วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เหตุแห่งความฝัน


ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
คำพูดที่ว่าการพักผ่อนที่ดีที่สุด คือ การนอนหลับ เพราะการนอนหลับเป็นการหยุดกิจกรรมทุกอย่างที่ทำมาตลอดทั้งวัน แม้กระทั่งการคิด ธรรมชาติได้ออกแบบให้คนเรามีช่วงเวลา ๒ แบบ แบบแรกเป็นช่วงเวลาของการทำงาน ทำกิจกรรมดำเนินชีวิต ให้มีอยู่มีกิน เรียกว่าช่วงกลางวัน แบบที่สองเป็นช่วงเวลาของการพักผ่อน ปรับร่างกายให้กลับคืนสู่ความสดชื่น เตรียมพลังไว้ทำงานและกิจกรรมต่างๆ ที่ตั้งใจไว้ ช่วงเวลากลางคืนถือว่าเป็นเวลาที่ควรพักผ่อนแต่จะมีบางคนใช้เป็นเวลาทำงาน แต่มีจำนวนน้อย

การนอนหลับมีปรากฏการณ์อย่างหนึ่งซึ่งอาจเกิดขึ้นกับทุกคน คือ ความฝัน ในปัจจุบันยังสรุปไม่ได้ว่า คนเราฝันได้อย่างไร และความฝันเกิดมาได้อย่างไร ทำไมเรื่องที่ฝันบางเรื่องเป็นความจริง บางเรื่องไม่เป็นความจริง

คนทั้งหลายที่เกิดความสงสัยและหาทางออกตามความเชื่อของตนเอง จึงคิดหาวิธีและปฏิบัติต่อความฝันแตกต่างกันไป อาจเรียกได้ว่า ทำนายฝันกันไปคนละอย่าง

ถามว่า ทำไมคนเราจึงฝัน หลับหรือตื่น คงมีคำตอบหลากหลาย ถ้าหลับสนิทก็ไม่ฝัน ถ้าฝันแสดงว่าหลับไม่สนิทเหมือนลิงหลับ คือ หลับๆ ตื่นๆ

ความฝันเป็นประสบการณ์จากสิ่งที่เห็น ที่ได้ยิน ได้นึกคิด เช่น ภาพ เสียง ข้อความ ความคิด หรือความรู้สึก ทั้งด้านที่เป็นความสุข และความทุกข์ ประสบการณ์เหล่านี้ไปปรากฏขณะที่กำลังนอนหลับ โดยผู้ที่ฝันไม่สามารถควบคุมได้และฝันจะสิ้นสุดเมื่อตื่น

ความฝันมักเต็มไปด้วยความคิดในด้านต่างๆ บางเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน บางเรื่องน่าเหลือเชื่อ รวมไปถึงเรื่องสนุกสนาน เรื่องน่ากลัว เรื่องเศร้า ที่เรียกว่า ฝันร้าย และในบางครั้งความฝันจะมีเหตุการณ์เกี่ยวกับเรื่องซึ่งไม่เคยพบเจอมาก่อน หลายครั้งที่ความฝันยังผลให้มีการกระตุ้นความรู้สึกทั้งทางด้านจิตใจ และทางด้านศิลปะให้แก่ผู้ที่ฝัน

ความฝันมีส่วนสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของดวงตาขณะนอนหลับ ก้านสมองและการเปลี่ยนแปลงการเต้นของหัวใจ ส่วนใหญ่เชื่อว่า ทุกคนจะมีความฝันในปริมาณที่เท่าเทียมกัน ถึงแม้บางคนจะรู้สึกว่าหลับสนิท ไม่ค่อยฝันอะไร หรือนานๆ จะหลับฝันสักครั้ง นั่นเพราะสาเหตุว่าความฝันของบุคคลนั้นจางหายไปเมื่อตื่นนอน ความฝันมักจะเลือนหาย ถ้าสถานะของการฝันของบุคคลนั้นค่อยๆ เปลี่ยนจากคลื่นสมองขณะหลับตื้น เป็นสถานะคลื่นสมองขณะหลับลึก และตื่นนอน

ในทางกลับกับถ้าบุคคลนั้นตื่นขึ้นโดยการปลุก เช่น ตื่นเพราะนาฬิกาปลุก หรือมีคนเรียก

เวลาของชีวิต แต่ละวันได้รับการจัดสรรมาเท่ากันทั้งกลางวันและกลางคืน เวลากลางวันมนุษย์ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพตามสถานะของตน ส่วนเวลากลางคืนโดยมากเป็นเวลาพักผ่อน ในเวลานอนพักผ่อนนั้น มนุษย์ทุกคนล้วนมีประสบการณ์ในเรื่องความฝัน ทั้งที่เป็นเรื่องจริงและไม่จริง เพราะความฝันเป็นอาการอย่างหนึ่งที่ทุกคนต้องเจอตามกระบวนการของธรรมชาติ

พระพุทธเจ้า ตรัสถึงเหตุแห่งความฝันไว้ ๔ ประการ คือ

๑. เทพนิมิต เป็นความฝันที่เกิดจากดวงจิตด้านดีของคน ทำให้เกิดนิมิตด้านดี จิตดวงนี้ทำงานขณะหลับ เหตุการณ์ในความฝันจะออกมาเป็นเรื่องที่ดีๆ ผู้ฝันรู้สึกพึงพอใจ มีความสนุกสนาน หรือเบิกบานใจ บางครั้งให้ข้อคิดดีๆ ได้

บางครั้งเล่าเรื่องทั่วไป แต่เป็นด้านดี ที่เรียกว่า เทพนิมิต เพราะเป็นเรื่องดี ไม่ทำให้ตกใจ ศาสนาพุทธสอนให้เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม เทวดาจึงเป็นเพียงสัญลักษณ์แทนความดีงาม หรือสิ่งดีๆ ที่มนุษย์ทำนั่นเอง

๒. จิตนิวรณ์ เป็นความฝันขณะที่จิตถูกครอบงำด้วยสิ่งที่ปิดกั้นจิตไม่ให้บรรลุถึงความดี หลักมีอยู่ ๕ ประการ คือ ความพอใจรักใคร่ ความพยาบาท ความง่วง ความฟุ้งซ่าน และความลังเลตกลงใจไม่ได้ หลังจากฝันตื่นขึ้นมาทำให้รู้สึกเหนื่อย และไม่ต้องการจะฝันเช่นนั้นอีก

๓. ลางสังหรณ์ เป็นความฝันที่เกิดจากความกังวลล้วนๆ เมื่อกังวลเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือคิดถึงใคร หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อาจมีจิตผูกพันถึงคนนั้นหรือเรื่องนั้น อาจเป็นลางสังหรณ์ต่างๆ ได้ จริงบ้างไม่จริงบ้าง จึงไม่ควรยึดถือเป็นจริงเป็นจัง ควรทำความดี ดำเนินชีวิตตามทำนองคลองธรรม ความโชคดีมีความสุขจะเกิดเอง

๔. ธาตุกำเริบ เป็นความฝันเกิดจากความแปรปรวนในร่างกาย ซึ่งได้รับจากสภาพแวดล้อมจากอากาศที่ร้อนเกิน หนาวจัดบ้าง อาหารบ้าง อารมณ์บ้าง ทำให้ฝันได้หลายรูปแบบ อาจจะดีหรือร้ายก็ได้ หาความแน่นอนไม่ได้

การฝันเป็นเรื่อง และบางครั้งผู้ฝันเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย ทำให้เหมือนมีส่วนได้เสียหรือต้องมีอันเป็นไปตามแรงฝัน เจ้าของฝันอยากจะรู้นัยที่ฝันนั้น การให้หมอทำนายฝัน เป็นการสนองความต้องการในขั้นต้น แต่พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ไม่ให้เชื่อความฝันจนมากเกินไป เพราะมนุษย์จะเปลี่ยนแปลงอะไรจะดีหรือชั่ว ด้วยการกระทำของตน

ไม่ใช่ด้วยการบันดาลของเทวดาที่ไหน


2 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ
  2. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved. _/|\_

    ตอบลบ