วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วิธุรชาดก

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

วิธุรชาดก

พระวิธูรบัณฑิตบำเพ็ญสัจจบารมี

วิธุรชาดก
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงพระปรารภปัญญาบารมีจึงได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
ความพิศดารว่า วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากัน ที่โรงธรรมสภาว่าดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริงหนอ พระศาสดา ทรงมีพระปัญญามาก มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระปัญญาเร็วไว มีพระปัญญาร่าเริง มีพระปัญญาเฉียบแหลม มีพระปัญญาปรุโปร่ง ทรงย่ำยีถ้อยคำกล่าวร้ายของคนอื่น ทรงทำลายปัญหาอันละเอียด ที่กษัตริย์และบัณฑิตเป็นต้นแต่งขึ้นได้ด้วยอานุภาพแห่งพระปัญญาของพระองค์ ทรงทรมานให้หมดพยศ แล้วให้ตั้งอยู่ในสรณะ และศีล และให้ดำเนินไปตามหนทางอันจะนำสัตว์ไป สู่อมตมหานิพพาน
พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบ จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายข้อที่เราตถาคตได้บรรลุพระปรมาภิสัมโพธิญาณ อันสามารถทำลายเสียซึ่งคำที่คนอื่นกล่าวให้ร้าย แนะนำชนทั้งหลายมีกษัตริย์เป็นต้น ได้เช่นนี้ ไม่น่าอัศจรรย์ เพราะว่าตถาคตแม้เมื่อกำลังแสวงหาพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในภพก่อน ก็เป็นผู้มีปัญญา ย่ำยีถ้อยคำที่คนอื่นกล่าวให้ร้ายเช่นนี้ เหมือนกันจริงอย่างนั้น ในกาลที่เราเป็น วิธุรบัณฑิต เราทรมานยักษ์เสนาบดีนามว่าปุณณกะ ได้ด้วยกำลังญาณ บนยอดกาฬคิริบรรพต สูงถึง ๖๐ โยชน์ปราบให้หมดพยศ ให้ตั้งอยู่ในศีล ๕ จนยอมมอบชีวิตให้แก่เรา ดังนี้แล้วทรงดุษณีภาพ ครั้นเมื่อภิกษุเหล่านั้นทูลอาราธนาแล้ว จึงทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสแสดงดังต่อไปนี้.
จตุโปสถกัณฑ์
ในอดีตกาล พระราชาทรงพระนามว่า ธนัญชัยโกรพยราช ทรงครองราชย์ในกรุงอินทปัตตะ แคว้นกุรุ อำมาตย์ชื่อว่า วิธุรบัณฑิต ได้เป็นราชเสวกของพระเจ้าธนัญชัยโกรพยราชนั้น ในตำแหน่งผู้ถวายอรรถธรรม ท่านเป็นผู้มีถ้อยคำไพเราะ เป็นมหาธรรมกถึก ประเล้าประโลมพระราชาชาวชมพูทวีปทั้งสิ้น ด้วยธรรมเทศนาอันไพเราะจับใจของตน ประหนึ่งกระแสเสียงแห่งพิณอันยังช้างให้รักใคร่ ฉะนั้น ไม่ยอมให้พระราชาเหล่านั้นเสด็จกลับไปยังแว่นแคว้นของพระองค์ แสดงธรรมแก่มหาชน ด้วยพุทธลีลาอาศัยอยู่ในนครนั้นด้วยยศใหญ่ในกรุงพาราณสีนั้นแล
ยังมีพราหมณมหาศาล ๔ คน เคยเป็นเพื่อนคฤหัสถ์ด้วยกัน ในเวลาที่ตนแก่ลง เห็นโทษในกามทั้งหลาย ละทิ้งเหย้าเรือน เข้าไปสู่หิมวันตประเทศ บวชเป็นฤาษีบำเพ็ญอภิญญาและสมาบัติให้เกิดแล้ว มีรากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหาร อยู่ในหิมวันตประเทศนั้นนั่นแลสิ้นกาลนาน จึงเที่ยวจาริกไป เพื่อต้องการเสพรสเค็มและรสเปรี้ยว ไปถึงกรุงกาลจัมปากนคร ในแคว้นอังคะ พากันพักอยู่ในพระราชอุทยาน วันรุ่งขึ้นจึงเข้าไปภิกษาจารยังนคร.
ในกรุงกาลจัมปากะนั้น ยังมีกุฏุมพีอยู่ ๔ สหาย เลื่อมใสในอิริยาบถของฤาษีเหล่านั้น ต่างก็ไหว้แล้วรับเอาภิกษาภาชนะ นำมาสู่เรือนของตน คนละองค์ ๆ อังคาสด้วยอาหารอันประณีต จึงขอรับปฏิญญาแล้วให้อยู่ในสวน ดาบสทั้ง ๔ ครั้นฉันอาหารในเรือนกุฏุมพี ๔ สหายเสร็จแล้ว มีความประสงค์จะพักผ่อนกลางวัน องค์หนึ่งจึงไปสู่ภพชั้นดาวดึงส์ องค์หนึ่งไปสู่ภพพระยานาค องค์หนึ่งไปสู่ภพพระยาครุฑ องค์หนึ่งไปสู่พระราชอุทยานชื่อว่า มิคาชินะ ของพระเจ้าโกรพยราช
บรรดาดาบสทั้ง ๔ องค์ องค์ที่ไปพักผ่อนกลางวันยังเทวโลก ได้เห็นพระอิสริยยศแห่งท้าวสักกเทวราช จึงได้พรรณนาพระอิสริยยศนั้นนั่นแล แก่กุฏุมพีผู้เป็นอุปัฏฐากของตน
องค์ที่ไปพักผ่อนกลางวันยังพิภพนาค ได้เห็นสมบัติของพระยานาค เมื่อกลับมาถึงแล้ว จึงพรรณนาสมบัติของพระยานาคนั้นนั่นแล แก่กุฏุมพีผู้เป็นอุปัฏฐากของตน
องค์ที่ไปพักผ่อนกลางวัน ยังพิภพพระยาครุฑ ได้เห็นเครื่องประดับของพระยาครุฑ เมื่อกลับมาแล้ว จึงพรรณนาเครื่องประดับของพระยาครุฑนั้นแก่กุฏุมพีผู้เป็นอุปัฏฐากของตน
องค์ที่ไปพักผ่อนกลางวัน ยังพระราชอุทยานของพระเจ้าโกรพยราชได้เห็นสมบัติอันเลิศด้วยความงามคือ สิริของพระเจ้าธนัญชัย ครั้นกลับมาจึงพรรณนาโภคสมบัติของพระเจ้าธนัญชัยนั้น แก่กุฏุมพีผู้เป็นอุปัฏฐากของตน
กุฏุมพี ๔ สหายนั้น เมื่อได้ยินดาบสพรรณาถึงสมบัติเหล่านั้นก็ปรารถนาฐานะนั้น ๆ จึงบำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้นในที่สุดแห่งการสิ้นอายุ คนหนึ่งบังเกิดเป็นท้าวสักกเทวราช คนหนึ่งพร้อมด้วยบุตรและภรรยา เกิดเป็นพระยานาคในนาคพิภพ คนหนึ่งเกิดเป็นพระยาครุฑในฉิมพลีรุกขพิมาน คนหนึ่งเกิดในครรภ์ของพระอัครมเหสี ของพระเจ้าธนัญชัย
ดาบสทั้ง ๔ นั้น ก็ไม่เสื่อมจากฌาน ทำกาละแล้วบังเกิดในพรหมโลก
บรรดากุฏุมพี ๔ สหายนั้น ครั้นกุฏุมพีผู้เป็นพระโกรัพยกุมารทรงเจริญวัยขึ้นแล้ว เมื่อพระราชบิดาสวรรคต ก็ทรงครองราชสมบัติสืบสันติวงศ์ ครองราชย์โดยธรรม โดยถูกต้อง
อันพระเจ้าโกรพยราชนั้นทรงพอพระราชหฤทัยในการทรงสกา ท้าวเธอทรงตั้งอยู่ในโอวาทของวิธุรบัณฑิต ทรงบำเพ็ญทานรักษาเบญจศีล และอุโบสถศีล วันหนึ่งท้าวเธอทรงสมาทานอุโบสถแล้ว ทรงดำริว่า เราจะพอกพูนวิเวกดังนี้ แล้วเสด็จพระราชดำเนินสู่พระราชอุทยานประทับนั่ง ณ มนุญสถาน ทรงเจริญสมณธรรม
ฝ่ายท้าวสักกเทวราชทรงสมาทานอุโบสถแล้ว ทรงพระดำริว่า ในเทวโลก ยังมีความกังวลอยู่ ดังนี้แล้วจึงเสด็จไปยังพระอุทยานนั้นนั่นแลในมนุษย์โลก ได้ประทับนั่ง เจริญสมณธรรมอยู่ ณ มนุญสถาน
แม้วรุณนาคราช สมาทานอุโบสถแล้วคิดว่า ในนาคพิภพมีความกังวลอยู่ จึงไปในพระราชอุทยานนั้น นั่งเจริญสมณธรรม ณ มนุญสถานส่วนหนึ่ง
ฝ่ายพระยาครุฑ สมาทานอุโบสถแล้วก็ดำริว่า ในพิภพครุฑมีความกังวล จึงไปในพระราชอุทยานนั้น แล้วนั่งเจริญสมณธรรม ณ มนุญสถานส่วนหนึ่ง
พระราชาทั้ง ๔ พระองค์นั้นในเวลาเย็นออกจากที่อยู่ของตน ๆ ไปพบกันที่ฝั่งสระโบกขรณีอันเป็นมงคล พอเห็นกันและกัน ต่างก็มีความพร้อมเพรียงชื่นชมยินดี เข้าไปตั้งไว้ซึ่งจิตมีเมตตาแก่กันและกัน ต้อนรับด้วยถ้อยคำอันไพเราะ ด้วยอำนาจแห่งความรักใคร่ ซึ่งเคยมีแก่กันและกันในปางก่อน
ฝ่ายท้าวสักกเทวราช ประทับนั่งเหนือพื้นศิลาอันเป็นมงคล ส่วนพระราชาทั้ง ๓ นั้น ทรงทราบโอกาสที่ควรแก่พระองค์ ๆ ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชจึงตรัสกับพระราชาทั้ง ๓ นั้นว่า พวกเราทั้ง ๔ ล้วนเป็นพระราชาสมาทานอุโบสถ แต่ในบรรดาเราทั้ง ๔ ใครจะมีศีลมากกว่ากัน
ลำดับนั้น วรุณนาคราชได้พูดขึ้นว่า ศีลของข้าพเจ้าเท่านั้น มากกว่าศีลของพวกท่านทั้ง ๓
ท้าวสักกเทวราชตรัสถามเธอว่า เหตุไฉนในเรื่องนี้ท่านจึงพูดอย่างนั้น
วรุณนาคราชกล่าวว่า เหตุว่าพระยาครุฑนี้เป็นข้าศึกแก่พวกข้าพเจ้า ทั้งที่เกิดแล้วและยังไม่เกิด แม้ข้าพเจ้าเห็นพระยาครุฑผู้เป็นข้าศึก ที่อาจทำร้ายพวกข้าพเจ้าให้สิ้นชีวิตได้เช่นนี้ ก็มิได้มีความโกรธต่อพระยาครุฑนั้นเลย เพราะเหตุนี้ ศีลของข้าพเจ้าจึงมากกว่า ๆ ศีลของท่านทั้ง ๓ ดังนี้แล้ว จึงตรัสว่า
คนใดย่อมไม่ทำความโกรธ ในบุคคลควรโกรธ อนึ่งคนใดเป็นสัปบุรุษ ย่อมไม่โกรธในกาลไหน ๆ ถึงเขาโกรธแล้ว ก็หาทำความโกรธให้ปรากฏไม่ บัณฑิตทั้งหลายเรียกคนนั้นแลว่า ผู้สงบในโลก.
พระยาครุฑได้สดับดังนั้น จึงกล่าวว่า นาคนี้เป็นอาหารอย่างดีของข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าแม้เห็นนาค ผู้เป็นอาหารอย่างดีเช่นนี้แล้ว ก็อดกลั้นความอยากไว้เสีย ไม่ทำความชั่ว เพราะเหตุแห่งอาหาร เพราะฉะนั้นศีลของข้าพเจ้าจึงมากกว่า ดังนี้แล้วจึงกล่าวว่า
คนใดมีท้องพร่อง แต่ทนความอยากไว้ได้ เป็น ผู้ฝึกฝน มีความเพียรเผาผลาญกิเลส บริโภคข้าวและ น้ำพอประมาณ ไม่ทำความชั่ว เพราะเหตุแห่งอาหาร ปราชญ์เรียกคนนั้นแลว่า ผู้สงบในโลก.
ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราชจึงตรัสว่า ข้าพเจ้าละสมบัติในเทวโลกอันมีความสุขเป็นเหตุใกล้มีประการต่าง ๆ มาสู่มนุษยโลกเพื่อต้องการจะรักษาศีล เพราะฉะนั้นศีลของข้าพเจ้าจึงมากกว่าศีลของท่าน ดังนี้แล้วจึงตรัสว่า
บุคคลใดละขาดการเล่น การยินดีในกามได้ทั้งหมด ไม่พูดเหลาะแหละแม้น้อยหนึ่งในโลก เว้นจากเมถุน เว้นจากตกแต่งร่างกาย นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกคนนั้นนั่นแลว่า เป็นผู้สงบในโลก.
พระเจ้าธนัญชัยได้ทรงสดับดังนั้น จึงตรัสว่า วันนี้ ข้าพเจ้าละราชสมบัติที่หวงแหนเป็นอันมาก และพระราชวังที่พรั่งพร้อมด้วยเหล่าหญิงนักฟ้อนหกหมื่น มาบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในพระราชอุทยานนี้ ฉะนั้นศีลของข้าพเจ้าจึงมากกว่า ดังนี้แล้วจึงได้ตรัสว่า
นรชนใดแล กำหนดรู้วัตถุกามและกิเลสกามด้วยปริญญา * แล้วสละวัตถุกามและกิเลสกามทั้งปวงได้เด็ดขาด นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกนรชนนั้นแล ผู้ ฝึกตนแล้วมีตนอันมั่นคง ปราศจากตัณหาเป็นเหตุยึดถือว่าของเรา หมดความหวังว่า เป็นผู้สงบในโลก.
* กำหนดรู้ด้วยปริญญา ๓ เหล่านี้คือ ญาตปริญญา ตีรณปริญญา ปหานปริญญา ความรู้สภาวะแห่งขันธ์เป็นต้น ชื่อญาตปริญญา ในบรรดาปริญญา ๓ อย่างนั้น กิริยาที่ใคร่ครวญพิจารณาเห็นโทษในขันธ์ทั้งหลาย ชื่อว่า ตีรณปริญญา กิริยาที่เห็นโทษในขันธ์เหล่านั้นแล้วพรากความติดอยู่ด้วยอำนาจความพอใจ ชื่อว่า ปหานปริญญา
ดังนั้น พระราชาทั้ง ๔ พระองค์นั้น ต่างสรรเสริญศีลของตน ๆเท่านั้นว่า มีมากกว่าดังนี้แล้ว จึงตรัสถามพระเจ้าธนัญชัยว่า ดูก่อนมหาราชเจ้า ก็ใคร ๆ เป็นบัณฑิตในสำนักของพระองค์ที่จะพึงบรรเทาความสงสัยของพวกเรามีอยู่หรือ
พระเจ้าธนัญชัยตรัสตอบว่า มีอยู่มหาราชเจ้า คือวิธุรบัณฑิตผู้ดำรงตำแหน่งอรรถธรรมานุสาสน์ เป็นผู้ทรงปัญญาหาผู้เสมอเหมือนมิได้ จักบรรเทาความสงสัยของพวกเราได้ พวกเราจงพากันไปยังสำนักของวิธุรบัณฑิตนั้นเถิด
พระราชาทั้ง ๓ พระองค์นั้น ทรงรับคำพร้อมกันแล้ว ลำดับนั้น พระราชาเหล่านั้นทั้งหมดพากันเสด็จออกจากพระราชอุทยานไปสู่โรงธรรมสภา รับสั่งให้ประดับธรรมาสน์ เชิญพระโพธิสัตว์ให้นั่ง ณ ท่ามกลางบัลลังก์อันประเสริฐ ทำปฏิสันถารแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วได้ตรัสกะบัณฑิตว่า ความสงสัยเกิดขึ้นแก่พวกเรา ขอท่านจงทรงบรรเทาความสงสัยนั้นเถิด ดังนี้แล้วได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอถามบัณฑิต ผู้มีปัญญาไม่ต่ำทราม สามารถรู้เหตุและมิใช่เหตุ ควรทำและไม่ควรทำ ด้วยการโต้เถียงกันในเรื่องศีลได้เกิดมีแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอท่านได้โปรดตัดความสงสัยคือวิจิกิจฉาทั้งหลายให้ในวันนี้ จงช่วยพวกข้าพเจ้าทั้งปวงให้ข้ามพ้นความสงสัยในวันนี้เถิด.
ลำดับนั้น วิธุรบัณฑิต ได้สดับพระกระแสรับสั่งของพระราชาทั้ง ๔ พระองค์นั้น จึงทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เรื่องโต้เถียงกันที่อาศัยศีลของพระองค์ทั้งหลายเกิดแล้วนั้น ข้าพระองค์จะทราบได้อย่างไรว่า พระกระแสรับสั่งนั้น เช่นไรผิด เช่นไรถูก ดังนี้แล้วจึงกล่าวว่า
บัณฑิตทั้งหลาย ผู้ที่จะตัดสินความด้วยอุบายอันแยบคายได้ ก็ต่อเมื่อโจทก์และจำเลย บอกข้อที่พิพาทกันให้ตลอด ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งทวยราษฎร์ ข้าพระองค์ขอพระวโรกาส บัณฑิตผู้ฉลาดทั้งหลาย เมื่อโจทก์และจำเลยไม่บอกข้อความให้แจ้งจะพึงตัดสินพิจารณาข้อความนั้นได้อย่างไร เหตุนั้น ขอพระองค์ตรัสเล่าข้อความให้ข้าพระองค์ทราบก่อนว่า พระยานาคราชตรัสว่าอย่างไร พระยาครุฑตรัสว่าอย่างไร ท้าวสักกเทวราชตรัสว่าอย่างไร ส่วนมหาราชเจ้าผู้เป็นจอมแห่งชาวกุรุรัฐตรัสว่าอย่างไร.
ลำดับนั้น พระราชาทั้ง ๔ พระองค์นั้นตรัสตอบพระมหาสัตว์นั้นว่า
พระยานาค ย่อมทรงสรรเสริญอธิวาสนขันติ กล่าวคือ ความไม่โกรธในบุคคลแม้ผู้ควรโกรธ. พระยาครุฑ ย่อมทรงสรรเสริญการไม่ทำความชั่ว เพราะเหตุแห่งอาหารกล่าวคือ บริโภคอาหารแต่น้อย. ท้าวสักกเทวราช ทรงสรรเสริญการละความยิน ดีในกามคุณ ๕. พระเจ้ากุรุรัฐ ทรงสรรเสริญความไม่มีความกังวล.
พระมหาสัตว์ได้สดับพระกระแสรับสั่งของพระราชาทั้ง ๔ พระองค์แล้ว กล่าวว่า
พระกระแสรับสั่งทั้งปวงนี้เป็นสุภาษิตทั้งหมด แท้จริงพระกระแสรับสั่งเหล่านี้ จะเป็นทุพภาษิตเพียงเล็กน้อยหามิได้ คุณธรรม ๔ ประการนี้ตั้งมั่นอยู่ ในนรชนใด เป็นดังกำเกวียนที่รวมกันอยู่ที่ดุมเกวียน บัณฑิตเรียกนรชนผู้ประกอบพร้อมด้วยธรรม ๔ ประการนั้นแลว่า เป็นผู้สงบในโลก.
พระมหาสัตว์ได้ทำศีลของพระราชาทั้ง ๔ พระองค์ให้มีคุณสม่ำเสมอกันทีเดียวอย่างนี้.
ท้าวเธอทั้ง ๔ ครั้นได้ทรงสดับดังนั้น ต่างมีพระหฤทัยร่าเริงยินดีเมื่อจะทรงชมเชยพระมหาสัตว์ จึงตรัสว่า
ท่านเป็นผู้ประเสริฐสุด เป็นผู้ยอดเยี่ยม ไม่มีใครเทียมถึง มีปัญญาดี รักษาธรรม และรู้แจ้งธรรม วิเคราะห์ปัญหาของพวกข้าพเจ้าได้ด้วยดี ด้วยปัญญาของตน พวกข้าพเจ้าอ้อนวอนท่านว่า ขอท่านผู้เป็นปราชญ์ จงตัดความสงสัยลังเลใจของพวกข้าพเจ้าให้ขาดไปในวันนี้เหมือนช่างทำงาช้าง ตัดงาช้างให้ขาดไปด้วยเลื่อยอันคม ฉะนั้น.
พระราชาทั้ง ๔ พระองค์นั้น ครั้นตรัสชมเชยพระมหาสัตว์อย่างนั้นแล้ว ต่างทรงพอพระหฤทัยด้วยพยากรณ์ปัญหาของพระมหาสัตว์ ลำดับนั้นท้าวสักกเทวราชจึงทรงบูชาพระมหาสัตว์ด้วยผ้าทุกุลพัสตร์อันเป็นทิพย์ พระยาครุฑบูชาด้วยมาลัยทอง วรุณนาคราชบูชาด้วยแก้วมณี พระเจ้าธนัญชัยบูชาด้วยวัตถุต่าง ๆ มีโคนมนับจำนวนพันเป็นต้น พระราชาทั้ง ๔ พระองค์นั้นได้ตรัสอย่างนี้ว่า
ดูก่อนท่านผู้เป็นนักปราชญ์ ข้าพเจ้ายินดีด้วย การพยากรณ์ปัญหา นี้ผ้าทิพย์สีดอกบัวเขียว ปราศจากมลทิน เนื้อละเอียดดังควันเพลิง หาค่ามิได้ ข้าพเจ้าให้แก่ท่านเพื่อบูชาธรรม
พระยาครุฑบูชาด้วยดอกไม้ทองตรัสว่า ดูก่อนท่านผู้เป็นนักปราชญ์ ข้าพเจ้ายินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหานี้ ดอกไม้ทอง มีกลีบร้อยกลีบแย้มออกแล้ว มีเกสรแล้วด้วยแก้วนับด้วยพัน ข้าพเจ้าให้แก่ท่านเพื่อบูชาธรรม
พระยาวรุณนาคราช บูชาด้วยแก้วมณีตรัสว่า ดูก่อนท่านผู้เป็นนักปราชญ์ ข้าพเจ้ายินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหานี้ แก้วมณีอันเป็นเครื่องประดับของข้าพเจ้า มีสีงดงามผุดผ่อง หาค่ามิ ได้ ข้าพเจ้าให้แก่ท่านเพื่อบูชาธรรม
พระเจ้าธนัญชัย ทรงบูชาด้วยวัตถุต่าง ๆ มีโคนมพันหนึ่งเป็นต้น แล้ว มีพระราชดำรัสว่า ข้าพเจ้ายินดีด้วยการพยากรณ์ ปัญหา โคนมพันหนึ่งและโคอุสุภราชนายฝูง รถ ๑๐ คัน เทียมด้วยอาชาไนย บ้านส่วย ๑๖ บ้าน เหล่านี้ ข้าพเจ้าให้แก่ท่านเพื่อบูชาธรรม.
พระราชาทั้ง ๔ พระองค์ มีท้าวสักกเทวราชเป็นต้น ครั้นทรงบูชาพระมหาสัตว์แล้ว ได้เสด็จไปยังที่ประทับของพระองค์ตามเดิมด้วยประการฉะนี้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น