วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ภูริทัตชาดก

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

ภูริทัตชาดก

พระเจ้าภูริทัต ทรงบำเพ็ญศีลบารมี

ภูริทัตตชาดก
พระศาสดา เมื่อทรงอาศัยกรุงสาวัตถี ประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภอุบาสกทั้งหลาย แล้วตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
ได้ยินว่า ในวันอุโบสถ อุบาสกเหล่านั้นอธิษฐานอุโบสถแต่เช้าตรู่ แล้วจึงถวายทาน ภายหลังภัตต่างถือของหอมและดอกไม้เป็นต้น ไปยังพระเชตวันนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เพื่อฟังธรรม
ก็ในกาลนั้น พระศาสดาเสด็จมายังธรรมสภา ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่เขาตบแต่งไว้ ตรวจดูภิกษุสงฆ์ ทรงทราบว่า ก็บรรดาภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ธรรมกถาตั้งขึ้นปรารภภิกษุเหล่าใด พระตถาคตทั้งหลายทรงเจรจาปราศรัยกับภิกษุเหล่านั้น เพราะเหตุนั้นวันนี้ธรรมกถาที่เกี่ยวกับบุพจริยา ตั้งขึ้นปรารภอุบาสกทั้งหลายดังนี้แล้ว จึงทรงเจรจาปราศรัยกับอุบาสกเหล่านั้น แล้วตรัสถามว่า พวกเธอเป็นผู้รักษาอุโบสถหรืออุบาสกทั้งหลาย เมื่ออุบาสกกราบทูลให้ทรงทราบจึงตรัสว่า ดีละ อุบาสกทั้งหลาย ก็ข้อที่พวกเธอ เมื่อได้พระพุทธเจ้าผู้เช่นเราเป็นผู้ให้โอวาท พึงกระทำอุโบสถ จัดว่าเธอกระทำกรรมอันงาม เรื่องนี้ไม่น่าอัศจรรย์เลย แม้โปราณกบัณฑิตผู้ไม่เอื้อเฟื้อละยศใหญ่ กระทำอุโบสถได้เหมือนกัน ดังนี้แล้ว ได้ทรงเป็นผู้นิ่ง อันภิกษุเหล่านั้นทูลอาราธนาแล้ว จึงทรงนำอดีตนิทานมาว่า
กัจฉปกัณฑ์
ภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาล ยังมีพระราชาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าพรหมทัต ครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี ทรงประทานตำแหน่งอุปราชแก่พระราชโอรส แต่ครั้นเมื่อทอดพระเนตรเห็นความยิ่งใหญ่แห่งพระยศของพระราชโอรสนั้น จึงทรงเกิดความระแวงขึ้นว่า พระราชโอรสจะยึดเอาราชสมบัติ จึงรับสั่งให้เรียกพระราชโอรสนั้นมาแล้วตรัสว่า ดูก่อนพ่อ เธอไม่อาจจะอยู่ในที่นี้ เธอจงออกไปจากที่นี้ แล้วไปอยู่ในที่ ๆ เธอชอบใจ เมื่อเราล่วงไปแล้ว เธอจงกลับมาครองรัชสมบัติอันเป็นของแห่งตระกูล
พระราชโอรสทรงรับพระดำรัส ถวายบังคมพระราชบิดาแล้วเสด็จออกจากพระนคร เสด็จไปยังแม่น้ำยมุนา แล้วให้สร้างบรรณศาลาในบริเวณระหว่างแม่น้ำยมุนากับสมุทรและภูเขา มีรากไม้และผลไม้เป็นอาหารอาศัยอยู่ในที่นั้น
ครั้งนั้น นางนาคมาณวิกาผู้ที่สามีตายตนหนึ่งในภพนาค ผู้สถิตอยู่ฝั่งสมุทร เพราะมีกิเลสเกิดกระสันขึ้นจึงออกจากภพนาค เที่ยวไปที่ฝั่งสมุทร เห็นรอยเท้าของพระราชโอรส จึงเดินไปตามรอยเท้า ได้เห็นบรรณศาลานั้น
ครั้งนั้นพระราชโอรส ได้เสด็จไปสู่ป่าเพื่อต้องการผลไม้ นางเข้าไปยังบรรณศาลาเห็นเครื่องลาดทำด้วยไม้และบริขารที่เหลือ จึงคิดว่า นี้ชรอยว่าจักเป็นที่อยู่ของบรรพชิตรูปหนึ่ง เราจักทดลองดูว่าเขาบวชด้วยศรัทธาหรือไม่หนอ ก็ถ้าเขาบวชด้วยศรัทธา น้อมไปในเนกขัมมะ เขาก็จักไม่ยินดีในการนอนบนที่นอนที่เราตกแต่งไว้ แต่ถ้าเขาเป็นผู้ยังยินดีอยู่ในกาม ไม่บวชด้วยศรัทธา เขาก็จักนอนในที่นอนที่เราจัดแจงไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจักจับเขากระทำให้เป็นสามีแล้วจักอยู่ในที่นี้เอง
คิดดังนั้นแล้วนางจึงกลับไปสู่ภพนาค นำดอกไม้ทิพย์ และของหอมทิพย์มาจัดแจงที่นอนให้เต็มไปด้วยดอกไม้ ได้นำดอกไม้มาประดับไว้ที่บรรณศาลา เกลี่ยจุณของหอมไว้ทั่วบรรณศาลา แล้วไปยังภพนาคตามเดิม
พระราชโอรสเสด็จมาในเวลาเย็นเข้าไปยังบรรณศาลา ทรงเห็นบรรณศาลาจัดแจงไว้อย่างนั้นจึงคิดว่า ใครหนอจัดแจงที่นอนนี้ ดังนี้แล้วจึงเสวยผลไม้น้อยใหญ่ คิดว่า น่าอัศจรรย์ ดอกไม้มีกลิ่นหอม น่าอัศจรรย์ ดอกไม้มีกลิ่นหอม ใครตบแต่งที่นอนให้เป็นที่ชอบใจของเรา เกิดโสมนัสขึ้นด้วยมิได้บวชด้วยศรัทธา จึงนอนพลิกกลับไปกลับมาบนที่นอนดอกไม้ ก้าวลงสู่ความหลับ
วันรุ่งขึ้นเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นไป พระราชโอรสตื่นแล้วลุกขึ้น แต่ไม่ได้กวาดบรรณศาลา แต่ได้ออกไปเพื่อหารากไม้และผลไม้น้อยใหญ่ในป่า.ในขณะนั้น นางนาคมาณวิกามาเห็นดอกไม้เหี่ยวแห้งก็รู้ว่า ท่านผู้นี้น้อมใจไปในกาม ไม่ได้บวชด้วยศรัทธา เราอาจจะจับเขาได้ คิดดังนี้แล้วจึงนำดอกไม้เก่า ๆ ออกไป นำดอกไม้สดใหม่ ๆ มา จัดแจงที่นอนดอกไม้เหมือนอย่างนั้นนั่นแล ประดับบรรณศาลาและเกลี่ยดอกไม้ในที่จงกรมแล้วไปยังภพนาคตามเดิม.
แม้ในวันนั้น พระราชโอรสนั้นก็นอนบนที่นอนดอกไม้ วันรุ่งขึ้นจึงคิดว่าใครหนอประดับบรรณศาลานี้ พระองค์จึงไม่ได้ออกไปหาผลไม้น้อยใหญ่ตามปกติ แต่ได้ยืนอยู่ในที่กำบังไม่ไกลจากบรรณศาลา
ฝ่ายนางนาคมาณวิกา ถือของหอมและดอกไม้เป็นอันมากมายังอาศรมบท พระราชโอรสพอเห็นนางนาคมาณวิกาผู้ทรงรูปอันเลอโฉมก็มีจิตปฏิพัทธ์ จึงเข้าไปยังบรรณศาลา ในขณะที่นางจัดแจงดอกไม้อยู่ แล้วถามว่า เจ้าเป็นใคร ?
นางตอบว่า ข้าแต่นายฉันชื่อว่า นางนาคมาณวิกา
พระราชโอรสตรัสถามว่า เธอมีสามีแล้วหรือยัง
นางตอบว่า ข้าแต่นาย เมื่อก่อนฉันมีสามี แต่เดี๋ยวนี้ฉันยังไม่มีสามีเป็นหม้ายอยู่ ท่านเล่าอยู่ที่ไหน ?
พระราชโอรสตอบว่า ฉันชื่อว่า พรหมทัตกุมาร โอรสของพระเจ้ากรุงพาราณสี ก็ท่านเล่าเพราะเหตุไร จึงละภพนาคเที่ยวอยู่ในที่นี้
นางตอบว่า ข้าแต่นาย ดิฉันตรวจดูยศของพวกนางนาคมาณวิกาผู้มีสามีในที่นั้น อาศัยกิเลสจึงกระสันขึ้น ออกจากภพนาคนั้นเที่ยวแสวงหาสามี.
พระราชโอรสตรัสว่า เพราะเหตุนั้นแล นางผู้เจริญ แม้เราก็ไม่ได้บวชด้วยศรัทธา เพราะถูกพระบิดาขับไล่ จึงมาอยู่ในที่นี้ เจ้าอย่าคิดไปเลย เราจักเป็นสามีของเจ้า
แล้วคนทั้งสองก็ได้อยู่สมัครสังวาสกันในที่นั้นนั่นเอง นางสร้างตำหนักมีค่ามากด้วยอานุภาพของตนแล้ว นำบัลลังก์อันควรค่ามากมาแล้วตบแต่งเป็นที่นอน นับแต่นั้นมา พระราชโอรสนั้นก็ไม่ได้เสวยรากไม้และผลไม้น้อยใหญ่ เสวยแต่ข้าวและน้ำอันเป็นทิพย์เหล่านั้นเลี้ยงชีวิต
ครั้นต่อมาภายหลัง นางนาคมาณวิกาตั้งครรภ์คลอดบุตรเป็นชาย พวกญาติได้ขนานนามท่านว่า สาครพรหมทัต เพราะท่านประสูติที่ฝั่งแม่น้ำสาคร ในเวลาที่สาครพรหมทัตเดินได้นางนาคมาณวิกาก็คลอดบุตรเป็นหญิงอีกคนหนึ่ง พวกญาติขนานนามนางว่า สมุททชาเพราะนางเกิดที่ริมฝั่งสมุทร
เมื่อระยะกาลล่วงเลยไป ก็มีพรานไพรชาวกรุงพาราณสีคนหนึ่ง เที่ยวมาจนถึงที่นั้นแล้ว เมื่อได้กระทำปฏิสันถารกับพระโอรสก็จำพระราชโอรสได้ เมื่ออยู่ในที่นั้นได้ ๒-๓ วันแล้วก็กล่าวว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์จักบอกความที่พระองค์อยู่ในที่นี้แก่ราชตระกูล แล้วลากลับไปยังพระนคร.
ในกาลนั้นพระเจ้าพรหมทัตก็สวรรคต หลังจากที่พวกอำมาตย์ได้ทำพระสรีรกิจแก่ท้าวเธอ แล้วประชุมกันในวันที่ ๗ ปรึกษากันว่า ชื่อว่า รัชสมบัติอันไม่มีพระราชา ย่อมดำรงอยู่ไม่ได้ พวกเราไม่รู้ว่าพระราชโอรส ยังมีชีวิตอยู่ หรือว่าไม่มี จึงควรกระทำพิธีปล่อยผุสสรถ (ราชรถเสี่ยงทาย) เพื่อเสาะหาพระราชา
ขณะนั้นก็เป็นเวลาที่พรานไพรได้กลับเข้าไปสู่พระนคร เมื่อทราบเรื่องนั้นจึงไปยังที่อยู่ของพวกอำมาตย์แล้วได้บอกเรื่องที่ตนไปพบพระราชโอรส
อำมาตย์ทั้งหลายได้ฟังดังนั้นแล้วจึงได้ทำสักการะแก่เขา ให้เขาเป็นผู้นำทางไปในที่นั้น ได้กระทำปฏิสันถารแล้ว บอกความที่พระราชาสวรรคตแล้ว ทูลว่าขอพระองค์จงครองราชสมบัติเถิด พระเจ้าข้า
พระราชโอรสทรงดำริว่าเราจักรู้จิตของนางนาคมาณวิกา ดังนี้แล้วเข้าไปหาเธอแล้วตรัสว่า ดูก่อนนางผู้เจริญ พระบิดาของเราสวรรคตแล้ว อำมาตย์ทั้งหลายมาในที่นี้ เพื่อยกฉัตรให้เรา ไปกันเถิดนางผู้เจริญ เราทั้งสองจักครองรัชสมบัติในกรุงพาราณสีประมาณ ๑๒ โยชน์ เธอจักเป็นใหญ่กว่าหญิง ๑๖,๐๐๐ คน
นางกล่าวว่าข้าแต่นาย ดิฉันไม่อาจไปกับท่านได้
พระราชโอรสถามว่า เพราะเหตุอะไร ?
นางกล่าวว่า พวกเราเป็นอสรพิษร้าย โกรธเร็ว ย่อมโกรธแม้ด้วยเหตุเพียงเล็กน้อย และชื่อว่าการอยู่ร่วมผัวเป็นภาระหนัก ถ้าดิฉันเห็นหรือได้ยินสิ่งอะไรก็โกรธ แลดูอะไร จักกระจัดกระจายไปเหมือนกำธุลี เพราะเหตุนี้ ดิฉันจึงไม่อาจไปกับท่านได้
แม้วันรุ่งขึ้นพระราชโอรสก็อ้อนวอนเธออยู่นั่นเอง.ลำดับนั้นนางจึงกล่าวกะท่านอย่างนี้ว่า ดิฉันจักไม่ไปด้วยปริยายไร ๆ ส่วนนาคกุมารบุตรของเราเหล่านี้ เป็นชาติมนุษย์ เพราะเกิดโดยสมภพกับท่าน ถ้าบุตรเหล่านั้นยังมีความรักในเรา ท่านจงอย่าประมาทในบุตรเหล่านั้น แต่บุตรเหล่านี้แล เป็นพืชน้ำละเอียดอ่อน เมื่อเดินทางต้องลำบากด้วยลมแดดจะพึงตาย ท่านพึงให้ขุดเรือลำหนึ่ง ให้เต็มด้วยน้ำแล้วให้บุตรเหล่านั้นเล่นน้ำนำไป พึงกระทำสระโบกขรณีในพื้นที่ในภายในพระนครแก่บุตรเหล่านั้น
ก็แลนางครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ไหว้พระราชโอรสทำประทักษิณ กอดพวกบุตร ให้นั่งระหว่างถัน จูบที่ศีรษะ มอบให้แก่พระราชโอรส ร้องไห้คร่ำครวญแล้วหายไปในที่นั้นนั่นเอง ได้ไปยังภพนาคตามเดิม
ฝ่ายพระราชโอรสถึงความโทมนัส มีพระเนตรนองด้วยน้ำตา ออกจากนิเวศน์ เช็ดนัยนาแล้วเข้าไปหาพวกอำมาตย์.พวกอำมาตย์เหล่านั้น อภิเษกพระราชโอรสนั้นในที่นั้นนั่นเอง แล้วทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ พวกข้าพระองค์จะไปยังนครของพระองค์ พระเจ้าข้า.
พระราชาตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงจึงรีบขุดเรือยกขึ้นสู่เกวียนให้เต็มด้วยน้ำ ขอท่านจงเกลี่ยดอกไม้ต่าง ๆ อันสมบูรณ์ด้วยสีและกลิ่นบนหลังน้ำ บุตรทั้งหลายของเราผู้มีพืชแต่น้ำ บุตรเหล่านั้นเล่นน้ำ ในที่นั้น จักไปสบาย
พวกอำมาตย์ได้กระทำเหมือนอย่างนั้น พระราชาเสด็จถึงกรุงพาราณสี เสด็จเข้าไปยังนครที่ตบแต่งไว้ แวดล้อมไปด้วยหญิงนักฟ้อน และอำมาตย์เป็นต้นประมาณ ๑๖,๐๐๐ คน ประทับนั่งบนพื้นใหญ่ เสวยน้ำมหาปานะ ๗ วัน แล้วให้สร้างสระโบกขรณี เพื่อประโยชน์แก่พวกบุตร พวกบุตรได้เล่นในที่นั้นเนืองนิตย์
ภายหลังวันหนึ่งเมื่อพวกบุตรพากันเล่นน้ำในสระโบกขรณี เต่าตัวหนึ่งเข้าไป ไม่เห็นที่ออก จึงดำลงในพื้นสระโบกขรณี ในเวลาเด็กเล่นน้ำ ผุดขึ้นจากน้ำโผล่ศีรษะขึ้นมา เห็นพวกเด็กเหล่านั้น จึงดำลงไปในน้ำอีก พวกเด็กเหล่านั้นเห็นเต่านั้นจึงสะดุ้งกลัว ไปยังสำนักของพระบิดากราบทูลว่า ข้าแต่พ่อ ในสระโบกขรณียังมียักษ์ตนหนึ่ง ทำพวกข้าพระองค์ให้สะดุ้ง
พระราชาทรงสั่งบังคับพวกราชบุรุษว่า พวกท่านจงไปจับยักษ์นั้นมา ราชบุรุษเหล่านั้นทอดแหนำเต่าไปถวายแด่พระราชา พระกุมารทั้งหลายเห็นเต่านั้นแล้วร้องว่า นี้ปีศาจพ่อ นี้ปีศาจพ่อ
พระราชาทรงกริ้วเต่าด้วยความรักในบุตร จึงสั่งบังคับว่า พวกท่านจงไปทำกรรมกรณ์แก่เต่านั้นเถิด
ในบรรดาราชบุรุษเหล่านั้น ราชบุรุษคนหนึ่งกล่าวว่าเต่านี้เป็นผู้ก่อเวรแก่พระราชา ควรจะเอามันใส่ในครกแล้วเอาสากตำทำให้เป็นจุณ อำมาตย์บางพวกกล่าวว่า ควรจะปิ้งให้สุกในไฟถึง ๓ ครั้งแล้วจึงกิน.อำมาตย์บางพวกกล่าวว่า ควรจะต้มมันในกระทะนั่นแล แต่อำมาตย์คนหนึ่งผู้กลัวน้ำกล่าวว่าควรจะโยนเต่านี้ลงในน้ำวนแห่งแม่น้ำยมุนา มันจะถึงความพินาศใหญ่ในที่นั้น เพราะกรรมกรณ์ของเต่านั้นเห็นปานนี้ย่อมไม่มี
เต่าได้ฟังถ้อยคำของเขาจึงโผล่ศีรษะขึ้นพูดอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เหตุอะไรของท่าน เราทำผิดอะไร ที่ท่านวิจารถึงกรรมกรณ์เห็นปานนี้กะเรา ก็เราสามารถอดกลั้นกรรมกรณ์นอกนี้ได้ ก็แลผู้นี้เป็นผู้หยาบช้าเหลือเกิน ท่านอย่ากล่าวคำเห็นปานนี้เลย
พระราชาทรงสดับดังนั้น ควรจะสร้างทุกข์กะเต่านี้แหละดังนี้แล้วจึงให้ทิ้งลงไปในน้ำวนแห่งแม่น้ำยมุนา เต่านั้นถึงห้วงน้ำอันเป็นที่ไปสู่ภพนาคแห่งหนึ่งได้ไปสู่ภพนาคแล้ว
ลำดับนั้นพวกนาคมาณพบุตรของพญานาคชื่อว่าธตรฐ กำลังเล่นอยู่ในห้วงน้ำนั้น เห็นเต่านั้น จึงกล่าวว่า พวกท่านจงจับมันเป็นทาส
เต่านั้นคิดว่า เราพ้นจากพระหัตถ์ของพระเจ้าพาราณสีแล้วบัดนี้ถึงมือของพวกนาคผู้หยาบช้าเห็นปานนี้ เราจะพึงพ้นด้วยอุบายอะไรหนอ
เต่านั้นคิดว่า อุบายนี้ใช้ได้ เราจะพึงพูดมุสาวาทจึงจะพ้น แล้วกล่าวว่าพวกท่านมาจากสำนักของพระยานาคชื่อว่าธตรฐ เพราะเหตุไร ท่านจึงกล่าวกะเราอย่างนี้ เราเป็นเต่าชื่อว่า จิตตจูฬ เป็นทูตแห่งพระเจ้าพาราณสีมายังสำนักของพระยานาคชื่อว่าธตรฐพระราชาของเรา ประสงค์จะให้ธิดาแก่พระยานาคชื่อว่า ธตรฐ จึงส่งเรามา ขอท่านจงแสดงเราแก่ พระยานาคนั้นเถิด.
นาคมาณพเหล่านั้นเชื่อแล้วเกิดโสมนัส  พาเต่านั้นไปยังสำนักพระราชากราบทูลความนั้นแล้ว พระราชารับสั่งให้เรียกเต่านั้นมาด้วยคำว่า จงนำมันมาเถิด
พอเห็นเต่านั้น จึงพอพระทัยตรัสว่า ผู้มีร่างลามกเห็นปานนี้ ไม่สามารถจะทำทูตกรรม เต่าได้ฟังดังนั้นจึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ก็ชื่อว่าผู้เป็นทูตจะพึงมีร่างกายประมาณเท่าลำตาลหรือ ความจริงร่างกายเล็กหรือน้อยไม่เป็นประมาณ การทำกรรมในที่ที่ไปแล้ว ๆ ให้สำเร็จนั่นแล เป็นประมาณดังนั้น ข้าแต่มหาราชเจ้า ทูตเป็นอันมากของพระราชาของเราเป็นมนุษย์ ย่อมทำกรรมบนบก นกย่อมทำกรรมบนอากาศ ข้าพระองค์ชื่อว่า จิตตจูฬ ถึงฐานันดรเป็นที่โปรดปรานของพระราชา เป็นผู้ปกครองหมู่บ้าน ย่อมทำกรรมในน้ำ ขอพระองค์อย่าข่มขู่ ดูหมิ่นข้าพระองค์เลย ดังนี้แล้วจึงสรรเสริญคุณของตน
ลำดับนั้น พระยานาคธตรฐ จึงถามเต่านั้นว่า ก็ท่านเป็นผู้อันพระราชาส่งมาเพื่อต้องการอะไร ?
เต่ากล่าวว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระราชาของข้า ตรัสกะข้าอย่างนี้ว่า เราจะทำมิตรธรรมกับพระราชา ชาวชมพูทวีปทั้งสิ้น บัดนี้ เราควรจะทำมิตรธรรมกับพระยานาคธตรฐ เราจะให้นางสาวสมุททชาผู้เป็นธิดาของเราแก่พระยานาคธตรฐ จึงส่งข้ามาด้วยพระดำรัสว่า ขอท่านอย่ากระทำการเนิ่นช้า จงส่งบุรุษทั้งหลายไปกับข้า และกำหนดวันรับนางทาริกาเถิด
พระยานาคนั้นยินดีให้กระทำสักการะแล้ว ส่งนาคมาณพ ๔ นายไปกับเต่านั้นด้วยคำว่า พวกท่านไปเถิด จงฟังคำของพระราชากำหนดวันแล้วจงมา
นาคมาณพเหล่านั้น รับคำแล้วจึงพาเต่าออกจากภพนาค.เต่าเห็นสระปทุมสระหนึ่งในระหว่างแม่น้ำยมุนากับกรุงพาราณสีมีความประสงค์จะหนีไปด้วยอุบายอย่างหนึ่งจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนนาคมาณพทั้งหลาย ผู้เจริญ พระราชาของเรา และบุตรภรรยาของพระราชา เห็นเราเที่ยวไปในน้ำไปสู่พระราชนิเวศน์อ้อนวอนว่า ท่านจงให้ดอกปทุมแก่เราทั้งหลาย จงให้รากเง่าบัว เราจักถือเอารากเง่าบัวเหล่านั้น เพื่อประโยชน์แก่เขาเหล่านั้น พวกท่านจงปล่อยข้า ในที่นี้ แม้เมื่อพวกท่านไม่เห็นข้า จงล่วงหน้าไปยังสำนักของพระราชา เราจักเห็นพวกท่านในที่นั้นนั่นแล
นาคมาณพเหล่านั้นเชื่อถ้อยคำของเต่านั้นจึงได้ปล่อยเต่านั้นไป เต่าได้แอบอยู่ในที่ส่วนข้างหนึ่งในที่นั้น ฝ่ายนาคมาณพไม่เห็นเต่า จึงเข้าไปเฝ้าพระราชาด้วยเพศแห่งมาณพตามสัญญาว่า เราจักไปสำนักพระราชา.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น