วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

นกหัวขวานตายเพราะไม้แก่น

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

นกหัวขวานตายเพราะไม้แก่น



ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภพระเทวทัตผู้เลียนแบบอย่างพระองค์แล้วถึงความพินาศ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นนกหัวขวานชื่อขทิรวนิยะ เที่ยวหากินอาหารอยู่ในป่าไม้ตะเคียนแห่งหนึ่ง มีเพื่อนนกหัวขวานตัวหนึ่งชื่อกันทคลกะ เที่ยวหากินอาหารอยู่ในป่าไม้ทองหลางแห่งหนึ่ง 

ในวันหนึ่ง นกกันทคลกะมาหานกขทิรวนิยะที่ป่าไม้ตะเคียน นกขทิรวนิยะดีใจที่เพื่อนมาเยี่ยมจึงพาเพื่อนไปที่ต้นตะเคียนต้นหนึ่ง ใช้จะงอยปากเคาะต้นตะเคียนคาบตัวหนอนให้พื่อนกินอย่างอร่อย หกกันทคลกะเห็นเพื่อนส่งอาหารมาให้กิน ก็คิดอยากจะลองหากินแบบเพื่อนดูบ้างจึงพูดขึ้นว่า

"สหาย อย่าได้ลำบากเลย เราจะหากินในป่าตะเรียนด้วยตัวของเราเอง"

นกขทิรวนิยะพูดห้ามว่า "สหาย ท่านเคยหากินอยู่แต่ในเขตป่าไม้ไม่มีแก่น ไม้ตะเคียนเป็นไม้มีแก่น ท่านจะไหวหรือ ?"

นกกันทคลกะพูดว่า "เราก็นกหัวขวานเหมือนกันกับท่านนี่" 

ว่าแล้วก็ผลุนผันไปเอาจะงอยปากเคาะต้นตะเคียนต้นหนึ่งสุดแรงเกิด ดัง "ป๊อก ๆ ๆ" ทันใดนั่นเองจะงอยปากของมันได้หักทันทีตาทะลักออก หัวแตกตกจากต้นไม้ลงพื้นดิน นอนดิ้นไปมาได้ร้องถามก่อนสิ้นใจว่า 

"สหาย ต้นไม้ที่มีใบละเอียด มีหนามนี้เป็นต้นอะไร เราเจาะเพียงครั้งเดียว ทำให้สมองไหลหัวแตกเสียแล้ว

นกขิทรวนิยะได้ร้องตอบเป็นคาถาว่า

"นกกันทคลกะ เมื่อเจาะหมู่ไม้ในป่าได้เคยเที่ยวเจาะแต่ไม้แห้งที่ไม่มีแก่น ภายหลังมาพบต้นตะเคียนซึ่งมีแก่นโดยธรรมชาติ ได้ทำลายกระหม่อมที่ต้นตะเคียนนั้นแล้ว"


นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
อย่าอวดเก่งในสิ่งที่ตนเองไม่ชำนาญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น