วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พระแท่นศิลาอาสน์ อุตรดิตถ์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา




วัดพระแท่นศิลาอาสน์อุตรดิตถ์
photos by Thai-Tour.Com: dated 12 Aug 02
วัดพระแท่นศิลาอาสน์
     ตั้งอยู่บ้านพระแท่น ตำบลทุ่งยั้ง อยู่เลยวัดพระยืนไปเล็กน้อย วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีพระแท่นศิลาอาสน์เป็นศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานของพระแท่นโดยรอบประดับด้วยลายกลีบบัว มีตำนานว่าพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์เคยเสด็จมาจำศีลบำเพ็ญพุทธบารมี ณ ที่แห่งนี้ ต่อมาจึงมีการสร้างพระแท่นศิลาอาสน์ขึ้น บานประตูวิหารพระแท่นศิลาอาสน์ที่เป็นไม้สักแกะสลักนั้น เดิมเคยเป็นบานประตูวิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลกมาก่อน นอกจากนั้นภายในบริเวณวัดมีพิพิธภัณฑ์ที่เดิมเป็นศาลาการเปรียญ สร้างด้วยไม้ มี 2 ชั้น ชั้นล่าง เป็นที่แสดงเครื่องมือจับสัตว์น้ำโบราณ เรือพายโบราณ ชั้นบน แสดงเกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตชาววัง - ชาวบ้านสมัยก่อน เครื่องจักสาน เครื่องมือตีเหล็ก - ก่อสร้าง เครื่องสังคโลกสมัยสุโขทัย ธรรมาสน์โบราณฝีมือช่างสมัยอยุธยา พระพุทธรูปที่แกะจากต้นโพธิ์โบราณ และพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย-กรุงศรีอยุธยา รวมถึงศิลปวัฒนธรรมของชาวเหนือ พิพิธภัณฑ์นี้เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.
พระแท่นศิลาอาสน์เป็นพุทธเจดีย์ เช่นเดียวกับพระแท่นดงรัง เป็นที่เชื่อกันมาแต่โบราณว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งห้าพระองค์ในภัทรกัปนี้ ได้เสด็จและจะได้เสด็จมาประทับนั่งบนพระแท่นแห่งนี้ เพื่อเจริญภาวนา และได้ประทับยับยั้งในเวลาที่ตรัสรู้แล้ว เพื่อโปรดสัตว์ ซึ่งแสดงว่าพระแท่นศิลาอาสน์นี้ มีประวัติความเป็นมาอย่างต่อเนื่อง ในพระพุทธศาสนามายาวนาน ตัวพระแท่นเป็นศิลาแลง มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 8 ฟุต ยาวประมาณ 10 ฟุต สูง 3 ฟุต ที่ฐานพระแท่นประดับด้วยลายกลีบบัวโดยรอบ มีพระมณฑปครอบ อยู่ภายในพระวิหารวัดพระแท่นศิลาอาสน์

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า พระแท่นศิลาอาสน์อาจมีมาก่อนแล้วช้านาน ก่อนที่พระเจ้าบรมโกศเสด็จไปบูชา เพราะพระแท่นศิลาอาสน์อยู่ริมเมืองทุ่งยั้งซึ่งตั้งมาแต่ครั้งสมัยสุโขทัย และบางทีชื่อทุ่งยั้งนั้นเอง จะเป็นนิมิตให้เกิดมีพระแท่น เป็นที่พระพุทธเจ้าประทับยับยั้ง เมื่อเสด็จผ่านมาทางนั้น ในทางตำนานมีคติที่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จยังประเทศต่าง ๆ ภายนอกอินเดียด้วยอิทธิฤทธิ์ฌานสมาบัติ และได้ประดิษฐานเจดีย์ หรือตรัสพยากรณ์อะไรไว้ในประเทศเหล่านั้น เป็นคติที่เกิดในลังกาทวีป และประเทศอื่นได้รับเอาไปเชื่อถือด้วย จึงเกิดมีเจดีย์วัตถุและพุทธพยาการณ์ ที่อ้างว่าพระพุทธองค์ได้ทรงประดิษฐานเจดีย์ไว้ มากบ้าง น้อยบ้างทุกประเทศ เฉพาะเมืองไทย มีปรากฏในพงศาวดารโดยลำดับมาว่า พบรอยพระพุทธบาท ณ ไหล่เขาสุวรรณบรรพต เมื่อรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม รัชกาลพระเจ้าเสือได้เสด็จไปบูชาพระพุทธฉาย ณ เขาปัถวี และพระเจ้าบรมโกศ เสด็จไปบูชาพระแท่นศิลาอาสน์

บานประตูวัดพระแท่นศิลาอาสน์บานเก่า ปัจจุบันได้ถูกไฟไหม้ไปหมดแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2451มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า นายช่างที่สร้างวิหาร วัดพระแท่นศิลาอาสน์ วัดพระฝาง และวัดสุทัศน์ เป็นนายช่างคนเดียวกัน บานประตูเก่าของพระวิหารเป็นไม้แกะสลักฝีมือดี แกะไม้ออกมาเด่น เป็นลายซ้อนกันหลายชั้น แม่ลายเป็นก้านขด ปลายเป็นรูปภาพต่าง ๆ เป็นลายเดียวกับลายบานมุขที่วิหารพระพุทธชินราช อาจสร้างแต่ครั้ง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระเจ้าบรมโกศ ทรงมีพระราชศรัทธา ให้ทำประตูมุขตามลายเดิมถวายแทน แล้วโปรดให้เอาบานเดิมนั้นไปใช้เป็นบานวิหารวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ประตูวิหารเก่าบานดังกล่าวได้ถูกไฟไหม้ไปเมื่อ วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2451 เป็นไฟป่าลุกลามไหม้เข้ามาถึงวัด ไฟไหม้ครั้งนั้น เหลือกุฏิซึ่งประดิษฐานหลวงพ่อธรรมจักรอยู่เพียงหลังเดียว ต่อมาพระยาวโรดมภักดี เจ้าเมืองอุตรดิตถ์ ได้เรี่ยไรเงินสร้างและซ่อมแซมวิหาร ภายในวิหารมีซุ้มมณฑปครอบพระแท่นศิลาอาสน์ไว้

งานเทศกาลนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์
ประเพณีการทำบุญไหว้พระแท่นศิลาอาสน์มีมานานหลายชั่วอายุคนแล้ว มีผู้มาสักการะบูชาทั้งในเทศกาลและนอกเทศกาลตลอดปี พุทธศาสนิกชนมีความเชื่อว่า การได้มาสักการะบูชาพระแท่นศิลาอาสน์ จะได้รับอานิสงส์สูงสุด และเช่นเดียวกับพระพุทธบาทสระบุรี พุทธศาสนิกชนผู้มีความศรัทธา จะขวนขวายมานมัสการให้ได้ครั้งหนึ่งในชีวิต ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ตอนเหนือจังหวัดอุตรดิตถ์ จะพยายามเดินทางมานมัสการ พระแท่นศิลาอาสน์ แม้ว่าหนทางจะทุรกันดารเพียงใดก็ไม่ย่อท้อถอย และเห็นว่า เป็นการได้สร้างบุญกุศลที่มีค่าควร การมานมัสการจะกระทำทุกครั้งที่เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันมาฆบูชา ณ วันเพ็ญ เดือนสาม

งานเทศกาลนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ ณ วันเพ็ญ เดือนสาม อันเป็นวันมาฆบูชา จะเริ่มตั้งแต่ วันขึ้น 8 ค่ำ ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสาม บรรดาพระภิกษุสงฆ์จะธุดงค์มาปักกลดพักแรมที่บริเวณใกล้วัด เมื่อถึงวันมาฆบูชา เวลาประมาณ 19.30 น. พระภิกษุสงฆ์จะเข้าไปในพระวิหาร แล้วสวดพระพุทธมนต์ มีพระธรรมจักรกัปปวัตตสูตร เป็นต้น เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ก็ออกมาให้ศีลให้พรแก่ผู้ที่มานมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ ในตอนเช้าของทุกวันในระหว่างเทศกาล บรรดาพระสงฆ์ที่ธุดงค์มานมัสการ พระแท่นศิลาอาสน์ จะเดินทางเข้าไปบิณฑบาตรตามหมู่บ้าน และบรรดาชาวบ้านจะนำอาหารมาถวายที่วัดอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อพระฉันอาหารเสร็จแล้ว ชาวบ้านก็จะแบ่งปันอาหารร่วมรับประทานด้วยกัน รวมทั้งผู้ที่เดินทางมานมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ด้วย นับว่าเป็นการทำบุญกลางแจ้งที่ยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี

เนื่องจากพระบรมธาตุทุ่งยั้ง และวัดพระยืนพุทธบาทยุคล มีอาณาบริเวณอยู่ติดต่อกัน จึงจัดงานประจำปีพร้อมกันกับวัดพระแท่นศิลาอาสน์ เป็นเวลา 8 วัน 8 คืน ทำให้พุทธศาสนิกชนที่มาในงานเทศกาลนี้ได้ นมัสการพระบรมธาตุ และพระพุทธบาทด้วย เป็นการได้นมัสการพระพุทธเจดียสถาน อันเป็นที่เคารพสักการะ ได้ครบถ้วนในโอกาสเดียวกัน ยากจะหาที่ใดเสมอเหมือน
สอบถามแนะนำข้อมูลเพิ่มเติม
http://www.thai-tour.com/wb/view_topic.php?id_topic=221 
จังหวัดอุตรดิตถ์
วัดพระแท่นศิลาอาสน์
สถานที่ตั้ง วัดพระแท่นศิลาอาสน์ ตั้งอยู่ที่บ้านพระแท่น ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์
ประวัติความเป็นมา
................วัดพระแท่นศิลาอาสน์ชาวบ้านมักเรียกสั้น ๆว่าวัดพระแท่น เป็นวัดเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ พระแท่น เป็นศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๘ ฟุต ยาว ๙ ฟุต ๘ นิ้ว สูง ๓ ฟุต เชื่อว่าเป็นที่ประทับของ สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้งที่บำเพ็ญเพียร มีมณฑปครอบอยู่เบื้องบน ที่ฐานของพระแท่นโดยรอบประกอบ
ด้วยลายกลีบบัว ข้างในวัดพระแท่นศิลาอาสน์มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ คือ หลวงพ่อพระธรรมจักร เชื่อกันว่า สามารถป้องกันไฟได้ บานประตูของวิหารมีลักษณะงดงาม เล่ากันว่าเดิมเป็นบานประตูของวิหาร พระพุทธชินราช ครั้งสมเด็จพระบรมโกฐ ทรงเปลี่ยนให้เป็นประตูลายมุก และย้ายบานเดิมมาไว้ที่พระแท่น
ศิลาอาสน์ ซึ่งถูกไฟไหม้หมดแล้ว และทำขึ้นใหม่ทดแทน
ความสำคัญต่อชุมชน
................วัดพระแท่นศิลาอาสน์มีงานประเพณีประจำปีทุกปี เรียกว่างานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ ร่วมกับ วัดพระยืนพุทธบาทยุคล วัดพระนอน และวัดพระบรมธาตุ ในวันขึ้น ๘ ค่ำถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็นเวลา ๘ วัน ๘ คืน
เส้นทางเข้าสู่วัดพระแท่นศิลาอาสน์
...............จากตัวเมืองอุตรดิตถ์ไปตามทางหลวง ๑๐๒ ประมาณ ๓.๕ กิโลเมตร การเดินทางสะดวก ปลอดภัย สภาพเส้นทางเป็นทางลาดยางอย่างดี มีรถบริการผ่านหน้าวัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น