วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2554

มหานารทกัสสปชาดก

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

มหานารทกัสสปชาดก

พระมหานารทกัสสปะ ทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี

นารทชาดก
เมื่อครั้งที่พระศาสดาทรงประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐ แล้วได้ทรงทรมานชฏิล ๓ คนพี่น้อง มีอุรุเวลกัสสปชฏิลเป็นต้น จากนั้นจึงเสด็จไปยังสวนตาลหนุ่มพร้อมด้วยปุราณชฏิล ๑,๐๐๐ คน เพื่อพระประสงค์จะทรงปฏิบัติตามสัญญาที่ได้ทรงให้ไว้แก่พระเจ้าพิมพิสาร ผู้เป็นเจ้าแผ่นดินแห่งมคธรัฐ เมื่อครั้งก่อนที่จะทรงตรัสรู้
ในกาลนั้นเมื่อพระเจ้าพิมพิสารพระเจ้าแผ่นดินมคธรัฐ พร้อมด้วยบริษัทประมาณ ๑๒ นหุต เสด็จมาถวายบังคมพระทศพลแล้วประทับนั่งอยู่ขณะนั้น พวกพราหมณ์คหบดีในภายในราชบริษัท เกิดความสงสัยขึ้นว่า ท่านพระอุรุเวลกัสสป เป็นอาจารย์พระมหาสมณโคดม หรือพระมหาสมณโคดมเป็นอาจารย์ท่านพระอุรุเวลกัสสป.ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบความสงสัยของพวกบริษัทเหล่านั้นด้วยพระญาณ จึงทรงพระดำริว่า จักต้องประกาศภาวะที่กัสสปมาบวชในสำนักของเราให้พวกนี้รู้ ดังนี้แล้วจึงตรัสพระคาถาว่า
กัสสปผู้อยู่ในอุรุเวลประเทศ ท่านเคยเป็นอาจารย์
สั่งสอนหมู่ชฏิลผู้ผอมเพราะกำลังประพฤติพรต ท่าน
เห็นอะไรจึงได้ละไฟที่เคยบูชาเสีย เราถามเนื้อความ
นั้นกะท่าน อย่างไร ท่านจึงละการบูชาเพลิงของท่านเสีย.
ฝ่ายพระเถระ ก็ทราบพระพุทธประสงค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ใคร่จะแสดงเหตุ จึงกราบทูลว่า
ยัญทั้งหลายย่อมกล่าวสรรเสริญรูป เสียง กลิ่น
รส และหญิงที่น่าใคร่ทั้งหลาย ข้าพระองค์รู้ว่า ของ
น่านักใคร่นั้น ๆ เป็นมลทิน ตกอยู่ในอุปกิเลสทั้งหลาย
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงมิได้ยินดีในการเซ่นสรวง
และการบูชาเพลิง ข้าพระองค์ได้เห็นธรรมอันระงับ
แล้วไม่มีกิเลสเครื่องเศร้าหมอง อันเป็นเหตุก่อให้เกิด
ทุกข์ ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่ติดข้องอยู่ในกามภพ
มิใช่วิสัยที่ผู้อื่นจะนำมาให้ผู้อื่นรู้ได้ ไม่แปรปรวน
กลายเป็นอย่างอื่น เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงไม่
ยินดีในการเซ่นสรวงและการบูชาไฟ.
ครั้นพระอุรุเวลกัสสปกล่าวคาถาเหล่านี้แล้ว เพื่อจะประกาศภาวะที่ตนเป็นพุทธสาวก จึงซบศีรษะลงที่หลังพระบาทของพระตถาคต ทูลประกาศว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวกของพระองค์ ดังนี้แล้วเหาะขึ้นสู่เวหาส ๗ ครั้ง คือครั้งที่ ๑ สูงชั่วลำตาล ๑ ครั้งที่ ๒ สูงชั่ว ๒ ลำตาล จนถึงครั้งที่ ๗ สูง ๗ ชั่วลำตาล แล้วลงมาถวายบังคมพระตถาคต นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง มหาชนเห็นปาฏิหาริย์ดังนั้นก็ได้กล่าวสรรเสริญคุณของพระศาสดาว่า น่าอัศจรรย์จริง พระพุทธเจ้ามีอานุภาพมาก ธรรมดาผู้มีความเห็นผิดที่มีกำลังถึงอย่างนี้ เมื่อสำคัญตนว่า เป็นพระอรหันต์ แม้ท่านพระอุรุเวลกัสสป พระองค์ก็ทรงทำลายข่ายคือทิฏฐิทรมานเสียได้.
พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนอุบาสกทั้งหลาย การที่เราถึงซึ่งสัพพัญญุตญาน ทรมานอุรุเวลกัสสปนี้ ในบัดนี้ไม่น่าอัศจรรย์เท่ากับครั้งก่อน แม้ในเวลาที่เรายังมี ราคะ โทสะ และโมหะ เป็นพรหมชื่อว่า นารทะ ทำลายข่ายคือทิฏฐิของเธอ กระทำเธอให้หมดพยศดังนี้แล้วก็ทรงดุษณีภาพ ครั้นเมื่อหมู่บริษัทนั้นกราบทูลอาราธนาจึงทรงนำอดีตนิทานมาแสดงดังต่อไปนี้
ในอดีตกาล ยังมีพระราชาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้าอังคติราช เสวยราชสมบัติในกรุงมิถิลามหานคร ณ วิเทหรัฐ พระองค์ทรงตั้งอยู่ในธรรม เป็นพระธรรมราชา พระองค์มีพระราชธิดาองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระนางรุจาราชกุมารี มีพระรูปโฉมสวยงาม ชวนดู ชวนชมมีบุญมาก ได้ทรงตั้งปณิธานความปรารถนาไว้สิ้นแสนกัป จึงได้มาเกิดในพระครรภ์ของพระอัครมเหสี ส่วนพระเทวีนอกนั้นของพระองค์ ๑๖,๐๐๐ คน ได้เป็นหญิงหมัน พระนางรุจาราชกุมารีนั้น จึงเป็นที่โปรดปรานของพระองค์ยิ่งนัก
พระองค์ได้ทรงจัดผ้าเนื้อละเอียดอย่างยิ่ง หาค่ามิได้พร้อมกับผอบดอกไม้ ๒๕ ผอบ อันเต็มไปด้วยบุปผาชาตินานาชนิด ส่งไปพระราชทานพระราชธิดา ทุก ๆวัน ด้วยทรงพระประสงค์จะให้พระราชธิดาทรงประดับพระองค์ด้วยของเหล่านี้และของเสวยที่จัดส่งไปประทานนั้นเป็นขาทนียะและโภชนียะอันหาประมาณมิได้ ทุกกึ่งเดือนได้ทรงส่งพระราชทานทรัพย์ ๑,๐๐๐ ไปพระราชทานพระราชธิดา โดยตรัสว่า ส่วนนี้ลูกจงให้ทานเถิด
พระองค์มีอำมาตย์อยู่ ๓ นาย คือ วิชยอำมาตย์ ๑ สุนามอำมาตย์ ๑ อลาตอำมาตย์ ๑ ครั้นถึงคืนกลางเดือน ๑๒ ดอกโกมุทบาน เป็นเทศกาลมหรสพ มหาชนพากันตบแต่งพระนครและภายในพระราชฐานไว้อย่างตระการปานประหนึ่งว่าเทพนคร พระเจ้าอังคติราชจึงเข้าโสรจสรงทรงลูบไล้พระองค์ ประหนึ่งเครื่องราชอลังการ เสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว เสด็จประทับนั่งเหนือราชอาสน์ บนพื้นปราสาทใหญ่ริมสีหบัญชรชัย มีหมู่อำมาตย์แวดล้อม ทอดพระเนตรดูจันทรมณฑลอันทรงกลดหมดราคีลอยเด่นอยู่ ณ พื้นคัคนานต์อากาศ จึงมีพระราชดำรัสถามเหล่าอำมาตย์ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ราตรีอันบริสุทธิ์เช่นนี้น่ารื่นรมย์หนอ วันนี้เราพึงเพลิดเพลินกันด้วยเรื่องอะไรดี.
ลำดับนั้น อลาตเสนาบดีได้กราบทูลแด่พระราชาว่า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงจัดพลช้าง พลม้า พลเสนา จะนำชายฉกรรจ์ออกรบ พวกใดยังไม่มาสู่อำนาจ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็จะนำมาสู่อำนาจ นี่เป็นความเห็นของข้าพระพุทธเจ้า เราทั้งหลายจะได้ชัยชนะผู้ที่เรายังไม่ชนะ ขอเดชะ ขอพระองค์จงทรงรื่นรมย์ด้วยการรบ นี้เป็นเพียงความคิดของข้าพระพุทธเจ้า.
สุนามอำมาตย์ ได้ฟังคำของอลาตเสนาบดีแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชา พวกศัตรูของพระองค์มาสู่พระราชอำนาจหมดแล้ว ต่างพากันวางศาสตรา ยอมสวามิภักดิ์แล้วทั้งหมด วันนี้เป็นวันมหรสพ สนุกสนานยิ่ง การรบข้าพระพุทธเจ้าไม่ชอบใจ ชนทั้งหลายจงรีบนำข้าวน้ำ และของควรเคี้ยวมาเพื่อพระองค์เถิด ขอเดชะ ขอพระองค์จงทรงรื่นรมย์ด้วยกามคุณ และในการฟ้อนรำ ขับร้อง การประโคมเถิดพระเจ้าข้า
วิชยอำมาตย์ ได้ฟังคำของสุนามอำมาตย์แล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชา กามคุณทุกอย่างบำเรอพระองค์อยู่เป็นนิตย์แล้ว การทรงเพลิดเพลินด้วยกามคุณทั้งหลาย พระองค์ทรงหาได้โดยไม่ยากเลย ทรงปรารถนาก็ได้ทุกเมื่อ การรื่นรมย์ด้วยกามคุณทั้งหลายนี้ ไม่ใช่เป็นความคิดของข้าพระบาท วันนี้เราทั้งหลายควรพากันไปหาสมณะหรือพราหมณ์ ผู้เป็นพหูสูต รู้แจ้งอรรถธรรม ผู้แสวงหาคุณ ซึ่งท่านจะพึงกำจัดความสงสัยของพวกเราดีกว่า.
พระเจ้าอังคติราช ได้ทรงสดับคำของวิชยอำมาตย์แล้ว ได้ตรัสว่า ตามที่วิชยอำมาตย์พูดว่า วันนี้เราทั้งหลายควรพากันเข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์ ผู้เป็นพหูสูต รู้แจ้งอรรถธรรม ผู้แสวงหาคุณซึ่งท่านจะพึงกำจัดความสงสัยของพวกเราดีกว่านั้น แม้เราก็ชอบใจ ท่านที่อยู่ ณ ที่นี้ทุกท่านจงลงมติว่า วันนี้เราทั้งหลายควรจะเข้าไปหา ใครผู้เป็นบัณฑิต รู้แจ้งอรรถธรรม ผู้แสวงหาคุณ ที่ท่านพึงกำจัดความสงสัยของพวกเราได้.
อลาตเสนาบดี ได้ฟังพระราชดำรัสของพระเจ้าวิเทหราชแล้ว ได้กราบทูลว่า มีอเจลกที่โลกสมมติว่าเป็นนักปราชญ์อยู่ในมฤคทายวัน อเจลกผู้นี้ชื่อว่าคุณะผู้กัสสปโคตรเป็นพหูสูต พูดจาไพเราะ เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ ขอเดชะ เราทั้งหลายควรเข้าไปหาเธอ เธอจักขจัดความสงสัยของเราทั้งหลายได้.พระราชา ได้ทรงสดับคำของอลาตเสนาบดีแล้วได้ตรัสสั่งสารถีว่า เราจะไปยังมฤคทายวัน ท่านจงนำยานเทียมม้ามาที่นี่.
พวกนายสารถีได้จัดพระราชยาน อันล้วนแล้วไปด้วยงา มีกระพองเป็นเงิน และจัดรถพระที่นั่งรองอันขาวผุดผ่อง ดังพระจันทร์ในราตรี ที่ปราศจากมลทินโทษ มาถวายแก่พระราชา รถนั้นเทียมด้วยม้าสินธพสี่ตัว ล้วนมีสีดังสีดอกโกมุท เป็นม้ามีฝีเท้าเร็วดังลมพัด วิ่งเรียบ ประดับด้วยดอกไม้ทอง พระกลดราชรถม้า และวีชนี ล้วนมีสีขาว พระเจ้าวิเทหราชพร้อมด้วยหมู่อำมาตย์ เสด็จออกย่อมงดงามดังพระจันทร์ หมู่พลราชบริพารผู้กล้าหาญ ขี่บนหลังม้าถือหอกดาบตามเสด็จ พระเจ้าวิเทหราชมหากษัตริย์พระองค์นั้น เสด็จถึงมฤคทายวันโดยครู่เดียว เสด็จลงจากราชยานแล้ว ทรงดำเนินเข้าไปหาคุณาชีวก พร้อมด้วยหมู่อำมาตย์ ก็ในกาลนั้น มีพราหมณ์และคฤหบดีผู้มาประชุมกันอยู่ก่อนในพระราชอุทยานนั้น พระราชาตรัสว่า พวกเรามาภายหลัง อย่าวิตกไปเลย จึงไม่ให้พวกพราหมณ์และคฤหบดีต้องลุกขึ้นหลีกไปเพื่อประโยชน์แก่พระราชา
ลำดับนั้น พระเจ้าอังคติราชนั้น เสด็จเข้าไปประทับนั่งบนอาสนะ อันปูลาดพระยี่ภู่ มีสัมผัสอันอ่อนนุ่ม ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้วได้ทรงปราศรัย ถามทุกข์สุขว่า ผู้เป็นเจ้าสบายดีอยู่หรือ ลมมิได้กำเริบเสียดแทงหรือ ผู้เป็นเจ้าเลี้ยงชีวิตโดยมิฝืดเคืองหรือ ได้บิณฑบาตพอเยียวยาชีวิตให้เป็นไปอยู่หรือ ผู้เป็นเจ้ามีอาพาธน้อยหรือ จักษุมิได้เสื่อมไปจากปรกติหรือ.
คุณาชีวก ทูลปราศรัยกับพระเจ้าวิเทหราช ผู้ทรงยินดีในวินัยว่า ข้าแต่มหาราชา ข้าพระพุทธเจ้าสบายดีทุกประการ บ้านเมืองของพระองค์ไม่กำเริบหรือ ช้างม้าของพระองค์หาโรคมิได้หรือ พาหนะยังพอเป็นไปแหละหรือ พยาธิไม่มีมาเบียดเบียนพระสรีระของพระองค์แลหรือ.
เมื่อคุณาชีวกทูลปราศรัยแล้ว ลำดับนั้น พระราชาผู้เป็นจอมทัพทรงใคร่ธรรม ได้ตรัสถามอรรถธรรมและเหตุว่า ท่านกัสสป นรชนพึงประพฤติธรรมในมารดาและบิดาอย่างไร พึงประพฤติธรรมในอาจารย์อย่างไร พึงประพฤติธรรมในบุตรและภรรยาอย่างไรพึงประพฤติธรรมในวุฒิบุคคลอย่างไร พึงประพฤติธรรมในพลนิกายอย่างไร และพึงประพฤติธรรมในชนบทอย่างไร ชนทั้งหลายประพฤติธรรมอย่างไร ละโลกนี้ไปแล้วจึงไปสู่สุคติ ส่วนคนบางพวกผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรมไฉนจึงตกลงไปใต้นรก.
ปัญหานั้นเป็นปัญหาที่พระราชาควรจะตรัสถามพระสัพพัญญูพุทธเจ้า หรือ พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระพุทธสาวก และพระมหาโพธิสัตว์ แต่นี่กลับไปตรัสถามคุณาชีวก ผู้เปลือยกาย หาสิริมิได้ เป็นคนอันธพาล ไม่รู้ปัญหาอะไรเลย.คุณชีวกนั้น ครั้นถูกถามแล้วอย่างนี้ จึงไม่เห็นทางพยากรณ์อันเหมาะสมแก่ราชปุจฉา ซึ่งเป็นประหนึ่งเอาท่อนไม้ตีโคที่กำลังเที่ยวไปอยู่ หรือเหมือนคราดหยากเยื่อทิ้งด้วยจวักฉะนั้น แต่ได้ทูลขอโอกาสว่า ข้าแต่มหาราชเจ้าขอพระองค์จงสดับเถิด แล้วเริ่มตั้งมิจฉาวาทะของตนว่า
ข้าแต่พระมหาราชา ขอพระองค์ทรงสดับ ทางที่จริงแท้ของพระองค์ ผลแห่งธรรมที่ประพฤติแล้วเป็นบุญเป็นบาปไม่มี ขอเดชะปรโลกไม่มี ใครเล่าจากปรโลกนั้นมาโลกนี้ ปู่ย่าตายายไม่มี มารดาบิดาจะมีที่ไหน ขึ้นชื่อว่าอาจารย์ไม่มีใครจักฝึกผู้ที่ฝึกไม่ได้ สัตว์เสมอกันหมด ผู้ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้เจริญไม่มี กำลังหรือความเพียรไม่มีบุรุษผู้มีความหมั่นจักได้รับผลแต่ที่ไหน สัตว์ที่เกิดตามกันมา เหมือนเรือน้อยห้อยท้ายเรือใหญ่ สัตว์ย่อมได้สิ่งที่ควรได้ ในข้อนั้น ผลทานจักมีแต่ที่ไหน ผลทานไม่มี ความเพียรไม่มีอำนาจ ทานคนโง่บัญญัติไว้คนฉลาดรับทาน คนโง่สำคัญตัวว่าฉลาด เป็นผู้ไม่มีอำนาจ ย่อมให้ทานแก่นักปราชญ์ทั้งหลาย.
ครั้นคุณาชีวกทูลพรรณนาภาวะที่ทานเป็นของไม่มีผลอย่างนี้แล้ว บัดนี้เพื่อพรรณนาถึงบาปที่ไม่มีผล จึงกล่าวว่า
รูปกายอันเป็นที่รวม ดิน น้ำ ลม ไฟ สุขทุกข์และชีวิต ๗ ประการนี้ เป็นของเที่ยง ไม่ขาดสูญไม่กำเริบ รูปกาย ๗ ประการนี้ ของสัตว์เหล่าใดชื่อว่าขาดไม่มี ผุ้ที่ถูกฆ่าหรือถูกตัด หรือเบียดเบียน ใด ๆ ไม่มี ศาสตราทั้งหลายพึงเป็นไปในระหว่างรูปกาย๗ ประการนี้ ผู้ใดตัดศีรษะของผู้อื่นด้วยดาบอันคมผู้นั้นไม่ชื่อว่าตัดร่างกายเหล่านั้น ในการทำเช่นนั้นผลบาปจะมีแต่ที่ไหน สัตว์ทุกจำพวกท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสาร ๘๔ มหากัป ย่อมบริสุทธิ์ได้เอง เมื่อยังไม่ถึงกาลนั้น แม้จะสำรวมด้วยดีก็บริสุทธิ์ไม่ได้ เมื่อยังไม่ถึงกาลนั้นแม้จะประพฤติความดีมากมาย ก็บริสุทธิ์ไม่ได้ ถ้าแม้กระทำบาปมากมาย ก็ไม่ล่วงขณะนั้นไปในวาทะของเราทั้งหลาย ความบริสุทธิ์ย่อมมีได้โดยลำดับเมื่อถึง ๘๔ กัป พวกเราไม่ล่วงเลยเขตอันแน่นอนนั้นเหมือนคลื่นไม่ล่วงเลยฝั่งไปฉะนั้น.
คุณาชีวกผู้มีวาทะว่าขาดสูญ เมื่อจะยังวาทะของตนให้สำเร็จตามกำลังของตน จึงกราบทูลโดยหาหลักฐานมิได้.
อลาตเสนาบดี ได้ฟังคำของคุณาชีวกกัสสปโคตรแล้ว ได้กล่าวคำนี้ว่า ท่านผู้เจริญกล่าวฉันใด คำนั้นข้าพเจ้าชอบใจฉันนั้น แม้ข้าพเจ้าก็ระลึกชาติหนหลังของตนได้ชาติหนึ่ง คือในชาติก่อน ข้าพเจ้าเกิดในเมืองพาราณสีอันเป็นเมืองมั่งคั่ง เป็นนายพรานฆ่าโค ชื่อว่าปิงคละ ข้าพเจ้าได้ทำบาปกรรมไว้มาก ได้ฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต คือ กระบือ สุกร แพะ เป็นอันมาก ข้าพเจ้าจุติจากชาตินั้นแล้ว มาเกิดในตระกูลเสนาบดีอันบริสุทธิ์นี้ บาปไม่มีผลแน่ ข้าพเจ้าจึงไม่ต้องไปนรก.
ได้ยินว่า อลาตเสนาบดีนั้น กระทำการบูชาด้วยพวงดอกอังกาบที่เจดีย์ ในสมัยแห่งพระกัสสปพุทธเจ้าในกาลก่อน ครั้นเมื่อสิ้นชีวิตลงก็ถูกกรรมอื่นซัดไปตามอานุภาพ ท่องเที่ยวไปในสงสาร ด้วยผลแห่งบาปกรรมอันหนึ่ง จึงบังเกิดในตระกูลแห่งผู้ฆ่าโคได้กระทำกรรมเป็นอันมาก แต่ครั้นในเวลาที่เขาจะตาย กุศลกรรมในการบูชาพระมหาเจดีย์ด้วยพวงดอกอังกาบนั้นได้ให้โอกาส เหมือนไฟที่เอาขี้เถ้าปิดไว้ฉะนั้น ด้วยอานุภาพแห่งกรรมนั้น เขาจึงบังเกิดในที่นี้ ได้รับสมบัติเช่นนั้น และระลึกชาติได้ เมื่อไม่อาจระลึกถึงกรรมอื่นจาก อนันตรกรรมในอดีต จึงสนับสนุนวาทะของคุณาชีวกนั้นด้วยสำคัญว่า เราได้กระทำกรรมคือการฆ่าโคจึงบังเกิดในที่นี้ จึงได้กล่าวดังนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น