วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ปัจฉิมวาจา


ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

ประวัติพระพุทธเจ้า

ปัจฉิมวาจา
คืนวันนั้นเป็นวันเพ็ญวิสาขะปุรณมี (ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม) พระจันทร์เต็มดวง เวลาก็ล่วงมัชฌิมยามไปแล้ว พระบรมศาสดาบรรทมเหยียดพระกายในท่าสีหไสยาสน์ทรงระโหยโรยแรงยิ่งนัก แต่ก็ฝืนพระทัย ดำรงสติมั่น สั่งสอนให้โอวาทพระภิกษุสงฆ์สาวกเป็นครั้งสุดท้ายก่อนเสด็จปรินิพพานดังนี้
"อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว พวกเธอทั้งหลายอาจคิดไปว่า บัดนี้ไม่มีพระศาสดาแล้ว อาจรู้สึกว้าเหว่ไร้ที่พึ่ง พวกเธอจงอย่าคิดอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมวินัยเหล่านั้น จักเป็นองค์ศาสดาของพวกเธอทั้งหลายแทนเราต่อไป"
"อีกเรื่องหนึ่ง คือพระฉันนะ เธอดื้อดึง มีทิฐิมานะมาก ไม่ยอมเชื่อฟังอ่อนน้อมใคร เพราะถือว่า เป็นอำมาตย์ ราชบริพารเก่าแก่ของเรา เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ขอให้สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ คือเธอจะทำ จะพูด สิ่งใด หรือประสงค์จะอยู่อย่างไร ก็ปล่อยเธอตามสบาย สงฆ์ไม่ควรว่ากล่าวตักเตือน ไม่ควรพร่ำสอนเลย เธอจะรู้สึกตัวเองในทีหลัง"
"อีกเรื่องหนึ่งคือ สิกขาบทบัญญัติที่เราได้บัญญัติไว้ เพื่อภิกษุทั้งหลาย จะได้อยู่ด้วยกันอย่างผาสุก ไม่กินแหนงแคลงใจกัน มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เสมอกัน สิกขาบทบัญญัติเหล่านั้น มีอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อเราล่วงลับ ไปแล้ว สงฆ์พร้อมใจกันจะถอนสิกขาบทเล็กน้อย ซึ่งขัดกับกาลสมัยเสียบ้างก็ได้ จะเป็นความลำบากในการปฏิบัติ สิกขาบทที่ไม่เหมาะสมัยเช่นนั้น เราอนุญาตให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้"
"ภิกษุรูปใดมีความเคลือบแคลงเห็นแย้งในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรคในข้อปฏิบัติใดๆ ก็ดี จงถามเสีย อย่าเป็นผู้เดือดร้อนในภายหลังว่า เราอยู่เฉพาะหน้าพระศาสดาแล้ว ไม่กล้าถามในที่เฉพาะหน้า"
ปรากฏว่าไม่มีภิกษุรูปใดทูลถาม ลอดเวลาที่ทรงเตือนซ้ำจนครบสามครั้ง ทุกองค์นั่งเงียบกริบ ในบริเวณป่าต้นสาละแห่งนี้ สงบเงียบไม่มีเสียงใดๆ เลย แม้จะมีพุทธบริษัทประชุมกันอยู่เป็นจำนวนมากก็ตาม พระกำลังของพระผู้มีพระภาคเจ้าเหลือน้อยเต็มทีแล้ว ในที่สุดทรงตรัสปัจฉิมวาจาครั้งสุดท้ายว่า
"ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราจักเตือนเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด นี่เป็นวาจาครั้งสุดท้ายของตถาคต"
  • ปัจฉิมวาจา - วาจาครั้งสุดท้าย
  • มัชฌิมยาม - ยามกลางคืน ในภาษาบาลีเขาจะแบ่งเวลากลางคืนออกเป็น ๓ ช่วงเวลา (หรือเรียกตามภาษาบาลีว่า ๓ ยาม) ช่วงเวลาละ ๔ ชั่วโมง ซึ่งเรียกว่า ปฐมยาม (18:00-22:00)  มัชฌิมยาม (22:00-02:00)  ปัจฉิมยาม (02:00-06:00)
  • สีหไสยาสน์ - ท่านอนเหยียดตรง แบมือขวาพยุงศีรษะไว้ หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นท่าพระนอนสมาธิ
  • สิกขาบทบัญญัติ - ข้อบังคับในเรื่องของศีล
  • ตถาคต - พระนามพระพุทธเจ้า เป็นคำที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกพระองค์เอง
ปรินิพพาน


ต่อจากนี้ทรงนิ่งเงียบ ไม่ตรัสอะไรอีกเลย เสด็จเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน สัญญาเทวยิตินิโรธ แล้วย้อนกลับลงมาตามลำดับจนถึงปฐมฌาน แล้วย้อนขึ้นอีกโดยลำดับจนถึง จตุตถฌาน เป็นอนุโลม ปฏิโลม และเสด็จปรินิพพานในเมื่อออกจากจตุตถฌานนั่นเอง
พระอนุรุทธะเถระ ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่อยู่ในที่ประชุมขณะนั้น และได้รับการยกย่อง จากพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญเลิศทางทิพยจักษุ ได้เข้าฌานตาม ทราบว่าพระพุทธองค์เข้าสู่ฌานนั้นๆ แล้ว และก็ปรินิพพานเมื่อออกจากจตุตถฌาน ยังมิได้เข้าสู่อากาสานัญจายตนะ คือพระองค์เสด็จปรินิพพาน ในระหว่างนั้นนั่นเอง (พระบรมศาสดาประสูติ ณ ใต้ต้นสาละในป่าและก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ โคนต้นสาละคู่ ในป่า ในวันวิสาขปุรณมี ดิถีเพ็ญเดือน ๖) เหตุอัศจรรย์ก็บันดาลให้เป็นไป มหาปฐพีก็หวั่นไหวครั้งใหญ่ ขนพอง สยองเกล้า น่าหวาดเสียว และกลองทิพย์ก็บันลือลั่นไปในอากาศ พร้อมกับการปรินิพพาน ท่านพระอนุรุทธะ ได้กล่าวว่า
"ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้มีพระหฤทัยตั้งมั่น คงที่ มิได้มีอีกแล้ว พระมุนีมิได้ทรงพรั่นพรึง ทรงปรารถความสงบ ทรงทำกาละแล้ว มีพระหฤทัยไม่หดหู่ ทรงครอบงำเวทนาได้แล้ว ได้เป็นผู้มีพระทัยหลุดพ้นพิเศษแล้ว เหมือนดวงประทีปที่สว่าง ดับไปฉะนั้น"
บรรดาภิกษุที่ประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ภิกษุเหล่าใดยังไม่ปราศจากราคะ ก็กอดแขนคร่ำครวญ ฟุบลงกลิ้งเกลือกไปมา รำพันว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานเสียแล้วๆ" พระอนุรุทธะผู้มีอาวุโสสูงสุด ได้มีบัญชา ให้พระอานนท์ เข้าไปแจ้งข่าวปรินิพพาน แก่มัลละกษัตริย์ในเมืองกุสินารา ซึ่งประจวบกับที่พวกกษัตริย์ กำลังประชุม ปรึกษาพร้อมกันอยู่ ต่างคนก็ต่างเศร้าโศกเสียใจ แล้วรับสั่งให้ราชบุรุษตระเตรียมเครื่องหอม ดอกไม้ ดนตรีและผ้าอีก ๕๐๐ คู่ เข้าไปยังสวนป่าสาลวัน ทำการบูชาพระพุทธสรีระ ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรีเป็นต้น จนถึงวันที่ ๗ จึงพร้อมกันอัญเชิญพระพุทธสรีระ ไปทางทิศเหนือของพระนคร นำไปประดิษฐาน ณ มกุฏพันธนเจดีย์ ด้านทิศตะวันออก ของนครกุสินารา
มัลละกษัตริย์ได้ปฏิบัติตามพระพุทธประสงค์ คือปฏิบัติเหมือนในพระสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิ์ โดยให้พันพระพุทธสรีระด้วยผ้าใหม่ และซับด้วยสำลีบริสุทธิ์ แล้วพันผ้าใหม่ ซับด้วยสำลีอีก โดยนัยนี้ ตามกำหนดถึง ๕๐๐ คู่ เสร็จแล้วอัญเชิญลงประดิษฐานในรางเหล็กซึ่งเต็มไปด้วยน้ำมัน ปิดด้วยรางเหล็กอีกเป็นฝาครอบ แล้วสร้าง จิตกาธาน (เชิงตะกอน) ด้วยไม้หอมทั้งหมด อัญเชิญพระพุทธสรีระ ขึ้นประดิษฐานบนจิตกาธานนั้น เพื่อถวาย พระเพลิงทันที พอดีมีข่าวมาว่าพระมหากัสสป พระเถระผู้ใหญ่ที่พระบรมศาสดา ทรงยกย่องมาก กำลังเดินทาง จากเมืองปาวา จวนจะถึงกุสินาราอยู่แล้ว คณะมัลละกษัตริย์และพระอนุรุทธะ ประธานฝ่ายสงฆ์ จึงให้หยุดการถวายพระเพลิงไว้ก่อน รอจนกระทั่งพระมหากัสสป มาถึงมกุฏพันธนเจดีย์ ท่านและพระภิกษุบริวาร อีกประมาณ ๕๐๐ รูป ได้เดินวนเวียน ประทักษิณจิตกาธาน ๓ รอบแล้ว เปิดแต่พระบาท ถวายบังคมพระบาท ของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้าของตน เสร็จแล้ว พิธีถวายพระเพลิงจึงได้เริ่มขึ้น โดยมีพระมหากัสสป เป็นประธาน ในฐานะอาวุโสสูงสุด
ครั้งนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูกษัตริย์ลิจฉวี ศากยะกษัตริย์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ พูลิกษัตริย์ ชาวเมือง อัลลกัปปนคร โกลิยกษัตริย์ ชาวเมืองรามคาม พราหมณ์ผู้ครองนครเวฏฐทีปกะ มัลละกษัตริย์อีกพวกหนึ่ง ที่ครองเมืองปาวา ต่างส่งทูตมาขอปันส่วนแห่ง พระบรมสารีริกธาตุ โดยจะนำไปบรรจุในพระสถูปหรือเจดีย์ต่อไป มัลละกษัตริย์แห่งเมืองกุสินาราไม่ยินยอม โดยอ้างว่าพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานในดินแดนของตน จึงเกิดโต้เถียง กันขึ้น จนจวนจะเกิดสงครามใหญ่ โทณพราหมณ์ นักปราชญ์ใหญ่ท่านหนึ่งแห่งกุสินารา เห็นเหตุการณ์แปรผันไป เช่นนั้น จึงของร้องให้กษัตริย์ทั้งหลายสามัคคีปรองดองกัน ด้วยการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วน นำไป บรรจุในสถูปในที่ต่างๆ กัน เพื่อให้แพร่หลายไปทั่วทุกทิศ ในที่สุดก็ตกลงกันได้ ฝ่ายกษัตริย์วงศ์เมารยะ(หรือโมริยะ) มาถึงช้า จึงได้แต่พระอังคารไป (คือเถ้าถ่านเหลือจากการถวายพระเพลิง)
สรุปแล้ว สถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุมีอยู่ ๘ เมืองด้วยกันคือ


๑. พระเจ้าอชาตศัตรู พระเจ้าแผ่นดินแคว้นมคธ อัญเชิญไปบรรจุในพระสถูปที่กรุงราชคฤห์
๒. เจ้าลิจฉวี ชาวเมืองเวสาลี (หรือไพศาลี) อัญเชิญไปไว้ ณ กรุงเวสาลี
๓. กษัตริย์ศากยวงศ์ แห่งเมืองกบิลพัสดุ์
๔. พูลิกษัตริย์ แห่งเมืองอัลลกัปปนคร
๕. โกลิยกษัตริย์ ชาวเมืองรามคาม หรือเทวทหะนคร
๖. พราหมณ์ผู้ครองนครเวฏฐทีปกะ
๗. มัลละกษัตริย์ ชาวเมืองกุสินารา
ส่วนโทณพราหมณ์ได้ทะนานทองที่ใช้ในการตวงแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ นำไปบรรจุไว้ในสถูป แห่งหนึ่ง เรียกว่า ตุมพสถูป (ตุมพะ แปลว่า ทะนาน) กษัตริย์วงศ์เมารยะได้รับพระอังคารบรรจุไว้ในสถูป ที่เมืองปิปผลิวัน
  • วัชรอาสน์ - อาสนะที่พระพุทธเจ้าประทับใต้นต้นพระศรีมหาโพธิ
  • พญาวสวัตตีมาร - ในการใช้ชีวิตของคนเรา คือ การเวียนว่ายตายเกิด เหล่านี้ เราเชื่อกันว่า ถูกควบคุมโดย อิทธิพลของพญามารทั้งสิ้น ทำให้เราเกิดความโลภ โกรธ และหลง ซึ่งเป็นหนทาง นำไปสู่การกระทำบาป ต่างๆ ทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นจากกิเลส การหลุดพ้นแห่งกิเลสจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก็ดี จากการเป็นพระอรหันต์ก็ดี เหล่านี้จึงถือว่าเป็นการหลุดพ้นจากอำนาจการควบคุมของพญามารทั้งสิ้น
  • บารมีธรรม ๑๐ ทัศ ได้แก่
๑. ทานบารมี - คือการสละทรัพย์สมบัติ (ให้ละความตระหนี่)
๒. ศีลบารมี - รักษาศีลให้เคร่งบริสุทธิ์
๓. เนกขัมมบารมี - ตัดความอาลัยอาวรณ์
๔. ปัญญาบารมี - การรู้จักตัวเอง การเรียนรู้จากภายใน
๕. วิริยบารมี - กล้าในสิ่งที่ถูกต้อง
๖. ขันติบารมี - อดทนต่อการกระทบกระทั่ง และความเย้ายวนทั้งปวง
๗. สัจจบารมี - รักษาคำพูด พูดอย่างไร ทำอย่างนั้น
๘. อธิษฐานบารมี - คิดและทำให้ได้ดังที่ใจนึก
๙. เมตตาบารมี - ความเมตตา
๑๐. อุเบกขาบารมี - การวางใจโดยไม่ยินดียินร้าย
  • การอธิบายนั้นทั้ง ๑๐ ข้อนั้น อาจสั้นจนไม่สามารถครอบคลุมความหมายได้หมด ทั้งเพื่อต้องการให้สั้น กระชับ พอกับเนื้อที่ ขอให้ศึกษาเพิ่มเติมจากตำราธรรมะต่างๆ ดู (เช่น หนังสือ "แด่ผู้สร้างบารมี" ทั้งเล่ม ๑ และ ๒ ที่ จัดพิมพ์ขึ้นโดยวัดพระธรรมกาย หรือลองอ่านตำราของท่านพุทธทาสภิกขุดูก็ได้
โปรดนางปฏาจารา
โพสท์ในพันธุ์ทิพย์ กระทู้ที่ K1524178 [ศาสนา-ปรัชญา] โดยคุณ : พลวัฒน์  วันที่ 26 พฤษภาคม 2545
ปฏาจาราเป็นธิดาเศรษฐี ในเมืองสาวัตถี  เมื่อรุ่นสาวได้ร่วมรักกับคนใช้ของตน โดยที่มารดาบิดามิได้ทราบระแคะระคายเลยแม้แต่น้อย ต่อมาชายหนุ่มผู้หนึ่งที่มีศักดิ์ตระกูลเสมอกันมาขอนาง  มารดาบิดาของนางยกให้ กำหนดวันวิวาห์แล้ว  นางจึงบอกแก่คนใช้ซึ่งเป็นคนรักของนางว่า  หากนางเข้าสู่พิธีวิวาห์แล้ว เขาไม่อาจพบนางได้อีก  ไม่ว่าในกรณีไรๆ  เพราะฉะนั้น  หากว่ารักนางจริงก็ขอให้พานางหนีไปอยู่ที่อื่นเสียก่อนวันวิวาห์
บุรุษนั้นรับทำตามคำของนาง นัดหมายกันแล้ว วันรุ่งขึ้น  เขาไปคอยอยู่แต่เช้าตรู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง ปฏาจาราปลอมตัวเป็นทาสี นุ่งผ้าปอนๆเอารำทาตัว  สยายผมถือหม้อน้ำรวมไปกับพวกทาสี  ไปยังที่นัดหมายแล้ว พากันหนีไปอยู่ ณ บ้านป่าแห่งหนึ่ง  อยู่ร่วมกันอย่างสามีภรรยา สามีไถนาในป่า เก็บผักหักฟืน  ส่วนภรรยาตักน้ำตำข้าวและหุงต้มเป็นต้น  ต่อมานางมีครรภ์ เมื่อท้องแก่จะคลอด  นางขอร้องสามีให้นำกลับไปบ้านเดิม  เพื่อคลอดบุตร เพราะที่บ้านป่าไม่มีญาติพี่น้อง  หรือใครๆที่จะช่วยเหลือในการคลอดได้  แต่สามีไม่ยอมไปเพราะกลัวพ่อตา แม่ยาย จะทำร้าย หรือฆ่าให้ถึงตาย
นางอ้อนวอนแล้ว ๆเ ล่า ๆ แต่ไม่มีผล
วันหนึ่งเมื่อสามีออกไปทำงานในป่า นางสั่งเพื่อนบ้านว่า  หากสามีกลับมาถามถึงนาง ขอให้บอกว่านางกลับไปคลอดที่บ้านเดิม  ดังนี้แล้ว ออกจากบ้านป่ามุ่งหน้าสู่นครสาวัตถี สามีกลับจากป่าทราบความเข้า จึงรีบออกติดตามมุ่งหมายจะเอาตัวกลับ มาทันเข้าระหว่างทาง อ้อนวอนให้นางกลับสู่บ้านป่าแต่นางหายอมไม่ ยืนยันจะไปคลอดที่บ้านอย่างเดียวขณะนั้นลมกัมมัชวาตเกิดขึ้น  นางปวดท้องจะคลอดจึงเข้าไปบังพุ่มไม้แห่งหนึ่ง  นอนกลิ้งเกลือกอยู่กับพื้นดินคลอดได้โดยยาก แต่ก็คลอดจนได้ เมื่อคลอดแล้วสองสามีภรรยาจึงพากันกลับยังบ้านป่าดังเดิม
ต่อมานางตั้งครรภ์อีก  จึงบอกสามีโดยนัยก่อนและหนีออกจากบ้านเมื่อสามีไม่อยู่ สามีมาตามทันเข้าอ้อนวอนให้กลับ นางก็ไม่ยอมกลับ ขณะที่ทั้งสองกำลังโต้เถียงกันอยู่  ฝนตั้งเค้าขึ้นมาพร้อมๆกับที่นางปวดครรภ์ จะคลอด  นางบอกความนั้นแก่สามี ขอให้ทำที่สักแห่งหนึ่งที่พอบังฝนได้  ฝ่ายสามีถือมีดเข้าไปยังพุ่มไม้ที่จอมปลวกแห่งหนึ่ง  จึงเริ่มตัดไม้  อสรพิษมีพิษร้ายแรงตัวหนึ่งเลื้อยออกมาจากจอมปลวกกัดเขา  สรีระของเขาเขียวขึ้นเพราะพิษงูแล่นไปทั่ว  เสมือนไฟเกิดขึ้นภายในกาย  แล้วเผาไหม้อยู่เขาล้มลงตาย ณ ที่นั้นเอง
ฝ่ายปฏาจารา ประสบทุกข์อย่างหนัก ฝนเริ่มเทลงมาอย่างแรง  นางมองดูทางมาของสามีก็ไม่เห็น ได้คลอดบุตรตรงนั้นนั่นเอง  เด็กทั้งสองไม่อาจต้านทานกำลังลมและฝนได้จึงร้องไห้ลั่นออกมา  นางหมดปัญญาที่จะทำอย่างอื่นจึงเอาเข่าและมือทั้งสองยันลงกับพื้น คล่อมบุตรทั้งสองไว้ตลอดคืน  ราตรีล่วงไปด้วยความยากลำบากของนางเป็นอย่างยิ่ง ร่างกายของนางซีดเหลืองไม่มีโลหิต  เสมือนใบไม้เหลืองเมื่ออรุณขึ้น  นางกำหนดทางที่สามีเดินไปเมื่อเย็นวาน แล้วอุ้มบุตรคนหนึ่ง จูงคนหนึ่งเดินไปตามทางนั้น เห็นสามีนอนตายอยู่ข้างจอมปลวก  นางเสียใจอย่างใหญ่หลวง รำพันว่า"เพราะเราแท้ๆ  สามีจึงตายอย่างนี้" นางเดินทางมาถึงลำน้ำอจิรวดี  ซึ่งขณะนั้นน้ำเต็มเปี่ยมลึกแค่อกของนาง นางจึงไม่สามารถนำบุตรทั้งสองข้ามไปพร้อมกันได้  จึงให้บุตรคนโตรออยู่ก่อน พาบุตรคนเล็กเพิ่งคลอดเมื่อคืนนี้ข้ามไปก่อน  วางไว้บนฝั่งแล้วกลับมาเพื่อรับบุตรคนโต  ขณะที่นางมาถึงกลางแม่น้ำ เหยี่ยวใหญ่ตัวหนึ่งบินมา  เข้าใจในบุตรคนเล็กของนางว่าเป็นชิ้นเนื้อจึงโฉบลงมา นางซึ่งหันรีหันขวางอยู่กลางแม่น้ำเพราะเป็นห่วงบุตรคนเล็ก  ได้เห็นดังนั้นจึงส่งเสียงไล่นก แต่นกไม่ได้ยิน  ฝ่ายบุตรคนโต ยืนอยู่รอแม่อยู่ฝั่งนี้  ได้ยินเสียงแม่และเห็นแม่ยกมือทั้งสองขึ้น  เข้าใจว่าเรียกตนจึงกระโดดลงน้ำ -  น้ำซึ่งกำลังไหลเชี่ยวได้พัดเด็กน้อยจมลงทันที
ปฏาจาราต้องสูญเสียบุตรทั้งสอง ในเวลาเดียวกัน  นางขึ้นจากแม่น้ำร้องไห้รำพันไปว่า " สามีของเราตายในทางเปลี่ยว บุตรคนหนึ่งถูกเหยี่ยวเฉี่ยวไป  คนหนึ่งถูกน้ำพัดไป…." นางพบชายคนหนึ่งเดินสวนทางมา จึงถามถึงมารดาบิดาในเมืองสาวัตถี  ชายนั้นตอบว่า เมื่อคืนนี้ฝนตกหนักท่านทราบมิใช่หรือ  ปฏาจาราตอบว่า ทราบ แต่ฝนนั้นตกเพื่อนางคนเดียว คือเพื่อลงโทษนางคนเดียว  ชายนั้นบอกให้ทราบว่า เมื่อคืนนี้เรือนของเศรษฐีพังทับคนทั้ง ๓  ถึงตาย  คือเศรษฐี ภรรยา และบุตรชายคนหนึ่ง คนทั้ง ๓  กำลังถูกเผาที่เชิงตะกอนเดียวกัน ควันยังปรากฏให้เห็นอยู่
ปฏาจาราได้ทราบความนั้น ตลึงงัน  ไม่รู้สึกแม้ความที่ผ้านุ่งหลุดลุ่ยออกจากตัว  ร้องไห้รำพัน บ่นเพ้อ เซซวน ไปว่า "บุตร ๒ คนตายเสียแล้ว  สามีก็ตายในทางเปลี่ยว  มารดาบิดาและพี่ชายก็ถูกเผาบนเชิงตะกอนเดียวกัน"
คนทั้งหลาย เห็นอาการของนางแล้ว พูดกันว่า " ผู้หญิงบ้า " จึงเอาหยากเยื่อและฝุ่นโปรยลงบนศรีษะ ขว้างปาด้วยก้อนดิน ขณะนั้น พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับแสดงธรรมอยู่ ท่ามกลางพุทธบริษัท ณ เชตวันมหาวิหาร  ทอดพระเนตรเห็นนางปฏาจาราผู้ได้บำเพ็ญบารมีมาสิ้นแสนกัปป์  มีอภินิหารเต็มเปี่ยมแล้ว กำลังเดินมา
ทราบว่าปฏาจาราเห็นพระเถระผู้ทรงวินัยรูปหนึ่งซึ่งพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ จึงทำความดีปรารถนาว่า  " ขอให้หม่อมฉัน  ได้ตำแหน่งเอตทัคคะทางทรงวินัยในศาสนาของพระพุทธเจ้าในอนาคต "  พระปทุมุตตรพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า  จักได้ตำแหน่งนั้นในศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า
พระโคดมพุทธเจ้า ทอดพระเนตรเห็นนาง ผู้มีบุญอันทำไว้แล้ว  มีอภินิหารอันทำไว้แล้ว กำลังเดินมาเช่นนั้น ทรงดำริว่า  " เว้นเราเสีย ผู้อื่นซึ่งจะเป็นที่พึ่งของนางได้ไม่มี "  จึงทรงบันดาลให้นางมุ่งหน้าสู่วิหารเชตวัน พุทธบริษัทเห็นนางแล้วกล่าวกันว่า อย่าให้หญิงบ้าเข้ามา แต่พระศาสดาตรัสว่า อย่าห้ามเธอเลย จงให้เธอเข้ามาเถิด  เราจักเป็นที่พึ่งของนาง
เมื่อนางเข้ามาใกล้แล้ว พระศาสดาตรัสว่า " น้องหญิงจงได้สติเถิด  " ด้วยพระพุทธานุภาพนั้นเอง นางกลับได้สติแล้ว  กำหนดได้ว่าตนมิได้นุ่งผ้า  จึงมีอาการขวยเขิน นั่งกระโหย่งเพื่อซ่อนเร้นอวัยวะอันพึงละอาย ชายคนหนึ่งโยนผ้าห่มไปให้ นางนุ่งแล้วเข้าไปเฝ้าพระศาสดา  ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์แทบพระบาททั้งสอง ทูลว่า " ขอได้โปรดเป็นที่พึ่งของหม่อมฉันด้วยเถิดพระเจ้าข้า เหยี่ยวเฉี่ยวบุตรคนหนึ่งไป คนหนึ่งถูกน้ำพัดไป  สามีตายในทางเปลี่ยว  มารดาบิดาและพี่ชายถูกเรือนทับตาย "
พระศาสดาทรงปลอบนางว่า " ปฏาจารา! บัดนี้เธอได้มาอยู่เฉพาะหน้า ของผู้อันจะเป็นที่พึ่งของเธอได้แล้ว อย่าคิดอะไรมาก  อย่าเสียใจเลย เธอจะได้สิ่งอันยิ่งใหญ่อื่นมาชดเชยสิ่งที่สูญเสียไป  ปฏาจาราเอ๋ย !  น้ำตาของคนที่ร้องไห้เพราะสูญเสียปิยชนมีบุตรเป็นต้น ในสงสารอันยาวนานนี้มีมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔  เมื่อเป็นเช่นนี้  เหตุไร เธอจึงประมาทอยู่เล่า "
เมื่อพระศาสดาตรัส อนมตัคคปริยายนี้อยู่  ความโศกของนางได้เบาบางลง พระศาสดาทรงทราบความนั้น แล้วตรัสต่อไปว่า " ปฏาจารา ปิยชนมีบุตรเป็นต้น ไม่สามารถต้านทาน หรือป้องกันบุคคลผู้ไปสู่ปรโลกได้ บุตรเป็นต้นนั้น  แม้มีก็เหมือนไม่มี  บัณฑิตทราบดังนี้แล้ว รีบเร่งชำระศีลให้บริสุทธิ์  ทำทางไปสู่พระนิพพานของตน "
เมื่อจบเทสนา ปฏาจาราได้บรรลุโสดาปัตติผล  คนอื่นๆก็ได้รับประโยชน์จากพระธรรมเทสนานี้มาก….

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ