วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วัดพระธาตุลำปางหลวง

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา



จังหวัดลำปาง
วัดพระธาตุลำปางหลวง
สถานที่ตั้ง ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข ๑๐๓๔ (ห้างฉัตร-เกาะคา) ตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ห่างจากตัวเมืองลำปางประมาณ ๑๘ กิโลเมตร
ประวัติความเป็นมา
....................วัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นวัดที่สำคัญที่สุดของเมืองลำปาง เชื่อกันว่าสร้างมาก่อนที่พระเจ้าอนันตยศ โอรสของพระนางจามเทวี แห่งนครหริภุญชัยจะมาสร้างเมืองลำปาง วัดพระธาตุลำปางหลวงได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ และสร้างศาสนสถาน และสักการะบูชาจากกษัตริย์หลายพระองค์ในดินแดนล้านนา อาทิเช่น
พ.ศ. ๑๙๕๖ เจ้ามหาเทวี เสวยราชย์ ณ เมืองเชียงใหม่ได้เสด็จไปทัพที่แม่สลิด ตอนเสด็จกลับได้มา สักการะเจดีย์ ถวายเงินทองบูรณะเจดีย์ พร้อมทั้งขุดบ่อน้ำเลี้ยงไว้ด้านเหนือของวัด
พ.ศ. ๑๙๙๒ เจ้าหาญแต่ท้อง มาครองนครลำปาง ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดเสริมพระเจดีย์ให้กว้าง และสูงกว่าเดิม
พ.ศ. ๒๐๑๙ เจ้าหมื่นคำเพชร ได้สร้างพระวิหารและกำแพง
พ.ศ. ๒๐๓๙ เจ้าหาญศรีทัตถมหาสุรมนตรี ได้เสริมฐานเจดีย์กว้าง ๑๒ วา สูง ๑๒ วา วัดพระธาตุลำปางหลวง มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ที่สำคัญของนครลำปาง กล่าวคือ ในปี พ.ศ. ๒๒๗๕ เป็นยุคที่ลำปางว่างจากเจ้าผู้ครองนคร ท้าวมหายศจากนครลำพูนซึ่งขณะนั้นอยู่
ภายใต้การปกครองของพม่า ได้ยกกองทัพมาตีนครลำปาง และมาตั้งค่ายทหารในวัดพระธาตุลำปางหลวง เหตุการณ์ครั้งนี้หนานทิพย์ช้างวีรบุรุษของเมืองลำปาง ได้แข็งข้อนำกำลังเข้าต่อสู้โดยได้แอบเข้ามาที่วัด พระธาตุลำปางหลวง ใช้ปืนยิงท้าวมหายศตาย และได้ตีทัพลำพูนแตกพ่ายไป ปัจจุบันยังปรากฏรอยลูกปืน
อยู่บนเสารั้วทองเหลืองที่ล้อมองค์ พระธาตุเจดีย์ วีรกรรมของหนานทิพย์ช้างครั้งนี้ทำให้หนานทิพย์ช้าง ได้สถาปนาขึ้นมาเป็นเจ้าพระยาสุลวะลือไชย ครองเมืองนครลำปาง เป็นบรรพบุรุษของสกุลเจ้าเจ็ดตน
ความสำคัญต่อชุมชน
.......................นอกจากจะเป็นวัดประจำหมู่บ้านของชาวบ้านลำปางหลวงแล้ว วัดพระธาตุลำปางหลวง ยังถือว่าเป็นวัดที่สำคัญยิ่งของชาวจังหวัดลำปาง ตามประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ เจ้าผู้ครองนครลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ ในอดีต ได้มา เคารพสักการะ ตลอดจนบูรณะซ่อมแซมต่อเนื่องกันมาโดยตลอด เป็นเวียงทองทางศาสนาที่เป็น ศูนย์รวมจิตใจและศรัทธาของผู้คนที่มีต่อพุทธศาสนา ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาจะมีชาวบ้านมาร่วม
ทำบุญและกราบไหว้ พระธาตุเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้แล้ว ศิลปะและสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นในวัด ก็ได้รับการดูแลรักษา จนเหลือเป็นหลักฐานให้เห็นถึงเอกลักษณะทางศิลปและสถาปัตยกรรมของท้องถิ่น เมืองลำปางรวมทั้งของ ภาคเหนือด้วยเป็นอย่างดี
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
.......................สิ่งก่อสร้างที่ถือว่าเป็นผลงานทางสถาปัตยกรรมของวัดพระธาตุลำปางหลวงที่สำคัญมีหลายอย่างด้วยกัน คือ
๑. เจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงระฆังที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะพุกามผ่านมาทางสุโขทัย และมีการพัฒนารูปร่างให้เพรียวขึ้นจนลงตัวโดยผสมผสานศิลปะในหลายรูปแบบ
๒. วิหารหลวง เป็นวิหารประธานของวัด เป็นวิหารแบบล้านนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่ปรากฏในจังหวัดลำปาง วิหารที่เห็นในปัจจุบัน ได้รับการบูรณะในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง เป็นที่ตั้งของมณฑปปราสาท ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ คือ พระเจ้าล้านทอง มีผนังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๑๗ เมตร ยาวประมาณ ๓๖ เมตร มีเสารวม ๔๖ ต้น ตามจารึกที่เขียนไว้วิหารหลวงน่าจะสร้างในปี พ.ศ. ๒๐๓๙
๓. วิหารน้ำแต้ม เป็นวิหารโถงขนาดกว้าง ๗.๕๐ เมตร ยาว ๒๑ เมตร สูงประมาณ ๗ เมตร ด้านหน้า และด้านข้างเปิดโล่งไม่มีผนังปิดกั้น จึงทำให้ไม่มีประตูหน้าต่าง นักวิชาการได้สันนิษฐานว่าวิหารหลังนี้มีอายุ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ความสำคัญของวิหารน้ำแต้มอยู่ที่รูปทรงทางสถาปัตยกรรมที่ลงตัวมีความพอดี
สวยงาม นอกจากนี้ยังมีรูปเขียนเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่ อายุพอ ๆ กับตัววิหาร
๔. ซุ้มประตูโขง เป็นซุ้มประตูทางเข้าเขตพุทธาวาส ด้านหน้าวิหารหลวงสันนิษฐานว่าคงจะสร้างขึ้นใน สมัยเจ้าหมื่นคำเพชร เจ้าเมืองลำปาง ซึ่งได้ทำการบูรณะซ่อมแซมวัดพระธาตุลำปางหลวงพร้อมกันหลาย ๆ รายการ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของโบราณสถานต่าง ๆ ในวัดพระธาตุลำปางหลวง ถือว่าเป็นตัวอย่างของ สถาปัตยกรรมแบบล้านนา โดยเฉพาะสกุลช่างลำปาง เป็นสถาปัตยกรรมของหลวงที่มีความงดงาม ประณีต ไม่ใช่เป็นแบบชาวบ้าน จึงสามารถยกมาเป็นแบบอย่างได้
เส้นทางเข้าสู่วัดพระธาตุลำปางหลวง
........................จากตัวเมืองลำปาง ตามทางหลวงหมายเลข ๑ ลำปาง-เถิน เลี้ยวขวาที่หลักกิโลเมตรที่ ๕๘๖ ไปจนถึง ที่ว่าการอำเภอเกาะคา จากนั้นเลี้ยวขวาไปอีก ๒ กิโลเมตร วัดจะอยู่ทางด้านซ้ายมือ หรือจะใช้เส้นทางสาย ลำปาง-เชียงใหม่ ทางหลงหมายเลขที่ ๑๑ แยกซ้ายมือที่สี่แยกห้างฉัตรเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๐๓๔
ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร วัดจะอยู่ด้านขวามือ

2 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ
  2. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved. _/|\_

    ตอบลบ