วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู๓

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
วันสำคัญทางงศาสนา
                วันสำคัญอันดับแรก  เป็นวันเริ่มต้นศักราชใหม่ตามปฏิทินโหราศาสตร์ตรงกับวันขึ้นหนึ่งค่ำ เดือนห้า จากวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ถึงวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๕ เรียกว่า นวราตรี ทำการบูชาเจ้าแม่อุมา ซึ่งมีเก้าปางด้วยกันคือ
                    ไศลปุตรี เป็นปางแรก  พระแม่อุมาเป็นบุตรีของภูเขาคือเป็นธิดาของหิมพาน ซึ่งเป็นราชาแห่งภูเขาทั้งหลาย
                    พรหมฮาริณี  เป็นปางที่สอง เป็นปางที่เกิดขึ้นเอง ไม่มีพ่อแม่ และไม่แต่งงาน อยู่เป็นโสด
                    จันทร ฆัณฎา  เป็นปางที่สาม เป็นปางที่ปราบอสูรด้วยเสียงระฆัง
                    ภูษามาณฑา  เป็นปางที่สี่ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ปางทุรคา เป็นปางปราบอสูร ด้วยอาวุธทั้งสี่กร
                    ษกันทมาตา  เป็นปางที่ห้า เป็นปางเลี้ยงพระคันธกุมาร ซึ่งเป็นโอรสพระศิวะกับอุมาเทวีหรือปารวดี ซึ่งจะไปปราบอสูรต่อไป
                    กาตยายนี   เป็นปางที่หก เป็นปางเทวีของปีศาจ โดยใช้พวกภูติผีปีศาจไปปราบอสูร
                    กาลราตรี   เป็นปางที่เจ็ด  เป็นปางเสวยเลือดอสูร
                    มหาเคารี  เป็นปางที่แปด  เป็นปางเป็นเจ้าแม่แห่งธัญชาติ  ทำให้ธัญชาติสมบูรณ์
                    สิทธิธาตรี  เป็นปางที่เก้า  เป็นปางที่กลับเป็นเจ้าแม่แห่งความสำเร็จ
                วันสำคัญอันดับที่สอง  เรียกว่า  อกษัยตริติยา  ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๖  เชื่อกันว่าบุญที่ทำในวันนี้ จะทรงอยู่ชั่วนิรันดร และในวันนี้ ปรศุราม อวตารปางที่ ๕ ของพระนารายณ์ จะมาปรากฎ
                วันสำคัญอันดับสาม  เรียกว่า นฤสิงหจตุรทศี ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖  เป็นวันปรากฎของพระนารายณ์ ปางที่สามชื่อ นฤสิงห์  การประกอบพิธีบูชาพระนารายณ์ในวันนี้ เพื่อพิชิตศัตรู
                วันสำคัญอันดับสี่  เรียกว่า ไวศาขีปูรณิมา  ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖  เป็นวันศูนย์กลางของสงกรานต์ ถือว่าเป็นวันเพ็ญแรกของปี  มีการทำพิธีบูชาไฟ และทำบุญตามประเพณีของตระกูล  เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาสู่โลก  ตรัสรู้ และปรินิพพาน ถ้าที่ใดมีพระพุทธรูปอยู่จะต้องแห่พระพุทธรูปนั้น
                วันสำคัญอันดับห้า  เรียกว่า เมษสงกรานต์   ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน และทุกปี  จัดทำการบูชาพระนารายณ์ บางรัฐถือว่าเป็นวันปีใหม่ด้วย
                วันสำคัญอันดับหก  เป็นวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๗  เป็นวันแรกที่น้ำจากพรหมโลกไหลลงมาสู่โลกนี้  ที่ต้นของแม่น้ำคงคาคือ น้ำจากเศียรพระศิวะไหลลงสู่ภูเขาหิมาลัย แล้วลงสู่แม่น้ำคงคา ชาวบ้านที่อยู่ใกล้แม่น้ำคงคาจะจัดเล่นกีฬาในน้ำ
                วันสำคัญอันดับเจ็ด  เรียกว่า นิรชลาเอกทศี  ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๗  เป็นวันบูชาพระนารายณ์ โดยการอดอาหาร และน้ำ  เป็นเวลา ๑๔ ชั่วโมง
                วันสำคัญอันดับแปด  เรียกว่า  ชเชษฐิปูรณิมา  ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗  เป็นวันเริ่มจตุรมาศคือ วันเริ่มต้นเข้าพรรษา เป็นเวลาสี่เดือน ผู้เป็นสันยาสี จะต้องอยู่ประจำที่สี่เดือน
                วันสำคัญอันดับเก้า  เรียกว่า  วันรถยาตรา  ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๘  มีการนำรูปปฎิมาของพระนารายณ์ ขึ้นรถแห่ภายในเขตหมู่บ้านเพื่อให้คนบูชา
                วันสำคัญอันดับสิบ   เรียกว่า คุรุปูรณิมา  ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘  เป็นวันบูชาครูบาอาจารย์ มหาฤษีวยาส ได้รับความสำเร็จในการแต่งตำราต่าง ๆ  วันเริ่มต้นเขียนตำรา และวันเขียนตำราจบ  วันเริ่มต้นสอนศิษย์ พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา ธรรมจักรกัปวัตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ ในวันนี้
                วันสำคัญอันดับ ๑๑  เรียกว่า นาคปัญจมี  ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๙  ชาวพราหมณ์ฮินดูทำการบูชาพญานาค เอาน้ำนมให้งู และพญานาคกิน
                วันสำคัญอันดับ ๑๒  เรียกว่า ศราวณีปูรณิมา  ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙  พวกพราหมณ์จะพากันไปสู่แม่น้ำสายต่า งๆ  แต่เช้า  ทำพิธีทางพระเวทจนบ่าย ต้องอยู่ในน้ำตลอดระยะเวลาที่อ่านคัมภีร์พระเวท  โดยการกล่าวอุทิศบุญกุศล ที่ทำนั้นให้แก่บรรพบุรุษทุกคน  ตอนเย็นจะมีศิษย์มาหาอาจารย์  อาจารย์ก็ผูกสายสิญจ์ที่ข้อมือให้ ถือว่าเป็นมงคลตลอดปี
                วันสำคัญอันดับ ๑๓   เรียกว่า คเณศจตุรถี  แรม ๔ ค่ำ เดือน ๙  เป็นวันบูชาพระคเณศ  ต้องอดอาหารตลอดวัน จนกว่าจะทำพิธีเสร็จ  และไหว้พระจันทร์ที่ปรากฎขึ้นแล้ว จึงจะบริโภคอาหารได้
                วันสำคัญอันดับ ๑๔   เรียกว่า หลษัษฐี  แรม ๖ ค่ำ เดือน ๙  เป็นวันบูชาสุรยิเทพ และพี่ชายของพระกฤษณะ ชื่อ พลเทพ ซึ่งเป็นอวตารของพญานาค
                วันสำคัญอันดับ ๑๕  เรียกว่า ศรีกฤษณะชนมาอัฎฐมี  แรม ๘ ค่ำ เดือน ๙  เป็นวันที่พระกฤษณะมาปรากฎ มีการฉลองอย่างมโหฬาร ผู้ที่เคร่งครัดจะอดอาหารตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงคืน
                วันสำคัญอันดับ ๑๖  เรียกว่า กุโศตาปาฎนีอมาวสยา  แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๘  อาจารย์และศิษย์ที่กำลังเรียนพระเวทอยู่จะไปเก็บหญ้าคา เพื่อนำมาใช้ในพิธีต่าง ๆ
                วันสำคัญอันดับ ๑๗   เรียกว่า หรตาลิกาตฤติยา  ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๑๐  เป็นวันสำคัญของพระแม่อุมา และพระศิวะ ตอนที่พระแม่อุมายังเป็นพรหมจาริณีกุมารี  ได้บำเพ็ญตบะวิงวอนให้พระศิวะแต่งงานด้วย พระศิวะได้มาปรากฎและให้สัจจสัญญาว่า จะแต่งงานด้วย และให้พรว่า สตรีใดบำเพ็ญตบะ ในวันนี้จะได้สามีที่ดี และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
                วันสำคัญอันดับ ๑๘   เรียกว่า  มหาลัยปูรณิมา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ นับแต่วันนี้ไปจนถึงวันแรม ๕ ค่ำ  เดือน ๑๐ ในระยะเวลา ๑๖ วัน  จะมีการทำพิธีบูชาดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ ที่ล่วงลับไปแล้ว  โดยการเชิญสันยาสี มาฉันอาหารที่บ้าน เป็นการทำบุญให้ผู้ตาย ซึ่งต้องทำให้ตางกับดิถีที่ตาย
                วันสำคัญอันดับ  ๑๙   เรียกว่า นวราตรี ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๑  ถึง ๙ ค่ำ เดือน ๑๑ จัดเป็นพิธีบูชาติดต่อกันไป ๙ วัน
                วันสำคัญอันดับ  ๒๐  เรียกว่า วิชยาทศมี ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๑ ทำพิธีบูชาพระอุมาเทวี เป็นวันที่พระอุมาปราบอสูร ได้รับชัยชนะ  ใครบูชาพระอุมาในวันนี้จะได้ชัยชนะตลอดปี  ถือว่าเป็นวันสำคัญของวรรณกษัตริย์ อาวุธทุกประเภทที่มีอยู่ในบ้าน จะต้องนำออกมาให้พราหมณ์เจิม เพื่อความเป็นสิริมงคล
                วันสำคัญอันดับ ๒๑    เรียกว่า  ศรทปูรณิมา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ มีการทำพิธีบุชาพระนารายณ์ สิ่งที่นำมาบูชาจะเป็นประเภทใด ก็ตามต้องเป็นสีขาวล้วน  วันนี้เป็นวันบรรจบครบจตุรมาศ  ตรงกับวันออกพรรษาของไทย
                วันสำคัญอันดับ ๒๒  เรียกว่า  อันเตรส  แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ มีการทำพิธีบูชาพระลักษมี พระคเณศ และพระกุเวร  พระแม่สุรัสวดี และพระอินทร
                วันสำคัญอันดับ ๒๓   เรียกว่า นรกจตุรทสี  แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๑ เวลากลางวันทำพิธีบูชาพระยม เวลากลางคืน จุดประทีปถวายพระยม  เชื่อกันว่าเมื่อทำแล้วจะไม่ไปสู่นรก หากมีกรรมหนักหนีนรกไม่พ้น ก็จะเดินทางไปนรก โดยมีประทีปนำทางให้สว่าง  วันนี้ถือเป็นวันเกิดของหนุมานด้วย
                วันสำคัญอันดับ ๒๔  เรียกว่า ทับมาสิกา แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ทำการบูชาเทพเจ้าทั้งห้า และถือว่าเป็นวันสำคัญของพระแม่ลักษมี การบูชาทำในตอนเย็น  มีการจุดประทีปโคมไฟไว้ในบ้านตลอดคืน  เพื่อต้อนรับพระแม่ลักษมี  เป็นวันสำคัญของวรรณะแพทศย์
                วันสำคัญอันดับ ๒๕   เรียกว่า  อันนกูฎะ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ผู้ทำพิธีจะต้องนำอาหาร ๕๖ อย่าง ไปถวายเทพเจ้าในเทวาลัยทุกแห่ง
                วันสำคัญอันดับ ๒๖  เรียกว่า  ยมทวิตียา ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ วันนี้พี่ชาย หรือน้องชายต้องไปบริโภคอาหารที่บ้านพี่สาว หรือน้องสาว  ผู้ชายต้องนำของขวัญไปให้พี่สาว หรือน้องสาว  เสร็จแล้วพี่สาว หรือน้องสาว ก็เจิมดิลกที่หน้าพี่ชายหรือน้องชาย เพื่อเป็นสิริมงคล
                วันสำคัญอันดับ ๒๗  เรียกว่า วามนทวาทศี ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ เป็นวันประสูติของพระวามนะ  ซึ่งเป็นอวตารปางที่ ๕  ของพระนารายณ์  มีการบูชาถวายพระรามนะ ทำให้เป็นผู้มีสติปัญญารุ่งเรือง
                วันสำคัญอันดับ ๒๘   เรียกว่า ไวกุณฐจตุรทศี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒  เป็นวันบูชาพระนารายณ์ ผู้ที่ทำการบูชา ตายแล้วจะไปเกิดในโลกไวกุณฐะ  มีการบูชาพระนารายณ์กับพระศิวะสลับกันไป การบูชาพระนารายณ์จะได้ผลทางจิตใจ ส่วนการบูชาพระศิวะจะได้ผลทางวัตถุ
                วันสำคัญอันดับ ๒๙    เรียกว่า ศารทัยปูาณิมาที่สอง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒  เป็นการบูชาพระนารายณ์ และถวายประทีปแก่เทพเจ้าทั้งหลายในเทวาลัยต่าง ๆ  บนท้องฟ้าและในน้ำ  ถือว่าเมื่อถวายประทีปแล้วจะได้รับแสงสว่างในภายใน ดวงประทีปจะนำวิญญาณของผู้ถวาย เมื่อตายไปสู่สุคติ
                วันสำคัญอันดับ  ๓๐    เป็นวันขึ้น ๖ ค่ำ เดือนยี่  ถึงแรม ๖ ค่ำ  เดือนยี่  เป็นเวลา ๑๖ วัน ๑๕ คืน  เรียกว่า พระราชพิธีตรียัมพวาย - ตรีปาวาย   เป็นพิธีถวายของสักการะเทพเจ้า ที่ให้ความอุดมสมบูรณ์แก่ประเทศและประชาชน  โดยพิธีโล้ชิงช้า เป็นตำนานบูชา พระอิศวร
                วันสำคัญอันดับ ๓๑   เรียกว่า  วสันตปัญจมี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓  มีการบูชาพระแม่สุรัสวดี  เพื่อให้มีสติปัญญาดีขึ้น ทำการบูชาพระกามเทพด้วย  เพื่อป้องกันมิให้จิตตกไปสู่อารมณ์ฝ่ายต่ำ  มีการบูชาพระนารายณ์ด้วย
                วันสำคัญอันดับ ๓๒   เรียกว่า มาฆีปูรณิมา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓  ผู้นับถือเทพเจ้าองค์ใดก็จะบูชาเทพเจ้าองค์นั้น วันนี้เป็นวันที่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐  รูป ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมาย พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฎิโมกข์
               วันสำคัญอันดับ ๓๓   เรียกว่า วันมาฆสงกรานต์  วันที่ ๑๔  มกราคม ของทุกปี  เป็นวันสงกรานต์  มีการนำข้าวกับถั่วปนกันถวายเทพเจ้า พราหมณ์ และสันยาสี
               วันสำคัญอันดับ ๓๔  เรียกว่า  ศิวาราตรี  แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๓  จะมีการบุชาพระศิวะ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ผู้นับถือเคร่งครัด จะอดอาหารอดนอน ตลอด ๒๔ ชั่วโมง  เป็นวันปรากฎของพระศิวะ  และวันแต่งงานของพระศิวะ
               วันสำคัญอันดับ ๓๕  เรียกว่า  โหลีปูรณิมา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔  มีการนำเอาของสกปรกออกจากบ้าน ไปรวมไว้ในที่แห่งใดแห่งหนึ่งแล้วเผา  ขณะที่เผาจะร้องเพลงประเภทลูกทุ่ง เรียกว่า เพลงโหลี
                วันสำคัญอันดับ ๓๖  เรียกว่า โหลี หรือโหลา  มีการฉลองโหลี มีเล่นนีต่า ง ๆ  เช่นเดียวกับวันสงกรานต์ ที่ไทยเราเล่นสาดน้ำกัน คนส่วนมากถือว่าเป็นวันตรุษอินเดีย เป็นวันสำคัญของพวกกรรมกร วรรณะศูทร
                วันแรม หรือขึ้นแปดค่ำ หรือขึ้นสิบเอ็ดค่ำ หรือขึ้นสิบห้าค่ำ ถือว่าเป็นวันพระ ของศาสนาพราหมณ์ฮินดู โรงเรียน สถานศึกษา วิทยาลัย มหาวิทยาลัย ที่สอนคัมภีร์พระเวทด้วย หยุดในวันดังกล่าว เดือนละหกวัน
พิธีสำคัญของศาสนา
           พระราชพิธีพืชมงคล - จรดพระนังคับลแรกนาขวัญ   เป็นพระราชพิธีสองพิธีต่อเนื่องกันคือ พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีสงฆ์  ประกอบพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์ประกอบพิธีที่มณฑลท้องสนามหลวง  แต่เดิมมีเแต่พิธีพราหมณ์มาเริ่มมีพิธีสงฆ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
            พิธีแรกนาขวัญมีปรากฎในคัมภีร์เรื่อง รามายณะ  ตอนที่ท้าวชนกไถนา พบนางสีดา ณ เมืองมิถิลา
            พระราชพิธีตรียัมพราย - ตรีปาวาย   เป็นสองพิธีต่อกันคือ  พิธีตรียัมพราย กับพิธีตรีปวาย  กระทำในเดือนยี่ ของทุกปี เป็นเวลา ๑๕ วัน  ตลอดเวลาดังกล่าวมีการอ่านโศลกสรรเสริญ และถวายโภชนาหารแด่เทพเจ้า พิธีนี้เกี่ยวเนื่องกับพิธีแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพิธีขอพรให้พืชพันธุ์อุดสมบูรณ์ เป็นต้นฤดูการเพาะปลูก
            ส่วนพิธีตรียัมปวาย เป็นพิธีที่ทำหลังจากการเก็บเกี่ยวแล้ว  พราหมณ์จึงจัดของถวาายเป็นการระลึกถึงเทพเจ้า ที่กรุณาให้พืชพันธุ์แก่มนุษย์  พิธีนี้จะมีพิธีโล้ชิงช้ารวมอยู่ด้วย  หมายถึงการหยั่งความมั่นคงของแผ่นดิน และเป็นการเสริมสร้างให้แผ่นดินมีความมั่นคงยิ่งขึ้น เป็นคติแต่โบราณ
            ลำดับการดำเนินการของพระราชพิธีดังกล่าว มีดังต่อไปนี้
                - พิธีเปิดประตูศิวาลัย  เชิญเทพเจ้าเพื่อประทานพร  จากนั้นเป็นพิธีโล้ชิงช้าของนาลิวัน
                - การถวายสักการะด้วยโภชนาหาร  มีข้าวตอกดอกไม้  เป็นต้น โดยการอ่านโศลกสรรเสริญเทพเจ้า
                - การสรงน้ำเทพเจ้า  แล้วเชิญขึ้นบรมหงส์  เป็นการส่งเทพเจ้ากลับเรียกว่า  กล่อมหงส์  หรือช้าหงส์
            ในวันสุดท้ายของพิธีพราหมณ์ จะทำบุญตามศาสนา  มีการตัดจุกให้แก่เด็กทั่ว ๆ ไป  และถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ เป็นเสร็จพิธี
            พระราชพิธีบรมราชาภิเษก   เป็นพระราชพิธีสถาปนาพระเจ้าแผ่นดินขึ้นเป็นสมมติเทพ  ปกครองแผ่นดิน เป็นใหญ่ในทิศทั้งแปด  และเป็นการประกาศให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน ตามคติพราหมณ์จะทำพิธีอัญเชิญเทพเจ้า เพื่อทำการสถาปนาให้พระมหากษัตริย์ขึ้นเป็นสมมติเทพ  ดำรงธรรมสิบประการ ปกครองประเทศด้วยความร่มเย็น มีลำดับพิธีโดยย่อคือ
                - ทำน้ำอภิเษก  เปิดประตูศิวาลัย อัญเชิญพระอิศวร เพื่อประทานพร
                - สรงมูรธาภิเษก  คือการสรงน้ำเพื่อความมงคล
                - ถวายสังวาลย์พราหมณ์  แสดงว่าพระองค์เป็นพราหมณ์
                - ถวายพระมหาพิชิยมงกุฎ  ประกาศปกครองประเทศโดยธรรม
                - เลียบพระนคร เพื่อแสดงพระองค์แก่ทวยราษฎร์ และประทักษิณพระนคร  ให้ประชาราษฎร์มีสันติสุข
           พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา   เป็นพิธีสาบานตน ในการรับราชการว่าจะซื่อตรงต่อแผ่นดิน และปกป้องชาติบ้านเมืองให้เกิดความสงบสุข  โดยบรรดาข้าราชการจะต้องดื่มน้ำสาบานตน จำเพาะพระพักตร์พระมหากษัตริย์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวง โดยพราหมณ์จะทำพิธีเสกน้ำสาบานนี้ แล้วนำพระแสง (ศาสตราวุธ) ต่าง ๆ ของพระมหากษัตริย์ลงชุบในน้ำที่เสกนั้น เพื่อหมายให้ผู้ที่ไม่ซื่อตรงต่อแผ่นดิน จะต้องได้รับโทษต่าง ๆ นานา
            ปัจจุบัน จะประกอบพระราชพิธีนี้ รวมกับการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีศักดิ์รามาธิบดี เฉพาะบุคคลที่ได้รับพระราชทานเท่านั้น
            พิธีทำในเทวลัยต่าง ๆ  มีอยู่หลายพิธีด้วยกัน ดังนี้
                พิธีเนาวราตรี    บูชาพระแม่อุมาเทวี  หรือพระแม่ทุรคาเทวี  จัดที่วัดเทพมณเฑียร และวัดวิษณุ ในวันขึ้น ๑ ค่ำ ถึงขึ้น ๙ ค่ำ เดือนห้า ของทุกปี และจัดที่วัดวิษณุ วัดเทพมณเฑียร และวัดศรีมหาอุมาเทวี ในวันขึ้น ๑ ค่ำ ถึงขึ้น ๙ ค่ำ เดือนสิบเอ็ด รวม ๙ วัน ๙ คืน
                พิธีฉลองวันอวตารพระราม  ในวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือนห้าของทุกปี จัดที่วัดเทพมณเฑียรและวัดวิษณุ
                พิธีสงกรานต์   ในวันที่ ๑๓ เมษายนของทุกปี จัดที่วัดเทพมณเฑียร
                พิธีวันวิสาขบูชา  ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนหก จัดที่วัดเทพมณเฑียร
                พิธีบูชาพญานาคและหนุมาน  ในวันขึ้น ๕ ค่ำ เดือนเก้า จัดที่วัดวิษณุ
                 พิธีฉลองวันอวตารพระกฤษณา ในวันแรม ๘ ค่ำ เดือนแปด จัดที่วัดวิษณุ และวัดเทพมณเฑียร
                พิธีฉลองวันวิชยาทศนี  หรือทศหราหรือคูเชร่า ในวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนสิบเอ็ด จัดที่วัดวิษณุ วัดเทพมณเฑียร และวัดศรีมหาอุมาเทวี
                พิธีดูเซร่าหรือเนาวราตรี เป็นพิธีเก่าแก่สืบเนื่องมาแต่โบราณในสมัยพระเวท และได้ตกทอดมาสู่เมืองไทย โดยชาวอินเดียยุคโบราณ มีการประกอบพิธีบูชาองค์เจ้าแม่และองค์เทพต่าง ๆ รวม ๑๐ วัน ๑๐ คืน ในคืนสุดท้ายจะมีการเชิญองค์เจ้าแม่นำหน้าขบวนแห่ออกไปนอกเทวาลัย
                ในงานพิธีประชาชนจะพากันถือศีลกินมังสะวิรัต บ้างก็บำเพ็ญกุศลบนบานศาลกล่าวขอโชคลาภ ในวันวิชัยทัสมิ เจ้าแม่อุมาเทวีจะมาปรากฎในร่างของคนทรงเพื่อแสดงนาฎลีลา นำหน้าขบวนแห่ไปเยี่ยมเยียนบรรดาสานุศิษย์ผู้ศรัทธาตามเคหะสถานบ้านเรือนต่าง ๆ
                การประกอบพิธีมีการปลุกเสกร่ายพระเวทรวม ๙ วัน ๙ คืน ถือกันว่าผู้ที่มาร่วมพิธีจะได้รับพระชัยมงคลเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
                พิธีประจำสัปดาห์  จัดให้มีทุกวันอาทิตย์ที่วัดเทพมณเฑียร เวลา ๐๘.๐๐ - ๑๐.๐๐ น. ที่วัดอารยสมาช เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ และที่วัดวิษณุ เวลา ๑๓.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. 

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโย โหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved. _/|\_

    ตอบลบ