วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เต่า

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา



กัจฉปชาดก ว่าด้วยเต่า


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภผู้รอดจากอหิวาตกโรคคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้

มีเรื่องเล่าว่าที่กรุงสาวัตถี ได้เกิดอหิวาตกโรคขึ้นในตระกูลหนึ่ง มารดาบิดาจึงบอกแก่บุตรว่า ลูก เจ้าอย่าอยู่ในเรือนนี้เลย จงพังฝาหนีไปเสียในที่ใดที่หนึ่ง รักษาชีวิตไว้ภายหลังจึงค่อยกลับมา ขุดทรัพย์ซึ่งฝังไว้มีอยู่ในที่นี้ แล้วเก็บทรัพย์ไว้เลี้ยงชีพให้เป็นสุขเถิด บุตรรับคำของมารดาบิดาแล้วจึงได้หนีไป เมื่อโรคของตนหายดีแล้วจึงกลับมาขุดทรัพย์ที่ฝังไว้อยู่ครองเรือนอย่างเป็นสุข

วันหนึ่งเขาให้คนถือเนยใสและน้ำมัน ผ้า เครื่องนุ่งห่มเป็นต้น ไปวิหารเชตวัน ถวายบังคมพระศาสดาแล้วนั่ง พระศาสดาทรงทำปฏิสันถารกับเขาแล้วตรัสถามว่า ได้ยินว่า อหิวาตกโรคเกิดขึ้นในเรือนของท่าน ท่านทำอย่างไรจึงรอดมาได้ เขาได้กราบทูลเรื่องราวนั้นให้ทรงทราบ พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนอุบาสก แม้แต่ก่อนชนอยู่ที่อื่น ชนเหล่านั้นถึงสิ้นชีวิต แต่ชนเหล่าใดไม่ทำความอาลัยไปอยู่เสียที่อื่น ชนเหล่านั้นรอดชีวิตแล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า

ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติในตระกูลช่างหม้อใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ทำการปั้นหม้อเลี้ยงบุตรภรรยา ในครั้งนั้น ใกล้กรุงพาราณสี ได้มีสระใหญ่ต่อเนื่องเป็นอันเดียวกับแม่น้ำใหญ่ ในคราวน้ำมากสระนั้นมีน้ำไหลถึงกันกับแม่น้ำ เมื่อน้ำน้อยสระกับแม่น้ำก็แยกกัน ปลาและเต่าย่อมรู้ว่า ปีนี้ฝนดี ปีนี้ฝนแล้ง ครั้นต่อมาปลาและเต่าที่เกิดในสระนั้นรู้ว่า ในปีฝนจะแล้ง ครั้นถึงเวลาน้ำไหลต่อเนื่องกันเป็นอันเดียว จึงพากันออกจากสระไปสู่แม่น้ำ แต่เต่าตัวหนึ่ง ไม่ยอมไปด้วยคิดเสียว่านี้เป็นที่เกิดของเรา เป็นที่เติบโตของเรา เป็นที่ที่พ่อแม่ของเราเคยอยู่ เราไม่อาจจะละที่นี้ไปได้ ครั้นถึงคราวหน้าแล้ง น้ำแห้งผาก เต่านั้นขุดคุ้ยดินเข้าไปอยู่ในที่ที่พระโพธิสัตว์มักมาขนดินเอาไปใช้เพื่อปั้นหม้อ พระโพธิสัตว์ได้ไป ณ ที่นั้นด้วยประสงค์ว่าจักเอาดิน จึงเอาจอบใหญ่ขุดดิน สับถูกเต่าแล้วเอาจอบงัดมันขึ้นคล้ายกับก้อนดินทิ้งกลิ้งอยู่บนบก เต่านั้นได้รับเวทนา จึงพูดคร่ำครวญว่า เราไม่อาจที่จะอยู่ได้จึงถึงความพินาศอย่างนี้ แล้วได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :

เราเกิดที่นี่ เติบโตที่นี่ เพราะเหตุนี้ เราจึงได้อาศัยอยู่ที่เปือกตม เปือกตมกลับทับถมเราให้ทุรพล

ดูก่อนท่านภัคควะ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจะขอกล่าวกะท่าน ขอท่านจงฟังคำของข้าพเจ้าเถิด บุคคลได้รับความสุขในที่ใด จะเป็นในบ้านหรือในป่าก็ตาม ที่นั้นเป็นที่เกิด เป็นที่เติบโตของบุรุษผู้รู้จักเหตุผล บุคคลพึงเป็นอยู่ได้ในที่ใดก็พึงไปในที่นั้น ไม่พึงให้ที่อยู่ฆ่าตนเสีย

เต่าเมื่อพูดกับพระโพธิสัตว์อย่างนี้ก็ตาย พระโพธิสัตว์จับเอาเต่าไปแล้วให้ชาวบ้านทั้งหมดมาประชุมกัน เมื่อจะสอนมนุษย์ทั้งหลาย จึงกล่าวอย่างนี้ว่า

พวกท่านจงดูเต่านี้ ในขณะที่ปลาและเต่าอื่น ๆ ไปสู่แม่น้ำใหญ่ เต่านี้ไม่อาจตัดความอาลัยไปที่อยู่ของตนได้ ไม่ไปกับสัตว์เหล่านั้น เขาไปนอนยังที่ขนดินของเรา ครั้นเราขนดินได้เอาจอบใหญ่สับหลังมันเหวี่ยงมันลงบนบกเหมือนก้อนดิน เต่านี้จึงเปิดเผยกรรมที่ตนกระทำคร่ำครวญด้วยคาถาสองคาถาแล้วก็ตาย มันทำความอาลัยในที่อยู่ของตนถึงแก่ความตาย แม้พวกท่านก็อย่าได้เป็นเช่นเต่าตัวนี้

ตั้งแต่นี้ไป พวกท่านจงอย่ายึดด้วยอำนาจตัณหา ด้วยอำนาจเครื่องอุปโภคและบริโภคว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ของเรา บุตรของเรา ธิดาของเรา ทาสีและทาสเงินทองของเรา แท้สัตว์ผู้เดียวนี้เท่านั้นวนเวียนไปในภพสาม พระโพธิสัตว์ได้ให้โอวาทแก่มหาชน ด้วยพุทธสีลา ด้วยประการฉะนี้ โอวาทนี้แผ่ไปทั่วชมพูทวีป ดำรงอยู่ตลอดเวลาประมาณเจ็ดพันปี มหาชนตั้งอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ ทำบุญมีทานเป็นต้นทำทางสวรรค์ให้บริบูรณ์ในคราวสิ้นอายุ
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้วทรงประกาศอริยสัจ เมื่อจบอริยสัจกุลบุตรนั้นตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วทรงประชุมชาดกว่า เต่าในครั้งนั้นได้เป็นอานนท์ในครั้งนี้ ส่วนช่างหม้อ คือเราตถาคตนี้แล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น