วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ประวัตินางมณโฑ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
ประวัตินางมณโฑ

เมื่อเอ่ยถึง “นางมณโฑ” ในเรื่อง “รามเกียรติ์” เชื่อว่าหลายคนคงจะรู้สึกคุ้นหูกับชื่อนี้ไม่น้อยไปกว่านามของนางสีดา นางเบญกาย หรือนางสุพรรณมัจฉา แต่ประวัตินางมณโฑเป็นมาอย่างไร คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่รู้ . . . 
ทั้งๆ ที่เรื่องราวของนางก็น่าสนใจไม่น้อย ข้อสำคัญ แม้เธอจะมิใช่สาวแรงสูงผู้ไขว่คว้าหาความรัก
แต่เชื่อไหมว่าในเรื่องเธอต้องมี “สามี” ถึงสี่คน 

เล่ากันว่าที่เชิงเขาหิมพานต์ มีฤาษีสี่ตน บำเพ็ญพรตอยู่เป็นเวลาช้านาน และมีตบะแก่กล้ามาก ทุกๆ เช้า จะมีนางโค 500 ตัว มาที่อาศรมของฤาษี และต่างก็จะหยดนมของตัวลงในอ่างแก้วเพื่อให้ฤาษีได้ฉันเป็นอาหารเช้า ซึ่งฤาษีก็จะแบ่งนมส่วนหนึ่งให้แก่นางกบตัวเมียตัวหนึ่งที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นเป็นประจำทุกวันเช่นกัน อยู่มาวันหนึ่งฤาษีทั้งสี่ออกไปป่า พบนางนาคตนหนึ่งกำลังเสพสังวาสกับงูดิน ฤาษีเห็นว่านางนาคเป็นสัตว์ตระกูลสูงกว่า ไม่น่าจะมาสมสู่กับงูดิน จึงได้เอาไม้เท้าเคาะไปที่ขนดหางนางนาคเบาๆ นางนาคกำลังร่านด้วยแรงราคะก็ยังไม่รู้ตัว ฤาษีจึงเคาะซ้ำไปที่กลางลำตัว นางนาคตกใจคลายขนด (ขะ-หฺนด หมายถึงตัวงูที่ขด หรือโคนหางงู) ออกมาเห็นฤาษี ก็รู้สึกอับอายขายหน้า จึงหนีกลับไปเมืองบาดาล กลับไปแล้ว ยิ่งคิดก็ยิ่งคิดแค้นใจพระฤาษีที่ทำให้ตนได้รับความอับอาย และคิดว่าหากพระยากาฬนาคพ่อตนรู้เข้า นอกจากตนจะเสื่อมเสียแล้ว ก็อาจมีโทษถึงตาย เมื่อคิดได้ดังนั้น นางนาคจึงกลับไปอาศรมฤาษี แล้วคายพิษลงในอ่างน้ำนมที่ฤาษีทั้งสี่ต้องฉันทุกเช้า ฝ่ายนางกบเห็นเช่นนั้น ก็ตกใจ และด้วยความกตัญญูสำนึกในพระคุณของฤาษีที่เลี้ยงตนมา จึงตัดสินใจตายแทน ด้วยการกระโดดลงไปในอ่างนม และขาดใจตายเพราะพิษนางนาคนั้น
ครั้นฤาษีทั้งสี่กลับมาจะฉันน้ำนม เห็นนางกบนอนตายในนั้น ก็รู้สึกไม่พอใจคิดว่านางกบตะกละ แต่ก็ยังมีใจเมตตาอยู่ จึงชุบชีวิตนางกบขึ้นมาใหม่ แล้วสอบถามดูว่าทำไมประพฤติตัวโลภมากอย่างนี้ ให้กินทุกวันยังไม่พอใจอีกหรือ นางกบก็เล่าความจริงให้ฟังถึงเรื่องนางนาคมาคายพิษไว้ ฤาษีฟังแล้ว เห็นในคุณความดีของนางกบ จึงได้ทำพิธีก่ออัคคีแล้วร่ายมนตร์วิเศษ พร้อมโยนนางกบลงในไฟ ชุบชีวิตขึ้นมาใหม่กลายเป็นสาวที่มีรูปโฉมโนมพรรณงามกว่าหญิงใดในสวรรค์ทั้งหก ดังพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๑ ที่ว่า
"เดชะพระเวทสิทธิศักดิ์ พระวิษณุรักษ์รังสรรค์
เกิดเป็นกัลยาวิลาวัณย์ งามวิจิตรพิศพรรณขวัญตา
งามพักตร์ยิ่งชั้นมหาราช งามวิลาสล้ำนางในดึงสา
งามเนตรยิ่งเนตรในยามา งามนาสิกล้ำในดุษฎี
งามโอษฐ์งามกรรณงามปราง ยิ่งนางในนิมาราศี
งามเกศยิ่งเกศกัลยาณี อันมีในชั้นนิรมิต
ทั้งหกห้องฟ้าหาไม่ได้ ด้วยทรงลักษณ์วิไลไพจิตร
ใครเห็นเป็นที่เพ่งพิศ ทั้งไตรภพจบทิศไม่เทียมทัน"

จากพระราชนิพนธ์ข้างต้น จะเห็นได้ว่าหน้าตาของนางมณโฑเลิศล้ำสวยงามเพียงใด และจากที่นางมีกำเนิดมาจากกบ พระฤาษีจึงตั้งชื่อให้ว่า “นางมณโฑ” ที่แปลว่า “กบ” อันเป็นสถานภาพเดิมของนาง และเนื่องจากพระฤาษีเห็นว่านางเป็นหญิงสาวไม่เหมาะจะอยู่ด้วย เกรงเป็นที่ติฉินนินทาได้ จึงพร้อมใจกันพานางไปถวายพระอิศวร (พระศิวะ) พระอิศวรก็รับนางไว้ และให้ไปอยู่กับพระแม่อุมา พระชายาของพระองค์ นับตั้งแต่ไปอยู่กับพระอุมา นางมณโฑก็ตั้งใจปรนนิบัติรับใช้พระแม่เป็นอย่างดี จนเป็นที่เมตตาและพระแม่อุมาก็ได้บอกพระเวทย์ต่างๆ ให้
ต่อมาเขาไกรลาสเอียงทรุด เพราะยักษ์วิรุฬหกจากเมืองบาดาลโกรธสารภูตุ๊กแกที่ล้อเลียนตน จึงขว้างสังวาลนาคใส่ และเลยไปถูกเขาไกรลาสจนเอียง พระอิศวรจึงประกาศแก่เหล่าเทวดาทั้งหลายที่มาเฝ้าว่า หากใครยกเขาไกรลาสให้ตั้งตรงได้ จะมีรางวัลให้อย่างงาม ก็ปรากฎว่าไม่มีใครยกได้ พระอิศวรจึงต้องให้เทวดาไปตามทศกัณฐ์มายกให้จึงสำเร็จ ทศกัณฐ์ก็ทูลขอพระแม่อุมาเป็นรางวัล พระอิศวรแม้ไม่พอใจที่ทศกัณฐ์เหิมเกริม แต่เนื่องจากออกโอษฐ์ไปแล้ว ก็จำยอมประทานให้ตามขอ เพราะรู้ว่าอย่างไรเสีย ทศกัณฐ์ก็ต้องนำมาคืนแน่นอน ฝ่ายทศกัณฐ์พอได้รับประทานพระอุมา ก็ตรงเข้าไปอุ้มพระแม่อุมา แต่ครั้นถูกองค์พระแม่ ก็รู้สึกร้อนเหมือนถูกไฟไหม้ จึงจำต้องช้อนพระบาทพระอุมาทูนไว้บนหัว เหาะกลับเมืองลงกา เหาะต่อมาไม่นาน ก็รู้สึกร้อนจนทนไม่ได้ จึงต้องวางพระแม่อุมาลง และพาเดินต่อไป ส่วนเหล่าเทวดานางฟ้าเห็นทศกัณฐ์พาพระอุมาไปเช่นนั้นก็ตกใจ จึงพากันไปเฝ้าพระนารายณ์ให้ช่วยแก้ไข พระนารายณ์จึงออกอุบายแปลงเป็นยักษ์แก่ ปลูกต้นไม้เอายอดลงดิน รากชี้ฟ้า ทศกัณฐ์พาพระอุมาเดินผ่านก็สงสัยและแปลกใจ ถามว่าทำไมโง่ปลูกต้นไม้แบบนี้ ยักษ์แปลงก็ว่าทศกัณฐ์แหละโง่ ไปพาหญิงร้ายที่จะมาทำลายเหล่ายักษ์มาทำไม ไม่รู้จักขอของดีมา ทศกัณฐ์ได้ฟังก็ชักเห็นตาม เพราะตนเองพาพระอุมามาก็ร้อนเข้าใกล้ไม่ได้ จึงถามยักษ์แก่ดู ก็ได้รับคำแนะนำให้ไปขอนางมณโฑ ทศกัณฐ์จึงพาพระอุมาทูนหัวเหาะกลับไปคืนพระอิศวร และขอนางมณโฑมาแทน
ระหว่างพานางมณโฑเหาะกลับเมืองนั้น ถึงคราวเคราะห์ของทศกัณฐ์ที่เหาะผ่านเมืองขีดขินของพาลี พญาลิงที่กำลังว่าราชการอยู่ ทำให้พาลีไม่พอใจฉวยพระขรรค์เหาะไปขวางหน้าทศกัณฐ์ ครั้นเห็นนางมณโฑงามดั่งนางฟ้าก็นึกรัก จึงพาลหาเรื่องต่อสู้กับทศกัณฐ์ๆ พ่ายแพ้ พาลีจึงแย่งนางมณโฑมาได้ แล้วพากลับเมืองได้นางเป็นเมีย นางมณโฑนั้นแต่แรกก็ไม่ยินยอม แต่ก็ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ กอปรกับพาลีใช้ทั้งวาทศิลป์และเล่ห์ชายจนนางต้องยินยอมในที่สุด นับว่าพาลีเป็นสามีลิงคนแรกของนาง
ส่วนทศกัณฐ์นั้นเมื่อกลับกรุงลงกา ก็เสียใจที่แพ้และยังถูกแย่งนางมณโฑไป จึงคลุ้มคลั่งพาลทำร้ายนางสนมกำนัลในไปหมด ใครเอาใจอย่างไรก็ไม่ถูกใจ และไม่ว่าราชการนานถึงเจ็ดเดือน กุมภกรรณและพิเภกน้องชายจึงช่วยกันคิดหาวิธีแก้ไข ด้วยการไปเชิญพระโคบุตร อาจารย์ของทศกัณฐ์มา เมื่อทราบเรื่องทั้งหมดแล้ว พระโคบุตรจึงไปหาพระอังคต อาจารย์ของพาลี เพื่อให้ว่ากล่าวพาลีให้คืนนางมณโฑแก่ทศกัณฐ์ พระอังคตจึงเดินทางไปหาพาลีกล่อมให้คืนนางมณโฑ และว่าพาลีทำไม่ถูกที่ไปแย่งเมียคนอื่นเขามา ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง พาลีไม่อยากคืน ก็อ้างว่านางท้องได้หกเดือนแล้ว ไม่อยากให้ลูกตนไปอยู่กับยักษ์ พระอังคตจึงว่าเรื่องนี้ไม่ยาก ท่านจะแหวะท้องนาง เอาลูกมาใส่ในท้องแพะไว้ก่อนจนกว่าจะคลอด พาลีบ่ายเบี่ยงอย่างไรก็ไม่เป็นผล แม้จะไม่เต็มใจ ก็จำต้องยอมคืนนางแก่ทศกัณฐ์ ครั้นนางมณโฑทราบเรื่องก็เสียใจ ร้องไห้จนสลบไป พระอังคตเห็นเป็นโอกาสดี จึงผ่าท้องเอาลูกนางไปใส่ในท้องแพะ และร่ายมนตร์วิเศษปิดท้องให้อย่างเดิม เมื่อนางฟื้นก็พาตัวไปคืนทศกัณฐ์ ส่วนลูกนางกับพาลีที่ฝากไว้กับท้องแพะ เมื่อถึงกำหนดสิบเดือน พระอังคตก็ทำพิธีผ่าออกมาจากท้องแพะ แล้วให้ชื่อว่า “องคต” เลียนชื่อท่านเองเพื่อเป็นมงคลนาม (นี่จะเห็นว่า การอุ้มบุญ มีมาแต่โบราณกาล แถมวิทยาการยังทันสมัยกว่าอีก เพราะให้สัตว์อุ้มท้องแทนก็ได้)
ส่วนทศกัณฐ์ได้นางมณโฑคืนมา ก็ดีใจพาเหาะกลับกรุงลงกา แล้วเกี้ยวพาราสีต้องเนื้อต้องตัวนาง จนในที่สุดก็ได้นางเป็นเมียสมใจ ถือเป็นสามีคนที่สอง นางมณโฑนั้น เมื่อเป็นเมียพาลีก็คงรักพาลี เพราะเป็นชายคนแรกของนาง ครั้นต้องมาเป็นเมียทศกัณฐ์ นางก็รักและจงรักภักดีต่อทศกัณฐ์เช่นกัน ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อทศกัณฐ์ลักนางสีดามา และต้องทำสงครามต่อสู้กับพระราม พระลักษณ์และหนุมานยืดเยื้อเป็นเวลานาน จนต่างฝ่ายต่างต้องเสียไพร่พลไปมากมายนั้น ทศกัณฐ์ก็ได้สอบถามนางมณโฑว่า ตอนที่นางอยู่กับพระแม่อุมา ได้เรียนมนตร์วิเศษอะไรบ้าง นางก็ว่าเคยเรียนมนตร์ที่เรียกว่า “สัญชีพ” ไว้ ซึ่งมนตร์นี้ถ้าทำสำเร็จจะได้น้ำทิพย์อันวิเศษ ผู้ใดตายไปแล้ว หากพรมด้วยน้ำทิพย์นี้ ก็จะฟื้นคืนชีพขึ้นมา ใช้ให้ทำอะไรก็ได้ และยังสามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ด้วย แต่มีข้อแม้ว่าผู้ทำพิธีห้ามพูด และห้ามร่วมเสน่หาระหว่างกระทำพิธี ทศกัณฐ์ได้ทราบก็ดีใจนัก รีบตั้งโรงพิธีให้นางมณโฑทันที ครั้นทำพิธีครบเจ็ดวัน ก็บังเกิดน้ำทิพย์ขึ้นในหม้อทองคำ นางมณโฑก็ให้รีบนำไปให้ทศกัณฐ์ที่สนามรบ ทศกัณฐ์จึงใช้น้ำทิพย์ประพรมไพร่พลยักษ์ที่ตายไป ทำให้เหล่ายักษ์ปีศาจฟื้นขึ้นมาช่วยต่อสู้ใหม่ และเข้าโจมตีไพร่พลวานรของพระรามจนแตกกระเจิงไป พระรามเห็นดังนั้น ก็สอบถามพิเภกดู เมื่อทราบความจริง จึงได้ส่งหนุมาน พร้อมด้วยวานรอีกจำนวนหนึ่งไปทำลายพิธี หนุมานจึงได้แปลงตนเป็นทศกัณฐ์ และให้พลพรรควานรที่ไปด้วยแปลงเป็นพวกทศกัณฐ์เดินทัพกลับเข้ากรุงลงกา ทำทีว่าชนะศึกกลับมาแล้ว จากนั้นหนุมานก็ตรงไปโรงพิธี ใช้เล่ห์กลหลอกนางมณโฑให้เข้าใจว่าตนเป็นทศกัณฐ์กลับมาขอบคุณนางที่ทำให้รบชนะ แล้วก็พานางกลับปราสาทโอ้โลมปฏิโลมจนได้ร่วมพิศวาสกับนาง ส่วนพลพรรควานรที่อยู่ข้างนอกก็ทำลายโรงพิธีจนหมดสิ้น
เมื่อหลอก “นอน”กับนางมณโฑ เป็นการทำลายพิธีได้สำเร็จแล้ว หนุมานแปลงก็ลานาง ทำทีว่าจะไปจับพิเภกที่หนีไปได้ จากนั้นก็กลับไปทูลพระรามว่าสามารถล้มพิธีได้แล้ว พระรามจึงสั่งให้สุครีพนำพลเข้าโจมตีพวกยักษ์ ฝ่ายทศกัณฐ์เมื่อต่อสู้ไปๆ น้ำทิพย์ที่จะพรมยักษ์ตาย ให้ฟื้นก็หมด ไม่เห็นมีใครมาส่งเพิ่ม แล้วยังถูกพวกลิงเยาะเย้ย ก็เอะใจ ขอพักรบ แล้วกลับเมือง ไปถึงเห็นโรงพิธีพินาศ จึงไปสอบถามและต่อว่านางมณโฑที่อยู่ในปราสาท และยังไม่รู้อิโหน่อิเหน่อยู่ นางมณโฑก็เล่าเรื่องราวให้ทราบ ทศกัณฐ์ก็รู้ว่าเสียท่าหนุมานแล้ว ก็บอกเมีย นางมณโฑทั้งอับอายขายหน้า ทั้งเสียใจที่เสียตัวและเสียรู้หนุมาน จึงร้องไห้จนสลบไป ทศกัณฐ์ก็แก้ไขจนฟื้น แต่นางยังรู้สึกเสียใจร้องไห้รำพึงรำพันขอให้ทศกัณฐ์ฆ่านางเสีย เพราะนางทำให้เสียเกียรติสามี แต่ทศกัณฐ์นั้นทั้งรักและสงสารเมีย จึงปลอบโยนนางมณโฑ และว่าตนไม่ถือโทษโกรธนาง ถือเสียว่าเป็นกรรมเป็นเวรไปก็แล้วกัน ส่วนการต่อสู้ ตนก็จะหาวิธีอื่นต่อไป นางจึงค่อยคลายทุกข์ไป ดังนั้น หนุมานจึงเป็นสามีคนที่สาม แต่เป็นสามีลิงคนที่สองของนาง (พาลีเป็นคนแรก) แต่อย่างกรณีของหนุมาน จะนับว่าเป็นสามีจริงๆ จังๆ อย่างพาลี และทศกัณฐ์คงไม่ได้ เพราะเป็นการได้นางเป็นเมียแบบใช้เล่ห์กล และถ้านางรู้ก็คงไม่ยอมเป็นแน่
ต่อมาภายหลัง เมื่อหนุมานสามารถล่อลวงเอากล่องดวงใจของทศกัณฐ์มาจากพระโคบุตร อาจารย์ของทศกัณฐ์ จนทำให้พระรามฆ่าทศกัณฐ์ตายได้ในที่สุดนั้น ก่อนตายทศกัณฐ์ก็ได้ฝากฝังนางมณโฑไว้กับพิเภกน้องชาย ครั้นชนะศึกแล้ว พระรามก็ได้จัดพิธีราชาภิเษกให้พิเภก ได้ครองกรุงลงกาต่อมา โดยให้ชื่อใหม่ว่า “ท้าวทศคิริวงศ์” และประทานนางมณโฑให้ พิเภกจึงเป็นสามีคนที่สี่ และเป็นสามียักษ์คนที่สองของนางมณโฑ ต่อมานางมณโฑได้คลอดลูกชายชื่อ “ไพนาสุริย์วงศ์” ซึ่งเป็นลูกทศกัณฐ์ที่ติดท้องนางมณโฑมา ก่อนที่ทศกัณฐ์จะตาย แต่พิเภกไม่รู้ และเข้าใจว่าเป็นลูกตน จึงรักและชื่นชมเลี้ยงดูลูกนางเป็นอย่างดี ต่อมาไพนาสุริย์วงศ์รู้จากพี่เลี้ยงว่าทศกัณฐ์ซึ่งเป็นพ่อแท้ๆ ตายไปแล้ว ส่วนพิเภกเป็นเพียงพ่อเลี้ยง จึงไปถามนางมณโฑดูจนรู้ความจริง จึงอุบายขอลาไปเรียนวิชา เมื่อเรียนจบก็แอบไปหาท้าวจักรวรรดิเพื่อนทศกัณฐ์ให้มาช่วยแก้แค้นพิเภก จับพิเภกขังคุก และท้าวจักรวรรดิ์ก็ได้ตั้งไพนาสุริย์วงศ์ลูกทศกัณฐ์กับนางมณโฑครองกรุงลงกาแทน โดยตั้งนามใหม่ให้ว่า “ทศพิน” ต่อมาทศพินก็ต้องตายไปเพราะมีการสู้รบแก้แค้นไปมา ส่วนนางมณโฑแม้จะได้ห้ามลูกไว้แต่แรกแล้ว แต่ทศพินหรือไพนาสุริย์วงศ์ก็ไม่ฟัง จึงต้องตายไปในที่สุด นางมณโฑเองก็เกือบต้องโทษในฐานะเป็นแม่ด้วย แต่พอดี “องคต” ลูกชายอีกคนที่เกิดกับพาลี มีความดีความชอบ จึงรอดพ้นโทษมาได้ ซึ่งเนื้อหารามเกียรติ์ตอนต่อไปยังมีอีกมาก แต่มิได้กล่าวถึงนางมณโฑอีก
จะเห็นได้ว่าชีวิตของ “นางมณโฑ” นางกบที่พระฤาษีอุตส่าห์ชุบชีวิตให้เป็นสาวงาม แม้ว่าจะต้องมีผัวถึงสี่คน แต่ถ้าอ่านตามเนื้อเรื่องแล้ว จะเห็นได้ว่านางมิใช่หญิงที่จงใจใช้ความงามหว่านเสน่ห์เพื่อหาสามีเลย ตรงกันข้าม การมีสามีแต่ละครั้งแต่ละหน ล้วนอยู่ในภาวะจำยอมทั้งสิ้น นั่นคือ ไม่ถูกยกให้ ก็ถูกแย่ง หรือถูกหลอก โดยเมื่อแรกอยู่กับพระแม่อุมาดีๆ ก็ถูกยกให้ทศกัณฐ์ ยังไม่ทันอยู่กินกับทศกัณฐ์ก็ถูกแย่งไปเป็นเมียของพาลี แล้วถูกพากลับมาเป็นเมียทศกัณฐ์อีก ครั้นแล้วก็ต้องตกเป็นเมียหนุมานโดยไม่รู้ว่าถูกหลอกขณะทำพิธีช่วยทศกัณฐ์สามี และท้ายสุดก็ถูกยกให้เป็นเมียน้องสามีคือพิเภกอีก นางมณโฑจึงนับเป็นสาวงามผู้อาภัพยิ่งนัก แม้นางจะมากผัว เป็นผัวลิงบ้าง ผัวยักษ์บ้าง แต่ก็กล่าวได้ว่า นางมิใช่ผู้หญิงประเภทมั่วรัก กลับเป็นหญิงที่ดีงามคนหนึ่ง เพราะนางจงรักภักดีต่อสามีทุกคน
(ยกเว้นหนุมานเพราะได้ด้วยเล่ห์กล)
มิฉะนั้นแล้ว เราอาจจะมี วลีเสียดสีผู้หญิงที่มีสามีหลายคนเพิ่มจากนางวันทอง โมรา กากี โดยต่อท้ายว่า นางมณโฑมากผัวก็ได้ 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น