วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

แหลมงอบ เกาะช้าง

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

เรื่อง ตำนานแหลมงอบ เกาะช้าง

มีผู้เล่าไว้หลายกระแส
ตำนานแหลมงอบตำนานแรก เล่าว่า มีหญิงชราคนหนึ่ง ชื่อ ยายม่อม มีคอกควายอยู่ที่สลักคอก วันหนึ่งควายหายไป ยายม่อมตามหาควาย เลยจมน้ำทะเลตายกลายเป็นโขดหินชื่อ ยายม่อม ส่วนงอบของยายม่อมกลายเป็นแหลมงอบ ควายของยายม่อมกลายเป็นโขดหินเล็ก ๆ เช่นกัน ส่วนตำนานของเกาะช้างตำนานแรก เล่าว่า เดิมเกาะนี้มีเสือ ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีชายชาวญวนคนหนึ่งชื่อ องค์โด้ ได้ทำพิธีขว้างก้อนหินลงไปในทะเลและสาบว่า ถ้าหินนี้ไม่ผุดขึ้นมาให้คนเห็น เกาะช้างจะไม่มีเสืออีกต่อไป เกาะช้างจึงไม่มีเสือมาจนทุกวันนี้ นิทานเรื่องนี้ นายติ้น ซึ่งเป็นคนเกาะช้างได้เล่าถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวง ต้นสกุล สลักเพชรุ้ง นอกจากนี้ยัง มีตำนานแหลมงอบ เกาะช้าง ซึ่งมีผู้เขียนไว้ มีความเกี่ยวข้องกับชื่อของหมู่เกาะช้าง ชื่อสถานที่ และเหตุที่เกาะช้างไม่มีช้าง สมัยหนึ่ง พระโพธิสัตว์ได้มาสร้างตำหนักเลี้ยงช้างอยู่ที่เกาะช้าง มีช้างพลายเชือกหนึ่งเป็นจ่าโขลง ชื่อว่า อ้ายเพชร และมีสองตายายผู้เลี้ยง ตาชื่อ ตาบ๋าย ยายชื่อ ยายม่อม วันหนึ่ง อ้ายเพชรจ่าโขลงตกมันหนีเตลิดเข้าป่าไปผสมพันธุ์กับนางช้างป่า ตกลูกมา 3 เชือก เมื่อพระโพธิสัตวืทราบเรื่องจึงสั่งให้ตายายไปติดตาม โดยให้ตาไปทางหนึ่ง ยายไปทางหนึ่ง อ้ายเพชรหนีไปจนสุดเกาะด้านเหนือจึงว่ายน้ำข้ามทะเลมาขึ้นฝั่งซึ่งปัจจุบันนี้เรียกว่า บ้านธรรมชาติ ส่วนลูกทั้งสามที่ตามมาด้วย ว่ายน้ำไม่เป็น จึงจมน้ำตายกลายเป็นหิน 3 กอง อยู่บริเวณอ่าวคลองสน ชาวบ้านเรียกว่า “หินช้างสามลูก” ในขณะที่อ้ายเพชรว่ายน้ำไปถึงกลางล่องทะเลลึก ได้ถ่ายมูลไว้กลายเป็นหินกองอยู่ตรงนั้น เรียกว่า “หินขี้ช้าง” ปัจจุบันมีกระโจมไฟ (ประภาคาร) บนหินกองนี้ เมื่อขึ้นฝั่งได้แล้ว อ้ายเพชรได้มุ่งหน้าเลียบไปตามชายฝั่งทิศใต้ ตาบ๋ายซึ่งเป็นผู้เลี้ยงเห็นว่าตามไปไม่ทันแล้วจึงเดินทางกลับ ปล่อยให้ยายติดตามไปแต่เพียงผู้เดียว ยายม่อมตามไปจนทันช้างขึ้นฝั่งแต่ไม่กล้าเข้าป่ากลัวสัตว์จะทำร้ายเอา ในที่สุดก็ตกลงไปในโคลนถอนตัวไม่ขึ้น ถึงแก่ความตายอยู่ตรงนั้นเอง ร่างกายของแกกลายเป็นหินกองอยู่ตรงนั้น ชาวบ้านเรียกว่า “หินยายม่อม” ส่วนงอบที่สวมไว้ได้หลุดลอยไปติดปลายแหลม และกลายเป็นหิน ชาวบ้านเรียกว่า “แหลมงอบ” ตรงบริเวณที่ตั้งกระโจมไฟในปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นชื่อที่ได้จากงอบของยายม่อมที่ลอยไปติดชายฝั่งนั่นเอง เมื่อพระโพธิสัตว์ทราบเรื่องจากคนเลี้ยงว่า อ้ายเพชรมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ จึงเข้าใจว่าอ้ายเพชรจะต้องคิดไปที่เกาะอีก จึงเกณฑ์คนให้ทำคอกดักไว้เกือบถึงท้ายเกาะด้านใต้ ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านแถบนี้ว่า “บ้านคอก” และเกาะซึ่งเกิดจากลิ่มและสลักที่ทำคอกนั้น เรียกว่า “เกาะลิ่ม” “เกาะสลัก” ส่วนมากเรียกรวมกันว่า “บ้านสลักคอก” ฝ่ายอ้ายเพชรนั้น เมื่อเลียบชายฝั่งมาจนถึงท้ายเกาะก็คิดข้ามไปยังเกาะจริงตามที่คาดไว้ พอว่ายน้ำไปได้หน่อยหนึ่งก็ถ่ายมูลออกมากลายเป็น “หินกอง” ทุกวันนี้น้ำในบริเวณนั้นลึกมาก แม้มีหินโผล่ขึ้นมาแต่มิได้อยู่ในเส้นทางการเดินเรือ จึงไม่ได้มีการจัดตั้งประภาคารไว้ที่หินเหล่านี้ เมื่ออ้ายเพชรไปถึงแล้วแทนที่จะกลับเข้าคอกกลับเดินเลียบฝั่งอ้อมแหลมเข้าไปทางอ่าวด้านนอก พระโพธิสัตว์สั่งให้คนไปสกัดให้กลับมาเข้าคอก ชาวบ้านจึงเรียกที่ ๆ ไปสกัดข้างนี้ว่าไปสลักหน้า และเรียกหมู่บ้านบริเวณนี้ว่า “บ้านสลักเพชร” ซึ่งหมายถึง สลักหน้าอ้ายเพชร โดยเหตุที่เกิดความยุ่งยากนี้ พระโพธิสัตว์จึงฝังอาถรรพ์ไว้ตามเกาะต่าง ๆ มิให้ช้างอาศัยอยู่อีกต่อไป นับแต่นั้นมา เกาะต่าง ๆ จึงไม่มีช้างอาศัยอยู่จนปัจจุบันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น