วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554

นาง ๑๒

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

ตำนานพระรถเมรี
ตำนาน  หรือ นิทานพื้นบ้าน เป็นเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมาหรือมีผู้แต่งขึ้นเพื่อต้องการสอนคนในการดำรงชีวิต  ปลูกฝังคุณธรรมต่าง ๆ  ให้ประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดี      นิทานเป็นสื่อเพื่ออบรมบ่มเพาะอุปนิสัยของผู้ฟังได้เป็นอย่างดียิ่ง   ผู้ฟังจะจดจำเนื้อเรื่องได้   รู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลิน    เนื้อเรื่องน่าสนใจ   น่าติดตาม    เข้าใจง่าย  ผู้ฟังจะได้รับการอบรมสั่งสอนผ่านตัวละคร เช่น สำนึกในบาปบุญคุณโทษ   เข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม   เป็นต้น   ตำนานหรือนิทานพื้นบ้านส่วนใหญ่จะถ่ายทอดด้วยวิธีมุขปาฐะที่ทั้งผู้เล่าและ ผู้ฟังต่างมุ่งสนองความสุขทางจิตใจของคน
“ตำนานเรื่องพระรถเมรี”  น่าจะมาจากเรื่อง “รถเสนชาดก”  ซึ่งเป็นชาดกเรื่องที่  ๔๗   ในหนังสือปัญญาสชาดก (ชาดก ๕๐ เรื่อง)   เมื่อได้ฟังนิทานชาดกแล้วผู้ฟังก็นำมาเปรียบเทียบกับชีวิตจริง   มิใช่แต่เพียงสำนึกในกฎแห่งกรรมตามคำสอนเท่านั้น  แต่ยังจินตนาการสภาพบ้านเมืองในเรื่องชาดกให้เข้ากับสภาพจริงของบ้านเมืองของตนด้วย   จึงเกิดเป็นนิทานพื้นบ้าน หรือตำนานของชื่อสถานที่ต่างๆ  ในท้องถิ่นของตน   ดังเช่น เรื่อง “พระรถเมรี”  (บางคนเรียกว่า  “นางสิบสอง” ) เป็นความเชื่อของชาวบ้านในภาคกลาง  บริเวณฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ชาวอำเภอพนัสนิคม  จังหวัดชลบุรี  และชาวอำเภอราชสาส์น  จังหวัดฉะเชิงเทรา  เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง
เนื่องจากตำนานส่วนใหญ่จะถ่ายทอดด้วยวิธีมุขปาฐะ(เล่าเรื่อง)ที่ทั้งผู้เล่าและ ผู้ฟังต่างมุ่งสนองความสุขทางจิตใจของคน   เมื่อเล่าต่อกันไปรายละเอียดของเรื่อง   ชื่อตัวละคร   และชื่อสถานที่ ก็อาจจะผิดเพี้ยนจากต้นฉบับเดิมบ้างเป็นธรรมดา     นอกจากนั้นยังเป็นเทคนิคเฉพาะตัวของผู้เล่าที่จะสร้างความสุขแก่ผู้ฟัง   พร้อมทั้งสอดแทรกคุณธรรมไว้ด้วย      ตำนานพระรถเมรีก็เช่นเดียวกัน คือมีหลายสำนวน  ในที่นี้จะเป็นสำนวนของ  อิงตะวัน  แพลูกอินทร์   โรงเรียนพนมสารคาม  “พนมอดุลย์วิทยา” จังหวัดฉะเชิงเทรา
พระรถสิทธิ์ เป็นเจ้าครองนครที่ไม่มีพระมเหสีได้ครองเมืองไพศาลีด้วยความสงบสุขเรื่อยมา เมืองนั้นมีเศรษฐีร่ำรวยมากคนหนึ่งชื่อ พรหมจันทร์มีภรรยาอยู่กินกันมานานแต่บุตรธิดา จึงพากันไปหาพระฤๅษีเพื่อขอบุตรธิดา    พระฤๅษีจึงให้เก็บก้อนกรวดที่ปากบ่อน้ำหน้าอาศรม  และให้นึกถึงพระฤๅษี ทุกครั้งเมื่อภาวนา
เศรษฐีเก็บก้อนกรวดไปสิบสองก้อน   หลังจากนั้นภรรยาได้ตั้งท้องมีธิดาติดต่อกันมาเรื่อยมาจนได้สิบสองคน   เศรษฐีก็เลี้ยงลูกสาวด้วยความเอ็นดู     อยู่ต่อมาเศรษฐีค้าขายขาดทุนจนไม่มีอาหารเลี้ยงดูลูกสาวทั้งสิบสองคน ในที่สุดจึงตัดสินใจที่จะนำลูกสาวทั้งหมดไปปล่อยป่า  ขณะที่ปรึกษากันระหว่างผัวเมียนางเภาลูกสาวคนสุดท้องแอบได้ยินจึงไปเก็บก้อนกรวดไว้เป็นจำนวนมาก     ครั้งเมื่อพอพาเข้าป่าไปตัดฟืนนางเภาจะเดินรั้งท้ายและเอาก้อนกรวดทิ้งตามรายทางเพื่อเป็นเครื่องหมาย    เมื่อไปถึงป่าพ่อใช้ให้ลูกๆแยกย้ายกันไปตัดฟืนหาผลไม้ในป่ากว้าง    ส่วนพ่อเห็นลูกจากไปในป่าหมดแล้วก็หลบหนีกลับบ้าน
ครั้นตกเย็น ลูกสาวทั้งสิบสองคน ได้กลับมายังที่นัดพบ  รออยู่นาน ไม่เห็นพ่อต่างร้องไห้คร่ำคราญ    นางเภาจึงบอกพี่ๆ ว่าตนจะพากลับบ้าน   นางเภาก็พาพี่ๆเดินตามก้อนกรวดที่นางไปโปรยเอาไว้ตอนเดินทางมา   ส่วนพ่อแม่ซึ่งอดอยากกันมานาน ตั้งใจจะกินข้าวกินปลาให้อิ่มหมีพลีมันเสียที   ขณะที่จะลงมือกินข้าวลูกๆ ก็กลับมาถึงบ้าน
เศรษฐีก็ได้หาวิธีไปปล่อยลูกสาวในป่ากันอีกครั้ง   ครั้งสุดท้ายนางเภาไม่มีโอกาส ที่จะเก็บก้อนกรวดเหมือนครั้งก่อน    เมื่อพ่อพาไปป่าหาฟืนหาผลไม้ก็จำยอมไปและได้เอาขนมที่พ่อแม่ให้กินระหว่างเดินทางโปรยตามทางเพื่อเป็นเครื่องหมายกลับบ้าน   แต่นกกาเห็นขนมก็ตามจิกกินขนมจนหมดสิ้น    ครั้นพ่อหนีกลับบ้าน นางทั้งสิบสองจึงไม่สามารถจะเดินทางกลับบ้านได้    พากันร่อนเร่ พเนจรไปเรื่อยๆหาทิศทางไม่ได้     ในที่สุดหลงเข้าไปในเมืองยักษ์ โดยอาศัยอยู่กับนางสันทมาร(สนธมาร,สนทรา) ยักษ์แม่หม้ายมีลูกสาวบุญธรรม ชื่อนางเมรี     นางสิบสองไม่ทราบว่านางสันทมารเป็นยักษ์จึงอาศัยอยู่ด้วย    นางสันทมารต้องออกป่าไปจับสัตว์กินเป็นอาหารเสมอๆ
วันหนึ่งนางสิบสองซุกซนไปตรวจดูสิ่งต่างๆได้พบกระดูกคนและสัตว์จำนวนมาก     พวกนางจึงรู้ว่านางสันทมารนั้นเป็นยักษ์ จึงพากันหนีด้วยความกลัว      นางสันทมารกลับมาทราบจากเมรีว่านางสิบสองหนีไปก็โกรธจึงออกติดตามหวังจะจับกินเป็นอาหาร       แต่ด้วยบุญญาธิการของนางสิบสองยังมีอยู่บ้าง พวกสัตว์ ป่า เสือ ช้าง ช่วยกันกำบังนางสิบสองไม่ให้นางสันทมารเห็น
ในทีสุดนางสิบสองก็เดินกลับมายังเมืองไพศาลี      พระรถสิทธิ์เจ้าเมืองเสด็จมาพบเข้าทรงพอพระทัยมากจึงรับนางสิบสองคนมาเป็นพระมเหสี         ส่วนนางสันทมารได้ติดตามมาจนถึงเมืองไพศาลี เมื่อทราบว่านางสิบสองได้เป็นพระมเหสีของพระราชสิทธิก็ยิ่งเคียดแค้น     จึงแปลงกายเป็น หญิงงาม ทำอุบาย ร้องห่มร้องไห้ จนได้เฝ้าพระรถสิทธิ์     เล่าว่าตนชื่อ นางสมุดชาถูกบิดาบังคับให้แต่งงานกับเศรษฐี   นางจึงหนีมา     พระรถสิทธิ์รับนางสมุดชาไว้เป็นชายา        นางสมุดชามีความเคียดแค้นนางสิบสองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว      จึงทำเสน่ห์มารยาให้พระรถสิทธิ์หลงใหลจนลืมมเหสีเก่าทั้งสิบสอง
วันหนึ่ง นางสมุดชาทำอุบาย  โดยนางแกล้งป่วยแล้วหมอหลวงเยียวยารักษาไม่หายนอกจากจะต้องใช้ดวงตาของสาวที่เกิดจากพ่อแม่เดียวกัน 12 นาง เป็นเครื่องยาจึงจะรักษาหาย           ด้วยเวทมนต์ของนางยักษ์สันทมารนั้นจึงสั่งควักลูกตานางสิบสองมาเป็นเครื่องยา   แต่นางเภาถูกควักลูกตาเพียงข้างเดียวเพราะเมื่อครั้งหนีนางยักษ์สันทมารนั้นนางทั้งสิบสองคนจับปลากินประทังความหิว   พี่ๆ จับปลาได้ก็จะร้อยกับเชือกโดยแทงตาทะลุทั้งสองข้าง    ส่วนนางเภานั้นร้อยปลาจากปากปลาไปทะลุตาข้างเดียวฉะนั้นนางจึงถูกควักลูกตาข้างเดียว เพราะผลกรรมครั้งนั้น
ขณะนั้นมเหสีทั้งสิบสองได้ตั้งครรภ์กับพระรถสิทธิ์ทุกคน    นางสันทมารจึงให้ทหารจับไปขังไว้ในอุโมงค์มืดๆ  มีอาหารกินบ้างอดบ้าง     ส่วนพระรถสิทธิ์ไม่ทราบว่ามเหสีทั้งสิบสองคนตั้งครรภ์เพราะตกอยู่ในอำนาจเสน่ห์มารยาของนางยักษ์        นางทั้งสิบสองคนต่างหิวโซอยู่ในอุโมงค์มืดนั้นจนคลอดบุตร  เมื่อพี่สาวใหญ่คลอดบุตรออกมาต่างก็ช่วยกันฉีกเนื้อแบ่งกันกิน   นางเภารับส่วนแบ่งเก็บไว้ได้ 11 ชิ้น ครั้นตนคลอดบุตรออกมาบ้างก็นำเนื้อเด็กทั้ง 11 ชิ้น ส่งให้พี่ๆ  ฉะนั้นลูกของนางเภาจึงรอดชีวิต   นางเภาก็เลี้ยงลูกมาในอุโมงค์นั้นจนเจริญวัยวิ่งเล่นได้ตั้งชื่อว่า “รถเสน”
พระอินทร์ทราบเรื่องนางสิบสองถูกทรมานจึงมาช่วยโดยแปลงกายเป็นไก่มาหากินอยู่หน้าอุโมงค์ พระรถเสนเลี้ยงไก่พระอินทร์และนำไก่มาท้าชนพนันกับชาวบ้านก็ได้ชัยชนะทุกครั้งแลกเป็นข้าวอาหารมาเลี้ยงแม่และป้าๆ จนมีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่ว          ความทราบถึงพระกรรณพระรถสิทธิ์ พระองค์เรียกเข้าเฝ้าทำให้ทราบว่า พระรถเสนเป็นพระโอรส     นางสมุดชาทราบเรื่องคิดกำจัดพระรถเสนด้วยการหาอุบายให้พระรถสิทธิ์สั่งพระรถเสนเดินทางไปยังเมืองยักษ์เพื่อนำ “มะงั่วรู้หาว มะนาวรู้โห่” (บางสำนวนว่า  มะม่วงไม่รู้หาว   มะนาวไม่รู้โห่) มาเป็นเครื่องยารักษานางอีก      นางสมุดชาเขียนสารให้พระรถเสนถือไปหานางเมรีโดยเขียนสั่งว่า “ถึงกลางวันให้ฆ่ากลางวัน  ถึงกลางคืนให้ฆ่ากลางคืน”
พระรถเสนก็ควบม้าไปยังเมืองยักษ์ตามคำสั่งพระบิดา  ม้าของพระรถเสนนี้เป็นม้ากายสิทธิ์ วิ่งราวกับลมพัดและพูดได้ด้วย        ครั้นมาถึงอาศรมพระฤๅษีก็ขอหยุดพักหลับนอน    พระฤๅษีผู้มีญาณพิเศษทราบเหตุการณ์จึงแอบแก้ข้อความในจดหมายที่เรียกว่า “ฤๅษีแปลงสาร” เสียใหม่ว่า “ถึงกลางวันให้แต่งกลางวัน   ถึงกลางคืนให้ แต่งกลางคืน”
เมื่อพระรถเสนไปถึงเมืองยักษ์พบนางเมรี ก็นำสารของนางสมุดชามอบให้เพื่อจะได้ขอมะงั่วรู้หาว   มะนาวรู้โห่     นางเมรีทราบเรื่องราวตามสารก็ทำตามคำสั่งแม่ทุกประการ คือ อภิเษกสมรสและยกเมืองให้พระรถเสนครอง
พระรถเสนอยู่ในเมืองยักษ์ด้วยความสุข  แต่ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังระลึกถึงมารดาและป้าของพระองค์    จึงคิดหาอุบายโดยการจัดเลี้ยงสุราอาหาร   นางเมรีเมามายและหลอกถามถึงห่อดวงตานางสิบสอง อีกทั้งกล่องบรรจุดวงใจของนางสันทมาร      นางเมรีก็พูดด้วยความมึนเมา บอกเรื่องราวและที่เก็บสิ่งของสำคัญตลอดจนยาวิเศษขนานต่างๆแก่พระรถเสนจนหมดสิ้น       พระรถเสนจึงนำกล่องดวงใจ  ห่อดวงตาและยารักษารวมทั้งยาวิเศษที่โปรยเป็นภูเขา เป็นไฟ   เป็นมหาสมุทร ติดตัว หนีออกจากเมืองไป
ครั้นเมื่อนางเมรีหายจากความมึนเมาไม่เห็นพระรถเสน    นางจึงรู้ว่าพระรถเสนหนีไปแล้ว นางกับเสนายักษ์ได้ออกติดตามพระรถเสนด้วยความรัก       พระรถเสนควบม้าหนีมาแต่นางเมรีก็ตามทัน   พระรถเสนโปรยยาให้เป็นมหาสมุทร    นางเมรีสิ้นแรงฤทธิ์ไม่สามารถจะข้ามมหาสมุทรได้    นางเฝ้ารำพันอ้อนวอนให้พระรถเสนกลับเมืองไปอยู่กับนาง   แต่ม้าได้ทัดทานไว้ นางเมรีเศร้าโศกคร่ำคราญจนดวงใจแตกสิ้นใจตาย     พระรถเสนกล่าวขอโทษต่อหน้าศพนางแล้วให้เสนายักษ์นำกลับเมือง   ในที่สุดพระรถเสนก็ตัดใจกลับเมืองไปช่วยมารดาและป้าๆ
เมื่อกลับมาถึงเมืองไพศาลี พระรถเสนนำดวงตามารดาและป้าๆ พร้อมกับยารักษาจนสามารถมองเห็นได้ทั้งสิบสองนาง พระรถเสนเข้าเฝ้าพระราชบิดาพร้อมกับทูลว่านางสมุดชาเป็นยักษิณี นางสมุดชารู้เรื่องจึงแปลงกายเป็นยักษ์หวังจะฆ่าพระรถเสนเสีย    แต่พระรถเสนต่อสู้กับนางสมุดชาเป็นสามารถและทำลายกล่องดวงใจของนางสมุดชาจนสิ้นใจตาย       พระรถสิทธิ์จึงง้องอนมเหสีทั้งสิบสองนาง พร้อมทั้งขอโทษที่พระองค์ลงทัณฑ์นางเพราะความมัวเมาในเสน่ห์มารยาของนางยักษิณี     ในที่สุดพระรถสิทธิ์ก็ครองเมืองกับมเหสีทั้งสิบสองคนอย่างสันติสุข
ชาวอำเภอพนัสนิคม  จังหวัดชลบุรี  และชาวอำเภอราชสาส์น  จังหวัดฉะเชิงเทรา  ต่างเชื่อว่าเรื่องพระรถเมรีเป็นเรื่องจริง      จินตนาการสภาพบ้านเมืองในเรื่องให้เข้ากับสภาพจริงของบ้านเมืองของตน    ดังปรากฏในคำขวัญประจำอำเภอ    ตราสัญลักษณ์ประจำหน่วยงานราชการ  และ ชื่อบ้านนามเมืองของสถานที่ในอำเภอพนัสนิคม  จังหวัดชลบุรี  และอำเภอราชสาส์น  จังหวัดฉะเชิงเทรา


ภาพถ่ายผู้ให้ข้อมูล และการให้ข้อมูล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น