่อาหารที่ได้มานี้" ครั้นให้โอวาทแก่พระองค์ฉะนี้แล้ว ก็มนสิการในปฏิกูลสัญญา พิจารณาอาหารบิณฑบาตรด้วยปัจจเวกขณ์ และปฏิกูลปัจจเวกขณ์ ด้วยพระปรีชาญาณสมบูรณ์ด้วยพระสติดำรงมั่น ทรงเสวยมิสกาหารบิณฑบาตรอันนั้น ปราศจากความรังเกียจดุจอมฤตรส และทรงกำหนดในพระทัยว่า ตั้งแต่ทรงบรรพชามาได้ ๘ วัน เพิ่งได้เสวยภัตตาหารในวันนี้


พระเจ้าพิมพิสารเข้าเฝ้าพระมหาบุรุษถวายราชสมบัติ
              ครั้นพวกราชบุรุษได้เห็นพระมหาบุรุษในขณะเสด็จบิณฑบาต ก็นำความไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร ราชาธิบดีแห่งแคว้นมคธ พระเจ้าพิมพิสารจึงรับสั่งให้สะกดรอยติดตาม เพื่อทราบความเท็จจริงของบรรพชิตพิเศษรูปนี้ ครั้นพวกราชบุรุษติดตามได้ความจริงแล้ว ก็นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระเจ้ากรุงมคธให้ทรงทราบ
              พระเจ้าพิมพิสาร ได้ทรงสดับ ก็มีพระทัยโสมทัสในพระคุณสมบัติ ทรงพระประสงค์จะได้พบ จึงเสด็จด้วยพระราชยานออกจากพระนครโดยด่วน ครั้นถึงบัณฑวะบรรพต ก็เสด็จลงจากราชยาน เสด็จพระราชดำเนินเข้าไปเฝ้าพระมหาบุรุษเจ้า เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นพระอิริยาบถเรียบร้อย อยู่ในสมณสังวร ก็ยิ่งหลากพระทัย ทรงเลื่อมใสในปฏิปทาของพระมหาบุรุษ ครั้นได้ทูลถามถึงตระกูล ประเทศ และพระชาติ เมื่อทรงทราบว่าเป็นขัตติยศากยราชเสด็จออกบรรพชา ก็ทรงดำริว่า ชะรอยพระมหาบุรุษจะทรงพิพาทกับพระประยูรญาติ ด้วยเรื่องพระราชสมบัติเป็นแม่นมั่น จึงได้เสด็จออกบรรพชา ซึ่งเป็นธรรมดาของนักพรต ที่ออกจากราชตระกูลบรรพชาแต่กาลก่อน จึงได้ทรงเชื้อเชิญพระมหาบุรุษด้วยราชสมบัติ ซึ่งพระองค์ยินดีจะแบ่งถวายให้เสวยสมพระเกียรติทุกประการ
              พระมหาบุรุษจึงตรัสตอบขอบพระทัยพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งมีพระทัยกอรปด้วยพระเมตตา แบ่งสิริราชสมบัติพระราชทานให้ครอบครอง แต่พระองค์มิได้มีความประสงค์จำนงหมายเช่นนั้น ทรงสละราชสมบัติออกผนวช เพื่อมุ่งหมายพระสัพพัญญุตญาณโดยแท้
              พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงสดับ ก็ตรัสอนุโมทนา และทูลขอปฏิญญากะพระมหาบุรุษว่า ถ้าพระองค์ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ขอได้ทรงพระกรุณาเสด็จมายังพระนครราชคฤห์ แสดงธรรมโปรด ครั้นพระมหาบุรุษทรงรับปฏิญญาแล้ว ก็ถวายบังคมลากลับเข้าพระนคร

พระมหาบุรุษเสด็จเข้าสำนักดาบส-เริ่มทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา
              ลำดับนั้น พระมหาบุรุษก็เสด็จจาริกจากที่นั้น ไปสู่สำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร ซึ่งสร้างอาศรมอยู่ในพนาสณฑ์ตำบลหนึ่ง ขอพำนักศึกษาวิชาและข้อปฏิบัติอยู่ ทรงศึกษาอยู่ไม่นาน ก็ได้สำเร็จสมาบัติ ๗ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๓ สิ้นความรู้ของอาฬารดาบส ทรงเห็นว่าธรรมเหล่านี้มิใช่ทางตรัสรู้ จึงได้อำลาอาฬารดาบส ไปสู่สำนักอุทกดาบส รามบุตร ขอพำนักศึกษาอยู่ด้วย ทรงศึกษาไดอรูปฌาน ๔ ครับสมาบัติ ๘ สิ้นความรู้ของอุทกดาบส ครั้นทรงไตร่ถามถึงธรรมวิเศษขึ้นไป อุทกดาบสก็ไม่สามารถจะบอกได้ และได้ยกย่องตั้งพระมหาบุรุษไว้ในที่เป็นอาจารย์เสมอด้วยตน แต่พระมหาบุรุษทรงเห็นว่า ธรรมเหล่านี้มิใช่ทางตรัสรู้ จึงได้อำลาอาจารย์ออกแสวงหาธรรมวิเศษสืบไป ทั้งมุ่งพระทัยจะทำความเพียรโดยลำพังพระองค์เดียว ได้เสด็จจาริกไปยังมคธชนบท บรรลุถึงตำบลอุรุเวลา เสนานิคม ได้ทอดพระเนตรเห็นพื้นที่ราบรื่น แนวป่าเขียวสด เป็นที่เบิกบานใจ แม่น้ำไหล มีน้ำใสสะอาด มีท่าน่ารื่นรมณ์ โคจรคาม คือ หมู่บ้านที่อาศัยเที่ยวภิกษาจาร ก็ตั้งอยู่ไม่ไกล ทรงเห็นว่าประเทศนั้น ควรเป็นที่อาศัยของกุลบุตรผู้มีความต้องการด้วยความเพียรได้ จึงเสด็จประทับอยู่ ณ ที่นั้น
              ส่วนบรรพชิตทั้ง ๕ อันมีนามว่า ปัญจวัคคีย์ คือ พระโกณทัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ พระอัสสชิ พากันเที่ยวติดตามพระมหาบุรุษในที่ต่าง ๆ จนไปประสบพบพระมหาบุรุษยังตำบลอุรุเวลา เสนานิคม จึงพากันเข้าไปถวายอภิวาทแล้วอยู่ปฏิบัติบำรุง จัดทำธุระกิจถวายทุกประการ โดยหวังว่าเมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว จะได้แสดงธรรมโปรดตนบ้าง
              พระมหาบุรุษทรงเริ่มทำทุกกรกิริยา ซึ่งเป็นปฏิปทาที่นิยมว่าเป็นทางให้ตรัสรู้ได้ในสมัยนั้น โดยทรมานพระกายให้ลำบาก ซึ่งเป็นกิจยากที่บุคคลจะกระทำได้ ด้วยการทรมานเป็น ๓ วาระ ดังนี้
              วาระแรก ทรงกดพระทนต์(ฟัน)ด้วยพระทนต์ กดพระตาลุ(เพดานปาก)ุด้วยพระชิวหา(ลิ้น)ไว้ให้แน่น จนพระเสโท(เหงื่อ)ไหลจากพระกัจฉะ(รักแร้) ในเวลานั้นได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้า เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง จับบุรุษมีกำลังน้อยไว้ที่ศรีษะ หรือที่คอ บีบให้แน่น ฉะนั้น แม้พระกายจะกระวนกระวายไม่สงบระงับอย่างนี้ ทุกขเวทนานั้นก็ไม่อาจครอบงำพระหฤทัยให้กระสับกระส่าย พระองค์มีพระสติมั่น ไม่ฟั่นเฟือน ปรารภความเพียรไม่ท้อถอย ครั้นทรงเห็นว่า การกระทำอย่างนั้น ไม่ใช่ทางตรัสรู้ จึงทรงเปลี่ยนวิธีอื่นต่อไป
              วาระที่ ๒ ทรงผ่อนกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสสะ(ลมหายใจเข้าออก) เมื่อลมไม่ได้ทางเดินสะดวก โดยช่องพระนาสิก(จมูก)และช่องพระโอฐ(ปาก) ก็เกิดเสียงดังอู้ทางช่องพระกรรณ(หู)ทั้งสอง ให้ปวดพระเศียร(หัว) ร้อนในพระกายเป็นกำลัง แม้จะได้เสวยทุกขเวทนากล้าถึงเพียงนี้ ทุกขเวทนานั้น ก็ไม่อาจครอบงำพระหฤทัยให้กระสับกระส่าย มีพระสติตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ครั้นทรงเห็นว่า การกระทำอย่างนี้ ไม่ใช่ทางตรัสรู้ ก็ทรงเปลี่ยนวิธีอื่นต่อไป
              วาระที่ ๓ ทรงอดพระอาหาร ผ่อนเสวยแต่วันละน้อย ๆ บ้าง เสวยอาหารละเอียดบ้าง จนพระกายเหี่ยวแห้ง พระฉวี(ผิว)เศร้าหมอง พระอัฏฐิ(กระดูก)ปรากฏทั่วพระกาย เมื่อทรงลูบพระกาย เส้นพระโลมามีรากเน่าร่วงจากขุมพระโลมา พระกำลังน้อยถอยลง จะเสด็จไปข้างไหนก็ซวนเซล้ม วันหนึ่งทรงอ่อนพระกำลัง อิดโรยโหยหิวที่สุด จนไม่สามารถจะทรงพระกายไว้ได้ ก็ทรงวิสัญญีภาพ(สลบ)ล้มลงในที่นั้น
ทรงอสัญญีภาพ
              ขณะนั้น เทพยดาองค์หนึ่งสำคัญผิดคิดว่า พระมหาบุรุษดับขันธ์ทิวงคตแล้ว จึงรีบไปยังพระปราสาทพระเจ้าสุทโธทนะ ณ เมืองกบิลพัสดุ์ ทูลว่า บัดนี้ พระสิทธัตถะกุมารพระราชโอรสของพระองค์ สิ้นพระชนม์ชีพเสียแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะรับสั่งถามว่า พระโอรสของเราได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าหรือยัง เป็นประการใด เทพยดาก็ตอบว่า ยังมิทันได้บรรลุพระสัมโพธิญาณ ท้าวเธอไม่ทรงเชื่อ จึงรับสั่งว่า จะเป็นเช่นนั้นไม่ได้ หากพระโอรสของเรายังมิได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จะด่วนทำลายพระชนม์ชีพหามิได้เลย แล้วเทพดาองค์นั้นก็อันตรธานจากพระราชนิเวศน์ไป
              ส่วนพระมหาบุรุษ เมื่อได้ซึ่งสัญญาฟื้นพระกายกุมพระสติให้ตั้งมั่น พิจารณาดูปฏิปทาในทุกกรกิริยาที่ทำอยู่ ทรงดำริว่า ถึงบุคคลทั้งหลายใด ๆ ในโลกนี้ จะทำทุกกรกิริยาอย่างอุกฤษฐ์นี้ บุคคลนั้น ๆ ก็ทำทุกกรกิริยาเสมออาตมาเท่านั้น จะทำให้ยิ่งกว่าอาตมาหามิได้ แม้อาตมาปฏิบัติอย่างอุกฤษฐ์อย่างนี้แล้ว ไฉนหนอจึงยังไม่ได้บรรลุพระโพธิญาณ ชรอยทางตรัสรู้จะมีเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่อย่างนี้เป็นแน่ เกิดพระสติหวลระลึกถึงความเพียรทางใจว่า จะเป็นทางตรัสรู้ได้บ้าง

ทรงระลึกถึงเสียงพิณ
              ขณะนั้น สมเด็จอมรินทราธราชทรงทราบข้อปริวิตกของพระมหาบุรุษดังนั้น จึงทรงซึ่งพิณทิพย์สามสายมาดีดถวายพระมหาบุรุษ สายหนึ่งตึงนัก พอดีดไปหน่อยก็ขาด สายหนึ่งหย่อนนัก ดีดเข้าก็ไม่บันลือเสียง อีกสายหนึ่ง ไม่ตึงไม่หย่อนพอปานกลาง ดีดเข้าก็บันลือเสียงไพเราะเจริญใจ พระมหาบุรุษได้สดับเสียงพิณทรงหวลระลึกถึง พิณที่เคยทรงมาแต่ก่อน ก็ทรงตระหนักแน่ ถือเอาเป็นนิมิต ทรงพิจารณาเห็นแจ้งว่า ทุกกรกิริยามิใช่ทางตรัสรู้แน่ทางแห่งพระโพธิญาณที่ควรแก่การตรัสรู้ ต้องเป็นมัชฌิมาปฏิปทา บำเพ็ญเพียรทางจิต ปฏิบัติปานกลาง ไม่ตึงนักไม่หย่อนนัก จึงใคร่จะทรงตั้งปณิธานทำความเพียรทางจิต ทรงเห็นว่าความเพียรทางจิตเช่นนั้น คนซูบผอมหากำลังมิได้เช่นอาตมานี้ ย่อมไม่สามารถจะทำได้ จำจะหยุดพักกินอาหารข้น คือ ข้าวสุก ขนมสด ให้มีกำลังดีก่อน ครั้นตกลงพระทัยเช่นนั้นแล้ว ก็กลับเสวยพระอาหารตามเดิม
              อนึ่ง การที่พระมหาบุรุษทรงเลิกละทุกกรกิริยา เปลี่ยนมาทำความเพียรทางจิตนั้น โดยทรงดำริเปรียบเทียบอุปมา ๓ ข้อ ซึ่งพระองค์ไม่เคยสดับ ไม่เคยดำริมาก่อนเลย ด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์อย่างแจ่มแจ้งว่า
              สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ซึ่งมีกายไม่ได้หลีกออกจากกาม และมีความพอใจรักใคร่ในกาม ยังละให้สงบระงับไม่ได้ดี สมณพราหมณ์เหล่านั้น แม้ได้เสวยทุกเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อน ที่เกิดเพราะความเพียรก็ดี ไม่ได้เสวยก็ดี ก็ไม่ควรจะตรัสรู้ เหมือนไม้สดที่ชุ่มด้วยยาง บุคคลแช่ไว้ในน้ำ บุรุษมีความต้องการด้วยไฟ ถือเอาไม้สีไฟมาสีเข้า ด้วยหวังจะให้เกิดไฟ บุรุษนั้นก็ไม่อาจให้ไฟเกิดขึ้นได้ ต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า เพราะไม้นั้นยังสดมียางอยู่ ทั้งยังแช่อยู่ในน้ำ
              อีกข้อหนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง แม้มีกายหลีกออกจากกามแล้ว แต่ยังมีความรักใคร่พอใจในกาม ยังละให้สงบระงับไม่ได้ดี สมณพราหมณ์เหล่านั้น แม้ได้เสวยทุกข์เวทนาเช่นนั้น อันเกิดเพราะความเพียรก็ดี ไม่ได้เสวยก็ดี ก็ไม่ควรจะตรัสรู้ เหมือนไม้สดที่ชุ่มด้วยยาง แม้ห่างไกลจากน้ำ บุคคลตั้งไว้บนบก บุรุษก็ไม่อาจสีให้เกิดไฟได้ ถ้าสีเข้า ต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า เพราะไม้นั้นแม้ตั้งอยู่บนบกแล้ว แต่ยังเป็นของสดชุ่มด้วยยาง
              อีกข้อหนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายหลีกออกจากกามแล้ว และละความใคร่ในกาม ให้สงบระงับดีแล้ว สมณพราหมณ์เหล่านั้น ได้เสวยทุกข์เวทนาเช่นนั้น อันเกิดเพราะความเพียรก็ดี แม้ไม่ได้เสวยเลยก็ดี ก็ควรจะตรัสรู้ได้ เหมือนไม้แห้งที่ไกลจากน้ำ บุคคลวางไว้บนบก บุรุษอาจสีให้เกิดขึ้นได้ เพราะเป็นของแห้ง ทั้งตั้งอยู่บนบก
              อุปมาทั้ง ๓ ข้อนี้ ได้เป็นกำลังสนับสนุนพระหฤทัยให้พระมหาบุรุษทรงมั่นหมายในการทำความเพียรทางใจว่า จะเป็นทางให้พระองค์ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณโดยแน่แท้
              ฝ่ายพระปัญจวัคคีย์ภิกษุ ผู้มีความนิยมในทุกกรกิริยา พากันเฝ้าบำรุงพระมหาบุรุษอยู่ เมื่อเห็นพระมหาบุรุษทำความเพียรในทุกกรกิริยาอย่างตึงเครียด เกินกว่าสามัญชนจะทำได้เช่นนั้น ก็ยิ่งเพิ่มความเลื่อมใส มั่นใจว่าพระมหาบุรุษจะต้องได้ตรัสรู้โดยฉับพลัน และพระองค์จะได้ทรงเมตตาประทานธรรมเทศนาโปรดตนให้ตรัสรู้บ้าง แต่ครั้นเห็นพระมหาบุรุษทรงเลิกละทุกกรกิริยาที่ประพฤติแล้ว และเห็นร่วมกันว่า บัดนี้ พระองค์คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากเสียแล้ว จึงเบื่อหน่ายในการที่จะปฏิบัติบำรุงต่อไป ด้วยเห็นว่าพระองค์คงจะไม่อาจบรรลุธรรมวิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงพากันหลีกไปเสียจากที่นั้น ไปอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี
ทรงพระสุบิน ๕ ข้อ
              พระมหาบุรุษเมื่อทรงเลิกละทุกกรกิริยาแล้ว ก็ทรงเริ่มเสวยพระอาหารข้น บำรุงร่างกายให้กลับมีกำลังขึ้นได้เป็นปกติอย่างเดิมแล้ว ก็ทรงเริ่มทำความเพียรทางจิตต่อไป จนถึงราตรีวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ เวลาบรรทมหลับ ทรงพระสุบิน ๕ ประการ คือ
              ๑. ทรงพระสุบินว่า พระองค์ทรงผทมหงายเหนือพื้นปฐพี พระเศียรหนุนเขาหิมพานต์เป็นพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายหยั่งลงในมหาสมุทรทิศตะวันออก พระหัตถ์ขวาและพระบาททั้งคู่ก็หยั่งลงในมหาสมุทรทิศใต้
              ๒. ทรงพระสุบินว่า หญ้าแพรกเส้นหนึ่งรอกจากพระนาภี สูงขึ้นไปจนถึงท้องฟ้า
              ๓. ทรงพระสุบินว่า หมู่หนอนทั้งหลาย สีขาวบ้าง ดำบ้าง เป็นอันมาก ไต่ขึ้นมาแต่พื้นพระบาททั้งคู่ ปกปิดลำพระชงฆ์หมด และไต่ขึ้นมาถึงพระชานุมณฑล
              ๔. ทรงพระสุบินว่า ฝูงนก ๔ จำพวก มีสีต่าง ๆ กัน คือ สีเหลือง เขียว แดง ดำ บินมาแต่ทิศทั้ง ๔ ลงมาจับแท่นพระบาท แล้วกลับกลายเป็นสีขาวไปสิ้น
              ๕. ทรงพระสุบินว่า เสด็จขึ้นไปเดินจงกลมบนยอดภูเขาอันเต็มไปด้วยอาจม แต่อาจมนั้นมิได้ทรงเปื้อนพระยุคลบาท
              ในพระสุบินทั้ง ๕ ข้อนั้น มีอธิบายว่า
              ข้อ ๑. พระมหาบุรุษเจ้าจะได้ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เลิศในโลกทั้ง ๓
              ข้อ ๒. พระมหาบุรุษจะได้ทรงประกาศสัจธรรม เผยมรรค ผล นิพพาน แก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งมวล
              ข้อ ๓. คฤหัสถ์ พราหมณ์ทั้งหลาย จะเข้ามาสู่สำนักของพระองค์เป็นอันมาก
              ข้อ ๔. ชาวโลกทั้งหลาย คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทย์ เมื่อมาสู่สำนักของพระองค์แล้ว จะรู้ทั่วถึงธรรมอันบริสุทธิ์หมดจดผ่องใสไปสิ้น
              ข้อ ๕. ถึงแม้พระองค์จะพร้อมมูลด้วยสักการะวรามิศ ที่ชาวโลกทุกทิศน้อมถวายด้วยความเลื่อมใส ก็มิได้มีพระทัยข้องอยู่ให้เป็นมลทินแม้แต่น้อย
ทรงรับข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา
              ครั้นพระมหาบุรุษตื่นผทมแล้ว ก็ทรงดำริถึงข้อความในพระมหาสุบินทั้ง ๕ แล้วทำนายด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์เอง ว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแน่แท้ ครั้นได้ทรงทำสรีระกิจ สระสรงพระกายหมดจดแล้ว ก็เสด็จมาประทับนั่ง ณ ที่ควงไม้นิโครธพฤกษ์ ในยามเช้าแห่งวันเพ็ญวิสาขะปุรณมี ดิถีกลางเดือน ๖ ปีระกา
              ประจวบด้วยวันวาน เป็นวันที่นางสุชาดา ธิดาของคฤหบดีผู้มั่งคั่งในตำบลนั้น นางได้ตั้งปณิธานบูชาเทพารักษ์ไว้ว่า ขอให้นางได้สามีที่มีตระกูลเสมอกัน และขอให้ได้บุตรคนแรกเป็นชาย ครั้นนางได้สามีและบุตรสมนึก นางจึงคิดจะหุงข้าวมธุปายาสอันประณีตด้วยเครื่องปรุงทุกประการ ไปบวงสรวงเทพารักษ์ที่ได้ไปบนบานไว้ ดังนั้นในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ จึงสั่งให้บ่าวไพร่ตระเตรียมการทำข้าวปายาสเป็นการใหญ่ และกว่าจะสำเร็จเป็นข้าวปายาสได้ ก็ตกถึงเพลาเที่ยงคืน แล้วนางสุชาดาจึงสั่งนางปุณณทาสี หญิงคนใช้ที่สนิทให้ออกไปทำความสะอาด แผ้วกวาดที่โคนต้นนิโครธพฤกษ์นั้น เพื่อจะได้จัดเป็นที่ตั้งเครื่องสังเวยเทพารักษ์
              ดังนั้น นางปุณณทาสี จึงได้ตื่นแต่เช้า เดินทางไปยังต้นนิโครธพฤกษ์นั้น เห็นพระมหาบุรุษทรงประทับนั่งอยู่ ณ ควงไม้นั้น ผันพระพักตร์ทอดพระเนตรไปทางปาจินทิศ (ตะวันออก) มีรัศมีพระกายแผ่สร้านออกไปเป็นปริมณฑล งามยิ่งนัก นางก็นึกทึกทักตระหนักแน่ในจิตทันทีว่า วันนี้ เทพยดาเจ้าลงจากต้นไทรงาม นั่งคอยรับข้าวปายาสของสังเวยของเจ้าแม่ด้วยมือทีเดียว นางก็ดีใจรีบกลับมายังเรือน บอกนางสุชาดาละล่ำละลักว่า เทพารักษ์ที่เจ้าแม่มุ่งทำพลีกรรมสังเวยนั้น บัดนี้ ได้มานั่งรอเจ้าแม่อยู่ที่ควงไม้ไทรแล้ว ขอให้เจ้าแม่รีบไปเถอะ
              นางสุชาดามีความปลาบปลื้มกล่าวว่า ขอให้เจ้าเป็นลูกคนโตของแม่เถิด แล้วจึงมอบเครื่องประดับแก่นางปุณณทาสี และให้หยิบถาดทองมา ๒ ถาด ถาดหนึ่งใส่ข้าวปายาสจนหมด มิได้เหลือเศษไว้เลย ข้าวปายาสเต็มถาดพอดี แล้วให้ปิดด้วยถาดทองอีกถาดหนึ่ง แล้วห่อหุ้มด้วยผ้าทองอันบริสุทธิ์ ครั้นนางสุชาดาแต่งกายงามด้วยอาภรณ์เสร็จแล้ว ก็ยกถาดข้าวปายาสขึ้นทูลเหนือเศียรเกล้าของนาง ลงจากเรือนพร้อมด้วยหญิงคนใช้เป็นบริวารติดตามมาเป็นอันมาก ครั้นถึงต้นไทรเห็นพระมหาบุรุษงามด้วยรัศมีดังนั้น ก็มีความโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง สำคัญว่าเป็นรุกขเทวดาโดยแท้ เดินยอบกายเข้าไปเฝ้าแต่ไกลด้วยคารวะ ครั้นเข้าไปใกล้จึงน้อมถาดข้าวปายาสถวายด้วยความเคารพยิ่ง
              ขณะนั้น บาตรดินอันเป็นทิพย์ ซึ่งฆฏิการพรหมถวายแต่วันแรกทรงบรรพชา เกิดอันตรธานหายไปจากที่นั้น พระมหาบุรุษก็ทรงเหยียดพระหัตถ์ออกรับ แล้วทอดพระเนตรดูนางสุชาดา แสดงให้นางรู้ชัดว่า พระองค์ไม่มีบาตรจะถ่ายใส่ข้าวปายาสไว้ นางสุชาดาทราบชัดโดยพระอาการ ก็กราบทูลว่า หม่อมฉันขอถวายทั้งถาด พระองค์มีพระประสงค์ประการใด โปรดนำไปตามพระหฤทัยเถิด แล้วถวายอภิวาททูลอีกว่า ความปรารถนาของหม่อมฉันสำเร็จฉันใด ขอสิ่งซึ่งพระหฤทัยของพระองค์ประสงค์จงสำเร็จฉันนั้นเถิด แล้วนางก็ก้มลงกราบ ถวายบังคมลา กลับเรือนด้วยความสุขใจเป็นล้นพ้น

ทรงลอยถาดเสี่ยงพระบารมี
              ส่วนพระมหาบุรุษ เสด็จลุกจากที่ประทับ ทรงถือถาดข้าวปายาส เสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ประทับบ่ายพระพักตรสู่บุรพาทิศแล้ว ทรงปั้นข้าวปายาสเป็นปั้น ๆ ได้ ๔๙ ปั้น เสวยจนหมด แล้วทรงถือถาดลงสู่แม่น้ำ ทรงอธิษฐานเสี่ยงพระบารมีว่า ถ้าอาตมาจะได้ตรัสแก่พระปรมาภิเสกสัมโพธิญาณแล้ว ขอให้ถาดนี้จงลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป แล้วทรงลอยถาดทองนั้นลงในแม่น้ำเนรัญชรา ขณะนั้นอานุภาพพระบารมีของพระองค์ซึ่งทรงบำเพ็ญมาบริบูรณ์ดีแล้ว ได้แสดงให้เห็นอัศจรรย์ ถาดทองนั้นได้ลอยทวนกระแสน้ำเนรัญชราขึ้นไปประมาณ ๑ เส้น แล้วถาดทองนั้นก็จมลงตรงนาคภพพิมาน แห่งพญากาฬนาคราช
              ครั้นพระมหาบุรุษได้ทอดพระเนตรเห็นเป็นนิมิตอันดีเช่นนั้น ก็เพิ่มความแน่พระทัยว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูสัมพุทธเจ้า โดยหาความสงสัยมิได้ ก็ทรงโสมนัสเสด็จมายังสาลวัน ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ประทับพักที่ภายใต้ร่มไม้สาลพฤกษ์ พอเวลาสายันห์ตะวันบ่าย ก็เสด็จออกจากหมู่ไม้สาละ ที่พักกลางวัน เสด็จดำเนินไปสู่ควงไม้อสัตถะโพธิพฤกษ์มณฑล พบโสตถิยะพราหมณ์ในระหว่างทาง โสถิยะพราหมณ์เลื่อมใส น้อมถวายหญ้าคา ๘ กำ
              พระมหาบุรุษรับหญ้าคาแล้ว เสด็จไปร่มไม้อสัตถนั้น ณ ด้านปราจินทิศ ทรงอธิษฐานว่า ถ้าอาตมาจะได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ขอจงเกิดเป็นรัตนบัลลังก์แก้วขึ้นรองรับพระสัพพัญญุตญาณในที่นี้ ทันใดนั้น บัลลังก์แก้วอันวิจิตรงามตะการ ก็บรรดาลผุดขึ้นสมดังพระทัยประสงค์ ควรจะอัศจรรย์ยิ่งนัก
              พระมหาบุรุษเสด็จขึ้นประทับรัตนบัลลังก์แก้ว ขัดสมาธิ ผินพระพักตร์ตรงไปยังปราจินทิศ หันพระปฤษฎางค์ (หลัง) ไปทางลำต้นโพธิ์พฤกษ์ ก่อนที่จะเริ่มทำความเพียรโดยสมาธิจิต ได้ทรงตั้งสัตยาธิษฐานในพระทัยว่า ถ้าอาตมายังมิได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเพียงใด แม้พระโลหิตและพระมังสะจะเหือดแห้งไป จะเหลือแต่พระตจะ(หนัง) พระนหาลุ(เอ็น) และพระอัฏฐิ (กระดูก) ก็ตามที จะไม่เลิกละความเพียร โดยเสด็จลุกไปจากที่นี้
              ครั้งนั้น เทพยดาทั้งหลายพากันชื่นชมโสมนัส มีหัตถ์ทรงซึ่งเครื่องสักการะบูชาบุบผามาลัยมีประการต่าง ๆ พากันมาสโมสรสันนิบาตห้อมล้อม โห่ร้องซ้องสาธุการบูชาพระมหาบุรุษ สุดที่จะประมาณ เต็มตลอดมงคลจักรวาฬนี้.

ทรงชนะมาร
              ขณะนั้น พญาวัสวดีมาราธิราช ได้สดับเสียงเทพเจ้าบันลือเสียงสาธุการ ก็ทราบชัดในพระทัยว่า พระมหาบุรุษจะตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ ทำลายบ่วงมารที่เราวางขึงรึงรัดไว้ แล้วหลุดพ้นไปได้ ก็น้อยใจ คิดฤษยา เคียดแค้น ป่าวประกาศเรียกพลเสนามารมากกว่ามาก พร้อมด้วยสรรพาวุธและสรรพวาหนะที่ร้ายแรงเหลือที่จะประมาณเต็มไปในท้องฟ้า พญาวัสวดีขึ้นช้างพระที่นั่งคีรีเมขล์ นิรมิตมือพันมือ ถืออาวุธพร้อมสรรพ นำกองทัพอันแสนร้าย เหาะมาทางนภาลัยประเทศ เข้าล้อมเขตบัลลังก์ของพระมหาบุรุษเจ้าไว้อย่างแน่นหนา
              ทันใดนั้นเอง บรรดาเทพเจ้าที่พากันมาห้อมล้อมถวายสักการะบูชาสาธุการพระมหาบุรุษอยู่ เมื่อได้เห็นพญามารยกพหลพลมารมาเป็นอันมาก ต่างมีความตกใจกลัวอกสั่นขวัญหาย พากันหนีไปยังขอบจักรวาฬ ทิ้งพระมหาบุรุษเจ้าให้ต่อสู้พญามารแต่พระองค์เดียว
              เมื่อพระมหาบุรุษไม่ทรงแลเห็นผู้ใด ใครที่ไหนจะช่วยได้ ก็ทรงระลึกถึงบารมีธรรมทั้ง ๓๐ ประการ ซึ่งเป็นดุจทหารที่แก่นกล้า มีศัตราวุธครบครัน สามารถผจญกับหมู่มาร ขับไล่ให้ปราชัยหนีไปให้สิ้นเชิงได้ และพร้อมกันมารับอาสาอยู่พร้อมมูลเช่นนั้น ก็ทรงโสมนัส ประทับนิ่งอยู่ โดยมิได้สะทกสะท้านแต่ประการใด
              ฝ่ายพญามารวัสวดีเห็นพระมหาบุรุษประทับนั่งนิ่ง มิได้หวั่นไหวแต่ประการใดก็พิโรธร้องประกาศก้อง ให้เสนามารรุกเข้าทำอันตรายหลายประการจนหมดฤทธิ์ บรรดาสรรพาวุธศัตรายาพิษที่พุ่งซัดไป ก็กลับกลายเป็นบุบผามาลัยบูชาพระมหาบุรุษจนสิ้น ครั้งนั้นพญามารตรัสแก่พระมหาบุรุษด้วยสันดานพาลว่า “ ดูกรสิทธัตถะ บัลลังก์แก้วนี้ เกิดเพื่อบุญเรา เป็นของสำหรับเรา ท่านเป็นคนไม่มีบุญ ไม่สมควรจะนั่ง จงลุกไปเสียโดยเร็ว "
              พระมหาบุรุษหน่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ก็ตรัสตอบว่า "ดูกรพญามาร บัลลังก์แก้วนี้ เกิดขึ้นด้วยบุญของอาตมา ที่ได้บำเพ็ญมาแต่อสังไขยยกัปป์ จะนับจะประมาณมิได้ ดังนั้น อาตมาผู้เดียวเท่านั้น สมควรจะนั่ง ผู้อื่นไม่สมควรเลย"
              พญามารก็คัดค้านว่า ที่พระมหาบุรุษรับสั่งมานั้น ไม่เป็นความจริง ให้พระองค์หาพยานมายืนยันว่า พระองค์ได้บำเพ็ญกุศลมาจริง ให้ประจักษ์เป็นสักขีพยานในที่นี้
              เมื่อพระมหาบุรุษไม่เห็นผู้อื่นใด ใครจะกล้ามาเป็นพยานยืนยันในที่นี้ได้ จึงตรัสเรียกนางวสุนธรา เจ้าแห่งธรณีว่า "ดูกร วสุนธรา นางจงมาเป็นพยานในการบำเพ็ญกุศลของอาตมาในกาลบัดนี้ด้วยเถิด"
              ลำดับนั้น วสุนธรา เจ้าแม่ธรณี ก็ชำแรกแทรกพื้นปฐพีขึ้นมาปรากฏกาย ทำอัญชลีถวายอภิวาทพระมหาบุรุษเจ้าแล้ว ประกาศให้พญามารทราบว่า พระมหาบุรุษ เมื่อเป็นพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ได้บำเพ็ญบุญมามากมายตลอดกาล เหลือที่จะนับจะประมาณได้ แต่น้ำตรวจที่ข้าพเจ้าเอามวยผมรองรับไว้บนเศียรเกล้า ก็มีมากพอจะถือไว้เป็นหลักฐานวินิจฉัยได้ นางวสุนธรากล่าวแล้วก็ประจงหัตถ์อันงามปล่อยมวยผม บีบน้ำตรวจที่สะสมไว้ในอเนกชาติให้ไหลหลั่งออกมาเป็นทะเลหลวง กระแสน้ำบ่าออกท่วมทับเสนามารทั้งปวงให้จมลงวอดวาย กำลังน้ำได้ทุ่มซัดพัดช้างนาฬาคีรีเมขล์ให้ถอยล่นลงไปติดขอบจักรวาฬ
              ครั้งนั้น พญามารตกตลึงเห็นเป็นอัศจรรย์ ด้วยมิได้เคยเห็นมาแต่กาลก่อน ก็ประนมหัตถ์ถวายนมัสการ ยอมปราชัยพ่ายแพ้บุญบารมีของพระมหาบุรุษ แล้วก็อันตรธานหนีไปจากที่นั้น
              เมื่อพระมหาบุรุษทรงกำจัดมารและเสนามารให้ปราชัยด้วยพระบารมี ตั้งแต่เวลาสายัณห์มิทันที่พระอาทิตย์จะอัศดงคต ก็ทรงเบิกบานพระทัย ได้ปิติเป็นกำลังภายในสนับสนุน เพิ่มพูนแรงปฏิบัติสมาธิภาวนาให้ยิ่งขึ้น ดังนั้น พระมหาบุรุษจึงมิได้ทรงพักให้เสียเวลา ทรงเจริญสมาธิภาวนา ทำจิตให้แน่วแน่ ปราศจากอุปกิเลส จนจิตสุขุมเข้าโดยลำดับ ไม่ช้าก็ได้บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตฌาน ซึ่งเป็นส่วนรูปสมาบัติ เป็นลำดับ จนถึงอรูปสมาบัติ ๔ บริบูรณ์.












ทรงตรัสรู้
              ต่อนั้น ก็ทรงเจริญฌาน อันเป็นองค์ปัญญาชั้นสูงทั้ง ๓ ประการ ยังองค์พระโพธิญาณให้เกิดขึ้นเป็นลำดับ ตามระยะกาลแห่งยามสามอันเป็นส่วนราตรีนั้น คือ ในปฐมยาม ทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสติญาณ สามารถระลึกชาติที่พระองค์ทรงบังเกิดมาแล้วทั้งสิ้นได้ ในมัชฌิมยาม ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ บางแห่งเรียกว่า ทิพพจักษุ สามารถหยั่งรู้การเกิดการตาย ตลอดจนการเวียนว่ายของสัตว์ทั้งหลายอื่นได้หมด ในปัจฉิมยาม ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ ทรงปรีชาสามารถทำอาสวะกิเลสทั้งหลายให้หมดสิ้นไปด้วยพระปัญญา พิจารณาในปัจจยาการแห่งปฏิจจสมุปบาท โดยอนุโลมและปฏิโลม ก็ทรงบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเวลาปัจจุบันสมัย รุ่งอรุโณทัย ทรงเบิกบานพระหฤทัยอย่างสูงสุดในการตรัสรู้ อย่างที่ไม่เคยมีมาแต่ก่อนตลอดกาล ถึงกับทรงอุทาน เย้ยตัณหา อันเป็นตัวการณ์ก่อให้เกิดสังสารวัฏฏทุกข์แก่พระองค์แต่เอนกชาติได้ว่า "อเนกชาติ สํสารํ เป็นอาทิ ความว่า นับแต่ตถาคตท่องเทียว สืบเสาะหาตัวนายช่างผู้กระทำเรือน คือ ตัวตัณหา ตลอดชาติสงสารจะนับประมาณมิได้ ก็มิได้พบพาน ดูกรตัณหา นายช่างเรือน บัดนี้ ตถาคตพบท่านแล้ว แต่นี้สืบไป ท่านจะทำเรือนให้ตถาคตอีกไม่ได้แล้ว กลอนเรือน เราก็รื้อออกเสียแล้ว ช่อฟ้า เราก็ทำลายเสียแล้ว จิตของเราปราศจากสังขาร เครื่องปรุงแต่งให้เกิดในภพอื่นเสียแล้ว ได้ถึงความดับสูญสิ้นไปแห่งตัณหา อันหาส่วนเหลือมิได้โดยแท้"
              ขณะนั้น อัศจรรย์ก็บังเกิดมี พื้นมหาปฐพีอันกว้างใหญ่ก็หวั่นไหว พฤษาชาติทั้งหลายก็ผลิตดอกออกช่องามตระการตา เทพเจ้าทุกชั้นฟ้าก็แซ่สร้องสาธุการ โปรยปรายบุบผามาลัยทำการสักการะบูชา เปล่งวาจาว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก ด้วยปีติยินดี เป็นอัศจรรย์ที่ไม่เคยมีในกาลก่อน


เสวยวิมุติสุข-ทรงขับนางมาร
              เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ก็ทรงประทับเสวยวิมุติสุขบนรัตนบัลลังก์นั้นสิ้น ๗ วัน ครั้นล่วง ๗ วันแล้ว จึงเสด็จลงจากรัตนบัลลังก์ ไปประทับอยู่ในทิศอิสานแห่งไม้มหาโพธิ์ จ้องพระเนตรดูไม้มหาโพธิ์ถึง ๗ วัน สถานที่นั้นเรียกว่า "อนิมิสเจดีย์" ต่อนั้น ทรงนิมิตรัตนจงกรมเจดีย์ เสด็จจงกรมในทิศอุดรแห่งไม้มหาโพธิ์ และทรงจงกรมอยู่ที่นี้อีก ๗ วัน ต่อนั้นก็เสด็จไปประทับนั่งยังรัตนะฆระเจดีย์ เรือนแก้ว ในทิศปัจจิม หรือทิศพายัพ แห่งไม้มหาโพธิ์ ซึ่งเทพยดานิมิตถวาย ทรงพิจารณาพระอภิธรรมปิฎกตลอด ๗ วัน ต่อนั้น จึงเสด็จไปประทับยังร่มไทร ซึ่งเป็นที่อาศัยพักร่มของคนเลี้ยงแพะ อันมีนามว่า อชปาลนิโครธ

ทรงขับนางมาร               ครั้งนั้น พญาวัสวดีมาร มีความน้อยใจ ที่ต้องปราชัยพ่ายแพ้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อับอายแก่เทพเจ้าทั้งหลาย ที่ต้องยอมให้พระสิทธัตถะล่วงพ้นจากวิสัยของตนไปได้ มีใจโทมนัส จึงหนีออกจากเทวโลก ลงมานั่งในทางใหญ่แห่งหนึ่ง
              ขณะนั้น นางมารธิดาทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นาราคา นางอรดี มิได้เห็นพญาวัสวดีมาร ผู้เป็นบิดาอยู่ในเทวโลก ครั้นแลลงมาด้วยทิพพจักษุ ก็เห็นพระบิดาไปนั่งอยู่ที่ทางใหญ่ในมนุษย์โลก นางทั้ง ๓ จึงพากันมาหาพญาวัสวดีมาร แล้วทูลถามว่า พระบิดาทรงทุกข์ด้วยเหตุประการใด พญามารก็แจ้งความจริงใจแก่ธิดาทั้ง ๓ นั้น นางมารธิดาทั้ง ๓ จึงทูลว่า พระบิดาอย่าทรงทุกข์ร้อนไปเลย ข้าพเจ้าทั้ง ๓ จะรับอาสาไปทำพระสิทธัตถะให้อยู่ในอำนาจ แล้วจะนำมาถวายพระองค์ให้จงได้
              พญามารจึงตรัสว่า "ลูกเอ๋ย แต่นี้ไป ไม่มีผู้ใดจะสามารถทำพระสิทธัตถะให้อยู่ในอำนาจเสียแล้ว"
              นางมารธิดาก็แย้งว่า ข้าพเจ้าทั้ง ๓ คงจะพันธนาการพระสิทธัตถะด้วยบ่วง มีราคะเป็นต้น ให้อยู่ได้ เพราะข้าพเจ้าเป็นสตรี จะพยายามไปผูกพระสิทธัตถะมาให้จงได้ในกาลบัดนี้ พระองค์อย่าทรงวิตกไปเลย แล้วนางมารทั้ง ๓ ก็ทูลลาพระบิดามาสู่สำนักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งประทับนั่งอยู่ที่ร่มไม้อชปาลนิโครธ แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาสมณะ หม่อมฉันจะบำเรอพระยุคลบาทของพระองค์ถวาย
              ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มิได้ทรงเอาพระทัยใส่ในถ้อยคำของนางมารธิดาทั้ง ๓ นั้น ทั้งมิได้ทรงลืมพระเนตรขึ้นทัศนาการดูทีท่าของธิดามารทั้ง ๓ ทรงดุษณียภาพนิ่งอยู่เป็นปกติ
              นางมารก็ดำริว่า ธรรมดาบุรุษย่อมมีอัธยาสัยเสน่หาในสตรีที่มีสรีระรูปผิวพรรณสัณฐานต่าง ๆ กัน แล้วต่างก็นิมิตเป็นนางงามต่าง ๆ แสดงท่าทางโดยมุ่งหมายจะให้เป็นที่ต้องพระทัยปรารถนา เข้าทูลเล้าโลมดุจกาลก่อน ครั้นเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้ทรงตรัสประการใด ก็แสดงมายาหญิง โดยอาการพิลาศ ชำเลืองเนตร ฟ้อนรำ ขับร้องมีประการต่าง ๆ ทุกวิธีที่เห็นว่าจะคล้องน้ำพระทัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ แต่ก็ไม่สามารถจะทำให้น้ำพระทัยของพระองค์ผิดปกติ
              ลำดับนั้น พระสัมพุทธเจ้าจึงออกพระโอฐขับมารธิดาว่า "มารธิดาเอย เจ้าจงออกไปเสียให้พ้นจากที่นี้ เจ้าจะได้ประโยชน์อะไร ในการที่มาพยายามเล้าโลมตถาคต ด้วยทุกสิ่งที่เจ้ามุ่งหมายนั้น ตถาคตได้ทำลายเสียแล้ว เจ้าควรจะไปประเล้าประโลมบุรุษผู้มีราคะบริบูรณ์ เมื่อตถาคตไม่มีร่องรอยอะไรเลย แล้วจะนำตถาคตไปด้วยร่องรอยอะไร ไม่เป็นผลที่มุ่งหมายอันใดแก่เจ้าดอก จงออกไปเสีย"
              ในทันใดนั้นเอง ด้วยอานุภาพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บรรดาลให้ร่างกายอันงามของมารธิดาทั้ง ๓ นาง ซึ่งไม่เชื่อฟังพระโอวาท พยายามออดอ้อนอิดเอื้อนอยู่อีก ได้กลับกลายร่างเป็นหญิงชรา น่าสังเวช นางทั้ง ๓ เมื่อได้เห็นร่างกายของตนเปลี่ยนแปลงไปเช่นนั้นก็ตกใจ พากันหนีออกจากที่นั้นโดยเร็ว และกล่าวกันว่า เป็นความจริงดังพระบิดาของเราได้เตือนแล้วแต่แรกว่า ไม่มีใครที่จะมาทำพระสิทธัตถะให้อยู่ในอำนาจได้แล้ว ก็อันตรธานไปจากที่นั้น
              ต่อมามีพราหมณ์ผู้หนึ่ง มีนิสัยเป็นหุหุกชาติ ชอบตวาดข่มขี่ผู้อื่นด้วยวาจาว่า หึ หึ มายังที่นั้น ได้ทูลถามถึงพราหมณ์และธรรม อันทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์ว่า "บุคคล ชื่อว่า เป็นพราหมณ์ด้วยเหตุเพียงเท่าไร และธรรมอะไร ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์"
              พระองค์ตรัสตอบว่า "พราหมณ์ ผู้ใดมีบาปธรรมอันลอยเสียแล้ว ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องขู่ผู้อื่นว่า หึ หึ เป็นคำหยาบ และไม่มีกิเลสอันย้อมจิตให้ติดแน่นดุจน้ำฝาด มีตนสำรวมแล้ว ถึงที่สุดแห่งเวทแล้ว มีพรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว ผู้นั้น ไม่มีกิเลสเครื่องฟูในโลก แม้น้อยหนึ่ง ควรกล่าวได้ว่าตนเป็นพราหมณ์ โดยธรรม"
              พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงสมณะว่า เป็นพราหมณ์ และธรรมอันทำบุคคลให้เป็นสมณะว่า เป็นธรรมอันทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์ในพระพุทธศาสนา โดยโวหารพราหมณ์ ด้วยพระวาจานี้

ร่มไม้มุจจลินท์
              ครั้นล่วง ๗ วันแล้ว เสด็จไปประทับนั่งขัดสมาธิยังร่มไม้จิก อันมีนามว่า "มุจลินท์" อันตั้งอยู่ในทิศบูรพาหรือทิศอาคเนย์ แห่งไม้มหาโพธิ์ เสวยวิมุติสุขอยู่ ณ ที่นั้นอีก ๗ วัน ในกาลนั้นฝนตกพรำตลอด ๗ วัน พญานาคมีนามว่า "มุจลินท์นาคราช" มีอานุภาพมาก อยู่ที่สระโบกขรณี ใกล้ต้นมุจลินท์พฤกษ์นั้น มีความเลื่อมใสในพระศิริวิลาศ พร้อมด้วยพระรัศมีโอภาสอันงามล่วงล้ำเทพยดาทั้งหลาย จึงเข้าไปใกล้แล้วขดเข้าซึ่งขนดกาย แวดวงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ๗ รอบ และแผ่พังพานอันใหญ่ ป้องปกเบื้องบนพระเศียร มิให้ลมและฝนถูกต้องพระกายพระผู้มีพระภาคเจ้า
              ครั้งล่วง ๗ วัน ฝนหายขาดแล้ว พญานาคก็คลายขนดจำแลงกายเป็นมานพ เข้าไปถวายอัญชลีเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานวาจาว่า "ความสงัดเป็นสุข สำหรับบุคคลผู้มีธรรมอันเห็นแล้ว ยินดีอยู่ในที่สงัด รู้เห็นตามความเป็นจริง ความไม่เบียดเบียน คือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และความปราศจากความกำหนัด คือความล่วงกามทั้งหลายเสียได้ด้วยประการทั้งปวง เป็นสุขในโลก ความนำอัสมิมานะ คือความถือตัวออกให้หมดไปเป็นสุขอย่างยิ่ง"
              ครั้นล่วง ๗ วันแล้ว เสด็จออกจากร่มไม้มุจลินท์ ไปยังร่มไม้เกตุ อันมีนามว่า "ราชายตนะ" อันอยู่ในทิศทักษิณ แห่งต้นมหาโพธิ์ เสวยวิมุติสุข ณ ที่นั้น สิ้น ๗ วัน เป็นอวสาน ในกาลนั้น ท้าวสักกะอมรินทราธิราช ทรงดำริว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้เสวยพระกระยาหารนับแต่กาลตรัสรู้มาได้ ๔๙ วันแล้ว จึงได้เสด็จลงมาจากเทวโลก น้อมผลสมออันเป็นทิพยโอสถเข้าไปถวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับผลสมอเสวย แล้วทรงสรีระกิจลงพระบังคม ทรงสำราญพระกายแล้ว เสด็จเข้าประทับยังร่มไม้ราชายตนะพฤกษ์นั้น.


เทววาจิกอุปาสก
              ในกาลนั้น มีพานิชสองพี่น้อง ชื่อ ตปุสสะ ๑ ภัลลิกะ ๑ เป็นนายกองเกวียน นำกองเกวียนบรรทุกสินค้า โดยมรรคาอันไกล ปรารถนาจะไปค้าขายยังอุกกลาชนบท ในมัชฌิมประเทศ เดินทางมาใกล้พนาสณฑ์นั้น เทพยดาได้แนะนำให้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า สองพานิชก็ดีใจ พักกองเกวียนไว้แล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า มีศรัทธาเลื่อมใส ได้น้อมข้าวสัตตูก้อน สัตตูผล เข้าทูลถวายด้วย
              ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า บาตรของตถาคตได้หายไปแต่เช้าแห่งวันตรัสรู้ ต้องทรงรับข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาด้วยพระหัตถ์ และครั้นได้ตรัสรู้แล้ว ก็มิได้เสวยพระกระยาหารเลย ตลอดเวลา ๔๙ วัน บัดนี้ ควรที่ตถาคตจะรับอาหารของสองพานิช ที่น้อมเข้ามาถวายด้วยบาตร ขณะนั้นท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ พระองค์ ได้นำบาตรเสลมัย เป็นศิลาล้วน มีสีเขียวดังเม็ดถั่วเขียวทั้ง ๔ ลูก มาจากทิศทั้ง ๔ น้อมเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า
              ครั้นพระองค์ทรงรับบาตรทั้ง ๔ ลูก จากท้าวมหาราชแล้ว ทรงดำริว่า บรรพชิตไม่ควรมีบาตรเกินกว่า ๑ ลูก และในทันใดนั้น ก็ทรงอธิษฐานประสานบาตรทั้ง ๔ ลูกนั้น เข้าเป็นบาตรลูกเดียว แล้วทรงเอาบาตรนั้นรับข้าวสัตตูก้อน สัตตูผง ของพานิชทั้งสอง ทรงทำภัตกิจ
              เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสร็จการเสวยแล้ว ตปุสสะ ภัลลิกะ พานิชทั้งสองได้กราบทูลแสดงตนเป็นอุบาสกด้วยความเลื่อมใส ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้ากับพระธรรมว่าเป็นสรณะตลอดชีวิต ด้วยเวลานั้นยังไม่มีพระสงฆ์ ปฐมอุบาสกทั้งสองนี้จึงเป็นอุบาสกประเภท เทววาจิก คือ เปล่งวาจาขอถึงพระพุทธเจ้า และพระธรรมทั้งสองเป็นที่พึ่งที่ระลึก
              ครั้นแล้วพานิชทั้งสองได้กราบทูลขอประทานปูชนียวัตถุ คือสิ่งใดสิ่งหนึ่งสำหรับเป็นที่ระลึก อภิวาทบูชาในกาลต่อไป พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกพระหัตถ์ขึ้นปรามาสพระเศียร ในขณะนั้น พระเกศธาตุ ๘ เส้น ได้ติดนิ้วพระหัตถ์ลงมา พระบรมศาสดาจึงทรงประทานพระเกศาธาตุทั้ง ๘ เส้นนั้น แก่ตปุสสะ ภัลลิกะ ปฐมอุบาสก เพื่อเป็นที่ระลึกตามประสงค์ พานิชทั้งสองน้อมรับพระเกศธาตุด้วยความเบิกบานใจอย่างยิ่ง ได้นำบรรจุลงในผอบทองคำ แล้ววางลงบนสุวรรณภาชนะอันวิจิตร ถวายบังคมอัญเชิญผอบพระเกศธาตุไปด้วยเศียรเกล้าของตน นำขึ้นประดิษฐานบนเกวียน แล้วหลีกไปจากที่นั้น

 ร่มไม้อชปาลนิโครธ
              ครั้นล่วง ๗ วันแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงเสด็จจากร่มไม้ราชยายตนะ ไปประทับยังร่มไม้อชปาลนิโครธอีกครั้งหนึ่ง ทรงพระดำริถึงพระองค์ว่า การดำรงพระองค์อยู่โดยความเป็นผู้ไม่มีที่เคารพ กราบไหว้ เป็นความลำบาก ก็แลพระองค์ควรจะเคารพกราบไหว้ผู้ใดดี เมื่อได้ทรงพิจารณาเลือกหาผู้ที่ทรงคุณสมบัติยิ่งกว่า ควรที่พระองค์จะทรงเคารพ ก็มิได้ทรงมองเห็นใครผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้สูงด้วยคุณธรรม ควรแก่การคารวะ
              ทรงพระดำริว่า พระโลกุตตรธรรม ที่ตถาคตได้ตรัสรู้นี้แล เป็นปูชนียธรรมอันประเสริฐสุด ควรแก่การเคารพบูชาอย่างยิ่ง แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายที่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้วทุก ๆ พระองค์ ก็ทรงเคารพพระสัทธรรม ดังนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงเคารพพระธรรม ทรงเทิดทูนพระธรรมขึ้นเป็นที่เคารพบูชา
              ต่อนั้น ก็ทรงได้พิจารณาถึงพระธรรม ที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ทั้งหมดนั้น เป็นคุณชาติละเอียดสุขุมคัมภีรภาพอย่างยิ่ง ยากที่มนุษย์ทั้งหลาย ผู้มีปัญญาน้อย มีความเพียรน้อย แม้จะได้สดับแล้ว จะตรัสรู้ตามได้ ทำให้พระองค์ทรงท้อพระทัยในอันจะแสดงธรรมโปรดประชากร
              ขณะนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม ทราบในพระพุทธปริวิตกเช่นนั้น จึงชวนเทพยดาเป็นอันมากเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับ แล้วกราบทูลอาราธนาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระมหากรุณาดังทะเลหลวง ประชากรทั้งปวงที่มีสาวกบารมีได้สั่งสมไว้มีอยู่ สัตว์ผู้มีธุลีนัยน์ตาน้อย ยังมีอยู่ ถ้าพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดประทานพระธรรมเทศนา ประชาสัตว์ก็จะได้ดวงปัญญาหยั่งรู้ตาม จะได้ข้ามสังสารวัฏฏ์ สมดังมโนรถของพระองค์ที่ทรงมุ่งจะรื้อขนสัตว์ให้เข้าสู่พระนิพพาน"
              ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับคำอาราธนาของท้าวสหัมบดีพรหม ก็ทรงพระจินตนาการว่า เป็นธรรมดาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายที่สืบ ๆ กันมา ในอันที่จะประกาศธรรมโปรดประชากร แท้จริง ในราตรีแห่งวันที่จะได้ตรัสรู้ ในมัชฌิมยาม ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ ก็ทรงหยั่งเห็นสันดานของประชาสัตว์สิ้นแล้ว ว่ามีอุปนิสสัยต่าง ๆ กัน เป็น ๔ จำพวก คือ
              ๑. อุคฆติตัญญู ผู้สามารถจะตรัสรู้ตามพระธรรมเทศนาได้ฉับพลัน
              ๒. วิปจิตัญญู ผู้จะตรัสรู้ตามในกาลภายหลังที่สดับรับพระโอวาทแนะนำในกาลต่อไป
              ๓. เนยยะ ผู้มีสันดานเพียงเล่าเรียน ศึกษา ปฏิบัติตามโอวาท ซึ่งสามารถจะรู้ได้ในกาลภายหลัง
              ๔. ปทปรมะ ผู้ยากที่จะสั่งสอน แม้จะได้สดับธรรม ก็จะได้ผลเพียงเป็นอุปนิสสัยปัจจัยในภาพต่อไป ดังดอกบัว ๔ เหล่านั้น จึงได้ทรงน้อมพระทัยไปในอันที่จะแสดงธรรมโปรดประชาสัตว์ ทรงรับอาราธนาของท้าวสหัมบดีพรหม ตั้งพระทัยจะประดิษฐานพระพุทธศาสนาด้วยดี ให้เกิดแก่พุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา แผ่ไพศาลก่อนที่จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานสืบไป

เสด็จโปรดพระปัญจวัคคีย์
              ต่อนั้น ก็ทรงพระดำริหาคนที่ควรจะได้รับเทศนาครั้งแรก ได้ทรงปรารภถึงอาฬารดาบส และอุทกดาบส ที่พระองค์ได้เคยอยู่อาศัยศึกษาลัทธิของท่านในกาลก่อน ว่า ท่านทั้งสองนี้มีปัญญา ทั้งมีกิเลสเบาบาง สามารถจะรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน แต่ท่านทั้งสองได้สิ้นชีพเสียแล้วก่อนหน้า ๗ ราตรี มัจจุ คือความตาย เป็นมาร เป็นภัยต่อคุณอันใหญ่ของท่านทั้งสอง ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ ได้ฟังธรรมแล้วคงจะได้ตรัสรู้โดยฉับพลันทีเดียว ภายหลังทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ว่า เป็นผู้มีอุปนิสสัยในอันจะตรัสรู้ธรรม ทั้งมีอุปการะแก่พระองค์มาก ได้เป็นอุปฐากของพระองค์เมื่อครั้งทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา ครั้นทรงกำหนดแน่ในพระทัยว่า จะแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ก่อน ดังนั้น ครั้นเวลาเช้าแห่งวันจาตุททสี ดิถีขึ้น ๑๔ ค่ำ แห่งอาสาฬหมาส คือ เดือน ๘ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว ก็เสด็จดำเนินไปโดยทางที่จะไปยังเมืองพาราณสี อันเป็นทางระหว่างแห่งแม่น้ำคยา กับแดนมหาโพธิ์ต่อกัน ทรงพบอาชีวกผู้หนึ่ง มีนามว่า อุปกะ เดินสวนทางมา ฝ่ายอุปกะได้เห็นพระรัศมีฉวีวรรณของพระผู้มีพระภาพงดงามผ่องใส อย่างที่ไม่เคยเห็นมาแต่ก่อน ก็ประหลาดใจ คิดไปว่า คนผู้นี้ไฉนหนอจึงมีรัศมีโอภาสงามผุดผ่อง เป็นสง่าน่าเคารพยิ่งนัก จึงเข้าไปใกล้แล้วปราศัยด้วยคารวะเป็นอันดีว่า ข้าแต่สมณะ อินทรีย์ของท่านผ่องใส บริสุทธิ์ปราศจากราคี ท่านบวชในสำนักไหน ใครเป็นครูของท่าน ท่านเล่าเรียนปฏิบัติธรรมในสำนักอาจารย์ผู้ใด กรุณาแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบด้วย
              พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า "ดูกร อุปกะ ตถาคตเป็นสยัมภู ตรัสรู้เองด้วยปัญญายิ่ง ไม่มีใครเป็นครูอาจารย์สั่งสอน เป็นสัพพัญญู ตรัสรู้ธรรมทั้งมวล ไม่มีสิ่งใดที่ควรจะรู้ ซึ่งตถาคตไม่รู้ อุปกะ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ตถาคตแสดงว่าใครเป็นครูสั่งสอนเล่า"
              อุปกะไม่เชื่อ ด้วยไม่มีญาณที่จะหยั่งเห็นตาม ทั้งไม่มีความรู้ที่จะซักถามถึงเหตุอื่นอีกได้ สั่นศีรษะแล้วก็หลีกไปจากที่นั้น ตามสันดานของอาชีวก ที่มีทิฏฐิ ที่มั่นแต่ในลัทธิของตนเท่านั้นว่าถูก อาจารย์ของตนรู้จริง คนอื่นเปล่า ต่อนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จโดยทางนั้นต่อไป พอเพลาสายัณห์ก็บรรลุถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
              ขณะนั้น ปัญจวัคคีย์ ฤาษีทั้ง ๕ ได้แลเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแต่ไกล จึงกล่าวนัดหมายกันว่า พระสมณะโคดม เลิกละความเพียรในการบำเพ็ญตบะ ในทุกรกิริยา บัดนี้ มีร่างกายผ่องใสงดงามยิ่งนัก คงจะไม่มีโอกาสได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เสด็จมา ณ ที่นี้ ชรอยจะมีความรำคาญไม่สบายพระทัย อยู่ไม่ได้โดยลำพังพระองค์เดียว จึงเที่ยวสืบเสาะแสวงหาเรา ดังนั้น ในบรรดาพวกเรา ใครอย่าทำปัจจุคมต้อนรับ อย่าไหว้อย่ากราบ อย่ารับบาตรจีวร ปูลาดแต่อาสนะไว้ถวาย ด้วยพระองค์เป็นกษัตริย์ขัตติยตระกูลมหาศาล หากพระองค์ปรารถนาจะนั่ง ก็จะได้นั่งตามประสงค์ ครั้นทำกติกาสัญญานัดหมายแล้ว ก็ทำนั่งเพิกเฉยแสดงอาการไม่เคารพ ไม่ยินดีในการเสด็จมาของพระผู้มีพระภาคเจ้า
              แต่ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้ามาใกล้ ก็บรรดาลให้ปัญญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ลืมกติกาสัญญาที่ทำกันไว้หมด พากันลุกขึ้นยืนประนตน้อมอัญชลี รับบาตร จีวร บางรูปตักน้ำมาล้างพระยุคลบาท บางรูปก็ร้องทูลเชิญให้เสด็จประทับ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จประทับนั่งแล้ว ปัญจวัคคีย์ได้กล่าวปฏิสันถาร ถามถึงทุกข์สุขตามวิสัยของคนที่ต่างถิ่นมาไกลได้พบกัน หากแต่ใช้สำนวนต่ำ ๆ ว่า อาวุโส โคตมะ อันเป็นกิริยาไม่เคารพ ซึ่งไม่เป็นการสมควร
              แต่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกว่า "ดูกร ปัญจวัคคีย์ บัดนี้ ตถาคตได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว มาครั้งนี้หวังจะแสดงธรรมแก่เธอทั้ง ๕ เธอจงตั้งใจสดับ และปฏิบัติตามคำของตถาคต ไม่ช้านานสักเท่าใด ก็จะได้ตรัสรู้ตาม"
              ปัญจวัคคีย์ไม่เชื่อ กลับคัดค้านว่า "อาวุโส โคตมะ แม้แต่กาลก่อน พระองค์ทรงบำเพ็ญตบะ ทำทุกรกิริยาด้วยความเพียรอย่างแรงกล้า ก็ยังไม่สำเร็จแก่พระสัมมาสัมโพธิญาณ แล้วไฉนเลิกละความเพียรเวียนมาเป็นผู้มักมากแล้ว พระองค์จะตรัสรู้พระสัมโพธิญาณได้เล่า"
              แม้พระบรมศาสดาจะตรัสเตือนซ้ำอีก ปัญจวัคคีย์ก็ยังไม่เชื่อ กล่าวโต้แย้งถึง ๓ ครั้ง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเตือนด้วยพระกรุณา ให้ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ หวลระลึกถึงความหลังดูว่า "ดูก่อนปัญจวัคคีย์ วาจาที่ไม่ควรเชื่อคำใด ตถาคตเคยกล่าวอยู่บ้างหรือ แม้แต่คำว่า ตถาคตได้ตรัสรู้พระสัมโพธิญาณนี้ ตถาคตเคยกล่าวกะใคร ที่ไหน แต่กาลก่อน"
              ด้วยอานุภาพของพระวาจาจริงของพระองค์ เป็นอัศจรรย์ ทำให้พระปัญจวัคคีย์ระลึกเห็นตาม พากันแน่ใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า คงจะได้ตรัสรู้จริงดังพระวาจา ก็พร้อมกันถวายบังคมพระยุคลบาทด้วยคารวะ ขอประทานอภัยโทษที่แสดงอาการไม่เคารพต่อพระองค์ในเบื้องต้นทุกประการ
ปฐมเทศนา
              พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับพักในสำนักปัญจวัคคีย์ ๑ ราตรี ครั้นวันรุ่งขึ้น เป็นวันปัณณรสี ขึ้น ๑๕ ค่ำ อาสาฬหมาส พระองค์จึงได้ทรงประกาศพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ประทานปฐมเทศนาแก่พระปัญจวัคคีย์ ทั้ง ๕ รูปนั้นว่า
              "ภิกษุทั้งหลาย ที่สุด ๒ อย่าง บรรพชิตไม่ควรนิยมยินดี คือ กามสุขขัลลิกานุโยค ทำตนให้พัวพันด้วยสุขในกาม เป็นธรรมอันเลว เป็นเหตุตั้งบ้านตั้งเรือน เป็นของคนมีกิเลสหนา ไม่ใช่ของพระอริยะ คือผู้บริสุทธิ์ไม่เป็นประโยชน์ นี้อย่าง ๑
              อัตตกิลมถานุโยค ทำตนให้ลำบาก เป็นทุกข์ ไม่ทำให้เป็นพระอริยะ ไม่เป็นประโยชน์ นี้อย่าง ๑ ทั้งสองอย่างนี้ อันบรรพชิตไม่ควรนิยมยินดี
              มัชฌิมาปฏิปทา เราได้ตรัสรู้แล้ว ทำดวงตา ปรีชาญาณให้สว่างเป็นไปเพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ สิ้นตัณหาเครื่องรัดรึง
มัชฌิมาปฏิทา นั้น เป็นอย่างไร ?
              มัชฌิมาปฏิทา นั้น คือ ทางมีองค์ ๘ ทำผู้ดำเนินให้เป็นอริยะนั้นเอง
องค์ ๘ นั้นอะไรบ้าง ?
              องค์ ๘ นั้น คือปัญญาความเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ วาจาชอบ ๑ การงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ ความเพียรชอบ ๑ ระลึกชอบ ๑ ตั้งใจชอบ ๑
              มัชฌิมาปฏิทานี้แล เราได้ตรัสรู้แล้ว ทำดวงตา ปรีชาฌาณให้สว่าง เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
              ภิกษุทั้งหลาย ทุกข์นี้อย่างหนึ่ง เป็นสัจจะของอริยะบุคคล คือ ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความแห้งใจ ความรำพัน ความเจ็บไข้ ความเสียใจ ความคับใจ เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก เป็นทุกข์ ความปรารถนาไม่สมหวังเป็นทุกข์
              ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ นี้อย่างหนึ่ง เป็นสัจจะของอริยะบุคคล คือ ตัณหา ความทะยานอยาก ทำให้มีภพมีชาติ สหรคด้วยความกำหนัดยินดี เพลิดเพลินในอารมณ์นั้น ๆ
ตัณหา อะไรบ้าง ?
              กามตัณหา คือ ความทยานอยากในอารมณ์ที่ใคร่ ๑ ภวตัณหา คือความทยานอยากในความมีความเป็น ๑ วิภวตัณหา คือ ความทยานอยากในความไม่มีไม่เป็น ๑ ตัณหา ๓ ประการนี้แล เป็นเหตุให้เกิดทุกข์
              ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ นี้อย่างหนึ่ง เป็นสัจจะของอริยะบุคคล คือ ความดับตัณหาทั้ง ๓ นั้นแหละ หมดสิ้น เป็นอเสสวิราค ความสละ ความวาง ความปล่อย ความไม่พัวพัน ซึ่งตัณหานั้นแล เป็นความดับทุกข์
              ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ทางเข้าถึงความดับทุกข์นี้ อย่างหนึ่ง เป็นสัจจะของอริยบุคคล ได้แก่อริยมรรค ทางมีองค์ ๘ นี้แล คือ ปัญญาเห็นชอบ ๑ ดำริชอบ ๑ วาจาชอบ ๑ การงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ ความเพียรชอบ ๑ ระลึกชอบ ๑ ตั้งใจชอบ ๑ เป็นทางถึงความดับทุกข์
              ภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า
              ข้อนี้ ทุกข์ ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญา และเราก็ได้กำหนดรู้แล้ว
              ข้อนี้ ทุกขสมุทัย เหตุให้ทุกข์เกิด ควรละเสีย และเราได้ละเสียแล้ว
              ข้อนี้ ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ ควรทำให้แจ้งชัด และเราก็ได้ทำให้แจ้งชัดแล้ว
              ข้อนี้ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ทางเข้าถึงความดับทุกข์ ควรทำให้เกิด และเราก็ได้ทำให้เกิดแล้ว
              ภิกษุทั้งหลาย ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริง ในอริยสัจจ์ ๔ อันมีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ ยังไม่หมดจดเพียงใดแล้ว เราก็ยังไม่อาจยืนยันว่า เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ไม่มีความรู้อันใดเหนือเพียงนั้น
              เมื่อใด ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริง ในอริยสัจจ์ ๔ เหล่านี้ ของเราหมดจดดีแล้ว เมื่อนั้น เราอาจยืนยันตนว่า เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ไม่มีความรู้อันใดเหนือ ก็แลปัญญาได้เกิดขึ้นแก่เราชัดว่า ความหลุดพ้นของเราไม่กลับกำเริบ ความเกิดครั้งนี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ ไม่มีความเกิดอีก
              เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสพระธรรมเทศนาอยู่ ธรรมจักษุ (ได้แก่ พระโสดาปัตติมรรค์ ท่านผู้ได้ เป็นพระโสดาบัน) คือ ดวงตาอันเห็นธรรม ปราศจากธุลีมลทิน ได้เกิดขึ้นแล้วแก่ท่านโกณทัญญะว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา" พระองค์ทรงทราบว่าท่านโกณทัญญะ ได้เห็นธรรมแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานด้วยความเบิกบานพระทัยว่า "อัญญาสิ วต โภ โกณทัญโญ ๆ" แปลว่า "โกณทัญญะ ได้รู้แล้วหนอ ๆ" พระโกณทัญญะจึงได้คำว่า อัญญา อันเป็นคำนำหน้าพระอุทาน เพิ่มชื่อข้างหน้า เป็น พระอัญญาโกณทัญญะ ตั้งแต่กาลนั้นมา
              เมื่อพระผู้มีพระภาค ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จบลง ให้พระอัญญาโกณทัญญะได้บรรลุโสดาปัตติมรรค เป็นพระโสดาบันแล้ว และให้บรรดาอเนกนิกรเทพยดาที่มาประชุมฟังธรรมเทศนาอยู่ ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลมากมาย สุดที่จะคนณา
              พระโกณทัญญะ จึงได้ทูลขออุปสมบท เป็นภิกษุ ในพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงประทาน เอหิภิกขุอุปสัมปทา ให้เป็นภิกษุในพระธรรมวินัย ด้วยพระวาจาว่า "ท่านจงเป็นภิกษุ มาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด" ด้วยพระวาจาเพียงเท่านั้น ก็ได้สำเร็จเป็นภิกษุในพระธรรมวินัยนี้อย่างสมบูรณ์ ด้วยในเวลานั้นยังมิได้ทรงบัญญัติวิธีอุปสมบทเป็นอื่นไว้ ทั้งเพิ่งเป็นการประทานอุปสมบทครั้งแรกในพระศาสนา ฉะนั้น พระอัญญาโกณทัญญะ จึงเป็นพระสงฆ์องค์แรก เป็นพระอริยะบุคคคลองค์แรก และเป็นพระสาวกองค์แรกในพระศาสนานี้ เป็นอันว่า พระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสงฆ์เจ้า ให้เกิดขึ้นบริบูรณ์ ในกาลแต่บัดนั้น
              พระบรมศาสดา มีพระพุทธประสงค์จะทรงโปรดพระปัญจวัคคีย์ให้สำเร็จพระอรหัตต์ เพื่อเป็นกำลังในการประกาศพระศาสนาต่อไป จึงเสด็จจำพรรษา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ทรงสั่งสอนบรรพชิตทั้ง ๔ รูปที่เหลืออยู่นั้น ด้วยพระธรรมเทศนาต่าง ๆ ตามสมควรแก่อัธยาศัย เมื่อท่านวัปปะ แ ละท่านภัททิยะ ได้ธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรมอย่างพระอัญญาโกณทัญญะแล้ว ทูลขออุปสมบท พระศาสดาก็ทรงประทานอุปสมบทแก่ท่านทั้ง ๒ นั้น เหมือนอย่างประทานแก่พระอัญญาโกณทัญญะ ภายหลังท่านมหานามะ และท่านอัสสชิ ได้ธรรมจักษุ แล้ว ทูลขออุปสมบท พระบรมศาสดาก็ทรงประทานเหมือนอย่างประทานแก่สาวกทั้ง ๓
              ครั้นพระภิกษุปัญจวัคคีย์ ตั้งอยู่ในที่พระสาวกแล้ว มีอินทรีย์ มีศรัทธา เป็นต้น แก่กล้า สมควรสดับธรรม จำเริญวิปัสสนา เพื่อวิมุติเบื้องสูงแล้ว ครั้นถึงวันแรม ๕ ค่ำ แห่งเดือนสาวนะ คือ เดือน ๙ ซึ่งเท่ากับแรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ ไทย ด้วยสมัยนั้น นับแรมเป็นต้นเดือน นับขึ้นเป็นปลายเดือน พระศาสดาจึงได้แสดงธรรมสั่งสอน พระปัญจวัคคีย์ด้วย อนัตตลักขณะสูตร เมื่อพระบรมศาสดาตรัสพระธรรมเทศนา แสดงอนัตตลักขณสูตรอยู่ จิตของพระภิกษุปัญจวัคคีย์ ผู้พิจารณาภูมิธรรมตามกระแสเทศนานั้น พ้นแล้วจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด
              ครั้งนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์ คือ พระสัมพุทธเจ้า ๑ พระอริยะสาวก ๕ คือ พระอัญญาโกณทัญญะ๑ พระวัปปะ ๑ พระภัททิยะ ๑ พระมหานามะ ๑ พระอัสสชิ ๑ รวมเป็น ๖ ด้วยประการฉะนี้


ยสะกุลบุตรออกบวช
              ในสมัยนั้น มีมาณพผู้หนึ่ง ชื่อว่า ยสะ เป็นบุตรเศรษฐีในเมืองพาราณสี บริบูรณ์ด้วยทรัพย์ศฤงฆาร มีเรือน ๓ หลัง เป็นที่อยู่ประจำใน ๓ ฤดู อย่างผาสุก อิ่มอยู่ในกามสุขตามฆราวาสวิสัย ครั้งนั้น ในฤดูฝน พรรษากาลที่พระสัมพุทธเจ้า ทรงจำพรรษาอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งอยู่ไม่ไกลแต่บ้านยสะมานพ ราตรีวันหนึ่ง ยสะมานพนอนหลับก่อน เหล่านางบำเรอและบริวารนอนหลับภายหลัง แสงชวาลาที่ตามไว้ยังสว่างอยู่ ยสะมานพตื่นขึ้นเห็นบริวารเหล่านั้นนอนหลับอยู่ ปราศจากสติสัมปชัญญะ แสดงอาการวิกลวิกาลไปต่าง ๆ บ้างกรน คราง ละเมอ เพ้อพึมพำ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีดังแต่ก่อน ปรากฏแก่ยสะมานพ เหมือนซากศพที่ถูกทอดทิ้งไว้ในป่าช้า ยสะมานพเห็นแล้วเกิดความสลดใจ เบื่อหน่าย รำคาญ อยู่ในห้องไม่ติด ออกอุทานด้วยความสังเวชใจว่า “ ที่นี่วุ่นวาย ไม่เป็นสุข ” แล้วออกจากห้องสรวมรองเท้า เดินออกจากประตูเรือน ตรงไปทางที่จะไปป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
              ในเวลานั้น จวนใกล้รุ่ง พระศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ทรงได้ยินเสียงยสะมานพ เดินบ่นมาด้วยความสลดใจ ใกล้ที่จงกรมเช่นนั้น จึงรับสั่งเรียกด้วยพระมหากรุณาว่า "ยสะ ที่นี่ไม่วุ่นวาย ยสะ ที่นี่สงบ เป็นสุข ยสะ ท่านมาที่นี่เถิด" ฝ่ายยสะมานพได้ยินเสียงพระศาสดารับสั่งว่า "ที่นี่ไม่วุ่นวาย สงบ เป็นสุข" ก็ดีใจ ถอดรองเท้าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ ด้วยความสบายใจ
              พระศาสดาตรัสเทศนาโปรดยสะมานพด้วย อนุปุพพิกถา แสดงถึงปฏิปทาเบื้องต้น ที่คฤหัสถ์ชนจะพึงสดับ และปฏิบัติตามได้โดยลำดับ คือ
              ๑. ทาน พรรณาความเสียสละ ให้ด้วยความยินดี เพื่อบูชาคุณของท่านผู้มีคุณ ด้วยความกตัญญู ด้วยความเคารพนับถือ เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลฉันท์ญาติมิตร ด้วยความไมตรี ด้วยน้ำใจอันงาม เพื่ออนุเคราะห์ผู้น้อย ผู้ตกทุกข์ได้ยาก ด้วยความกรุณาสงสาร
              ๒. ศีล พรรณาความรักษากาย วาจา เป็นสุภาพ เรียบร้อย เว้นจากการเบียดเบียนกัน เพื่อความสงบสุข ตามหลักแห่งมนุษยธรรม
              ๓. สวรรค์ พรรณาถึงอานิสงส์ของผู้บำเพ็ญทาน รักษาศีล จะพึงได้พึงถึงความสุข อย่างเทพเจ้าในสรวงสวรรค์ ยิ่งกว่าความสุขของมนุษย์
              ๔. กามาทีนพ พรรณณาถึงโทษของกาม ของผู้บริโภคกาม ทั้งในมนุษย์ทั้งในสวรรค์ เป็นช่องทางแห่งทุกข์โทษ เพราะวุ่นวาย ไม่สงบ เดือดร้อน ไม่รู้จักสิ้นสุด น่าระอา น่าเบื่อหน่าย
              ๕. เนกขัมมานิสงส์ พรรณาถึงอานิสงส์ของการหลีกออกจากกาม เหมือนคนออกจากเรือนไฟที่กำลังติดอยู่ ไม่เร่าร้อน สงบ เย็นใจ เป็นสุข ไม่มีภัยไม่มีเวรทุกประการ
              ฟอกจิตของยสะมานพ ให้ห่างไกลจากความยินดีในกามได้ธรรมจักษุ เหมือนผ้าที่ซักฟอกให้หมดมลทิน ควรจะรับน้ำย้อมได้แล้ว พระศาสดาจึงทรงแสดงอริยสัจจ์ ๔ คือ ทุกข์ , ทุกข์สมุทัย , เหตุให้ทุกข์เกิด, นิโรธ ความดับทุกข์ , และมรรคได้แก่ข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ โปรดยสะมานพให้ได้เห็นธรรมพิเศษ ณ ที่นั่งนั้น
              ฝ่ายมารดาของยสะมานพ ทราบว่าลูกชายหาย มีความเศร้าโศก บอกแก่เศรษฐีผู้เป็นสามี ท่านเศรษฐีตกใจให้คนออกติดตามตลอดทางทุกสาย แม้ตนเองก็ร้อนใจ อยู่ไม่ติด ก็ออกติดตามด้วย เผอิญเดินทางผ่านมาใกล้ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เห็นรองเท้าของลูกก็จำได้ ดีใจ ตามเข้าไปหาจนถึงที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่
              พระบรมศาสดาตรัสเทศนาอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ โปรดท่านเศรษฐี ให้เศรษฐีได้ดวงตาเห็นธรรม ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสก ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต ท่านเศรษฐีได้เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยคนแรก ก่อนกว่าชนทั้งปวงในพระศาสนานี้
              ขณะที่พระบรมศาสดาตรัสเทศนาอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ โปรดท่านเศรษฐี ยสมานพนั่งอยู่ในที่นั้น ได้ฟังเทศนาทั้งสองเรื่องนี้ซ้ำอีกครั้งหนึ่งในที่นั่งนั้นเอง พิจารณาภูมิธรรมตามกระแสพระธรรมเทศนา จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน สำเร็จอริยคุณเบื้องสูง เป็นพระอรหันต์ ณ ที่นั้น นับว่ายสะมานพ เป็น พระอรหันต์องค์แรกที่อยู่ในเพศคฤหัสถ์ คือ ยังมิทันได้บวช ก็บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ซึ่งเป็นคุณสูงสุดในพระศาสนานี้
              ฝ่ายเศรษฐีผู้บิดา ไม่ทราบว่า ท่านยสะสิ้นอาสวะแล้ว จึงกล่าวแก่ยสะว่า "พ่อยสะ มารดาของเจ้า ไม่เห็นเจ้า มีความเศร้าโศกพิไรรำพันยิ่งนัก เจ้าจงให้ชีวิตแก่มารดาของเจ้าเถิด"
              ท่านยสะแลดูพระบรมศาสดา พระบรมศาสดาจึงตรัสบอกแก่เศรษฐีให้ทราบว่า "บัดนี้ ยสะ ได้บรรลุพระอรหัต เป็นพระอรหันต์แล้ว มิใช่ผู้ที่จะกลับคืนไปครองฆราวาสอีก"
              ท่านเศรษฐีกราบทูลว่า "เป็นลาภอันประเสริฐของยสะแล้ว ขอให้ยสะได้รุ่งเรืองอยู่ในอนาคาริยวิสัยเถิด" แล้วกราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดากับพระยสะให้ไปรับอาหารบิณฑบาตที่เรือนของตนในเช้าวันนั้น ครั้นทราบว่า พระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาด้วยอาการดุษณีภาพแล้ว ก็ถวายบังคมลากลับไปสู่เรือน แจ้งข่าวแก่ภรรยา พร้อมกับสั่งให้จัดแจงขาทนียะโภชนียาหารอันประณีต เพื่อถวายพระบรมศาสดา
              เมื่อท่านเศรษฐีกลับแล้ว ยสะมานพได้กราบทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุ พระบรมศาสดาทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาเป็นพิเศษ ด้วยยสะมานพได้บรรลุพระอรหัตเป็นพระอรหันต์แล้ว เพียงแต่ทรงรับให้เข้าอยู่ในภาวะของภิกษุ ในพระธรรมวินัยได้เท่านั้น ดังนั้น จึงตรัสพระวาจาแต่สั้น ๆ ว่า "เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด" ตัดคำว่า "เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ" ข้างท้ายออกเสีย ด้วยพระยสะถึงที่สุดทุกข์แล้ว
              ในเวลาเช้าวันนั้น พระบรมศาสดาก็มีพระยสะ เป็นพระตามเสด็จ ๑ รูป เสด็จไปยังเรือนท่านเศรษฐีตามคำอาราธนา ประทับนั่งยังอาสนะที่ตกแต่งไว้ถวายเป็นอันดี มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะเข้าเฝ้า พระบรมศาสดาทรงแสดงอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ ให้สตรีทั้งสองนั้นได้ธรรมจักษุ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ปฏิญาณตนเป็นอุบาสิกาของถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะ ได้เป็นอุบาสิกาคนแรกในพระพุทธศาสนา ก่อนกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในโลกนี้
              ครั้นได้เวลาภัตตกิจ มารดาบิดาและภรรยาเก่าของพระยสะ ได้จัดการอังคาสด้วยชัชชโภชนาหารอันประณีตด้วยมือของตนเอง เมื่อเสร็จภัตตกิจแล้ว พระบรมศาสดาตรัสอนุโมทนา ให้อุบาสกอุบาสิกาทั้ง ๓ นั้น อาจหาญ ร่าเริงในธรรม เป็นอันดีแล้ว เสด็จกลับประทับยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
              ครั้งนั้น มีเศรษฐีบุตรชาวเมืองพาราณสี ๔ คน คือ วิมละ ๑ สุพาหุ ๑ ปุณณชิ ๑ ควัมปติ ๑ ซึ่งเป็นสหายที่รักใคร่ของพระยสะ ครั้นได้ทราบข่าวว่าพระยสะออกบวช เกิดความสนใจใคร่จะรู้ธรรมที่พระยสะมุ่งหมายประพฤติพรต ดังนั้น สหายทั้ง ๔ คน จึงพร้อมกันไปพบพระยสะถึงที่อยู่ พระยสะได้พาสหายทั้ง ๔ คนนั้นไปเฝ้าพระบรมศาสดา ทูลให้ทรงสั่งสอน พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมโปรดเศรษฐีบุตรทั้ง ๔ นั้น ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว ประทานอุปสมบทให้เป็นภิกษุ ทั้งทรงสั่งสอนให้บรรลุพระอรหัตผลในกาลต่อมา ครั้งนั้น มีพระอรหันต์ในโลกเป็น ๑๑ องค์ด้วยกัน ทั้งพระบรมศาสดา
              ต่อมามีสหายของพระยสะ ซึ่งเป็นชาวชนบท ๕๐ คน ได้ทราบข่าวพระยสะออกบวช มีความคิดเช่นเดียวกับสหายของพระยสะทั้ง ๔ นั้น จึงไปหาพระยสะที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ได้สดับธรรม มีความเลื่อมใส ได้อุปสมบท และได้บรรลุพระอรหัตผลด้วยกันทั้งหมดโดยนัยก่อน จึงเกิดมีพระอรหันต์รวมทั้งพระศาสดาด้วยเป็น ๖๑ องค์


ส่งพระสาวกประกาศพระศาสนา
              เมื่อพระสาวกมีมาก พอจะเป็นกำลังช่วยพระองค์ออกประกาศพระศาสนา เพื่อเป็นประโยชน์สุขแก่คนเป็นอันมากได้แล้ว ครั้นออกพรรษาแล้ว จึงส่งพระสาวกทั้ง ๖๐ นั้นให้ออกไปประกาศพระศาสนาด้วยพระดำรัสว่า
              "ภิกษุทั้งหลาย ! เราได้พ้นแล้วจากบ่วงเครื่องรึงรัดทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้ท่านทั้งหลายก็เช่นกัน ท่านทั้งหลายจงเที่ยวไปในชนบท เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนเป็นอันมาก ต่างรูปต่างไป แต่ละทิศละทาง อย่าไปรวมกัน ๒ รูป ในทางเดียวกัน จงแสดงธรรมประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิบริบูรณ์สิ้นเชิง สัตว์ทั้งหลายที่มีกิเลสบังปัญญาดุจธุลีในจักษุน้อย มีอยู่ เพราะโทษที่ไม่ได้ฟังธรรม ย่อมเสื่อมจากคุณที่จะพึงได้พึงถึง แล้วผู้ตรัสรู้ธรรมจักมีขึ้นตามโดยลำดับ แม้เราก็จักไปยังอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรมเช่นกัน"
              ครั้นพระสาวกทั้ง ๖๐ องค์ ถวายบังคมลาพระบรมศาสดาออกจากป่าอิสิปตนะมิคทายวัน จาริกไปประกาศพระศาสนายังชนบทน้อยใหญ่ ตามพระพุทธประสงค์แล้ว ส่วนพระองค์ก็เสด็จดำเนินไปยังตำบลอุรุเวลา ครั้นถึงไร่ฝ้ายในระหว่างทาง เสด็จหยุดพักที่ต้นไม้ต้นหนึ่ง
              ขณะนั้น มานพ ๓๐ คน ซึ่งเป็นสหายที่รักใคร่กัน เรียกว่า " ภัททวัคคีย์ ์" อยู่ในราชตระกูลแห่งราชวงศ์โกศล ต่างคนต่างพาภรรยาของตน ๆ มาหาความสำราญ บังเอิญสหายคนหนึ่งไม่มีภรรยา สหายเหล่านั้นจึงไปหาหญิงโสเภณีคนหนึ่งมาให้เป็นเพื่อนร่วมความสำราญ ครั้นเผลอไป ไม่ระแวดระวัง หญิงโสเภณีคนนั้น ได้ลักเอาเครื่องแต่งกายและสิ่งของอันมีค่าหนีไป มานพทั้ง ๓๐ คนนั้น จึงออกเที่ยวติดตาม มาพบพระบรมศาสดาที่ไร่ฝ้ายนั้น มานพเหล่านั้นจึงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ทูลถามว่าพระองค์ได้ทรงเห็นหญิงผู้นั้นมาทางนี้หรือไม่ พร้อมกับได้ทูลถึงพฤติการณ์ของหญิงนั้นให้ทราบด้วย
              พระบรมศาสดาได้ทรงตรัสว่า "ภัททวัคคีย์ ท่านทั้งหลายจะแสวงหาหญิงผู้นั้นดี หรือจะแสวงหาตนของตนดี" ครั้นสหายเหล่านั้นกราบทูลว่า แสวงหาตนดีกว่า จึงรับสั่งว่าถ้าเช่นนั้นจงตั้งใจฟัง เราจะแสดงธรรมแก่ท่านทั้งหลาย แล้วทรงแสดง อนุปุพพกถา และ อริยสัจ ๔ ให้ภัททวัคคีย์มานพทั้ง ๓๐ นั้น ได้ดวงตาเห็นธรรม ประทานอุปสมบทให้เป็นภิกษุ แล้วทรงสั่งสอนให้บรรลุอริยผลเบื้องสูง ทรงส่งไปประกาศพระศาสนาเช่นเดียวกับพระสาวก ๖๐ องค์ก่อนนั้น พระอริยสงฆ์คณะนี้ได้กราบทูลลาเดินทางไปยังเมืองปาวา ข้างใต้แห่งแว่นแคว้นโกศลชนบท


โปรดชฏิล ๓ พี่น้อง
              ครั้นพระบรมศาสดาทรงส่งพระสาวกเหล่าภัททวัคคีย์ไปแล้ว ก็เสด็จตรงไปยังอุรุเวลาประเทศ อันตั้งอยู่ในเขตเมืองราชคฤห์มหานคร ซึ่งเป็นที่อยู่ของอุรุเวลกัสสปอาจารย์ใหญ่ของชฎิล ๕๐๐
              ราชคฤห์นครนั้น เป็นเมืองหลวงแห่งมคธรัฐ ซึ่งเป็นมหาประเทศ พระเจ้าพิมพิสารมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ปกครองโดยสิทธิขาด เป็นเมืองที่คับคั่งด้วยผู้คน เจริญวิทยาความรู้ ตลอดการค้าขาย เป็นที่รวมอยู่แห่งบรรดาคณาจารย์ เจ้าลัทธิมากในสมัยนั้น
              ในบรรดาคณาจารย์ใหญ่ ๆ นั้น ท่านอุรุเวลกัสสป เป็นคณาจารย์ใหญ่ผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนเป็นอันมาก ท่านอุรุเวลกัสสป เป็นนักบวชจำพวกชฎิล ท่านมีพี่น้องด้วยกัน ๓ คน ออกบวชจากตระกูลกัสสปะโคตร ท่านอุรุเวลกัสสปเป็นพี่ชายใหญ่ มีชฎิล ๕๐๐ เป็นบริวาร ตั้งอาศรมสถานที่พนาสณฑ์ ตำบลอุรุเวลา ต้นแม่น้ำเนรัญชรานที ตำบลหนึ่ง จึงได้นามว่า อุรุเวลกัสสป น้องคนกลาง มีชฎิลบริวาร ๓๐๐ ตั้งอาศรมสถานอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ถัดเข้าไปอีกตำบลหนึ่ง จึงได้นามว่า นทีกัสสป ส่วนน้องคนเล็ก มีชฎิลบริวาร ๒๐๐ ตั้งอาศรมสถานอยู่ที่คุ้งใต้แห่งแม่น้ำเนรัญชรานั้นต่อไปอีกตำบลหนึ่ง ซึ่งมีนามว่า ตำบลคยาสีสะประเทศ จึงได้นามว่า คยากัสสป ชฎิลคณะนี้ทั้งหมดมีทิฏฐิหนักในการบูชาเพลิง
              พระบรมศาสดาเสด็จไปถึงอาศรมสถานของท่านอุรุเวลกัสสปในเวลาเย็น จึงเสด็จตรงไปพบอุรุเวลกัสสปทันที ทรงรับสั่งขอพักแรมด้วยสัก ๑ ราตรี อุรุเวลสสปรังเกียจทำอิดเอื้อน ไม่พอใจให้พัก เพราะเห็นพระบรมศาสดาเป็นนักบวชต่างจากลัทธิของตน พูดบ่ายเบี่ยงว่า ไม่มีที่ให้พัก ครั้นพระบรมศาสดาตรัสขอพักที่โรงไฟ ซึ่งเป็นสถานที่บูชาเพลิงของชฎิล ด้วยเป็นที่ว่าง ไม่มีชฏิลอยู่อาศัย ทั้งเป็นที่อยู่ของนาคราชดุร้ายด้วย อุรุเวลกัสสปได้ทูล ว่า พระองค์อย่าพอใจพักที่โรงไฟเลย ด้วยเป็นที่อยู่ของพระยานาคมีพิษร้ายแรง ทั้งดุร้ายที่สุด อาศัยอยู่ จะได้รับความเบียดเบียนจากนาคราชนั้น ให้ถึงอันตรายแก่ชีวิต เมื่อพระบรมศาสดารับสั่งยืนยันว่า นาคราชนั้นจะไม่เบียดเบียนพระองค์เลย ถ้าท่านอุรุเวลกัสสปอนุญาตให้เข้าอยู่ ท่านอุรุเวลกัสสปจึงได้อนุญาตให้เข้าไปพักแรม
              ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ก็เสด็จเข้าไปยังโรงไฟนั้น ประทับนั่งดำรงพระสติ ต่อพระกัมมัฏฐานภาวนา ฝ่ายพระยานาค เห็นพระบรมศาสดาเสด็จเข้ามาประทับในที่นั้นก็มีจิตคิดขึ้งเคียดจึงพ่นพิษตลบไป ในลำดับนั้น พระบรมศาสดาก็ทรงพระดำริว่า ควรที่ตถาคตจะแสดงอิทธานุภาพให้เป็นควันไปสัมผัสมังสฉวีและเอ็นอัฎฐิแห่งพระยานาคนี้ ระงับเดชพระยานาคให้เหือดหาย แล้วก็ทรงสำแดงอิทธาภิสังขารดังพระดำรินั้น พระยานาคมิอาจจะอดกลั้นซึ่งความพิโรธได้ ก็บังหวนพ่นพิษเป็นเพลิงพลุ่งโพลงขึ้น พระบรมศาสดาก็สำแดงเตโชกสิณสมสบัติบันดาลเปลวเพลิงรุ่งโรจน์โชตนาการ และเพลิงทั้งสองฝ่ายก็บังเกิดขึ้นแสง แดงสว่าง ดุจเผาผลาญซึ่งโรงไฟให้เป็นเถ้าธุรี ส่วนชฎิลทั้งหลายก็แวดล้อมรอบโรงไฟนั้น ต่างเจรจากันว่า พระสมณะนี้มีสิริรูปงามยิ่งนัก เสียดายที่เธอมาวอดวายเสียด้วยพิษแห่งพระยานาคในที่นั้น
              ครั้นล่วงสมัยราตรีรุ่งเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าก็กำจัดฤทธิ์เดชพระยานาคให้อันตรธานหาย บันดาลให้นาคนั้นขดกายลงในบาตร แล้วทรงสำแดงแก่อุรุเวลกัสสป ตรัสบอกว่า พระยานาคนี้สิ้นฤทธิเดชแล้ว อุรุเวลกัสสปเห็นดังนั้นก็ดำริว่า พระสมณะนี้มี อานุภาพมาก ระงับเสียซึ่งฤทธิ์พระยานาคให้อันตรธานพ่ายแพ้ไปได้ ถึงดังนั้นไซร้ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา มีจิตเลื่อมใสในอิทธิปาฏิหาริย์ จึงกล่าวว่า ข้าแต่สมณะนิมนต์พระผู้เป็นเจ้าอยู่ ณ อาศรมของข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจะถวายภัตตาหารให้ฉันทุกวันเป็นนิต
              พระบรมศาสดาก็เสด็จประทับยังพนาสณฑ์ตำบลหนึ่ง ใกล้อาศรมแห่งอุรุเวลกัสสปชฎิลนั้น ครั้นสมัยราตรีเป็นลำดับ ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ก็ลงมาสู่สำนักพระบรมโลกนาถ ถวายอภิวาทและประดิษฐานยืนอยู่ใน ๔ ทิศ มีทิพยรังสีสว่างดุจกองเพลิงก่อไว้ทั้ง ๔ ทิศ ครั้นเวลาเช้า อุรุเวลกัสสปจึงเข้าไปสู่สำนักพระบรมศาสดาทูลว่า นิมนต์พระสมณะไปฉันภัตตาหารเถิด ข้าพเจ้าตกแต่งไว้ถวายเสร็จแล้ว แต่เมื่อคืนนี้เห็นรัศมีสว่างไปทั่วพนัสมณฑลสถาน บุคคลผู้ใดมาสู่สำนักพระองค์จึงปรากฏรุ่งเรืองในทิศทั้ง ๔ พระบรมศาสดาจึงตรัส บอกว่า ดูกรกัสสปนั้นคือ ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ลงมาสู่สำนักตถาคตเพื่อฟังธรรม อุรุเวลกัสสปได้สดับดังนั้น ก็ดำริว่า พระมหาสมณะองค์นี้มีอานุภาพมาก ท้าวจาตุมหาราชยังลงมาสู่สำนัก ถึงกระนั้นก็ยังมิได้เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา
              พระบรมศาสดา เสด็จมากระทำภัตตกิจ เสวยภัตตาหารของอุรุเวลกัสสปเสร็จแล้ว ก็เสด็จกลับมาสู่ทิวาวิหารในพนาสณฑ์นั้น ครั้นรัตติกาลสมัย ท้าวสหัสสนัยก็ลงมาสู่สำนักพระบรมศาสดา ถวายนมัสการแล้วยืนอยู่ที่ควรข้างหนึ่ง เปล่งรัศมีสว่างดุจกองอัคคีใหญ่ไพโรจน์ยิ่งกว่าราตรีก่อน ครั้นเพลารุ่งเช้า กัสสปชฎฎิลไปสู่สำนักพระบรมศาสดาทูลอาราธนาให้ฉันภัตตาหารแล้วทูลถามว่า เมื่อคืนนี้มีผู้ใดมาสู่สำนักพระองค์ จึงมีรัศมีสว่างยิ่งกว่าราตรีก่อน ตรัสบอกว่า ดูกรกัสสป เมื่อคืนนี้ท้าวโกสีย์สักกเทวราชลงมาสู่สำนักตถาคต เพื่อจะฟังธรรม ชฎิล ได้สดับดังนั้น ก็ดำริเห็นเป็นอัศจรรย์ดุจนัยก่อน
              พระบรมศาสดาเสด็จไปเสวยภัตตาหารของกัสสปดาบส แล้วก็กลับมาอยู่ทิวาวิหารยังพนัสฐานที่นั้น ครั้นเข้าสมัยราตรี ท้าวสหัมบดีมหาพรหม ก็ส่งมาสู่สำนักพระบรมศาสดา เปล่งรัศมีสว่างยิ่งขึ้นไปกว่าสองราตรีนั้น ครั้นรุ่งเช้าอุรุเวลกัสสปก็ไปทูลอาราธนาฉันภัตตาหาร แล้วทูลถามอีก ตรัสตอบว่า คืนนี้ท้าวสหัมบดีพรหมลงมาสู่สำนักตถาคต กัสสปดาบสก็ดำริดุจนัยก่อน พระบรมศาสดาเสด็จไปเสวยภัตตาหารของอุรุเวลชฎิล แล้วก็กลับมาสู่สำนัก
              ในวันรุ่งขึ้น มหายัญญลาภบังเกิดขึ้นแก่อุรุเวลชฎิล คือชนชาวอังครัฐทั้งหลาย จะนำเอาขาทนียโภชนียาหารเป็นอันมาก มาถวายแก่อุรุเวลชฎิล ๆ จึงดำริแต่ในราตรีว่า รุ่งขึ้นพรุ่งนี้มหาชนจะนำเอาเอนกนานาหารมาสู่สำนักอาตมา หากพระสมณะรูปนี้สำแดงอิทธิปาฏิหาริย์ ลาภสักการะก็จะบังเกิดแก่เธอเป็นอันมาก อาตมาจักเสื่อมสูญจากสรรพสักการบูชา ทำไฉน ณ วันพรุ่งนี้อย่าให้เธอมาสู่ที่นี้ได้
              สมเด็จพระบรมศาสดาทรงทราบความดำริของชฎิลด้วยเจโตปริญาณ ครั้นเพลารุ่งเช้าก็เสด็จไปสู่อุตตรกุรุทวีป ทรงบิณฑบาตรได้ภัตตาหารแล้ว ก็เสด็จมากระทำภัตตกิจยังฝั่งอโนดาต แล้วทรงยับยั้งอยู่ ณ ทิวาวิหารในที่นั้น ต่อเพลาสายัณหสมัยจึงเสด็จมาสู่วนสณฑ์สำนัก ครั้นรุ่งเช้า กัสสปชฎิลไปทูลอาราธนาเสวยภัตตาหารและทูลถามว่า "วานนี้พระองค์ไปแสวงหาอาหารในที่ใด ไฉนไม่ไปสู่สำนักข้าพเจ้า ๆ ระลึกถึงพระองค์อยู่" จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสบอกวาระน้ำจิตของชฎิลที่วิตกนั้นให้แจ้งทุกประการ อุรุเวลกัสสปได้สดับ ตกใจ ดำริว่า พระมหาสมณะนี้มีอานุภาพมากแท้ เธอล่วงรู้จิตอาตมาถึงดังนั้น ก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์ดังอาตมา
              ในกาลนั้น ผ้าบังสุกุลจีวรบังเกิดแก่พระบรมศาสดา พระองค์เสด็จพระพุทธดำเนินไปซักผ้าบังสุกุล ซึ่งห่อศพนางปุณณทาสี ที่ทอดทิ้งอยู่ในอามกสุสานะป่าช้าผีดิบ เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นกษัตริย์อุภโตสุชาติ เสด็จจากขัตติยราชสกุลอันสูงด้วยเกียรติศักดิ์ ทรงตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ เป็นโมลีของโลกเห็นปานนี้แล้ว ยังทรงลดพระองค์ลงมาซักผ้าขาวที่ห่อศพนางปุณณทาสี ที่ทอดทิ้งอยู่ในป่าช้า เพื่อทรงใช้เป็นผ้าจีวรทรงเช่นนี้ เป็นกรณียะที่สุดวิสัยของเทวดาและมนุษย์ซึ่งอยู่ในสถานะเช่นนั้นจะทำได้ มหาปฐพีใหญ่ก็กัมปนาทหวั่นไหวเป็นมหาอัศจรรย์ถึง ๓ ครั้ง ตลอด ระยะทางทรงพระดำริว่า ตถาคตจะซักผ้าบังสุกุลนี้ในที่ใด ? ขณะนั้น ท้าวสหัสสนัยอมรินทราธิราชทรงทราบในพุทธปริวิตก จึงเสด็จลงมาขุดสระโบกขรณีด้วยพระหัตถ์ในพื้นศิลา สำเร็จด้วยเทวฤทธิ์ให้เต็มไปด้วยอุทกวารี แล้วกราบทูลพระชินศรี ให้ทรงซักผ้าบังสุกุลในที่นั้น ขณะที่ทรงซัก ก็ทรงดำริว่า จะทรงขยำในที่ใดดี ท้าวโกสีย์ก็นำเอาแผ่นศิลาใหญ่เข้าไปถวาย ทรงขยำด้วยพระหัตถ์ จนหายกลิ่น ๔ อสุภ แล้วก็ทรงพระดำริว่าจะห้อยตากผ้าบังสุกุลจีวรในที่ใดดี ลำดับนั้นรุกขเทพยดา ซึ่งสิงสถิตอยู่ ณ ไม้กุ่มบก ก็น้อมกิ่งไม้นั้นลงมาถวายให้ทรงห้อยตากจีวร ครั้นทรงห้อยตากแล้วก็ทรงพระจินตนาว่า จะแผ่พับผ้าในที่ใด ท้าวสหัสสนัยก็ยกแผ่นศิลาอันใหญ่มาทูลถวายให้แผ่พับผ้ามหาบังสุกุลนั้น
              เพลารุ่งเช้าอรุณขึ้น อุรุเวลกัสสปไปเฝ้าพระบรมศาสดา เห็นสระและแผ่นศิลาทั้งสอง ซึ่งมิได้ปรากฏมีในที่นั้นมาก่อน และกิ่งไม้กุ่มน้อมลงมาเช่นนั้น จึงทูลถามพระบรมศาสดา ตรัสบอกความทั้งปวงให้ทราบ เมื่อกัสสปได้ฟังก็สดุ้งตกใจ ดำริว่า พระสมณะองค์นี้มีเดชานุภาพมากยิ่งนัก แม้ท้าวมัฆวาน ยังลงมากระทำการไวยาวัจจกิจถวาย แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา
              สมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จไปเสวยภัตตาหารของชฎิล แล้วก็กลับมาสถิตยังพนาสณฑ์ตำบลที่อาศัย ครั้นรุ่งขึ้นในวันเป็นลำดับ กัสสปชฎิลไปทูลนิมนต์ฉันภัตตกิจ จึงตรัสว่า "ท่านจงไปก่อนเถิด ตถาคตจะตามไปภายหลัง" เมื่อส่งชฎิลไปแล้ว จึงเสด็จเหาะไปนำเอาผลหว้าใหญ่ประจำทวีป ในป่าหิมพานต์มาแล้ว ก็เสด็จมาถึงโรงไฟก่อนหน้าชฎิล ครั้นชฎิลมาถึงจึงทูลถามว่า พระองค์มาทางใดจึงถึงก่อน พระศาสดาจึงตรัสบอกประพฤติเหตุแล้ว ตรัสว่า "ดูกรกัสสป ผลหว้าประจำทวีปนี้ มีวรรณสันฐานสุคันธรสเอมโอช ถ้าท่านปรารถนาจะบริโภคก็เชิญตามปรารถนา" อุรุเวลกัสสปก็ดำริเห็นเป็นอัศจรรย์ดุจหนหลัง ครั้นพระศาสดาทรงทำภัตตกิจเสร็จแล้ว ก็เสด็จกลับไปยังพนาสณฑ์ที่สำนัก
              ในวันต่อมา ได้ทรงทำอิทธิปาฏิหาริย์เช่นนั้นอีก ๔ ครั้ง คือ ทรงส่งอุรุเวลกัสสปมาก่อนแล้ว เสด็จเหาะไปเก็บผลมะม่วงครั้งหนึ่ง เก็บผลมะขามป้อมครั้งหนึ่ง เก็บผลส้มในป่าหิมพานต์ครั้งหนึ่ง เสด็จขึ้นไปดาวดึงส์เทวโลก นำเอาผลไม้ปาริฉัตตกครั้งหนึ่ง เสด็จมาถึงก่อน คอยท่าอุรุเวลกัสสปอยู่ที่โรงไฟ ให้ชฎิลเห็นเป็นอัศจรรย์ใจทุกครั้ง
              วันหนึ่ง ชฎิลทั้งหลายปรารถนาจะก่อไฟ ก็มิอาจผ่าฟืนออกได้ จึงดำริว่าที่เป็นทั้งนี้ เพราะฤทธิ์พระมหาสมณะทำโดยแท้ พระบรมศาสดาจึงตรัสถาม ครั้นทราบความแล้วก็ตรัสว่า ท่านจงผ่าฟืนตามปรารถนาเถิด ในทันใดนั้น ชฎิลก็ผ่าฟืนออกได้ตามประสงค์
              วันหนึ่ง ชฎิลทั้ง ๕๐๐ ปรารถนาจะบูชาเพลิง ก่อเพลิงก็ไม่ติด จึงคิดปริวิตกเหมือนหนหลัง พระพุทธเจ้าตรัสถามทราบความแล้ว ก็ทรงอนุญาตให้ก่อเพลิงได้ เพลิงก็ติดขึ้นทั้ง ๕๐๐ กอง พร้อมกันในขณะเดียว ชฎิลทั้งหลายบูชาเพลิงสำเร็จแล้ว จะดับเพลิง ๆ ก็ไม่ดับ จึงดำริดุจหนหลัง พระพุทธเจ้าตรัสถามทราบความแล้วก็ทรงอนุญาตให้ดับเพลิง ๆ ก็ดับพร้อมกันถึง ๕๐๐ กอง
              วันหนึ่ง ในเวลาหนาว ชฎิลทั้งหลายลงอาบน้ำดำผุดขึ้นลงในแม่น้ำเนรัญชรานที สมเด็จพระชินสีห์ ผู้ทรงพระกรุณาแก่ชฎิล ทรงดำริว่า เมื่อชฎิลขึ้นจากน้ำแล้วจะหนาวมาก จึงทรงนิรมิตเชิงกราณประมาณ ๕๐๐ อัน มีเพลิงติดทั้งสิ้นไว้ในที่นั้น ครั้นชฎิลทั้งหลายขึ้นจากน้ำหนาวจัดก็ชวนกันเข้าผิงไฟที่เชิงกราณ แล้วก็คิดสันนิษฐานว่า พระมหาสมณะคงทรงนิรมิตไว้ให้เป็นแน่ น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก.
              วันหนึ่ง มหาเมฆตั้งขึ้นมิใช่ฤดูกาล บันดาล ให้ฝนตกลงมาเป็นอันมาก กระแสน้ำเป็นห้วงใหญ่ไหลท่วมไปในที่ทั้งปวงโดยรอบบริเวณนั้น ธรรมดาว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จสถิตอยู่ ณ ประเทศใด แม้ที่นั้นน้ำท่วม ก็ทรงอธิษฐานมิให้น้ำท่วมเข้าไปในที่นั้นได้ และในครั้งนั้นก็ทรงดำริว่า ตถาคตจะยังน้ำนั้นให้เป็นขอบสูงขึ้นไป ในทิศโดยรอบที่หว่างกลางนั้นจะมีพื้นภูมิภาคจะราบเรียบขึ้นปกติ ตถาคตจะจงกรมอยู่ในที่นั้น แล้วก็ทรงอธิษฐานบันดาลให้เป็นดังพุทธดำรินั้น
              ฝ่ายอุรุเวลกัสสปนั้น คิดว่าพระมหาสมณะนี้ น้ำจะท่วมเธอหรือไม่ท่วมประการใด หรือจะหลีกไปสู่ประเทศอื่น จึงลงเรือพร้อมกับชฎิลทั้งหลาย รีบพายไปดูโดยด่วนถึง ประเทศที่พระองค์ทรงสถิต ก็เห็นน้ำสูงขึ้นเป็นกำแพงล้อมอยู่โดยรอบ แลเห็นพระบรมศาสดา เสด็จจงกรมอยู่ในพื้นภูมิภาคปราศจากน้ำ จึงส่งเสียงร้องเรียก พระพุทธเจ้าขานรับว่า "กัสสป ! ตถาคตอยู่ที่นี่" แล้วก็เสด็จเหาะขึ้นไปบนอากาศเลื่อนลอยลงสู่เรือของกัสสปชฎิล ๆ ก็ดำริว่า พระมหาสมณะนี้มีอิทธิฤทธิเป็นอันมาก แต่ถึงมีอานุภาพมากอย่างนั้น ก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา
              แท้จริง ตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จจากป่าอิสิปตนะมิคทายวัน ในวันแรมค่ำหนึ่ง เดือนกัตติมาส ( เดือน ๑๒ ) มาประทับอยู่ที่อุรุเวลาประเทศ จนตราบเท่าถึงวันเพ็ญ เดือน ๒ เป็นเวลาสองเดือน ทรงแสดงอิทธิปาฏิหารย์ทรมานอุรุเวลกัสสป โดยเอนกประการ อุรุเวลกัสสปก็ยังมีสันดานกระด้าง ถือตนว่าเป็นพระอรหันต์อยู่อย่างนั้น ด้วยทิฐิอันกล้ายิ่งนัก จึงทรงพระดำริว่า ตถาคตจะยังชฎิลให้สลดจิตคิดสังเวชตนเอง จึงมีพระวาจาตรัสแก่ อุรุเวลกัสสปว่า "กัสสป ตัวท่านมิได้เป็นพระอรหันต์ อรหัตทั้งทางปฏิบัติของท่านก็ยังห่างไกลมิใช่ทางมรรคผลอันใด ไฉนเล่าท่านจึงถือตนว่า เป็นพระอรหันต์ เท็จต่อตัวเอง ทั้ง ๆ ท่านเองก็รู้ตัวดีว่า ตัวยังมิได้บรรลุโมกขธรรมอันใด ยังทำตนลวงคนอื่นว่าเป็นพระอรหันต์อยู่อีก กัสสป ! ถึงเวลาอันควรแล้ว ที่ท่านจะสารภาพแก่ตัวของท่านเองว่า ท่านยังมิได้เป็นพระอรหันต์ ทั้งยังมิได้ปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นพระอรหันต์ด้วย กัสสป ! แล้วท่านจะได้เป็นพระอรหันต์ในกาลไม่นาน" เมื่ออุรุเวลกัสสปได้สดับพระโอวาทก็รู้สึกตัว ละอายแก่ใจ ซบเศียรลงแทบพระยุคลบาท แล้วกราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอบรรพชาอุปสมบท ในสำนักพระองค์ ขอถึงพระองค์และพระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง
              พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า "กัสสป ! ตัวท่านเป็นอาจารย์ยิ่งใหญ่ เป็นประธานแก่หมู่ชฎิล ๕๐๐ ท่านจงชี้แจง ให้ชฎิลบริวารยินยอมพร้อมกันก่อน แล้วตถาคตจึงจะให้บรรพชาอุปสมบท" อุรุเวลกัสสปก็กราบถวายบังคมลามายังอาศรม แล้วก็บอกชฎิลอันเป็นศิษย์ ๆ ก็ยินยอมพร้อมกันจะบรรพชา ในสำนักพระบรมครูสิ้น แล้วชฎิลทั้งหลายก็ชวนกันลอยดาบบส บริขาร และเครื่องตกแต่งผม ชฏา สาแหรก คาน เครื่องบูชาเพลิง ทั้งน้ำเต้า หนังสือ ไม้สามง่าม ในแม่น้ำทั้งสิ้น แล้วก็พากันมาเฝ้าพระบรมศาสดา ถวายอภิวาทแทบพระยุคลบาท ทูลขอบรรพชาอุปสทบท พระบรมศาสดาก็ทรงพระกรุณาโปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาเสมอกัน
              ครั้งนั้น ท่านนทีกัสสปดาบส ผู้เป็นน้องกลาง เห็นเครื่องบริขารทั้งปวงลอย น้ำมาก็ดำริว่า ชะรอยอันตรายจะมีแก่ดาบสผู้พี่ชาย จึงใช้ให้ชฎิลสองสามคนอันเป็นศิษย์ไปสืบดู รู้เหตุแล้ว นทีกัสสปดาบสก็พาดาบสทั้ง ๓๐๐ อันเป็นศิษย์ มาสู่สำนักของท่านอุรุเวล กัสสป ถามเหตุนั้น ครั้นทราบความแล้วก็เลื่อมใสชวนกันลอยเครื่องดาบสบริขารลงในแม่น้ำนั้น พากันเข้าถวายอัญชลีทูลขอบรรพชา พระบรมศาสดาก็โปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาด้วยกันทั้งสิ้นดุจชฎิลพวกก่อนนั้น
              ฝ่ายคยากัสสปดาบส ผู้เป็นน้องน้อย เห็นเครื่องดาบสบริขารของพี่ชายลอยน้ำลงมาจำได้ ก็คิดดุจนทีกัสสปชฎิลผู้เป็นพี่นั้น แล้วพาดาบสทั้ง ๒๐๐ อันเป็นศิษย์ไปสู่สำนักพระอุรุเวลกัสสป ไต่ถามทราบความแล้วเลื่อมใส ชวนกันลอยเครื่องบริขารลงในกระแสชล ดุจหนหลัง แล้วก็เข้าทูลขอบรรพชาต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็โปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาดังกล่าวแล้ว พระพุทธเจ้า ทรงทรมานชฎิลทั้ง ๓ พี่น้อง มีอุรุเวลกัสสป เป็นต้น กับทั้งชฎิลบริวาร ๑,๐๐๐ ให้สละเสียซึ่งทิฐิแห่งตน แล้วโปรดประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาทั้งสิ้น เสร็จแล้วก็ทรงพาพระภิกษุสงฆ์พวกนั้นไปสู่คยาสีสะประเทศ ตรัสพระธรรมเทศ นา อาทิตตปริยายสูตร โปรดภิกษุ ๑,๐๐๐ นั้น ให้บรรลุพระอรหัตด้วยกันทั้งสิ้น.

 โปรดพระเจ้าพิมพิสารและราชบริพาร
              ครั้นนายอุทยานบาลได้เห็นพระบรมศาสดา พร้อมด้วยพระขีนาสพ ๑,๐๐๐ เป็นบริวาร ก็มีใจชื่นบานเลื่อมใส รีบนำเรื่องเข้าไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้ทรงทราบแล้ว ก็ทรงโสมนัสเสด็จออกจากพระนคร พร้อมด้วยพราหมณ์และคหบดี ๑๒ หมื่นเป็นราชบริพาร เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังลัฏฐิวันสถาน ถวายความเคารพในพระรัตนตรัยด้วยพระราชศรัทธา
              ส่วนพราหมณ์และคหบดีทั้งหลายนั้น มีอัธยาศัยแตกต่างกัน บางพวกถวายนมัสการแล้วก็นั่ง บางพวกก็กล่าวสัมโมทนียกถาถวายความยินดี ในการที่พระบรมศาสดาเสด็จมาสู่พระนครราชคฤห์ บางพวกถวายความยินดีที่มีโอกาสมาเข้าเฝ้า ได้พบเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางพวกก็ประกาศชื่อและโคตรของตน บางพวกก็นั่งเฉยอยู่ บางพวกบางหมู่ก็ปริวิตกจิตคิดไปต่าง ๆ ว่า พระสมณะโคดมบวชในสำนักท่านอุรุเวลกัสสป หรือท่านอุรุเวลกัสสปบวชในสำนักพระสมณะโคดม หรือใครเป็นศิษย์เป็นอาจารย์กัน
              ลำดับนั้น พระบรมศาสดา ทรงทราบด้วยพระญาณ ทรงพระประสงค์จะบรรเทาทิฏฐิของราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสาร จึงทรงพระดำรัสแก่อุรุเวลกัสสปว่า "เธอเห็นโทษในการบูชาไฟอย่างไร จึงได้เลิกละการบูชาไฟเสีย"
              พระอุรุเวลกัสสปได้กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นว่า การบูชายัญญ์ทั้งหลายมีความใคร่ในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นสิ่งที่พอใจ น่าปรารถนา เป็นสมุฏฐาน เป็นเหตุแห่งความเร่าร้อนเพราะความไม่สมปรารถนาบ้าง เพราะอารมณ์เหล่านั้นเปลี่ยนแปลงบ้าง เพราะอารมณ์เหล่านั้นไม่เป็นไปตามอำนาจบ้าง ไม่เป็นทางให้สิ้นทุกข์โดยชอบ ข้าพระองค์จึงได้ละยัญญ์เหล่านั้นเสีย"
              ครั้นพระอุรุเวลกัสสปได้กราบทูลดังนั้นแล้ว มีความประสงค์จะสำแดงตนให้พราหมณ์และคหบดีทั้งหลายรู้ว่าตนเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงกระทำจีวรเฉวียงบ่า ถวายบังคมพระบรมศาสดา กราบทูลด้วยเสียงอันดังด้วยอาการคารวะว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์เป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า" และกระทำปาฏิหาริย์เหาะขึ้นไปในอากาศสูงประมาณ ๗ ชั่วลำตาล แล้วลงมาถวายบังคมแทบพระยุคลบาท ประกาศตนเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยอาการนี้ถึง ๗ ครั้ง ยังความสงสัยของพราหมณ์และคหบดีเป็นราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสารทั้ง หมดในที่นั้น ให้เสื่อมสิ้นไป พร้อมกับได้ความเลื่อมใสและความอัศจรรย์ในพระบรมศาสดา ตั้งใจสดับธรรมโดยคารวะ
              ลำดับนั้น พระบรมศาสดา จึงทรงแสดงจตุราริยสัจ โปรดพระเจ้าพิมพิสารและราชบริพาร ๑๑ หมื่น ให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล อีก ๑ หมื่น ให้ได้ความเลื่อมใสมั่นคงอยู่ในพระรัตนตรัย เป็นอุบาสกในพระศาสนา
              เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว พระเจ้าพิมพิสารได้กราบทูลถวายความยินดีเลื่อมใสแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันยังเป็นขัตติยราชกุมาร อยู่นั้น หม่อมฉันได้ตั้งความปรารถนาเป็นมโนปณิธานไว้ ๕ ข้อ คือ
              ๑. ขอให้ได้รับพระบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เสวยราชสมบัติในราชอาณาจักรนี้
              ๒. ขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เสด็จมาสู่แคว้นของหม่อมฉัน
              ๓. ขอให้หม่อมฉันได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
              ๔. ขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงพระกรุณาประทานธรรมเทศนาแด่หม่อมฉัน และ
              ๕. ขอให้หม่อมฉันได้รู้ทั่วถึงในธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประทาน
              บัดนี้ มโนปณิธานทั้ง ๕ ประการ ที่หม่อมฉันตั้งไว้นั้น ได้สำเร็จแล้วทุกประการ หม่อมฉันมีความโสมนัสเบิกบาน ในพระธรรมเทศนาเป็นอย่างยิ่ง หม่อมฉันขออาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้า กับทั้งพระสงฆ์สาวกทั้งปวงจงรับภัตตาหารของหม่อมฉันในวันพรุ่งนี้ พระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาด้วยพระอาการดุษณีย์ ครั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบว่า พระบรมศาสดา ทรงรับอาราธนาแล้ว ก็ถวายอภิวาททูลลา พาราชบริพารเสด็จกลับคืนเข้าพระนคร


ทรงรับพระเวฬุวันเป็นสังฆาราม
              ครั้นวันรุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก ๑,๐๐๐ เสด็จพระพุทธดำเนินไปยังพระนครราชคฤห์ เสด็จสู่พระราชนิเวศน์ ขึ้นประทับยังพระบวรพุทธาอาสน์ พระเจ้าพิมพิสารมหาราช พร้อมด้วยราชบริพารทรงถวายมหาทาน อังคาสพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยพระหัตถ์ ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเสร็จการเสวยแล้ว พระเจ้าพิมพิสารจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ลัฏฐิวัน ที่ทรงประทับอยู่นั้นเล็ก ทั้งไกลจากชุมนุมชนเกินพอดี ไม่สะดวกแก่ผู้มีศรัทธา มีกิจจะพึงไป หม่อมฉันขอถวายพระราชอุทยานเวฬุวันให้เป็นสังฆาราม ด้วยเป็นสถานที่กว้างใหญ่ มีเสนาสนะเรียบร้อย ตั้งอยู่ไม่ใกล้ไกลจากชุมนุมชน เงียบสงัด ไม่พลุกพล่านด้วยผู้คน ผู้มีกิจจะพึงไปถึงได้ไม่ลำบาก สมเป็นพุทธาธิวาสอันพระองค์จะทรงประทับ" กราบทูลแล้ว ก็ทรงจับพระเต้าทองหลั่งน้ำทักษิโณทก ให้ตกลงที่พระหัตถ์พระบรมศาสดา ถวายพระราชอุทยาน เวฬุวันเป็นสังฆาราม เป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา













อุปดิสสะและโกลิตะออกบวช
              พระบรมศาสดาทรงรับพระเวฬุวันเป็นสังฆารามแล้ว ทรงอนุโมทนา พาพระสงฆ์สาวกเสด็จกลับประทับยังพระเวฬุวันวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระศาสนาอันมโหฬารทั้งงามตระการและมั่นคง ควรแก่พระภิกษุสงฆ์ซึ่งมาแต่จตุรทิศจะพึงเข้าพำนักอยู่อาศัย เป็นความ สะดวกสบายแก่สมณะเพศ ที่โลกยกย่องว่าเป็นบุญญเขตควรแก่การบูชา มหาชนมีรัศมีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา หลั่งไหลกันมาสดับธรรมเทศนาเป็นอันมากเป็นอันว่า พระบรมศาสดาได้เริ่มประดิษฐานพระศาสนา เป็นหลักฐานลงที่พระเวฬุวันวิหาร ณ พระนครราชคฤห์ เกียรติศักดิ์เกียรติคุณแห่งพระพุทธศาสนา ได้เริ่มแพร่ไป ในประชุมชนตามตำบลน้อยใหญ่เป็นลำดับ
              สมัยนั้น มีหมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ ใกล้กรุงราชคฤห์ ๒ หมู่บ้าน เรียกว่า อุปติสสะคามบ้าน ๑ โกลิตคาม บ้าน ๑ บุตรคนใหญ่ของนายบ้านอุปติสสะคาม ซึ่งเกิดแต่นางสารีพราหมณี ชื่อว่า อุปดิสสะ บุตรคนใหญ่ของนายบ้านโกลิตะคาม ซึ่งเกิดแต่นางโมคคัลลีพราหมณี ชื่อ โกลิตะ และเนื่องจากหมู่บ้านทั้งสองตั้งอยู่ไม่ไกลกัน มีฐานะทัดเทียมกัน ทั้งเคารพนับถือกันดี ดังนั้น บุตรของตระกูลทั้งสองนี้จึงรักใคร่ ไปมาหาสู่กันอย่างสนิทสนม คบหาสมาคมกันทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ไว้วางใจกันเป็นอย่างดี
              อุปดิสสะ กับโกลิตะ มีอายุคราวเดียวกัน เป็นสหชาติร่วมปีเกิด เดือนเกิดแต่อุปดิสสะแก่วันกว่า โกลิตะจึงเรียกอุปดิสสะว่า พี่ ในฐานะแก่กว่า คนทั้งสองเจริญวัยอยู่ในความอุปถัมภ์บำรุงของบิดามารดาเป็นอย่างดี มีเด็กในหมู่บ้านทั้งสองเป็นเพื่อนฝูงกันแต่เยาว์วัยก็มาก แม้เมื่อมีอายุควรแก่การศึกษาแล้ว คนทั้งสองตลอดมิตรสหายก็ได้เข้าศึกษาศิลปวิทยาในสำนักอาจารย์เดียวกัน แม้เมื่อจบการศึกษาแล้ว ก็ยังเป็นเพื่อนร่วมงาน ร่วมความสนุกสนาน บันเทิงด้วยกันด้วยดีเสมอมา ในการชมมหรศพถึงคราวสรวลเสเฮฮา ก็สรวลเสเฮฮาด้วย ถึงคราวสลดใจก็สลดใจด้วย คราวเบิกบานใจ ควรตกรางวัล ก็ตกรางวัลให้ด้วยกัน
              วันหนึ่ง มีงานมหรศพบนภูเขา มีผู้คนไปมาก อุปดิสสะมานพ และโกลิตะมานพก็ไปชมด้วยกัน แต่เป็นด้วยทั้งสองมานพมีบารมีญาณแก่กล้า ดูมหรศพด้วยพิจารณา เห็นความจริงของกัปปกิริยาอาการของคนแสดงและคนดู รวมทั้งตนเองด้วย ปรากฏอยู่ในสถานะที่ไม่น่าจะนิยมชมชื่นเลย เมื่อเป็นเช่นนั้น การชมมหรศพก็ไม่ออกรส ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีเหมือนแต่ก่อน หน้าตาก็ไม่เบิกบาน คิดว่า อีกไม่ถึง ๑๐๐ ปี ทั้งคนแสดงและคนดูก็ตายหมด ไม่เห็นมีประโยชน์อันใดในการมาดูมหรศพนี้เลย ควรจะแสวงหาโมกขธรรมประเสริฐกว่า
              ครั้นมานพทั้งสองได้ใต่ถามถึงความรู้สึกนึกคิด ทราบความประสงค์ตรงกันเช่นนั้นก็ดีใจ และอุปดิสสะมานพก็กล่าวกะโกลิตะมานพว่า เมื่อเราทั้งสองมีความตรึกตรองต้องกันเช่นนี้แล้ว สมควรจะบวชแสวงหาโมกขธรรมด้วยกันเถิด เมื่อตกลงใจออกบวชด้วยกันแล้ว โกลิตะมานพจึงปรึกษาว่า เราจะบวชในสำนักอาจารย์ใดดี
              สมัยนั้น สญชัยปริพพาชก เป็นอาจารย์ใหญ่ อยู่ในเมืองราชคฤห์สำนักหนึ่งที่มีบริษัทบริวารมาก มานพทั้งสองจึงปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า เราควรจะไปบวชในสำนักอาจารย์สญชัยปริพพาชก ครั้นตกลงใจแล้ว มานพทั้งสองต่างก็พาบริวารของตนรวม ๕๐๐ คน เข้าไปหาท่านอาจารย์สญชัยปริพพาชก ขอบวชและอยู่ศึกษาในสำนักนั้น
              จำเดิมแต่มานพทั้งสอง เข้าไปบวชเป็นศิษย์อยู่ในสำนักสญชัยปริพพาชกไม่นาน สำนักก็เจริญ เป็นที่นิยมของมหาชนเป็นอันมาก ลาภสักการะพร้อมด้วยยศก็เจริญยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน
              เมื่ออุปดิสสะมานพและโกลิตะมานพบวชเป็นปริพพาชก ศึกษาลัทธิของอาจารย์สญชัยไม่นาน ก็สิ้นความรู้ของอาจารย์ จึงได้เรียนถามว่า " ท่านอาจารย์ ลัทธิของท่านอาจารย์มีเท่านี้แหละหรือ ? " อาจารย์สญชัยก็บอกว่า " ลัทธิของเรามีเพียงเท่านี้ ท่านทั้งสองเรียนจบบริบูรณ์แล้ว ไม่มีสิ่งใดที่ข้าพเจ้ารู้โดยท่านไม่รู้เลย " แล้วตั้งให้อุปดิสสะมานพ และโกลิตะมานพทั้งสอง เป็นอาจารย์สอนศิษย์ในสำนัก มีศักดิ์เสมอด้วยตน
              มานพทั้งสองปรึกษากันว่า การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักนี้หาประโยชน์มิได้ ด้วยไม่เป็นทางให้เข้าถึงโมกขธรรม ไม่เป็นที่ตั้งแห่งการหลุดพ้นได้ ความจริงชมพูทวีปนี้ก็กว้างใหญ่ คงจะมีท่านที่มีความรู้สอนให้เราเข้าถึงโมกขธรรมได้ ควรเราจะเที่ยวสืบเสาะ แสวงหาดู แล้วมานพทั้งสองก็ลาอาจารย์เที่ยวเสาะแสวงหาผู้ที่มีความรู้ ความสามารถเป็นอาจารย์สอนโมกขธรรมให้ แม้พยายามเที่ยวไปในชนบทน้อยใหญ่ ได้ข่าวว่ามีอาจารย์ในสำนักใดดี มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมนับถือ ก็เข้าไปไต่ถาม ขอรับความรู้ความแนะนำ แต่แล้วก็ไม่สมประสงค์ เพราะทุกอาจารย์ที่เข้าไปไต่ถามต่างก็ยอมจำนน ด้วยไม่สามารถบรรเทาความสงสัย ให้ความเบิกบานเคารพนับถือได้ เมื่อได้ท่องเที่ยวทุกแห่งจนสุดความสามารถ สิ้นศรัทธาที่จะพยายามสืบเสาะต่อไปอีกแล้ว มานพทั้งสองก็กลับมาอยู่ในสำนักอาจารย์เดิมดังกล่าว ต่างให้สัญญาไว้แก่กันว่า ผิว์ผู้ใดได้โมกขธรรมก่อน จงบอกให้แก่ผู้หนึ่งได้รู้เช่นกัน
              ในกาลนั้น พอพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เสด็จไปตรัสเทศนาธรรมจักกัปปวัตตนสูตรโปรดพระปัญจวัคคีย์ ตราบเท่าจนส่งพระอรหันต์ ๖๐ องค์ ออกไปเที่ยวประกาศพระศาสนาแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปแสดงธรรมโปรดชฎิล ๑,๐๐๐ รูป แล้วเสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสาร เสด็จประทับอยู่ในพระเวฬุวันวิหาร ครั้งนั้น พระอัสสชิเถระเจ้า ซึ่งอยู่ในคณะภิกษุปัญจวัคคีย์ ได้ออกประกาศพระศาสนาจาริกมาสู่เมืองราชคฤห์ เวลาเช้าทรงบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตภายในเมือง ขณะนั้น พออุปดิสสะปริพพาชกบริโภคอาหารเช้าแล้ว เดินไปสู่อารามปริพพาชก เห็นพระอัสสชิเถระเจ้า ซึ่งสมบูรณ์ด้วยอาจาระ ตามสมณะวิสัย จะก้าวไปข้างหน้า หรือจะถอยกลับ มีสติสังวรเป็นอันดี มีจักษุทอด พอประมาณทุกขณะ เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส เป็นที่พึงตาพึงใจของอุปดิสสะเป็นอย่างมาก ดำริว่า บรรพชิตมีกริยาอาการในรูปนี้ เรามิได้เคยพบเห็นมาแต่ก่อน ท่านผู้ใดได้รับยกย่องว่าเป็นพระอรหันต์ในโลกนี้ บรรพชิตรูปนี้จะต้องนับเข้าในพระอรหันต์พวกนั้นรูปหนึ่งเป็นแน่แท้ ควรเราจะเข้าหาสมณะรูปนี้เพื่อได้ศึกษา ขอรับข้อปฏิบัติ เพื่อบรรลุโมกขธรรมเช่นท่านบ้าง แต่แล้วอุปดิสสะมานพก็กลับได้สติ ดำริใหม่ว่า "ขณะนี้เป็นเวลาเที่ยวบิณฑบาตของภิกษุรูปนี้อยู่ ไม่สมควรที่เราจะเข้าไปไต่ถาม" ครั้นอุปดิสสะดำริฉะนี้แล้ว ก็เดินติดตามท่านภายในระยะทางพอสมควร
              ครั้นพระอัสสชิเถระเจ้าได้บิณฑบาตแล้ว หลีกไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเห็นว่าควรจะเป็นที่นั่งทำภัตตกิจได้ อุปดิสสะปริพพาชกได้รีบเข้าไปใกล้ จัดตั้งอาสนะถวายแล้วนั่งปฏิบัติ ถวายน้ำใช้น้ำฉัน ครั้นพระเถระเจ้าทำภัตตกิจเสร็จแล้ว อุปดิสสะปริพพาชก จึงกล่าวปฏิสันถารด้วยคารวะว่า " ข้าแต่ท่านผู้มีอายุ ใบหน้าของท่านผ่องใสยิ่งนัก แสดงว่าท่านมีความสุข แม้ผิวพรรณของท่านก็สอาดบริสุทธิ ประทานโทษ ท่านบรรพชาต่อท่านผู้ใด ? ใครเป็นครูอาจารย์ของท่าน และท่านได้เล่าเรียนธรรมในผู้ใด ? "
              พระเถระเจ้าตอบว่า " ดูกรปริพพาชก พระมหาสมณะศากยบุตร เสด็จออกบรรพชาจากศากยราชตระกูล พระองค์นั้น เป็นบรมครูของฉัน ฉันบวชต่อพระศาสดาพระองค์นั้น และเล่าเรียนธรรมในพระศาสดาพระองค์นั้นแล " อุปดิสสะปริพพาชกจึงเรียนถามต่อไปว่า "อาจารย์ของท่านสอนธรรมอย่างไรแก่ท่าน ?"
              พระเถระเจ้าดำริว่า ธรรมดาปริพพาชกย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อพระศาสนา ควรอาตมาจะแสดงคุณแห่งพระศาสนา โดยความเป็นธรรมลึกซึ้งและประณีตสุขุมเถิด ครั้นแล้วจึงบอกว่า " ดูกรปริพพาชก อาตมาเพิ่งบวชใหม่ ไม่อาจแสดงธรรมวินัย โดยพิศดารแก่เธอได้ดอก " อุปดิสสะปริพพาชกจึงได้เรียนปฏิบัติท่านว่า " ข้าพเจ้าชื่อว่า อุปดิสสะ ขอให้พระเถระเจ้ากรุณาบอกธรรมเพียงแต่ย่อ ๆ เถิด "
              พระอัสสชิเถระเจ้า กล่าวคาถาแสดงวัตถุประสงค์ของพระศาสนาว่า "เย ธม.มา เหตุปป.ภวา" เป็นอาทิ ความว่า "ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งเหตุของธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะตรัสสอนอย่างนี้"
              อุปดิสสะปริพพาชกได้ปรีชาญาณหยั่งเห็นสัจจะธรรมถึงบรรลุโสดาปัตติผล โดยสดับเทศนาหัวใจพระศาสนา ของพระเถระเจ้าเพียงคาถาหนึ่งเท่านั้น แล้วเรียนท่านโดยคารวะว่า " ข้าแต่ท่านอาจารย์ ขอประทานกรุณาหยุดเพียงนี้เถิด อย่าแสดงต่อไปอีกเลย เวลานี้พระบรมศาสดาของเราเสด็จอยู่ที่ไหน ? "
              พระเถระเจ้าบอกว่า "เวลานี้ พระบรมศาสดายังเสด็จประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร "
              "เป็นพระคุณหาที่สุดมิได้" อุปดิสสะอุทานวาจาออกด้วยความซาบซึ้งในธรรม และในความกรุณาของพระเถระเจ้า " นิมนต์ท่านอาจารย์ไปก่อนเถิด แล้วข้าพเจ้าจะตามไปภายหลัง ด้วยข้าพเจ้าได้ให้สัญญาไว้กับโกลิตะมานพสหายที่รักว่า " ถ้าผู้ใดได้โมกขธรรมก่อน จงบอกแก่กันให้รู้ ฉะนั้น ข้าพเจ้าจะกลับไปเปลื้องสัญญาเสียก่อน แล้วจะพาสหายผู้นั้นไปสู่สำนักพระบรมศาสดาของเราต่อภายหลัง" แล้วกราบพระเถระเจ้าด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ด้วยความเคารพ กระทำประทักษิณเดินเวียน ๓ รอบ แล้วส่งพระเถระเจ้าไปก่อน ส่วนตนออกเดินบ่ายหน้าไปสู่ปริพพาชการาม
              ส่วนโกลิตะปริพพาชกเห็นสหายเดินมาแต่ไกล จึงดำริว่า ใบหน้าของสหายเรา วันนี้ ดูเบิกบาน ผ่องใสยิ่งกว่าวันอื่น ๆ ชะรอยจะได้โมกขธรรมเป็นแน่แท้ ครั้นอุปดิสสะปริพพาชกเข้ามาใกล้ จึงถามตามความคิด อุปดิสสะก็บอกว่า "ตนได้บรรลุโมกขธรรมแล้ว มานี่ก็เพื่อบอกโมกขธรรมนั้นแก่สหาย ให้เป็นไปตามสัญญาของเราที่ ให้กันไว้แต่แรก ขอสหายจงตั้งใจฟังเถิด" แล้วอุปดิสสะก็แสดงคาถาหัวใจของพระศาสนา ซึ่งตนได้สดับมาจากพระอัสสชิเถระเจ้า พออุปดิสสะแสดงจบลง โกลิตะปริพพาชกก็ได้ปรีชาญาณหยั่งเห็นในอริยสัจจะ บรรลุโสดาปัตติผลเช่นเดียวกับอุปดิสสะปริพพาชก
              โกลิตะจึงกล่าวแก่อุปดิสสะว่า "เราทั้งสองได้บรรลุโมกธรรมแล้ว ควรจะไปสำนักพระบรมศาสดากันเถิด " อุปดิสสะเป็นผู้เคารพบูชาอาจารย์มาก จึงตอบว่า " ถูกแล้ว เราทั้งสองควรจะไปเฝ้าพระบรมศาสดาดังที่เธอกล่าว ก่อนแต่จะจากสำนักนี้ไปเราทั้งสองควรจะไปอำลาท่านสญชัยอาจารย์ แล้วหาโอกาสแสดงโมกขธรรมให้ฟัง ถ้าอาจารย์ของเรามี วาสนาบารมี ก็จะพลอยได้รู้โมกขธรรมด้วยกัน แม้ไม่ถึงอย่างนั้นเพียงแต่ท่านเชื่อฟัง แล้วพากันไปสู่สำนักพระบรมศาสดา เมื่อได้ฟังธรรมเทศนาแล้ว ก็จะได้บรรลุมรรคและผลตามวาสนาบารมีเป็นแน่ "
              ครั้นสองสหายปรึกษาตกลงกันแล้ว ก็พากันเข้าไปหาท่านสญชัยอาจารย์ บอกให้ทราบว่า บัดนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้วในโลก ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้วนั้น เป็นนิยยานิกธรรม สามารถนำผู้ปฏิบัติออกจากทุกข์โดยชอบได้จริง พระสงฆ์สาวกก็ปฏิบัติชอบด้วยสุปฎิบัติ ท่านอาจารย์จงมาร่วมกันไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังพระเวฬุวันสถานนั้นเถิด
              ท่านสญชัยปริพพาชกจึงกล่าวห้ามว่า "ใยท่านทั้งสองจึงมาเจรจาเช่นนี้ เรามีลาภมียศใหญ่ยิ่ง เป็นเจ้าสำนักใหญ่โตถึงเพียงนี้แล้ว ยังควรจะไปเป็นศิษย์ของใครในสำนักใดอีกเล่า ? " แต่แล้วก็คิดว่า อุปดิสสะและโกลิตะทั้งสองนี้เป็นคนดีมีปัญญาสามารถ น่าที่จะบรรลุโมกขธรรมตามที่ปรารถนายิ่งนักแล้ว คงจะไม่ฟังคำห้ามปรามของตน จึงกล่าวใหม่ว่า "ท่านทั้งสองจงไปเถิด เราเป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยถึงความชราแล้ว ไม่อาจจะไปเป็นศิษย์ของผู้ใดได้ดอก "
              "ท่านอาจารย์อย่ากล่าวดังนั้นเลย" สหายทั้งสองวิงวอน "ไม่ควรที่ท่านอาจารย์จะคิดเช่นนั้น เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ดังดวงอาทิตย์อุทัยให้ความสว่างแล้ว คนทั้งหลายจะหลั่งไหลไปฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วท่านอาจารย์จะอยู่ได้อย่างไร"
              "พ่ออุปดิสสะ ในโลกนี้ คนโง่มาก หรือคนฉลาดมาก ?" สญชัยปริพพาชกถามอย่างมีท่าเลี่ยง แต่อุปดิสสะตอบตรง ๆ โดยความเคารพว่า "คนโง่สิมาก ท่านอาจารย์ คนฉลาดมีปัญญาสามารถ จะมีสักกี่คน"
              "จริง ! อย่างพ่ออุปดิสสะพูด" สญชัยปริพพาชกกล่าวอย่างละเมียดละไม "คนฉลาดมีน้อย คนโง่มีมาก อุปดิสสะ เพราะเหตุนี้แหละ เราจึงไม่ไปด้วยท่าน เราจะอยู่ในสำนักของเรา อยู่ต้อนรับคนโง่ คนโง่อันมีปริมาณมากจะมาหาเรา ส่วนคนฉลาดจะไปหาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้น ท่านทั้งสองจงไปเถิด เราไม่ไปด้วยแล้ว"
              แม้สหายทั้งสอง จะพูดจาหว่านล้อมสญชัยปริพพาชกด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ไม่สามารถจะโน้มน้าวจิตใจของสญชัยปริพพาชกให้ไปเฝ้าพระบรมศาสดาได้ อุปดิสสะและโกลิตะจึงชวนปริพพาชก ผู้เป็นบริวารของตน จำนวน ๒๕๐ คน ลาอาจารย์สญชัยไปเฝ้าพระบรมศาสดา ยังพระเวฬุวันวิหาร



โปรดอัครสาวกทั้งสอง
              ขณะนั้น เป็นเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ในท่ามกลางบริษัท ๔ เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นอุปดิสสะและโกลิตะ พาบริษัทของตนตรงเข้ามาแต่ไกลเช่นนั้นจึงรับสั่งว่า "ภิกษุทั้งหลาย โน่น ! คู่อัครสาวกของตถาคตมาแล้ว พาบริวารของเธอมาให้ตถาคตด้วย" เมื่อปริพพาชกทั้งหลายเข้ามาเฝ้าแล้ว พระบรมศาสดาก็แสดงธรรมโดยควรแก่อุปนิสัยของปริพพาชกเหล่านั้น ครั้นจบพระธรรมเทศนา ปริพพาชกทั้งหมด เว้นอุปดิสสะและโกลิตะได้บรรลุอรหัตตผลด้วยกันสิ้น
              สหายทั้งสองจึงพาบริษัทของตนทั้งหมดเข้ากราบทูลขอประทานอุปสมบท สมเด็จพระบรมสุคตก็ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสมบทแก่ปริพพาชกทั้ง ๒๕๐ คนนั้น เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา แล้วตรัสเรียกชื่อสหายทั้งสองนั้นตามนามของมารดา คือ รับสั่งเรียกอุปดิสสะ ผู้เป็นบุตรของนางสารีพราหมณีว่า สารีบุตร รับสั่งเรียก โกลิตะ ผู้เป็นบุตรของนางโมคคัลลีพราหมณีว่า โมคคัลลานะ อาศัยเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับสั่งเรียกท่านทั้งสองเช่นนั้นในท่ามกลางบริษัท ๔ พุทธบริษัทจึงนิยมเรียกท่านด้วยชื่อที่ได้รับพระมหากรุณาประทานใหม่ตลอดอายุของท่าน และนิยมเรียกมาจนบัดนี้
              ฝ่ายพระโมคคัลลานะ อุปสมบทแล้วได้ ๗ วัน หลีกไปทำความเพียรอยู่ในเสนาสนะป่า ใกล้บ้านกัลลวาละมุตตคาม ในแคว้นมคธ ความง่วงครอบงำนั่งโงกอยู่พระบรมศาสดาเสด็จไปที่นั่น ตรัสบอกอุบายระงับความง่วงให้อันตรธานแล้ว ทรงประทานโอวาทในธาตุกัมมักฏฐาน พระโมคคัลลานะได้สดับแล้วปฏิบัติตาม ก็ได้บรรลุพระอรหัตในวันนั้น
              ส่วนพระสารีบุตรอุปสมบทแล้วได้กึ่งเดือน ตามพระบรมศาสดาไปอยู่ที่ถ้ำสุกรขาตา ใกล้กรุงราชคฤห์ ได้สดับพระธรรมเทศนา เวทนาปริคคหสูตร ซึ่งพระบรมศาสดา ทรงแสดงแก่ปริพพาชกชื่อว่า ทีฆนขะ อัคคิเวสนโคตร ผู้เป็นหลานของพระเถระเจ้า พระเถระเจ้าตั้งใจกำหนดพิจารณาไปตามกระแสพระธรรมเทศนานั้น ก็ได้บรรลุพระอรหัต ส่วนทีฆนขะปริพพาชกได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล
              ในกาลนั้น พระบรมศาสดาได้ทรงตั้งพระเถระเจ้าทั้งสองไว้ในตำแหน่ง คู่แห่งอัครสาวก คือ พระสารีบุตรเถระ เป็นอัครสาวกเบื้องขวา พระโมคคัลลานะเถระ เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย
              เนื่องจากวันที่พระสารีบุตรเถระเจ้า ได้บรรลุพระอรหัต เป็นวันมาฆปรุณมีเพ็ญเดือน ๓ เวลาบ่าย พระบรมศาสดาเสด็จมาประทับที่เวฬุวัน พระอรหันต์ขีณาสพเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ องค์ คือ พระอรหันต์ซึ่งอยู่ในคณะของพระอุรุเวลกัสสปเถระ พระนทีกัสสปเถระ พระคยากัสสปเถระ รวม ๑,๐๐๐ องค์ กับพระอรหันต์ซึ่งอยู่ในคณะของพระสารีบุตรเถระ พระโมคคัลลานะเถระ รวม ๒๕๐ องค์ รวมทั้งสองคณะ ๑,๒๕๐ องค์ ได้พร้อมกันไปเฝ้าพระบรมศาสดา พระองค์ทรงเห็นเป็นนิมิตอันดี จึงได้เสด็จในท่ามกลางพระสงฆ์ ๑,๒๕๐ องค์นั้น แสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ทรงทำวิสุทธิอุโบสถ ประทานธรรมอันเป็นหลักแห่งพระศาสนา เพื่อเป็นหลักในการประกาศพระพุทธศาสนาสำหรับพระสาวกสืบไป.














เสด็จเมืองกบิลพัสดุ์
              ฝ่ายพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา ณ พระนครกบิลพัสดุ์ เมื่อได้ทรงทราบพระเกียรติคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฟุ้งขจรไปทั่วทุกทิศ ก็ทรงปิติโสมนัส ที่พระโอรสของพระองค์ได้สำเร็จพระสัมโพธิญาณ สมดังคำพยากรณ์ของ ท่านอาจารย์อสิตดาบสและพราหมณาจารย์ทั้ง ๘ คน ทรงตั้งพระทัยคอยเวลาอยู่ว่า เมื่อใดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงจะเสด็จไปพระนครกบิลพัสดุ์
              ครั้นไม่ได้ข่าววี่แววมาเลยว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จ ก็ทรงร้อนพระทัยปรารถนาจะให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จพระนครกบิลพัสดุ์ จึงทรงส่งอำมาตย์พร้อมด้วยบริวารคณะหนึ่ง ให้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังพระเวฬุวันวิหาร กราบทูลอาราธนาให้เสด็จยังพระนครกบิลพัสดุ์ ครั้นอำมาตย์และบริวารคณะนั้นเดินทางจากพระนครกบิลพัสดุ์ ถึงพระนครราชคฤห์ อันมีระยะทาง ๖๐ โยชน์ ก็เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ในเวลาที่พระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ ได้โอกาสฟังธรรมด้วย ครั้นฟังธรรมแล้วก็ได้บรรลุพระอรหัตทั้งคณะ ทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ไม่ได้โอกาสที่จะกราบทูลความตามที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงบัญชามา
              ครั้นล่วงมาหลายเวลา พระเจ้าสุทโธทนะเห็นอำมาตย์คณะนั้นหายไป ก็ทรงส่งอำมาตย์ใหม่ออกติดตาม และกราบทูลความประสงค์ของพระองค์ อาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เสด็จ แม้อำมาตย์ราชทูตคณะนี้ ก็ได้ฟังธรรมบรรลุมรรคผล และได้ อุปสมบทในพระศาสนา เช่นอำมาตย์คณะนั้น พระเจ้าสุทโธทนะทรงส่งอำมาตย์ไปอารธนาไม่เป็นผลสมพระทัยดังนี้ถึง ๙ ครั้ง ครั้งสุดท้ายทรงน้อยพระทัย รับสั่งเรื่องนี้ แก่กาฬุทายี อำมาตย์ผู้ใหญ่ ขอมอบเรื่องให้กาฬุทายีอำมาตย์ช่วยจัดการให้สมพระราชประสงค์ ด้วยทรงเห็นว่ากาฬุทายี เป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่ที่สนิทสนม เป็นที่ไว้วางพระทัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแต่ก่อน ทั้งเป็นสหชาติของพระบรมศาสดาด้วย
              กาฬุทายีรับสนองพระบัญชาพระเจ้าสุทโธทนะว่า "จะพยายามกราบทูลเชิญเสด็จให้สมพระราชประสงค์ให้จงได้" แต่ได้กราบทูลลาอุปสมบทด้วย เพราะแน่ใจว่าตนควรจะได้อุปสมบทในสมัยที่เป็นโอกาสอันดีงามเช่นนี้แล้ว พระเจ้าสุทโธทนะจำ ต้องพระราชทานให้กาฬุมายีตามที่ทูลขอด้วยความเสียดาย หากแต่ดีพระทัยว่า กาฬุทายีอำมาตย์จะได้ทูลอัญเชิญเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้สมประสงค์
              ครั้นกาฬุทายีอำมาตย์ พร้อมด้วยบริวารเดินทางมาถึงพระนครราชคฤห์แล้ว ก็เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังพระเวฬุวันวิหาร ได้สดับพระธรรมเทศนา บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยบริวาร แล้วทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุด้วยกันสิ้น เมื่อพระกาฬุทายีเถระเจ้าบวชแล้วได้ ๘ วัน ก็พอสิ้นเหมันตฤดู จะย่างขึ้นฤดูคิมหันต์ ถึงวันผคุณมาสปุรณมี คือ วันเพ็ญเดือน ๔ พอดี
              พระเถระเจ้ากาฬุทายีจึงดำริว่า พรุ่งนี้ก็เป็นเวลาย่างเข้าฤดูร้อน บรรดาเหล่าชาวกสิกรทั้งหลายก็เก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จ มรรคาทีจะเสด็จไปสู่นครกบิลพัสดุ์ก็สะดวกสบาย พฤกษาชาติก็เกิดเรียรายอยู่ริมทางก็ให้ความร่มเย็นเป็นอย่างดี สมควรที่พระชินศรีบรมศาสดาจะเสด็จดำเนินไปกรุงกบิลพัสดุ์ แสดงธรรมโปรดพระมหากษัตริย์สุทโธทนะ พระพุทธบิดา ตลอดพระบรมวงศานุวงศ์ศากยราชดำริแล้วพระเถระเจ้าก็เข้าเฝ้าพระบรมโลกนาถยังพระคันธกุฎิ ทูลสรรเสริญมรรคาทางไปกบิลพัสดุ์บุรี เป็นสุขวิถีทางดำเนินสะดวกสบายตลอดมรรคา ยามเมื่อแสงแดดแผดกล้า ก็มีร่มไม้ได้พักร้อนเป็นที่รื่นรมย์ตลอดระยะทาง ๖๐ โยชน์ หากพระองค์จะทรงบำเพ็ญปรหิตประโยชน์ โปรดพระประยูรญาติยังกบิลพัสดุ์นคร ก็จะเป็นที่สำราญพระกายไม่ต้องรีบร้อนยามเสด็จพระพุทธลีลา ตลอดพระสงฆ์สาวกที่จะติดตามพระบาทา ก็จะไม่ลำบากด้วยน้ำท่าและกระยาหาร ด้วยตามระยะทางมีโคจรคามเป็นที่ภิกษาจารตลอดสาย
              อนึ่ง พระบรมชนกนาถก็มีพระทัยมุ่งหมาย ใคร่จะได้ประสบพบพระองค์ ตลอดพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมด หากพระองค์จะทรงพระกรุณาเสด็จไปให้สมมโนรถของพระชนกนาถ ตลอดทั่วพระประยูรญาติศากวงศ์ แล้วประดิษฐานพระพุทธศาสนาลงที่กบิลพัสดุ์บุรี ก็จะเป็นเกียรติเป็นศรีแก่พระพุทธศาสนา นำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่ปวงมหาชน เป็นศิริมงคลแก่อนุชนคนภายหลังชั่วกาลนาน ข้าพระองค์ขออัญเชิญพระพิชิตมารเสด็จสู่กบิลพัสดุ์บุรี โปรดพระชนกและพระประยูรญาติให้ปิติยินดีในคราวนี้เถิด
              เมื่อพระบรมศาสดาทรงสดับสุนทรกถา ที่กาฬุทายีเถระเจ้ากราบทูลพรรณา รวม ๖๔ คาถา วิจิตรพิสดาร ก็ทรงตรัสสาธุการแก่พระกาฬุทายี ตรัสว่า " ตถาคตจะเสด็จไปโปรดพระประยูรญาติยังกบิลพัสดุ์บุรีตามคำของท่าน ณ กาลบัดนี้ ฉะนั้นท่านจงแจ้งข่าวแก่พระสงฆ์ทั้งหลาย ให้ตระเตรียมการเดินทางไกล ตามตถาคตประสงค์ที่จะเสด็จไปยังกบิลพัสดุ์บุรี
              เมื่อพระกาฬุทายีออกมาประกาศให้มวลพระสงฆ์ ที่มาสันนิบาตอยู่พร้อมหน้าให้ทราบพระพุทธประสงค์แล้ว บรรดาพระสงฆ์ขีณาสพทุก ๆ องค์ ก็เตรียมบาตรจีวร มาสโมสรรอเสด็จพระบรมศาสดาตามวันเวลาที่กำหนด ครั้นได้เวลาพระบรมศาสดาจารย์พร้อมด้วยพระสงฆ์ขีณาสพ ๒ หมื่นเป็นประมาณเสด็จดำเนินไปยังกบิลพัสดุ์นคร เสด็จโดยมิได้รีบร้อนตามสบาย ประมาณระยะทางเดินได้วันละ ๑ โยชน์พอดี
              ฝ่ายพระกาฬุทายีได้ส่งข่าวเสด็จพระนครกบิลพัสดุ์ ของพระชินศรีสัมพุทธเจ้าแด่พระเจ้าสุทโธทนะบรมกษัตริย์ ท้าวเธอได้ทรงทราบก็ทรงโสมนัสเบิกบาน แจ้งข่าวสารแก่มวลพระประยูรญาติทั้งศากยราช และโกลิยะวงศ์ ในเทวทหะนคร พระญาติทั้งสองฝ่ายได้มาสโมสรประชุมกันต้อนรับที่กบิลพัสดุ์บุรี ด้วยความปิติยินดีเกษมสานต์ ได้ร่วมกำลังสร้างนิโครธมหาวิหาร พร้อมด้วยเสนาสนะและพระคันธกุฎิ เพื่อรับรองพระชินศรีและพระสงฆ์สาวกพุทธบริษัท เป็นสถานที่งดงามและเงียบสงัดควรแก่สมณะวิสัยเป็นอย่างดี
              ครั้นสมเด็จพระชินศรี พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเสด็จถึงกบิลพัสดุ์นคร บรรดาพระประยูรญาติที่มาสโมสรต้อนรับอยู่ทั่วหน้า มีพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา เป็นประธาน ต่างแสดงออกซึ่งความเบิกบานตามแก่วิสัย แล้วทูลเชิญให้เสด็จเข้าไปประทับยังพระนิโครธารามพระมหาวิหาร พระบรมศาสดาจารย์ก็เสด็จขึ้นประทับบนพระบวรพุทธอาสน์ บรรดาพระสงฆ์ ๒ หมื่นต่างก็ขึ้นนั่งบนเสนาสนะอันมโหฬาร ดูงามตระการปรากฏ สมเกียรติศากยบุตรพุทธชิโนรสบรรดามี
              ครั้งนั้น บรรดาพระประยูรญาติทั้งหลาย มีมานะทิฏฐิอันกล้า นึกละอายใจไม่อาจน้อมประณมหัตถ์ถวายนมัสการพระบรมศาสดาได้ ด้วยดำริว่า " พระสิตธัตถะกุมาร มีอายุยังอ่อน ไม่สมควรแก่ชุลีกรนมัสการ จึงจัดให้พระประยูรญาติราชกุมาร ที่พระชนมายุน้อยคราวน้อง คราวบุตร หลาน ออกไปนั่งอยู่ข้างหน้า เพื่อจะได้ถวายบังคมพระบรมศาสดา ซึ่งเห็นว่าควรแก่วิสัย ส่วนพระประยูรญาติผู้ใหญ่พากันประทับ นั่งอยู่เบื้องหลังเหล่าพระราชกุมาร ไม่ประณมหัตถ์ ไม่นมัสการ หรือคารวะแต่ประการใด ด้วยมานะจิตคิดในใจว่าตนแก่กว่า ไม่ควรจะวันทาพระสิตธัตถะกุมาร "
              เมื่อพระบรมศาสดาจารย์ได้ทรงประสบเหตุ ทรงพระประสงค์จะให้เกิดสลดจิต คิดสังเวชแก่พระประยูรญาติ ที่มีมานะจิตคิดมมังการ จึงทรงสำแดงปาฏิหาริย์เหาะขึ้นลอยอยู่ในอากาศ ให้ปรากฏประหนึ่งว่าละอองธุลีบาทได้หล่นลงตรงเศียรเกล้า แห่งพระประยูรญาติทั้งหลาย ด้วยพุทธานุภาพเป็นมหัศจรรย์
              ครานั้น พระเจ้าสุทโธทนะมหาราช พระพุทธบิดา ได้ทรงเห็นปาฏิหาริย์เป็น มหัศจรรย์ จึงประณมหัตถ์ถวายนมัสการแล้วกราบทูลว่า " ข้าแต่พระผู้มีพระภาคแต่กาลก่อน เมื่อพระองค์ทรงประสูติใหม่ได้ ๑ วัน หม่อมฉันให้พระพี่เลี้ยงนำมาเพื่อนมัสการพระกาลเทวิลดาบส พระองค์ก็ทรงปาฏิหาริย์ให้ปรากฏขึ้นไปอยู่บนชฎาพระกาลเทวิลอาจารย์ แม้ครั้งนั้น หม่อมฉันก็ได้ถวายนมัสการเป็นปฐม ต่อมางานพระราชพิธีนิยม ประกอบการวัปปมงคลแรกนาขวัญ พระพี่เลี้ยงนางนมได้นำพระองค์ประทับบรรทมใต้ร่มไม้หว้า ครั้นเวลาบ่าย เงาไม้ก็ไม่ได้ชายไปตามตะวัน เป็นปาฏิหาริย์ที่มหัศจรรย์ได้ปรากฏ แม้ครั้งนั้นหม่อมฉันก็ได้ประณตนมัสการเป็นคำรบสอง ควรแก่การสดุดี รวมเป็นสามครั้งกับครั้งนี้ ที่หม่อมฉันได้อัญชลีนมัสการ "
              เมื่อสุดสิ้นพระราชบรรหารแห่งพระเจ้าสุทโธทนะมหาราช บรรดาเหล่าพระประยูรญาติสิ้นทั้งหมด ก็พากันยอกรประณตอภิวาทพระบรมศาสดา ด้วยคารวะเป็นอันดี
              ต่อนั้น พระมหามุนีบรมสุคตเจ้า ก็เสด็จลงจากอากาศ ประทับนั่งลงบนพระพุทธาอาสน์ในท่ามกลางพระบรมประยูรญาติสมาคม เป็นที่ชื่นชมโสมนัส สุดจะประมาณด้วยบุญญาภินิหารพระโลกนาถ ขณะนั้น มหาเมฆก็ตั้งขึ้นในอากาศ บันดาลหยาดฝนโบกขรพรรษให้ตกลงในที่พระขัติยะประยูรวงศ์ประชุมกัน น้ำฝนโบกขรพรรษนั้น มีสีแดงหลั่งไหลเสียงสนั่นลั่นออกไปไกล เหมือนเสียงสายฝนธรรมดา ถ้าผู้ใดปรารถนาจะให้เปียกกาย จึงจะเปียกกาย ถ้าไม่ปรารถนาแล้ว แม้แต่เม็ดหนึ่งก็มิได้เปียกตัว เหมือนหยาดน้ำตกลงในใบบัว แล้วก็กลิ้งตกลงไปมิได้ติดอยู่ให้เปียก ดังนั้น จึงได้นามขนานขานเรียกว่า "ฝนโบกขรพรรษ" เป็นมหัศจรรย์
              ครั้งนั้น พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายก็ชวนกันพิศวง ต่างองค์ก็สนทนาว่า มิได้เคยเห็นมาแต่ก่อนกาล พระองค์จึงมีพุทธบรรหารตรัสว่า "ฝนโบกขรพรรษนี้ มิใช่จะตกในที่ชุมนุมพระประยูรญาติในครั้งนี้เท่านั้น ก็หาไม่ ในอดีตสมัย เมื่อตถาคตเสวยพระชาติเป็น พระเวสสันดร บรมโพธิสัตว์ ฝนโบกขรพรรษก็เคยได้ตกลงในที่ชุมนุมพระประยูรญาติเหมือนครั้งนี้" แล้วสมเด็จพระมหามุนีจึงได้ทรงพระแสดงพระธรรมเทศนา เรื่องมหาเวสสันดรชาดก ยอยกพระมหาบารมีทาน เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว พระประยูรญาติก็ถวายนมัสการทูลลากลับพระราชนิเวศน์หมดด้วยกัน ไม่มีใครเฉลียวจิตคิดถึงวันยามอรุณรุ่งพรุ่งนี้ ว่าสมเด็จพระชินศรีและพระสงฆ์จะทรงเสวยบิณฑบาตรที่ใด จึงไม่มีใครทูลอาราธนาให้เสด็จไปเสวยภัตตาหารในเคหะสถานของตน ๆ ในกบิลพัสดุ์บุรี.



โปรดพระพุทธบิดา
              ครั้นสิ้นสมัยราตรีรุ่งเช้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เสด็จด้วยพระขีณาสพ ๒ หมื่นเป็นบริวาร ทรงบาตรดำเนินภิกษาจารตามท้องถนนในกบิลพัสดุ์นคร ขณะนั้น มหาชนที่สัญจรในถนน ตลอดไปถึงทุก ๆ คน ทุกบ้านช่อง ต่างก็จ้องดูด้วยความเลื่อมใสและประหลาดใจระคนกัน ว่าไฉนพระผู้เป็นเจ้าสิทธัตถะกุมารจึงนำพระสงฆ์เที่ยวภิกษาจารด้วยอาการเช่นนี้ แล้วก็โจษจันกันอึงทั่วพระนคร
              เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบก็ตกพระทัย รีบเสด็จลงจากพระราชนิเวศน์ เสด็จพระราชดำเนินไปหยุดยืนเฉพาะพระพักตร์พระบรมศาสดาแล้วทูลว่า "ไฉนพระองค์จึงทรงทำให้หม่อมฉันได้รับความอัปยศ โดยเที่ยวภิกษาจารเช่นนี้"
              สมเด็จพระชินสีห์จึงตรัสตอบว่า "ดูกรพระราชสมภาร อันการเที่ยวบิณฑบาตนี้ เป็นจารีตประเพณีของตถาคต"
              "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค อันบรรดากษัตริย์ขัตติยสมมติวงค์องค์ใดองค์หนึ่ง ซึ่งเที่ยวบิณฑบาตเช่นนี้ยังจะมีอยู่ ณ ที่ใด ประเพณีของหม่อมฉันไม่เคยมีแต่ครั้งไหนในก่อนกาล"
              "ดูกรพระราชสมภาร นับแต่ตถาคตได้บรรลุพระสัมโพธิญาณแล้ว ก็สิ้นสุดสมมติขัตติวงศ์ เริ่มประดิษฐานพุทธวงศ์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงวันนี้ ดังนั้น การเที่ยวบิณฑบาตจึงเป็นประเพณีของพระพุทธเจ้า ตลอดพระภิกษุสงฆ์ที่สืบสายพุทธวงศ์ชั่วนิรันดร"
              เมื่อพระบรมศาสดาตรัสเช่นนี้แล้ว จึงแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดา ให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วพระเจ้าสุทโธทนะก็ทรงรับบาตรของพระบรมศาสดา ทูลอาราธนาให้เสด็จขึ้นพระราชนิเวศน์ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ทรงอังคาสด้วยอาหารบิณฑบาตอันประณีต
              วันรุ่งขึ้น พระบรมศาสดาเสด็จพระพุทธดำเนินไปรับภัตตาหารบิณฑบาตใน พระราชนิเวศน์เป็นวันที่สอง ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้ว ตรัสพระธรรมเทศนาโปรดพระนางมหาปชาบดีและพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระนางมหาปชาบดีได้บรรลุโสดาปัตติผล พระพุทธบิดาได้บรรลุสกิทาคามีผล
              วันรุ่งขึ้นอีก พระบรมศาสดาเสด็จพระพุทธดำเนินไปรับภัตตาหารบิณฑบาต ในพระราชนิเวศน์เป็นวันที่สาม ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้ว ตรัสเทศนามหาธรรมปาลชาดกโปรดพระพุทธบิดา ให้สำเร็จพระอนาคามีผล.

  


1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ