วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

เศรษฐีเท้าแมว

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
ขอนำเรื่องของ เศรษฐีเท้าแมว ใน ธรรมบทภาค ๕ มาเล่าประกอบไว้ด้วย เรื่องนี้เกิดขึ้น ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่
อุบาสกผู้หนึ่ง ไปฟังธรรมที่วัดเชตวัน ในกรุงสาวัตถีได้ยินพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "บุคคล บางคนให้ทานด้วยตนเอง แต่ไม่ชักชวนผู้อื่น เพราะฉะนั้นเมื่อเขาตายไป เขาย่อมได้รับโภค สมบัติ แต่ไม่ได้รับบริวารสมบัติในที่ๆ เขาไปเกิด
ส่วนบางคนตนเองไม่ให้ทาน แต่เที่ยวชักชวนคนอื่นให้ให้ทาน เพราะฉะนั้นเมื่อเขา ตายไป เขาก็ย่อมได้รับแต่บริวารสมบัติ แต่ไม่ได้รับโภคสมบัติในที่ๆ เขาไปเกิด
ส่วนบางคนตนเองก็ไม่ให้ทาน ทั้งไม่ชักชวนคนอื่นให้ให้ทานด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเขา ตายไป เขาก็ย่อมไม่ได้รับทั้งโภคสมบัติ และบริวารสมบัติในที่ๆ เขาไปเกิด
ส่วนบางคนตนเองก็ไห้ทาน ทั้งยังชักชวนคนอื่นให้ให้ทานด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเขา ตายไป เขาก็ได้รับทั้งโภคสมบัติ และบริวารสมบัติในที่ๆ เขาไปเกิด"
อุบาสกผู้นี้เป็นบัณฑิต ได้ฟังดังนั้นก็คิดจะทำบุญให้ได้รับผลครบทั้งโภคสมบัติและบริวารสมบัติ เขาจึงเข้าไปกราบทูลขอถวายภัตตาหารแก่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกทั้งหมดในวันรุ่งขึ้น พระพุทธเจ้า ก็ทรงรับคำอาราธนานั้น อุบาสกนั้นจึงได้เที่ยวป่าวร้องไปตามชาวบ้านร้านตลาดทั้งหลาย ชักชวนให้บริจาค ข้าวสารและของต่างๆ เพื่อนำมาประกอบอาหารถวายก็ได้รับสิ่งของต่างๆ มากบ้างน้อยบ้างตามศรัทธาและ ฐานะของผู้บริจาค อุบาสกคนนั้นเที่ยวป่าวร้องไปอย่างนี้ จนมาถึงร้านค้าของท่านเศรษฐีผู้หนึ่ง ท่านเศรษฐี เกิดไม่ชอบในที่เห็นอุบาสกนั้นเที่ยวป่าวร้องไปอย่างนั้น ท่านคิดว่า "อุบาสกคนนี้เมื่อไม่สามารถถวาย อาหารแก่พระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวกทั้งวัดเชตวันได้ ก็ควรจะถวายตามกำลังของตน ไม่ควรจะเที่ยวชักชวนคนอื่นเขาทั่วไปอย่างนี้"
เพราะเหตุที่คิดอย่างนี้ แม้ท่านจะร่วมทำบุญกับอุบาสกนั้นด้วย แต่ท่านก็ทำด้วยความไม่เต็มใจ ได้หยิบของให้เพียงอย่างละนิดละหน่อย คือใช้นิ้ว ๓ นิ้วหยิบของนั้น จะหยิบได้สักเท่าไร เวลาให้น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ก็ให้เพียงไม่กี่หยด เพราะเหตุที่ท่านมือเบามาก หยิบของให้ทานเพียงนิดหน่อย คนทั้งหลายก็เลย ตั้งชื่อท่านว่า เศรษฐีเท้าแมว เป็นการเปรียบเทียบความมือเบาของท่านกับความเบาของเท้าแมว
อุบาสกนั้นเป็นคนฉลาด เมื่อรับของจากท่านเศรษฐีจึงได้แยกไว้ต่างหาก ไม่ได้รวมกับของที่ตนรับ มาจากผู้อื่นเศรษฐีก็คิดว่า "อุบาสกนี้คงจะเอาเราไปเที่ยวประจานเป็นแน่" เมื่อคิดอย่างนี้ จึงใช้ให้คน ใช้ติดตามไปดู คนรับใช้ได้เห็นว่าอุบาสกนั้นนำเอาของของเศรษฐีไปแบ่งใส่ลงในหม้อที่ใช้หุงต้มอาหารนั้นหม้อ ละนิด อย่างข้าวสารก็ใส่หม้อละเมล็ดสองเมล็ดเพื่อให้ทั่วถึง พร้อมกับกล่าวให้พรท่านเศรษฐีด้วยว่า "ขอให้ทาน ของท่านเศรษฐีจงมีผลมาก" คนรับใช้ก็นำความมาบอกนาย ท่านเศรษฐีก็คิดอีกว่า "วันนี้เขายังไม่ ประจานเราพรุ่งนี้เวลานำเอาอาหารไปถวายพระที่วัดเชตวัน เขาคงจะประจานเรา ถ้าเขาประจานเรา เราจะฆ่าเสีย" ดังนั้นในวันรุ่งขึ้นท่านจึงเหน็บกริชซ่อนไว้แล้วไปที่วัดเชตวัน ในเวลาที่อุบาสกและชาวเมือง ช่วยกันอังคาสเลี้ยงดูพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ เมื่อช่วยกันถวายภัตตาหารแล้ว อุบาสกผู้นั้นได้กราบ ทูลพระพุทธเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้เที่ยวชักชวนมหาชนให้ถวายทานนี้ขอให้ คนทั้งหลายผู้ที่ข้าพระองค์ชักชวนแล้ว บริจาคแล้ว ทั้งผู้บริจาคของมาก ทั้งผู้บริจาคของน้อย จงได้รับผลมากทุกคนเถิด" ท่านเศรษฐีได้ยินแล้วก็ไม่สบายใจ กลัวอุบาสกจะประกาศว่า ท่านให้ของเพียง หยิบมือเดียว คิดอีกว่า "ถ้าอุบาสกเอ่ยชื่อเรา เราจะแทงให้ตาย" แต่อุบาสกนั้นกลับกราบทูลว่า "แม้ผู้ที่ บริจาคของเพียงหยิบมือเดียว ทานของผู้นั้นก็จงมีผลมากเถิด"
ท่านเศรษฐีได้ฟังดังนั้นก็ได้สติ คิดเสียใจว่า "เราได้คิดร้ายล่วงเกิดต่ออุบาสกนี้อยู่ตลอดเวลา แต่อุบาสกนี้เป็นคนดีเหลือเกิน ถ้าเราไม่ขอโทษเขา เราก็เห็นจะได้รับกรรมหนัก" คิดดังนี้แล้ว จึงเข้า ไปหมอบแทบเท้าของอุบาสกนั้น เล่าเรื่องให้ฟังพร้อมทั้งขอให้ยกโทษให้ พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเห็น กริยาอาการของท่านเศรษฐีอย่างนี้ก็ตรัสถามขึ้น เมื่อทรงทราบแล้วจึงได้ตรัสว่า "ขึ้นชื่อว่าบุญแล้ว ใครๆ ไม่ควรดูหมิ่นว่าบุญนี้เล็กน้อย ทานที่บุคคลถวายแล้วแก่ภิกษุสงฆ์ อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขเช่นนี้ ไม่ ควรดูหมิ่นว่าบุญนี้เล็กน้อย คนที่ฉลาดทำบุญอยู่ ย่อมเต็มด้วยบุญ เหมือนหม้อน้ำที่เปิดปากไว้ ย่อมเต็ม ด้วยน้ำฉันนั้น" ในตอนท้าย พระพุทธองค์ตรัสพระคาถาว่า "บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบุญเล็กน้อยว่าจะไม่ มาถึง แม้หม้อน้ำก็ยังเต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกลงมาฉันใด ผู้ฉลาดเมื่อสะสมบุญแม้ทีละน้อยทีละ น้อย ก็ย่อมเต็มด้วยบุญฉะนั้น"
ท่านเศรษฐีได้ฟังแล้วก็ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคล พระธรรมเทศนาของ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ประกอบด้วยประโยชน์อย่างยิ่งอย่างนี้ ถ้าเราหมั่นฟังอยู่เสมอและฟังด้วยความตั้งใจ ก็ย่อมได้ปัญญา ดังเศรษฐีท่านนี้เป็นตัวอย่าง
จากเรื่องของท่านเศรษฐีผู้นี้ ทำให้ทราบว่าการให้ทานนั้น เป็นเหตุให้ได้รับโภคสมบัติ การชัก ชวนผู้อื่นให้ทานนั้นเป็นเหตุให้ได้รับบริวารสมบัติ ในที่ๆ ตนไปเกิด
เพราะฉะนั้น เมื่อใครเขาทำบุญ หรือใครเขาชักชวนใครๆ ทำบุญ ก็อย่างได้ขัดขวางห้ามปราม เขาเพราะการกระทำเช่นนี้เป็นบาป เป็นการทำลายประโยชน์ของบุคคลทั้ง ๓ ฝ่าย คือตนเองเกิดอกุศลจิต ก่อน ๑ ทำลายลาภของผู้รับ ๑ ทำลายบุญของผู้ให้ ๑

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ