วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พระอภัยมณี

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา


แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์
มันยากสุดลึกล้ำเหลือกำหนด   
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด 
ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน 
มนุษย์นี้ที่รักอยู่สองสถาน 
บิดามารดารักมักเป็นผล 
ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน 
เกิดเป็นคนคิดเห็นจึงเจรจา 
แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ 
ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา 
รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา
รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี





เนื้อเรื่องในพระอภัยมณีมีว่า พระอภัยมณีและศรีสุวรรณเป็นโอรสท้าวสุทัศน์และพระนางประทุมเกสร

แห่งกรุงรัตนา เมื่อพระอภัยมณีและศรีสุวรรณมีอายุพอสมควร พระบิดามีรับสั่งให้ไปแสวงหาวิชาตาม

เยี่ยงกษัตรย์ทั้งหลาย

          .....................................................................
พ่อจะแจ้งเจ้าจงจำคำโบราณอันชายชาญเชื้อกษัตริย์ขัตติยา
ย่อมพากเพียรเรียนไสยศาสตร์เวท สิ่งวิเศษสืบเสาะแสวงหา
ได้ป้องกันอันตรายนัคราตามกษัตริย์ขัตติยาอย่างโบราณ

          พระอภัยมณีและศรีสุวรรณออกเดินทางไปจนถึงหมู่บ้านจันตคาม พบทิศาปาโมกข์สองคน คนหนึ่ง
ชำนาญทางปี่ อีกคนหนึ่งชำนาญทางกระบอง สองพี่น้องมีความเสื่อมใส จึงสมัครเป็นศิษย์ขอเรียนวิชา
อยู่ในสำนักนั้น พระอภัยมณีเรียนเป่าปี่ ส่วนศรีสุวรรณเรียนการต่อสู้ด้วยกระบอง
ครั้นเรียนสำเร็จแล้ว พระอภัยมณีและศรีสุวรรณก็ลาอาจารย์ทิศาปาโมกข์กลับบ้านเมือง ท้าวสุทัศน์
ทรงทราบวิชาที่โอรสเรียนสำเร็จ ก็กริ้วว่าเลือกเรียนวิชาชั้นต่ำไม่สมกับเป็นโอรสของกษัตริย์
จึงขับไล่ออกจากบ้านเมือง ทั้งสองคนจึงเดินทางท่องเที่ยวไปได้รับความลำบาก ศรีสุวรรณปลอบพระอภัยมณี
เป็นคติเตือนใจถึงคุณค่าของการมีวิชาความรู้ว่า

                    มีความรู้อยู่กับตัวกลัวอะไร           ชีวิตไม่ปลดปลงคงได้ดี
          พระอภัยมณีและศรีสุวรรณเดินทางผ่านป่าเขาลำเนาไพรจนมาถึงชายทะเลแห่งหนึ่ง พบกับพราหมณ์
สามคน ชื่อ โมรา มีความสามารถผูกหญ้าเป็นสำเภายนต์ สานนสามารถอ่านมนต์เรียกลมเรียกฝนได้ และ
วิเชียรมีฝีมือยิงธนูได้ครั้งละ 7 ดอก ต่างก็ทดลองอวดวิชากัน พระอภัยมณีแสดงความสามารถในการเป่าปี่

ให้พราหมณ์ทั้งสามคนฟัง ไม่ช้าพราหมณ์ก็พากันหลับหมดทุกคน

ขณะนั้นนางผีเสื้อสมุทรตนหนึ่งออกหากิน พอได้ยินเสียงปี่ของพระอภัยมณีนางก็
"ป่วนฤดีดาลดิ้นถวิลหวัง" เมื่อเห็นพระอภัยมณีก็เกิดความรัก จึงตรงเข้าออุ้มพาไปไว้ยังถ้ำ
พระอภัยมณีจำใจต้องอยู่กับนางผีเสื้อสมุทรจนเกิดโอรส ชื่อ สินสมุทร
          วันหนึ่งขณะที่นางผีเสื้อสมุทรออกไปหากิน สินสมุทรผลักหินปากถ้ำหนีออกไปเที่ยว พบเงือกแก่
จึงจับมาให้พระอภัยมณีดู เงือกอ้อนวอนขอให้ปล่อยไป แล้วจะยอมเป็นข้าพาพระอภัยมณีหนีจาก
นางผีเสื้อสมุทรไปยังเกาะแก้วพิสดาร พระอภัยมณีเห็นเป็นโอกาสที่จะหนี จึงให้สินสมุทรปล่อย
เงือกแล้วห้ามเล่าเรื่องให้นางผีเสื้อสุมทรฟัง ต่อมานางผีเสื้อสุมทรฝันว่าเทวดาที่เกาะมาควัก
ดวงตาทั้งสองข้างเหาะหนีไป นางตกใจตื่นเล่าความฝันให้พระอภัยมณีฟัง พระอภัยมณีเห็นเป็น
โอกาสจึงทำนายฝันว่า นางกำลังมีเคราะห์ให้ไปถือศีลสะเดาะเคราะห์อยู่บนเขาเป็นเวลา 3 ราตรี
นางผีเสื้อสมุทรเชื่อจึงออกไปจำศีล พระอภัยมณีจึงเรียกเงือกให้ช่วยพาหนีโดยมีนางเงือกน้อย
ผู้เป็นลูกติดตามไปด้วย

          ครั้นครบกำหนดสามวัน นางผีเสื้อสมุทรกลับมายังถ้ำไม่เห็นพระอภัยมณีและสินสมุทร
ก็รู้ว่ามีคนพาหนีจึงออกติดตามด้วยความโกรธ
          นางผีเสื้อเหลือโกรธโลดทะลึ่ง           โตดังหนึ่งยุคนธร์ขุนไศล
ลุยทะเลโครมครามออกตามไป
                    สมุทรไทแทบจะล่มถล่มทลาย

นางผีเสื้อสมุทรตามพระอภัยมณีไปทันได้ฆ่าเงือกแก่ผัวเมียที่พาหนี แล้วออกติดตามลูกสาวเงือก

ซึ่งพาพระอภัยมณีหนีต่อไปจนถึงเกาะแก้วพิสดาร พระโยคีที่บนเกาะมาช่วยไว้ พระอภัยมณี
สินสมุทรและนางเงือกจึงอาศัยอยู่กับพระโยคีที่บนเกาะ พระอภัยมณีได้นางเงือกเป็นชายา
ต่อมาพระอภัยมณีและสินสมุทรบวชเป็นฤาษี
          ฝ่ายศรีสุวรรณกับพราหมณ์ทั้งสามคน เมื่อตื่นขึ้นมาไม่พบพระอภัยมณี ต่างก็โศกเศร้า
ครั้นคลายความโศกเศร้าแล้ว ศรีสุวรรณและพราหมณ์ทั้งสามก็ออกตามหาพระอภัยมณีจนมาถึง
เมืองรมจักร มีท้าวทศวงศ์เป็นเจ้าเมือง มีพระธิดา ชื่อ เกสรา ท้าวอุเทนเจ้าเมืองแขกชวาส่งทูต
มาขอต่อพระบิดา แต่ท้าวทศวงศ์ปฏิเสธท้างอุเทนจึงอภิเษกศรีสุวรรณกับพระธิดาเกสรา ทั้งสองมี
พระธิดาชื่อ อรุณรัศมี
          กล่าวถึงเท้าสิลราช เจ้าเมืองผลึก มีพระธิดาชื่อ สุวรรณมาลี นางได้หมั้นหมายกับอุศเรน
โอรสเจ้าเมืองลังกา เมื่อใกล้กำหนดการอภิเษก สุวรรณมาลีฝันไปว่า นางไปเที่ยวทะเล เห็น
ดวงแก้วอยู่กลางเกาะนางเหาะไปหยิบได้ โหรทายว่าจะมีเคราะห์ แต่จะได้คู่ครองที่เหมาะสม
ท้าวสิลราชจึงพาพระธิดาไปเที่ยวทางทะเลจนมาถึงเกาะแก้วพิสดาร พระอภัยมณีและสินสมุทร
จึงขอโดยสารเรือมาด้วย ผีพรายซึ่งนางผีเสื้อสมุทรสั่งให้มาคอยระวังมิให้พระอภัยมณีและ
สินสมุทรหนี นำความไปบอกนางผีเสื้อสมุทร นางจึงออกติดตามและทำลายเรือจนแตก ท้าวสิลราช
สิ้นพระชนม์ในทะเล ส่วนพระอภัยมณีว่ายน้ำหนีไปบนเกาะแห่งหนึ่ง นางผีเสื้อสมุทรติดตาม
พระอภัยมณี แต่ไม่สามารถเข้าใกล้เกาะได้ด้วยพระโยคีให้มนต์วิเศษไว้ นางจึงอ้อนวอนขอให้
พระอภัยมณีไปอยู่ด้วยดังเดิม แต่พระอภัยมณีปฏิเสธ นางผีเสื้อสมุทรจึงร่ายเวทให้ฝนตก
           "ทั้งฟ้าร้องก้องกระหึ่มเสียงครึมครืน          นภางค์พื้นบดบังกำลังมนต์"
ทั้งพายุทั้งฝนซัดพระหน่ำ พระอภัยมณีหนาวสั่นจึงตัดสินใจเป่าปี่สังหารนางผีเสื้อสมุทร
เมื่อนางสิ้นชีวิตพระอภัยมณีก็เศร้าโศกคร่ำครวญถึงนางผีเสื้อสมุทรด้วยความสงสารว่า
          สงสารนักภัคินีเจ้าพี่เอ๋ย เป็นคู่เชยเคียงชิดพิสมัย
ถึงรูปชั่วตัวดำแต่น้ำใจจะหาไหนได้เหมือนเจ้าเยาวมาลย์
.......................................................................................................
อันชาตินี้มีกรรมจำนิรา เมื่อชาติหน้าขอให้พบประสบกัน

เป็นมนุษย์ครุฑาเทวาธิราช
อย่ารู้ขาดเสน่หาจนอาสัญ
ให้สมวงศ์พงษ์ประยูรตระกูลกัน อย่าต่างพันธุ์ผิดเพื่อนเหมือนเช่นนี้

พระอภัยอณีจะปลงศพนางผีเสื้อสมุทร แต่มีชีปะขาวมาห้ามไว้ว่าถ้าเผานางจะฟื้นคืนชีพอีก
พระอภัยมณีจึงปล่อยนางให้เป็นหินอยู่ที่เชิงเขานั้น
ฝ่ายอุศเรนคู่หมั่นของสุวรรณมาลี เมื่อทราบว่าสุวรรณมาลีหายไป ก็นำเรือออกค้นหาจนมาพบ
พระอภัยมณีที่เกาะกลางทะเล จึงรับลงเรือมาด้วย ส่วนสุวรรณมาลีและสินสมุทรเมื่อเรือแตกแล้ว
สินสมุทรได้ว่ายน้ำพาสุวรรณมาลีมาขึ้นที่เกาะแห่งหนึ่ง พบเรือของโจรสุหรั่งจึงอาศัยเรือเดินทาง
กลับ ระหว่างโจรสุหรั่งพยายามเกี้ยวพาราสีสุวรรณมาลี สินสมุทรโกรธจึงฆ่าโจรสุหรั่ง แล้วนำเรือ
ออกเที่ยวค้นหาพระอภัยมณี มาจนถึงเมืองรมจักร เกิดรบกันขึ้น สินสมุทรจับศรีสุวรรณได้
ศรีสุวรรณเห็นพระธำรงค์ของพระอภัยมณีผูกที่ข้อมือของสินสมุทรก็จำได้ พบทราบว่าเป็น
อาหลานกัน ก็ชวนกันออกติดตามพระอภัยมณีพร้อมด้วยอรุณรัศมีจนมาพบกับเรือของอุศเรน
อุศเรนขอสุวรรณมาลีคืนจากสินสมุทร สินสมุทรไม่ยอมเพราะรักและนับถือสุวรรณมาลีเหมือนแม่
          สินสมุทรพูดจาประสาเด็ก ถึงเราเล็กก็ไม่ส่งอย่าสงสัย
รับบิดาก็ช่างใครเป็นไร หรือข้าใช้สอยเจ้าให้เอามา
เราตามติดบิตุรงค์ก็คงพบไม่รักคบคนนอกศาสนา
เจ้าเลิกทัพกลับหลังไปลังกา จะได้หาเมียงามเอาตามใจ
          พระอภัยมณีขอร้องให้สินสมุทรคืนสุวรรณมาลีแก่อุศเรนด้วยเป็นผู้มีบุญคุณที่ให้อาศัย
โดยสารเรือมาแล้ว
      ตรัสบอกลูกน้อยกลอยสวาทเจ้าหน่อเนื้อเชื้อชาติดังราชสีห์
อันรักษาศีลสัตย์กัตเวทีย่อมเป็นที่สรรเสริญเจริญคน
ทรลักษณ์อักตัญญุตาเขาเทพเจ้าก็จะแช่งทุกแห่งหน
ให้ทุกข์ร้อนงอนหง่อทรพลพระเวทมนต์เสื่อมคลายทำลายยศ
เพราะบิดามาด้วยอุศเรนนี้ คุณเขามีมากล้นพ้นกำหนด
เจ้าทำผิดก็เหมือนพ่อทรยศ จงออมอดเอ็นดูพ่อแต่พองาม
         สินสมุทรไม่ยอมส่งสุวรรณมาลี จึงรบกับอุศเรนและจับอุศเรนได้ พระอภัยมณีขอให้ปล่อย
อุศเรนกลับไปยังเมืองลังกา สินสมุทรยอมปล่อย แต่อุศเรนได้รวบรวมไพร่พลเข้าต่อสู้รบพุ่งในเวลาค่ำ
และถูกปืนยิงบาดเจ็บ ต้องถอยทัพหนีกลับไปพระอภัยมณีพร้อมด้วยสุวรรณมาลี สินสมุทร
ศรีสุวรรณและอรุณรัศมีเดินทางมาถึงเมืองผลึก พระนางมณฑล มเหสีของท้าวสิลราชรู้ว่า
พระสวามีหายไปในทะเล จึงคิดจะอภิเษกพระอภัยมณีและสุวรรณมาลีให้ครองเมืองผลึก
แต่สุวรรณมาลีน้อยใจพระอภัยมณีที่จะให้สินสมุทรคืนนางให้แก่อุศเรน จึงออกไปบวชชี
ไม่ยอมอภิเษกด้วย ต่อมามีหญิงคนหนึ่ง ชื่อ วาลี เป็นเชื้อพราหมณ์มีความรอบรู้ในไตรเพท
และมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดแต่เป็นคนรูปชั่วตัวดำ ด้อาสาเข้ารับราชการเพื่อทำนุบำรุง
บ้านเมืองและอาสาออกอุบายให้พระอภัยมณีได้อภิเษกกับสุวรรณมาลี หลังจากนั้น ศรีสุวรรณ
สินสมุทร และอรุณรัศมีได้ลาพระอภัยมณีกลับเมืองรมจักรและไปเยี่ยมท้าวสุทัศน์ที่เมืองรัตนา          กล่าวถึงทางเกาะแก้วพิสดาร หลังจากพระอภัยมณีจากไปไม่นาน นางเงือกก็คลอดโอรส
พระโยคีตั้งชื่อว่าสุดสาคร ครั้นสุดสาครเจริญเติบโตได้ร่ำเรียนวิชากับพระโยคี ต่อมาได้ม้านิลมังกร
ซึ่งสุดสาครจับได้ในทะเลเป็นพาหนะ และมีไม้เท้าวิเศษที่พระโยคีมอบให้เป็นอาวุธ สุดสาครลา
พระโยคีออกตามหาพระบิดา ระหว่างทางผจญกับอันตรายต่างๆ ต้องต่อสู้กับพวกผีดิบ
และพบชีเปลือยซึ่งต้องการม้ามังกรและไม้เท้าวิเศษ จึงหลอกสุดสาครว่าจะบอกมนต์ป้องกัน
ตนบนภูเขา สุดสาครหลงเชื่อจึงถูกผลักตกลงไปในเหว ชีเปลือยได้ม้านิลมังกรและไม้เท้าแล้ว
เดินทางเข้าสู่เมืองการเวก ส่วนสุดสาครนั้นพระโยคีมาช่วยไว้ได้ แล้วสอนสุดสาครว่า
       แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันยากสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลดก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
มนุษย์นี้ที่รักอยู่สองสถานบิดามารดารักมักเป็นผล
ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน เกิดเป็นคนคิดเห็นจึงเจรจา
แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา
รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี
          จากนั้นุดสาครเดินทางติดตามชีเปลือยไปเอาไม้เท้าคืนที่เมืองการเวก ท้าวสุริโยทัย
เจ้าเมืองทรงรักใคร่สุดสาครมากรับไว้เป็นโอรสบุญธรรม และมีเสาวคนธ์พระธิดาเป็นเพื่อนเล่น

ฝ่ายอุศเรนพ่ายแพ้สินสมุทรกลับไปเมืองลังกามีแต่ความเจ็บแค้น จึงระดมพลจัดทัพใหญ่มุ่งตี

เมืองผลึกมีพระบิดาเป็นทัพหลวง อุศเรนเป็นทัพหน้า การศึกษาครั้งนี้วาลีเป็นกำลังสำคัญในการ
วางแผนการรบทัพของเมืองผลึกได้ชัยชนะ พระอภัยมณีจับอุศเรนได้ แต่คิดถึงบุญคุณที่มีมา
แต่เก่าก่อน จึงจะปล่อยไป วาลีมีความคิดว่า
          "อันแม่ทัพจับได้แล้วไม่ฆ่า           ไปข้างหน้าศึกจะใหญ่ขึ้นใจหาย"
วาลีจึงใช้คำพูดยั่วจนอุศเรนอกแตกตายส่วนนางเองก็ถูกปีศาจอุศเรนเข้าสิงด้วยความพยาบาท
จนวาลีถึงแก่ความตายไปด้วย ฝ่ายเจ้าลังกาถูกยิงด้วยธนูหนีไปรวบรวมไพร่พล เมื่อพระอภัยมณี
ส่งศพอุศเรนมาให้ เจ้าลังกาก็โศกเศร้าจนถึงแก่ชีวิต ทหารจึงนำพระศพกลับเมืองลังกา
          ฝ่ายละเวงวัณลาพระธิดาของเจ้าลังกาได้ขึ้นครองเมือง มีสังฆราชเป็นที่ปรึกษา สังฆราช
ให้ละเวงทำการแก้แค้นโดยใช้เสน่ห์หญิงดำเนินการ ประกาศให้เจ้าเมืองต่างๆ ช่วยรบเมืองผลึก
ใครชนะจะยอมอภิเษกด้วยแล้ววาดรูปส่งไปให้เจ้าเมืองต่างๆ ดู ร้อมกันนั้นสังฆราชก็สอนการทำ
เสน่ห์ยาแฝดให้และได้สร้างเมืองใหม่ใกล้ทะเล มีป้อมปราการมั่นคง
          เจ้าละมานเป็นเจ้าเมืองทมิฬ ชาวเมืองดุร้าย
           "ไม่กินข้าวชาวบุรินทร์กินแต่ปลา           กินช้างม้าสารพัดสัตว์แก่เนื้อ"
เจ้าละมานเห็นรูปละเวงที่ทูตนำมาให้เกิดหลงรัก จึงจัดทัพไปช่วยรบเมืองผลึก
พระอภัยมณีทราบข่าวศึกก็ให้หวั่นพระทัยเพราะทัพของเจ้าละมานนั้น
          "ทั้งไพร่นายกายสูงถึงหกศอก          หนังสือบอกมาว่ายักษ์มักกะสัน
     จะเกณฑ์พลคนเราเข้าประจัญ               เล็กกว่ามันเหมือนหนึ่งหนูไปสู้ช้าง"

พระอภัยมณีจึงเป่าปี่สะกดทัพเจ้าละมาน แล้วจับใส่กรงไว้ได้ทั้งหมด เจ้าละมานพร่ำเพ้อถึงแต่ละเวง

นำรูปวาดของนาง      "..................................          มากอดจูบจิตปลงด้วยหลงใหล  
          เฝ้าลูบเล่นเคล้นเคล้าเปล่าเปล่าไป              ยิ้มละไมหมายว่าองค์อนงค์นวล"

ผู้คุมจึงนำรูปละเวงไปถวายพระอภัยมณี เมื่อพระอภัยมณีเห็นรูปละเวงก็หลงรัก

พระอภัยมณีสั่งให้ทหารนำทัพเจ้าละมานไปปล่อยเกาะ เพื่อมิให้กลับมาทำศึกสงครามได้อีก
เจ้าละมานเสียใจมากที่พ่ายแพ้การศึกและเสียดายรูปละเวงจึงสิ้นชีวิต แต่จิตพันผูกอยู่กับรูปวาด
ของละเวง
          "เมื่อดับจิตคิดรำพึงถึงผู้หญิง         เป็นผีสิงรูปกระดาษที่วาดเขียน
    เปรียบเหมือนเงาเข้านั่งระวังเวียน           ให้พิศเพี้ยนผีทับเข้าจับตา"

เมื่อปีศาจเจ้าละมานเข้าสิงรูปละเวง ทำให้พระอภัยมณีหลงรูปวาดจนห้ามผู้คนเข้าเฝ้า เอาแต่
เชยชมรูปวาดแต่ผู้เดียว สุวรรณมาลีจึงลักรูปวาดมาเผาไฟ แต่ด้วยอำนาจของปีศาจเจ้าละมาน
จึงเผาไม่ไหม้ จะฉีกไม่ขาด พระอภัยมณีรู้ก็โกรธ เข้าไล่ตีสุวรรณมาลีแล้วแย่งรูปกลับคืนไป
พระนางมณฑาพระมารดาของสุวรรณมาลีจึงเข้ามาปลอบพระอภัยมณีชี้แจงให้เห็นภัย
จากรูปวาด แล้วขอไปทิ้งน้ำ พระอภัยมณีจึงหายคลุ้มคลั่ง แต่พอพลบค่ำ รูปวาดที่มีผีสิงก็กลับคืน
มาหาพระอภัยมณีได้อีก
         สุดสาครพักอยู่ที่เมืองการเวกเป็นเวลาหลายปี จึงทูลลาท้าวสุริโยทัยออกเดินทางตามหา
พระอภัยมณีเสาวคนธ์และหัสไชยพระธิดาและพระโอรสเจ้าเมืองการเวกขอติดตามไปกับสุดสาครด้วย
เจ้าเมืองการเวกจึงจัดเรือกำปั่นและไพร่พลให้ไปกับสุดสาคร ระหว่างทางผ่านเกาะกาวิน ผีเสื้อยักษ์
โฉบเสาวคนธ์และหัสไชยไปสุดสาครปราบผีเสื้อยักษ์ช่วยไว้ได้ แล้วออกเดินทางจนมาถึงเมืองผลึก
ขณะนั้นพระอภัยมณีประชวรคลุ้มคลั่งหลงรูปละเวง ประจวบกับกองทัพอาสาของละเวงยกมารบเมือง
ผลึกหลายทัพด้วยกัน
                  "เมืองละหุ่งกรุงเตนกุเวนละวาด         เมืองวิลาศวิลยาชวาฉวี
         ถึงเมืองเงาะเกาะวลำสำปะลี                   จะชิงตีเมืองผลึกเป็นศึกรุม"

         สุวรรณมาลีรักษาเมืองผลึก สุดสาครจึงช่วยรบป้องกันเมืองผลึก การรบคราวหนึ่ง สุวรรณมาลี
นำทัพออกรบตกอยู่ในวงล้อมของข้าศึก สุดสาครมาช่วยได้ทัน สุวรรณมาลีออกรบหลายครั้งและถูก
เกาทัณฑ์ได้รับบาดเจ็บ เมื่อศรีสุวรรณได้รับหนังสือทางเมืองผลึกบอกข่าวศึก ก็ยกทัพมาช่วยพร้อม
สินสมุทร ขณะเดินทางสินสมุทรได้สิงโตเป็นพาหนะ เมื่อยกทัพมาถึงทราบว่าสุดสาครตั้งทัพช่วย
อยู่นอกเมือง จึงให้สินสมุทรไปรับสุดสาครเข้าเมือง สุดสาครอาสาช่วยแก้ไขพระอภัยมณีหายคลุ้มคลั่ง
จากรูปวาด
                "เสกไม้เท้าดาบสจดกระดาษ        เสียงรูปวาดหวีดร้องสยองขน
         แล้วซ้ำตีผีร้ายก็วายชนม์                   กระดาษป่นเป็นประกายวุบหายไป"


         เมื่อพระอภัยมณีหายคลุ้มคลั่งแล้ว จึงส่งทูตถือหนังสือไปยังข้าศึกขอทำสงครามแบบธรรมยุทธ์
คือรบกันเพราะตัวแม่ทัพเพื่อมิให้เสียไพร่พล พระอภัยมณี ศรีสุวรรณ สินสมุทร สุดสาครและพราหมณ์
ทั้งสามคนออกรบ ส่วนข้าศึกเหลือทัพวิลยา ชวา ฉวี และมีทัพเพิ่มเติมมาอีกหกทัพ คือ ทัพเมืองละเมด
มลิกัน สำปันหนากรุงกะวิน จีนตั๋ง อังคุลา รวมเป็นเก้าทัพ การรบครั้งนี้ เจ้าละเมด เจ้าคุลาและเจ้ากะวิน
ตายในที่รบ ส่วนจีนตั๋งมีทุรันเป็นอาวุธ สินสมุทรและสุดสาครถูกทุรันฟาดเป็นไฟกรดสลบไป เสาวคนธ์
ได้ใช้เกาทัณฑ์ยิงถูกจีนตั๋งจึงถอยทัพกลับ พวกข้าศึกอิจฉาจีนตั๋งจึงลอบส่งข่าวให้พระอภัยมณีทราบ
วิธีดับพิษไฟกรดโดยใช้น้ำฝน พระอภัยมณีจึงให้พราหมณ์สานนเรียกฝนมาช่วยสินสมุทรและสุดสาคร
และเรียกลมพายุพัดกระหน่ำกองทัพข้าศึกจนค่ายคูประตูหอรบพังพินาศ พระอภัยมณีจึงยกทัพออกตี
ได้ชัยชนะจับข้าศึกได้มากมาย         หลังจากเสร็จการศึก สุดสาครก็ลาพระอภัยมณีกลับเมืองการเวก พระอภัยยกทัพไปตี
เมืองลังกาเป็นการตอบแทนและเพื่อตัดศึกใหญ่ต่อไปด้วย ทางลังกาให้เจ้าเซ็นระด่ำและเจ้ามะหุด
ซึ่งอาสาออกสงครามทำการรบแต่ถูกทัพเมืองผลึกตีแตกพ่ายไป สินสมุทรถูกปืนข้าศึกยิงตกน้ำ
ครั้นน้ำขึ้นซัดร่างไปเกยหาด เมื่อถูกแดดก็ฟื้นและลอบเข้าไปในเมืองใหม่ เห็นละเวงก็เข้าจับแต่
ละเวงมีตราราหูจึงหนีไปได้ สินสมุทรจับเจ้าเซ็นระด่ำและเจ้ามะหุดมาถวายพระอภัยมณี และ
ให้คุ้มขังไว้ เมื่อละเวงหนีไปได้จึงทำกลศึกตั้งค่ายกลตามตำราที่พระสังฆราชสอนไว้ และทำรถกล
มีรูปละเวงนั่ง ศรีสุวรรณและสินสมุทรออกรบติดค่ายกลของละเวง พระอภัยมณีจึงเป่าปี่ห้ามทัพ
         พระโหยหวลครวญเพลงวังเวงจิต    ให้คนคิดถึงถิ่นถวิลหวัง
ว่าจากเรือนเหมือนนกที่จากรัง
         
     อยู่ข้างหลังก็จะแลชะแง้คอย
ถึงยามค่ำย่ำฆ้องจะร้องไห้
         
          ร่ำพิไรรัญจวนหวลละห้อย
โอ้ยามดึกดาวเคลื่อนเดือนก็คล้อย
         
  น้ำค้างย้อยเย็นฉ่ำที่อัมพร
หนาวอารมณ์ลมเรื่อยเฉื่อยเฉื่อนชื่น
         
 ระรวยรื่นรินรินกลิ่นเกสร
แสนสงสารบ้านเรือนเพื่อนที่นอน
         
   จะอาวรณ์อ้างว้างอยู่วังเวง


ทหารในกองทัพทั้งสองฝ่าย เมื่อได้ยินเสียงปี่พระอภัยมณี ต่างก็พากันหลับหมด ส่วนนางละเวง

มีตราราหูไว้คุ้มกันจึงไม่หลับ ขับม้าออกรับกับพระอภัยมณีที่นั่งเป่าปี่บนรถ พระอภัยมณีพบ

ละเวงก็เกิดความรักจึงเป่าปี่เกี้ยวละเวง
         ต้อยตะริดติดตี่เจ้าพี่เอ๋ย      จะละเลยเร่ร่อนไปนอนไหน
แอ้อีอ่อยสร้อยฟ้าสุมาลัย              แม้นเด็ดได้แล้วไม่ร้างให้ห่างเชย
ฉุยฉายชื่นรื่นรวยระทวยทอด          จะกล่อมกอดกว่าจะหลับกับเขนย
หนาวน้ำค้างพร่างพรมลมรำเพย       ใครจะเชยโฉมน้องประคองนวล
เสนาะดังวังเวงเป็นเพลงพลอด        เสียงฉอดฉอดชดช้อยละห้อยหวล
วิเวกแว่วแจ้วในใจรัญจวน          
   เป็นความชวนประโลมโฉมวัณลา




ละเวงได้ฟังเพลงปี่ก็ลืมองค์หลงรักพระอภัยมณี แต่แล้วก็หักใจควบม้าหนีกลับเข้าเมืองลังกา
ระหว่างทางละเวงได้ดินถนันเรียกว่านมพระธรณี หนึ่งพันปีจึงจะผุดขึ้นมาจากพื้นดินครั้งหนึ่ง
ผู้กินดินถนันจะอายุยืนเป็นหนุ่มสาวและผิวพรรณผ่องใส และได้พบบาทหลวงปีโปที่บ้านป่าสิกคารนำ
ได้ขอยุพาผกาและสุลาลีวันซึ่งเป็นกำพร้าและบาทหลวงปีโปชุบเลี้ยงไว้มาเป็นธิดาบุญธรรม
เมื่อเดินทางมาถึงป่ากาลวัน ละเวงก็ได้อ้ายย่องตอดผีดิบเป็นทหารคอยรับใช้ติดตามมาด้วย
หลังจากละเวงหนีไปแล้ว พระอภัยมณีก็ยึดเมืองใหม่ของลังกาได้ แล้วยกทัพเข้าตีด่านดงตาลอิเรน
นายด่านตายในที่รบ รำภาสะหรีบุตรสาวของนายด่านป้องกันรักษาด่านแทนพ่อ มีหนังสือบอก
ไปยังเมืองลังกาละเวงให้จัดทัพป้องกันด่าน แต่ด้านทัพเมืองผลึกไม่ได้จึงเสียด่านดงตาล
รำภาสะหรีหนีไปเฝ้าละเวงที่เมืองลังกาและอยู่รับราชการด้วย ละเวงให้ยุพาผกาและสุลาลีวัน
ยกทัพไปรักษาด่านเจ้าเขาประจัญ ได้สู้รบกับทัพเมืองผลึกแต่ไม่สามารถเอาชนะได้ ละเวงคิด
จะหย่าศึกจึงปรึกษากับสังฆราช สังฆราชออกอุบายให้ละเวงลวงพระอภัยมณีเป่าปี่แล้วให้เอาไฟ
เผากองทัพ แต่ละเวงนั้นรักพระอภัยมณี "จะตัดรักหักสวาทไม่ขาดรอน" เมื่อยกกองทัพ

ออกไป ละเวงก็ใจอ่อนให้เลิกทัพกลับ เป็นเหตุให้สังฆราชโกรธ ยุพาผกาจึงออกอุบายยกกองทัพ

ออกไปให้พระอภัยมณีเป่าปี่ เมื่อทหารในกองทัพหลับก็พาพระอภัยมณีขึ้นรถละเวงพาไปเมือง
ลังกา แล้วให้รำภาสะหรีออกอุบายตัดศรีษะทหารที่คล้ายพระอภัยมณีส่งให้สังฆราช สังฆราชสำคัญ
ว่าพระอภัยมณีตายจริงจึงให้นำศพไปเก็บไว้ ฝ่ายศรีสุวรรณให้คนลอบเข้าไปในด่านเจ้าเขาประจัญ
ไปลักศรีษะปลอมของพระอภัยมณีออกมาได้ต่างโศกเศร้าคิดว่าพระอภัยมณีตายจริง ส่วนสังฆราช
ให้ทูตถือหนังสือแจ้งว่าจับพระอภัยมณีได้ ให้เมืองผลึกเลิกทัพกลับไปแล้วจะปล่อยพระอภัยมณี
ศรีสุวรรณจึงจับทูตไว้แล้วให้สินสมุทรปลอมเป็นทูตลอบเข้าไปในด่านสินสมุทรเข้าไปในด่านจุด
ไฟเผาบ้านเรือนแล้วเปิดประตูเมืองรับทัพเมืองผลึก ศรีสุวรรณนำทัพเข้าไปในด่านค้นหาศพ
พระอภัยมณี เมื่อพบศพจึงทราบว่าเป็นศพปลอม แล้วยกทัพเข้าล้อมเมืองลังกาไว้ ศรีสุวรรณและ
สินสมุทรเข้าเฝ้าพระอภัยมณีที่เมืองลังกา จึงถูกรำภาสะหรีและยุพาผกาทำเสน่ห์ไม่กลับออกไป
ยังกองทัพ พราหมณ์ทั้งสามคนจึงส่งข่าวให้สุวรรณมาลีทราบ สุวรรณมาลีแจ้งข่าวให้สุดสาคร
และอรุณรัศมีทราบแล้วยกทัพไปเมืองลังกา สุดสาครทราบข่าวจึงยกทัพพร้อมด้วยหัสไชยมาช่วย
สุวรรณมาลีมีสารตัดพ้อพระอภัยมณีและมีสารถึงละเวงเป็นเชิงเตือน
          "อันเป็นหญิงชิงคู่เขาชูชื่น          เหมือนกล้ำกลืนของสำลักมักสะอึก"
ละเวงโกรธคำประชดประชันจึงมีหนังสือตอบว่า
                  อุศเรนพี่ของเราขอเจ้าได้       เจ้ามิใช่มเหสีพระพี่หรือ         กลับมีชู้สู่ผัวไม่กลัวมือ                   ยังจะถือตัวดีหรือพี่สะใภ้
สุวรรณมาลีแค้นใจในคำโต้ตอบจะยกกองทัพเข้าตีเมืองลังกา แต่สุดสาครค้านไว้และอาสาแก้เสน่ห์ในวัง

แต่แล้วก็ถูกเสน่ห์ของสุลาลีวัน สุวรรณมาลีจึงยกทัพเข้าโจมตี เมื่อไปถึงหน้าป้อมถูกละเวงเย้ยหยันจนเป็นลม

ต้องเลิกทัพกลับค่าย สุวรรณมาลีจึงมีสารแจ้งเหตุไปเมืองการเวกและเมืองรมจักร ท้าวทศวงศ์แห่งเมืองรมจักร

จึงยกกองทัพมาพร้อมด้วยอรุณรัศมี ส่วนท้าวสุริโยทัยเจ้าเมืองการเวกให้พราหมณ์ทิศาปาโมกข์โลกเชษฐ์ยกทัพ

มาพร้อมด้วยเสาวคนธ์ พราหมณ์ทิศาปาโมกข์ให้หัสไชยนำธงยันต์ไปแก้เสน่ห์พาสินสมุทรและสุดสาครออกมา

แต่ยุพาผกาและสุลาลีวันให้สังฆราชช่วยแก้ไขแล้วให้ย่องตอดสะกดทัพลักพาสินสมุทรและสุดสาครคืนไป แล้ว

เขียนหนังสือปลอมของสุดสาครตัดรักเสาวคนธ์ เป็นเหตุให้เสาวคนธ์โกรธแค้นมาก จึงปลอมตนเป็นชาวสิงหล

ไปหน้าป้อม ยิงแก้มสุลาลีวันด้วยเกาทัณฑ์

   จะยิงล่อพอให้เมียนั้นเสียโฉม       เมื่อผัวโลมจะได้เห็นว่าเป็นแผล
พอลีวันผันเพ่งไปเล็งแล                นางหมายแน่ยิงขวับกลับอัสดร
พอถูกปรางนางฝรั่งเข้าดังปุ          แก้มทะลุลูกตลอดไม่ถอดถอน
นางร้องกรีดหวีดผวาสุดสาคร          ประคองกรกอดเมียนึกเสียใจ

ละเวงโกรธสั่งยกทัพออกตีค่ายสุวรรณมาลีในเวลาดึก ทัพเมืองการเวกเข้าช่วย ตีทัพเมืองลังกาแตกพ่าย
พระอภัยมณียกทัพออกช่วยละเวง

      พระอภัยใจหายเห็นตายมาก    ดูศพซากซ้อนสมแทบลมจับ
   เร่งโยธาฝรั่งเดินคั่งคับ          ไม่พบทัพเที่ยวมาถึงป่าแดง

พระอภัยมณีไม่พบละเวงจึงเป่าปี่เรียก แล้วคบคิดกับละเวงจะตีทัพเมืองผลึก โดยจะเป่าปี่
ให้ทักเมืองผลึกหลับแล้วจุดไฟเผา แต่เมื่อทัพเมืองลังกายกออกมา พราหมณ์ทิศาปาโมกข์
ให้ทหารเอาขี้ผึ้งอุดหู แล้วทำพิธีเชิญพระโยคีเกาะแก้วพิสดารมาห้ามทัพ ขณะที่กองทัพ
ทั้งสองฝ่ายรบกันนั้น พระโยคีเกาะแก้วพิสดารก็มาเทศนาให้สงบศึก
      ขณะนั้นค่อนดึกศึกสงบ             ต่างนอบนบนับถือพระฤาษี
ไม่กริบเกรียบเงียบสงัดทั้งปฐพี
            พระโยคีเทศนาในอาการ
คือรูปรสกลิ่นเสียงไม่เที่ยงแท้
            ย่อมเฒ่าแก่เกิดโรคโศกสงสาร
ความตายหนึ่งพึงให้เห็นเป็นประธาน
       หวังนิพพานพ้นทุกข์สนุกสบาย
ซึ่งบ้านเมืองเคืองเข็ญถึงเช่นนี้
            เพราะโลกีย์ตัณหาพาฉิบหาย
อันศีลห้าว่าอย่าทำให้จำตาย
            จะตกอบายภูมิขุมนรก
..............................................
      ......................................................................
ประการหนึ่งซึ่งขาดพระศาสนา
      
      ทั้งโลกาเกิดทุกข์ถึงยุคเข็ญ
ซึ่งจะหลับดับร้อนให้ผ่อนเย็น
      
      ก็ต้องเป็นไมตรีปรานีกัน
      เมื่อการรบสิ้นสุดลง ทุกฝ่ายเป็นไมตรีกัน ละเวงจัดเลี้ยงฉลองการยุติศึก แล้วพาไปด
ูเขาโครตเพชรเสาวคนธ์ จึงขอโคตรเพชรจากละเวง ขณะเสาวคนธ์ขุดโครตเพชร
       "แผ่นดินไหวเลื่อนลั่นเสียงครั่งครื้น"

เมื่อเสร็จการศึก พระอภัยมณีจึงกลับเมืองผลึกแล้วอภิเษกสินสมุทรกับอรุณรัศมี

แต่อรุณรัศมีโกรธสินสมุทรจึงไม่ยอมเข้าหอ สินสมุทรป่วยเป็นไข้ใจ ท้าวทศวงศ์
จึงให้อรุณรัศมีไปช่วยพยาบาล ส่วนเสาวคนธ์ลอบหนีออกจากเมืองการเวกปลอมตัวเป็นฤาษี
ชื่อพระอัคนี ด้วยไม่ยอมอภิเษกกับสุดสาคร สุดสาครออกเดินทางไปจนถึงหน้าด่านเมืองวาหุโลม
จึงเกิดรบกับเจ้าเมืองวาหุโลมตีเมืองวาหุโลมได้ สุดสาครออกติดตามเสาวคนธ์
และพบเสาวคนธ์ที่เมืองวาหุโลม
      กล่าวถึงเมืองลังกา ละเวงมีโอรสกับพระอภัยมณี ชื่อมังคลา รำภาสะหรีมีโอรสกับศรีสุวรรณ
ชื่อวลายุดา ยุพาผกามีโอรสกับสินสมุทร ชื่อวายุพัฒน์ และสุลาลีวันมีโอรสกับสุดสาคร ชื่อหัสกัน
ละเวงได้มอบเมืองลังกาให้มังคลาครอง มีวลายุดา วายุพัฒน์ และหัสกัน เป็นอุปราช สังฆราชยุ
ให้มังคลาไปชิงโครตเพชรที่เสาวคนธ์ขอไป มังคลาจึงให้หัสกันและวายุพัฒน์ยกทัพตีเมืองการเวก
กองทัพเมืองลังกายกไปตีเมืองการเวกยิงปืนใหญ่และจุดไฟเผาผลาญบ้านช่องผู้คนล้มตายเป็นอันมาก      พวกข้าศึกครึกครื้นยิงปืนใหญ่             ไฟยิ่งไหม้มือคลุ้มคลุ้มโขมง
จะเหลียวแลไปทางไหนไฟลุกโพลง             ติดเรือนโรงโผงผางสว่างไป
หัสกันและวายุพัฒน์เข้าเมืองการเวกได้โครตเพชรคืนกลับไปเมืองลังกา ท้าวสุริโยทัยจึงมีหนังสือ
บอกไปยังเมืองผลึก ขณะนั้นพระอภัยมณีไปงานศพท้าวสุทัศน์พระบิดาที่เมืองรัตนา หัสไชยซึ่งอยู่ที่
เมืองผลึกจึงรีบกลับเมืองการเวก สุวรรณมาลีมีหนังสือบอกข่าวไปให้ละเวงทราบ แต่หนังสือไม่ถึงมือ
ละเวง มังคลารับไว้จึงให้วายุพัฒน์และหัสกันยกทัพไปตีเมืองผลึก ทัพลังกามาถึงเมืองผลึกเที่ยว
จุดไฟเผาผลาญบ้นช่องที่อยู่นอกเมือง
      เที่ยวจุดไฟไหม้โขมงพลุ่มโพลงพลาม       แสงเพลิงลามลุกลอบรอบบุรี
วายุพัฒน์และหัสกันจับสุวรรณมาลีและสร้อยสุวรรณจันทร์สุดาพระธิดาทั้งสององค์ไปกักขังไว้ที่ค่าย
ดงตาล มังคลาให้วลายุดายกทัพไปตีเมืองรมจักรจับท้าวทศวงศ์และมเหสีไปกักขังไว้ที่ค่ายดงตาลด้วย
แม้ว่ากฤษณาโอรสของศรีสุวรรณเกิดจากศรีสุดา ยุขันธ์บุตรพราหมณ์สานน มะหุดบุตร
พราหมณ์วิเชียร และมังกรบุตรพราหมณ์โมรา จะยกทัพออกช่วยเหลือท้าวทศวงศ์ แต่วลายุดา
ก็หลบหนีนำท้าวทศวงศ์และพระมเหสีไปค่ายดงตาลจนได้

สุดสาครและเสาวคนธ์ทราบข่าวเมืองลังกายกทัพมาเผาเมืองการเวก จึงรีบยกทัพไปเมืองลังกา

ส่วนหัสไชยเมื่อทราบว่าสุวรรณมาลีและสร้อยสุวรรณจันทร์สุดาถูกจับ ก็รีบยกทัพไปตีกองเรือ
ของเมืองลังกาแตกพ่าย มังคลาจึงให้วายุพัฒน์และหัสกันออกรบตั้งแต่เช้าจนค่ำ ไม่มีใครแพ้ชนะ
จึงเลิกทัพกลับ พอเวลาดึกหัสไชยยกพลเข้าตีทัพลังกาที่กำลังหลับ รบกันจนรุ่งเช้า สุดสาคร
ยกทัพมาถึงพอดี จึงช่วยหัสไชยรบ ยึดได้ค่ายลังการิมฝั่งน้ำ มังคลาเห็นทัพหนุนจากสุดสาคร
จึงให้ทหารละหม่านเป็นทหารอาสาไปเผากองเรือของหัสไชยและสุดสาคร แล้วตีกระหนาบ
ยึดค่ายคืน เสาวคนธ์จึงทำกลศึกให้ทหารปลอมเข้าไปในเมืองใหม่และค่ายของมังคลา
แล้วจังยกทัพเข้าตียึดค่ายและเมืองใหม่คืน มังคลาหนีและรบกับสุดสาคร ซึ่งนำทัพสะกัดจับ
แต่มังคลาหนีรอดไปได้ ไปอยู่ที่ด่านเขาเจ้าประจัญ
ส่วนละเวงทราบข่าวศึกและรู้ว่ามังคลาจับท้าวทศวงศ์และสุวรรณมาลีมาขังไว้ จึงรีบออกไปช่วย
มังคลาทราบว่าละเวงมาจึงหนีไม่ยอมพบหน้า ละเวงจึงไปช่วยสุวรรณมาลีและท้าวทศวงศ์
และนำไปไว้ในเมืองลังกา
      นางวัณลาสารภาพพึ่งทราบเกล้า    ว่าลูกเต้าเจ้ากรรมทำข่มเหง
ไม่บอกแม่แต่มันคิดกันเอง             ไม่ยำเยงเกรงพระราชอาญา
พระอภัยมณีและศรีสุวรรณเมื่อเสร็จงานท้าวสุทัศน์แล้ว ทราบข่าวการศึกจึงยกทัพไปเมืองลังกาและ
มีหนังสือขอให้มังคลาออกไปพบแต่โดยดี แต่มังคลาไม่ยอม พระอภัยมณีจึงให้หัสไชยถือหนังสือไปให้
ละเวงเพื่อให้แม่ลูกได้พูดจากัน "ช่วยกล่าวน้าวโน้มประโลมลาญ  ให้ลูกหลานคิดคงเป็นพงศ์พันธุ์"
ละเวงแค้นมังคลาจึงถอดยศมังคลา แล้วยกทัพไปตีด่านเจ้าเขาประจัญ มังคลาพากองทัพหนีและรำพึงว่า
"แต่พ่อมาราวีแล้วมิหนำ       แม่ยังซ้ำทำเข็ญให้เป็นสอง"
มังคลาให้วลายุดา และวายุพัฒน์ตีด่านเจ้าเขาประจัญคืนได้ ละเวงหนีออกจากค่าย วลายุดาและ
วายุพัฒน์ จึงยกทัพเลยไปตีเมืองลังการบกับหัสไชยที่อยู่ในเมือง สังฆราชเห็นว่า
มังคลาคงแพ้ศึก จึงเผาเมืองลังกา แล้วพาผู้คนหนีออกจากเมืองไปพบหัสกัน พากันไปหามังคลา
วลายุดาและวายุพัฒน์สู้กับหัสไชยไม่ได้หนีไปหามังคลา มังคลาทราบเรื่องราวแพ้ศึก จึงทำอุบาย
สร้างหุ่นพระอภัยมณีศรีสุวรรณ สินสมุทร สุดสาคร และเสาวคนธ์ผูกติดไม้กางเขน ทำกลห้ามทัพละเวง
ละเวงจึงถอยทัพกลับเมื่อพระอภัยมณียกทัพมาถึงก็ทำอุบายชักหุ่นสุวรรณมาลี สร้อยสุวรรณ จันทร์สุดา
และหัสไชย ทำกลร้องบอกให้พระอภัยมณีเลิกทัพกลับ มิฉะนั้นมังคลาจะฆ่า พระอภัยมณีจึงเป่าปี่จับ
มังคลาและพรรคพวก มังคลามีตราราหูหนีไปได้พร้อมกับสังฆราช ส่วนวลายุดาวายุพัฒน์และหัสกัน
ถูกจับ แต่หลบหนีออกจากที่คุมขังไปได้ พระอภัยมณีเข้าเมืองลังกา แล้วอภิเษกสุดสาครกับเสาวคนธ์
หัสไชยกับสร้อยสุวรรณ และจันทร์สุดา
      หลังงานอภิเษก ศรีสุวรรณพาท้าวทศวงศ์กลับเมืองรมจักร หัสไชยพาสร้อยสุวรรณและจันทร์สุดา
กลับเมืองการเวก สินสมุทรได้ครองเมืองผลึก สุดสาครได้ครองเมืองลังกา ส่วนพระอภัยมณีออกบวช
เป็นฤาษีพร้อมด้วยสุวรรณมาลี และละเวงวัณลาที่เขาสิงคุตร์      แนวคิดในเรื่องพระอภัยมณี สุนทรภู่ชี้ให้ผู้อ่านเห็นว่า ตัณหาของมนุษย์ได้แก่ รูป รส กลิ่น
เสียง สัมผัส ทำให้เกิดความรัก ความหึงหวง ความโกรธ ความอาฆาตพยาบาลย่อมนำไปสู่
ความวุ่นวายจนถึงขั้นทำสงคราม เมื่อดับตัณหาเหล่านี้ได้ก็ทำให้เกิดความสุขความสงบดังเช่น
พระฤาษีเกาะแก้ว-พิสดารได้เทศนาโปรดกองทัพให้สงบศึกว่า
ซึ่งบ้านเมืองเคืองเข็ญถึงเช่นนี้ เพราะโลกีย์ตัณหาพาฉิบหาย

นอกจากนั้นสุนทรภู่ยังชี้ให้เห็นว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยคนทั้งโลก มีคุณธรรมและยึดมั่น

ในศาสนา ดังกลอนว่า "ประการหนึ่งซึ่งขาดพระศาสนา ทั้งโลกาเกิดทุกข์ถึงยุคเข็ญ"

ปมปัญหาสำคัญของเรื่องก็คือ ความหึงหวงระหว่างสุวรรณมาลีและละเวงวัณลา ซึ่งเป็นปัญหาขัดแย้ง

ของตัวละครแต่ก็คลี่คลายปัญหาได้โดยทั้งสองต่างรักกันประดุจพี่และน้อง และทั้งสองก็ออกบวช พร้อม
พระอภัยมณีแสดงให้เห็นว่าการดับตัณหาความหึงหวง ความโกรธเคืองทำให้เกิดความสงบสุขได้
สุนทรภู่ใช้ จินตนาการ คิดฝันเกี่ยวกับวิทยาการก้าวหน้าในด้านวิศวกรและเครื่องจักรกลต่างๆ
จินตนาการเหล่านั้นได้กลายเป็นความจริงในภายหลัง อย่างเช่น เรือของโจรสุหรั่งมีขนาดใหญ่ปลูกตึก

ปลูกต้นไม้เลี้ยงสัตว์ ดังกลอนว่า
      มีกำปั่นนั้นยาวยี่สิบเส้น      กระทำเป็นตึกกว้านสถานถิ่น
หมากมะพร้าวส้มสูกปลูกไว้กิน
    ไม่สู้สิ้นเอมโอชโภชนา
เลี้ยงทั้งแพะแกะไก่สุกรห่าน
      คชสารม้ามิ่ง มหิงสา
มีกำปั่นห้าร้อยลอยล้อมมา
         เครื่องศัสตราสำหรับครบทุกลำ

      จินตนาการของสุนทรภู่เป็นความจริงในปัจจุบัน มีเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ เรือบรรทุกเครื่องบิน แม้จะ
ไม่ได้ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ แต่ก็มีสระว่ายน้ำ โรงภาพยนตร์ ร้านค้า และเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ
บนเรือ นอกจากนั้นยังจินตนาการถึงหีบเสียงซึ่งเป็นจินตนาการก่อนที่วิทยาศาสตร์จะคิดประดิษฐ์หีบเสียง
ขึ้นดังกลอนว่า

      ฝ่ายยุพาผการำภาสะหรี          ไขดนตรีที่ตั้งกำบังแฝง
เหมือนดนตรีปี่พาทย์ไม่พลาดแพลง
     เสียงกระแสงซ้อนเพลงวังเวงใจ
กระจับปี่สีซอเหมือนกรอกรีด
           บัณเฑาะว์ดีดดนตรีปี่ไฉน
นางสำหรับขับร้องทำนองใน
            บ้างขับไม้มโหรีให้ปรีดิ์เปรม
...............................................
      .......................................................................
บรรดานั่งฟังขับให้วับวาบ
            ด้วยเสียงทราบโสตเสนาะเฉลาะเฉลย
บ้างชมผลกลไกด้วยไม่เคย
           กระไรเลยลั่นเองเป็นเพลงการ

สุนทรภู่ได้นำเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์มาสอดแทรกเป็นเค้าเรื่องในเรื่องพระอภัยมณีหลายตอน
ด้วยกัน ดังเช่น พระนางเจ้าวิคตอเรียขึ้นครองเมืองอังกฤษ สุนทรภู่ก็เกิดความบันดาลใจให้
ละเวงวัณลาขึ้นครองเมืองลังกาเป็นการสร้างตัวละครในเรื่องให้เด่นขึ้น และเมื่อเมืองลังกาตกเป็น
เมืองขึ้นของอังกฤษในปี พ.ศ. ๒๓๕๘ สุนทรภู่ก็สมมติให้เมืองลังกาเป็นของฝรั่ง ส่วนศึกเก้าทัพ
ตีเมืองผลึก ก็คงจะได้เค้ามาจากพระเจ้าปะดุงยกทัพมาตีไทยถึง ๙ ทัพ ในปี พ.ศ.๒๓๒๙ และพ่ายแพ้
ทัพไทยกลับไป วีรกรรมครั้งนั้นสุนทรภู่คงจะประทับใจจึงนำมาเป็นศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก นอกจากนั้น
กบฎเจ้าอนุวงศ์เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๑ รัชกาลที่ ๓ โปรดฯ ให้พระยาราชสุภาวดีจับเจ้าอนุวงศ์ขังกรงเป็นการ
ประจานมิให้เอาเยี่ยงอย่าง สุนทรภู่ก็นำมาเป็นศึกเจ้าละมาน พระอภัยมณีให้จับเจ้าละมานขังกรง
เหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ พม่าเผากรุงศรีอยุธยาพินาศสิ้นนับเป็นเหตุการณ์ที่ฝังอยู่
ในความทรงจำของคนรุ่นนั้น สุนทรภู่ก็นำมาเป็นเหตุการณ์ในเรื่องพระอภัยมณี ให้หัสกัน
ผาเมืองการเวก ดังกลอนว่า
      พอทัพหน้ามาถึงวังไม่ยั้งหยุด      ขึ้นฝั่งจุดเพลิงไหม้เหมือนใจหมาย
ตีกลองศึกครึกครื้นปืนประกาย
            พังทลายตึกกว้านเผาบ้านเมือง
พวกทัพหลังคั่งคับช่วยทัพหน้า
            เที่ยวจุดไฟไหม้หลังคาติดฝาเฝือง
เสียงผางโผงโพลงพลุ่งเพลิงรุ่งเรือง
       ชาวบ้านเมืองวุ่นวิ่งเป็นสิงคลี
บ้างฉวยคว้าผ้าผ่อนแบกหมอนฟูก
      บ้างอุ้มลูกจูงหลานลนลานหนี
บ้างคลานคลุกลุกล้มไม่สมประดี
          บ้างพลัดพี่พลัดน้องร้องตะโกน
ในด้าน อุปนิสัยของตัวละคร นักวรรณคดีต่างเห็นพ้องต้องกันว่า สุนทรภู่ได้นำบุคคลาที่ท่านเกี่ยวข้อง
มาเป็นลักษณะของตัวละครในเรื่องพระอภัยมณี ดังเช่น สุวรรณมาลีมีนิสัยขี้หึง คงจะเป็นแม่จัน
ภรรยาคนแรกที่ท่านรักและเกรงใจ ส่วนนางเงือกน่าจะเป็นแม่ศรีสาครเพราะชื่อมีความหมาย
ใกล้เคียงกันคือ เกี่ยวข้องกับน้ำทั้งลูกของนางเงือกก็ชื่อสุดสาคร ส่วนละเวงวัณลา คงจะเป็นสตรี
ที่ชื่องิ้ว ดังกล่าวไว้ในเพลงขับกล่อมตอนพระอภัยมณีติดท้ายรถ และละเวงวัณลาให้สุลาลีวันขับกล่อมว่า
โอ้พระพายชายเฉื่อยเรื่อยเรื่อยริ้ว    หนาวดอกงิ้วงิ้วออกดอกไสว
เกสรงิ้วปลิวฟ้ามายาใจ
      
       ให้หนาวในทรวงช้ำสู้กล้ำกลืน
ความงามของละเวงวัณลานั้น สุนทรภู่วาดภาพให้งามมาก "งามเสงี่ยมเอี่ยมอิ่มดูพริ้มพักตร์" ส่วน
สตรีที่ชื่อ งิ้ว สุนทรภู่ก็กล่าวถึงความงามไว้ในนิราศพระประธมว่า "เหมือนโฉมงิ้วงามราวกับชาววัง"

ตัวละครในเรื่องพระอภัยมณีที่เป็นสตรีล้วนแต่เก่งกล้าสามารถในการปกครองการรบทัพจับศึก รู้ตำรา

พิชัยคราม ชำนิชำนาญในเพลงอาวุธ ไม่ว่าจะเป็นสุวรรณมาลี เสาวคนธ์ วาลี ละเวงวัณลา รำภาสะหรี

ยุพาผกา สุลาลีวันล้วนแต่มีความสามารถไม่แพ้ผู้ชาย เป็นการวางตัวละครที่แตกต่างไปจากสังคมไทย

แต่เดิมที่ให้หญิงมีหน้าที่เก่งทางการบ้านการเรือน สุนทรภู่คงจะได้รับความบันดาลใจจากวีรสตรีไทย
สมัยนั้นได้แก่ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ท้าวสุรนารี เป็นต้น ที่สามารถป้องกันเมืองถลาง และ
เมืองนครราชสีมาจากข้าศึกศัตรูได้ นอกจากนั้นนักวรรณคดียังเห็นพ้องกันว่า ศรีสุวรรณชำนาญใน
กระบอง คงจะได้เค้ามูลมากจากเรื่องไซ่ฮั่น กล่าวคือ พระเจ้าฌ้อปาอ๋อง เป็นนักรบที่มีฝีมือทางกระบอง
สุนทรภู่จึงให้ศรีสุวรรณมีความชำนาญทางกระบอง
      ถึงน้ำเขียวเดี่ยวโดดโขยดคลื่น       เสียงครืนครืนโตเท่าภูเขาใหญ่
ทุกเช้าเย็นเห็นแต่เมฆวิเวกใจ
      
      นางอยู่ในฉากฉายท้ายเภตรา
เผยพระแกลแลเหลียวให้เปลี่ยวจิต
      ดูทั่วทิศล้วนทะเลกับเวหา
หวนรำลึกตรึกตรองถึงน้องยา
      
      พระบิดามารดรจะร้อนทรวง
การให้อารมณ์ เรื่องพระอภัยมณีจะให้อารมณ์แก่ผู้อ่านทั้งอารมณ์ขัน อารมณ์สะเทือนใจ ดังเช่น
อารมณ์ขัน เมื่อนางผีเสื้อสมุทรฟังคำของพระอภัยมณีให้กลับไปยังถ้ำ และเทศนาเป็นเชิงเตือน
สตินางผีเสื้อสมุทรคำพูดของนางให้อารมณ์ขันได้อย่างดีว่า
      นางผีเสื้อเบื่อหูว่าจู้จี้          เจ้าบาลีเลือกแปลมาแก้ไข
ไหนนรกตกลงที่ตรงใด             ช่วยพาไปดูเล่นให้เห็นจริง
เมืองสวรรค์นั้นก็ไปทางไหนเล่า     อย่าพูดเปล่าปลิ้นปลอกหลอกผู้หญิง
หนีไปไหนก็ไม่รอดจะทอดทิ้ง       มานั่งนิ่งอยู่กับเกาะเห็นเหมาะใจ
.........................................................................................................
ไม่นับถือฤาษีหนีผู้หญิง           จะทอดทิ้งเมียไว้ช่างไม่ขัน
เร่งสึกหามาจะได้ไปด้วยกัน       อย่าเทศน์ธรรม์เลยไม่พอใจฟัง

ส่วนอารมณ์สะเทือนใจ จะเห็นได้เมื่อสุดสาครไปลานางเงือก การจากกันของแม่กับลูกนั้น
พรรณนาได้ดีนักให้อารมณ์แก่ผู้อ่าน ดังเช่น      นางเงือกน้ำกำสรดสลดจิต     สุดจะคิดคับทรวงดวงสมร
จะทานทัดขัดไว้มิให้จร             สุดสาครของแม่จะแดดาล
นางดูหน้าอาลัยใจจะขาด           ดังฟ้าฟาดทรวงแยกให้แตกฉาน
สะอื้นอั้นตันใจอาลัยลาญ           แสนสงสารโศกาแล้วว่าพลาง
โอ้ทูนหัวตัวแม่นี้ไม่ห้าม            สุดจะตามใจปองอย่าหมองหมาง
แต่ปรานีที่ไม่แจ้งรู้แห่งทาง       จะอ้างว้างวิญญาณ์ในวารี
เคยกินนมชมชื่นระรื่นรส           พ่อจะอดนมหมองละอองศรี
ทั้งย่อมเยาว์เบาความได้สามปี     เล็กเท่านี้นี้จะไปกระไรเลย

เมื่อท้าวเจ้าลังกาสวรรคต พวกเสนาอำมาตย์ต่างคร่ำครวญถึงพระประมุขของตน
ก็ให้ความสะเทือนใจยิ่งนัก
................................................      นิพพานพร้อมเพราะสิ้นแผ่นดินกลับ
เหมือนจันทราภาณุมาศลีลาศลับ       เหมือนสิ้นกัปสิ้นกัลป์พุทธันดร
สิ้นแผ่นดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร           ทั้งสิ้นสุดพระสุเมรุเกณฑ์สิงขร
เหมือนแผ่นดินสิ้นกษัตริย์ฉัตรนคร     ราษฎรร้อนทั่วทุกตัวคน
โอ้พระองค์ทรงทวีปประทีปแก้ว       จะลับแล้วหล้าแหล่งทุกแห่งหน
นิเวศน์วังลังกาประชาชน             จะร้อนรนเรรวนรัญจวนใจ
ต่างครวญคร่ำรำลึกสะอึกอื้น          ดังเสียงคลื่นครืนมหาชลาไหล
จนรุ่งเช้าเหงาเงียบยะเยียบใจ       เสนาในพร้อมหน้าปรึกษากัน

การใช้ถ้อยคำ ทำให้เกิดภาพพจน์ มีการเปรียบเทียบแบบอุปมาอุปไมย เช่น
คนึงความยามรักยิ่งหนักอก เหมือนอย่างยกเมรุมาศไม่หวาดไหว

มีการเปรียบเทียบแบบอุปลักษณ์เป็นการเปรียบเทียบโดยนัย เช่น
นางยุพาว่าหม่อมฉันเห็นกันแสง       นึกว่าแปลงเปลี่ยนสัดพลัดเป็นถัง
การใช้ถ้อยคำที่เป็นโวหารอุทาหรณ์ เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศของเรื่อง เช่น
เพราะปีเถาะเคราะห์กรรมเกิดน้ำมาก       น้ำท่วมปากท่วมลิ้นเสียสิ้นหนอ
ตามแต่ว่าสารพัดจะตัดพ้อ                 จะปลูกหอให้หม่อมฉันมิทันรู้

คุณค่าทางด้านสังคม วัฒนธรรมและประเพณี เรื่องพระอภัยมณีให้ความรู้แก่ผู้อ่านหลายด้าน

เช่น ในด้านสังคม แสดงให้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ตอนนายด่านเมืองรมจักรพาศรีสุวรรณชมบ้านเมือง ดังกลอนว่า

มีบ้านช่องสองแถวแนวถนน       ทั้งผู้คนคึดคักกันนักหนา
มีโรงรถคชไกรไอยรา
            สนามหน้าจักรวรรดิ์ที่หัดพล
ที่ท้ายวังตั้งล้วนแต่ตึกกว้าน
      บ้างนั่งร้านสองแถวแนวถนน
นายด่านพาผ่าตลาดต้องหลีกคน
   ประชาชนซื้อหาพูดจากัน
ตอนสมโภชการอภิเษกศรีสุวรรณ
จะกล่าวแกล้งชาวเมืองมาดูเล่น             ด้วยว่าเป็นการสนุกทุกภาษา
เที่ยวดูงานการสมโภชในพารา             บ้างยืนนั่งตั้งม้าทุกหน้าโรง
พวกขี้เมาเลห่านักเลงเสียงเครงครื้น       ห่มแต่พื้นขาวม้านุ่งตาโถง
ชิงเบี้ยเจ๊กเด็กแย่งแทงอีโปง             ออกเดินโคลงโคลนเลอะเทอะทั้งตัว
นางบ้านนอกคอกนาหน้าตาตื่น             จะนั่งยืนเคียงข้างไม่ห่างผัว
ห่มแพรสีสองชั้นดูพันพัว                  ต่างแต่งตัวเต็มประดาทุกนารี
............................................      ........................................................................
ครั้นโพล้เพล้เพลาพอพลบค่ำ           พวกหนังร่ำกลองประดังทั้งม้าล่อ
บ้างเชิดหนังตั้งแขนทำแหงนคอ       ที่มุมจอคนเจรจาออกมายืน
พวกดูหนังนั่งหลามตามถนน           ออกเกลื่อนกล่นกลุ้มกลาดดูดาษดื่น
บ้างลองจุดประทัดดังเหมือนอย่างปืน    ให้คนตื่นแตกพลัดกระจัดกระจาย
พอกลองหยุดจุดดอกไม้ไฟสว่าง       แสงกระจ่างแจ่มเหมือนดังเดือนหงาย
ดอกไม้กลคนชิงกันวิ่งควาย             พวกผู้ชายสรวลเสกันเฮฮา

ด้านวัฒนธรรมและประเพณี ในงานอภิเษกศรีสุวรรณ จะเห็นพิธีอภิเษกอย่างชัดเจน
ศรีสุวรรณอัญชลีเข้าที่สรง                    สำอางองค์ผุดผ่องละอองเอี่ยม
พราหมณ์ก็อ่านมนต์พราหมณ์ตามธรรมเนียม   น้ำมนต์เปี่ยมปากสังข์ค่อยหลั่งลง
ชาวประโคมต่างประโคมเสียงโครมครื้น        พระทรงยืนผลัดผ้าภูษาสรง
น้ำกุหลาบอาบอบตระหลบองค์                 พระสอดทรงเครื่องกษตริย์ขัตติยา
ศรีสุวรรณนั้นทรงยานุมาศ                   เหล่ามหาดเล็กเดินเชิญพระแสง
กระบวนแห่แลสร้างไปกลางแปลง             กลองคู่แซงสังข์แตรแช่ประโคม
................................................................      ....................................................
ศรีสุวรรณนั้นนั่งบัลลังก์แก้ว                   ดูผ่องแผ้วพักตร์เพียงสุริย์ใส
....................................................................................................................
ปุโรหิตติดเทียมแว่นสุวรรณ               บังคมคัลส่งกษัตริย์ขัตติยา
ท้าวทศวงศ์ส่งให้มเหสี                   นางชลีแล้วก็ส่งให้วงศา
ต่างคำนับรับเทียนเวียนออกมา           พวกเสนารับส่งเป็นวงไป
กลองประโคมแตรสังข์ประดังเสียง       เสนาะสำเนียงดนตรีปี่ไฉน
มโหรทึกกึกก้องทั้งฆ้องไชย             เสียงหวั่นไหวแว่นแคว้นทุกแดนดาว
....................................................................................................................
ครั้นเวียนเทียนสำเร็จได้เจ็ดรอบ
      ตามระบอบประเพณีพิธีไสย
โหรารวบแว่นวิเชียรที่เวียนไว้
           แล้วดับไฟโบกควันด้วยทันที
ด้านความเชื่อ เรื่องพระอภัยมณีได้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อในการเดินเรือ จะต้องมีการเซ่นสรวง
เจ้าสมุทร ดังกลอนว่า

ข้าแต่งตั้งสังเวยเคยคำนับ
       เชิญมารับเครื่องมัจฉะมังสา
จะขอทางกลางทะเลกับเทวา
   แล้วตีม้าล่อลั่นสนั่นดัง
ความเชื่อในบาปบุญคุณโทษ      อย่าฆ่าสัตว์ตัดชีวิตคิดอุบาย       จะจำตายตกนรกอเวจี
ความเชื่อเกี่ยวกับการทำเสน่ห์ ดังเช่นพระอภัยมณีทำเสน่ห์ให้สุวรรณมาลีรักว่า
      ขี้ผึ้งสีเสกมนต์บ่นบริกรรม       แล้วเสกน้ำมันใส่ไว้ในเล็บ
ถ้าแม้นดีดถูกเนื้อแล้วเชื่อได้
          ผู้หญิงไม่ข่วนทำให้ช้ำเจ็บ
ความเชื่อเกี่ยวกับความฝัน เช่น ฝันว่างูรัดจะได้เนื้อคู่ ดังที่เกษราฝันว่างูใหญ่มารัดองค์ในตำราทายว่า
......................................      ........................................
ยุพยงทรงอ่านอักษรพลัน
     มีสำคัญว่างูหมู่กุมภา
แม้นขบกัดรัดใครในนิมิต
     จะได้ชมรสสนิทเสน่หา
แม้นงูร้ายฝ่ายคู่ภิรมยา
      วาสนาฟุ้งเฟื่องเรืองเจริญ
ด้านความรู้ เรื่องพระอภัยมณีให้ความรู้แก่ผู้อ่านหลายเรื่องด้วยกัน เช่น ความรู้ในด้านการรบสมัย
โบราณ การป้องกันกำแพงเมืองตอนท้าวอุเทนรบเมืองรมจักร ทางเมืองรมจักรป้องกันกำแพงเมือง

แม้นข้าศึกฮึกฮักมาหักหาญ       จะต่อตีนปีนสะพานขึ้นด้านไหน
หลอมตะกั่วทรายปรายลงไป       ยิงปืนใหญ่แย้งรับให้ยับเยิน


ความรู้เกี่ยวกับตำราพิชัยสงครามในการจัดทัพ เช่น

      เห็นกองทัพคับคั่งเรือดั้งกัน       ดูเรียงรันราวกับนาคปากหางมี
ความรู้เกี่ยวกับภาษา
หนุ่มตะกอพอใจเที่ยวเกี้ยวผู้หญิง      เข้าพาดพิงพวกนางต่างภาษา
เขมรเมียงเคียงทวายทำชายตา
      ว่านักเอ๊ยตุยนาสะลามะลู
นางทวายอายเอียงพูดเสียงแปร่ง
     มะแวงแฉ่งพะเอเปอะสู
เจ้ามอญว่าอาละกูลทิ้งปูนพลู
        ลาวบ่อฮู้บ่หันบ่อยั่นน้อ
พวกไทยปาตลีบุตรว่าหยุดก่อน
      ชาวละครร้องฮื้อทำพรื้อพ่อ
เจ๊กเห็นสาวชาวชวาร้องว่าฮ้อ
      แขกว่ายอละเคไพล่เผลความ
ความรู้เกี่ยวกับต้นไม้

ดอกเสลา ภาพ จากpabmai.com
ต้นร้อยลิ้นอินจันทน์ขนันขนุน
                  หอมกลิ่นกรุ่นตูมตาดมะหาดเหียง
ฝางฝาหรั่งทั้งอินทนิลพะเนียง
                   เสลาเสลี่ยงแสลงพันกรวยกันเกรา
กระถินกระทุ่มตุมกามณฑาเทศ
                ตะโกเกดแก้วงอกตามซอกเขา
เคี่ยมคล้อเขลงเต็งตะเคียนกระเบียนกระเบา
    เข็มคัดเค้าสาวหยุดพุดพยอม
ความรู้เกี่ยวกับนก
ภาพนกจากภู่กันจีน บ้านจอมยุทธ
      ดูไม้สูงฝูงนกวิหคจับ             บ้างเรียกรับร้องเร้าริมเขาเขิน
นกแซงแซวแก้วกรอดพูดพลอดเพลิน
   ที่หว่างเนินนกยูงเป็นฝูงฟ้อน
ทั้งไก่ฟ้าพระยาลอขันจ้อเสียง
           เค้าโมงเมียงมาจับสลับสลอน
กระลุ่มพูคู่เคียงประเอียงอร
             ขมิ้นอ่อนป้อนลูกยอดมูกมัน
ฝูงสร้อยร้าบ้าระบุ่นนกขุนแผน
          กระเหว่ากระแวนสัตวากระทาขัน
กระลิงกระลางกางเขนเบญจวรรณ
      นกนวลจันทร์จิบจาบคุ่มขาบเคียง
บนเขาสูงฝูงหงส์บุหรงร้อง
            ดังพิณก้องกังวานประสานเสียง
ระวังไพรไก่แก้วแจ้วจำเรียง
            วิเวกเพียงพิณพาทย์สวาทวอน
ความรู้เกี่ยวกับปลา
ภาพปลาจากภู่กันจีนบ้านจอมยุทธ

      พระโฉมยงองค์อภัยมณีนาถ     เพลินประพาสพิสดูหมู่มัจฉา
เหล่าฉลามล้วนฉลามตามกันมา
       ค่อยเคลื่อนคลาคล้ายคล้ายในสายชล
ฉนากอยู่คู่ฉนากไม่จากคู่
            ขึ้นฟ่องฟู่พ่นฟองละอองฝน
ฝูงพิมพาพาฝูงเข้าแฝงวน
             บ้างผุดพ่นฟองน้ำบ้างดำจร
กระโห้เรียงเคียงกระโห้ขึ้นโบกหาง
     ลอยสร้างกลางกระแสแลสลอน
มังกรเกี่ยวเลี้ยวลอดกอดมังกร
      ประชุมซ่อนแฝงชลขึ้นวนเวียน
ฝูงม้าน้ำทำท่าเหมือนม้าเผ่น
      ขึ้นลอยเล่นเลี้ยวลัดฉวัดเฉวียน
ตะเพียนทองล่องน้ำนำตะเพียน
      ดาษเดียรดูเพลินจนเกินมา
ความรู้เกี่ยวกับการเสริมสวยของหญิงไทยสมัยก่อน
แล้วเข้าห้องส่องกระจกจับกระเหม่า      ขี้ผึ้งเข้าชันย้อยสอยไม่ไหว

เป็นการด่วนจวนจนต้องลนไฟ
           กรีดจุไรรอบเรียบระเบียบกลม
แล้วผัดหน้าทาจันทน์กระแจะแป้ง
       นุ่งยกแย่งพื้นตองปักทองถม
ความรู้เกี่ยวกับโหราศาสตร์ เช่น ตอนสุวรรณมาลีบอกอายุของตนแก่ศรีสุวรรณว่า
ชันษาเข้ายี่สิบสี่เศษ             เบญจเพสจึงต้องระหกระเหิน
อังคารเข้าเสาร์ทับแทบยับเยิน
   ให้เผชิญพรากพลัดพระภัสดา
ตามตำราโหราศาสตร์ถือว่าบุคคลผู้อยู่ในวัยเบญจเพส คือ ๒๕ ปีมักจะมีเคราะห์ อังคารเข้าเสาร์ทับ
หมายถึงพระอังคารเสวยอายุและพระเสาร์ทับลัคนา จะต้องประสบเคราะห์กรรม นอกจากนั้น
เมื่อสุวรรณมาลีจะสึกจากชี พระอภัยมณีได้แนะฤกษ์สึกว่า
ฤกษ์วันนี้สี่ค่ำเป็นอำมฤก ใครบวชสึกสิ้นวิบัติปัดไถม
วันอำมฤกโชคเป็นวันที่ผู้ใดประกอบกิจการที่มีดิถีขึ้นหรือแรมดังนี้คือ จันทร์ ๓ ค่ำ อังคาร ๙ ค่ำ

พุธ ๒ ค่ำ อาทิตย์ ๘ ค่ำ พฤหัสบดี ๔ ค่ำ ศุกร์ ๑ ค่ำ เสาร์ ๕ ค่ำ ถือว่าเป็นวันอำมฤกโชควันมงคล

ความรู้เกี่ยวกับสุภาษิตและสำนวน เรื่องพระอภัยมณีมีสุภาษิตซึ่งเป็นคติในการดำเนินชีวิต

ทั้งคติโลก และคติธรรมเป็นอันมาก เช่น

- โบราณว่าถ้าเหลือกำลังลาก       จงออกปากบอกแขกช่วยแบกหาม

- การนินทากาเลเหมือนเทน้ำ
       ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรัดหิน

- อันรักษาศีลสัตย์กัตเวที
       ย่อมเป็นที่สรรเสริญเจริญคน

ทรลักษณ์อักตัญญุตาเขา
      เทพเจ้าก็จะแช่งทุกแห่งหน
สำนวนโวหารมีในเรื่องพระอภัยมณีซึ่งจะศึกษาได้เช่น
- อาบน้ำร้อน ก่อนเจ้าข้าเข้าใจ             เมื่อไม่ได้ก็ว่าสารพัน
-เพราะปีเถาะเคราะห์กรรมเกิดน้ำมาก       น้ำท่วมปากท่วมลิ้น เสียสิ้นหนา
-พระน้องยิ้มพร้อมพักตร์พจนา             อุปมาเหมือนไก่อยู่ในมือ

      กล่าวโดยสรุป เรื่องพระอภัยมณีมีเนื้อเรื่องที่สนุกสนาน ตัวละครมีเลือดเนื้อเป็นมนุษย์ที่มีรัก

โลภโกรธ หลง หึงหวง พยาบาท ตามวิสัยแห่งมนุษย์อุถุชนทั้งหลาย และยังได้สอดแทรกคติสอนใจแก่

ผู้อ่านทั้งคดีโลกและคดีธรรม ในด้านลีลาการประพันธ์นับว่าเป็นเยี่ยม ลีลากลอนไพเราะ ใช้ศัพท์ง่าย

มีสัมผัสแพรวพราวทำให้เกิดเสียงเสนาะ และกระบวนกลอนก็ย้อมอารมณ์ผู้อ่านให้เกิดความรู้สึกโกรธ

เศร้า รัก ขบขัน รื่นรมย์ไปตามท้องเรื่อง และยังให้ความรู้ทั้งทางด้านสังคม ความเชื่อถือของคนไทย

วัฒนธรรมและประเพณี แก่ผู้อ่านนับว่าเรื่องพระอภัยมณีเป็นเพชรน้ำเอกในวรรณคดีไทยสมกับ
ชื่อเรื่องเป็นอย่างยิ่ง ดังที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวไว้ในเกียรติคุณของสุนทรภู่ว่า
"ในบรรดาหนังสือบทกลอนที่สุนทรภู่ได้แต่งไว้ ถ้าจะลองให้ผู้อ่านชี้ขาดว่าเรื่องไหนดีกว่าเพื่อน
ก็น่าจะยุติต้องกันโดยมากว่าเรื่องพระอภัยมณีเป็นดีที่สุด เพราะเป็นหนังสือเรื่องยาวแต่งดีทั้ง
ความคิดที่ผูกเรื่อง"




ที่มา : ภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคม นิทานคำกลอนพระอภัยมณี บพิธการพิมพ์ กรุงเทพมหานคร 2537 หน้า 85 -101

จุดมุ่งหมายในการอุทิศตนเพื่อนำเสนอ

         1. เพื่อจัดทำแหล่งเรียนรู้และเผยแพร่ตำราที่มีคุณค่าของสถาบันการศึกษาที่ผู้จัดทำได้ศึกษาให้นักเรียนและผู้สนใจได้ศึกษาค้นคว้า
         2. เพื่อรำลึกถึงสุนทรภู่ จินตกวีเอกของโลก ที่เป็นต้นแบบในการแต่งกลอน และรำลึกถึงคุณครูระเบียบ   เหล่านาค
คุณครูในดวงใจของผู้จัดทำ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น