วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

พุทธปรินิพพาน


ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

ทรงปลงอายุสังขาร
              ครั้นพระอานนท์รับพระพุทธบัญชา ถวายบังคมลาออกไปนั่งอยู่ที่ร่มไม้แห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่วิเวก ไม่ไกลจากพระบรมศาสดาแล้ว ลำดับนั้น พญาวัสวดีมาร ผู้ใจบาป ก็ถือโอกาสเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทูลอาราธนา ปรารภถึงความหลัง เมื่อครั้งแรกตรัสรู้ เสด็จอยู่ ณ ร่มไม้อชปาลนิโครธว่า เมื่อครั้งนั้น ได้ทูลอาราธนาให้เสด็จปรินิพพานแล้ว แต่พระองค์ทรงห้ามว่า ตราบใด บริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา สาวกของตถาคตยังไม่เจริญมั่นคงก็ดี ศาสนาของตถาคตยังไม่แพร่ไพศาลไปทั่วโลกธาตุก็ดี ตราบนั้น ตถาคตจะยังไม่ปรินิพพานก่อน ข้าแต่พระผู้มี พระภาคเจ้า บัดนี้ บริษัท ๔ ของพระผู้มีพระภาคได้เจริญแพร่หลายแล้ว พระศาสดาได้ดำรงมั่นเป็นหลักฐาน สมดังมโนปณิธานแล้ว ขออาราธนาพระองค์เสด็จปรินิพพานเถิด
              พระผู้มีพระภาคทรงตรัสว่า "ดูกรมาร ท่านจงมีความขวนขวายน้อยเถิด อย่าทุกข์ใจไปเลย ไม่ช้าแล้ว ตถาคตก็จักปรินิพพาน กำหนดการแต่นี้ล่วงไปอีก ๓ เดือนเท่านั้น" ครั้นพญามารได้สดับพระพุทธบัญชาเช่นนั้น ก็มีจิตโสมนัสยินดี แล้วก็อันตรธานจากสถานที่นั้นไป
              เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า กำหนดพระทัย ทรงปลงพระชนมายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ ในวันมาฆะปุรณมี เพ็ญเดือน ๓ ครั้งนั้น ก็บังเกิดมหัศจรรย์บันดาล พื้นแผ่นพสุธาธารโลกธาตุ ก็กัมปนาทหวั่นไหว ประหนึ่งว่า แสดงความทุกข์ใจ อาลัยในพระผู้มีพระภาคเจ้า จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานในกาลไม่นาน ต่อนี้ไปอีก ๓ เดือนเท่านั้น



ตรัสเหตุแผ่นดินไหว
              ขณะนั้น พระอานนท์เถระ ได้เห็นความอัศจรรย์ในเพราะแผ่นดินไหวเช่นนั้น ก็มีความพิศวง จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลถามถึงเหตุที่ทำให้แผ่นดินไหวใหญ่ พระบรมศาสดาตรัสบอกเหตุแห่งแผ่นดินไหวใหญ่ แก่พระอานนท์เถระว่า
              "อานนท์ แผ่นดินไหวด้วยเหตุ ๘ ประการ คือ
        ๑. ลมกำเริบ
        ๒. ท่านผู้มีฤทธิ์บันดาล
        ๓. พระโพธิสัตว์จุติจากดุสิตลงสู่พระครรภ์
        ๔. พระโพธิสัตว์ประสูติ
        ๕. พระตถาคตเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
        ๖. พระตถาคตเจ้าแสดงธรรมจักรกัปปวัตนสูตร
        ๗.พระตถาคตเจ้าปลงอายุสังขาร
        ๘. พระตถาคตเจ้าปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
อานนท์ เหตุ ๘ ประการนี้แล แต่ละอย่าง ย่อมทำให้แผ่นดินไหวได้"
              ต่อนั้น พระบรมศาสดาได้ทรงตรัสเล่าถึงเรื่องพญามาร ได้อาราธนาให้พระองค์ปรินิพพาน เริ่มแต่แรกตรัสรู้ จนถึงอาราธนาให้ปรินิพพานในวันนี้อีก ในที่สุดก็ตรัสว่า
              "บัดนี้ ตถาคตได้รับอารธนาพญามาร กำหนดปลงอายุสังขาร อีก ๓ เดือนก็จักปรินิพพานแล้ว เพราะเหตุนั้นแผ่นดินจึงไหว"
              พระอานนท์เถระจึงกราบทูลว่า "ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงได้ทรงพระกรุณาดำรงพระชนมายุกัปป์หนึ่งเถิด เพื่อประโยชน์สุขเป็นอันมากแก่เทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย"
              "อย่าเลย อานนท์ เธออย่าวิงวอนตถาคตเลย บัดนี้ มิใช่เวลาอันควรที่เธอจะวิงวอนตถาคตเสียแล้ว"
              แม้พระบรมศาสดาจะตรัสห้ามเช่นนั้นแล้ว พระอานนท์ก็ยังได้ทูลวิงวอนอยู่อีกถึง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง พระองค์จึงตรัสว่า "อานนท์ เธอยังเชื่อปัญญา ความตรัสรู้ของตถาคตอยู่หรือ ?"
              "เชื่อพระเจ้าข้า ข้าพระองค์เชื่อมั่นในความตรัสรู้ของพระองค์"
              "ก็เมื่อเธอเชื่อมั่นเช่นนั้น ไฉนเธอจึงมาแค่น จึงได้วิงวอนตถาคต ซึ่งห้ามเธออยู่ถึง ๓ ครั้งเล่า ?"
              "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยข้าพระองค์ได้สดับรับรู้มาจากพระองค์ว่า "ผู้ใดได้เจริญอิทธิบาทภาวนา ๔ ประการนี้ ทำให้มาก ให้ชำนาญดีแล้ว ผิวะผู้นั้นประสงค์จะดำรงชนมายุอยู่นาน เขาก็จะพึงตั้งอยู่ได้ถึงกัปป์หนึ่ง หรือเกินกว่า ก็อิทธิบาทภาวนานั้น พระองค์ทรงเจริญได้ดียิ่งแล้ว หากพระองค์ทรงประสงค์จะดำรงพระชนมายุอยู่ ก็จะดำรงอยู่ได้ถึงกัปป์หนึ่ง หรือยิ่งกว่า "เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงได้กราบทูลวิงวอนอาราธนาถึง ๓ ครั้ง ดังนี้"
              "อานนท์ เธอเชื่อหรือไม่ว่า อิทธิบาทภาวนามีอานุภาพถึงเช่นนั้น "
              "เชื่อ พระเจ้าข้า"
              "แล้วเพราะอะไรเล่า อานนท์ เมื่อตถาคตทำนิมิตโอภาสอันชัด ซึ่งพอจะรู้ได้อานนท์ก็กลับไม่รู้ ไม่อาราธนา ไม่วิงวอนตถาคต ในกาลอันควรจะอารธนา เป็นความผิดของอานนท์ผู้เดียว"
              "อานนท์ ถ้าในคราวนั้น หากเธอจะรู้ทัน และอาราธนาตถาคตแล้ว ตถาคตก็จะพึงห้ามสัก ๒ ครั้ง แล้วในครั้งที่ ๓ ตถาคตก็จะรับคำวิงวอนอารธนานั้น ก็เมื่ออานนท์ไม่วิงวอนอารธนาในเวลานั้น จึงเป็นความผิดพลาดของอานนท์ผู้เดียว"
              "อานนท์ ความจริง นิมิตโอกาสนี้ มิใช่ตถาคตจะแสดงแก่เธอในครั้งเดียว ในที่นี้ ก็หาไม่ ตถาคตได้แสดงแก่อานนท์ถึง ๑๖ ครั้ง ๑๖ ตำบล อานนท์คงจะยังระลึกได้อยู่ คือ ที่เมืองราชคฤห์ ๑๐ ตำบล คือ ๑. ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ๒. ที่โคตมนิโครธ ๓. ที่เหวสำหรับทิ้งโจร ๔. ที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างภูเขาเวภารบรรพต ๕. ที่กาฬศิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิบรรพต ๖. ที่สัปปิโสภณฑิกา ณ สีตวัน ๗. ที่ตโปทาราม ๘. ที่เวฬุวนาราม ๙. ที่ชีวกัมพวนาราม ๑๐. ที่มัททกุจฉิวัน กับที่เมืองไพศาลี ๖ ตำบล คือ ๑. ที่อุทเทนเจดีย์ ๒. ที่โคตมเจดีย์ ๓. ที่สัตตัมพเจดีย์ ๔. ที่พหุปุตตเจดีย์ ๕. ที่สารันทเจดีย์ ๖. ที่ปาวาลเจดีย์ นี้เป็นครั้งสุดท้าย รวมเป็น ๑๖ ตำบลด้วยกัน
              อานนท์ ในวาระทั้ง ๑๖ ครั้งนั้น เป็นกาลที่ควรจะอารธนา วิงวอนตถาคต อานนท์ก็ไม่รู้ ไม่อารธนา ไม่วิงวอน หากใน ๑๖ ครั้งนั้น อานนท์จะพึงอาราธนาวิงวอนตถาคต ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ตถาคตก็พึงห้ามเสีย ๒ ครั้ง แล้วในครั้งที่ ๓ ตถาคตก็จะรับอารธนาของอานนท์ เพราะอานนท์ไม่รู้ ไม่อาราธนา ไม่วิงวอนปล่อยให้ล่วงเลยเวลาอันควรมา นั่นเป็นความผิดพลาดของอานนท์ผู้เดียว
              "ตถาคตได้บอกเธอมาแต่เดิมแล้วมิใช่หรือ อานนท์ ว่า " บรรดาสัตว์สังขารที่รักใคร่เจริญใจทั้งปวง ล้วนไม่คงทนถาวรอยู่ได้ ตามใจประสงค์ ย่อมจะพลัดพรากจากไปเป็นอย่างอื่นสิ้น จะหาสิ่งซึ่งเที่ยง ยั่งยืน ถาวร ในสังขารนี้ได้ที่ไหน ทุกสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ย่อมมีความสลายตัวไปเป็นธรรมดา การที่จะร่ำร้องว่า ขอสิ่งนั้นอย่าได้ฉิบหายเลย ย่อมไม่เป็นฐานะที่พึงได้ เป็นได้ ดังประสงค์โดยแท้"
              "ดูกรอานนท์ สิ่งใดที่ตถาคตได้สละแล้ว คายแล้ว ปล่อยเสียแล้ว ละเสียแล้ว วางเสียแล้ว การที่ตถาคตจักคืนกลับมารับสิ่งนั้นเข้าไว้อีก เพราะเหตุแห่งชีวิต ไม่เป็นฐานะที่จะมีขึ้นได้เลย
              อานนท์ ทั้งคนหนุ่ม ทั้งคนแก่ ทั้งคนโง่ คนฉลาด คนจน คนมี ล้วนแต่มีความตายเป็นที่ไปในเบื้องหน้าด้วยกันสิ้น เหมือนภาชนะดิน ถึงจะเล็ก ใหญ่ ดิบ สุก ประการใด ก็ย่อมมีความแตกทำลายเป็นที่สุดเหมือนกันหมด ฉะนั้น
              สังขารทั้งหลาย มีความไม่เที่ยงเป็นธรรม มีความเกิดในเบื้องต้น แปรปรวนในท่ามกลาง และดับทำลายลงในที่สุด พระนิพพาน เป็นคุณชาติดับเสียซึ่งชาติ ชรา มรณะ เป็นเอกันตสุข ประเสริฐ หาสิ่งเสมอมิได้
              อานนท์ วัยของตถาคตล่วงลุถึงความชราแล้ว ชีวิตของตถาคตเหลืออยู่น้อยแล้ว ไม่ช้าก็จะละท่านทั้งปวงไป ท่านทั้งหลายจงมีสติ อย่าได้ประมาท พยายามกระทำที่พึ่งแก่ตน พึงรักษาจตุปาริสุทธิศีลมากอยู่ ด้วยการเจริญสมณะธรรมเป็นอันดี ผู้ใดมั่นอยู่ในอัปปามาทธรรม ประพฤติธรรมวินัยนี้ให้บริสุทธิ์ด้วยดี ผู้นั้นจะละเสียได้ซึ่งชาติสงสาร ถึงซึ่งฝั่งแห่งนิพพานอันเป็นที่สุดแห่งวัฏฏทุกข์"
              ครั้นผู้มีพระภาคตรัสพระธรรมเทศนา แก่พระอานนท์เถระเจ้า ด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงรับสั่งแก่พระอานนท์ว่า "อานนท์ เราพร้อมกันจะไปบ้านภัณฑุคาม ณ บัดนี้" เมื่อพระภิกษุสงฆ์พร้อมกันแล้ว ก็เสด็จพระพุทธดำเนินไปยังบ้านภัณฑุคาม ประทับสำราญพระอิริยาบถโดยควรแก่พระอัธยาศัย แสดงธรรมโปรดพุทธบริษัท ณ บ้านภัณฑุคามนั้น ให้ตั้งอยู่ในอริยะธรรม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ อันเป็นธรรมนำให้หลุดพ้นจากอาสวะทั้งมวล
              ต่อนั้น พระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ได้เสด็จไปสู่บ้านหัตถีคาม และอัมพคาม และชมพุคาม และเมืองโภคนคร โดยลำดับ ประทับอยู่ที่โภคนคร แสดงธรรมโปรดพุทธบริษัทชาวเมืองนั้น
              ต่อนั้น จึงได้เสด็จไปยังเมืองปาวานคร เสด็จเข้ายับยั้งอาศัยอัมพวัน สวนมะม่วงของนายจุนท์กัมมารบุตร คือบุตรของนายช่างทอง ซึ่งอยู่ใกล้เมืองนั้น.

ปุกกุสะถวายผ้าสิงคิวรรณ
              ครั้งนั้น ปุกกุสะ บุตรแห่งมัลลกษัตริย์ ผู้เป็นสาวกของท่านอาฬารดาบสกาลามโคตร เดินทางจากเมืองกุสินารา เพื่อจะไปยังปาวานคร โดยทางนั้น ครั้นมาถึงที่นั้น เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ร่มไม้ใหญ่ริมทาง จึงเข้าไปเฝ้าถวายบังคม แล้วนั่ง ณ ที่ควร พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงสันติวิหารธรรมโปรด ปุกกุสะได้สดับแล้วเกิดความเลื่อมใส ได้น้อมคู่ผ้าสิงคิวรรณ อันมีเนื้อละเอียด มีสีดังทองสิงคี งาม ประณีตมีค่ามาก ถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยกราบทูลว่า "ขอพระผู้มีพระภาคได้ทรงอนุเคราะห์ รับคู่ผ้าสิงคิวรรณนี้ เพื่อประโยชน์สุขแก่ข้าพระองค์สิ้นกาลนานเถิด"
              "ปุกกุสะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงคลุมกายตถาคตเพียงผืนเดียว อีกผืนหนึ่งจงให้อานนท์เถิด"
              ปุกกุสะ ได้น้อมผ้าถวายเป็นพุทธบริโภคผืนหนึ่ง ถวายพระอานนท์เถระผืนหนึ่ง ตามพระพุทธบัญชา
              พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงธรรมมีกถาให้ปุกกุสะมัลลบุตร เบิกบาน รื่นเริงในกุศลจริยาตามสมควร แล้วปุกกุสะได้อภิวาททูลลาไป.








ผิวกายของพระพุทธเจ้าผ่องใสยิ่งใน ๒ เวลา
              เมื่อปุกกุสะมัลลบุตรหลีกไปแล้ว พระอานนท์เถระได้นำผ้าสิงคิวรรณทั้ง ๒ ผืนเข้าถวายพระผู้มีพระภาค ทรงนุ่งผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง ผ้าสิงคิวรรณมีสีดุจถ่านไฟที่ปราศจากเปลวงาม เมื่อพระเถระเจ้านำเข้าถวายปกคลุมพระกาย เป็นพุทธบริโภคทั้งคู่ ในทันใดนั้น ผิวกายของพระผู้มีพระภาค ก็งามบริสุทธิ์ผุดผ่องยิ่งนัก
              พระอานนท์ได้กราบทูลสรรเสริญ ความอัศจรรย์ของพระฉวีวรรณงามผ่องใส สมกับคู่ผ้าสิงคิวรรณที่ปกคลุมพระกายยิ่งนัก
              "จริงดังอานนท์สรรเสริญ" พระผู้มีพระภาคทรงรับสั่ง "กายของตถาคตย่อมงามบริสุทธิ์ผุดผ่องยิ่งใน ๒ เวลา คือ เวลาราตรีที่จะตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ๑ และเวลาราตรีที่จะปรินิพพาน ๑ อานนท์ ๒ เวลานี้แล กายของตถาคตงามบริสุทธิ์ยิ่งนัก"
              "อานนท์ ในยามที่สุดแห่งราตรีวันนี้แหละ ตถาคตจะปรินิพพาน ณ ระหว่างไม้สาละทั้งคู่ ณ สลาวัน แห่งมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา อานนท์ เรามาไปพร้อมกันยังแม่น้ำกกุธานที" พระอานนท์รับพระบัญชามาแจ้งให้พระสงฆ์ทราบทั่วกัน
              ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จไปโดยมรรคานั้น จนถึงแม่น้ำกกุธานที เสด็จทรงเสวยและสนานสำราญพระกายตามพระอัธยาศัยแล้ว เสด็จขึ้นมาประทับยังร่มไม้รับสั่งให้พระจุนทะเถระลาดสังฆาฏิถวาย ด้วยขณะนั้น พระอานนท์กำลังบิดผ้าชุบสรงอยู่ แล้วสมเด็จพระบรมครูก็เสด็จบรรทมระงับความลำบากพระกายที่ตรากตรำมาในระยะทาง.


 ทรงปรารภสักการะบูชา
              ครั้งนั้น ต้นรังทั้งคู่ เผล็ดดอกบานเต็มต้น ล่วงหล่นมายังพระพุทธสรีระ บูชาพระตถาคตเจ้า เป็นมหัศจรรย์ แม้ดอกมณฑาในเมืองสวรรค์ ตลอดทิพยสุคนธชาติก็ตกลงมาจากอากาศ บูชาพระตถาคตเจ้า ใช่แต่เท่านั้น ยังเทพเจ้าทั้งหลายก็ประโคมดนตรีทิพย์ บรรลือลั่นเป็นมหานฤนาท บูชาพระตถาคตเจ้าในอวสานกาล
              ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแก่พระอานนท์เถระว่า "อานนท์ การบูชาพระตถาคตด้วยอามิสบูชา แม้มากเห็นปานนี้ ก็ไม่ชื่อว่า บูชาพระตถาคตอันแท้จริง อานนท์ ผู้ใดแล มาปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่งในธรรม ผู้นั้นชื่อว่า บูชาพระตถาคตด้วยการบูชาอย่างยิ่ง" พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงพระกรุณาเตือนพุทธบริษัทให้หนักแน่นในธรรมานุธรรมปฏิบัติ เพื่อประสงค์จะให้พระศาสนาสถิตสถาพรดำรงอยู่ในโลก ตลอดกาลนิรันดร ด้วยประการฉะนี้
              ครั้งนั้น พระอุปวาณะเถระ ยืนถวายงานพัดอยู่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสสั่งให้พระอุปวาณะถอยออกไปเสีย พระอานนท์เกิดปริวิตกว่า "ความจริง พระอุปวาณะองค์นี้ ก็เป็นพุทธอุปัฏฐากใกล้เคียงพระบรมศาสดามานานแล้ว ไฉนหนอในกาลสุดท้ายนี้ พระบรมศาสดาจึงไม่ทรงพอพระทัยให้ถวายปฏิบัติดังเช่นเคย น่าจะมีเหตุอะไร จึงได้เข้าเฝ้าทูลถาม
              พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า "อานนท์ ขณะนี้ เทพดาทั้งหมด ทุกท้องสวรรค์ชั้นฟ้า ได้มาประชุมกันบูชาพระตถาคต โดยหวังจะเห็นพระตถาคตในครั้งสุดท้ายนี้ แต่พระอุปวาณะได้มายืนกั้นอยู่ ณ เบื้องหน้าเสีย เทพดาทั้งหลายพากันยกโทษ ด้วยไม่สมใจที่ตั้งใจมา ดังนั้น ตถาคตจึงสั่งให้พระอุปวาณะถอยออกไปเสียออกจากที่เบื้องหน้านี้"

ทรงแสดงสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล
              ครั้งนั้น พระอานนท์เถระเจ้าได้กราบทูลว่า ในกาลก่อนเมื่อออกพรรษาแล้ว บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายได้เข้าใกล้สนทนาปราศัยได้ความเจริญใจ ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว ข้าพระองค์ทั้งหลายจักไม่ได้โอกาสอันดีเช่นนั้น เหมือนกับเมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่อีกต่อไป
              พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อานนท์ สังเวชนียสถาน ๔ ตำบลนี้ คือสถานที่พระตถาคตเจ้าบังเกิดแล้ว คือ

ที่ประสูติจากพระครรภ์ ๑

สถานที่พระตถาคตเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ๑

สถานที่พระตถาคตเจ้าแสดงธรรมจักร ๑

สถานที่พระตถาคตเจ้าเสด็จปรินิพพาน ๑
              สถานที่ทั้ง ๔ ตำบลนี้แล ควรที่พุทธบริษัท คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้มีความเชื่อความเลื่อมใสในพระตถาคตเจ้า จะดูจะเห็น และควรจะให้เกิดความสังเวชทั่วกัน
              "อานนท์ ชนทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ได้เที่ยวไปยังเจดีย์สังเวชนียสถานเหล่านี้ด้วยความเลื่อมใส ชนเหล่านั้น ครั้นทำกาลกิริยาลง จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์"




วิธีปฏิบัติในพระพุทธสรีระ
              ลำดับนั้น พระอานนท์เถระเจ้าได้ทูลถามถึงวิธีปฏิบัติในพระพุทธสรีระว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์จะพึงปฏิบัติในพระพุทธสรีระ เป็นไฉน"
              "ดูกรอานนท์ ท่านทั้งหลายอย่าขวนขวายเลย จงตั้งหน้าบำเพ็ญเพียรมุ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์เถิด บรรดากษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดีทั้งหลาย ที่เลื่อมใสในพระตถาคตเจ้ามีอยู่มาก จักทำซึ่งสักการะบูชาสรีระแห่งพระตถาคตเจ้า"
              "ก็กษัตริย์เป็นต้นเหล่านั้น จะพึงปฏิบัติในพระสรีระโดยวิธีเช่นใดเล่า พระเจ้าข้า"
              "อานนท์ ผู้รู้ทั้งหลายย่อมปฏิบัติในพระสรีระของพระตถาคตเจ้า เป็นแบบเดียวกันกับวิธีปฏิบัติในพระสรีระ แห่งพระเจ้าจักรพรรดิราชนั้นแล"
              "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็วิธีปฏิบัติในพระสรีระแห่งจักรพรรดิราชเจ้านั้น มีแบบอย่างเป็นไฉนเล่า พระเจ้าข้า"
              "ดูกรอานนท์ ชนทั้งหลายย่อมพันพระสรีระแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ์ ด้วยผ้าขาวซับด้วยสำลี แล้วห่อด้วยผ้าขาว ๕๐๐ คู่ แล้วเชิญพระสรีระลงในหีบทองอันเต็มไปด้วยน้ำมันหอม เชิญขึ้นสู่จิตรกาธาร ซึ่งทำด้วยไม้หอม ถวายพระเพลิง แล้วเชิญพระอัฏฐิธาตุไปทำพระสถูปบรรจุไว้ ณ ที่ประชุมแห่งถนนใหญ่ทั้ง ๔ เพื่อเป็นที่ไหว้สักการะบูชาแห่งมหาชนผู้สัญจรไปมาแต่ทิศทั้ง ๔ เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนเหล่านั้นสิ้นกาลนาน.

ถูปารหบุคคล ๔
              "อานนท์ บุคคลผู้ควรแก่การประดิษฐานในสถูป เรียกว่า ถูปารหบุคคล มี ๔ ประเภท คือ
              พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑
              พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑
              พระสาวกอรหันต์ ๑
              พระเจ้าจักรพรรดิ์ ๑
              บุคคลพิเศษทั้ง ๔ นี้ ควรที่บรรจุอัฏฐิธาตุไว้ในสถูป เพื่อเป็นที่สักการะบูชากราบไหว้ ด้วยความเลื่อมใส ด้วยสามารถเป็นพลวปัจจัย นำให้ผู้กราบไหว้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ตามกำลังศรัทธาเลื่อมใส"


ประทานโอวาทแก่พระอานนท์
              ครั้งนั้น พระอานนท์เถระ เข้าไปในวิหาร ยืนเหนี่ยวกลอนประตูวิหาร ร้องไห้ คิดสังเวชตัวว่าอาภัพ อุตส่าห์ติดตามปฏิบัติพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดุจเงาติดตามพระองค์ โดยมุ่งยึดเอาพระองค์เป็นนาถะ เพื่อทำความสิ้นทุกข์ พระสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้นก็จะเสด็จปรินิพพานในราตรีนี้แล้ว ทั้งที่เราเองก็ยังเป็นเสขบุคคลอยู่
              พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทอดพระเนตรเห็นพระอานนท์ในที่นั้น รับสั่งถามภิกษุทั้งหลาย ครั้นทรงทราบความแล้ว ตรัสให้ไปตามพระอานนท์เข้ามายังที่เฝ้า แล้วตรัสว่า "อานนท์ อย่าเลย ท่านอย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไรเลย เราได้บอกแก่เธอแล้วมิใช่หรือว่า สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงถาวร จะหาความเที่ยงแท้จากสังขารได้แต่ที่ไหน ทุกสิ่งที่มีเกิดในเบื้องต้นแล้ว จะต้องแปรปรวนในท่ามกลาง ที่สุดก็ต้องสลายลงเช่นเดียวกันหมด"
              "อานนท์ เธอเป็นบุคคลที่มีบุญได้สั่งสมไว้แล้ว เธอจงอุตส่าห์บำเพ็ญเพียรเถิด ไม่ช้าเธอก็จักถึงความสิ้นอาสวะ คือจักได้เป็นพระอรหันต์ ก่อนวันพระสงฆ์ทำปฐมสังคายนานั้นแล"





ตรัสสรรเสริญพระอานนท์
              ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอตีตังสญาณอันวิเศษ ได้ทรงพยากรณ์พระอานนท์ในที่ประชุมสงฆ์เช่นนั้นแล้ว ก็ตรัสสรรเสริญพระอานนท์ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้วก็ดี แม้ที่จะมาตรัสรู้ข้างหน้าอีกก็ดี บรรดาภิกษุผู้อุปัฏฐากของพระสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น ก็เป็นเหมือนเช่นอานนท์อุปัฏฐากของเราในบัดนี้แหละ"
              "ภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นบัณฑิต ประกอบธุระกิจด้วยปัญญา รอบรู้ว่ากาลใด บริษัทใดจะเข้าเฝ้า อานนท์ก็จัดให้เข้าเฝ้า ตามควรแก่สถานะวิสัยแห่งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา กษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี และเดียรถีย์ ได้ถี่ถ้วนทุกประการ"
              อนึ่ง เมื่อบริษัทได้เข้าใกล้ ได้เห็นอานนท์ ก็มีจิตยินดี เมื่อฟังอานนท์แสดงธรรม ก็ชื่นชม ไม่อิ่ม ไม่เบื่อด้วยธรรมกถาของอานนท์เลย เมื่ออานนท์หยุดพักธรรมกถา บริษัทก็ยินดีเบิกบานในธรรมกถาที่แสดงแล้ว ประหนึ่งพระเจ้าจักรพรรดิ์ ประทานความชื่นชม ไม่เบื่อด้วยภาษิต แก่กษัตริย์ พราหมณ์ เป็นต้น ฉะนั้น.


ตรัสเรื่องเมืองกุสินารา
              พระอานนท์เถระเจ้าได้กราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เมืองกุสินารา เป็นเมืองเล็ก เมืองดอน ไม่ควรเป็นเมืองที่พระองค์จะเสด็จปรินิพพาน ข้าพระองค์ขออาราธนาให้ไปปรินิพพานในเมืองใหญ่ ๆ เช่นพระนครราชคฤห์ พระนครสาวัตถี เป็นต้น นั้นเถิด กษัตริย์ พราหมณ์ และคหบด ี ผู้มีมหาศาล จักได้จัดการสักการะบูชาพระสรีระเป็นมโหฬาร ควรแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นอัจฉริยมนุษย์บุรุษรัตนดิลกเลิศในโลก"
              "อานนท์ เธออย่าได้กล่าวอย่างนั้น" ทรงรับสั่ง "อานนท์ เมืองกุสินารานี้ แต่ปางก่อนเคยเป็นมหานครราชธานี มีนามว่า "กุสาวดี" เป็นพระนครใหญ่ไพศาล พระเจ้ามหาสุทัศน์จักรพรรดิราช เป็นพระมหากษัตริย์ครอบครอง เป็นเมืองที่มีผู้คนมากประชาชนสงบสุข สมบูรณ์ด้วยทรัพย์สรรพสิ่งซึ่งเป็นเครื่องอุปกรณ์แก่ชีวิตของมนุษย์ทุกประการ เสียงร้องเรียกร้องหา ค้าขาย สัญจรไปมาหาสู่กัน ไม่หยุดหย่อน ทั้งกลางวันกลางคืน".


โปรดสุภัททปริพพาชก
              สมัยนั้น ปริพพาชกผู้หนึ่ง ชื่อว่า สุภัททะ ชาวเมืองกุสินารา สุภัททปริพพาชกนั้นได้ยินข่าวว่า "พระสมณะโคดมจักปรินิพพานในที่สุดแห่งราตรีนี้แล้ว" จึงคิดว่า "ความสังสัยของเรามีอยู่ ควรจะรีบออกไปเฝ้าทูลถามให้พระองค์ตรัสบอกบรรเทาความในใจของเรานั้นเสีย" แล้วสุภัททปริพพาชก ก็ออกจากเมืองกุสินารา เข้าไปพบพระอานนท์ยังอุทยานสาลวัน เพื่อขอโอกาสได้เข้าเฝ้า
              พระอานนท์เถระเจ้าได้ทัดทานว่า "อย่าเลย สุภัททะท่านอย่าเบียดเบียนพระตถาคตเจ้าเลย ขณะนี้พระตถาคตเจ้าก็ทรงลำบากพระกายหนักอยู่แล้ว" แม้สุภัททปริพพาชกจะได้วิงวอนแล้ว ๆ เล่า ๆ อยู่ถึง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง พระอานนท์เถระเจ้าก็ไม่ยอมให้เข้าเฝ้า
              ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงได้สดับเสียงพระอานนท์ และสุภัททปริพพาชกเจรจากันอยู่ จึงตรัสเรียกพระอานนท์ว่า "อานนท์ อย่าห้ามสุภัททะเลย ให้สุภัททะได้เห็นตถาคตเถิด แม้สุภัททะจะถามปัญหาอันใดกับตถาคตก็จักไม่เบียดเบียนตถาคตให้ลำบาก สุภัททะจักตรัสรู้ทั่วถึงธรรมในปัญหาทั้งปวง ที่ตถาคตได้พยากรณ์แล้ว"
              ลำดับนั้น พระอานนท์จึงบอกปริพพาชกว่า "สุภัททะ บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระกรุณาประทานโอกาสให้แก่ท่านแล้ว ท่านจงเข้าไปเฝ้าเถิด"
              สุภัททปริพพาชก มีความเบิกบานใจ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้ว ได้ทูลถามถึงครูทั้ง ๖ ซึ่งเป็นเจ้าลัทธิ มีปูรณกัสสป เป็นต้น ว่าเป็นผู้วิเศษ ได้ตรัสรู้ยิ่งด้วยปัญญา ดังคำปฏิญญาหรือไม่
              พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "อย่าเลย สุภัททะ เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงตั้งใจฟัง แล้วทำไว้ในใจให้สำเร็จประโยชน์เถิด แล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสอริยมรรค ๘ ประการ ว่าเป็นมรรคาประเสริฐมีอยู่ในธรรมวินัยใดแล้ว สมณะ คือท่านผู้สงบระงับดับกิเลสได้จริง ย่อมมีธรรมวินัยนั้น อนึ่ง อริยมรรคทั้ง ๘ นั้น ก็มีอยู่เฉพาะในธรรมวินัยนี้เท่านั้น แม้สมณะดังกล่าวแล้ว ก็มีอยู่แต่ในธรรมวินัยนี้แห่งเดียว สุภัททะ หากภิกษุทั้งหลาย จะพึงปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ในธรรมนี้แล้วไซร้ โลกนี้ก็จักไม่พึงว่างเปล่าจากพระอรหันต์"
              เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแสดงธรรมนี้ สุภัททปริพพาชกมีความเชื่อ เลื่อมใส ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา พร้อมกับขอปฏิญญาตนเป็นอุบาสก และทูลขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค
              ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสให้พระอานนท์รับธุระจัดให้สุภัททะอุบาสกบรรพชาอุปสมบทตามความปรารถนา เมื่อพระสุภัททะได้อุปสมบทแล้ว หลีกออกไป บำเพ็ญสมณะธรรม ก็ได้บรรลุพระอรหัตผลในราตรีวันนั้น ได้เป็นพระอรหันต์ปัจฉิมสาวกของพระผู้มีพระภาค ทันพระชนม์ชีพของพระบรมศาสดา


ประทานโอวาท

              ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ประทานโอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายว่า อานนท์ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว หากจะพึงมีภิกษุบางรูปดำริว่า พระศาสดาของเราปรินิพพานแล้ว บัดนี้ ศาสดาของเราไม่มี อานนท์ ท่านทั้งหลายไม่ควรดำริอย่างนั้น ไม่ควรเห็นอย่างนั้น แท้จริง วินัยที่เราได้บัญญัติแก่ท่านทั้งหลายก็ดี ธรรมที่เราได้แสดงแล้วแก่ท่านทั้งหลายก็ดี เมื่อเราล่วงไป ธรรมและวินัยนั้น ๆ แล จักเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย 

  



ปัจฉิมโอวาท
              "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนท่านทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อม ความสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลาย จงบำเพ็ญไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญา ให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด"



นิพพาน
              เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสพระโอวาทประทานเป็นวาระสุดท้ายเพียงเท่านี้แล้ว ก็หยุด มิได้ตรัสอะไรอีกเลย ทรงทำปรินิพพานบริกรรมด้วยอนุปุพพวิหารสมาบัติทั้ง ๙ โดยอนุโลมเป็นลำดับดังนี้ คือ-
      ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌาณแล้ว
      ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว
      ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว
      ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว
      ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนะแล้ว
      ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ       ออกจากวิญญาณัญจายตนะแล้ว
      ทรงเข้าอากิญจัญญายตนะ       ออกจากอากิญจัญญายตนะแล้ว
      ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ       ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้ว
      ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ
      สมาบัติที่ ๙
              สัญญาเวทยิตนิโรธนี้ มีอาการสงบที่สุด ถึงดับสัญญาและเวทนา ไม่รู้สึกทั้งกายทั้งใจทุกประการ แม้ลมหายใจเข้าออกก็หยุด สงบยิ่งกว่านอนหลับ ผู้ไม่คุ้นเคยกับสมาบัตินี้ อาจคิดเห็นไปว่าตายแล้ว ดังนั้นพระอานนท์เถระเจ้า ผู้นั่งเฝ้าดูพระอาการอยู่ตลอดทุกระยะ ได้เกิดวิตกจิต คิดว่า พระบรมศาสดาคงจะเสด็จนิพพานแล้ว จึงได้เรียนถามพระอนุรุทธเถระเจ้า ผู้เชี่ยวชาญในสมาบัตินี้ว่า "ข้าแต่ท่านอนุรุทธ พระบรมศาสดาเสด็จนิพพานแล้วหรือยัง"
              "ยัง ท่านอานนท์ ขณะนี้พระบรมศาสดากำลังเสด็จอยู่ในสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ" พระอนุรุทธบอก
              ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จอยู่ในสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ตามเวลาที่พระองค์ทรงกำหนดแล้ว ก็เสด็จออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะ ถอยออกจากสมาบัตินั้นโดยปฏิโลมเป็นลำดับจงถึงปฐมฌาน
      ต่อนั้นก็ออกจากปฐมฌานแล้ว      ทรงเข้าทุติยฌาน อีกวาระหนึ่ง
      ออกจากทุติยฌานแล้ว       ทรงเข้าตติยฌาน
      ออกจากตติยฌานแล้ว       ทรงเข้าจตุตถฌาน
      เมื่อออกจากจตุตถฌานแล้ว ก็เสด็จปรินิพพาน ณ ปัจฉิมยามแห่งราตรีวิสาขะปุรณมี เพ็ญเดือน ๖ มหามงคลสมัย
ด้วยประการฉะนี้
              ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว ก็บังเกิดมหัศจรรย์ แผ่นดินไหวกลองทิพย์ก็บันลือลั่น กึกก้องด้วยสัททสำเนียงเสียงสนั่นในนภากาศ เป็นมหาโกลาหล ในปัจฉิมกาล พร้อมกับขณะเวลาปรินิพพานของสมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นนาถะของโลก  



กล่าวสรรเสริญคุณพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
              ขณะนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม ท้าวโกสีย์สักกะเทวราช พระอนุรุทธเถระเจ้า และพระอานนท์เถระเจ้า ได้กล่าวคาถาสรรเสริญพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงความไม่เที่ยงถาวรของสัตว์ สังขารทั่วไป ด้วยความเลื่อมใส และความสลดใจ ในการปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นพระบรมศาสดาของมวลเทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย
              ขณะนั้น บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายทั้งปวง ที่ประชุมอยู่ในอุทยานสาลวันนั้น ต่างก็เศร้าโศก ร่ำไร รำพัน ปริเทวนาการ คร่ำครวญถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นที่น่าสลดใจยิ่งนัก พระอนุรุทธเถระเจ้า และพระอานนท์เถระเจ้า ได้แสดงธรรมิกถาปลุกปลอบ บรรเทาจิตบริษัทให้เสื่อมสร่างจากความเศร้าโศก ตามควรแก่วิสัยและควรแก่เวลา
              ครั้นสว่างแล้ว พระอนุรุทธเถระเจ้าก็มีเถระบัญชาให้พระอานนท์รีบเข้าไปในเมืองกุสินารา แจ้งข่าวปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคแก่มัลลกษัตริย์ทั้งหลาย เมื่อมัลลกษัตริย์ได้สดับข่าวปรินิพพาน ก็กำสรดโศก ด้วยความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นกำลัง จึงดำรัสสั่งให้ประกาศข่าวปรินิพพาน แก่ชาวเมืองให้ทั่วนครกุสินารา แล้วนำเครื่องสักการะบูชา นานาสุคนธชาติ พร้อมด้วยผ้าขาว ๕๐๐ พับ เสด็จไปยังสาลวัน ที่เสด็จปรินิพพาน ทำสักการะบูชาพระสรีระพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยบุบผามาลัยสุคนธชาติเป็นเอนกประการ
              มหาชนเป็นอันมาก แม้จะอยู่ในที่ไกล เมื่อได้ทราบข่าวปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค ต่างก็ถือนานาสุคนธชาติมาสักการะบูชามากมายสุดจะคณนา เวลาค่ำก็ตามชวาลาสว่างไสวทั่วสาลวัน ประชาชนต่างพากันมาไม่ขาดสาย ตลอดเวลา ๖ วัน ไม่มีหยุด พากันรีบรุดมาทำสักการะบูชาด้วยความเลื่อมใส ถวายความเคารพอันสูงในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 พระสรีระศพไม่เคลื่อนจากที่
              ครั้นวันที่ ๗ มัลลกษัตริย์ทั้งหลายได้ปรึกษาพร้อมใจกัน ในการจะอัญเชิญพระสรีระของพระผู้มีพระภาคไปโดยทิศทักษิณแห่งพระนคร เพื่อถวายพระเพลิงยังภายนอกพระนคร เมื่อได้ปรึกษาตกลงกันแล้ว ก็เตรียมอัญเชิญพระสรีระศพ แต่ก็ไม่สามารถจะอัญเชิญไปได้ แม้แต่จะขยับเขยื้อนให้เคลื่อนจากสถานที่สักน้อยหนึ่ง มัลลกษัตริย์พากันตกตลึงในเหตุอัศจรรย์ที่ไม่เคยประสบเช่นนั้น จึงได้พร้อมกันไปเรียนถามท่านพระอนุรุทธะเถระเจ้า ซึ่งเป็นประธานสงฆ์อยู่ ณ ที่นั้นว่า “ข้าแต่ท่านพระอนุรุทธะ ด้วยเหตุไฉน ข้าพเจ้าทั้งหลายจึงจะสามารถเขยื่อนเคลื่อนพระสรีระพระผู้มีพระภาคเจ้า จากสถานที่ประดิษฐานนั้นได้เล่า พระคุณเจ้า"
              "เพราะพระองค์ทำไม่ต้องประสงค์ของเทวดา" พระอนุรุทธะเถระกล่าว "เทวดาจึงไม่ยอมให้พระพุทธสรีระเขยื่อนเคลื่อนจากที่"
              "เทวดาทั้งหลาย มีความประสงค์เป็นฉันใดเล่า ท่านพระอนุรุทธะ ผู้เจริญ"
              "เทวดาทุกองค์ มีความประสงค์ให้อัญเชิญพระสรีระศพของพระผู้มีพระภาคเจ้าเข้าพระนครก่อน โดยเข้าทางประตูทิศอุดร เชิญไปในท่ามกลางพระนคร แล้วออกจากพระนคร โดยทางประตูทิศบูรพา แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานถวายพระเพลิงที่มกุฎพันธนะเจดีย์ ด้านทิศตะวันออกแห่งเมืองกุสินารานคร เทวดามีความประสงค์ดังนี้ เมื่อพระองค์ทำขัดกับความประสงค์ของเทวดา จึงไม่สำเร็จ"
              ครั้นมัลลกษัตริย์ได้ทราบเทวาธิบายเช่นนั้น ก็ทรงผ่อนผันอนุวัตรให้เป็นไปตามประสงค์ของเทวดา จัดการอัญเชิญพระสรีระศพของพระผู้มีพระภาค เขยอนเคลื่อนจากสถานที่นั้นไปได้อย่างง่ายดาย แล้วก็อัญเชิญพระพุทธสรีระศพขึ้นประดิษฐานบนเตียงมาลาอาสน์ ซึ่งตกแต่งด้วยอาภรณ์อันวิจิตร แล้วเคลื่อนขบวนอัญเชิญไปโดยทางอุตรทิศเข้าไปภายในแห่งพระนคร ประชาชนพากันมาสโมสรเข้าขบวนแห่ตามพระพุทธสรีระศพสุดประมาณ เสียงดุริยางค์ดนตรีแซ่ประสานกับเสียงมหาชน ดังสนั่นลั่นโกลาหลเป็นมหัศจรรย์ ทั้งดอกมณฑาอันเป็นของทิพย์ในสรวงสวรรค์ก็ล่วงหล่นลงมาสักการะบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ขบวนมหาชนอัญเชิญพระพุทธสรีระศพได้ผ่านไปในวิถีทางท่ามกลางพระนครกุสินารา ประชาชนทุกถ้วนหน้าพากันสักการะบูชาทั่วทุกสถาน ตลอดทางที่พระพุทธสรีระศพจะแห่ผ่านไปตามลำดับ


 นางมัลลิกาถวายเครื่องมหาลดาประสาธน์
              ขณะนั้น นางมัลลิกา ผู้เป็นภรรยาของท่านพันธุละเสนาบดี ซึ่งมีนิเวศน์อยู่ในนครนั้น ครั้นได้ทราบว่า ขบวนอัญเชิญพระพุทธสรีระศพจะผ่านทางนั้น นางก็มีความยินดี ที่จะได้อัญชลีอภิวาทเป็นครั้งสุดท้าย นางจึงดำริด้วยความเลื่อมใสว่า นับตั้งแต่ท่านพันธุละล่วงลับไปแล้ว เครื่องประดับอันมีชื่อว่า มหาลดาประสาธน์ เราก็มิได้ตกแต่ง คงเก็บรักษาไว้เป็นอันดี ควรจะถวายเป็นอาภรณ์ประดับพระพุทธสรีระพระชินสีห์ในอวสานกาลบัดนี้เถิด
              อันเครื่องอาภรณ์มหาลดาประสาธน์นี้ งามวิจิตรมีค่ามากถึง ๙๐ ล้าน เพราะประกอบด้วยรัตนะ ๗ ประการ ในสมัยนั้นมีอยู่เพียง ๓ เครื่อง คือ ของนางวิสาขา ๑ ของนางมัลลิกา ภรรยาท่านพันธุละ ๑ ของเศรษฐีธิดา ภรรยาท่านเทวปานิยสาระ ๑ ซึ่งเป็นอาภรณ์ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นของสำหรับผู้มีบุญ
              ครั้นเมื่อขบวนอัญเชิญพระพุทธสรีระศพผ่านมาถึงหน้าบ้านนางมัลลิกา นางจึงได้ขอร้องแสดงความประสงค์จะบูชาด้วยอาภรณ์มหาลดาประสาธน์ มหาชนผู้อัญเชิญพระพุทธสรีระศพก็วางเตียงมาลาอาสน์ ที่ประดิษฐานพระพุทธสรีระลง ให้นางมัลลิกาถวายอภิวาท เชิญเครื่องมหาลดประสาธน์สรวมพระพุทธสรีระศพ เป็นเครื่องสักการะบูชา ขณะนั้นพระพุทธสรีระศพก็งามโอภาศ เป็นที่เจริญตาเจริญใจ ปรากฎแก่มหาชนทั้งหลาย ต่างพากันแซ่ซร้องสาธุการเป็นอันมาก แล้วมหาชนก็อัญเชิญพระพุทธสรีระศพเคลื่อนจากที่นั้น ออกจากประตูเมืองด้านบูรพทิศ ไปสู่มกุฏพันธนะเจดีย์
              ครั้นถึงยังที่จิตรกาธาร อันสำเร็จด้วยไม้จันทน์หอม งามวิจิตร ซึ่งได้จัดทำไว้แล้ว ก็จัดการห่อพระพุทธสรีระศพด้วยทุกุลพัสตร์ภูษา ๕๐๐ ชั้น แล้วก็อัญเชิญลงประดิษฐานในหีบทอง ซึ่งเต็มด้วยน้ำมันหอม ตามคำพระอานนท์เถระแจ้งสิ้นทุกประการ


ถวายพระเพลิงแต่เพลิงไม่ติด
              ครั้นเรียบร้อยแล้ว ก็อัญเชิญหีบทองนั้นขึ้นประดิษฐานบนจิตรกาธาร ทำสักการะบูชา แล้วกษัตริย์มัลลราชทั้ง ๘ องค์ ผู้เป็นประธานกษัตริย์ทั้งปวง ก็นำเอาเพลิงเข้าจุด เพื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระศพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เพลิงก็ไม่ติดตามประสงค์ แม้จะพยายามจุดเท่าใดก็ไม่บรรลุผล มัลลกษัตริย์มีความสงสัย จึงได้เรียนถามพระอนุรุทธเถระเจ้าว่า
              "ข้าแต่ท่านพระอนุรุทธะ ด้วยเหตุอันใด เพลิงจึงไม่ติดโพลงขึ้น"
              "เป็นเหตุด้วยเทวดาทั้งหลาย ยังไม่พอใจให้ถวายพระเพลิงก่อน" พระอนุรุทธะเถระกล่าว "เทวดาต้องการให้คอยท่าพระมหากัสสปเถระ หากพระมหากัสสปเถระยังมาไม่ถึงตราบใด ไฟจะไม่ติดตราบนั้น"
              "ก็พระมหากัสสปเถระเจ้า ขณะนี้อยู่ที่ไหนเล่า ท่านผู้เจริญ"
              "ดูกรมหาบพิตร ขณะนี้ พระมหากัสสปะเถระ กำลังเดินทางมา ใกล้จะถึงอยู่แล้ว" พระเถระกล่าว
              กษัตริย์มัลลราชทั้งหลาย ก็อนุวัตรตามความประสงค์ของเทวดา พักคอยท่าพระมหากัสสปเถระเจ้าอยู่

ดอกมณฑาตก
              เวลานั้น พระมหากัสสปเถระเจ้า พาพระภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ เดินทางจากเมืองปาวา ไปเมืองกุสินารา เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ขณะนั้นเป็นเวลาเที่ยงวัน แสงแดดกล้า พระเถระเจ้าจึงพาพระภิกษุสงฆ์เข้าหยุดพักร่มไม้ริมทาง ด้วยดำริว่าต่อเพลาตะวันเย็น จึงจะเดินทางต่อไป
              ครั้นพระเถระเจ้าพักพอหายเหนื่อย ก็เห็นอาชีวกผู้หนึ่ง เดินถือดอกมณฑากั้นศีรษะมาตามทาง ก็นึกฉงนใจ ด้วยดอกมณฑานี้ หามีในมนุษย์โลกไม่ เป็นของทิพย์ในสุราลัยเทวโลก จะตกลงมาเฉพาะในเวลาสำคัญ ๆ คือ เวลาพระบรมโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ เวลาประสูติ เวลาเสด็จออกสู่มหาภิเนกษกรม เวลาพระสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ เวลาแสดงธรรมจักร เวลาทรงทำยมกปาฏิหาริย์ เวลาเสด็จลงจากเทวโลก เวลาปลงอายุสังขาร และเวลาพระสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน เท่านั้น ไฉนกาลบัดนี้ จึงเกิดมีดอกมณฑาอีกเล่า ทำให้ปริวิตกถึงพระบรมศาสดา หรือพระบรมศาสดาจักเสด็จปรินิพพานแล้ว นึกสงสัย จึงได้ลุกขึ้นเดินเข้าไปใกล้อาชีวกผู้นั้น แล้วถามว่า "ดูกรอาชีวก ท่านมาแต่ที่ใด"
              "เมืองกุสินารา พระผู้เป็นเจ้า"
              "ท่านยังได้ทราบข่าวคราวพระบรมครูของเราบ้างหรือ อาชีวก" พระเถระเจ้าถามสืบไป
              "พระสมณโคดม ครูของท่านนิพพานเสียแล้วได้ ๗ วัน ถึงวันนี้" อาชีวกกล่าว "ดอกมณฑานี้ เราก็ได้มาแต่เมืองกุสินารา เนื่องในการนิพพานของพระมหาสมณะโคดมพระองค์นั้น"
              เมื่อภิกษุทั้งหลาย ที่เป็นปุถุชน ได้ฟังถ้อยคำของอาชีวกบอกเช่นนั้น ก็ตกใจมีหฤทัยหวั่นไหวด้วยกำลังแห่งโทมนัส เศร้าโศก ปริเทวนาการ ร่ำไรถึงพระบรมศาสดา ฝ่ายพระสงฆ์ที่เป็นพระขีณาสพก็เกิดธรรมสังเวชสลดจิต
              เวลานั้น มีภิกษุรูปหนึ่ง บวชเมื่อภายแก่ ชื่อ สุภัททะ เป็นวุฑฒะบรรพชิตมีจิตดื้อด้าน ด้วยสันดาลพาลชน เป็นอลัชชีมืดมนย่อหย่อนในธรรมวินัย ลุกขึ้นกล่าวห้ามภิกษุทั้งหลายว่า "ท่านทั้งปวง อย่าร้องไห้ร่ำไรไปเลย บัดนี้ เราพ้นอำนาจพระมหาสมณะแล้ว เมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ย่อมจู้จี้ เบียดเบียนบังคับบัญชาห้ามปรามเราต่าง ๆ นานา ว่าสิ่งนี้ควร สิ่งนี้ไม่ควร บัดนี้ พระองค์ปรินิพพานแล้ว เราปรารถนาจะทำสิ่งใด ก็จะทำได้ตามใจชอบ ไม่มีใครบังคับบัญชา ห้ามปรามแล้ว"
              พระมหากัสสปเถระเจ้า ได้ฟังคำของพระสุภัททะกล่าวคำจ้วงจาบพระบรมศาสดาเช่นนั้น ก็สลดใจยิ่งขึ้น ดำริว่า "ดูเถิด พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานไปเพียง ๗ วัน เท่านั้น ก็ยังเกิดมีอลัชชี มิจฉาจิต คิดลามก เป็นได้ถึงเช่นนี้ ต่อไปเมื่อหน้า จะหาผู้คารวะในพระธรรมวินัยไม่ได้ หากไม่คิดหาอุบายแก้ไขป้องกันให้ทันท่วงทีเสียแต่แรก เราจะพยายามทำสังคายนา ยกพระธรรมวินัยขึ้นไว้เป็นที่เคารพแทนองค์พระผู้มีพระภาคเจ้าให้จงได้" พระเถระเจ้าทำไว้ในใจเช่นนั้นแล้ว ก็กล่าวธรรมกถาเล้าโลมภิกษุสงฆ์ทั้งหลายให้ระงับดับความโศกแล้ว รีบพาพระสงฆ์บริวารเดินทางไปยังนครกุสินารา ตรงไปยังมกุฏพันธนะเจดีย์
              ครั้นถึงยังพระจิตรกาธาร ที่ประดิษฐานพระพุทธสรีระศพ พระบรมศาสดาแล้ว ก็ทำจีวรเฉวียงบ่า ประคองอัญชลี กระทำปทักษิณเวียนพระจิตรกาธารสามรอบแล้ว เข้าสู่ทิศเบื้องพระยุคลบาท น้อมถวายอภิวาทแล้วตั้งอธิษฐานจิตว่า "ขอให้พระบรมบาททั้งคู่ของสมเด็จพระบรมครู ผู้ทรงพระเมตตาเสด็จไปประทานอุปสมบทแก่ข้าพระพุทธเจ้าผู้มีนามว่ากัสสปะ ณ ร่มไม้พหุปุตตนิโครธ ทั้งยังทรงพระมหากรุณาโปรดประทานมหาบังสุกุลจีวรส่วนพระองค์ ให้ข้าพระองค์ได้ร่วมพระพุทธบริโภคโดยเฉพาะ จงออกจากหีบทอง รับอภิวาทแห่งข้าพระพุทธเจ้ากัสสปะ ซึ่งตั้งใจมาน้อมถวายคารวะ ณ กาลบัดนี้เถิด"


พระมหากัสสปกราบพระยุคลบาท
              ขณะนั้น พระบรมบาททั้งคู่ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้แสดงอาการประหนึ่งว่า พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ได้ทำลายคู่ผ้าทุกุลพัสตร์ที่ห่อหุ้มอยู่ทั้ง ๕๐๐ ชั้น กับทั้งพระหีบทองออกมาปรากฎในภายนอก ในลำดับแห่งคำอธิษฐานของพระมหากัสสปะเถระเจ้า ดุจดวงอาทิตย์ที่แลบออกจากกลีบเมฆ ฉะนั้น พุทธบริษัททั้งปวงเห็นเป็นอัศจรรรย์พร้อมกัน
              ทันใดนั้น พระมหากัสสปะเถระ ก็ยกมือขึ้นประคองรองรับพระยุคลบาทของพระบรมศาสดาขึ้นชูเชิดเทิดทูลไว้บนศีรษะ แล้วก็กราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์มิได้อยู่ปฏิบัติพระองค์ ไปอยู่เสียในเสนาสนะป่าอรัญญิกาวาส แม้พระองค์จะทรงพระกรุณาประทานโอกาสว่า "กัสสปะ ชราแล้ว ทรงบังสุกุลจีวรเนื้อหนาพานจะหนัก จะทรงคหบดีจีวรอันทายกถวายบ้าง ก็ตามอัธยาศัย จงอยู่ในสำนักตถาคต แม้จะทรงพระมหากรุณาถึงเพียงนี้ กัสสปะก็มิได้อนุวัตรตามพระมหากรุณา ได้ประมาทพลาดพลั้งถึงดังนี้ ขอภควันตะมุนีได้ทรงพระกรุณาโปรดอดโทษานุโทษแก่ข้าพระองค์อันมีนามว่า กัสสปะ ณ กาลบัดนี้"
              ครั้นพระมหากัสสปะ กับพระสงฆ์บริวาร ๕๐๐ และมหาชนทั้งหลายกราบนมัสการ พระบรมยุคลบาทโดยควรแล้ว พระบาททั้งสองก็ถอยถดหดหายจากหัตถ์พระมหากัสสปะ นิวัตตนาการคืนเข้าพระหีบทองดังเก่า ทุกสิ่งทุกอย่างได้ตั้งอยู่เป็นปกติ มิได้ขยับเขยื่อนเคลื่อนไหวจากที่แต่ประการใด เป็นมหัศจรรย์อันยิ่งใหญ่อีกวาระหนึ่ง ขณะนั้น เสียงโศกาปริเทวนาการของมวลเทพดาและมนุษย์ ซึ่งได้หยุดสร่างสะอื้นแล้วแต่ต้นวัน ก็ได้พลันดังสนั่นขึ้นอีก เสมอด้วยวันเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน
              ขณะนั้น เตโชธาตุ ก็บันดาลติดพระจิตรกาธารขึ้นเองด้วยอานุภาพเทพดา เพลิงได้ลุกพวยพุ่งโชตนาเผาพระพุทธสรีระศพ พร้อมคู่ผ้า ๕๐๐ ชั้น กับหีบทองและจิตรกาธารหมดสิ้น ยังมีสิ่งซึ่งเพลิงมิได้เผาให้ย่อยยับไป ด้วยอานุภาพพระพุทธอธิษฐาน ดังนี้
              ๑. ผ้าห่อหุ้มพระพุทธสรีระชั้นใน ๑ ผืน
              ๒. ผ้าหุ้มภายนอก ผ้าห่อหุ้มพระพุทธสรีระ ๑ ผืน กับทั้ง
              ๓. พระเขี้ยวแก้วทั้ง ๔
              ๔. พระรากขวัญ ทั้ง ๒
              ๕. พระอุณหิส ๑ รวมพระบรมธาตุ ๗ องค์นี้ ยังคงปกติอยู่ดีมิได้แตกกระจัดกระจาย และพระบรมสรีระธาตุทั้งหลายนอกนั้น แตกฉานกระจัดกระจายทั้งสิ้น มีสัณฐานต่างกันเป็น ๓ ขนาด คือ

              ๑. ขนาดโต มีประมาณเท่า เมล็ดถั่วแตก
              ๒. ขนาดกลาง มีขนาดเท่า เมล็ดข้าวสารหัก
              ๓. ขนาดเล็ก มีประมาณเท่า เมล็ดพันธุ์ผักกาด

              แท้จริง โดยปกติพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงมีพระชนมายุยืนยาวไม่แตกทำลาย คงอยู่เป็นแท่ง แต่พระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย ทรงดำริว่า "ตถาคตจะมีชนมายุน้อย ประกาศพระศาสนาอยู่ไม่นาน ก็จะปรินิพพาน พระศาสนาจะไม่แผ่ไพศาลไปนานาประเทศ เหตุดังนั้น จึงทรงอธิษฐานว่า เมื่อตถาคตปรินิพพานเสร็จการถวายพระเพลิงแล้ว พระธาตุทั้งหลายจงแตกกระจายออกเป็น ๓ สัณฐานมหาชนจะได้เชิญไปนมัสการ ทำสักการะบูชาในนานาประเทศที่อยู่ของตน ๆ จะเป็นทางให้เข้าถึงกุศล อันอำนวยผลให้บังเกิดในสุคติภพต่อไป"
              ครั้นเสร็จการถวายพระเพลิงแล้ว ท่ออุทกธารแห่งน้ำทิพย์ก็ตกลงจากอากาศดับเพลิงให้อันตรธาน มัลลกษัตริย์ทั้งหลาย ก็มีความชื่นบาน ได้อัญเชิญมาซึ่งถาดทองอันเต็มไปด้วยสุคนธ์วารี มาโสรจสรงลงที่พระจิตรกาธาร แล้วก็เก็บพระบรมสารีริกธาตุทั้งหลายใส่ไว้ในพระหีบทองน้อย กับให้ตกแต่งซึ่งพระราชสัณฐาคารในท่ามกลางพระนคร ให้งามวิจิตรตระการด้วยสรรพาภรณ์ ควรเป็นที่สถิตประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่คารวะอันสูง แล้วให้อัญเชิญพระหีบทองพระบรมสารีริกธาตุขึ้นเหนือคชาธารช้างพระที่นั่ง อันตกแต่งด้วยเครื่องอลังการ อันมีเกียรติสูง ทำสักการะบูชาด้วยธูปเทียนสุคนธ์มาลาบุปผาชาติ แล้วแห่เข้าสู่ภายในพระนคร อัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ เบื้องบนรัตนบัลลังก์ ภายใต้เศวตฉัตร ณ พระโรงราชสัณฐาคารนั้น
              มัลลกษัตริย์ทั้งหลาย พากันกริ่งเกรงว่า อริทรราชทั้งหลายจักยกแสนยากรมาช่วงชิงพระบรมสารีริกธาตุ จึงให้จัดตั้งจาตุรงคเสนาโยธาหาญ พร้อมสรรพด้วยศัตราวุธป้องกันรักษาพระบรมสารีริกธาตุ ทั้งภายในและภายนอกพระนครอย่างมั่นคง แล้วให้จัดการสมโภชบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ด้วยเครื่องดุริยางค์ดนตรี ฟ้อนรำ ขับร้อง ทั้งกีฬานักษัตรนานาประการเป็นมโหฬารยิ่งนัก ตลอดกาลถึง ๗ วัน
              ครั้งนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูราช ผู้ครองพระนครราชคฤห์ พระเจ้าลิจฉวี ีแห่งพระนครไพศาลี พระเจ้ามหานาม แห่งกบิลพัสดุ์นคร พระเจ้าฐุลิยะราช แห่งเมืองอัลลกัปปนคร พระเจ้าโกลิยราช แห่งเมืองรามคาม พระเจ้ามัลลราช แห่งเมืองปาวานคร และ มหาพราหมณ์ ผู้ครองเมืองเวฏฐทีปกะนคร รวม ๗ นครด้วยกัน ล้วนมีความเลื่อมใส และความเคารพนับถือมั่นในพระพุทธศาสนา ครั้นได้ทราบข่าวปรินิพพานของพระบรมศาสดา มีความเศร้าโศกอาลัยอาวรณ์ในพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอันมาก จึงได้แต่งราชทูตส่งไปขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ณ เมืองกุสินารานคร เพื่อจะได้สร้างพระสถูปบรรจุไว้เป็นที่สักการะบูชา เป็นศิริมงคลแก่พระนครของพระองค์สืบไป
              ครั้นส่งราชทูตไปแล้ว ก็ยังเกรงไปว่า กษัตริย์มัลลราช แห่งกุสินารานั้น จะขัดขืนไม่ยอมให้ดังปรารถนา จึงให้จัดโยธาแสนยากรเป็นกองทัพ พร้อมด้วยจาตุรงคเสนาโยธาหาญครบถ้วน ด้วยสรรพศัตราวุธเต็มกระบวนศึก เดินทัพติดตามราชทูตไป ด้วยทรงตั้งพระทัยว่า หากกษัตริย์มัลลราช แห่งนครกุสินาราขัดขืน ไม่ยอมให้ด้วยไมตรี ก็จะยกพลเข้าโหมหักบีบบังคับ เอาพระบรมธาตุด้วยกำลังทหาร
              เมื่อกษัตริย์ทั้งหลาย มีพระเจ้าอชาตศัตรูราช เป็นอาทิ ต่างยกจาตุรงคเสนาโยธาหาญมาถึงชานเมืองกุสินารา โดยลำดับ ครั้นทราบข่าวจากราชทูตว่า มัลลกษัตริย์แห่งกุสินารา ไม่ยอมให้พระบรมสารีริกธาตุของพระบรมศาสดาดังประสงค์ ก็ไม่พอพระทัย ต่างก็ยกทัพเข้าประชิดกำแพงพระนคร จัดตั้งพลับพลาและตั้งค่ายรายเรียงพระนครกุสินารา รวม ๗ ทัพด้วยกัน แล้วให้ทหารร้องประกาศเข้าไปในเมืองว่า ให้มัลลกษัตริย์เร่งปันส่วนพระบรมสารีริกธาตุให้โดยดี แม้นมิให้ ก็จงออกมาชิงชัยยุทธนาการกัน
              ฝ่ายมัลลกษัตริย์ในเมืองกุสินารานั้น เห็นกองทัพยกมาผิดรูปการณ์เป็นไมตรีเช่นนั้น ก็ตกใจ ส่งให้ทหารขึ้นประจำที่ รักษาหน้าที่เชิงเทินปราการรอบพระนครให้มั่นคง เมื่อได้ยินทหารร้องประกาศเข้ามาดังนั้น ก็ให้ทหารบนเชิงเทินร้องตอบไปว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาปรินิพพานในพระนครของเรา ความจริง เราก็มิได้ไปทูลอัญเชิญให้เสด็จ และเราก็มิได้ส่งข่าวสารไปทูลเชิญเสด็จ พระองค์เสด็จมาเอง แล้วส่งพระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก ให้มาบอกเราให้ไปสู่สำนักพระองค์ แม้เพียงดวงแก้วอันมีค่าเกิดในเขตแคว้นแดนเมืองของท่าน ท่านก็มิได้ให้แก่เรา ก็แล้วแก้วอันใดเล่าจะประเสริฐเสมอด้วยแก้ว คือ พระพุทธรัตนะ และก็เมื่อเราได้ ซึ่งปฐมอุดมรัตนะเช่นนั้นแล้ว ที่จะให้แก่ท่านทั้งปวง อย่าพึงหวังเลย ใช่ว่าจะดื่มน้ำนมมารดา และเป็นบุรุษแต่เฉพาะท่านทั้งหลาย ก็หาไม่ แม้เราก็ดื่มน้ำนมมารดา เป็นบุรุษเหมือนกัน จะขยาดเกรงกลัวท่านเมื่อไรมี ” กษัตริย์ทั้งสองฝ่ายต่างทำอหังการแก่กันและกันด้วยขัตติยมานะ คุกคามท้าทายด้วยถ้อยคำมีประการต่าง ๆ ใกล้จะทำสงครามสัมประหารซึ่งกันและกันอยู่แล้ว"
              ในกาลนั้น โทณพราหมณ์ ผู้เป็นบัณฑิต เป็นทิศาปาโมกข์อาจารย์ สอนไตรเภทแก่กษัตริย์ทั้งหลาย พิจารณาเห็นเหตุอันจะพึงมี ในสิ่งซึ่งมิใช่เหตุอันควรจะสัมประหารซึ่งกันและกัน จึงดำริว่า ควรเราจะระงับเสีย ซึ่งความวิวาทของกษัตริย์ทั้งปวง และชี้ให้เห็นประโยชน์แห่งความสามัคคีเถิด ครั้นโทณพราหมณ์ดำริเช่นนั้นแล้ว จึงขึ้นยืนอยู่บนที่สูง ปรากฎร่างแก่กษัตริย์ทั้งหลาย พร้อมกับกล่าววาจาห้ามว่า "ข้าแต่ท่านทั้งหลาย ขอทุกท่านจงสงบใจฟังคำของข้าพเจ้า ซึ่งเป็นคำที่ท่านทั้งหลายจะต้องปฏิบัติตามโดยส่วนเดียวเถิด"
              ครั้นโทณพราหมณ์ เห็นกษัตริย์ทั้งหลายตั้งใจสดับฟังถ้อยคำของตนเช่นนั้นแล้ว จึงกล่าวต่อไปว่า "ข้าแต่ท่านผู้จอมแห่งประชาราษฎร์ทั้งหลาย แท้จริงทุก ๆ ท่าน ก็มิใช่สักการะ เคารพ บูชา พระผู้มีพระภาคเจ้า โดยฐานที่พระองค์เป็นกษัตริย์ที่สูงโดยชาติ และโคตร หรือสูงโดยเกียรติ ยศ ศักดิ์ และทรัพย์สมบัติแต่ประการใดเลย ปรากฎว่า เราทั้งหลายสักการะ เคารพบูชา พระผู้มีพระภาคเจ้า โดยธรรม ด้วยความเชื่อถือในธรรม ที่พระองค์ทรงประทานไว้ทั่วกัน ก็ธรรมทั้งหลาย ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานไว้นั้น พระองค์ทรงสรรเสริญขันติ ความอดทน อหิงสา ความไม่เบียดเบียน และสามัคคีความพร้อมเพรียงกัน อันเป็นธรรมทรงคุณค่าอันสูง ควรที่คนทั้งหลายจะพึงปฏิบัติทั่วกัน เมื่อเป็นดังนั้นแล้ว เหตุอันใดเล่า เราจะพึงวิวาทกัน จะพึงสัมประหารกัน ข้อนั้น ไม่เป็นการสมควรเลย เพราะฉะนั้น ขอท่านทั้งหลาย จงสามัคคีปรองดองกันเถิด ขอทุกท่านจงมีส่วนได้พระบรมสารีริกธาตุ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าอัญเชิญไปสักการะจงทั่วกันเถิด ขอพระบรมสารีริกธาตุที่เคารพบูชาอันสูง จงแพร่หลายออกไปยังพระนครต่าง ๆ เพื่อเป็นที่สักการะ เคารพ บูชาของมหาชนทั้งปวงเถิด"
              เมื่อกษัตริย์ทั้งปวง ได้สดับคำของโทณพราหมณ์อันชอบด้วยธรรม สอดคล้องต้องกันกับรัฐประศาสโนบายเช่นนั้น ก็ได้สติ ดำริเห็นสอดคล้องต้องตามคำของโทณพราหมณ์ เลื่อมใสในถ้อยคำนั้น แล้วพร้อมกันตรัสว่า "ชอบแล้ว ท่านอาจารย์ ขอท่านอาจารย์จงแบ่งปันพระบรมสาริกธาตุออกเป็นส่วน ๆ ให้เป็นของควรแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย จะพึงอัญเชิญไปสักการะบูชาตามปรารถนาเถิด"
              เมื่อโทณพราหมณ์ได้สดับ คำยินยอมพร้อมเพรียงของกษัตริย์ทั้งปวงเช่นนั้น ก็ให้เปิดประตูเมืองกุสินารา อัญเชิญกษัตริย์ทั้งปวงเข้ามาในภายใน แล้วให้อัญเชิญไปประชุมพร้อมกันยังพระโรงราชสัณฐาคาร ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ แล้วให้เปิดพระหีบทองน้อย ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ให้กษัตริย์ทั้งปวง พร้อมกันถวายอภิวาท สมตามมโนรถ
              ขณะนั้น พระบรมสารีริกธาตุ อันทรงพรรณพิลาศงามโอภาสด้วยรัศมี ซึ่งปรากฏอยู่ในพระหีบทอง เฉพาะพระพักตร์ ได้เตือนพระทัยกษัตริย์ทั้งปวง ให้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระผู้มีพระภาค กษัตริย์ทั้งปวงจึงได้ทรงกรรแสงปริเทวนาการต่าง ๆ ครั้งนั้น โทณพราหมณ์เห็นกษัตริย์ทั้งหลายมัวแต่โศกศัลย์รันทดอยู่เช่นนั้น จึงได้หยิบพระทักษิณทาฐธาตุ คือ พระเขี้ยวแก้ว ข้างขวา เบื้องบน ขึ้นซ่อนไว้ในมวยผม แล้วจัดการตักตวงพระบรมสารีริกธาตุด้วยทะนานทอง ถวายกษัตริย์ทั้ง ๘ พระนคร ซึ่งประทับอยู่ ณ ที่นั้น ได้พระนครละ ๒ ทะนานเท่า ๆ กันพอดี รวมพระบรมธาตุเป็น ๑๖ ทะนานด้วยกัน



ท้าวสักกะอัญเชิญพระทักษิณทาฐธาตุไปเทวโลก
              ขณะที่โทณพราหมณ์กำลังตักตวงพระบรมธาตุถวายกษัตริย์ทั้งหลายอยู่นั้น ท้าวสักกะอมรินทราธิราช ทราบด้วยทิพย์จักษุว่า โทณพราหมณ์ลอบหยิบเอาพระทักษิณทาฐธาตุซ่อนไว้ในมวยผม จึงทรงดำริว่า "กำลังโทณพราหมณ์ ไม่สามารถจะทำที่สักการะบูชาเชิดชูพระบรมธาตุนั้นให้สมเกียรติอันสูงได้ สมควรจะเอาไปประดิษฐานไว้ยังเทวโลก ให้เทวดาและพรหมทั้งหลายสักการะบูชาเถิด" ครั้นดำริแล้วก็แฝงพระกายลงมาหยิบเอาพระทักษิณทาฐธาตุ เชิญลงสู่พระโกษทองน้อย ยกขึ้นทูลพระเศียรเกล้า อัญเชิญไปบรรจุไว้ที่พระจุฬามณีเจดีย์ ณ สุราลัยเทวสถาน
              ฝ่ายโทณพราหมณ์ ครั้นแบ่งปันพระบรมสารีริกธาตุถวายกษัตริย์ทั้งปวงเสร็จแล้ว ก็ยกมือขึ้นค้นหาพระทักษิณทาฐธาตุบนมวยผม ไม่พบก็เสียใจเป็นอันมาก ครั้นจะไต่ถามหาตัวคนเอาไป ว่าผู้ใดมาลอบเอาพระทักษิณทาฐธาตุบนมวยผมไป ก็ไม่กล้าออกปากด้วยละอายแก่ใจ เกรงว่ากษัตริย์ทั้งหลายจะยกโทษ ทำให้เสื่อมเสียเกียรติของตน จึงสงบใจไว้ ไม่แสดงอาการอันใดออกมา แต่แล้วก็ดำริสืบไปว่า ทะนานทองใบนี้ ก็มีส่วนนับเนื่องในพระบรมสารีริกธาตุ เป็นของวิเศษ ควรแก่การสัการะบูชาอยู่ ควรที่จะอาตมาจะนำไปสร้างพระเจดีย์บรรจุไว้เป็นที่สักการะบูชาเถิด
              ครั้นตกลงใจเช่นนั้นแล้ว จึงกล่าวแก่กษัตริย์ทั้งปวงว่า "ข้าแต่บพิตรทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอประทานทะนานทองตวงพระบรมธาตุใบนี้ เพื่อจะอัญเชิญไปสร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุไว้เป็นที่สักการะบูชา" กษัตริย์ทั้งหลายก็พร้อมใจกันยินยอมพระราชทานให้แก่โทณพราหมณ์ เพื่อไปสร้างพระตุมพเจดีย์บรรจุตามปรารถนา
              ภายหลังกษัตริย์ในเมืองโมรีนคร ได้ทราบข่าวพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพาน จึงส่งราชฑูตให้มาทูลขอพระบรมสารีริกธาตุ ณ เมืองกุสินารานคร ทั้งยกพลพยุหเสนาตามมาภายหลัง กษัตริย์กุสินาราจึงแจ้งว่า พระบรมสารีริกธาตุนั้น กษัตริย์ทั้งแปดพระนครได้ประชุมแบ่งปันกันหมดสิ้นแล้ว ยังอยู่แต่พระอังคาร ขอให้อัญเชิญพระอังคารไป ทำสักการะบูชาเถิด กษัตริย์โมรีนคร ก็อัญเชิญพระอังคารไปทำสักการะบูชายังพระนครของตน.

 พระสถูปเจดีย์สถาน
              ในสมัยนั้น บรรดากษัตริย์ทั้งหลาย เมื่อได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ต่างองค์ต่างก็จัดขบวนอันมโหฬาร อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปยังพระนครของตนด้วยเกียรติยศอันสูง แล้วให้ก่อพระสถูปเจดีย์ขึ้น บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้เป็นที่สักการะบูชาของมหาชน จึงปรากฏว่า มีพระสถูปเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ดังนี้-
              ๑. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองราชคฤห์
              ๒. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองไพศาลี
              ๓. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองกบิลพัสดุ์
              ๔. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองอัลลกัปปะนคร
              ๕. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองรามนคร
              ๖. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองเวฏฐทีปกะนคร
              ๗. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองปาวานคร
              ๘. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองกุสินารานคร
              ๙. พระอังคารเจดีย์ ที่เมืองโมรีนคร
              ๑๐. พระตุมพเจดีย์ ที่เมืองกุสินารานคร
รวมเป็น ๑๐ เจดีย์ด้วยกัน ยังส่วนต่าง ๆ ที่เป็นส่วนพระบรมธาตุบ้าง ที่เป็นส่วนบริกขารพุทธบริโภคบ้าง ก็ปรากฏว่าได้รับอัญเชิญไปสร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุไว้ในเมืองต่าง ๆ ดังนี้-
              ๑. พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา กับพระรากขวัญเบื้องขวา ขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในพระจุฬามณีเจดีย์สถาน ณ ดาวดึงสเทวโลก
              ๒. พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา เดิมไปประดิษฐาน ณ เมืองกาลิงคราฐ แต่บัดนี้ไปสถิตย์อยู่ในลังกาทวีป
              ๓. พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย ไปประดิษฐานอยู่ ณ เมืองคันธารราฐ
              ๔. พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำซ้าย ไปประดิษฐานอยู่ในนาคพิภพ
              ๕. พระรากขวัญเบื้องซ้าย กับพระอุณหิส ขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในทุสสเจดีย์ ณ พรหมโลก

              ส่วนพระทนต์ทั้ง ๓๖ และพระเกศา พระโลมา กับทั้งพระนขาทั้ง ๒๐ นั้น เทพดาอัญเชิญไปองค์ละองค์ สู่จักรวาฬต่าง ๆ
              อนึ่ง พระบริกขารพุทธบริโภคทั้งหลายนั้น ก็ได้รับอัญเชิญไปบรรจุไว้ในสถูปตามนครต่าง ๆ ดังนี้ –
              ๑. พระกายพันธ์ สถิตย์อยู่ที่เมืองปาฏลีบุตร
              ๒. พระอุทกสาฎก สถิตย์อยู่ที่เมืองปัญจาลราฐ
              ๓. พระจัมมขันธ์ สถิตย์อยู่ที่เมืองโกสราฐ
              ๔. ไม้สีฟัน สถิตย์อยู่ที่เมืองมิถิลา
              ๕. พระธัมมกรก สถิตย์อยู่ที่เมืองวิเทหราฐ
              ๖. มีดกับกล่องเข็ม สถิตย์อยู่ที่เมืองอินทปัตถ์
              ๗. ฉลองพระบาท สถิตย์อยู่ที่บ้านอุสิรพราหมณคาม และถลกบาตร
              ๘. เครื่องลาด สถิตย์อยู่ที่เมืองมกุฏนคร
              ๙. ไตรจีวร สถิตย์อยู่ที่เมืองภัททราฐ
              ๑๐. บาตร เดิมสถิตย์อยู่ที่เมืองปาฏลีบุตร ภายหลังไปอยู่เมืองลังกาทวีป
              ๑๑. นิสีทนะสันถัด สถิตย์อยู่ที่เมืองกุรุราฐ

              พระสังคีติกาจารย์ได้พรรณาประมวลพระสถูปเจดีย์ ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และพระบริกขารพุทธบริโภคไว้ด้วยประการ ฉะนี้.
วนฺทามิ เจติยํ สพฺพํ สพฺพฏ ฐาเน สุปติฏฐิตํ
สารีริกธาตุมหาโพธิ ํ พุทฺธรูปํ สกลํ สทา. ฯ (แปล)
ข้าฯ ขอน้อมไหว้ พระเจดีย์ใน ทั่วทุกสถาน
ทั้งพระปะระมะ ธาตุพระทรงญาณ ซึ่งประดิษฐาน โอฬารรูจี
ไหว้พระมหาโพธิ์ พวยพุ่งรุ่งโรจน์ ร่มรื่นฤดี
เป็นไม้พระตรัส จำรัสรัศมี ของพระชินสีห์ ศาสดาจารย์
ไหว้พระปฏิมา รูปพระตถา – คตเจ้าทรงญาณ
ทั้งน้อยใหญ่ เก่าใหม่ทุกสถาน ข้าขอนมัสการ เป็นนิรันดร ฯ

ขอเสร็จอภิเสกสร้อย         สัพพัญ - ญูเฮย
พระปัญญาธิกะบรรพ์         แบบไว้
ขอทรงปิฏกธรรม์         ทุกชาติ
หนึ่งนึกสิ่งใดได้         เสร็จสิ้นดังประสงค์ ข้า ฯ เทอญ.








2 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ
  2. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved. _/|\_

    ตอบลบ