วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู๔

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
หลักธรรมของศาสนา
            ธรรมแปลได้หลายอย่าง คือแปลว่าหน้าที่ก็ได้ แปลว่าสิ่งที่ควรทำก็ได้ นอกจากนี้ยังแปลได้ว่าความเจริญ ความรู้ของจริง การรู้ความถูกต้อง และรู้ตรรกศาสตร์ ตัวอย่างเช่น ความร้อนเป็นธรรมะของไฟ ความสว่างและความร้อนเป็นธรรมะของดวงอาทิตย์ ความเย็นเป็นธรรมะของหิมะ การมองเห็นเป็นธรรมะของดวงตา เป็นต้น
            หลักธรรมสำคัญ  มีอยู่สี่ประการด้วยกัน คือการปฏิบัติธรรมของพระพรหม เรียกว่าพรหมธรรมคือ
                เมตตา  หมายถึงความรัก ความสงสาร ที่เกิดจากจิตใจโดยไม่มีตัณหามาเกี่ยว จะต้องมีพร้อมทั้งกาย วาจา ใจ เป็นความคิดปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นมีความสุข
                กรุณา  หมายถึงความปรารถนาให้ผู้อื่นมีสุข โดยที่ตนจะทำการช่วยเหลือเมื่อมีโอกาส และต้องทำทั้งกายวาจา ใจ โดยไม่มีตัณหามาเกี่ยวข้อง เป็นความคิดปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
                มุทิตา  หมายถึงความยินดี เมื่อเห็นผู้อื่นมีความสุข ต้องทำทั้งกายวาจาใจ โดยไม่มีตัณหามาเกี่ยวข้อง
                อุเบกขา  หมายถึงการวางเฉยในสิ่งที่ให้ร้ายแก่ตน และการวางเฉยในฐานะที่เราไม่สามารรถที่จะช่วยเหลือได้ จะต้องมีทั้งกาย วาจา ใจ
            ลักษณะธรรมในพระธรรมศาสตร์  มีอยู่สิบประการด้วยกันคือ
                ธฤติ  ความพอใจ คล้ายกับคำว่าสันโดษ มีความพยายามอยู่ด้วยความมั่นคงเสมอ มีความรู้สึกยินดี และพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ โดยปราศจากความโลภ
                กษมา  ความอดกลั้นหรือความอดโทษ มีความพากเพียรพยายามอดทน โดยถือเอาความเมตตากรุณาเป็นที่ตั้ง
                ทมะ  การระงับจิตใจ รู้จักข่มใจของตนด้วยความสำนึกในเมตตาและมีสติอยู่เสมอ ไม่ปล่อยให้หวั่นไหวไปตามอารมณ์ได้ง่าย
                อัสเตยะ  ไม่ลัก ไม่ขโมย
                เศาจะ  ความบริสุทธิ์ การทำตนเองให้มีความบริสุทธิ์ทั้งกายและใจ
                อินทริยนิครหะ  การปราบปรามอินทรีทั้งสิบ การอดกลั้นหรือการระงับอินทรีย์ทั้งสิบได้แก่ประสาท ความรู้สึก ทางความรู้คือ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวหนัง กับประสาทความรู้สึกทางการกระทำ มีมือ เท้า ทวารหนัก ทวารเบา และลำคอ
                ธี  เหมือนกับธิติหรือธีรหรือพุทธิ หมายถึงปัญญา สติ ความคิด ความมั่นคงยืนนาน
                วิทยา  ความรู้ทางปรัชญาศาสตร์คือ รู้ลึกซึ้งและมีความรู้เกี่ยวข้องกับชีวะกับมายาและกับพระพรหม
                สตยะ  ความจริง ความเห็นอันสุจริต ความซื่อสัตย์ต่อกัน จนเป็นที่ไว้วางใจกัน เชื่อใจกันได้
                อโกรธะ  ไม่โกรธ มีความอดทน สงบเสงี่ยม รู้จักทำจิตใจให้สงบ
                ธรรม อรรถ กาม และโมกษ ผู้ใดปฏิบัติได้สำเร็จเรียกว่าสำเร็จขั้นกรรมโยค ในศาสนาพราหมณ์ ฮินดู คัมภีร์ทุกเล่มอ้างไว้เหมือนกันว่า กรรมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของมนุษย์ ชีวะของแต่ละคนล้วนเวียนว่ายตายเกิด ประสบทุกข์ สุข โดยอาศัยกรรมทั้งสิ้น กรรมใดที่ได้เลือกกระทำโดยใช้ชญาณ (ความรู้ความถูกต้อง) และถือเอาภักติเป็นทางเลือก กรรมนั้นย่อมเป็นเหตุแห่งความสุข แห่งยศ และแห่งเกียรติ ในยามที่บุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่ และจะได้ประสบสุขในชีวิตหน้าต่อไปอีก ตรงกันข้ามกรรมใดที่เลือกทำโดยปราศจากชญาณ และโดยไม่ถือเอาภักติเป็นเกณฑ์ กรรมนั้นย่อมเป็นเหตุ แห่งความทุกข์ ความเสื่อมยศ และความเสื่อมเกียรติทั้งในชีวิตนี้ และชีวิตหน้า
            หลักวรรณาศรม  ในคัมภีร์ต่าง ๆ ของหินทุธรรมได้สอนไว้ว่า การกระทำทุกอย่างในโลกนี้ ถ้าจะให้ได้ผลสำเร็จตามความประสงค์แล้ว ควรจะต้องประกอบด้วยองค์สามคือ ชญาณ วิชญาณ และภักติ ถ้ามนุษย์ต้องการจะเข้าให้ถึงองค์สามแห่งการปฏิบัติกรรมโยคแล้ว ก็ควรมีหลักทางวรรณะเข้าประกอบด้วย  มนุษย์แบ่งออกเป็นวรรณะใหญ่ ๆ สี่วรรณะด้วยกันคือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพทศย์ และศูทร
                พราหมณ์  คำว่าพราหมณ์หมายถึง ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับพระพรหม พระเวท และอาตมา ในคัมภีร์ธรรมศาสตร์บอกไว้าว่า ผู้ที่มีลักษณะ ๑๑ ประการ ผู้ที่กำหนดผู้นั้นย่อมเป็นพราหมณ์ ได้แก่
                    ศมะ หมายถึงสุภาพที่ภายในจิตใจไม่มีความยุ่งยากหรือปั่นป่วนด้วยกามโกรธ โลภ หลง แต่ประการใด เป็นธรรมชาติของเขาเช่นนั้นตั้งแต่วัยเด็กมา
                    ทมะ  หมายถึง  สภาพที่จิตใจได้รับการระงับไว้แล้ว สำนึกในเมตตา และมีสติอยู่เสมอ
                    ตบะ  หมายถึง ฝักใฝ่แต่ในความประพฤติที่จะหาความรู้ ความจริง
                    เศาจะ  หมายถึง การทำตนเองให้บริสุทธิ์ทั้งกายและใจ
                    สันโดษ  หมายถึง สภาพที่พอใจ หรือมีความสุขอยู่แล้วในทางสันติ
                     กษมา  หมายถึง ความอดกลั้น หรือความอดโทษ ถือเอาความเมตตากรุณาเป็นที่ตั้ง
                    สรลตา  ความซื่อตรงโดยนิสัย พูดตรงและทำตรง
                    ชญาณะ   ความรู้ ความเห็น ความชอบ ความถูกต้อง หรือความวิเวก
                    ทยา   ความมีเมตตากรุณาต่อชีวะทั้งหลาย
                    อาสติกตา  ความเห็นอันสุจริต
                    สัตยะ  จริง หรือ ความจริง หรือ ความเห็นอันสุจริต กล่าวคือ ควรแสดงความซื่อสัตย์ต่อกัน จนเป็นที่ไว้วางใจกันและเชื่อใจกันได้ โดยไม่คิดคดทรยศต่อกันอีกต่อไป

            ทั้งหมดเป็นธรรมะของพราหมณ์  นอกจากนี้ในพระธรรมศาสตร์  ยังได้กำหนดการกระทำของชนในแต่ละวรรณะไว้ด้วยว่า วรรณะใดมีการกระทำชนิดใดบ้าง  เพื่อสะดวกในการครองชีพของแต่ละวรรณะ  เช่น วรรณะพราหมณ์ มีสิทธิ หรือมีหน้าที่ ๖ ประการคือ
                    ปฐนัง  ได้แก่  การศึกษาชั้นสูง และพยายามแสวงหาความจริง
                    ปารนัง   ได้แก่ การให้การศึกษาแก่ผู้อื่น  เช่น เป็นครู อาจารย์
                    ยชนัง  ได้แก่ การทำพิธีบูชาต่าง ๆ  เช่น พิธียัชญ์  (ยัญญกรรม)  การจัดพิธีการกุศลต่าง ๆ
                    ยาชนำ  ได้แก่ การทำพิธีบูชาต่าง ๆ  เช่น พิธียัญยกรรม  และพิธีการกุศลอื่น ๆ  ตามความประสงค์ของผู้ใดผู้หนึ่ง
                    ทานัง   ได้แก่ การทำบุญให้ทาน แก่ผู้อื่นตามกำลังเท่าที่จะสามารถทำได้
                    ประติครหะ  ได้แก่  การรับบุญจากผู้มีจิตศรัทธา
                    นอกจากสิทธิและหน้าที่ดังกล่าวแล้ว หากจำเป็นในยามวิบัติกาล ก็อาจประกอบการกสิกรรม การค้าขาย หรือธุรกิจอื่น ๆ อีกได้
                กษัตริย์  คำว่า กษัตริย์ แปลว่า นักรบ หรือผู้ป้องกันภัย  เป็นวรรณะที่สองรองจากวรรณะพราหมณ์ มีสิทธิปกครองประเทศชาติ คือ ทำหน้าที่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน คัมภีร์ธรรมศาสตร์บ่งไว้ว่า ผู้ที่มีลักษณะ ๑๑ ประการ ที่กำหนด ผู้นั้นย่อมเป็นกษัตริย์ ได้แก่
                    ศุรตา  ความกล้าหาญ  ไม่ขลาดกลัว
                    วิรยะ  แรงหรือกำลัง หรืออำนาจ  ความเพียร ความมั่นคงในการรู้เผชิญภัย รบทัพจับศึก
                    ไธรยะ   ความมั่นคง ไม่รู้จักเบื่อหน่ายท้อถอย  มีแต่ความเพียรพยายามอย่างมั่นคงเสมอเป็นนิตย์
                    เตชะ  หมายถึง ความมียศ และมีเกียรติ รู้จักใช้อำนาจในทางที่ถูกต้อง และสุจริต
                    ทานะ  การให้ หมายถึง  ความมีจิตใจที่เต็มไปด้วยอุปการะ  ชอบอุปถัมภ์ บำรุงผู้อื่นเป็นนิตย์
                    ทมะ  เหมือนกับของพราหมณ์
                    กษมา  เหมือนกับของพราหมณ์
                    พราหมณภักติ  ความภักดีต่อพราหมณ์
                    ปรสันนตา  ความร่าเริงยินดี คือความไม่รู้จักวิตก  และก่อให้เกิดความปลื้มปิติแก่ผู้อื่น
                    รักษภาวะ   หมายถึง ความเตรียมตัวพร้อมอยู่เสมอ ที่จะปกป้องรักษาประเทศชาติ และช่วยหลือผู้อ่อนแอ  หรือเพื่อรักษาความยุติธรรม
                    สัตยะ   ความเห็นอันสุจริต
                    ทั้งหมดเป็นธรรมะของกษัตริย์ นอกจากนั้นผู้เป็นวรรณะกษัตริย์ ควรมีการกำหนดไว้ด้วยว่า หน้าที่ของตนมีสี่ประการคือ
                    ปฐนํ ยชนัง ทานัง  เหมือนที่กล่าวไว้แล้วในหน้าที่ของพราหมณ์
                    รักษา  เป็นผู้รักษา หรือคุ้มครองป้องกัน รู้จักใช้อาวุธต่าง ๆ รู้จักยุทธวิธี ตลอดจนรู้จักหลักวิชากฎหมายคือ นิติศาสตร์ด้วย
                    นอกจากสิทธิและหน้าที่ ทั้งสี่ประการดังกล่าวแล้ว หากจำเป็นในยามวิบัติกาล พระธรรมศาสตร์ยังอนุญาตให้ผู้ที่เป็นกษัตริย์ ประกอบอาชีพอื่นได้  เช่น เป็นครู อาจารย์ ทำพิธียัญและการกุศลต่าง ๆ ทำการกสิกรรม และการค้าขายเพื่อการครองชีพได้
                แพศย์   เป็นวรรณะที่สาม หมายถึงผู้ที่ทำหน้าที่ประกอบการค้า และพาณิชยการต่าง ๆ คัมภีร์ธรรมศาสตร์ บ่งไว้ว่าผู้ที่มีลักษณะสี่ประการที่กำหนดได้ชื่อว่า เป็นแพศย์ คือ
                    - มีความเฉลียวฉลาดในการแลกเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ คือ การค้าขาย มีความมั่นใจในอุตสาหกรรมต่าง ๆ
                    - มีสมองดีในการคิดเลข  คำนวนต้นทุนกำไร รู้จักว่าเมื่อไรควรเสีย เมื่อไรควรได้  มีความรอบคอบอยู่เสมอ
                    - มีความเชื่อถือ และความจงรักภักดีต่อพระเจ้าคือ พระพรหม  ตลอดจนคำสอนของพระพรหมด้วย
                    - มีความนับถือวรรณะพราหมณ์ และวรรณะกษัตริย์
                ข้อควรปฎิบัติของชนในวรรรณะแพศย์คือ ให้ทำการประกอบอาชีพกสิกรรม และการค้าขาย แต่ในยามวิบัติกาลพระธรรมศาสตร์ ก็อนุญาตให้ประกอบอาชีพได้ทุกอย่างตามกาละเทศ โดยต้องเป็นอาชีพที่สุจริตเท่านั้น
                ศูทร  เป็นวรรณะที่สี่  เป็นผู้รับใช้ในกิจการงานต่าง ๆ โดยทั่วไป คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ บ่งไว้ว่าผู้ที่มีลักษณะเจ็ดประการ ที่กำหนดได้ชื่อว่า เป็นศูทร คือ
                    นันรตา  แปลว่า  ความถ่อม น้อม หรือคดโค้ง งอ อันเป็นลักษณะของผู้ที่ต้องค้อมตัว คอยรับใช้ผู้อื่นอยู่เสมอ ด้วยความเสงี่ยมเจียมตน
                    นิษกปฎตา   ความเป็นผู้ปราศจากความเฉื่อยชา  ปราศจากการล่อลวง ตลบแตลง คดโกง มีแต่ความซื่อสัตย์เยี่ยงทาษ และผู้รับใช้ที่ดีมีหลักธรรม และความเจียมตัวเจียมกายแล้วทั้งปวง
                    เศาจะ อาสติกตา  เหมือนของพราหมณ์ ที่กล่าวแล้ว
                    อสเตยะ  ไม่ลัก ไม่ขโมย
                    สัตยะ  เหมือนของพราหมณ์ที่กล่าวแล้ว
                    อาทรภาวะ  เป็นภาวะดีแห่งความเคารพนับถือที่แสดงต่อ หรือมีต่อผู้อื่น  ในที่นี้หมายถึง ความเคารพนับถือและจงรักภักดีต่อชนในวรรณะที่สูงกว่า
                    นอกจากชนในสีวรรณะดังกล่าวแล้ว ยังมีการกล่าวถึงชนอีกวรรณะหนึ่งที่เรียกว่า จัณฑาล ชื่อของวรรณะนี้ไม่เคยมีปรากฎในพระเวท
                    ในคัมภีร์ต่าง ๆ ของศาสนาพราหมณ์ฮินดูได้สอนไว้ว่า ผู้ที่ถือกำเนิดมาเป็นมนุษย์ทุกคนควรทำตนให้เป็นไปตามวรรณะ ที่ได้กำหนดไว้แล้ว  ตอนหนึ่งของพระเวทบ่งไว้ว่า วรรณะย่อมมีติดมากับทุก ๆ คนตั้งแต่เกิด  แต่อีกตอนหนึ่งก็บอกว่า วรรณะทั้งสี่มีลักษณะแต่ละวรรณะเป็นอย่างไรบ้าง ก็แล้วแต่คนได้มีลักษณะตรงกับวรรณะใด ก็ให้ถือว่าคน ๆ นั้น เป็นวรรณะนั้น
                    ในสมัยโบราณผู้เป็นพ่อแม่มักจะพยายามหาวิธะตรวจพิจารณาดูว่า เด็กของตนมีลักษณะตรงกับวรรณะใด  อาจจะใช้ความตั้งใจสังเกตเอาว่าเด็กนั้นมีนิสัยอย่างไร  ชอบของสิ่งไร ชอบกินอะไร ชอบเล่นของเล่นชนิดไหน เขาจะทดลองสังเกตมาตั้งแต่เด็กอายุได้ ๑ - ๘ ขวบ เมื่อทราบได้แน่นอนแล้วว่า เด็กคนนั้นมีลักษณะส่วนมากไปตรงกับวรรณะใด เขาก็จะจัดการให้ได้เรียนไปตามวรรณะนั้นต่อไป ซึ่งคล้ายกับวิธีแนะแนวในสมัยปัจจุบัน  วิธีการดังกล่าวได้กลายเป็นพิธีการทางศาสนา หรือทางขนบธรรมเนียมประเพณี กล่าวคือ พอเด็กอายุได้หกเดือนขึ้นไป  ก็จะทำพิธีการป้อนข้าวเด็กเป็นครั้งแรก  ในพิธีนี้เมื่อเริ่มทำพิธีบูชาด้วยการสวดมนต์เสร็จแล้ว เขาก็จะนำสิ่งของต่าง ๆ มารวมวางไว้ ณ ที่แห่งหนึ่ง เช่นของกินและของเล่นต่าง ๆ นอกจากนั้นก็มีหนังสือ ปากกา อาวุธ เครื่องใช้ในการแพทย์ เครื่องใช้ในการฝีมือต่าง ๆ ฯลฯ แล้วก็เสี่ยงทาย โดยให้เด็กออกไปอยู่ท่ามกลางสิ่งของเหล่านัน เมื่อเด็กจับสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา  พวกผู้ใหญ่ก็มักจะถือเอาสิ่งนั้นเป็นหลักพิสูจน์ถึงกาลอนาคต  เช่น ถ้าเด็กจับหนังสือก็ว่าเด็กนั้นมีลักษณะจะเป็นพราหมณ์  ถ้าจับอาวุธก็ว่าจะเป็นกษัตริย์ เป็นต้น   ปัจจุบันพิธีนี้จัดทำกันครั้งเดียวระหว่างที่เด็กอายุ ๖ เดือน  ถึง ๑ ปี  แต่ในสมัยโบราณพิธีนี้ใช้กับเด็กอายุ ๑ ขวบ ถึง ๘ ขวบ  ทุก ๆ ปี  หรือทุก ๖ เดือน
            หลักแห่งอาศรม  อันเป็นสถาบันหนึ่งของศาสนาพราหมณ์ฮินดู ได้แบ่งชีวิตมนุษย์ออกเป็นสี่ตอน แต่ละตอนเรียกว่า อาศรม โดยถือว่ามนุษย์เรานี้ส่วนเฉลี่ยอายุได้ ๑๐๐ ปี  แบ่งออกเป็นสี่ภาค หรือสี่อาศรม แต่ละอาศรมเป็นเวลา ๒๕ ปี คือ
                พรหมจริยอาศรม   ในช่วงเวลา ๒๕ ปีแรก  มนุษย์มีหน้าที่รับแต่การศึกษาไปตามวรรณะของตน ผู้ที่เข้ามาอยู่ในอาศรมนี้เรียกว่า พรหมจารี  เข้ามาอยู่โดยประกอบพิธีที่เรียกว่า อปนยนสันสการ  ซึ่งจัดทำแก่เด็กขณะมีวัยได้ ๘ - ๑๒ ขวบ ส่วนมากเด็กที่เป็นพราหมณ์จะทำพิธีนี้เมื่ออายุได้ ๘ ขวบ  เด็กที่มีลักษณะวรรณะกษัตริย์จะทำพิธีนี้เมื่ออายุ ๑๑ - ๑๒ ขวบ เด็กที่มีลักษณะวรรณะแพศย์จะทำพิธีนี้เมื่ออายุ ๑๒ ขวบ หรือลงกว่านั้นไปเล็กน้อย  ส่สนเด็กที่มีลักษณะวรรณะศูทร ไม่มีการกำหนดอายุ เพราะพวกนี้ต้องรับการศึกษาภาคปฎิบัติมากกว่าวิชาหนังสือ บรรดาพรหมจารีจะต้องอยู่ในพรหมจริย อาศรม จนถึงอายุ ๒๕ ปี  เต็ม
                คฤห์สถาศรม  เป็นระยะที่สองแห่งชีวิต  กล่าวคือ เมื่อสำเร็จการศึกษาออกมาแล้ว ก็มาช่วยแบ่งเบาภาระจากบิดามารดา ด้วยการช่วยทำงาน และจัดแจงพิธีสมรสเพื่อรักษาวงศ์ตระกูล ให้มั่นคงยืนนานต่อไป กับทั้งย่างเข้าสู่ความเป็นคฤหัสถ์ หรือฆราวาส  แล้วจัดการงานไปตามวรรณะของตน เพื่อการครองชีพต่อไปเป็นระยะเวลานานอีกประมาณ ๒๕ ปี  จนถึงอายุประมาณ ๕๐ ปี  หรือจนถึงบุตรธิดาของตนเป็นคฤหัส์ถไปแล้ว
                วานัปรัสถาศรม   เป็นช่วงระยะที่สามแห่งชีวิต เมื่อบุตรธิดาได้สำเร็จการศึกษาออกไปเป็นคฤหัสแล้ว ตัวบิดามารดาผู้ชราก็ควรยกทรัพย์สมบัติมอบให้บุตรธิดา  แล้วตนเองก็ออกไปอยู่ที่อาศรม อันตั้งอยู่ในป่าเพื่อเสียสละอุทิศ กำลังร่างกายของตนทำงานให้แก่สังคมส่วนรวม ด้วยการเป็นครูบาอาจารย์ทำหน้าที่ให้การศึกษา  และนึกคิดแต่ในทางที่จะทำให้สังคมเจริญ สำหรับสตรีถ้าไม่มีความประสงค์จะไปอยู่ในอาศรมในป่ากับสามี ก็อาจจะอยู่กับบุตรธิดา ต่อไปได้ ส่วนผู้ใดไม่ต้องการจะออกไปอยู่ ณ อาศรมในป่า ก็อาจอยู่ที่บ้านได้ แต่ต้องบำเพ็ญกิจเพื่ออุทิศตนให้แก่สังคมต่อไป จนถึงอายุ ๗๕ ปี
                สนยัสตาศรม  เป็นระยะสุดท้ายแห่งชีวิตคือ อายุย่างเข้า ๗๕ ปี  ก็พาตนไปบวชเป็น สันยาสี   บำเพ็ญสมาธิ และพยายามแสวงหาโมกษธรรม หรือความจริงว่าตนเองเป็นใคร พระพรหมคือใคร ในโลกนี้มีสารวัสดุอะไรบ้าง ฯลฯ  เมื่อได้คำตอบสำหรับตนเองแล้ว ก็เผยแพร่คำตอบนั้นให้ได้เป็นที่รู้กันไปทั่ว  โดยถือว่ามนุษย์ทั้งปวงเป็นประดุจสมาชิกในครอบครัวของตนเอง และในทำนองเดียวกันก็เป็นส่วนหนึ่งของพระพรหมด้วย 

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโย โหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved. _/|\_

    ตอบลบ