วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

บุพกรรมของโฆสกเทพบุตร

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา



สองผัวเมียเดินทางไปหาอาชีพ               
               ก็เมื่อทุพภิกขภัย เกิดแล้วในแคว้นอัลลกัปปะ ชายผู้หนึ่งชื่อว่าโกตุหลิก ไม่อาจจะเป็นอยู่ได้ จึงพาภรรยาผู้มีบุตรอ่อนนามว่ากาลี จัดแจงเสบียงออกไปแล้ว ด้วยมุ่งหมายว่า “จะไปหากินที่เมืองโกสัมพี.” อาจารย์บางท่านกล่าวว่า “เขาออกไปแล้ว ในเมื่อมหาชนกำลังตายกันด้วยโรคอหิวาต์” บ้าง. สองสามีภรรยานั้นเดินไปอยู่ เมื่อเสบียงทางหมดสิ้นแล้ว ถูกความหิวครอบงำแล้ว ไม่สามารถจะนำเด็กไปได้. ครั้งนั้น สามีจึงกล่าวกะภรรยาว่า “หล่อนเรามีชีวิตอยู่ ก็จักได้ลูกอีก, ทิ้งเขาเสียแล้วไปเถิด.” ธรรมดาว่า ดวงใจของมารดาอ่อนโยน เพราะฉะนั้น นางจึงพูดว่า “ดิฉันไม่อาจทิ้งลูกที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ดอก.”
               สามี. เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะทำอย่างไรกัน?
               ภรรยา. เราเปลี่ยนกันนำเขาไป. มารดายกลูกขึ้นประหนึ่งพวงดอกไม้ ในวาระของตน กกไว้ที่อก อุ้มไปแล้ว ก็เอาให้แก่บิดา. เวทนามีกำลังแม้กว่าความหิว บังเกิดแก่ชายผู้เป็นสามีนั้น ในที่ซึ่งเขารับเด็กผู้เป็นลูกนั้นแล้ววางลง เขาก็พูดกะภรรยานั้นแล้วๆ เล่าๆ ว่า “หล่อน เรามีชีวิตอยู่ จักได้ลูก (อีก) ทิ้งมันเสียเถิด.” แม้ภรรยาก็ห้ามเขาไว้ตั้งหลายครั้ง แล้วก็เฉยเสีย. เด็กถูกเปลี่ยนกันตามวาระ เหนื่อยอ่อนเลยนอนหลับอยู่ในมือของบิดา. ชายผู้เป็นสามี รู้ว่าลูกชายนั้นหลับ จึงปล่อยให้มารดาเดินไปข้างหน้าก่อน แล้วเอาเด็กนอนไว้บนใบไม้ลาด ใต้พุ่มไม้แห่งหนึ่งแล้วก็เดิน (ตามไป), มารดาเหลียวกลับแลดู ไม่เห็นลูก จึงถามว่า “นาย ลูกของเราไปไหน?”
               สามี. ฉันให้เขานอนอยู่ภายใต้พุ่มไม้แห่งหนึ่ง.
               ภรรยา. นาย อย่ายังฉันให้ฉิบหายเลย, ฉันเว้นลูกเสียแล้ว ไม่อาจเป็นอยู่ได้, นายนำลูกฉันมาเถิด ประหารอกคร่ำครวญแล้ว. ครั้งนั้น ชายผู้สามีจึงกลับไปเอาเด็กนั้นมาแล้ว. แม้ลูกก็ตายเสียแล้วในระหว่างทาง.
               นายโกตุหลิก ทิ้งบุตรในฐานะมีประมาณเท่านี้ จึงถูกเขาทอดทิ้ง ๗ วาระ ในระหว่างภพ ด้วยผลแห่งกรรมนั้น ด้วยประการฉะนี้. ชื่อว่าบาปกรรมนี้ อันบุคคลไม่ควรดูหมิ่นว่า “น้อย”, สองสามีภรรยานั้นเดินทางไปถึงตระกูลของคนเลี้ยงโคแห่งหนึ่งแล้ว.


               นายโกตุหลิกตายไปเกิดเป็นสุนัข               
               ก็ในวันนั้น มีการทำขวัญแม่โคนมของนายโคบาล. ในเรือนของนายโคบาล พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปหนึ่งฉันเป็นนิตย์. นายโคบาลนั้นนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าฉันเสร็จแล้ว จึงได้ทำการมงคล. ข้าวปายาสเขาจัดแจงไว้เป็นอันมาก. นายโคบาลเห็นสองสามีภรรยานั้นมา จึงถามว่า “ท่านมาจากไหน?” ทราบเรื่องนั้นแล้ว เป็นกุลบุตรมีใจอ่อนโยน จึงกระทำความสงเคราะห์ในสองสามีภรรยานั้น ให้ๆ ข้าวปายาสกับเนยใสเป็นอันมาก.
               ภรรยาจึงกล่าวกะสามีว่า “นาย เมื่อท่านมีชีวิตอยู่ ฉันก็ชื่อว่ามีชีวิตอยู่, ท่านท้องพร่องมานาน, จงบริโภคตามความต้องการ” ดังนี้แล้ว จึงวางข้าวปายาสไว้เบื้องหน้าเขาพร้อมกับสัปปิ ตนเองบริโภคสัปปิเหลวแต่น้อยหนึ่งเท่านั้น. ส่วนนายโกตุหลิก บริโภคมากไป ไม่อาจตัดความอยากในอาหารได้ เพราะตัวหิวมาตั้ง ๗-๘ วัน
               นายโคบาล ครั้นให้ๆ ข้าวปายาสแก่ ๒ ผัวเมียแล้ว ตนเองจึงเริ่มจะบริโภค. นายโกตุหลิกนั่งแลดูเขาแล้ว เห็นก้อนข้าวปายาสที่นายโคบาลปั้นให้แก่นางสุนัข ซึ่งนอนอยู่แล้วใต้ตั่ง จึงคิดว่า “ นายสุนัขตัวนี้ มีบุญ จึงได้โภชนะเห็นปานนี้เนืองนิตย์.” ตกกลางคืน นายโกตุหลิกนั้นไม่สามารถจะยังข้าวปายาสนั้นให้ย่อยได้ จึงทำกาละ ไปเกิดในท้องแห่งนางสุนัขนั้น.
               ครั้งนั้น ภรรยาของเขาทำสรีรกิจ (เผา) แล้ว ก็ทำการรับจ้างอยู่ในเรือนนั่นเอง ได้ข้าวสารทะนานหนึ่ง หุงแล้ว เอาใส่บาตรพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว กล่าวว่า “ท่านเจ้าข้า ขอกุศลนี้ จงถึงแก่ทาสของท่านเถิด” ดังนี้แล้ว จึงคิดว่า “ควรเราจะอยู่ในที่นี้แล, พระผู้เป็นเจ้าย่อมมาในที่นี้เนืองนิตย์, ไทยธรรมจักมีหรือไม่ก็ช่างเถิด, เราไหว้อยู่ ทำความขวนขวายอยู่ ยังใจให้เลื่อมใสอยู่ทุกวัน จักประสพบุญมาก” (คิดดังนี้แล้ว) นางจึงทำการรับจ้างอยู่ในบ้านนั้นนั่นเอง.


               สุนัขตายเพราะอาลัยในพระปัจเจกพุทธเจ้า               
               ในเดือนที่ ๖ หรือที่ ๗ นางสุนัขแม้นั้นแล ก็คลอดลูกออกมาตัวหนึ่ง. นายโคบาลจึงให้ๆ น้ำนมของแม่โคนมตัวหนึ่งแก่ลูกสุนัขนั้น. ไม่นานเท่าไรนัก ลูกสุนัขนั้นก็เติบใหญ่. ครั้งนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้า เมื่อฉัน ย่อมให้ก้อนข้าวแก่ลูกสุนัขนั้นก้อนหนึ่งเป็นนิตย์. เพราะอาศัยก้อนข้าว สุนัขนั้นจึงได้มีความรักใคร่ในพระปัจเจกพุทธเจ้า. นายโคบาลย่อมไปสู่ที่บำรุงของพระปัจเจกพุทธเจ้า (วันหนึ่ง) ๒ ครั้งเนืองนิตย์. นายโคบาลนั้นแม้เดินไป ก็เอาไม้ตีที่พุ่มไม้และพื้นที่ดินในที่ซึ่งมีเนื้อร้าย ระหว่างทาง ส่งเสียงว่า “สุ สุ” ๓ ครั้ง ยังเนื้อร้ายให้หนีไปแล้ว. แม้สุนัขก็ไปด้วยกับนายโคบาลนั้น.
               ในวันหนึ่ง นายโคบาลนั้นกล่าวกะพระปัจเจกพุทธเจ้า “ท่านผู้เจริญ กาลใด ผมไม่มีโอกาสว่าง กาลนั้น ผมจักส่งสุนัขตัวนี้มา: ขอพระผู้เป็นเจ้าพึงมาด้วยเครื่องหมายแห่งสุนัขนี้ที่กระผมส่งมาแล้ว.” ตั้งแต่นั้นมา ในวันที่ไม่มีโอกาส นายโคบาลนั้นก็ส่งสุนัขไปว่า “พ่อ จงไป จงนำพระผู้เป็นเจ้ามา” ด้วยคำเดียวเท่านั้น สุนัขนั้นก็วิ่งไป ถึงที่ซึ่งนายตีพุ่มไม้และพื้นดินก็เห่าขึ้น ๓ ครั้ง รู้ว่าเนื้อร้ายหนีไปแล้วด้วยเสียงนั้น ไปถึงที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้กระทำสรีปฏิบัติแต่เช้าตรู่ เข้าไปยังบรรณศาลา นั่งอยู่แล้ว ถึงประตูบรรณศาลา จึงเห่าขึ้น ๓ ครั้ง ให้ท่านรู้ว่าตนมาแล้ว ก็นอนหมอบอยู่ที่ส่วนข้างหนึ่ง.
               เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้ากำหนดเวลาออกไปแล้ว สุนัขนั้นก็เดินเห่าไปข้างหน้าๆ เทียว พระปัจเจกพุทธเจ้าเมื่อจะทดลองสุนัข จึง (ทำเป็น) เดินไปทางอื่นในระหว่างๆ ทีนั้น สุนัขจึงไปยืนเห่าขวางหน้าของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นไว้ แล้วนำท่านลงทางนอกนี้. ต่อมาในกาลวันหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าเมื่อจะทดลองสุนัขนั้น จึงเดินไปสู่ทางอื่นแล้ว แม้สุนัขนั้นจะยืนขวางห้ามอยู่ข้างหน้าก็ไม่กลับ เอาเท้ากระตุ้นสุนัขแล้วเดินไป: สุนัขรู้ว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่กลับ จึงกลับไปคาบชายผ้านุ่งฉุดมา นำท่านลงสู่ทางนอกนี้. สุนัขนั้นได้ยังความรักอันมีกำลัง ให้เกิดขึ้นแล้วในพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ด้วยประการอย่างนี้.
               ต่อมาในกาลอื่น จีวรของพระปัจเจกพุทธเจ้าเก่าแล้ว. ครั้งนั้น นายโคบาลจึงได้ถวายผ้าสำหรับทำจีวรแก่ท่าน. พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงกล่าวกับนายโคบาลนั้นว่า “ผู้มีอายุ ชื่อว่าการทำจีวร อันบุคคลผู้เดียวทำได้ยาก, อาตมาไปสู่สถานที่สบายแล้วจักกระทำ.”
               นายโคบาล. ท่านผู้เจริญ นิมนต์ทำที่นี่เถิด.
               พระปัจเจกพุทธเจ้า. ผู้มีอายุ อาตมาไม่อาจ.
               นายโคบาล. ท่านผู้เจริญ ถ้ากระนั้น ท่านอย่าไปอยู่ภายนอกให้นานนัก.
               สุนัขได้ยืนฟังคำของคนทั้งสองนั้นอยู่เหมือนกัน.
               พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวกะนายโคบาลนั้นว่า “จงหยุดเถิด อุบาสก” ให้นายโคบาลกลับแล้ว เหาะขึ้นสู่เวหาส บ่ายหน้าต่อเขาคันธมาทน์ หลีกไปแล้ว. สุนัขแลดูพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เหาะไปทางอากาศ ยืนเห่าอยู่แล้ว เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นลับคลองจักษุไป หทัยก็แตกทำลายลง.


               สุนัขไปเกิดเป็นโฆสกเทพบุตร               
               ชื่อว่า สัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายนั้น เป็นสัตว์มีชาติซื่อตรง ไม่คดโกง; ส่วนมนุษย์ใจคิดไปอย่าง ปากพูดไปอย่าง (ไม่ตรงกัน)
               เพราะเหตุนั้นแล นายเปสสะผู้เป็นบุตรของนายควาญช้าง จึงกล่าวว่า๑-
                         ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แท้จริง ขันธบัญจกคือมนุษย์นี้รกชัฏ
                         ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แท้จริง ขันธบัญจกคือสัตว์ของเลี้ยงนี้ตื้น.
               สุนัขนั้นทำกาละแล้ว ไปเกิดในดาวดึงสภพ มีนางอัปสร ๑ พันแวดล้อม ได้เสวยสมบัติใหญ่ ก็เพราะเป็นสัตว์มีความเห็นอันตรง (และ) ไม่คดโกงนั้น ด้วยประการฉะนี้.
____________________________
๑- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๓

               เมื่อเทพบุตรนั้นกระซิบที่ใกล้หูของใครๆ เสียงย่อมดังไปไกลได้ ๑๖ โยชน์ ส่วนเสียงพูดโดยปกติ ย่อมกลบเทพนครทั้งสิ้น ซึ่งมีประมาณหมื่นโยชน์. เพราะเหตุนั้นแล เทพบุตรนั้นจึงได้มีนามว่า “โฆสกเทพบุตร” ก็นี้เป็นผลของอะไร ? เป็นผลของการเห่าด้วยความรักในพระปัจเจกพุทธเจ้า.
               โฆสกเทพบุตรนั้นดำรงอยู่ในเทพนครนั้นไม่นานก็เคลื่อนแล้ว.


               เหตุทำให้เทพบุตรเคลื่อน ๔ อย่าง               
               จริงอยู่ เทพบุตรทั้งหลายย่อมเคลื่อนจากเทวโลก ด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ :-
                         ๑. ด้วยความสิ้นอายุ
                         ๒. ด้วยความสิ้นบุญ
                         ๓. ด้วยความสิ้นอาหาร
                         ๔. ด้วยความโกรธ
               ในเหตุ ๔ อย่างเหล่านั้น เทพบุตรองค์ใดทำบุญกรรมไว้มาก เทพบุตรองค์นั้นเกิดในเทวโลก ดำรงอยู่ตราบเท่าอายุแล้ว ก็เกิดในเทวโลกชั้นสูงๆ ขึ้นไป, อย่างนี้ ชื่อว่าย่อมเคลื่อนด้วยความสิ้นอายุ.
               เทพบุตรองค์ใดทำบุญไว้น้อย บุญนั้นของเทพบุตรนั้นย่อมสิ้นไปเสียในระหว่างเทียว เหมือนธัญชาติที่บุคคลใส่ไว้ในฉางหลวงเพียง ๔-๕ ทะนานฉะนั้น, เทพบุตรนั้นย่อมทำกาละเสียในระหว่างเทียว, อย่างนี้ ชื่อว่าย่อมเคลื่อนด้วยความสิ้นบุญ.
               เทพบุตรบางองค์มักบริโภคกามคุณ ไม่บริโภคอาหาร เพราะการหลงลืมสติ มีกายอันเหนื่อยอ่อน ทำกาละ, อย่างนี้ ชื่อว่าย่อมเคลื่อนด้วยการสิ้นอาหาร.
               เทพบุตรบางองค์ไม่อดทนสมบัติของผู้อื่น โกรธเคืองแล้วจึงทำกาละ, อย่างนี้ ชื่อว่าย่อมเคลื่อนด้วยความโกรธ.


               โฆสกเทพบุตรไปเกิดในกรุงโกสัมพี               
               ก็โฆสกเทพบุตรนี้ มัวบริโภคกามคุณอยู่ หลงลืมสติ จึงเคลื่อนด้วยความสิ้นอาหาร. ก็แลเคลื่อนเสร็จแล้ว ไปถือปฏิสนธิในท้องแห่งหญิงงามเมืองในกรุงโกสัมพี. ในวันคลอด นางถามทาสีว่า “นี่อะไร?” เมื่อนางทาสีตอบว่า “ลูกชาย เจ้าค่ะ” จึงบอกให้นางทาสีเอาไปทิ้งด้วยคำว่า “เจ้าจงเอาทารกนี้ใส่กระด้งแล้วเอาไปทิ้งที่กองหยากเยื่อ”
               แท้จริง หญิงงามเมืองทั้งหลาย ย่อมเลี้ยงลูกหญิง ไม่เลี้ยงลูกชาย เพราะเชื้อสายของพวกหล่อนจะสืบไปได้ ก็ด้วยลูกหญิง.
               กาบ้าง สุนัขบ้าง ต่างพากันจับกลุ่มแวดล้อมเด็กไว้. ด้วยผลแห่งการเห่า อันเกิดแต่ความรักในพระปัจเจกพุทธเจ้า สัตว์ตัวหนึ่งก็ไม่อาจเข้าใกล้ได้. ในขณะนั้น คนผู้หนึ่งออกไปนอกบ้านเห็นการจับกลุ่มของกาและสุนัขนั้น คิดว่า “นี่มันเหตุ อะไรกันหนอ?” จึงเดินไปที่นั้น เห็นทารก หวนได้ความรักเหมือนดังลูก จึงนำไปสู่เรือนด้วยดีใจว่า “เราได้ลูกชายแล้ว.”


               นางกาลีนำโฆสกทารกไปให้โคเหยียบ               
               ในกาลครั้งนั้น เศรษฐีชาวเมืองโกสัมพีไปสู่ราชตระกูล พบปุโรหิตเดินมาแต่พระราชวัง จึงถามว่า “ท่านอาจารย์ วันที่ท่านได้ตรวจตราดูความประกอบของดาวนักษัตร๑- อันเป็นเหตุเคราะห์ดีเคราะห์ร้ายแล้วหรือ?”
____________________________
๑- ติถิกรณนกฺขตฺตโยโค ความประกอบแห่งนักษัตรอันเป็นเครื่องกระทำซึ่งดิถี.

               ปุโรหิต. จ้ะ ท่านมหาเศรษฐี, กิจอะไรอื่นของพวกเราไม่มี,
               เศรษฐี. อะไรจะมีแก่ชนบทหรือ? ท่านอาจารย์ .
               ปุโรหิต. อย่างอื่นไม่มี, แต่เด็กที่เกิดในวันนี้ จักได้เป็นเศรษฐี ผู้ประเสริฐในเมืองนี้.
               ครั้งนั้น ภรรยาของเศรษฐีมีครรภ์แก่, เพราะฉะนั้น เศรษฐีนั้นจึงส่งคนใช้ไปสู่เรือนโดยเร็วด้วยคำว่า “จงไป จงทราบภรรยาของเรานั้นว่า คลอดแล้วหรือยังไม่คลอด” พอทราบว่า “ยังไม่คลอด”, เฝ้าพระราชาเสร็จแล้ว รีบกลับบ้าน เรียกหญิงคนใช้ชื่อกาลีมาแล้ว ให้ทรัพย์ ๑ พัน กล่าวว่า “เจ้าจงไป จงตรวจดูในเมืองนี้ ให้ทรัพย์ ๑ พันพาเอาเด็กที่เกิดในวันนี้มา” นางกาลีนั้นตรวจตราดูไปถึงเรือนนั้น เห็นเด็กแล้ว จึงถามหญิงแม่บ้านว่า “เด็กนี้ เกิดเมื่อไร” เมื่อหญิงนั้นตอบว่า “เกิดวันนี้.” จึงพูดว่า “ จงให้เด็กนี้แก่ฉัน จึงประมูลราคาตั้งแต่ ๑ กหาปณะเป็นต้น จนถึงให้ทรัพย์ ๑ พันแล้ว นำเด็กนั้นไปแสดงแก่เศรษฐี.
               เศรษฐีคิดว่า “ถ้าว่าลูกของเรา จักเกิดเป็นลูกหญิง, เราจักให้มันอยู่ร่วมกับลูกสาวของเรานั้น แล้วทำให้มันเป็นเจ้าของตำแหน่งเศรษฐี, ถ้าว่าลูกของเราจักเกิดเป็นลูกชาย เราก็จักฆ่ามันเสีย” ดังนี้แล้ว จึงให้รับเด็กนั้นไว้ในเรือน.
               ต่อมา ภรรยาของเศรษฐีนั้นคลอดบุตรเป็นชาย โดยล่วงไป ๒-๓ วัน. เศรษฐีจึงคิดว่า “เมื่อไม่มีเจ้าเด็กนี้ ลูกชายของเราก็จักได้ตำแหน่งเศรษฐี, บัดนี้ควรที่เราจักฆ่ามันเสียเถิด” ดังนี้แล้ว จึงเรียกนางกาลีมาแล้ว กล่าวว่า “แม่จงไป ในเวลาที่พวกโคออกจากคอก เจ้าจงเอาเด็กนี้ให้นอนขวางไว้ที่กลางประตูคอก แม่โคทั้งหลายจักเหยียบมันให้ตาย, แต่ต้องรู้ว่า โคเหยียบมันหรือไม่เหยียบแล้วจึงมา”
               นางกาลีนั้นไปแล้ว พอนายโคบาลเปิดประตูคอกเท่านั้น ก็เอาเด็กนั้นให้นอนไว้ตามนั้น (เหมือนที่เศรษฐีสั่ง). โคอุสภะซึ่งเป็นนายฝูง แม้ออกภายหลังโคทั้งปวงในเวลาอื่น (แต่) ในวันนั้น ออกไปก่อนกว่าโคอื่นทั้งหมด ได้ยืนคร่อมทารกไว้ในระหว่างเท้าทั้งสี่. แม่โคตั้งหลายร้อยต่างก็พากันเบียดเสียดข้างทั้งสองของโคอุสภะออกไป. ถึงนายโคบาลก็คิดว่า “เจ้าโคอุสภะตัวนี้ เมื่อก่อนออกทีหลังโคทุกตัว, แต่วันนี้ออกไปก่อนโคทั้งหมด แล้วยืนนิ่งอยู่ที่ประตูคอกเทียว, นั่นจะมีเหตุอันใดหนอ?” จึงเดินไปแลเห็นเด็กนอนอยู่ภายใต้ท้องโคนั้น หวนกลับได้ความรักเสมือนบุตร จึงนำไปสู่เรือนด้วยคิดว่า “เราได้ลูกชายแล้ว”
               นางกาลีไปแล้ว ถูกเศรษฐีถาม จึงเล่าเรื่องนั้น อันเศรษฐีกล่าวว่า “เจ้าจงไป จงให้ทรัพย์เขา ๑ พันแล้ว นำมันกลับมาอีก” ดังนี้แล้ว ให้ทรัพย์ ๑ พันแล้ว ได้นำกลับมาให้อีก.


               นางกาลีนำโฆสกะไปให้เกวียนทับ               
               ครั้งนั้น เศรษฐีกล่าวกับนางกาลีว่า “แม่กาลี ในเมืองนี้มีพวกเกวียน ๕๐๐ เล่ม ลุกขึ้นแต่เช้ามืด ย่อมไปค้าขาย, เจ้าจงเอาเด็กนี้ไปให้นอนไว้ที่ทางเกวียน (ทางล้อ) พวกโคจักเหยียบมัน หรือล้อเกวียนจักตัด (ตัวมัน) พอรู้เรื่องของมันแล้ว จึงกลับมา”
               นางกาลีนั้นนำเด็กนั้นไปแล้ว ให้นอนอยู่ที่ทางเกวียน. ในกาลนั้น หัวหน้าเกวียนได้ไปข้างหน้า. ครั้งนั้น พวกโคของเขาถึงที่นั้นแล้ว ต่างพากันสลัดแอกเสีย. แม้จะถูกหัวหน้ายกขึ้นแล้วขับไปตั้งหลายครั้ง ก็ไม่เดินไปข้างหน้า. เมื่อหัวหน้านั้นพยายามอยู่กับโคทั้งสองนั้นอย่างนี้เทียว อรุณขึ้นแล้ว (ก็พอสว่าง). เขาจึงคิดว่า “โคทั้งสองพากันทำเหตุนี้ เพราะอะไร?” จึงตรวจตราดูทาง เห็นทารกแล้วก็คิดว่า “กรรมของเราหนักหนอ” มีความยินดีว่า “เราได้ลูกชายแล้ว” จึงนำเด็กนั้นไปสู่เรือน.
               นางกาลีไปแล้ว อันเศรษฐีถาม จึงบอกความเป็นไปนั้น อันเศรษฐีบอกว่า “เจ้าจงไปให้ทรัพย์ (เขา) ๑ พันแล้ว จงนำเด็กนั้นกลับมาอีก” ดังนี้แล้ว ได้กระทำตามนั้นแล้ว.


               นางกาลีนำโฆสกะไปทิ้งที่ป่าช้าผีดิบ               
               ครั้งนั้น เศรษฐีกล่าวกะนางกาลีนั้นว่า “บัดนี้ เจ้าจงนำมันไปยังป่าช้าผีดิบ แล้วเอานอนไว้ในระหว่างพุ่มไม้, มันจักถูกสัตว์มีสุนัขป่าเป็นต้นกัด หรือถูกอมนุษย์ประหารตายในที่นั้น, เจ้ารู้ว่ามันตายแล้ว หรือไม่ตายเทียว จึงกลับมา”
               นางกาลีนั้นนำเด็กนั้นไป ให้นอนอยู่ที่ป่าช้าผีดิบแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง. สุนัขบ้าง กาบ้าง อมนุษย์บ้าง ไม่อาจเข้าใกล้เด็กนั้นได้.
               มีคำถามสอดเข้ามาว่า “ก็มารดาบิดาและบรรดาพี่น้องเป็นต้น ใครๆ ชื่อว่าผู้รักษาของเด็กนั้น ไม่มีมิใช่หรือ? ใครรักษาตัวเด็กนั้นไว้?”
               แก้ว่า “กรรมสักว่าความเห่าเท่านั้น ซึ่งเด็กให้เป็นไปแล้ว ด้วยความรักใคร่ในพระปัจเจกพุทธเจ้า ในเวลาเป็นสุนัข รักษาเด็กไว้.”
               ครั้งนั้น นายอชบาลผู้หนึ่งต้อนแม่แพะตั้งหลายแสนตัวไปหากิน เดินไปข้างป่าช้า. แม่แพะตัวหนึ่งเคี้ยวกินใบไม้เป็นต้น เข้าไปสู่พุ่มไม้เห็นทารกแล้ว จึงคุกเข่าให้นมแก่ทารก. แม้นายอชบาลจะทำเสียงว่า “เห, เห” ก็หาออกไปไม่. เขาคิดว่า “จักเอาไม้ตีมันไล่ออก” จึงเข้าไปสู่พุ่มไม้ เห็นแม่แพะคุกเข่าให้ทารกน้อยกินนมอยู่ จึงหวนกลับได้รับความรักในทารกเสมือนบุตร จึงพาเอาทารกนั้นไปด้วยคิดว่า “เราได้ลูกชายแล้ว”
               นางกาลีเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงไป ถูกเศรษฐีถามแล้ว จึงบอกความเป็นไปอันนั้น อันเศรษฐีกล่าวว่า “เจ้าจงไป ให้ทรัพย์ (เขา) ๑ พันแล้ว นำมันกลับมาอีก” ได้กระทำตามนั้นแล้ว.


               นางกาลีเอาโฆสกะไปโยนเหว               
               ครั้งนั้น เศรษฐีกล่าวกะนางทาสีนั้นว่า “แม่กาลี เจ้าจงเอาเด็กนี้ไป ขึ้นสู่ภูเขาอันเป็นที่ทิ้งโจร จงโยนมันลงไปในเหว, มันกระทบท้องภูเขา ก็จักเป็นท่อนเล็กท่อนน้อย ตกลงที่พื้น, เจ้ารู้ว่า มันตายแล้วหรือไม่ตาย จึงกลับมา”
               นางกาลีนั้นนำเด็กนั้นไปที่นั้นแล้ว ยืนอยู่บนยอดเขา โยนลงไปแล้ว. ก็พุ่มไผ่ใหญ่ อาศัยท้องภูเขานั้นแล เจริญโดยเทือกเขานั่นเอง. พุ่มกระพังโหมหนาทึบ ได้คลุมเบื้องบนพุ่มไผ่นั้นไว้. ทารกเมื่อตก จึงตกลงบนพุ่มนั้น เหมือนตกลงบนผ้าขนสัตว์.
               ในวันนั้น หัวหน้าช่างสานมีความต้องการด้วยไม้ไผ่. เขาไปกับลูกชายเริ่มจะตัดพุ่มไม้นั้น, เมื่อพุ่มไม้ไผ่นั้นไหวอยู่ เด็กก็ได้ร้องขึ้นแล้ว. เขาจึงพูดว่า “เหมือนเสียงเด็ก” จึงขึ้นไปทางหนึ่ง เห็นเด็กนั้น มีใจยินดีจึงพาไปด้วยคิดว่า “เราได้ลูกชายแล้ว”
               นางกาลีไปสู่สำนักของเศรษฐี ถูกเศรษฐีนั้นถามแล้ว จึงบอกเรื่องนั้น อันเศรษฐีกล่าวว่า “เจ้าจงไป เอาทรัพย์ให้ (เขา) ๑ พันแล้วนำมันกลับมาอีก” ได้ทำตามนั้นแล้ว.


               ให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นถึงตัว               
               เมื่อเศรษฐีทำกรรมนี้ๆ อยู่นั่นเทียว เด็กเติบใหญ่แล้ว. เขาได้มีชื่อว่า “โฆสกะ” นายโฆสกะนั้นปรากฏแก่เศรษฐีประหนึ่งหนามแทงตา. เศรษฐีไม่อาจเพื่อจะแลดูเขาตรงๆ ได้.
               ครั้งนั้น เศรษฐีตรองหาอุบายจะฆ่านายโฆสกะนั้น จึงไปสู่สำนักของนายช่างหม้อผู้สหายของตน แล้วถามว่า “เมื่อไร ท่านจะเผาเตา?” เมื่อเขาตอบว่า “พรุ่งนี้” จึงกล่าวว่า “ถ้ากระนั้น ท่านจงเอาทรัพย์ ๑ พันนี้ไว้แล้วจงทำการงานให้ฉันสักอย่างหนึ่ง”
               นายช่างหม้อ. การงานอะไร? นาย.
               เศรษฐี. ฉันมีบุตรชาติชั่วอยู่คนหนึ่ง ฉันจักส่งมันมายังสำนักของท่าน, เมื่อฉะนี้ ท่านจงให้มันเข้าไปสู่ห้อง เอามีดอันคมตัดให้เป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ เอาใส่ในตุ่ม แล้วเผาในเตา ทรัพย์ ๑ พันนี้เป็นเช่นกับรางวัลของท่าน. ในภายหลัง ฉันจักทำสิ่งที่ควรทำแก่ท่านให้ยิ่งขึ้นอีก.
               นายช่างหม้อ. ได้จ้ะ.
               ในวันรุ่งขึ้น เศรษฐีจึงเรียกนายโฆสกะมาแล้ว กล่าวว่า “พ่อ เมื่อวานนี้ ฉันสั่งการงานนายช่างหม้อไว้อย่างหนึ่ง, เจ้าจงมา จงไปยังสำนักของเขา แล้วพูดอย่างนี้ว่า “ได้ยินว่า ท่านจงยังการงานที่คุณพ่อของผม สั่งไว้เมื่อวันวานนี้ให้สำเร็จเถิด” ดังนี้แล้ว ได้ส่งไปแล้ว. นายโฆสกะนั้นรับว่า “จ้ะ” ได้ไปแล้ว.
               ฝ่ายลูกชายของเศรษฐีกำลังเล่นคลีกับพวกเด็ก เห็นนายโฆสกะนั้นเดินไปในที่นั้น จึงเรียกนายโฆสกะนั้นแล้ว ถามว่า “ไปไหน? พี่” เมื่อนายโฆสกะบอกว่า “เอาข่าวของคุณพ่อ ไปสำนักของนายช่างหม้อ”, จึงพูดว่า “ฉันจักไปในที่นั้น, เด็กเหล่านี้ชนะฉันหลายคะแนนแล้ว, พี่จงชนะเอาคะแนนคืนให้ฉัน.”
               นายโฆสกะ. พี่กลัวคุณพ่อ.
               ลูกเศรษฐี. อย่ากลัวพี่ ฉันจักนำข่าวนั้นไปเอง พวกเด็กหลายคนชนะฉันแล้ว พี่จงชิงชัยเอาคะแนนให้ฉัน จนกว่าฉันจะกลับมา. ได้ยินว่า โฆสกะเป็นผู้ฉลาดในการเล่นคลี เพราะฉะนั้น ลูกชายของเศรษฐีจึงได้หน่วงเหนี่ยวนายโฆสกะนั้นไว้อย่างนั้น.
               ฝ่ายโฆสกะนั้นจึงพูดกับลูกชายเศรษฐีนั้นว่า “ถ้ากระนั้น จงไปบอกกับนายช่างหม้อว่า ทราบว่า เมื่อวานนี้ คุณพ่อผม สั่งให้ท่านทำการงานไว้อย่างหนึ่ง, ท่านจงยังการงานนั้นให้สำเร็จ” ดังนี้แล้ว ส่งเขาไปแล้ว. ลูกชายของเศรษฐีนั้นไปยังสำนักของนายช่างหม้อนั้น ได้กล่าวตามสั่งนั้น. ครั้งนั้น นายช่างหม้อได้ฆ่าลูกชายเศรษฐีนั้นตามคำสั่งเศรษฐีสั่งไว้ทีเดียว แล้วโยนไปในเตา.
               ฝ่ายนายโฆสกะเล่นตลอดภาคของวัน พอตกเย็นก็กลับบ้าน, เมื่อเศรษฐีเห็นแล้ว จึงถามว่า “ไม่ได้ไปหรือ? พ่อ” ก็แจ้งถึงเหตุที่ตนไม่ไปและเหตุที่น้องชายไปให้ทราบ. เศรษฐีฟังคำนั้นแล้ว จึงร้องลั่นว่า “อย่าได้ฆ่าเลย” ปานประหนึ่งว่า มีโลหิตเดือดพล่านในสรีระทั้งสิ้น ประคองแขนคร่ำครวญอยู่ว่า “ช่างหม้อผู้เจริญ อย่าให้เราฉิบหายเสียเลย อย่าให้เราฉิบหายเสียเลย” ดังนี้ ได้ไปยังสำนักของนายช่างหม้อนั้นแล้ว.
               นายช่างหม้อเห็นเศรษฐีนั้นมาอยู่โดยอาการอย่างนั้น จึงพูดว่า “นาย ท่านอย่าทำเสียงดังไป, การงานของท่านสำเร็จแล้ว”, เศรษฐีนั้นอันความโศกเปรียบดังภูเขาใหญ่ท่วมทับแล้ว เสวยโทมนัสมีประมาณมิใช่น้อย ดังบุคคลผู้มีใจคิดร้ายต่อบุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายฉะนั้น.


               ทำร้ายผู้ไม่ทำร้ายตอบย่อมถึงฐานะ ๑๐               
               เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า๑-
                                   “ผู้ประทุษร้ายในท่านผู้ไม่ประทุษร้าย หาอาชญามิได้
                         ด้วยอาชญา ย่อมพลันถึงฐานะ ๑๐ อย่างใดอย่างหนึ่งทีเดียว
                         คือ พึงถึงเวทนาอันหยาบ, ความเสื่อม, ความแตกแห่งสรีระ,
                         ความเจ็บไข้อย่างหนัก, ความฟุ้งซ่านแห่งจิต, ความขัดข้อง
                         แต่พระราชา, ความกล่าวตู่อย่างทารุณ, ความเสื่อมรอบแห่ง
                         หมู่ญาติ, ความย่อยยับแห่งโภคะ, อีกประการหนึ่ง ไฟป่าย่อม
                         ไหม้เรือนของผู้นั้น,
                                   เพราะความแตกแห่งกาย เขาผู้มีปัญญาทราม ย่อมเข้า
                         ถึงนรก.”

____________________________
๑- คาถาธรรมบท ทัณฑวรรคที่ ๑๐


               อุบายใหม่ของเศรษฐี               
               แม้เช่นนั้น เศรษฐีก็ไม่อาจแลดูนายโฆสกะนั้นตรงๆ อีกได้ ครุ่นคิดหาอุบายว่า “อย่างไร? จึงจะฆ่ามันเสียได้” มองเห็นอุบายว่า “เราจักส่งมันไปยังสำนักของคนเก็บส่วย (นายเสมียน) ใน ๑๐๐ บ้านของเรา ให้มันตายเสีย” ดังนี้แล้ว จึงเขียนหนังสือไปถึงคนเก็บส่วยนั้นว่า “ผู้นี้เป็นลูกชาติชั่วของเรา, ฆ่ามันเสียแล้ว จงโยนลงไปในหลุมคูถ, เมื่อทำการอย่างนี้เสร็จแล้ว, ฉันจักรู้สิ่งที่จะตอบแทนแก่ท่านลุงในภายหลัง” ดังนี้แล้ว จึงกล่าวว่า “พ่อโฆสกะ คนเก็บส่วยของฉันมีอยู่ที่บ้านส่วย ๑๐๐ บ้าน, เจ้าจงนำเอาจดหมายฉบับนี้ไปให้เขา” ดังนี้ จึงเอาจดหมายผูกไว้ที่ชายผ้าของเขา.
               ก็นายโฆสกะนั้นไม่รู้จักอักษรสมัย, เพราะตั้งแต่เขาเป็นเด็ก เศรษฐีก็ครุ่นคิดฆ่าเขาเสมอ (แต่) ไม่อาจฆ่าได้, จักให้เขาศึกษาอักษรสมัยได้อย่างไร? นายโฆสกะนั้น ผูกจดหมายฆ่าตัวเองไว้ที่ชายผ้าด้วยประการฉะนี้ เมื่อจะออกเดินจึงพูดว่า “คุณพ่อ ผมไม่มีเสบียงอาหาร”
               เศรษฐี. เจ้าไม่ต้องมีกิจ (ห่วง) ด้วยเสบียงทาง. ในบ้านชื่อโน้น ในระหว่างทาง เศรษฐีผู้เป็นสหายของข้ามีอยู่ เจ้าจงไปกินอาหารเช้าที่เรือนของเขาแล้ว จึงเดินต่อไป.
               นายโฆสกะนั้นรับว่า “จ้ะ” ไหว้บิดาแล้ว ออกเดินไปถึงบ้านนั้น ถามถึงเรือนเศรษฐี เดินไปพบภรรยาของเศรษฐี. เมื่อนางกล่าวว่า “เจ้ามาจากไหน?” จึงตอบว่า “มาจากในเมือง.”
               ภรรยาของเศรษฐี. เจ้าเป็นลูกของใคร?
               โฆสกะ. คุณแม่ ผมเป็นลูกของเศรษฐี ผู้เป็นสหายของท่าน.
               ภรรยาของเศรษฐี. เจ้าชื่อโฆสกะหรือ?
               โฆสกะ. ขอรับ คุณแม่.
               พร้อมกับเวลาเห็นเท่านั้น ความรักใคร่เหมือนลูกในโฆสกะนั้นบังเกิดแก่นางแล้ว.


               ความรักเกิดขึ้นด้วยเหตุ ๒ ประการ               
               ก็เศรษฐีมีลูกสาวอยู่คนหนึ่ง, นางมีอายุราว ๑๕-๑๖ ปี รูปร่างสะสวย น่าเลื่อมใส. เศรษฐีให้หญิงรับใช้ไว้คนหนึ่งเพื่อรักษานางแล้ว ให้อยู่ที่ห้องมีสิริ (ห้องพิเศษ) ที่พื้นชั้นบนแห่งปราสาท ๗ ชั้น ในขณะนั้น ลูกสาวเศรษฐีใช้หญิงคนใช้ไปตลาด. ครั้งนั้น ภรรยาของเศรษฐีเห็นหญิงทาสีนั้นแล้ว ถึงถามว่า “จะไปไหน?” เมื่อนางตอบว่า “ข้าแต่แม่เจ้า ดิฉันไปด้วยกิจรับใช้แห่งธิดาของแม่เจ้า” จึงกล่าวว่า “เจ้าจงมา ทางนี้ก่อน งดการรับใช้ไว้. จงลาดตั่ง ล้างเท้า ทาน้ำมัน ปูที่นอนให้บุตรของเรา จึงทำการรับใช้ภายหลัง.” นางได้กระทำการตามสั่งแล้ว.
               ครั้งนั้น ลูกสาวของเศรษฐีได้ดุหญิงรับใช้นั้นผู้มาช้า. ทีนั้น หญิงคนใช้นั้นเรียนกะนางว่า “แม่เจ้าอย่าเพิ่งโกรธดิฉัน. บุตรเศรษฐีชื่อโฆสกะมาแล้ว, ดิฉันทำสิ่งนี้ๆ แก่เขาแล้ว ไปในตลาดนั้นแล้วจึงมา.” เพราะฟังชื่อว่า “โฆสกะ” ผู้บุตรเศรษฐีนั้น ความรักเฉือนผิวหนังเป็นต้นจดถึงเยื่อในกระดูก ตั้งขึ้นแก่ลูกสาวเศรษฐีแล้ว.


               ลูกสาวเศรษฐีแปลงสาสน์               
               แท้จริง ลูกสาวเศรษฐีนั้นเป็นภรรยาของนายโฆสกะนั้นในเวลาที่เขาเป็นนายโกตุหลิก ได้ถวายข้าวสุกทะนานหนึ่งแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ด้วยอานุภาพแห่งผลทานนั้น นางจึงมาเกิดในตระกูลเศรษฐีนี้. ความรักในปางก่อน ได้ท่วมทับยึดลูกสาวเศรษฐีนั้นไว้ ด้วยประการฉะนี้.
               เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
                                   “ความรักนั้น ย่อมเกิดด้วยเหตุ ๒ ประการ
                         อย่างนี้ คือ ด้วยความอยู่ร่วมกันในกาลก่อน ๑
                         ด้วยการเกื้อกูลกันในกาลปัจจุบัน ๑ เหมือนอุบล
                         (อาศัยเปือกตมและน้ำ) เกิดในน้ำฉะนั้น.”

               ทีนั้น นางจึงถามหญิงสาวใช้นั้นว่า “(เดี๋ยวนี้) เขาอยู่ที่ไหนจ๊ะ? แม่.”
               หญิงสาวใช้. เขานอนหลับอยู่บนที่นอน (เจ้าค่ะ) แม่เจ้า.
               ธิดาเศรษฐี. ก็ในมือของเขา มีอะไรอยู่หรือ?
               หญิงสาวใช้. มีหนังสืออยู่ที่ชายผ้าเจ้าค่ะ แม่เจ้า.
               ธิดาเศรษฐีนั้นจึงคิดว่า “นั่นจะเป็นหนังสืออะไรหนอ?” เมื่อนายโฆสกะนั้นกำลังหลับอยู่, เมื่อมารดาบิดาไม่แลเห็น เพราะมัวเอาใจส่งไปในเรื่องอื่น, ลงไปสู่สำนัก (ของเขา) แล้ว แก้เอาหนังสือนั้น เข้าไปยังห้องของตน ปิดประตู เปิดหน้าต่าง อ่านหนังสือ เพราะนางฉลาดในอักษรสมัย แล้วคิดว่า “ตายจริง! คนเขลาผูกหนังสือสำหรับฆ่าตัวที่ชายผ้าแล้วก็เที่ยวไป. ถ้าเราไม่เห็นหนังสือแล้ว เขาคงไม่มีชีวิตอยู่” ดังนี้แล้ว จึงฉีกหนังสือฉบับนั้นเสีย เขียนหนังสืออีกฉบับหนึ่ง ตามถ้อยคำของเศรษฐีว่า “ลูกชายของข้าพเจ้านี้ ชื่อเจ้าโฆสกะ, จงให้นำเครื่องบรรณาการมาจากบ้าน (ส่วย) ๑๐๐ บ้าน ทำมงคลกับบุตรสาวเศรษฐีในชนบทนี้ ให้ปลูกเรือนขึ้น ๒ ชั้นในท่ามกลางบ้านเป็นที่อยู่ของตน ทำการรักษาอย่างแข็งแรง ด้วยเครื่องล้อมคือกำแพง และเครื่องล้อมคือบุรุษ, และจงส่งข่าวไปให้ข้าพเจ้าว่า ‘การนี้ การนี้ ฉันทำเสร็จแล้ว’ เมื่อกรรมอย่างนี้ท่านทำแล้ว ฉันจักรู้สิ่งที่ควรทำแก่ท่านลุงในภายหลัง”,
               ก็แลครั้นเขียนเสร็จแล้ว นางจึงพับลงไปผูกไว้ที่ชายผ้าของนายโฆสกะนั้นตามเดิม.


               นายโฆสกะได้ภรรยา               
               นายโฆสกะนั้นนอนหลับตลอดวัน ลุกขึ้นบริโภคแล้วก็หลีกไป. ในวันรุ่งขึ้น เขาไปสู่บ้านนั้นแต่เช้าตรู่ แลเห็นนายเสมียนทำกิจในบ้านอยู่ทีเดียว.
               นายเสมียนนั้นเห็นนายโฆสกะนั้นแล้ว จึงถามว่า “อะไร? พ่อ”
               นายโฆสกะนั้นกล่าวว่า “คุณพ่อของผม ส่งหนังสือมาถึงท่าน”
               นายเสมียนจึงถามว่า “หนังสือเพื่อการอะไร? พ่อ จงบอกมา” รับเอาหนังสือแล้ว อ่านดูก็มีความพอใจ จึงกล่าวกะคหบดีทั้งหลายว่า “ผู้เจริญทั้งหลาย ขอเชิญท่านดูความรักใคร่ในเราของนายเรา, ท่านเศรษฐีส่งบุตรชายมายังสำนักของเรา ด้วยแจ้งว่า ‘จงทำมงคลแก่บุตรคนโตของเรา’ พวกท่านจงรีบเอาไม้เป็นต้นมาเร็ว” ดังนี้แล้ว ให้ปลูกเรือนมีประการดังกล่าวแล้วในท่ามกลางบ้าน ให้นำเครื่องบรรณาการมาแต่บ้าน ๑๐๐ บ้าน นำลูกสาวของเศรษฐีในชนบทมากระทำมงคลแล้ว จึงส่งข่าวไปแก่เศรษฐีว่า “การนี้ การนี้ ข้าพเจ้าทำเสร็จแล้ว”


               เศรษฐีเสียใจจนเกิดโรค               
               เพราะได้ฟังข่าวนั้น ความเสียใจอย่างใหญ่บังเกิดแก่เศรษฐีแล้วว่า “เราให้ทำสิ่งใด สิ่งนั้นไม่สำเร็จ, สิ่งใดมิให้ทำ สิ่งนั้นก็กลับสำเร็จ.” ความเศร้าโศกนั้น กับความเศร้าโศกถึงบุตร เป็นอันเดียวกันเทียว ยังความร้อนในท้องให้เกิดขึ้น ให้เกิดโรคอติสาร๑- แล้ว.
____________________________
๑- โรคอันยังโลหิตให้แล่นไปยิ่ง, โรคลงแดง

               แม้ลูกสาวของเศรษฐีก็บังคับพวกคนว่า “ถ้าว่าใครๆ มาจากสำนักของเศรษฐี, ท่านยังไม่บอกแก่เราแล้ว อย่าบอกแก่เศรษฐีบุตรก่อน.”
               แม้เศรษฐีเล่าก็คิดว่า “บัดนี้ เราจะไม่ทำบุตรชั่วชาติคนนั้นให้เป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติของเรา.” ดังนี้แล้ว จึงบอกนายเสมียนคนหนึ่งว่า “ลุง ฉันปรารถนาจะพบบุตรของฉัน, ท่านจงส่งคนรับใช้ไปคนหนึ่ง ให้เรียกบุตรของฉันมา.” เขารับว่า “ได้จ้ะ” ให้หนังสือแล้ว ส่งคนผู้หนึ่งไป.
               ฝ่ายลูกสาวของเศรษฐีทราบว่า บุรุษนั้นมายืนอยู่ที่ประตู ให้เรียกเขามาแล้ว ถามว่า “อะไร? พ่อ”
               คนรับใช้. เศรษฐีไม่สบาย เพื่อจะพบลูกชาย ให้เรียก (เขา) แม่เจ้า.
               เศรษฐีธิดา. พ่อ เศรษฐียังมีกำลัง หรือถอยกำลัง ?
               คนรับใช้. ยังมีกำลัง บริโภคอาหารได้อยู่ก่อน แม่เจ้า.
               ลูกสาวเศรษฐีนั้นไม่ให้บุตรเศรษฐีทราบเทียว ให้ๆ ที่อยู่และเสบียงเดินทางแก่เขาแล้ว กล่าวว่า “ท่านจักไปได้ในเวลาที่ฉันส่งไป จงพักอยู่ก่อน.”
               มหาเศรษฐีได้กล่าวกะนายเสมียนอีกว่า “ลุง ท่านยังไม่ได้ส่งหนังสือไปยังสำนักบุตรของฉันหรือ?”
               นายเสมียน. ส่งไปแล้ว นาย คนผู้ไปแล้ว ยังไม่มาก่อน.
               เศรษฐี. ถ้ากระนั้น ท่านจงส่งผู้อื่นไปอีก.
               นายเสมียนนั้นส่งไปแล้ว.
               ลูกสาวของเศรษฐีปฏิบัติแม้ในบุรุษนั้น อย่างนั้นเหมือนกัน. ในกาลนั้น โรคของเศรษฐีหนักแล้ว. ภาชนะหนึ่งเข้า, ภาชนะหนึ่งออก.
               เศรษฐีจึงถามนายเสมียนอีกว่า “ลุง ท่านยังไม่ได้ส่งหนังสือไปยังสำนักบุตรของฉันแล้วหรือ.”
               นายเสมียน. ส่งไปแล้ว นาย แต่คนที่ไปยังไม่กลับ.
               เศรษฐี. ถ้ากระนั้น ท่านจงส่งผู้อื่นไปอีก.
               นายเสมียนนั้นส่งไปแล้ว. ลูกสาวเศรษฐีถามประพฤติเหตุนั้น แม้กะบุรุษผู้มาในวาระที่ ๓ แล้ว. บุรุษผู้นั้นบอกว่า “ข้าแต่นาย เศรษฐีป่วยหนัก ตัดอาหารเสียแล้ว มีความตายเป็นเบื้องหน้า, ภาชนะหนึ่งออก ภาชนะหนึ่งเข้า.” ลูกสาวของเศรษฐีจึงคิดว่า “บัดนี้เป็นเวลาที่เขาควรไปได้” จึงบอกแก่เศรษฐีบุตรว่า “ทราบว่า คุณพ่อของท่านป่วย.” เมื่อเขากล่าวว่า “พูดอะไร? หล่อน” จึงพูดว่า “ความไม่สำราญมีแก่บิดาของท่านนั้น นาย.”
               โฆสกะ. บัดนี้ ฉันควรทำอย่างไร?
               เศรษฐีธิดา. นาย เราจักถือเครื่องบรรณาการอันเกิดจากบ้านส่วย ๑๐๐ บ้าน ไปเยี่ยมท่าน.
               นายโฆสกะนั้นรับว่า “จ้ะ” แล้วให้คนนำเครื่องบรรณาการมา เอาเกวียนบรรทุก หลีกไปแล้ว.
               ครั้งนั้น ลูกสาวของเศรษฐีนั้นพูดกะโฆสกะนั้นว่า “บิดาของท่านถอยกำลัง, เมื่อเราถือเอาเครื่องบรรณาการมีประมาณเท่านี้ไป จักเป็นการเนิ่นช้า, ขอท่านจงให้ขนบรรณาการนี้กลับเถิด” ดังนี้แล้ว จึงส่งบรรณาการนั้นทั้งหมดไปสู่เรือนแห่งตระกูลของตน แล้วพูดอีกว่า “นาย ท่านพึงยืนข้างเท้าแห่งบิดาของท่าน, ฉันจักยืนข้างเหนือศีรษะ.” เมื่อเข้าไปสู่เรือนนั่นเทียว นางก็บังคับพวกคนของตนว่า “พวกท่านจงถือเอาการรักษาทั้งข้างหน้าเรือนทั้งข้างหลังเรือน.” ก็ในเวลาที่เข้าไป เศรษฐีบุตรได้ยืนอยู่แล้วที่ข้างเท้าของบิดา. ส่วนภรรยาได้ยืนข้างเหนือศีรษะ.


               เศรษฐีทำกาละ               
               ในขณะนั้น เศรษฐีนอนหงายแล้ว. ส่วนนายเสมียน เมื่อนวดเท้าของเศรษฐีนั้น จึงพูดว่า “นาย บุตรชายของท่านมาแล้ว.”
               เศรษฐี. เขาอยู่ที่ไหน?
               นายเสมียน. เขายืนอยู่ที่ปลายเท้า.
               ครั้งนั้น เศรษฐีเห็นบุตรชายนั้นแล้ว จึงให้เรียกนายเสมียนมาแล้ว ถามว่า ในเรือนของฉันมีทรัพย์อยู่เท่าไร? เมื่อนายเสมียนเรียนว่า “นาย มีอยู่ ๔๐ โกฏิเท่านั้น, แต่เครื่องอุปโภคบริโภคและบ้าน นา สัตว์ ๒ เท้า ๔ เท้า ยานพาหนะ มีอยู่จำนวนเท่านี้ๆ”, ใคร่จะพูดว่า “ฉันไม่ให้ทรัพย์ มีประมาณเท่านี้แก่โฆสกะบุตรของฉัน”, (กลับ) พูดว่า “ฉันให้.” ลูกสาวเศรษฐีฟังคำนั้นแล้วคิดว่า “เศรษฐีนี้ เมื่อพูด พึงพูดคำอะไรอื่น” เป็นเหมือนเร่าร้อนด้วยความโศก สยายผม ร้องไห้กล่าวว่า “คุณพ่อ พูดอะไรนี่, พวกเราฟังคำของท่าน ชื่อแม้นี้, พวกเราไม่มีบุญหนอ.” ดังนี้แล้ว จึงเอาศีรษะประหารเศรษฐีนั่นที่ท่ามกลางอก ล้มลงเอาศีรษะกลิ้งเกลือกอยู่ที่ท่ามกลางอกของเศรษฐีนั้น แสดงอาการคร่ำครวญ จนเศรษฐีไม่อาจพูดได้อีก. แม้เศรษฐีก็ได้ทำกาละในขณะนั้นเอง.


               พระเจ้าอุเทนประทานตำแหน่งเศรษฐีแก่นายโฆสกะ               
               ชนทั้งหลายสดับว่า “เศรษฐีถึงอนิจกรรมแล้ว” จึงไปกราบทูลพระเจ้าอุเทน. พระเจ้าอุเทนทรงให้ทำฌาปนกิจสรีระของเศรษฐีนั้นแล้ว ตรัสถามว่า “ก็ลูกชายหรือลูกหญิงของเศรษฐีนั้น มีอยู่หรือ?”
               ชนทั้งหลายกราบทูลว่า “มีอยู่ พระเจ้าข้า ลูกชายของเศรษฐีนั้นชื่อว่า โฆสกะ, เศรษฐีนั้นมอบหมายทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้แก่โฆสกะนั้นแล้ว ก็ถึงแก่อนิจกรรม พระเจ้าข้า.” พระราชาทรงให้เรียกตัวเศรษฐีบุตรมาแล้วในกาลอื่น. ก็ในวันนั้นฝนตก, ที่พระลานหลวงมีน้ำขังอยู่ในที่นั้นๆ เศรษฐีบุตรไปแล้วด้วยหวังว่า “จักเฝ้าพระราชา” พระราชาทรงเปิดพระแกล ทอดพระเนตรดูนายโฆสกะนั้นเดินมาอยู่ ทรงเห็นเขาโดดน้ำที่พระลานหลวงเดินมา จึงตรัสถามเขา ซึ่งมาถวายบังคมแล้วยืนอยู่ว่า “พ่อ เจ้าชื่อโฆสกะหรือ?” เมื่อเขาทูลว่า “ถูกแล้ว พระเจ้าข้า” ทรงปลอบเขาว่า “เจ้าอย่าเสียใจว่า ‘บิดาของเราถึงอนิจกรรมแล้ว’ เราจักให้ตำแหน่งเศรษฐี อันเป็นของบิดาของเจ้าแก่เจ้านั่นเอง” ดังนี้แล้ว ทรงส่งเขาไปว่า “จงไปเถิด พ่อ” และพระราชาได้ประทับยืนทอดพระเนตรดูเขาซึ่งไปอยู่เทียว. เขาไม่โดดน้ำที่เขาโดดในเวลาที่มา ได้ลงไปค่อยๆ.
               ครั้งนั้น พระราชาตรัสสั่งให้เรียกนายโฆสกะนั้นมาจากที่นั้นแล แล้วตรัสถามว่า “เพราะเหตุไรหนอ? พ่อ ท่านเมื่อมาสู่สำนักของเราจึงโดดน้ำมาแล้ว, เมื่อไป เดี๋ยวนี้ลงไปแล้ว จึงค่อยๆ เดินไป.”
               นายโฆสกะทูลว่า “เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้ายังเป็นเด็กในขณะนั้น, นี้ชื่อว่าเป็นเวลาเล่น. ก็ในกาลนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้รับทราบตำแหน่งจากพระองค์แล้ว. เพราะฉะนั้น การที่ข้าพระองค์ไม่เที่ยวเหมือนในกาลก่อน แล้วค่อยๆ ไป จึงควรในเดี๋ยวนี้.”
               พระราชาทรงสดับคำนั้นแล้ว ทรงดำริว่า “ชายผู้นี้มีปัญญา, เราจักให้ตำแหน่งเศรษฐีแก่เขาในบัดนี้เถิด” ดังนี้แล้ว ประทานโภคะที่บิดาบริโภคแล้ว ได้ประทานตำแหน่งเศรษฐี พร้อมด้วยสรรพวัตถุ ๑๐๐ อย่าง.


               นายโฆสกะรับตำแหน่งเศรษฐี               
               นายโฆสกะนั้นยืนอยู่บนรถ ได้กระทำประทักษิณพระนครแล้ว. ที่อันนายโฆสกะนั้นแลดูแล้วๆ ย่อมหวั่นไหว. แม้ลูกสาวของเศรษฐีนั่งปรึกษากับนางกาลีสาวใช้ว่า “แม่กาลี สมบัติมีประมาณเท่านี้ สำเร็จแล้วแก่บุตรของท่าน ก็เพราะอาศัยเรา.”
               กาลี. เพราะเหตุไร? แม่.
               เศรษฐีธิดา. เพราะโฆสกะนี้ผูกจดหมายฆ่าตัวตายไว้ที่ชายผ้ามาสู่เรือนของพวกเรา, ครั้งนั้น ฉันฉีกจดหมายฉบับนั้นของเขา เขียนจดหมายฉบับอื่น เพื่อให้ทำมงคลกับฉัน ทำอารักขาในเขาสิ้นกาลเท่านี้.
               กาลี. แม่ ท่านรู้เห็นเพียงเท่านี้, แต่เศรษฐีมุ่งแต่จะฆ่าเขาตั้งแต่เขาเป็นเด็ก ก็ไม่อาจเพื่อจะฆ่าได้, อาศัยนายโฆสกะนี้อย่างเดียว สิ้นทรัพย์ไปมากมาย.
               เศรษฐีธิดา. แม่ เศรษฐีทำกรรมหนักหนอ.
               เศรษฐีธิดานั้นเห็นนายโฆสกะนั้นกระทำประทักษิณพระนคร เข้าไปสู่เรือน จึงหัวเราะ ด้วยคิดว่า “สมบัติมีประมาณเท่านี้ๆ สำเร็จแล้ว ก็เพราะอาศัยเรา.”
               ครั้งนั้น เศรษฐีบุตรเห็นอาการนั้น จึงถามว่า “ท่านหัวเราะ ทำไม?”
               เศรษฐีธิดา. เพราะอาศัยเหตุอันหนึ่ง.
               เศรษฐีบุตร. จงบอกเหตุนั้น.
               เศรษฐีธิดานั้น ไม่บอกแล้ว.
               เศรษฐีบุตรนั้นจึงขู่ว่า “ถ้าไม่บอก จะฟันเจ้าให้เป็น ๒ ท่อน” ดังนี้ จึงชักดาบออกแล้ว.
               เศรษฐีธิดานั้นจึงบอกว่า ดิฉันหัวเราะ ก็เพราะคิดว่า “สมบัติมีประมาณเท่านี้ๆ ท่านได้แล้ว ก็เพราะอาศัยฉัน.”
               เศรษฐี. ถ้าว่าคุณพ่อของฉันมอบมรดกของตนให้แก่ฉันแล้ว ท่านจะได้เป็นอะไรในทรัพย์นั้น. ได้ยินว่า เศรษฐีไม่รู้เรื่องอะไร สิ้นกาลเท่านี้. เพราะฉะนั้น จึงไม่เชื่อถ้อยคำของเศรษฐีธิดานั้น. ครั้งนั้น เศรษฐีธิดานั้นได้เล่าเรื่องนั้นทั้งหมดแก่เศรษฐีบุตรนั้นว่า “บิดาของท่านให้หนังสือฆ่า (ตัว) ส่งท่านมาแล้ว. ดิฉันทำกรรมอย่างนี้ๆ รักษาท่านไว้แล้ว.” เศรษฐีบุตรไม่เชื่อ พูดว่า “ท่านพูดไม่จริง” จึงคิดว่า “เราจักถามแม่กาลี” ดังนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า “ได้ยินว่า อย่างนั้นหรือ? แม่.” นางกาลีจึงกล่าวว่า “พ่อ ตั้งแต่ท่านเป็นเด็ก เศรษฐีประสงค์จะฆ่าท่าน แต่ไม่อาจเพื่อจะฆ่าได้, อาศัยท่าน สิ้นทรัพย์ไปมากมาย, ท่านพ้นแล้วจากความตายในที่ ๗ แห่ง, บัดนี้ มาแล้วจากบ้านส่วย ถึงตำแหน่งเศรษฐี พร้อมกับด้วยสรรพวัตถุอย่างละ ๑๐๐.”
               เศรษฐีนั้นฟังคำนั้นแล้ว คิดว่า “เราทำกรรมหนักหนอ เราพ้นแล้วจากความตายเห็นปานนี้แล แล้วเป็นอยู่ด้วยความประมาท ไม่สมควร, เราจักไม่ประมาท.” ดังนี้ สละทรัพย์วันละพัน เริ่มตั้งทานไว้เพื่อคนเดินทางไกลและคนกำพร้า เป็นต้นแล้ว.
               กุฏมพี ชื่อว่ามิตตะ ได้เป็นผู้ขวนขวายในการทานของเศรษฐีนั้นแล้ว.
               ความอุบัติของโฆสกเศรษฐี เป็นดังนี้.

2 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ
  2. ททมาโน ปิโย โหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved. _/|\_

    ตอบลบ