วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประวัติพระอริยสงฆ์


ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา


หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต
หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต
หลวงปู่ผาง  จิตฺตคุตฺโต
วัดอุดมคงคาคีรีเขต (วัดดูน)
อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น (2445-2525)

นามเดิม  ผาง  ครองยุติ
เกิด         วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2445  ตรงกับวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 9 ปีขาล ณบ้านกุดกะเสียน ต.เขื่องใน อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี  มีพี่น้องร่วมมารดา บิดา 3 คน คือ
                        1.  นางบาง  ครองยุติ
                        2.  นายเสน  ครองยุติ
                        3.  นายผาง  ครองยุติ
โยมบิดาชื่อ      ทัน
โยมมารดาชื่อ   บัพพา
                        เมื่ออายุได้ 20 ปี (พ.ศ.2465)  ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา   ตามประเพณีลูกผู้ชายชาวไทย และทดแทนพระคุณบิดามารดา  สังกัดคณะมหานิกาย ณ วัดเขื่องกลาง บ้านเขื่องใน ต.เขื่องใน อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี  มีพระครูดวน เป็นพระอุปัชฌาย์  พระอาจารย์ดี  เป็นพระกรรมวาจาจารย์  ศึกษาพระธรรมวินัย  มีความรู้พอสมควร  เมื่อบวชได้ 1 พรรษา  จึงได้ลาสิกขาจากสมณเพศ  ครั้นอายุได้ 23 ปี ได้แต่งงานมีครอบครัวกับนางสาวจันดี  สายเสมา  คนบ้านแดงหม้อ  ต.แดงหม้อ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี  อยู่ด้วยกันมา 21 ปี ไม่มีบุตร มีแต่บุตรบุญธรรม
                        ต่อมาเมื่ออายุได้ 43 ปี  จึงได้ชวนกันกับภรรยาออกบวช  ภรรยาได้บวชเป็นแม่ชี  ท่านได้มอบสมบัติทรัพย์สินเงินทองทั้งหมดให้แก่นางหนูพาน  ผู้เป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งแต่งงานมีครอบครัวแล้ว  ส่วนตัวท่านได้เข้าอุปสมบทอีกครั้ง  เป็นครั้งที่ 2 ในคณะมหานิกายเช่นเดิม  ที่วัดคูขาด บ้านศรีสุข ต.เขื่องใน อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี  มีพระครูศรีสุตตาภรณ์ (ตื๋อ) เป็นพระอุปัชฌาย์  ส่วนพระกรรมวาจาจารย์และพระอนุสาวนาจารย์ไม่ปรากฎ  หลังจากบวชแล้วได้จำพรรษาที่วัดคูขาด บ้านศรีสุข อ.เขื่องใน จ.อึบลราชธานี  แต่ท่านได้เข้าศึกษาอบรมพระกรรมฐาน อยู่ในสำนักวัดป่าวารินชำราบ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี  กับพระอาจารย์สิงห์  ขนฺตยาคโม (เจ้าคุณพระญาณวิศิษฎ์) และท่านพระอาจารย์มหาปิ่น  ปญฺญาพโล  และได้ทำการญัตติกรรมในคณะธรรมยุติ  เมื่ออายุได้ 47 ปี ณ วัดบ้านโนนหรือวัดทุ่ง  โดยมีพระครูพินิจศีลคุณ (พระมหาอ่อน  เจ้าคณะอำเภอเขื่องใน) เป็นพระอุปัชฌาย์  พระมหาทราย เป็นพระกรรมวาจาจารย์  พระมหาจันทร์เป็นพระอนุสาวนาจารย์  เมื่อวันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2491  แรม 2 ค่ำ เดือน 7 ปีชวด  ซึ่งเป็นการอุปสมบทเป็นครั้งที่ 3  ของท่าน
                        ท่านได้ปฏิบัติฝึกอบรมกรรมฐานอยู่ในสำนักท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม พอสมควรแล้วก็ได้ออกธุดงค์  ปฏิบัติกรรมฐานไปวิเวกโดยลำพัง  และได้เข้าอบรมอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น  ภูริทตฺโต ที่วัดป่าบ้านนามน  จ.สกลนคร  ได้พอสมควร  ก็ท่องเที่ยววิเวกไปแต่ผู้เดียวในป่าเขา  จังหวัดเพชรบูรณ์  เป็นถิ่นทุรกันดารเป็นเวลาหลายปี
                        ต่อมาในปี พ.ศ.2492  ได้มาพักจำพรรษาที่วัดป่าบัลลังก์ศิลาทิพย์ บ้านแทน ต.บ้านแท่น อ.ชนบท จ.ขอนแก่น  จำพรรษาได้ 1 พรรษา  พอออกพรรษาแล้วท่านจึงได้เดินธุดงค์ไปทางอำเภอมัญจาคีรี  ชาวบ้านโสกใหญ่ บ้านดอนแก่นเฒ่า บ้านโสกน้ำขุ่น ได้พร้อมใจกันมานิมนต์หลวงปู่  ไปพักภาวนาที่เชิงเขาภูผาแดง อ.มัญจาคีรี  ชาวบ้านเรียกสถานที่นั้นว่า ดูน  เนื่องจากมีน้ำไหลออกมาจากภูเขาตลอดปี  ชาวบ้านแถวนั้นถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์   ไม่มีพระรูปใดเข้าไปอยู่ได้  และที่ตรงนี้เองที่ตรงกับที่ท่านเห็นในสมาธินิมิตทุกประการ  ท่านจึงได้ชวนชาวบ้านสร้างเป็นวัด  ชาวบ้านทั่วไปจึงเรียกว่า วัดดูน  ตั้งแต่นั้นมา  หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า วัดอุดมคงคาคีรีเขต แปลว่า  วัดที่อุดมไปด้วยน้ำและมีภูเขาเป็นเขต  ตั้งแต่พ.ศ.2493  ท่านจึงได้จำพรรษาอยู่ที่วัดดูนนี้เรื่อยมา  และก็ได้เดินธุดงค์ไปตามที่ต่าง ๆ ได้ผจญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้มาอย่างดี  จึงกล่าวว่าท่านเป็นพระนักปฏิบัติและพระสุปฏิปันโนอย่างแท้จริงได้องค์หนึ่ง
                        ในปี พ.ศ.2505 หลวงปู่ได้สร้างวัดขึ้นอีกแห่งหนึ่ง  ที่บ้านแจ้งทับม้า ต.นางาม อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่นตั้งอยู่ห่างจากวัดอุดมคงคาคีรีเขตไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 4 กิโลเมตร  ปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่า วัดป่าพัฒนาคีรี หรือวัดบ้านแจ้ง  มีเนื้อที่ประมาณ 400 ไร่
                        พ.ศ. 2505 2507  ระยะทางที่สามแยกปากทาง จากถนนระหว่างอำเภอมัญจาคีรี อำเภอแก้งคร้อ  ไปวัดอุดมคงคาคีรีเขต  ประมาณ 12 กิโลเมตร  เป็นเส้นทางเล็ก ๆ แคบ ๆ คดเคี้ยว  การคมนาคมไม่สะดวก  โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนลำบากมาก  หลวงปู่จึงได้ประชุมชาวบ้านทุกหมู่บ้านที่ถนนผ่าน  เพื่อช่วยพัฒนาตัดถนนใหม่ให้มีเส้นทางให้ได้มาตรฐาน  ขนาดกว้างพอควร  และที่ประชุมยอมรับมติที่หลวงปู่ปรารถนาและแนะนำ หลังจากมีมติทำถนนใหม่แล้ว  ชาวบ้านทุกหมู่บ้านก็ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาจนกระทั่งแล้วเสร็จ  โดยหลวงปู่ได้อยู่เป็นประธานตลอด  โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐแต่ประการใด  ปัจจุบันเป็นเส้นทางสำคัญของชาวบ้านในการคมนาคมเพื่อการเกษตรขนส่งและอื่น ๆ
                        ในปี พ.ศ. 2507  ทางวัดอุดมคงคาคีรีเขตได้รับความร่วมมือจาก กรป.กลาง กรุงเทพฯ และหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่จังหวัดอุดรธานี  ได้นำหน่วยงานดังกล่าวพัฒนาเส้นทางไปวัดอุดมคงคาคีรีเขต  เป็นถนนขนาดกว้างประมาณ 10 เมตร ยาว 12 กิโลเมตร ลงหินลูกรังตลอดเส้นทาง  และต่อมา วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2523  หลวงปู่ได้มีหนังสือถึงสำนักนายกรัฐมนตรี  เพื่อของบประมาณทำถนนเส้นดังกล่าวเป็นถนนลาดยาง  ซึ่งทางราชการก็ได้อนุมัติ  และก็ได้ทำเป็นถนนลาดยางในเวลาต่อมา  ซึ่งก็ได้ใช้ประโยชนต่าง ๆ ดังเช่นที่ปรากฎในปัจจุบัน 
                        พ.ศ. 2511  เมื่อท่านพระครูโอภาสสมณกิจ  เจ้าคณะอำเภอชนบท จ.ขอนแก่น วัดป่าธรรมวิเวก  ได้ก่อสร้างอุโบสถ  ท่านพระครูฯและคณะสงฆ์  พร้อมด้วยทายกทายิกาชาวชนบท  ได้กราบอาราธนานิมนต์หลวงปู่ผางมาจำพรรษาที่วัดป่าธรรมวิเวกแห่งนี้  เพื่อเป็นประธานในการดำเนินการก่อสร้าง  ซึ่งหลวงปู่ท่านก็ได้เมตตารับเป็นประธานด้วยดี  และช่วยอุปถัมภ์มาตลอด  เริ่มตั้งแต่อนุญาตให้จัดสร้างเหรียญรุ่นแรกของท่าน  เพื่อนำรายได้สมทบทุนสร้างอุโบสถ  กระทั่งอุโบสถวัดป่าธรรมวิเวกเสร็จสิ้นสมบูรณ์ทุกประการ  หลังจากนั้นหลวงปู่ก็ออกธุดงค์ไปตามที่ต่าง ๆ และก็ได้สร้างสาธารณะสถานไว้ในพระพุทธศาสนามากมาย  จึงเป็นที่รู้จักและเลื่อมใสศรัทธาของประชาชนทั่วไป
                        พ.ศ. 2523  หลวงปู่ได้เมตตารับเป็นประธานอำนวยการสร้าง  พระธาตุขามแก่น ศิโรดม  หน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น  ร่วมกับพ่อค้า ประชาชน ภาคราชการ เอกชนทุกหมู่เหล่า  เพื่อร่วมฉลองสองร้อยปีกรุงรัตนโกสินทร์  และในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2525  สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก เสด็จทำพิธีเปิดพระธาตุขามแก่น ศิโรดม ให้ประชาชนได้สักการะบูชา
                        ปัจจุบัน  พระธาตุขามแก่น ศิโรดม  ถือได้ว่าเป็นปูชนียสถานที่สำคัญคู่บ้านคู่เมือง  ได้สร้างเสร็จทันเแลืมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์  เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2525 พอดี  ทางจังหวัดได้กำหนดให้มีงานนมัสการพระธาตุขามแก่น ศิโรดม เป็นงานประจำปีของจังหวัด  ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน ถึง 10 ธันวาคม ของทุกปี
                        ทอดผ้าป่าผ้าไหมสามัคคี  เมื่อวันที่ 21 พฤศจิายน พ.ศ.2524  หลวงปู่พร้อมด้วยคณะสงฆ์ ทายก ทายิกา และคณะศิษยานุศิษย์  ได้พร้อมใจกันจัดผ่าป่าสามัคคดี ผ้าไหมไตรจีวร ไปทอดถวาย 3 วัดด้วยกันคือ
                        1. ทอดถวายสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์  วาสโน)  วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ
                        2.  ทอดถวายสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ  สุวธฺฒโน ป.ธ.9 วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเพทฯ ซึ่งต่อมาท่านได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระญาณสังวร  สมเด็จพระสังฆราช  สกลมหาสังฆปรินายก
                        3.  ทอดถวายพระพรหมมุนี (สนั่น  จนฺทปชฺโชโต ป.ธ.9)  วัดนรนาถสุนทริการาม กรุงเทพฯ  ซึ่งต่อมาท่านได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระมหามุนีวงศ์
                        การไปทอดผ้าป่าสามัคคีของหลวงปู่ครั้งนี้  เป็นสิ่งที่ท่านปรารภจะทำมานานแล้ว  ซึ่งเป็นการจัดผ้าป่าไปทอดถวายครั้งแรกในชีวิตของท่าน และก็ถือว่าเป็นครั้งสุดท้ายด้วยเช่นกัน

มรณภาพ

                        ต่อมาวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524  หลวงปู่ได้เข้ารักษาที่โรงพยาบาลแพทย์ปัญญา  เนื่องจากพบว่าหลวงปู่เริ่มเป็นมะเร็งที่กระเพาะอาหาร
                        23 กุมภาพันธ์ 2525  หลวงปู่ได้มารับการรักษาที่โรงพยาบาลนี้  ด้วยอาการอ่อนเพลีย  เนื่องจากมีอาการเลือดออกในทางเดินอาหาร  และยังพบว่ามีอาการของกล้ามเนื้อหัวใจตายเพิ่มขึ้นด้วย
                        16  มีนาคม 2525  คณะศิษย์ได้นิมนต์กลับวัด  หลังจากหลวงปู่กลับถึงวัดได้ไม่กี่วัน  ก็มีอาการอาเจียน ฉันอาหารและน้ำไม่ได้  ปัสสาวะน้อย  และแล้ว
                        ในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2525  หลวงปู่ได้ละสังขารในตอนบ่ายนั้น เวลา 16.45 น.  ด้วยอาการสงบ  สิริรวมอายุได้ 80 ปี  (34 พรรษา)  นับเป็นการจากไปของพระ
สุปฏิปันโน  ผู้มีคุณธรรมอันเลิศรูปหนึ่ง  ที่ไม่ปรารถนาลาภ ยศ สรรเสริญ  หรือติดในโลกธรรมแต่ประการใด
 ดังคำที่ท่านพูดไว้ว่า
                        มีชื่อไม่อยากให้ปรากฎ  มียศไม่อยากให้ลือชา  มีวิชาไม่ให้เรียนยาก  แต่คุณธรรมและปฏิปทาของท่านยังเป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนมิรู้ลืม  ท่านยังเป็นพระในดวงใจของคณะศิษยานุศิษย์ไม่เสื่อมคลาย ตราบนานเท่านาน จึงได้จัดพิธีพระราชทาน เพลิงศพไว้อาลัยแด่หลวงปู่เป็นครั้งสุดท้าย  เมื่อวันอังคารที่ 24 มีนาคม 2528 เวลา 16.00 น.  คณะศิษยานุศิษย์ พุทธศาสนิกชนทั่วไปจากทั่วทุกสารทิศได้หลั่งไหลกันมาจากทุกภาคของประเทศไทย  เพื่อร่วมงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่ผาง  จิตฺตคุตฺโต


หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
หลวงปู่มั่น  ภูริทตฺโต
วัดป่าสุทธาวาส  อำเภอเมือง
จังหวัดสกลนคร
(2413 2492)

นามเดิม         มั่น  แก่นแก้ว

เกิด                  วันที่ 20  มกราคม  พ.ศ. 2413  ตรงกับวันพฤหัสบดี  เดือนยี่  ปีมะเมีย  ณ
                        บ้านคำบง  อำเภอโขงเจียม  (ปัจจุบันคือ  อำเภอศรีเมืองใหม่)  จังหวัดอุบล
                        ราขธานี
โยมบิดา         คำด้วง  แก่นแก้ว
โยมมารดา     จันทร์  แก่นแก้ว
บรรพชา         เมื่อท่านอายุได้  15  ปี  ได้บรรพชาเป็นสามเณร  ในสำนักวัดบ้านคำบง  บวชอยู่ได้  2  ปี  บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วยงานทางบ้าน  ท่านจึงได้ลาสิกขาออกไปช่วยการงานของบิดามารดา

อุปสมบท      วันที่  12  มิถุนายน  พ.ศ. 2436  ณ  วัดศรีทอง  (ปัจจุบันคือวัดศรีอุบลรัตนาราม)  อำเภอเมือง  จังหวัดอุบลราชธานี  โดยมีพระอริยกวี  (ธมฺมรกฺขิโต อ่อน)  เป็นพระอุปัชฌาย์  และพระครูสีทา  ชยเสโน  เป็นพระกรรมวาจาจารย์  พระครูประจักษ์อุบลคุณ  เป็นพระอนุสาวนาจารย์  พระอุปัชฌาย์ให้นามว่า ภูริทตฺโต  เมื่ออุปสมบทแล้วได้มาอยู่สำนักวิปัสสนากับพระอาจารย์เสาร์  กนฺตสีโล  วัดเลียบ  อำเภอเมือง  จังหวัดอุบลราชธานี 
                       
                                    ในสมัยต่อมา ท่านได้แสวงหาที่วิเวกบำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่าง ๆ ตามป่ารกชัฏทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงบ้าง  ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงบ้าง แล้วลงไปศึกษากับนักปราชญ์ทางกรุงเทพฯ  จำพรรษาอยู่วัดปทุมวนาราม และหมั่นไปสดับฟังธรรมเทศนา กับเจ้าพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์  สิริจนฺโท)  3  พรรษา  แล้วออกวิเวกไปถิ่นภาคกลาง  คือถ้ำสาริกา นครนายก  ถ้ำไผ่ขวาง  เขาพระงาม  และถ้ำสิงห์โต  ลพบุรี  จนได้ความรู้แจ่มแจ้งในพระธรรม  สิ้นความสงสัยในสัตถุศาสน์  ในช่วงนี้หลวงปู่เทสก์ได้บันทึกไว้ในวงศ์ธรรมยุตในภาคอีสานดังนี้
                                    พ.ศ. 2454  ท่านออกเดินธุดงค์ไปคนเดียว   เดินด้วยเท้าเปล่า  มาเที่ยวอยู่ถ้ำไผ่ขวาง ลพบุรี  และได้จำพรรษาถ้ำสาริกา  น้ำตกนครนายก  จนเกิดความรู้ในธรรมชัดแจ้งขึ้นในใจ  อันเป็นเหตุให้กล้าหาญจะออกเผยแผ่ธรรมะต่อไป  ท่านเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า  ขณะที่อยู่ถ้ำไผ่ขวางนั้น  ปรากฎเห็นท่านเจ้าคุณอุบาลีนั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกอยู่ที่วัดบรมนิวาส  กำลังพิจารณาปฏิจจสมุปปบาทอยู่ ท่านเกิดสงสัย  แล้วกำหนดเวลาวันที่เท่านั้น  เดือนที่เท่านั้น  เมื่อเข้ามากรุงเทพฯ  จึงเรียนถามท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ  ท่านก็ตอบว่า  เป็นอย่างนั้นจริง  ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ได้พูดในที่ประชุมสงฆ์ว่า  ท่านมั่นเป็นกัลยาณมิตร  ควรสมาคม  ปี  พ.ศ. 2456  ท่านจำพรรษาที่ถ้ำสิงห์โต  เขาช่องลม  (ปัจจุบันคือเขาพระงาม)  พ.ศ. 2457  ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ นิมนต์ไปจำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม  กรุงเทพฯ  พ.ศ.2458  ดำริถึงหมู่คณะว่า  สมควรจะสอนธรรมต่าง ๆ ที่ได้รู้เห็นมาแล้ว  จึงลาเจ้าคุณอุบาลีฯ  กลับไปจำพรรษาที่วัดบูรพา  จังหวัดอุบลฯ  กับพระอาจารย์สีทา  ซึ่งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ของท่าน  ปีนี้พรรษาท่านได้  25  ปี 
                                    ท่านได้ทำการอบรมสั่งสอนสมถวิปัสสนาแก่สหธรรมิก  ตลอดจนอุบาสก อุบาสิกา  มีผู้เลื่อมใสพอใจปฏิบัติตามจนมีศิษยานุศิษย์แพร่หลายทั่วทั้งภาคอีสาน  ในกาลต่อมา  ท่านได้ลงไปจำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ อีก 1 พรรษา  แล้วไปเชียงใหม่กับเจ้าพระคุณอุบาลีฯ  จำพรรษาอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง 1 พรรษา  แล้วออกไปพักตามที่วิเวกต่าง ๆ ในเขตภาคเหนือหลายแห่งเพื่อสงเคราะห์สาธุชนในที่นั้น ๆ นานถึง 11 ปี  จึงได้กลับมาจังหวัดอุดรธานี  ตามคำอาราธนาของเจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธโล)  พักจำพรรษาอยู่วัดโนนนิเวศน์  2 พรรษา  แล้วมาอยู่จำพรรษาที่วัดป่าบ้านนามน  ตำบลตองโขบ  อำเภอเมืองสกลนคร   3  พรรษา  ต่อมาจำพรรษาที่วัดป่าหนองผือ  ตำบลนาใน  อำเภอพรรณานิคม  5  พรรษา  มีผู้สนใจในธรรมปฏิบัติได้ติดตามศึกษาอบรมจิตใจมากมาย  ศิษยานุศิษย์ของท่านได้แพร่กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย  ยังเกียรติคุณของท่านให้ฟุ้งเฟื่องเลื่องลือตลอดไป

มรณภาพ       วันที่ 11  พฤศจิกายน  พ.ศ. 2492  เวลา  02.23  น.  ณ  วัดป่าสุทธาวาส  อำเภอเมือง  จังหวัดสกลนคร  สิริรวมอายุได้  79  ปี  9  เดือน  22  วัน

สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต  พรหมรังสี)
วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร
แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ
(2319 2415)

นามเดิม         โต
โยมบิดา-มารดา        ท่านเป็นโอรสนอกเศวตฉัตรในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี  เมื่อครั้งพระองค์ยังทรงพระยศเป็นเจ้าพระยาจักรี  กับนางงุด  ชาวนาเมืองกำแพงเพชร  เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2319 เวลา 07.20 น.  ตรงกับวันพุธ  แรม  14  ค่ำ  เดือน  5  ปีวอก  ที่บางขุนพรหม  กรุงเทพฯ  เด็กชายโตได้บวชเป็นสามเณร  อายุย่าง 13 ปี  ตรงกับวันที่ 17  กรกฎาคม  พ.ศ. 2331  (จ.ศ. 1150)  ที่วัดใหญ่ มีพระครูใหญ่เมืองพิจิตรเป็นผู้บรรพชาให้  และเมื่อสามเณรโตได้บรรพชาแล้ว  ก็ตั้งใจร่ำเรียนภาษาบาลี  ไวยากรณ์มูลกัจจายน์  ซึ่งเป็นต้นตำรับของบาลีที่เรียนกันในยุคนั้น  ท่านพระครูใหญ่ท่านมีความรู้ทางเวทมนต์คงกระพันชาตรี เสน่ห์มหานิยม นะจังงัง ปราบหมี ปราบเสือ ปราบจระเข้  ท่านสอนสามเณรหมด  สามเณรเรียนแล้วก็ออกป่า ลงน้ำ ทดลองอาคมจนเห็นผล  การศึกษาทั้งบาลีนักธรรมก็เจนจบ  แต่จะหาคัมภีร์ให้ร่ำเรียนสูงขึ้นไปอีกก็ไม่มี  ท่านพระครูใหญ่จึงแนะนำให้ไปศึกษากับพระครูวัดไชยนาทบุรี  เมืองชัยนาท  ตอนนั้นเป็นพ.ศ. 2333  อายุได้  15  ปีแล้ว  เพื่อเรียนพระปริยัติธรรม  แปลไทยเป็นบาลี  แปลบาลีเป็นไทย  แปลบาลีเป็นลาว  เป็นเขมร เป็นพม่า  ชำนาญการทุกภาษา  เวลาล่วงเลยไปได้  3  ปี  เรียนจนถึงแปดขั้นบาลี  ก็จบทุกสรรพตำราที่มีอยู่ในสำนักอาจารย์  จนไม่มีอะไรจะสอนท่านอีก
                        ดังนั้น  เมื่อสามเณรอายุได้  18  ปี  จึงได้อำลาอาจารย์  ขอไปศึกษาต่อที่เมืองบางกอก  ตาผลผู้เป็นตาจึงได้นำพาสามเณรโตขึ้นไปมอบถวายพระอาจารย์แก้ว  วัดบางลำภูบน  กรุงเทพฯ  ต่อมาท่านอาจารย์แก้วก็พาสามเณรไปฝากพระโหราธิบดี  พระวิเชียรกรมราชบัณฑิต  ให้ช่วยแนะนำสามาเณรเรียนรู้พระไตรปิฎก  ท่านบัณฑิตทั้งสองก็รับสอน  เมื่อสามเณรอยู่กับท่านอาจารย์แก้ว  ก็ได้โยม  7  ท่านผู้มั่งคั่งในย่านนั้นเป็นโยมอุปัฏฐาก  คือ พระโหราธิบดี และพระวิเชียรกรมราชบัณฑิต บ้านหลังวัดบางลำภูบน,  เสมียนตราด้วง บ้านบางขุนพรหม,  ท่านขุนพรหมเสนา  บ้านบางขุนพรหม,  ปลัดกรมนุท,  เสมียนบุญ  และพระกระแสร  บ้านบางลำภูบน  ทั้ง  7  ท่าน  เลื่อมใสในศีลาจารวัตรของสามเณร  และความฉลาดสามารถ  ความขยันหมั่นเพียร ไม่รู้อิ่มในวิชาการ  จึงพากันเอาใจใส่อุปถัมภ์บำรุงช่วยกันให้การศึกษาแก่สามเณรจนรอบรู้ทุกสิ่งทุกประการ   ทำให้สามเณรได้มีความชำนาญทางเทศน์มหาชาติ  ปุจฉาวิสัชนา  ความรู้โหราศาสตร์  เวทมนต์คาถา  วิชาอะไรที่บรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตได้เรียนรู้  สามเณรก็รู้หมดสิ้น  โดยเฉพาะเทศน์มหาชาตินั้น  กล่าวกันว่ามีกลเม็ดเด็ดพราย  เทศน์ได้ทั้ง  13  กัณฑ์  ประชาชนนิยมฟังกันคับคั่ง  จึงเป็นที่โปรดปรานของญาติโยม  ทั้งคนมีคนจน  ใคร ๆ ก็กล่าวขวัญถึงแต่สามเณรโต  พอถึงเดือน 5 ขึ้น 5 ค่ำ  ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 5  เมษายน  พ.ศ. 2337  พระโหราธิบดี  พระวิเชียร  และเสมียนตราด้วง  ก็พาสามเณรโตเข้าเฝ้าถวายตัวแด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร  (รัชกาลที่ 2)  ณ ท้องพระโรง  พระราชวังเดิม  ฝั่งธนบุรี ใกล้วัดระฆัง  เมื่อพระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นสามเณรมีรัศมีเปล่งปลั่ง และมีรัดประคตหนามขนุนของขุนนางใหญ่คาดมาเป็นบริขารด้วย  พระองค์ท่านจึงเกษมโสมนัสยิ่งนัก  จึงทรงรับอุปถัมภ์บำรุงและให้เณรย้ายมาอยู่กับสมเด็จพระสังฆราช  วัดนิพพานาราม  (วัดนิพพานารามคือ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ในปัจจุบันนั่นเอง)  และก็ได้ศึกษาคัมภีร์พระปริยัติธรรม  รวมทั้งเรียนกับพระอาจารย์เสมวัดนิพพานารามอีกอาจารย์หนึ่งด้วย

อุปสมบท

                        เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร  ทรงคำนวณปีเกิดของสามเณรโตควรจะอุปสมบทได้แล้ว  จึงรับสั่งให้พระโหราธิบดีและเสมียนตราเข้าเฝ้า  แล้วมอบเงินให้  400  บาท  พร้อมเครื่องบริขารให้สามเณรโตไปบวชที่วัดตะไกร  เมืองพิษณุโลก  ให้ทำพิธีแบบนาคหลวง  บวชเมื่ออายุย่างเข้า  21  ปี  ตรงกับวันพฤหัส ขึ้น 15 ค่ำ  เดือน  6  ปีมะเส็ง  ในวันที่  11  พฤษาคม  พ.ศ. 2340  (จ.ศ. 1159)  เวลา  07.00 น.  มีสมเด็จพระวันรัต  วัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี  เป็นพระอุปัชฌาย์  พระอาจารย์แก้ว  วัดบางลำภูบน เป็นพระกรรมวาจาจารย์  พระอธิการวัดตะไกร  เมืองพิษณุโลก  เป็นพระอนุสาวนาจารย์  งานบวชได้จัดใหญ่โตมโหระทึก  สมเป็นนาคหลวง  ไทยทานที่ชาวบ้านถวายพระภิกษุโตนั้น  มากมายก่ายกองสุดพรรณนา  มีผู้คนแห่กันมาล้นหลามทั่วทุกสารทิศ  หลังจากอุปสมบทแล้วก็ย้ายกลับมาที่วัดนิพพานารามเหมือนเดิม  สมเด็จพระสังฆราชมี จึงมอบพระภิกษุโตให้อยู่ในการดูแลสั่งสอนของสมเด็จพระวันรัต  รับเป็นอาจารย์บอกกล่าวพระคัมภีร์ปริยัติธรรมแทนพระองค์สืบต่อไป
                        เข้าพรรษาในปีนั้น  พระโตได้ข้ามไปเรียนคัมภีร์กับสมเด็จพระวันรัตเสมอ ๆ จนมีความรู้แตกฉานลึกซึ้งในธรรมวินัยไตรปิฎก  ท่านเป็นที่ชื่นชมของประชาชนทั่วไป  และเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร  ถวายเป็นองค์อุปถัมภ์มาตลอด  และเมื่อลุถึงปีขาล  พ.ศ. 2349  และพระภิกษุโตอายุได้  30  ปี  พรรษา 10  ท่านได้รับพระราชทานเรือพระที่นั่งเอาไว้สำหรับไปเทศน์โปรดญาติโยม  และทรงแต่งตั้งให้เป็น มหาโต  ตั้งแต่วันนั้น  คนทั้งเมืองก็เรียกท่านว่า  มหาโต
                        พรรษา  12  ในแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  รัชกาลที่ 2  พระมหาโตเป็นที่โด่งดังมาก  ท่านเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงทางด้านการเทศน์  เพราะเชี่ยวชาญรอบรู้พระไตรปิฎกแตกฉาน  ทั้งยังเป็นพระของพระเจ้าแผ่นดิน  อันพระองค์ทรงเป็นอุปัฏฐากอีกด้วย  อดิเรกลาภมีทวีคูณมากมาย  ลูกศิษย์ลูกหามากมายชื่อเสียงโด่งดังกึกก้องตลอดกรุง ในรัชกาลที่ 3  ท่านก็เป็นพระสงบมีจิตแน่วแน่ต่อญาณคติ  มีวิถีจิตแน่วไปในโลกุตรภูมิ   ไม่ฟุ้งซ่านโออ่า  ท่านทำซอมซ่อเงียบ ๆ สงบปากเสียงมา 25 ปี  ตลอดรัชสมัยของแผ่นดินพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมณศักดิ์

                        เมื่อสมัยรัชกาลที่   4  ขึ้นครองราชย์  พระมหาโตอายุได้  74 ย่าง 75 ปี  ท่านได้ตามหามหาโตเข้าเฝ้าเพื่อให้มาช่วยงานพระบวรพระพุทธศาสนา  และได้ทรงแต่งตั้งให้มหาโตเป็นพระราชาคณะที่พระธรรมกิตติ  เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม  มีฐานานุกรม  3  องค์  นิตยภัตรเดือนละ  4  ตำลึง  1  บาท  ทั้งค่าข้าวสาร
                        ครั้นถึงเดือน  11  ขึ้น  14  ค่ำ  ปีชวด  พ.ศ. 2394  พระธรรมกิตติอายุได้  75  ปี  ทรงพระมหากรุณาโปรดเลื่อนสมณศักดิ์  พระธรรมกิตติขึ้นเป็นพระเทพกวี  ราชาคณะผู้ใหญ่ในตำแหน่งสูง  มีนิตยภัตร  28  บาท  ค่าข้าว 1 บาท
                        ปีฉลู  พ.ศ. 2408  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงสถาปนาพระเทพกวี (โต)  ขึ้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์  สมเด็จฯ มีพระชนมายุย่าง  90  ปี  รวมที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นราชาคณะ  เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่  เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังมาได้  15  ปี  จึงได้เป็นสมเด็าจพระพุฒาจารย์  เป็นปีที่  15  ในรัชการที่ 4  กรุงเทพมหานคร
                        ในแผ่นดินสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 นั้น  สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)  ท่านได้ประพฤติคุณงามความดีดำรงตบะเดชะชื่อเสียงกระเดื่องเฟื่องฟุ้งมาในราชสำนักก็หลายประการ  ในสงฆ์สำนักก็หลายประการ  จนท่านมีคนนับถือลือชาปรากฎตลอดสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ 4  อายุสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)  ได้  92  ปี  รับตำแหน่งสมเด็จพระพุฒาจารย์มาได้  4  ปี  สิ้นรัชกาลที่ 4 นี้
                        ในปลายปีมะเมีย  พ.ศ. 2413  (จ.ศ. 1232)  สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)  ได้มีลายลิขิตแจ้งแก่กรมสังฆการีว่า  จะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต  ยกเป็นกิตติมศักดิ์ ด้วยเหตุชราทุพพลภาพไม่สามารถรับราชการเทศน์แลสวดฉัน  ในพระบรมมหาราชวังได้  ได้ทรงพระมหากรุณาโปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาตตกเป็นพระมหาเถรกิตติมศักดิ์ตั้งแต่นั้นมา

มรณภาพ

                        ครั้นถึง ณ  วันเดือน  5  ปีวอก  พ.ศ.  2415  (จ.ศ. 1234)  เป็นปีที่ 5  ในรัชการที่ 5 กรุงเทพมหานคร  สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)    ไปดูการก่อพระโต  วัดบางขุนพรหมใน  ยังไม่ทันแล้วเสร็จก็ไปอาพาธด้วยโรคชราภาพ  15  วัน ก็ถึงมรณภาพบนศาลาใหญ่  วัดบางขุนพรหมใน  (วัดอินทรวิหาร)  สิริรวมชนมายุ  96  ปี  เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามมาได้  21  ปี  บริบูรณ์  รับตำแหน่งที่สมเด็าจพระพุฒาจารย์มาได้  7  ปีบริบูรณ์  ถ้าจะนับปีตามจันทรคติก็ได้  8  ปี

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved. _/|\_

    ตอบลบ