วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2554

มโหสถชาดก

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

มโหสถชาดก
พระมโหสถบัณฑิตทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี
 มโหสธชาดก
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภ พระปัญญาบารมีของพระองค์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้
ความย่อว่า วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายประชุมกันในธรรมสภา เมื่อจะสรรเสริญพระปัญญาบารมีของพระตถาคต ได้นั่งสรรเสริญพระคุณของพระศาสดาว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พระตถาคตเป็นผู้มีพระปัญญาใหญ่ มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระปัญญาร่าเริง มีพระปัญญาลึกซึ้ง มีพระปัญญาดุจแผ่นดิน มีพระปัญญาแหลม มีพระปัญญาว่องไว มีพระปัญญาแทงตลอด ย่ำยีเสียซึ่งวาทะแห่งคนอื่น ทรงทรมานเหล่าพราหมณ์ มีกูฏทันตพราหมณ์เป็นต้น เหล่าปริพาชกมีสัพภิยปริพาชกเป็นต้น เหล่ายักษ์มีอาฬวกยักษ์เป็นต้น เหล่าเทวดามีท้าวสักกเทวราชเป็นต้น เหล่าพรหมมีพกพรหมเป็นต้น และเหล่าโจรมีโจรองคุลิมาลเป็นต้น ด้วยพระปัญญานุภาพของพระองค์ ทรงทำให้สิ้นพยศ พระองค์ทรงทรมานชนเป็นอันมากประทานบรรพชาให้ตั้งอยู่ในมรรคผล พระศาสดามีพระปัญญาใหญ่ ด้วยประการฉะนี้
พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนั่งสนทนาถึงเรื่องอะไร เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในกาลนี้เท่านั้นที่ตถาคตมีปัญญา แม้ในอดีตกาล เมื่อญาณยังไม่แก่กล้า ยังบำเพ็ญบุรพจรยาเพื่อประโยชน์แก่พระโพธิญาณอยู่ ก็เป็นผู้มีปัญญาเหมือนกัน ตรัสฉะนี้แล้วทรงดุษณีภาพ ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลวิงวอนให้ทรงประกาศบุรพจริยา จึงทรงนำอดีตนิทานมาแสดงดังต่อไปนี้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาล มีพระราชาพระนามว่า วิเทหะ เสวยราชสมบัติในกรุงมิถิลา แคว้นวิเทหะ มีบัณฑิต ๔ คน ชื่อเสนกะ, ปุกกุสะ, กามินทะ และ เทวินทะ บัณฑิตเหล่านี้เป็นผู้ถวายอนุศาสนอรรถธรรมแด่พระเจ้าวิเทหราชนั้น
ในวันพระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิ พระเจ้าวิเทหราชทรงพระสุบินว่า ที่มุมพระลานหลวงทั้ง ๔ มุม มีกองเพลิง ๔ กองประมาณเท่ากำแพงใหญ่ลุกโพลง ในท่ามกลางกองเพลิงทั้ง ๔ นั้น มีกองเพลิงเล็กกองหนึ่งขนาดประมาณเท่าหิ่งห้อย ลุกโพลงล่วงเลยกองเพลิงทั้ง ๔ ลุกสูงขึ้นไปจนจดประมาณอกนิฏฐพรหมโลก ส่องแสงสว่างไปทั่วจักรวาล สิ่งที่ตกบนพื้นแม้มีขนาดเล็กเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดก็สามารถมองเห็น ทั้งเทวดา ทั้งมาร ทั้งพรหมมาบูชากองไฟนั้น ด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น มหาชนเที่ยวอยู่ในระหว่างเปลวเพลิง ก็มิได้ร้อนแม้สักว่าขุมขน
พระราชาทรงเห็นพระสุบินนี้แล้วก็ทรงหวาดสะดุ้ง เสด็จลุกขึ้นประทับนั่ง ทรงจินตนาการอยู่จนอรุณขึ้นว่า เหตุการณ์อะไรหนอจะเกิดขึ้นแก่เรา รุ่งเช้าเมื่อบัณฑิตทั้ง ๔ มาเฝ้าแล้วทูลถามถึงสุขไสยาว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์บรรทมเป็นสุขหรือ
พระราชาตรัสตอบว่า ท่านอาจารย์ความสุขจะมีแก่เราได้อย่างไร ในเมื่อเราได้ฝันเห็นอย่างนี้ แล้วทรงตรัสเล่าเรื่องความฝันของพระองค์ให้บัณฑฺตทั้งสี่ได้รับฟัง
ลำดับนั้น เสนกบัณฑิตทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์อย่าได้ตกพระหฤทัย พระสุบินนั้นเป็นมงคล ความเจริญจักมีแด่พระองค์
เมื่อมีพระราชดำรัสถามว่า เพราะเหตุไร จึงทูลว่าข้าแต่มหาราช บัณฑิตที่ ๕ อีกคนหนึ่งจักเกิดขึ้น ครอบงำพวกข้าพระองค์ซึ่งเป็นบัณฑิตทั้ง ๔ ทำให้หมดรัศมี พวกข้าพระองค์ทั้ง ๔ คน เหมือนกองเพลิง ๔ กอง บัณฑิตที่ ๕ จักเกิดขึ้น เหมือนกองเพลิงที่เกิดขึ้นในท่ามกลาง บัณฑิตนั้นย่อมไม่มีผู้เสมอทั้งในโลกทั้งเทวโลก
พระเจ้าวิเทหราชตรัสถามว่า ก็บัดนี้บัณฑิตนั้นอยู่ที่ไหน
เสนกบัณฑิตทูลพยากรณ์ราวกะเห็นด้วยทิพยจักษุเพราะกำลังแห่งการศึกษาของตนว่า บัณฑิตนั้นจักคลอดจากครรภ์มารดาในวันนี้
พระราชาทรงระลึกถึงคำแห่งเสนกบัณฑิตนั้นนับแต่นั้นมา.
ก็บ้านทั้ง ๔ คือ บ้านชื่อทักขิณยวมัชฌคาม ๑ ปัจฉิมยวมัชฌคาม ๑ อุตตรยวมัชฌคาม ๑ ปาจีนยวมัชฌคาม ๑ ตั้งอยู่ที่ประตูทั้ง ๔ แห่งกรุงมิถิลา
ในบ้านทั้ง ๔ นั้น เศรษฐีชื่อสิริวัฒกะอยู่ในบ้านชื่อปาจีนยวมัชฌคาม ภรรยาของเศรษฐีนั้นชื่อสุมนาเทวี วันนั้นพระมหาสัตว์จุติจากดาวดึงส์พิภพ ถือปฏิสนธิในครรภ์แห่งนางสุมนาเทวี ในเวลาที่พระราชาทรงพระสุบิน เทพบุตรอีกพันหนึ่งก็จุติจากดาวดึงส์พิภพมาถือปฏิสนธิในตระกูลแห่งเศรษฐีใหญ่น้อยในบ้านนั้นนั่นเอง ฝ่ายนางสุมนาเทวี เมื่อเวลาล่วงมาได้ ๑๐ เดือน.ก็คลอดบุตรมีผิวพรรณวรรณะดุจทองคำ
ขณะนั้น ท้าวสักกเทวราชทอดพระเนตรดูมนุษยโลก ก็ทรงทราบว่าพระมหาสัตว์คลอดจากครรภ์มารดาแล้ว ทรงคิดว่า ควรเราจะทำพระพุทธางกูรนี้ให้ปรากฏทั้งในโลกทั้งเทวโลก ในเวลาที่พระมหาสัตว์คลอดจากครรภ์มารดา จึงเสด็จมาด้วยอทิสมานกายไม่มีใครเห็นพระองค์ วางแท่งโอสถแท่งหนึ่งที่หัตถ์แห่งพระมหาสัตว์นั้น แล้วเสด็จกลับไปยังทิพยพิมานแห่งตน
พระมหาสัตว์รับแท่งโอสถนั้นกำไว้ ก็เมื่อพระมหาสัตว์คลอดจากครรภ์นั้น ความทุกข์มิได้มีแก่มารดาแม้สักหน่อยหนึ่ง คลอดง่ายคล้ายเทน้ำออกจากหม้อฉะนั้น นางสุมนาเทวีเห็นแท่งโอสถในมือของบุตรนั้น จึงถามว่า พ่อได้อะไรมา
บุตรนั้นตอบมารดาว่า โอสถจ๊ะแม่ แล้ววางทิพยโอสถในมือมารดา กล่าวว่า ข้าแต่แม่ แม่จงให้โอสถนี้แก่พวกคนที่เจ็บป่วยเถิด
นางสุมนาเทวีมีความร่าเริงยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงบอกแก่สิริวัฒกเศรษฐีผู้สามี ก็เศรษฐีนั้นป่วยเป็นโรคปวดศีรษะมา ๗ ปี ได้ยินดังนั้นก็มีความร่าเริงยินดี คิดว่ากุมารนี้เมื่อเกิดแต่ครรภ์มารดาก็ถือโอสถมา ทั้งพูดกับมารดาได้ในขณะที่เกิดนั่นเอง โอสถที่ผู้มีบุญเช่นนี้ให้คงจักมีอานุภาพมาก คิดฉะนี้แล้วจึงถือโอสถนั้นฝนที่หินบด แล้วเอาโอสถหน่อยหนึ่งทาที่หน้าผาก โรคปวดศีรษะที่เป็นมา ๗ ปีก็หายไป ดุจน้ำหายไปจากใบบัวฉะนั้น ท่านเศรษฐีนั้นมีความดีใจว่า โอสถมีอานุภาพมาก
เรื่องพระมหาสัตว์ถือโอสถมา ก็ปรากฏไปในที่ทั้งปวง บรรดาผู้เจ็บป่วยทั้งหลายนั้นต่างก็พากันมาที่บ้านท่านเศรษฐีเพื่อขอยา ฝ่ายท่านเศรษฐีก็ถือเอาโอสถหน่อยหนึ่งฝนที่หินบด ละลายน้ำให้แก่คนทั้งปวง เพียงเอาทิพยโอสถทาสรีระเท่านั้น ความเจ็บป่วยทั้งปวงก็สงบ มนุษย์ทั้งหลายได้ความสุขแล้วก็สรรเสริญว่าโอสถในเรือนท่านสิริวัฒกเศรษฐีมีอานุภาพมากแล้วกลับไป.
ในวันตั้งชื่อพระมหาสัตว์ ท่านมหาเศรษฐีคิดว่า เราไม่ต้องการนำเอาชื่อบรรพบุรุษมาเป็นชื่อบุตรของเรา บุตรของเราจงชื่อโอสถ เพราะเมื่อเขาเกิดถือโอสถมาด้วย แต่นั้นมาจึงตั้งชื่อพระมหาสัตว์นั้นว่า มโหสถกุมารเพราะอาศัยคำที่เกิดขึ้นว่า โอสถนี้มีคุณมาก โอสถนี้มีคุณมาก ด้วยประการฉะนี้
ลำดับนั้น ท่านเศรษฐีได้มีความคิดว่า บุตรของเรามีบุญมาก จักไม่เกิดคนเดียวเท่านั้น ทารกทั้งหลายที่เกิดพร้อมกับบุตรของเรานี้จะต้องมี จึงให้ตรวจตราดู ก็ได้ข่าวพบทารกเกิดวันเดียวกัน ๑ พันคน จึงให้เครื่องประดับแก่กุมารทั้งหมด และให้นางนม ๑ พันคน ให้ทำมงคลแก่ทารกเหล่านั้นพร้อมกับพระโพธิสัตว์ทีเดียว ด้วยคิดว่า ทารกเหล่านี้จักเป็นผู้ปฏิบัติบำรุงบุตรของเรา นางนมทั้งหลายตกแต่งทารกแล้วนำมาบำเรอพระมหาสัตว์
พระโพธิสัตว์เล่นอยู่ด้วยทารกเหล่านั้น จนเมื่อเจริญวัยมีอายุได้ ๗ ขวบ มีรูปงามราวกะรูปทองคำ เมื่อพระโพธิสัตว์เล่นอยู่กับทารกเหล่านั้นในสนามกลางหมู่บ้าน
วันหนึ่งเมื่อเขาเหล่านั้นกำลังเล่นกันอยู่ เมฆฝนก็ตั้งเค้าขึ้น พระมหาสัตว์ผู้มีกำลังดุจช้างสาร เห็นเมฆตั้งขึ้นก็วิ่งเข้าสู่ศาลาหลังหนึ่ง พวกทารกอื่นวิ่งตามไปทีหลังพระมหาสัตว์ ก็เหยียบเท้าของกันและกันพลาดล้มถึงเข่าแตกเป็นต้น พระโพธิสัตว์จึงคิดว่า ควรทำศาลาเป็นที่เล่นในสถานที่นี้ เราทั้งหลายจักไม่ลำบากอย่างนี้ จึงแจ้งแก่ทารกเหล่านั้นว่า พวกเราลำบากด้วยลม ฝน และแดด พวกเราจักสร้างศาลาหลังหนึ่งในที่นี้ ให้พอเป็นที่ยืนนั่ง และนอนได้ ท่านทั้งหลายจงนำกหาปณะมาคนละหนึ่งกหาปณะ ทารกเหล่านั้นก็กระทำตามนั้น
พระมหาสัตว์ให้เรียกนายช่างใหญ่มากล่าวว่า ข้าแต่พ่อท่านจงสร้างศาลาในที่นี้ แล้วได้ให้กหาปณะพันหนึ่งแก่เขา นายช่างใหญ่รับคำรับกหาปณะพันหนึ่งแล้ว ปราบพื้นที่ให้เสมอขุดหลักตอออกแล้วขึงเชือกกะที่ พระมหาสัตว์เห็นวิธีขึงเชือกของนายช่าง จึงกล่าวว่า ท่านผู้เจริญท่านอย่าขึงเชือกอย่างนี้จงขึงให้ดี
นายช่างกล่าวว่า นาย ข้าพเจ้าขึงตามวิชาที่ข้าพเจ้าเรียนมา การขึงอย่างอื่นนอกจากนี้ข้าพเจ้าไม่รู้
พระมหาสัตว์กล่าวว่า แม้เพียงเท่านี้ก็ไม่รู้ ท่านจักรับทรัพย์ของพวกเราทำศาลาได้อย่างไร จงนำเชือกมาเราจักขึงให้ท่าน
แล้วจึงให้นำเชือกมาแล้วก็ขึงด้วยตนเอง เชือกที่พระมหาสัตว์ขึง ได้เป็นประหนึ่งพระวิสสุกรรมเทพบุตรขึง และแล้วพระมหาสัตว์ได้กล่าวกะนายช่างว่าท่านสามารถขึงเชือกได้อย่างนี้ไหม
ไม่สามารถ นาย
ถ้าเช่นนั้นท่านสามารถทำตามความเห็นของเราได้ไหม
สามารถ นาย
พระมหาสัตว์จัดแบ่งที่ศาลาให้เป็นส่วน ๆ คือ ห้องสำหรับหญิงอนาถาคลอดบุตรห้องหนึ่ง ห้องสำหรับสมณพราหมณ์ผู้อาคันตุกะมาพักห้องหนึ่ง ห้องสำหรับคฤหัสถ์ผู้อาคันตุกะมาพักห้องหนึ่ง ห้องสำหรับเก็บสินค้าของพวกพ่อค้าผู้อาคันตุกะมาพักห้องหนึ่ง ทำห้องเหล่านั้นทั้งหมดให้มีประตูทางหน้ามุข ให้ทำสนามเล่น ที่วินิจฉัยแม้โรงธรรมอย่างนั้น ๆ
เมื่อศาลาแล้วเสร็จก็ให้เรียกช่างเขียนมาเขียนรูปอันน่ารื่นรมย์ โดยตนเป็นผู้สั่งการเอง ศาลานั้นก็งดงามเปรียบด้วยเทวสภาชื่อสุธรรมา
แต่นั้น พระมหาสัตว์ดำริว่าเพียงเท่านี้ ศาลายังหางามไม่ ควรสร้างสระโบกขรณีด้วยถึงจะงาม จึงให้ขุดสระโบกขรณี ให้เรียกช่างอิฐมา ให้สร้างสระโบกขรณีให้มีคดลดเลี้ยวนับด้วยพัน ให้มีท่าลงนับด้วยร้อย โดยความคิดของตน สระโบกขรณีนั้นดาดาษด้วยปทุมชาติ ๕ชนิด เป็นราวกะว่านันทนโบกขรณี
ให้สร้างสวนปลูกต้นไม้ต่าง ๆ ทั้งไม้ดอกและไม้ผลริมฝั่งสระนั้น ดุจอุทยานนันทนวัน และใช้ศาลานั้นแหละเริ่มตั้งทานวัตร เพื่อสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติธรรม และผู้เดินทางที่จรมาเป็นต้น การกระทำของพระมหาสัตว์นั้นได้ปรากฏไปในที่ทั้งปวง มนุษย์เป็นอันมากได้มาอาศัยศาลานั้น พระมหาสัตว์นั่งในศาลานั้น กล่าวสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ สิ่งที่ถูกและผิด แก่ผู้ที่มาแล้ว ๆ เริ่มตั้งการวินิจฉัย กาลนั้นได้เป็นเสมือนพุทธุปบาทกาล.
ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราช เมื่อเวลาล่วงไปได้ ๗ ปี ทรงระลึกได้ว่า บัณฑิตทั้ง ๔ กล่าวแก่เราว่า บัณฑิตที่ ๕ จักเกิดขึ้นครอบงำพวกเขา บัณฑิตคนที่ ๕นั้นบัดนี้อยู่ที่ไหน จึงโปรดให้อำมาตย์ ๔ คนไปสืบเสาะหาทางประตูทั้ง ๔ ด้านให้รู้สถานที่อยู่แห่งบัณฑิตนั้น
อำมาตย์ผู้ออกไปทางประตูอื่น ๆ ไม่พบพระมหาสัตว์ อำมาตย์ผู้ออกไปทางประตูด้านปราจีนทิศ นั่งที่ศาลาคิดว่า ศาลาหลังนี้ต้องคนฉลาดทำเองหรือใช้ให้คนอื่นทำ จึงถามคนทั้งหลายว่า ศาลาหลังนี้ช่างไหนทำ คนทั้งหลายตอบว่า ศาลาหลังนี้นายช่างไม่ได้ทำเอง แต่ได้ทำตามวิจารณ์ของมโหสถบัณฑิตผู้เป็นบุตรของสิริวัฒกเศรษฐี ด้วยกำลังปัญญาแห่งตน
อำมาตย์ถามว่า ก็บัณฑิตอายุเท่าไร
คนทั้งหลายตอบว่า ๗ ปีบริบูรณ์
อำมาตย์นับปีตั้งแต่วันที่พระราชาทรงเห็นพระสุบิน ก็ทราบว่า บัณฑิตนั้นคือผู้นี้เอง สมกับพระราชาทรงเห็นพระสุบิน จึงส่งทูตไปทูลพระราชาว่าขอเดชะ บุตรของสิริวัฒกเศรษฐีในบ้านปาจีนยวมัชฌคาม ชื่อมโหสถบัณฑิตอายุได้ ๗ ปี ให้สร้างศาลา สระโบกขรณี และอุทยานอย่างนี้ ๆ ข้าพระบาทจะพาบัณฑิตนี้มาเฝ้าหรือยัง
พระราชาทรงสดับประพฤติเหตุนั้น มีพระหฤทัยยินดี รับสั่งให้หาเสนกบัณฑิตมาตรัสเล่าเนื้อความนั้นแล้วดำรัสถามว่า เป็นอย่างไร ท่านอาจารย์เสนกะ เราจะนำบัณฑิตนั้นมาหรือยัง
เสนกบัณฑิตนั้นเป็นคนตระหนี่ จึงทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิตด้วยเหตุเพียงให้สร้างศาลาเป็นต้น ใคร ๆ ก็ให้สร้างได้ ข้อนั้นยังเป็นการเล็กน้อย
พระราชาทรงสดับคำของเสนกบัณฑิตก็ทรงนิ่งอยู่ ทรงส่งทูตของอำมาตย์กลับไปพร้อมกับสั่งว่าอำมาตย์จงอยู่ในที่นั้นพิจารณาดูบัณฑิตไปก่อน อำมาตย์ได้ฟังพระราชดำรัสนั้นก็ยับยั้งอยู่ที่นั้น พิจารณาดูบัณฑิตต่อไป ซึ่งในเวลาต่อมาก็ได้เกิดเรื่องที่พิจารณา รวม ๑๙ หัวข้อ ดังนี้
๑ ชิ้นเนื้อ ๒ โค ๓ เครื่องประดับทำเป็นปล้อง ๆ ๔ กลุ่มด้าย ๕ บุตร ๖ คนเตี้ยชื่อโคฬกาฬ ๗ รถ ๘ ท่อนไม้ ๙ ศีรษะคน ๑๐ งู ๑๑ ไก่ ๑๒ แก้วมณี ๑๓ ให้โคตัวผู้ตกลูก ๑๔ ข้าว ๑๕ ชิงช้าห้อยด้วยเชือก ทราย ๑๖ สระน้ำ ๑๗ อุทยาน ๑๘ ลา ๑๙ แก้วมณีบนรังกา (รวม ๑๙ ข้อ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น