วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

โบราณสถาน หน้ากาล

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

เกียรติมุข (หน้ากาล)
เกียรติมุข หรือหน้ากาล ที่แปลว่ากาลเวลา เป็นลวดลายปูนปั้นที่ใช้ประดับซุ้มหน้าบันของโบราณสถาน โดยทั่วไปมักทำคู่กับลายมักร โดยทำลายมักรออกมาทั้งสองข้างของเกียรติมุข ลักษณะของเกียรติมุขจะทำเป็นรูปหน้ายักษ์ปนหน้าสิงห์ หรือใบหน้าของอสูรที่ดุร้าย คิ้วขมวด นัยน์ตากลม และถลน ปากกว้างเห็นฟันและเขี้ยว ไม่มีฟันล่าง ไม่มีลำตัว มีแขนออกมาจากด้านข้างของศีรษะ
คติความเชื่อเกี่ยวกับเกียรติมุข ได้รับความนิยมอย่างมากในอินเดีย กำเนิดขึ้นมาจากศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ซึ่งนับถือพระศิวะหรือพระอิศวรเป็นเทพชั้นสูง ใช้เป็นสิ่งประดับตามเทวสถานและพุทธสถาน เพื่อแสดงความเป็นเกียรติและเป็นมงคล และขจัดสิ่งชั่วร้ายต่างๆ มิให้เข้ามาสู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์บริเวณภายใน

ที่มาของเกียรติมุข เข้าใจว่ากำเนิดในประเทศอินเดียก่อน ตามตำนานเล่าว่าพระศิวะเป็นเทพที่มีดวงตาที่สาม อยู่ที่พระนลาฏ(หน้าผาก)ซึ่งมีอานุภาพร้ายแรงมากเมื่อพระศิวะโกรธกริ้วแล้วเผลอลืมตานี้ขึ้นมาวันหนึ่งมีอสูรจอมเจ้าชู้ตนหนึ่งนามว่า”ราหู” มาขอเข้าเฝ้าพระศิวะที่เขาไกรลาศ แล้วทูลขอพระนางศรีอุมาเทวี พระชายาของพระศิวะเทพไปเป็นภรรยา ยังความโกรธกริ้วให้แก่พระศิวะยิ่งนัก ด้วยเป็นที่รู้กันว่าทรงทั้งรัก ทั้งหวงพระศรีอุมาเทวีดั่งดวงใจ แต่เจ้าอสูรที่หน้าตาดั่งกเฬวราก(ซากศพ) ดันทะลึ่งมาขอกล่องดวงใจไปดื้อๆ

ความแค้นเคืองทำให้พระศิวะเผลอลืมตาที่สามขึ้น บังเกิดเป็นสัตว์ประหลาดรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัวและมีท่าทางที่หิวโหยออกมาด้วย ตั้งท่าจะขย้ำอสูรราหูเป็นอาหารเสียให้ได้ อสูรราหูตกใจสุดขีด รีบเข้าไปอ้อนวอนศิวะเทพขอไว้ชีวิตที่ได้ทำล่วงเกิน เพียงแต่ขออย่าให้เจ้าสัตว์ประหลาดนี้กัดกินข้าเลย

บางท่านกล่าวว่ามีการกำเนิดในประเทศใดประเทศหนึ่งในทวีปเอเชีย อาจจะได้มาจากประเทศธิเบต บางท่านก็ว่ากำเนิดที่ประเทศจีน มีรูปแบบซึ่งเรียกว่า เต้าเจ้ ปรากฏอยู่ ภาชนะสำริดของจีน สมัยช่วง ๘๕๐ - ๘๘๐ ปีก่อนพุทธกาล เป็นทำนองเดียวกับเกียรติมุขของอินเดีย หมายถึงเทพเจ้าผู้ตะกละ จากนั้นได้แพร่ไปทางบกไปยังประเทศอินเดีย ปรากฏอยู่ในศิลปะอินเดียสมัยอมราวดีและคุปตะ

ตำนานอินเดียเล่าถึงกำเนิดของหน้ากาลนี้ว่า ครั้งหนึ่งมีพญายักษ์ชื่อชลันธรบำเพ็ญตบะแก่กล้า จนได้รับพรจากพระศิวะไม่ให้ผู้ใดต่อกรด้วยได้จึงเกิดความลำพองทำร้ายข่มเหงทั้งยักษ์ เทพ และมนุษย์

ต่อมา ยักษ์ชลันธรได้ให้พระราหูไปบอกพระศิวะให้มารบกับตน หากพระศิวะแพ้จะริบตัวนางปารพตีมเหสีเป็นของตน พระศิวะได้ฟังดังนั้นก็พิโรธเกิดมียักษ์หน้าสิงห์โตกระโดดออกจากหว่างพระขนงจะกินพระราหู พระราหูเห็นดังนั้นก็ตกใจขอให้พระศิวะช่วย พระศิวะทรงห้ามยักษ์ไม่ให้ทำร้ายพระราหู ยักษ์กล่าวว่าถ้าอย่างนั้นขอให้กินสิ่งอื่นแทนพระราหู พระศิวะตรัสให้ยักษ์นั้นกินแขนขาของตัวเอง ด้วยความหิวโหยยักษ์ได้กัดกินแขนขาของตนหมดแล้วยังไม่อิ่ม จึงกัดกินท้องและอกจนหมดสิ้นเหลือเพียงส่วนหัว พระศิวะเห็นเช่นนั้นก็เกิดความสงสาร ตรัสให้พรยักษ์นั้นให้อยู่ที่ประตูวิมานของพระองค์ตลอดไป ผู้ใดไม่เคารพจะไม่ได้รับพรจากพระองค์ หลังจากนั้นพระองค์เสด็จไปปราบยักษ์ชลันธรได้สำเร็จ

สมัยโบราณถือว่าหน้ากาลนี้เป็นสัญลักษณ์ของเวลาที่กินทุกสิ่งแม้แต่ตัวเอง รวมทั้งเป็นผู้ที่คอยดูแลฝูงปศุสัตว์เนื่องจากพระศิวะได้รับการยกย่องเป็นปศุบดี ผู้เป็นใหญ่ในฝูงสัตว์ หน้ากาลอันเปรียบเสมือนบุตรของพระองค์คงจะมีฤทธิ์ปกป้องสัตว์เลี้ยงได้ ลายหน้ากาลนี้สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในเทวสถานของฮินดู และนิยมสร้างกันอย่างแพร่หลายในอินโดนีเซีย
ในประเทศไทย สันนิษฐานว่า เกียรติมุขคงแพร่เข้ามาในสมัยทวารวดีและศรีวิชัย โดยได้พบหลายแห่ง เช่น ที่ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ที่เจดีย์วัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ทำเป็นรูปประดับลายกาบที่เชิงซุ้มเจดีย์ สำหรับที่สุโขทัย พบที่ทำเป็นลายประดับยอดซุ้มหน้าบัน วัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย
การที่พระพุทธองค์ให้เร่งเพียรธรรม
เพื่อการหลุดพ้น โดยไม่ให้คำนึงกาลเวลา สถานที่ 
เหตุเพราะ สังขารกายา เวลาวาระไม่คอยใครด้วย ปัจฉิมโอวาท "ความไม่ประมาท" 

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโย โหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved. _/|\_

    ตอบลบ